MENU
TH EN

37. วัดเจดีย์เจ็ดแถว - ศรีสัชนาลัย

Title Thumbnail: เจดีย์ราย ยอดปรางค์ วัดเจดีย์เจ็ดแถว, ที่มา: oknation.nationtv, โดย อ.วรณัย พงศาชลากร, วันที่เข้าถึง 4 เมษายน 2563. Hero Image: ภาพภายในวัดเจดีย์เจ็ดแถว ถ่ายไว้เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2562.

37. วัดเจดีย์เจ็ดแถว - ศรีสัชนาลัย01,02, 04.
First revision: Nov.12, 2019
Last change: Aug.03, 2020
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
ภิรักษ์ กาญจนคงคา

     วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้ ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ต.บ้านแก่ง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย 64130 ซึ่งตั้งอยู่หน้าวัดช้างล้อม หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ วัดนี้มีลักษณะโดดเด่นกว่าวัดอื่น ๆ ในเมืองศรีสัชนาลัย ด้วยมีเจดีย์แบบต่าง ๆ หลากหลาย เช่น เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูมด้านหลังพระวิหาร และเจดีย์ราย 26 องค์ซึ่งเป็นศิลปะที่สุโขทัยได้รังสรรค์ขึ้นมา โดยมีฐานวัฒนธรรม แนวคิดมาจากกัมพูชาโบราณหลังยุคบายน จากปาละ พุกาม เถรวาทสิงหล ลังกา มาพัฒนาในแบบของสุโขทัยเอง และมีอิทธิพลไปยังอาณาจักรเพื่อนบ้าน เช่น ล้านนา ดังแสดงให้เห็นเจดีย์รายเป็น เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือยอดดอกบัวตูม ที่วัดสวนดอก เชียงใหม่.

     ที่ชื่อว่า วัดเจ็ดแถวนี้นั้น เป็นชื่อเรียกของคนในท้องถิ่น ด้วยเพราะพบเจดีย์น้อยใหญ่จำนวนมากภายในวัด วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้น่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในเมืองศรีสัชนาลัย เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของเมือง โดยดูได้จากแผนที่เมือง อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ราษฎรธรรมดาจะเป็นผู้สร้างขึ้น ดังปรากฎในพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่หก ในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง ว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้เป็นวัดใหญ่ เพราะฉะนั้นจำจะต้องสันนิษฐานดูว่าเป็นของใคร นายเทียน03. กล่าวว่า วัดนี้เดิมเขาเรียกว่า วัดกัลยานิมิต เพราะว่านางพญาธิดาแห่งพระมหาธรรมราชา (บาธรรมราช) เป็นผู้สร้างขึ้น นายเทียนอ้างหนังสือที่ไฟไหม้นั้นเป็นพยานอีก ส่วนกรมพระยาดำรงฯ ทรงมีวินิจฉัยว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีความสวยงามกว่าวัดอื่น ๆ อาจเป็นวัดของกษัตริย์ที่ครองเมืองนี้ และเจดีย์รายอื่น ๆ คงเป็นที่บรรจุพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์สุโขทัย.

     ลักษณะเด่นของเจดีย์ที่วัดเจ็ดแถวนี้ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์จะเรียกกันว่า "เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือยอดดอกบัวตูม"
     พัฒนาการของกลุ่มคนชาติพันธ์ุในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและแม่น้ำสาขาตอนบนนี้ มีความน่าสนใจ ได้ผสมผสานนำคติ ความเชื่อจากหลายแห่งมาก่อร่างเป็นศาสนสถาน โบราณสถาน/วัตถุดังนี้
  • หากพิจารณาบ้านเมืองหรือรัฐในยุคจักรวรรดิบายนถึงยุคหลังบายน ...ในช่วงนี้ข้อมูลประวัติศาสตร์ไทยตกหล่นไป มีนักวิชาการกล่าวได้ว่าอาจเป็น "ยุคมืด" ของประวัติศาสตร์์ไทย นับตั้งแต่สิ้นความเป็นจักรวรรดิกัมพูชาโบราณ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18.
  • ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 อิทธิพลทางการเมือง วัฒนธรรมกัมพูชาโบราณ มีได้จางหายไปทั้งหมด กลุ่มคนลูกครึ่ง (กัมพูชาโบราณ ผสมกับมอญ) อย่างเช่นกลุ่มละโว้ ได้พัฒนามาจนกลายเป็นกรุงอโยธยา กลุ่มรัฐสุวรรณปุระ พัฒนามาเป็นรัฐสุพรรณภูมิ
  • กลุ่มรัฐตอนบนของสายแม่น้ำเจ้าพระยา คือ สุโขทัย ก็รับแนวคิด วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปะความเชื่อจากภายนอก ยังคงมีความเป็นอดีตของจักรวรรดิกัมพูชาโบราณบายน และพุทธศาสนาแบบมหายาน - วัชรยาน พร้อมกับนำคติพุทธศาสนามหายานจากปาละ พุกาม เถรวาทสิงหลภิกขุจากลังกา เข้ามาผสมผสานความเชื่อเดิม จนเกิดเป็นศิลปะเฉพาะ
  • นักวิชาการบางท่านได้สรุปว่า นั่นคือ "เจติยะ"01 เจดีย์ทรงปราสาทยอมพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือสถูปเจดีย์แบบวัชรยานเฉพาะของกลุ่มชุมชนในอิทธิพลของรัฐสุโขทัย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 และมีข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการอีกท่านหนึ่ง04. กล่าวว่าในบทคัดย่อว่า "...สืบเนื่องจากผลการวิเคราะห์รูปแบบศิลปกรรมและความสัมพันธ์ของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นการรับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากปลีของเจดีย์ในศิลปะมอญ โดยวอดคล้องกับช่วงเวลาที่พระภิกษุจากเมืองมอญได้รับอาราธนาเพื่อมาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัยประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20."
  • อันเป็นต้นทางสำคัญของความงามในศิลปะแบบอยุธยาและบ้านเมืองที่พัฒนาจนมาเป็นประเทศไทย ไม่เคยปรากฎคติความเชื่อและงานศิลปะเช่นนี้ในอาณาจักรกัมพูชาโบราณหลังยุคพุทธศตวรรษที่ 18 ในที่แห่งใดในเขตเขมรต่ำเลย.

เจดีย์ราย ยอดปรางค์ วัดเจดีย์เจ็ดแถว, ที่มา: oknation.nationtv, โดย อ.วรณัย พงศาชลากร, วันที่เข้าถึง 4 เมษายน 2563.

     ชื่อนาม "เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์" นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียกในครั้งแรก ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงเรียกว่า "เจดีย์ทรงทะนาน" และคุณธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กำหนดให้เรียกว่า "เจดีย์ทรง (ดอก) บัวตูม" ตามที่เห็นร่องรอยของปูนปั้นประดับเป็นลายกลีบบัวที่ส่วนยอดของเจดีย์ 
     ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อพระเจดีย์สุโขทัยที่นิยมใช้กันมาตลอด ซึ่งนั่นคือคำเรียกส่วนที่เป็นยอดเจดีย์เท่านั้น ในขณะที่เรือนธาตุได้รับการยอมรับจากนักวิชาการในปัจจุบันว่า มีรูปแบบทางศิลปะของการเพิ่มมุม การยกเก็จและซุ่มจระนำ ที่พัฒนามาจากรูปแบบของปราสาทกัมพูชาโดยตรง.

 
          
หนึ่งในเจดีย์รายที่เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท มีซุ้มจรนำด้านหลังของเรือนธาตุ ทำเป็นซุ้มมณฑปมีเรือนยอดข้างบนสูง ส่วนซุ้มทางตะวันตกมีพระพุทธรูปปางนาคปรกประดิษฐานอยู่ เป็นศิลปะสุโขทัยที่มีความสวยงามยิ่ง
 
     เจดีย์ที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ (หรือวัดบุปผาราม) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากทางศรีสัชนาลัยและสุโขทัย นำไปรังสรรค์เป็น เจดีย์ทรงปราสาทยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่อาณาจักรล้านนาด้วยเช่นกัน
 
          
หลังเจดีย์ประธาน มีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถง ซึ่งเป็นประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น มีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า และเหล่าเทวดากษัตริย์


     เมื่อนับรวมเจดีย์ประธาน เจดีย์รายและอาคารเล็กแบบต่าง ๆ กัน มีมากเกินกว่า 30 องค์ นอกจากนี้ยังมีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ภายนอกกำแพงมีโบสถ์และบ่อน้ำ ซึ่งเดิมมีคูน้ำล้อมรอบ จะสังเกตเห็นภายในบริเวณวัดมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพ นำผ้าสีมาพันไว้รอบต้นไม้นั้น. 
 


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. เสริมและนำแนวคิดจาก. บทความ "เจดีย์ทรงปราสาทยอดพุ่มข้าวบิณฑ์-พัฒนาการสุดท้ายของเจติยะตามคติวัชรยานในกลุ่มรัฐสุโขทัยหลังยุคบายน"ของ วรณัย พงศาชลากร, ใน oknationtv.tv, โพสต์ไว้เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2560. http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai/2017/11/08/entry-1/comment
02. เสริมจาก. thailandtoursmdirectory.go.th, วันที่เข้าถึง 5 เมษายน 2563.
03.  นายเทียน เป็นคนนำทางรัชกาลที่ 6 เที่ยวเมืองพระร่วง พระยาอุทัยมนตรีไปได้ตัวมา เป็นชาวเมืองสวรรคโลก เรียกกันว่า อาจารย์เทียน เพราะถือกันว่าเป็นคนมีวิชาความรู้ และบวชอยู่นาน เคยเป็นสมภารอยู่ที่วัดมหาธาตุ แต่ฟังนายเทียนเหมือนอ่านพงศาวดารเหนือ คือต้องฟังแต่พอให้มีทางพิจารณาต่อไป ไม่ใช่ถือเอาเป็นแน่นอน (ข้อมูลปรับเล็กน้อยจาก. หนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง)
04.  วรารักษ์ ชะอุ่มงาม, "ข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมและประเด็นใหม่เกี่ยวกับเจดีย์ทรงยอดพุ่มข้างบิณฑ์", ในหนังสือ "ดำรงวิชาการ" ไม่ทราบปี? .





PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-03: ถ่ายไว้ เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2562.
ภาพที่ 04-11:
วัดเจดีย์เจ็ดแถว ศรีสัชนาลัย (ศิลปะสุโขทัย ปลายพุทธศตวรรษที่ 19) ศรีสัชนาลัยเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าลิไทก่อนเสด็จไปเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ที่สุโขทัย จึงเชื่อว่าวัดนี้ และบรรดาวัดอื่นในเมืองนี้ ส่วนใหญ่สร้างในรัชกาลของพระองค์อันเป็นช่วงรุ่งเรืองของศิลปะสุโขทัย คือช่วงของความหลากหลายรูปแบบเจดีย์ ช่างสุโขทัยสมัยนั้นประสพความสำเร็จในการปรับปรุง ผสมผสานแบบอย่างจากหลายแหล่งบันดาลใจ, ภาพกราฟฟิกสันนิษฐาน โดย ศ.ดร.เล็ก สุขุม, ที่มา: Facebook "กลุ่ม#คนรักประวัติศาสตร์(welovethaihistory)", วันที่เข้าถึง 3 สิงหาคม 2563.

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com