MENU
TH EN

29. ปรางค์เขาปู่จ่า - อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย

Title Thumbnail & Hero Image ปรางค์เขาปู่จ่า, ถ่ายไว้เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2562
29. ปรางค์เขาปู่จ่า - อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย01.
First revision: Aug.06, 2021
Last change: Nov.07, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       ปรางค์เขาปู่จ่า02. ชื่อเริ่มต้นด้วย ปรางค์ แต่ไม่ใช่ปรางค์ เป็นปราสาทของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ ที่อยู่เหนือสุดของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ เป็นหลักฐานว่าในอดีตสุโขทัยเป็นหนึ่งในรัฐอารักขาชายขอบของจักรวรรดิกัมพูชาโบราณ ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และรัฐไทยสยามในปัจจุบัน.

       สังเกตได้จากการก่ออิฐ ที่เป็นเทคนิคแบบกัมพูชาโบราณ คือ อิฐถูกฝนขัดจนแนบสนิทประสานด้วยฝุ่นอิฐผสมน้ำ.

       ตรงมุมประธานมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มุมรองด้านหนึ่งแคบ อีกด้านหนึ่งกว้าง ชั้นเรือนยอด มีเส้นแบ่งครึ่ง ลักษณะเช่นนี้มักปรากฎให้เห็นในศิลปะกัมพูชาโบราณ ช่วง พศว.ที่ 16 นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังของ พศว.ที่ 16 สมัยพระเจ้าสุริยวรมเทวะที่ 1 ศิลปะกัมพูชาโบราณแบบเขาพระวิหาร (เดิมเรียกบา-ปวน) อายุประมาณ 1,000 ปี

       ก่อนสร้างปราสาทบาปวนหลายสิบปี แต่ร่วมสมัยกับปราสาทพระวิหาร ปราสาทเขาโล้น ปราสาทไบแบก ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทบ้านพลวง ปราสาทตาเมือนธม เป็นต้น.


โบราณวัตถุที่พบจาก "ปรางค์เขาปู่จ่า"01.
       โบราณสถานปรางค์เขาปู่จ่า ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงราว 50 เมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขาหลวงบริเวณบ้านนาเชิง ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย อยู่ห่างจากเมืองเก่าสุโขทัยมาทางทิศใต้ ราว 13 กิโลเมตร.

       ปรางค์เขาปู่จ่าเป็นโบราณสถานก่อด้วยอิฐฐานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก ผนังทางด้านทิศตะวันออกและทางทิศเหนือพังทลายตั้งแต่ส่วนเหนือเรือนธาตุขึ้นไป.

       การขุดแต่งโบราณสถานปรางค์เขาปู่จ่า พบว่าเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะกัมพูชาโบราณ เช่นเดียวกับที่พบในเมืองสุโขทัย ได้แก่ วัดศรีสวาย วัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดง ซึ่งต่างก็ได้รับรูปแบบทางวัฒนธรรมของกัมพูชาโบราณทั้งสิ้น หลักฐานศิลปะกัมพูชาโบราณที่ปรากฎอยู่ในสมัยเมืองพระนครจนถึงสมัยบายน (อายุราว พศว.ที่ 17-18).

       ปรางค์เขาปู่จ่ามีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม มุมประธานมีขนาดใหญ่ที่สุด และเพิ่มแต่ละด้านออกอีกเพียงด้านเดียว อีกสามด้านเป็นประตูหลอก.

       รูปแบบปราสาทมีเรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ส่วนยอดหรือชั้นวิมานเป็นชั้นจำลองหรือย่อส่วนเรือนธาตุให้มีขนาดเล็กลงประดับชั้นยอดเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นไป มีซุ้มจระนำประจำทุกทิศจำนวน 4 ชั้น ทำด้วยปูนปั้นแต่ชำรุดไปทั้งหมด และมีชั้นบัวยอดปราสาทเป็นชั้นบนสุด.

จากเอกสารประกอบใน "ข้อมูลองค์ความรู้ ประจำเดือนสิงหาคม 2564," พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง, วันที่เข้าถึง 6 สิงหาคม 2564.
 
       โบราณวัตถุที่ค้นพบที่เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม จากการขุดแต่งโบราณสถานปรางค์เขาปู่จ่า:
  • ตะปูเหล็ก ที่ใช้ตอกยึดเครื่องไม้ในงานโครงสร้างเครื่องไม้ของวิหาร.
  • ตัวตลับ ปากกว้าง 9 ซม. สูง 5 ซม. เป็นภาชนะเนื้อแกร่ง เคลือบสีเขียวใสทั้งด้านนอกและด้านใน ส่วนก้นภาชนะด้านในมีการตกแต่งลวดลาย โดยการขุดเป็นร่องใต้เคลือบ ไม่พบหลักฐานส่วนฝาปิด
  • ฐานประติมากรรม พบจากการขุดแต่งวิหารด้านทิศเหนือ สภาพเกือบสมบูรณ์ ขนาดกว้าง 50 ซม. ยาว 50 ซม. สูง 30 ซม. ตรงกลางเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 10 ซม. ยาว 14 ซม. ตรงส่วนหน้าด้านบนของแท่นเซาะเป็นร่อง สันนิษฐานว่าเป็นฐานสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ.
  • ชิ้นส่วนรูปเคารพ (เทวสตรี) พบจากการขุดแต่งด้านทิศใต้ขององค์ปรางค์ พบส่วนท่อนล่าง ตั้งแต่กลางลำตัวจนถึงส่วนข้อเท้า ทำจากหินชนวน ขนาดความสูง 60 ซม. กว้าง 23 ซม. ลักษณะการนุ่งผ้า ผ้าจีบเป็นริ้ว ขอบผ้านุ่งเว้าลงที่หน้าท้อง และมีชายผ้าชักออกด้านข้าง ซึ่งลักษณะตรงกับศิลปะกัมพูชาโบราณ สมัยเมืองพระนคร.
  • ส่วนเศียรรูปเคารพ ทำจากหินชนวน พบบริเวณใกล้มุขด้านหน้าขององค์ปรางค์ ขนาดของเศียร สูง 21 ซม. ไม่เห็นรูปหน้าของเศียรชิ้นนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเศียรของรูปสตรี ศิลปะแบบเมืองพระนคร เปรียบเทียบได้จากเครื่องประดับศีรษะของรูปสลักที่ปราสาทวัดพู สปป.ลาว.
  • เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทำจากหินชนวน พบบริเวณใกล้มุขด้านหน้าขององค์ปรางค์ ขนาดสูง 13 ซม. บริเวณกึ่งกลางมวยผมด้านหน้ามีรูปพระอมิตาภะประทับนั่งปางสมาธิ เป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จากรูปแบบของพระพักตร์ เช่น การมีแนวพระเกศา พระขนงต่อเป็นรูปปีกกา พระเนตรเปิด แสดงให้เห็นถึงรูปแบบศิลปะกัมพูชาโบราณสมัยบาปวน.

ปรางค์เขาปู่จ่า, ถ่ายไว้เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2562


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook เพจ "พช.รามคำแหง," ข้อมูลองค์ความรู้ประจำเดือนสิงหาคม 2564. อ้างอิงจาก จารึก วิไลแก้ว.(2541). "โครงกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบึงหญ้า อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย." ศิลปากร 41, 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน): 93-101. และ ห้างหุ้นส่วนจำกัดปุราณรักษ์. (ม.ป.ป.) รายงานการขุดค้น-ขุดแต่งทางโบราณคดีปราสาทเขาปู่จ่า บ้านนาเชิง ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย. ม.ป.ท., วันที่เข้าถึง 6 สิงหาคม 2564.
02ปริวรรตจาก Facebook เพจ "สำรวจปราสาทอารยธรรม "เขมรโบราณ"," โดยผู้ใช้นามว่า Priyanut Attasophonwatthana, วันที่เข้าถึง 07 พฤศจิกายน 2564.



 
info@huexonline.com