MENU
TH EN

012. กลุ่มเตาทุเรียง - สุโขทัย


Title Thumbnail: ที่มา: thailandtourismdirectory.go.th, วันที่เข้าถึง 19 มีนาคม 2563.

012. กลุ่มเตาทุเรียง - สุโขทัย
First revision: Nov.10, 2019
Last change: Jun.05 2020

     กลุ่มเตาทุเรียง (ทุเรียง เป็นภาษามอญโบราณ แปลว่า ถ้วยชาม)02. ซึ่งเป็นเตาเผาถ้วยชามสังคโลกสมัยสุโขทัยนั้น เท่าที่สำรวจพบมี 3 บริเวณ คือ
  1. กลุ่มเตาทุเรียง บริเวณเมืองเก่าสุโขทัย (รายละเอียดแสดงในห้องนี้แล้ว)
  2. กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง - ศรีสัชนาลัย (http://huexonline.com/knowledge/32/291/)
  3. กลุ่มเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย - ศรีสัชนาลัย (http://huexonline.com/knowledge/32/292/)

     แหล่งโบราณคดีกลุ่มเตาทุเรียง บริเวณเมืองเก่าสุโขทัย หรือ เครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย (เตาทุเรียง) อยู่ใกล้วัดพระพายหลวงบริเวณแนวคูเมืองเก่าที่เรียกว่า "แม่โจน" ซึ่งเป็นเนินดินอยู่ระหว่างวัดศรีชุมและวัดพระพายหลวง ชาวบ้านเรียกกันว่า เนินร่องทอง เป็นเตาเผาถ้วยชามสมัยสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ค้นพบเตาโดยรอบ 49 เตา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณคันคูแม่น้ำโจนด้านทิศเหนือ 37 เตา ด้านทิศใต้ข้างกำแพงเมือง 9 เตา และด้านทิศตะวันออก 3 เตา เตาเผาเครื่องสังคโลก เป็นเตาแบบ "เตาประทุน" เหมือนประทุนเกวียน ขนาดกว้าง 1.50 - 2.00 เมตร ยาว 4.5 เมตร ทำเป็นรูปคล้ายประทุนเกวียน แบ่งเป็น 3 ตอน คือ ที่ใส่ไฟ ที่วางถ้วยชาม และปล่องไฟ เครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภทถ้วยชามมีขนาดใหญ่ น้ำยาเคลือบขุ่นสีเทาแกมเหลือง มีลายเขียนสีดำ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกไม้ ปลา และจักร01. (ปัจจุบันที่เข้าไปศึกษาก็พบร่องรอยที่เต็มไปด้วยมูลดินกับเศษถ้วยชามสังคโลก)
     สังคโลก หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในสมัยสุโขทัย (รวมทั้งเมืองแฝดสุโขทัยและศรีสัชนาลัย) เป็นสินค้าออกที่สำคัญของราชอาณาจักรสุโขทัย ส่งออกไปจำหน่ายยังอาณาจักรล้านนา อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และเมืองหรือรัฐต่าง ๆ ทางภาคใต้ และได้ส่งไปจำหน่ายไกล ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง.

     เตาทุเรียง มีด้วยกันสองแบบ คือ
  1. เตากรับ เป็นเตากลม มีพื้นเจาะรูเพื่อระบายความร้อนจากช่องใส่ไฟที่อยู่ด้านล่างขึ้นมา
  2. เตาประทุน มีลักษณะเป็นรูปหลังเต่า แบ่งเป็น 3 ตอน คือ ที่ใส่ไฟ ที่วางถ้วยชาม และปล่องไฟ มีปล่องระบายความร้อนและช่องไฟอยู่คนละแนวกัน เพื่อระบายความร้อนในแนวนอน 
     เตาเผาประทุนที่สุโขทัยนี้ ต่างจากที่ศรีสัชนาลัย เพราะที่สุโขทัยส่วนใหญ่เป็นเตาที่ก่อขึ้นจากอิฐดิบ (มีการขุดค้นพบว่าเตาอิฐนี้ก่ออยู่บนชั้นดินดาน ซึ่งเป็นดินล่างสุดของสุโขทัย) ไม่ใช่เตาขุดที่ขุดเข้าไปในเนินดินธรรมชาติบางแบบที่ศรีสัชนาลัย



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. thailandtourismdirectory.go.th, วันที่เข้าถึง 19 มีนาคม 2563.
02. จาก. การบรรยาย "สุโขทัยคดี" ที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ครั้งที่ 7 เมื่อ 4 มิถุนายน 2563. โดย ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

 
info@huexonline.com