MENU
TH EN

91. วัดพระสี่อิริยาบถ - กำแพงเพชร

Title Thumbnail: จาก vsportkamphaeng.com และ Hero Image จาก. Facebook ห้อง "ท่องไปในอดีต", วันที่เข้าถึง 10 ธันวาคม 2562.
91. วัดพระสี่อิริยาบถ - กำแพงเพชร01, 02.
First revision: Nov.22, 2019
Last change: Sep.12, 2020
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     วัดพระสี่อิริยาบถ เป็นวัดตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อยู่ถัดจากวัดพระนอนไปทางทิศเหนือในแนวกำแพงวัด ซึ่งเป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ติดต่อกันถึงวัดพระสี่อิริยาบถ หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่าวัดพระยืน วัดนี้มีบ่อน้ำและที่อาบน้ำอยู่หน้าวัดเช่นเดียวกับวัดพระนอน ผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
      ด้านหน้าวัดมีอาคารอาบน้ำและบ่อน้ำที่ขุดเจาะลงไปในชั้นศิลาแลง เพื่อนำศิลามาใช้ในการก่อสร้างอาคาร กำแพงวัด เป็นศิลาแลงปักตั้งล้อม 4 ด้าน มีทางเข้าปูด้วยศิลาแลง มีศาลาโถงปลูกคร่อมทางเดินเป็นศาลากว้าง 6 เมตร ยาว 11 เมตร เป็นเสา 4 แถว 5 ห้อง ต่อจากศาลาหน้าวัดมีประตูเข้าไปในบริเวณวัดแล้วถึงฐานศิลาแลงใหญ่ ยกฐานสูงประมาณ 2 เมตร มีเสาลูกกรงเป็นศิลาแลงเหลี่ยมและมีทับหลังลูกกรงเตี้ย ๆ สูงประมาณ 60 เซนติเมตร อยู่โดยรอบ ฐานนี้มีบันไดขึ้นด้านหน้า 2 บันได ด้านข้าง 2 บันไดและด้านหลังอีก 2 บันได บนฐานวิหารกว้าง 17 เมตร ยาว 29 เมตร ย่อมุขเด็จทั้งหน้าและหลัง เสาวิหารที่อยู่บนฐานเป็นเสา 4 แถว 5 ห้อง 2 แถว หน้าและหลัง 2 ห้อง รวม 7 ห้อง ที่ฐานชุกชี มีรอยตั้งพระพุทธรูปนั่งด้านหลังวิหารมีบันไดลงติดต่อกับมณฑปพระอิริยาบถ โดยรอบมณฑปกำแพงแก้วเตี้ย ๆ เหลือแต่ฐาน มีประตูเข้าด้านข้าง 2 ข้าง และด้านหลังมณฑปกว้าง 29 เมตร เป็นมณฑปสี่หน้า ด้านหน้ามีพระพุทธรูปปางลีลา ด้านข้างเหนือมีพระพุทธรูปนั่ง พระพุทธรูปปูนปั้นทั้ง 3 ด้าน ที่กล่าวมาแล้วชำรุดเหลือซากพอเป็นรอยให้ดูรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปเท่านั้น แต่ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้รู้ว่า เป็นพระพุทธศิลปแบบสุโขทัยสกุลช่างกำแพงเพชร ซึ่งหาดูได้ยาก

 

รูปสันนิษฐานของวิหาร และมณฑป, ที่มา: Facebook ห้อง "ศิลปและสถาปัตยกรรมไทย", วันที่เข้าถึง 03 มกราคม 2563
 

     ด้านหลังวิหารเป็นอาคารมณฑปขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว มีประตู 3 ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันตกและด้านทิศใต้ ยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่เชื่อมต่อกับท้ายวิหาร ลักษณะมณฑปเป็นแบบจัตุรมุข กึ่งกลางเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเพื่อรับส่วนยอดหลังคา มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ แต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อผนังให้เว้าเข้าไปและประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นใน 4 อิริยาบถ คือ ผนังด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปอิริยาบถเดิน (ลีลา) ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนอน (ไสยาสน์) ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งและด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน ซึ่งเป็นด้านที่พระพุทธรูปยังคงปรากฏสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มากกว่าด้านอื่น ๆ โดยเป็นพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัย หมวดกำแพงเพชร พิจารณาจากลักษณะของพระพักตร์ คือพระนลาฏกว้าง (หน้าผากกว้าง) และพระหนุเสี้ยม (คางแหลม)

     พระอุโบสถเป็นอาคารขนาดเล็กฐานเตี้ย อยู่ติดกับแนวกำแพงวัดทางด้านทิศใต้ มีใบเสมาทำจากหินชนวนปักบนพื้นดินโดยรอบ ตัวอาคารก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอุโบสถก่อเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม 2 ชั้น
ที่มาของการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถต่าง ๆ ที่ประดิษฐานภายในอาคารมณฑปนั้น ปรากฏในหลายแนวคิด เช่น เป็นรูปแบบอิริยาบถที่ใช้ในการพักผ่อนภายในหนึ่งวันของพระพุทธเจ้าหรือเป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในพุทธประวัติ คือ อิริยาบถยืนเป็นปางห้ามพระแก่นจันทร์หรือปางแสดงธรรม อิริยาบถนั่งเป็นปางสมาธิหรือปางมารวิชัย อิริยาบถนอน (ไสยาสน์) เป็นปางโปรดอสุรินทราหู และอิริยาบถเดิน (ลีลา) เป็นปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

     พระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้น” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ระบุถึงการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 เมื่อปีพุทธศักราช 2449 โดยได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2449 และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถ ดังนี้

     “...ตั้งชื่อไว้ว่าวัดพระยืน มีสะพานข้ามคู...ชิ้นกลางเห็นจะเป็นวิหารยอดจัตุรมุข แต่สูงใหญ่เหลือเกิน มุขหน้าเป็นพระเดิน มุขหลังเป็นพระยืน มุขซ้ายเป็นพระนอน มุขขวาเป็นพระนั่ง ที่มุมปั้นเป็นรูปนารายณ์ขี่ครุฑใหญ่มาก จะรับหลังคาอย่างไรน่าคิด แต่พระเหล่านี้เป็นพระปั้นด้วยปูน ใครจะมาซ่อมมาทำเพิ่มเติมอย่างไรภายหลัง แต่รูปพรรณสัณฐานคงเป็นพระกำแพง ไม่ใช่ช่างเมืองอื่นมาทำ พระยืนนั้นขนาดพระโลกนาถวัดเชตุพน แต่ประเปรียวกว่า เห็นว่าให้ชื่อว่าวัดพระยืนไม่เข้าเค้า จึงเปลี่ยนให้เรียกว่าวัดพระเชตุพนไปพลาง กว่าจะมีชื่ออื่นดีกว่า เหตุด้วยเมืองสุโขทัยมีวัดเชตุพน บางทีเขาจะตั้งชื่อซ้ำกันบ้าง...”

     การเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อปีพุทธศักราช 2450 ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในระหว่างวันที่ 15 – 17 มกราคม พ.ศ.2450 และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถ ดังนี้

     “…ส่วนที่วัดพระสี่อิริยาบถนั้น มีชิ้นสำคัญอยู่ คือวิหารสี่คูหา มีพระยืนด้านหนึ่ง พระนั่งด้านหนึ่ง พระลีลาด้านหนึ่ง พระไสยาสน์ด้านหนึ่ง พระยืน พระนั่ง พระลีลา ยังอยู่พอเป็นรูปร่างเห็นได้ถนัด แต่พระนอนนั้นชำรุดจนไม่เป็นรูป รอบวิหารมีผนังลูกกรงโปร่ง มองเข้าไปได้ทั้งสี่ด้าน แต่วัดนี้เหมือนวัดเชตุพนที่สุโขทัยเกือบจะไม่มีผิด…”

     วัดพระสี่อิริยาบถจึงถือเป็นโบราณสถานอีกแห่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งงานศิลปกรรมที่ปรากฏผ่านทางงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรม รวมทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดี



ที่มา คำศัพท์  และคำอธิบาย:
01.  จาก. facebook ห้อง "ท่องไปในอดีต", วันที่เข้าถึง 10 ธันวาคม 2562.
02. 
จาก. facebook ห้อง "The Kingdom and People of Siam", วันที่เข้าถึง 12 กันยายน 2563. ซึ่งอ้างอิงถึงเอกสาร 6 รายการดังนี้:-
     1)  กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, 2561.
     2)  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 26. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, 2529.
     3)  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2519.
     4)  พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “กำแพงเพชรกับสุโขทัย นอนไม่เหมือนกัน” ศิลปวัฒนธรรม. (ปีที่ 18 ฉบับที่ 5, มีนาคม 2540).
     5)  ภัคพดี อยู่คงดี. “พระสี่อิริยาบถ เมืองกำแพงเพชร” สาระนิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์บัณฑิต. ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2523.
     6)  ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, 2561.




PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-07: จาก. facebook ห้อง "ศิลปและสถาปัตยกรรมไทย", วันที่เข้าถึง 03 มกราคม 2563.
ภาพที่ 08-12
: จาก. facebook ห้อง "The Kingdom and People of Siam", วันที่เข้าถึง 12 กันยายน 2563.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com