MENU
TH EN

28. วัดตระพังช้างเผือก - สุโขทัย

Title Image: จาก: finarts.go.th, วันที่เข้าถึง 21 มีนาคม 2563.
28. วัดตระพังช้างเผือก - สุโขทัย
First revision: Feb.13, 2020
Last change: Mar.21, 2020

วัดตระพังช้างเผือก
---ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ห่างจากประตูอ้อไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 1.5 กิโลเมตร (ภาพที่ 6)
---ลักษณะก่อนการขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดี (ภาพที่ 5) ปรากฏพบเป็นเนินโบราณสถานกว้างประมาณ 30 เมตร ยาว 40 เมตร มีดิน ต้นไม้ และวัชพืชปกคลุมทั่วไป มีร่องรอยการก่ออิฐและศิลาแลง เสาศิลาแลง ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นวิหารขนาดใหญ่และเจดีย์ มีสระน้ำขนาด 30 x 40 เมตร เรียกว่า ตระพังช้างเผือก บริเวณริมขอบสระพบท่อน้ำสี่เหลี่ยมทำจากหินชนวน
---ตามประวัติที่มีการบันทึกปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2450 ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัยและกล่าวถึงวัดตระพังช้างเผือก ว่า "...ออกจากวัดสะพานหินย้อนทางกลับไปดูวัดตระพังช้างเผือกซึ่งอยู่ริมทางที่ไปเขาพระบาทน้อย วัดนี้ตั้งอยู่ข้างบึงหรือสระอันหนึ่งซึ่งมีนามว่าตระพังช้างเผือกในวัดนี้มีอุโบสถย่อมๆ อยู่หลังหนึ่ง แต่เสาเป็นแลงมีบ้วปลายเสา ทำฝีมือพอดูได้ หลังอุโบสถ ออกไปทางตะวันตกมีเป็นฐานยกสูงพ้นดิน ฐานเป็นสองชั้น มีเสาแลงสี่มุมทั้งสองชั้น รวมเป็น 8 เสาด้วยกัน ท่าทางชะรอยจะเป็นบุษบกโถงๆ ประดิษฐานพระปรางค์หรือพระพุทธรูป ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือมีพระเจดีย์เล็กๆองค์หนึ่ง กับมีเป็นกองๆ อยู่อีก ซึ่งอาจเป็นเจดีย์แต่ทลายเสียหมดแล้ว ในเขตวัดนี้ได้พบศิลาจารึกแผ่นหนึ่งนอนทิ้งอยู่ในรกยอดเป็นรูปมน ที่ฐานมีเป็นเดือยต่อลงไปสำหรับปัก แต่ไม่ปรากฏว่าเคยปักอยู่ที่ไหน...อักษรจารึกมี 2 หน้า..." 
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงคัดตามตัวอักษรของจารึกส่งมาถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรสเพื่อทรงอ่าน ได้ความว่าจารึกด้านหนึ่งเป็นคำนมัสการพระพุทธบาท ส่วนอีกด้านหนึ่งอ่านได้ความว่า "ศักราช 1296 ปีขาล" "ราชามหาธรรมม...เสด็จสวรรคาไลยไปแล้ว" "หนางคำเมีย" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชวินิจฉัยว่า "หนางคำเมีย" ผู้นี้น่าจะเป็นผู้สร้างวัดตระพังช้างเผือกแห่งนี้ ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้นำมาเปรียบเทียบข้อความที่อ่านไว้บ้างเล็กน้อยในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง กับศิลาจารึกที่ไม่ทราบว่าผู้ใดนำมาแต่เมื่อใด อยู่ที่เขาไกรลาศ สวนซ้าย ภายในพระบรมมหาราชวัง (หลักที่ 102) ปรากฏข้อความแสดงว่าเป็นศิลาจารึกหลักเดียวกัน ทำให้ปัจจุบันเรียกจารึกหลักนี้ว่า จารึกป้านางคำเยีย จากการอ่านจารึก มีเนื้อหาข้อความในจารึกเป็นอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ได้กล่าวถึงป้านางคำเยียที่ได้บำเพ็ญกุศลต่างๆ ในพระพุทธศาสนา ส่วนข้อความในจารึกอักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลี ได้กล่าวพรรณนาถึงลายลักษณ์ที่ปรากฏในพระบาททั้งสอง แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกำหนดอายุจากจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 28-29 บอก มหาศักราช 1301 และ จุลศักราช 741 ตรงกับ พุทธศักราช 1922

---การดำเนินงานทางโบราณคดี(ภาพที่ 1,2,3) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเข้าดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานวัดตระพังช้างเผือกเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 โดยเริ่มจากการขุดแต่งเนินโบราณสถานซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นอาคารหลักของวัดตระพังช้างเผือกพบแนวฐานอาคารขนาดประมาณ 13 x 13 เมตรหรืออยู่ในผังสี่เหลี่ยม บริเวณด้านทิศเหนือพบแผ่นหินชนวนวางไว้เป็นแนวชิดกับฐานอาคารสันนิษฐานว่าใช้ปูเป็นทางเดินรอบตัวอาคาร โดยมีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง อาคารหลักฐานก่อด้วยศิลาแลงและอิฐสูงประมาณ 1.3 เมตร บริเวณกลางอาคารหลักมีการก่ออิฐยกพื้นสูงลักษณะคล้ายฐานประดิษฐานรูปเคารพหรือฐานชุกชี และพบศิลาแลงทรงกลมทำเป็นเสา

สันนิษฐานอาคารหลักของวัดนี้น่าจะเป็น "มณฑป" ซึ่งมีลักษณะอาคารคล้ายกับอาคารประธานของโบราณสถานวัดศรีโทล ซึ่งหากพิจารณาจากจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร ระบุพุทธศักราช 1904 ได้ปรากฏชื่อวัดศรีโทลอันแสดงให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีการสร้างอาคารแบบนี้ขึ้นมาแล้วซึ่งสัมพันธ์กับพุทธศักราชที่ในปรากฏในจารึกป้านางคำเยียคือพุทธศักราช 1922 ซึ่งเป็นเวลาระยะไม่ห่างกันนัก รวมถึงเป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอรัญญิกหรือเขตตะวันตกนอกกำแพงเมืองสุโขทัยเหมือนๆกันอีกด้วย
---ขณะนี้ได้ทำการขุดแต่งแล้วเสร็จไปประมาณกว่า  50 เปอร์เซ็นแล้ว และจะดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ขนาด 3x3 เมตร จำนวน 1 หลุม บริเวณรอยต่อของมณฑปซึ่งเป็นอาคารหลักกับวิหารซึ่งอยู่ด้านหน้าเพื่อขุดตรวจชั้นดินศึกษาการใช้งานพื้นที่ของวัดตระพังช้างเผือกและดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี บริเวณใกล้ๆกับตระพังช้างเผือกหรือสระน้ำของวัด ขนาด 3x3 เมตร อีกจำนวน 1 หลุม 
.
ภาพที่ 1 : แผนผังลายเส้นของวัดตระพังช้างเผือก
ภาพที่ 2,3,4 : ภาพมุมสูงวัดตระพังช้างเผือกที่ดำเนินการขุดแต่งไปแล้ว
ภาพที่ 5 : สภาพก่อนการเข้าดำเนินการขุดแต่งวัดตระพังช้างเผือก
ภาพที่ 6 : ภาพแสดงตำแหน่งที่ตั้งของวัดตระพังช้างเผือก
ภาพที่ 7 : ภาพท่อน้ำทำจากหินชนวน



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01.  จาก. ผู้ใช้นามว่า Omega ในไลน์ ห้อง "สุโขทัยคดี: เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2563
info@huexonline.com