MENU
TH EN

อาณาจักรสุโขทัย ตอนที่ 1

ภาพ Title Thumbnail มาจาก: nplovearchaeo.blogspot.com, วันที่เข้าถึง 9 พฤศจิกายน 2562, Hero Image มาจาก: www.youtube.com, วันที่เข้าถึง 9 พฤศจิกายน 2562

อาณาจักรสุโขทัย ตอนที่ 101
First revision: Nov.09, 2019
Last change: Oct.29, 2021

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     สุโขทัยนั้น มีความหมายอันไพเราะว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข"

     มีความเชื่อกันว่ากลุ่มคนไทย หรือกลุ่มที่ใช้ภาษาไทย06 (ภาษาขร้า-ไท) (ชาวจ้วง) ได้อพยพมาจากจีนตอนใต้ เข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ {ในประเทศลาวปัจจุบันก่อน เป็นชนเผ่าที่เรียกว่า ปกเลือง หรือ ปกเลิง (ตามเอกสารของ "หมิงสือลู่" ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงฉบับหอหลวง เรียกว่าชนเผ่า ปอเล่อ ก็คือ ปกเลือง หรือ ปกเลิง, คำว่า ปก หมายถึง แผ่นดินแว่นแคว้น)}08. แล้วค่อยทะยอยเข้ามา ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป เข้ามาในสุโขทัยและศรีสัชนาลัยปัจจุบัน
     ราว ค.ศ.936-938 มีการอพยพของคนไทชุดใหญ่ ด้วยเพราะเวียดนามได้รวมตั้งเป็นรัฐชื่อ "ไดโกเวียด (
Đại Cồ Việt)" รวมศูนย์การปกครอง ทำให้คนไทกลุ่มหนึ่งทะยอยออกมาจากลุ่มแม่น้ำแดง (เวียดนามเหนือปัจจุบัน) เรียกว่าพวกไทกาว หรือ ปกกาว อพพยพข้ามโขงมาอยู่ในแถบเมืองน่าน
     แล้วผสมผสานกับเชื้อชาติในท้องถิ่นเดิมที่เป็นลูกผสมมอญ เขมร ลั๊วะ (ชนชาติเขมร มีหลักฐานประจักษ์ใน วัตถุและสถานที่โบราณที่ค้นพบเช่น ศาลตาผาแดง รายละเอียดดูใน "08. ศาลตาผาแดง")  ได้พัฒนาขึ้นเป็นรัฐ (อาจจะกล่าวได้ไม่ชัดนักว่าเป็นรัฐไท - แต่กล่าวได้ว่าเป็นรัฐขนาดกลาง ๆ ที่อยู่ในชัยภูมิที่สำคัญ ได้รับสายวัฒนธรรมเป็นระลอกแล้ว ระลอกเล่า ทั้งจากฮินดู พุทธเถรวาท สายลังกา เป็นต้น) ขึ้นในราว ๆ พุทธศตวรรษที่ 16-17

     แคว้นสุโขทัยนี้ กำเนิดขึ้นท่ามกลางแคว้นน้อยใหญ่ที่อยู่รายรอบ ได้แก่ อาณาจักรพุกาม (Bagan) ที่อยู่ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ แคว้นหริภุญไชยในเขตจังหวัดลำพูนและลำปาง แคว้นละโว้หรือลพบุรี และแคว้นนครชัยศรีในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง แคว้นศรีจนาศะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาณาจักรกัมพูชา ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอาณาจักรล้านนาที่อยู่ทางเหนือ.

     มีการรวมตัวของผู้คนหนาแน่น จนถึงกับเป็นชุมชนในระดับเมือง ที่พบได้แก่
     1.  แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย  พบเครื่องมือจากโลหะ ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน เหรียญตราดวงอาทิตย์ เศษภาชนะดินเผา มีร่องรอยการถลุงเหล็กที่มีอายุประมาณ 2500 ปี  มาจนถึงสมัยทวารวดี
     2.  ชุมชนบริเวณปราสาทเขาปู่จ่า บ้านนาเชิงคีรี ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จ.สุโขทัย อยู่บนภูเขาเล็ก ๆ เชิงเขาหลวงซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 40-50 เมตร มีปราสาทก่อด้วยอิฐลักษณะศิลปะร่วมสมัยศิลปะเขมรแบบบาปวน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นโบราณสถานอิทธิพลเขมรที่เก่าแก่ที่สุดในเขตจังหวัดสุโขทัย ชุมชนโบราณที่บริเวณปราสาทเขาปู่จ่า แสดงถึงพัฒนาการในการแปลงบ้านเป็นเมืองเล็ก ๆ ตรงเชิงเขาซึ่งตำแหน่งที่ตั้งไม่ไกลจากเขาหลวงอันเป็นแหล่งแร่ธาตุและสมุนไพรจากป่า มีการติดต่อกับชุมชนภายนอกเป็นสังคมที่ไม่โดดเดี่ยว

     แคว้นสุโขทัยนับเป็นรัฐแรก ๆ ที่เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของแคว้นสุโขทัย มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาตามลำดับ จนกลายเป็นสยามประเทศ หรือประเทศไทยในปัจจุบัน
     ก่อเกิดการพัฒนาการรังสรรค์นวัตกรรมหลายประการ อาทิ "ลายสือไทย" "ศิลปะสกุลช่างสุโขทัย" ที่ส่งอิทธิพลรูปแบบทางศิลปสถาปัตยกรรมไปยังดินแดนใกล้เคียง เป็นแหล่งสำคัญให้เกิดการพัฒนาเป็นศิลปะไทยจวบจนปัจจุบัน
     แคว้นสุโขทัยเป็นกลุ่มบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน รวมถึงแม่น้ำเมย และแม่น้ำป่าสัก ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยในปัจจุบัน (แต่นักวิชาการปัจจุบันมีความเห็นต่าง ว่าแคว้นสุโขทัย มีอิทธิพลอยู่ในลุ่มน้ำปิง วัง ยมและน่าน และลุ่มน้ำปิงตอนล่าง และตอนบนของลุ่มน้ำป่าสักเท่านั้น)

     อาณาเขตของแคว้นสุโขทัยที่ปรากฎใน ศิลาจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) มีข้อความบอกชื่อเมืองทั้งสี่ทิศในสมัยพ่อขุนรามคำแหงไว้ว่า
  • ทิศเหนือ - มีเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองพลัว เมืองหลวงพระบาง
  • ทิศตะวันออก - มีเมืองสระหลวงสองแคว (บ้างก็เรียก สรลวงสองแคว) เมืองลุมบาจาย เมืองสคา เมืองเวียงจันทน์ เมืองเวียงคำ
  • ทิศใต้  - มีเมืองคนที เมืองพระบาง เมืองแพรก เมืองสุพรรณภูมิ เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราช
  • ทิศตะวันตก - มีเมืองฉอด เมืองหงสาวดี
 

แผนที่อาณาจักรสุโขทัย ในคริสต์ศตวรรษที่ 1302

     เมืองสุโขทัย เป็นเมืองเป็นเมืองที่ขยายตัวออกมาจากเมืองเชลียง ซึ่งพ่อขุนศรีนาวนำถุม สร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นเมืองสำคัญซึ่งนักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นราชธานีหรือศูนย์กลางของแคว้นสุโขทัย ตั้งอยู่บนที่ลาดระหว่างเชิงเขาหลวงกับแม่น้ำยม ห่างจากแม่น้ำยม (ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก) ประมาณ 12 กิโลเมตร ตัวเมืองสุโขทัยมีลำน้ำแม่ลำพัน ไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกช่วยหล่อเลี้ยงเมือง เมืองสุโขทัยในยุคเริ่มแรกจะเป็นขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นวัดพระพายหลวง ซึ่งมีพระปรางค์สามองค์เนื่องในพระพุทธศาสนาแบบมหายานอยู่กลางเมือง ส่วนเมืองสุโขทัยแห่งใหม่ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ลงมา เป็นเมืองขนาดใหญ่ มีการวางผังเมืองอย่างซับซ้อนและสัมพันธ์กับการตั้งศาสนสถาน (แต่ผังเมืองสุโขทัยก็ไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเสียทีเดียว มีการเบี่ยงเล็กน้อย อาจเป้นเพราะมุมถูกบีบด้วยเพราะอยู่ใกล้เชิงเขา และผังของวัดพระพายหลวง ที่อยู่ทางทิศเหนือ) มีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ สันนิษฐานว่าการสร้างเมืองสุโขทัยแห่งใหม่จะเป็นการขยายเมืองออกมาตั้งบนชัยภูมิที่เหมาะสม เนื่องจากมีจำนวนผู้คนพลเมืองเพิ่มมากขึ้น และคงสร้างขึ้นในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 ครั้งรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง.


 
     จากแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีกำแพงล้อมรอบสามชั้น จากจารึกพ่อขุนรามคำแหง ระบุเรียกว่า "ตรีบูร"07.
 

 
  • เมืองสุโขทัยนี้อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางทางการค้า บางขลังนี้อุดมสมบูรณ์10.
  • พบแหล่งถลุงเหล็กก่อนประวัติศาสตร์  (แถบ บ้านวังหาดบ้าน บ้านตลิ่งชัน) มีแหล่งลูกปัด พบเครื่องมือหินขัด เครื่องมือเหล็ก พบกลองมโหระทึก (พบที่เชียงทอง จ.ตาก อีกด้วย) พบโลงศพหิน เป็นแหล่งอารยธรรม เป็นรอยต่อของที่ราบและที่สูง เชื่อมต่อไปยังแม่น้ำแม่ลำพัน
  • เป็นที่ตั้งของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ยุคเหล็กตอนปลาย
  • เป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเหล็ก พบ ขวานจะงอยปากนก ยุคเหล็กตอนปลาย ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารวดีอีกด้วย พบแหล่งฝังศพบริเวณนี้ พบเศษถ้วยชามเซรามิกส์
  • "ต้นน้ำแม่ลำพัน" ที่ไหลผ่านเมืองสุโขทัย อันเป็นบริเวณเชิงเขาในเขตอำเภอด่านลานหอย ที่ "บ้านตลิ่งชัน" และ "บ้านวังหาด" มีชุมชนที่พบแหล่งผลิตเครื่องมือเหล็ก และแก้วที่ทำลูกปัด รวมทั้งวัตถุสำริด เช่น อาวุธ เครื่องประดับและลูกปัดหินสีที่เป็นของมาจากภายนอก มีอายุราว 2,000 ปี ลงมาจนถึงสมัยทวารวดี โดยเฉพาะของในสมัยทวารวดีเป็นพวกเหรียญเงินและทองคำที่มีลวดลายศรีวัตสะ รวมทั้งจี้ห้อยคอรูปหน้าสิงห์ ไม่เคยพบในที่อื่น ลูกปัดหินสี และลูกปัดแก้วพบกระจายกันอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในขณะที่เชิงเขาในเขตบ้านวังหาดพบแหล่งถลุงเหล็ก เป็นบริเวณกว้าง แสดงให้เห็นว่านอกจากถลุงแล้ว ยังนำมาผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ด้วย จึงนับเนื่องเป็นแหล่งอุตสาหกรรมโบราณแห่งหนึ่งที่สำคัญ.
เข้าสู่ยุคทวารวดี
  • ที่วัดตะพานหิน (หรือสะพานหิน) ทางขึ้นใช้หินสแลปไล่ไป พบพระแบบทวารวดี เป็นพระยืนหินใหญ่สูง 3 เมตร (เป็นพระยืนแบบทวารวดีที่สูงที่สุดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีพบอีกองค์เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง แต่ไม่สูงเท่าองค์แรก
  • พบร่องอารยธรรมที่วัดสะพานหิน สามารถสันนิษฐานต่อไปได้ว่าที่สุโขทัย มีคนอยู่อาศัยมาก่อนราชวงศ์พระร่วง. โยงกับราชวงศ์ผาเมือง ซึ่งโยงกับเขมร (ดูจากวัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดง ปรางค์เขาปู่จา) แถบนี้มีระบบการชลประทานดีที่สุด
การสร้างบ้านแปงเมืองสุโขทัย
  • มักสร้างพิงภูเขา มีโซกพระแม่ย่า (ทางน้ำไว้เก็บไว้ใช้) มีการสร้างวัดเจดีย์ มีเขตอรัญญิก ทำนบเพื่อเบียงเบนน้ำ ให้ไหลเข้าไปสู่คลองส่งน้ำ ลงเข้าตรีบูร มีคูเมืองสุโขทัยทางทิศตะวันตก
  • สุโขทัยแล้งในหน้าแล้ง จึงต้องมีการจัดการน้ำที่ดี มีทำนบสรีดภงส์ มีถนนพระร่วง
  • ชุมชนก่อนนครรัฐสุโขทัยที่เติบโตมาจากทรัพยากรแร่ธาตุและของป่า
พัฒนาการของรัฐสุโขทัย
  • ราวพศว.ที่ 6-7 มีพัฒนาการเส้นทางการค้าสายไหมทางทะเล ที่ทำให้บ้านเมืองที่เป็นเมืองท่า ชายทะเลจากอ่าวไทย มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าของป่าและแร่ธาตุ เกิดการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนบ้านเมืองภายในแบบเหนือ-ใต้ เกิดเส้นทางการค้าจากบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นภาคกลางตอนล่างที่มีเมืองท่าค้าขายกับภายนอก จนปลายสมัยทวารวดีต่อสมัยลพบุรีใน พศว.ที่ 16-17.
  • มีคนหลากหลายเข้ามามากจากจีนเป็นจีนใต้ (ไม่ใช่จีนฮั่น) จึงเกิดตำนานเรื่องอู่ทองขึ้น ด้วยไท-ลาวมีหลายชาติพันธุ์ จึงต้องมีการพัฒนาเป็นภาษาที่สามารถสื่อได้

โบราณสถานและวัดสำคัญภายในและรอบนอกเมืองสุโขทัยโบราณ
   01  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หมายเลข 2 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   02  เนินปราสาท  หมายเลข 2 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   03  วัดศรีสวาย  หมายเลข 5 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   04  วัดชนะสงคราม  หมายเลข 8 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   05  วัดตระพังเงิน  หมายเลข 4 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   06  วัดสระศรี  หมายเลข 7 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   07  วัดตระกวน หมายเลข 9 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   08   ศาลตาผาแดง  ไม่มีบนแผนที่ข้างต้น แต่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 300 เมตรของหมายเลข 9
   09  วัดตระพังทอง  หมายเลข 6 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   10  วัดพระพายหลวง  หมายเลข 11 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   11  วัดศรีชุม  หมายเลข 14 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   12  กลุ่มเตาทุเรียง หมายเลข 12 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   13  วัดตึก  หมายเลข 24 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   14  วัดป่ามะม่วง  หมายเลข 23 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   15  หอเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน  หมายเลข 22 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   16  วัดมังกร  หมายเลข 21 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   17  วัดสะพานหิน  หมายเลข 26 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   18  วัดเขาพระบาทน้อย  หมายเลข 27 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   19  วัดเจดีย์งาม  หมายเลข 28 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   20  สรีดภงส์  หมายเลข 35 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   21  วัดเขาพระบาทใหญ่  กรอบสีส้มใต้หมายเลข 35 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   22  วัดเชตุพน  หมายเลข 20 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   23  วัดเจดีย์สี่ห้อง  หมายเลข 21 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   24  วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม  หมายเลข 22 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   25  วัดตระพังทองหลาง  หมายเลข 16 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   26  วัดช้างล้อม  หมายเลข 15 บนแผนที่อุทยานประวัติศาสตร์ ข้างต้น
   27  วัดสรศักดิ์  ไม่มีบนแผนที่ข้างต้น แต่อยู่ทางทิศตะวันออก ราว 400 เมตรของหมายเลข 8
   28  วัดตระพังช้างเผือก ไม่มีบนแผนที่ข้างต้น อยู่นอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันตก ราว 1.5 กิโลเมตร
   29  ปรางค์เขาปู่จ่า ส่วนหนึ่งของเขาหลวง บ้านนาเขิง ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ สุโขทัย ห่างจากเมืองเก่าสุโขทัยมาทางทิศใต้ ราว 13 กิโลเมตร
 
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย, culture55020497.wordpress.com, วันที่เข้าถึง 22 พฤศจิกายน 2562

     เมืองศรีสัชนาลัย หรือ เมืองเชลียง (มีบันทึกในพงศาวดารเมืองเหนือ เรียกเมืองศรีสัชนาลัยว่า เชียงชื่น) เดิมทีเป็นแคว้นเชลียงที่มีพัฒนาการเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งเป็นรากฐานของการกำเนิดขึ้นของเมืองและแคว้นสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองเชลียงตั้งอยู่บริเวณแหลมโค้งหักศอกของแม่น้ำยม อันเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง วัดชมชื่น และวัดเจ้าจันทร์ในปัจจุบัน ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงได้มีการขยายเมือง โดยสร้างเมืองขึ้นใหม่ทางทิศตะวันตก ห่างจากบริเวณเมืองเชลียงมาประมาณหนึ่งกิโลเมตรเศษ เมืองแห่งใหม่นี้มีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า ศรีสัชนาลัย เมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองที่มีความสำคัญรองจากเมืองสุโขทัย ถือเป็นเมืองลูกหลวง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางคมนาคม มีเส้นทางติดต่อกับบ้านเมืองในลุ่มน้ำยมตอนบน และใกล้เคียงขึ้นไปทางเหนือ ได้แก่ เมืองแพร่ เมืองงาว เมืองพะเยา เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน ทางด้านตะวันออกติดต่อกับเมืองทุ่งยั้งและเมืองในบริเวณลุ่มน้ำน่าน โดยสามารถเดินทางต่อไปถึงลุ่มน้ำน่านตอนบน คือเมืองน่าน และผ่านออกไปลุ่มน้ำโขงเพื่อติดต่อกับเมืองหลวงพระบางได้.
     ซึ่งบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง วัดชมชื่น และวัดเจ้าจันทร์นั้น กรมศิลปากรได้มีการขุดค้น บริเวณใกล้เคียง
สำรวจตลิ่งแม่น้ำยม เมื่อเดือน ก.ค.2536 พบกลุ่มโบราณสถาน เศษถ่าน ดินเผา ฯ อยู่ลึกลงจากผิวดินประมาณ 5-6 เมตร สันนิษฐานว่ามีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15
   
 จากการพิเคราะห์ชั้นดิน ลักษณะการฝังศพ มีการฝังแบบดั้งเดิม (ฝังทั้งโครง) เหตุหลักฐานการวัฒนธรรมแบบทวารวดี (พ.ศ.ที่ 10-11) พิเคราะห์ชั้นดินต่อไป พบการเผาแล้วนำกระดูกบรรจุในโถ (พ.ศ.ที่ 15-16) พบโถเคลือบสีขาวคล้ายเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ้ง (พ.ศ.1503-1699) 
     สันนิษฐานว่าบริเวณวัดเจ้าจันทร์และวัดชมชื่น เป็นที่ฝังศพมาก่อน08.
     จากการศึกษากลุ่มอาคารที่ก่อด้วยอิฐสองกลุ่ม แสดงให้เห็นถึงพัฒนการชุมชนซึ่งมีการรับวัฒนธรรมแบบทวารวดี และสืบเนื่องเแลี่ยนแปลงมารับวัฒนธรรมร่วมสมัยแบบกัมพูชาโบราณ ซึ่งห็นได้จากหลุมขุดที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง พบกระเบื้องกาบกล้วย กระเบื้องเชิงชายรูปเทพธิดา หรือนางอัปสร รูปเทวดา หลุมขุดที่วัดเจ้าจันทร์พบพระพิมพ์เนื้อโลหะทำจากดีบุกทรงเครื่องแบบพระมหากษัตริย์ วึ่งเทียบได้กับศิลปะกัมพูชาโบราณสมัยบายน08.


โบราณสถานและวัดสำคัญภายในและรอบนอกเมืองศรีสัชนาลัย
   01  วัตพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
   02  วัดชมชื่น
   03  วัดเจ้าจันทร์
   04  วัดโคกสิงคาราม
   05  วัดนางพญา
   06  วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่
   07  วัดเจดีย์เจ็ดแถว
   08   วัดช้างล้อม
   09  วัดเขาพนมเพลิง
   10  วัดเขาสุวรรณคีรี
   11  กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง
   12  กลุ่มเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย
   13  วัดสระปทุม
   14  วัดพญาดำ
   15   วัดหลักเมือง
   16  ศาลพระร่วงพระลือ
   17  วัดสวนแก้วอุทยานน้อย
 
แผนที่ตัวเมืองพิษณุโลก, ที่มา: oceansmile.com, วันที่เข้าถึง 22 พฤศจิกายน 2562

     เมืองพิษณุโลก และเมืองสระหลวงสองแคว (สรลวงสองแคว) (เดิมเมืองพิษณุโลก ชื่อว่า เมืองชัยนาท ดังปรากฎในหลักฐานที่เป็นหนังสือลิลิตยวนพ่าย ที่แต่งเมื่อ พ.ศ.2031, หนังสือ "ชินกาลมณีปกรณ์" แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระแห่งเมืองล้านนาเมื่อ พ.ศ. 2060 และหลักฐานอื่น ๆ03) เป็นเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำน่าน อันเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของแคว้นสุโขทัย ชื่อเมือง "สองแคว" เป็นชื่อเดิมที่ปรากฎควบคู่กับเมือง "สระหลวง" ซึ่งปรากฎหลักฐานอยู่ใน ศิลาจารึกวัดศรีชุม และเป็นเมืองเกิดของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณี ซึ่งเป็นเชื้อสายของพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และราชนัดดาของพ่อขุนนาวนำถุม กษัตริย์ผู้สร้างเมืองสุโขทัย
     ต่อมาพระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จมาประทับที่เมืองสองแคว หลังจากนั้นกษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาของสุโขทัย ล้วนแล้วจะมาประทับที่เมืองพิษณุโลกทั้งสิ้น ในสมัยอยุธยา เมื่อสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอยุธยาแล้ว กรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระราชโอรสมาครองเมืองสองแควหลายพระองค์ 
     ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้ขยายตัวเมืองให้ใหญ่โตออกไป คลุมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "เมืองพิษณุโลก" นับแต่นั้นเป็นต้นมา


โบราณสถานและวัดสำคัญภายในและรอบนอกเมืองสองแควหรือเมืองพิษณุโลกโบราณ
   01  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร
   02  วัดวิหารทอง
   03  พระราชวังจันทน์
   04  วัดเจดีย์ยอดทอง
   05  วัดอรัญญิก
   06  วัดจุฬามณี 
 

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เขตอรัญญิก, ที่มา: https://gertexhealthshop.com/kumpangpetch-sukothai/, วันที่เข้าถึง: 23 พฤศจิกายน 2562

       เมืองนครชุม (เมืองที่มีพระมาก หรือพระชุม) และเมืองกำแพงเพชร05 เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนล่าง เมืองนครชุมเป็นหัวเมืองสำคัญในสมัยสุโขทัยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันตก เนื่องจากเป็นชุมทางคมนาคมที่สามารถไปยังเมืองสุโขทัยซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทางทิศเหนือตามลำน้ำปิงจะไปถึงเมืองตาก และข้ามเขาไปทางทิศตะวันตกจะไปถึงเมืองมอญ ทางด้านทิศตะวันออกจะไปถึงเมืองพิจิตร และลงใต้จะไปเมืองพระบาง04 ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ปัจจุบันได้ ส่วนเมืองกำแพงเพชรในสมัยสุโขทัยตอนปลายสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยานับเป็นเมืองสำคัญมาก เพราะตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างดินแดนล้านนาในทางตอนเหนือกับบ้านเมืองมอญในบริเวณริมอ่าวเมาะตะมะทางด้านทิศตะวันตก.

       อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร11
     
 ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง มีพื้นที่ประมาณ 3.4 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 เขต คือ เขตภายในกำแพงเมือง พื้นที่ 503 ไร่ และเขตนอกกำแพงเมืองหรือที่เรียกกันว่าเขตอรัญญิก พื้นที่ 1,611 ไร่ ตั้งอยู่บนเขาลูกรังขนาดย่อม โบราณสถานทั้ง 2 กลุ่ม ตั้งอยู่ในพื้นที่ตั้งของตัวจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งอยู่ไม่ไกล ห่างจากกรุงเทพมหานครไป ทางทิศเหนือ ประมาณ 358 กิโลเมตร กรมศิลปากรได้กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ประมาณ 2,114 ไร่

       ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
       ในบริเวณที่ตั้งจังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบันได้ค้นพบหลักฐานเมืองโบราณในลุ่มแม่น้ำปิง คือ เมืองแปบ เมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองนครชุม (อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง) และเมืองชากังราว เพราะความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำปิง ทำให้เกิดการตั้งบ้านเมืองทำมาหากิน ซึ่งแต่ละเมืองอยู่กันมากนัก เมืองที่ตั้งในยุคแรก ๆ น่าจะเป็นเมืองแปบที่มีตำนานเล่าว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ฝั่งนครชุม บริเวณ ตรงกันข้ามกับเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน
       จากหลักฐานจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) พ.ศ. 1900 กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) เสด็จไปพระบรมธาตุ เมืองนครชุมว่า “หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุม” เมืองนครชุมน่าจะเป็นเมืองใหญ่และมีความสำคัญในสมัยสุโขทัย แต่มาหมดอำนาจและเป็นเมืองเล็ก ๆ ในสมัยอยุธยา ส่วนเมืองชากังราวยังคงมีอำนาจอยู่ในฝั่งตะวันออก และเรียกชื่อเมืองว่า กำแพงเพชร ในสมัยอยุธยา เพราะหลังจากพระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคต (พ.ศ. 1913 – 1914) เมืองต่าง ๆ ในแคว้นสุโขทัยแตกแยก บางเมืองหันมาเป็นพันธมิตรกับอยุธยา ชื่อเมืองกำแพงเพชร ปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรกใน ศิลาจารึกหลักที่ 38 กฎหมายลักษณะโจร ซึ่งพบที่วัดสระศรี ในเมืองเก่าสุโขทัย ปรากฎนามกษัตริย์ที่ครองราาชย์เมืองกำแพงเพชร ศ.ดร.ประเสริฐ ณนคร สืบเทียบ สรุปได้ว่าตรงกับ พ.ศ.1940)01 หน้าที่ 134 เชื่อกันว่ากษัตริย์อยุธยา ต้องการให้ศูนย์กลางของอำนาจจากเมืองนครชุมเดิม ย้ายมาอยู่ที่เมืองชากังราวหรือกำแพงเพชรนั่นเอง และภายหลังการ เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 เมืองกำแพงเพชร ได้ลดบทบาทลงและคงจะร้างไปในที่สุด
       กลุ่มโบราณสถานเขตอรัญญิกของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีโบราณสถานรวมกลุ่มกันหนาแน่นในบริเวณที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน นอกจากนี้สภาพภูมิประเทศโดยรอบโบราณสถานยังเป็นป่าธรรมชาติที่มีการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี เพื่อคงไว้ซึ่ง บรรยากาศของโบราณสถานในเขตอรัญญิกหรืออรัญวาสีเช่นวันเวลาในอดีต
       อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ.2534 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงความงดงามอลังการของศิลปกรรมไทยในยุคแรก ๆ ผลงานทาง ศิลปกรรมที่เป็นเลิศนี้ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากในอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง

       โบราณสถานที่สำคัญ
       เมืองกำแพงเพชรลักษณะผังเมืองเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู วางแนวยาวขนานไปกับ ลำน้ำปิง ตามทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงทิศตะวันออกเฉียงใต้
       กำแพงเมืองกำแพงเพชรเดิม คงมีลักษณะเป็นคันดินและคูเมือง 3 ชั้น ต่อมาได้พัฒนากำแพงเมืองขึ้นไปเป็นกำแพงศิลาแลง มีการสร้างเชิงเทิน ใบเสมา และป้อมประตูรอบ ส่วนที่เป็นกำแพงด้านในยังคงปรากฎร่องรอยให้เห็นอยู่ข้างบริเวณด้านทิศเหนือ เชื่อกันว่ากำแพงศิลาแลงนี้คงมาดำเนินการก่อสร้างในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1911 – 2031)
       3.1 โบราณสถานภายในกำแพงเมือง สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น 20 แห่ง ที่สำคัญ คือ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ วัดโบราณ หรือ สระมน ศาลพระอิศวร วัดกลางนคร เป็นต้น
       3.2 โบราณสถานนอกกำแพงเมือง โดยทั่วไปเรียกกันว่า “เขตอรัญญิก” ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 1,611 ไร่ ตั้งอยู่บนเขาลูกรังขนาดย่อม สำรวจพบโบราณสถานแล้ว 37 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างรอบ วัดอาวาสใหญ่ วัดฆ้องชัย วัดอาวาสน้อย วัดเชิงหวาย วัดดงหวาย วัดช้าง และวัดกะโลทัย เป็นต้น
       ส่วนโบราณสถานที่ตั้งอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำปิง ทั้งภายในและภายนอกเมืองนครชุม ก็ยังมีกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ ภายใน เมืองนครชุมมีวัดพระบรมธาตุและวัดซุ้มกอ เป็นต้นส่วนที่อยู่นอกเมืองนครชุม ได้แก่ ป้อมทุ่งเศรษฐี วัดหนองพิกุล วัดหม่องกาเล และ วัดเจดีย์กลางทุ่ง เป็นต้น
       อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลดทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2534 ร่วมกับ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฎแสดงให้เห็นถึงผลงานอันล้ำเลิศทางสถาปัตยกรรมไทยยุคแรก ความงดงามอลังการของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแห่งอาณาจักรสุโขทัย หลักฐานที่เป็นผลงานอันเป็นเลิศนี้ปรากฎอยู่มากมาย ในอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง ดังกล่าว



โบราณสถานและวัดสำคัญภายในและรอบนอกเมืองนครชุม เมืองกำแพงเพชร และในเขตอรัญญิก
   01  วัตพระบรมธาตุนครชุม
   02  วัดเจดีย์กลางทุ่ง
   03  วัดหนองพิกุล
   04  วัดหม่องกาเล
   05  วัดหนองลังกา
   06  วัดพระธาตุ
   07  วัดพระแก้ว
   08   สระมน
   09  วัดกะโลทัย
   10  วัดพระนอน
   11  วัดพระสี่อริยาบถ
   12  วัดสิงห์
   13  วัดช้างรอบ
   14  วัดอาวาสใหญ่
   15  วัดอาวาสน้อย
   16  วัดช้าง
  

แผนผังเมืองกำแพงเพชรและกลุ่มวัดนอกเมือง (เขตอรัญญิก) (โดยกรมศิลปากร), ที่มา: silpa-mag.com, วันที่เข้าถึง 24 พฤศจิกายน 2562

     การปกครองของแคว้นสุโขทัยสมัยโบราณนั้น มีความเป็นไปได้มากว่า เป็นแบบพระยามหานคร แบ่งเป็นเมืองหลวงและเมืองลูกหลวง มีเมืองสุโขทัยเป็นเมืองหลวง ส่วนเมืองศรีสัชนาลัย เมืองชัยนาท (พิษณุโลก หรือสระหลวงสองแคว) และเมืองกำแพงเพชร05 เป็นเมืองลูกหลวง. อย่างไรก็ตามในระยะแรกแคว้นสุโขทัยน่าจะมีรูปแบบการปกครองด้วย "ระบบเมืองคู่" คือมีผู้นำคนเดียวปกครองสองเมือง และอาจมีเมืองเล็กเมืองน้อยอื่น ๆ เป็นเมืองบริวาร


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:

01.  จาก. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ISBN 978-616-465-018-3, พิมพ์ครั้งแรก, กันยายน 2562.
02.  จาก. wikipedia.org เข้าถึงเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2562, โดย David K. Wyatt (2004), จากหนังสือ Thailand: A Short History, พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ Silkworm Books, เชียงใหม่ หน้าที่ 32 และ Cornell Southeast Asia Program map 13th century Thailand.
03.  อาทิ จารึกวัดสรศักด์ สุโขทัย ที่กล่าวว่า เจ้าสามพระยา มีพระราชมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์สุโขทัย เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ได้เคยเสด็จมาทำบุญที่สุโขทัย พร้อมพระมารดา และน้า ช่วงเวลาที่ทรงเสด็จมาทำบุญที่สุโขทัย ตรงกับช่วงเวลาที่พระองค์ครองเมืองชัยนาทซึ่งเป็นเมืองในฐานะลูกหลวง ซึ่งก็คือเมืองพิษณุโลกหรือสองแควเดิมนั่นเอง.
04.  เมืองพระบาง เป็นเมืองก่อนที่สุโขทัยเป็นราชธานี เป็นชื่อเดิมของเมืองนครสวรรค์ อันเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญตั้งแต่สุโขทัย จนถึงรัตนโกสินทร์ ภายหลังเรียกว่าเมืองชอนตะวัน และเปลี่ยนเป็นเมืองนครสวรรค์ ในที่สุด. เมืองพระบาง ตั้งอยู่ที่บริเวณเมืองนครสวรรค์เดิม ซึ่งเป็นเมืองคู่กับเมืองคนที ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโคน ริมน้ำปิง กำแพงเพชร.
05.  เมืองกำแพงเพชร อยู่ริมแม่น้ำปิง ตอนล่าง ส่วนเมืองชากังราว อยู่ริมน้ำน่าน อันเป็นคนละเมืองกัน ในหนังสือ "พงศาวดารโยนก" โดยพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค), ตำนาน 15 ราชวงศ์, หนังสือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับพิมพ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ได้เล่าเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 1994 ไว้ตรงกัน เอกสารของล้านนาได้ชี้ให้เห็นเส้นทางการยกทัพของพระเจ้าติโลกราชว่าพระองค์มาจากเขตล้านนาทางเมืองแพร่หรือเมืองน่าน ซึ่งจากทั้งสองเมืองเมื่อผ่านพื้นที่เขาสูงของล้านนาแล้วก็จะถึงที่ราบแห่งแรกคือทุ่งย้างเมืองฝาง (จ. อุตรดิตถ์) ที่อยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน  เอกสารของล้านนาที่เล่าเหตุการณ์ตอนนี้เป็นหลักฐานที่สอดคล้องกับเอกสารของกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ การบอกศักราชของเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ พ.ศ. 1994 เป็นเรื่องสงครามครั้งแรกระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหมือนกัน
     เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องมาพิจารณาข้อความที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้อย่างรวบรัดว่า “…มหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้…” ในขณะที่เอกสารล้านนาเล่าเรื่องอย่างละเอียดว่า พระเจ้าติโลกราชได้เมืองในลุ่มแม่น้ำน่านตั้งแต่เหนือไปใต้ คือเมืองทุ่งยั้งในเขต จ. อุตรดิตถ์เมืองสองแควใน จ. พิษณุโลกและเมืองปากยมในเขต จ. พิจิตร เมืองชากังราวควรอยู่ระหว่างเมืองทุ่งยั้งกับเมืองสองแควมากกว่า (คืออยู่เหนือเมืองสองแควขึ้นไป) ได้แก่ เมืองพิชัย อ. พิชัย จ. อุตรดิตถ์ อ้างอิง: เอกสารทอดน่องท่องเที่ยว มหัศจรรย์มหาศิลาแลง เมืองกำแพงเพชร โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. ตุลาคม 2562 ซึ่งได้สืบค้นมาจาก silp-mag.com, วันที่เข้าถึง 24 พฤศจิกายน 2562
06.  "...การสถาปนารัฐสุโขทัยเป็นการกำเนิดรัฐของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทยเป็นครั้งแรกอย่างชัดเจน แต่ก็มิได้เป็นรัฐเดียวของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยซึ่งสถาปนาขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพุทธศตวรรษที่ 19 เพราะมีรัฐของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทยอื่น ๆ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันด้วย เช่น ละโว้ สุพรรณภูมิ พะเยา และเชียงใหม่ เป็นต้น...", พระนามกษัตริย์สุโขทัย: ความสัมพันธ์กับเขมรโบราณ, ศานติ ภักดีคำ.
07.  โดยทั่วไปมักเข้าใจว่า ตรีบูร หมายถึง กำแพงสามชั้น คำว่า ตรีบูร แปลว่า ปราการทั้งสามในตำนานโบราณของอินเดียเล่าว่า อสูรชื่อว่า มยะหวังจะครองโลก จึงได้บำเพ็ญตบะอย่างหนักจนสามารถสร้างป้อมปราการขึ้นมาในชั้นโลก ชั้นอากาศที่กั้นระหว่างโลกและสวรรค์ และในชั้นสวรรค์ มยะได้ใช้เวทมนตร์หล่อหลอมปราการทั้งสามนี้ผนึกเป็นปราการเดียวที่แม้แต่พระอินทร์ อัคนิ หรือ วายุ ก็ไม่สามารถทำลายได้ แต่อาจถูกทำลายได้เพียงศรของพระศิวะเล่มเดียวเท่านั้น เพราะพระศิวะทรงมีฐานะเป็นเทพปศุบดีหรือนายพรานมาก่อน พระอินทร์ทรงสร้างรถศึกขึ้น มีพระพรหมบังคับรถ และพระศิวะได้ใช้ศรของพระองค์ยิงทะลุตรีบูรของอสูรมยะ ทำให้ฝ่ายเทพสามารถรบจนชนะฝ่ายอสูรได้
     ตามตำนานนี้ ตรีบูร หมายถึง กำแพงวิเศษที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมเอาปราการที่แข็งแกร่งทั้งสามเข้าด้วยกัน มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า เป็นกำแพงที่ไม่อาจทำลายได้ หาได้หมายถึง กำแพงสามชั้น ไม่ ฝ่ายเมืองเชียงใหม่ก็อ้างว่า มีตรีบูร และใน กำสรวลสมุทร ก็ได้กล่าวว่า "อยุธยาไพโรจน์ใต้ ตรีบูร" แต่ทั้งสองเมืองก็หามีร่องรอยของกำแพงสามชั้นไม่ จารึกพ่อขุนรามคำแหงกล่าวถึง ตรีบูร ในเชิงสัญลักษณ์เพื่อหมายถึง กำแพงที่แข็งแกร่ง หรือ กำแพงที่ทำลายไม่ได้, (จาก "หนังสือประกอบการสัมมนา "สุโขทัยคดี" ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) ระหว่าง ก.พ.-ก.ค.63, ชื่อ: สุโขทัยคดี: ประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ, โดย ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร หน้าที่ 96-97)

08.  สรุป เรียบเรียงข้อมูลจาก. matichon.co.th/education/news_248891, วันที่เข้าถึง 18 เมษายน 2563.
09.  ประมวลจากการบรรยายของ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร "สุโขทัยคดี" ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน ครั้งที่ 4 - 5) เมื่อ 7 พฤษภาคม 2563.
10.  การบรรยายของ อาจารย์วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, อ.ศรีศักดิ์ วลิโภดม ใน Facebook ห้อง "สยามเทศะ โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์", วันที่เข้าถึง 17 กรกฏาคม 2564.

11.  จาก. อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร, https://www.finearts.go.th/main/view/8215-อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร, วันทีี่เข้าถึง 27 ตุลาคม 2564.

 
info@huexonline.com