MENU
TH EN

62. วัดวิหารทอง - พิษณุโลก

62. วัดวิหารทอง - พิษณุโลก
First revision: Nov.14, 2019
Last revision: Nov.18, 2019
 

พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เลขที่ ๓๔๔ ถนนจักรพรรดิพงษ์
แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

     พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร แต่ก่อนมีพระนามเพียงแค่ "พระอัฏฐารส" เป็นพระพุทธรูปศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุ ๗๐๐ ปี ปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปยืนที่มีความสูงสง่าที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง ๕ วา ๑ ศอก ๑๐ นิ้ว ( ๒๑ ศอก ๑๐ นิ้ว ) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ นับว่าเป็นการหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งไทย พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดสระเกศ ด้านหลังวิหารทิศตะวันออก
     มีความเชื่อว่า แต่ก่อนพระอัฏฐารสประดิษฐานอยู่วัดวิหารทอง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกเมื่อครั้งย้ายพระอัฏฐารสไปกรุงเทพฯ นั้น ได้ล่องแพไปตามคลองน้ำ เนื่องจากพระอัฏฐารสมีขนาดใหญ่จึงกดทับแพให้จมน้ำมองเห็นเฉพาะองค์พระ แพอยู่ใต้น้ำ คนก็ลือกันว่าพระลอยน้ำ ผ่านมาถึงไหนประชาชนสองฝากฝั่งที่ทราบข่าวก็มารอรับเป็นจำนวนมาก จนมาถึงท่าที่จะขึ้น ปรากฏว่ามีประชาชนหลั่งไหลมาดูพระลอยน้ำและมาช่วยกันชักพระขึ้นเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าคนที่มาเหลือจะคณานับได้ จนเป็นคำพูดติดปากว่า มีคนถึงสามแสนคน ท่าน้ำที่ชักพระอัฏฐารสขึ้นจึงเรียกท่า “สามแสน” ต่อมาจึงกลายเป็น “สามเสน” ซึ่งเป็นชื่อย่านในปัจจุบัน
     ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยสูตรที่พระวิหารพระอัฏฐารส ด้วยพระองค์ทรงปรารภว่า พระอัฏฐารสเป็นพระพุทธรูปที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ในมหาสมัยสูตร พระประยูรญาติของพระพุทธองค์เกิดความแตกแยกกันอย่างรุนแรงจนถึงขั้นยกกองทัพมาประจันหน้าจะทำสงครามกัน เพราะแบ่งผลประโยชน์เรื่องน้ำไม่ลงตัว พระพุทธองค์จึงเสด็จมาห้ามทัพ ทำให้สงครามแย่งน้ำยุติลง และอีกนัยหนึ่งว่า เป็นปางห้ามพระประยูรญาติ ที่ในอดีตพุทธกาลพระพุทธเจ้าไปโปรดนครเวสาลี ทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นกริยาทรงห้าม มหาเมฆตั้งเค้าฝนตกล้างซากศพสิ่งปฏิกูลลงทะเล และทรงมีรับสั่งให้พระสาวกคือพระอานนท์เถระ สวดพระปริตรรัตนสูตรพรมน้ำพุทธมนต์ตลอดคืน ขับไล่ภูติผีสิ่งชั่วร้ายทำให้เมืองนั้นสว่างไสวท้องฟ้าเปิด นั้นคือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้านเมืองนั่นเอง ประชาชนทั้งหลายจึงพากันรวมใจประกาศตัวเป็นพุทธมามกะ
     พระวิหารที่พระอัฏฐารสประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน เป็นอาคารหลังสูงใหญ่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันทั้งสองด้านประดับกระจกสี พระวิหารหลังนี้บ่ายหน้าไปสู่ทิศเหนือ เหตุที่สร้างพระวิหารบ่ายหน้าสู่ทิศเหนือนี้มีเรื่องเล่าว่า เมื่อรัชกาลที่ ๓ เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินนี่วัดสระเกศนี้ ย่อมเสด็จมาโดยทางชลมารคผ่านคลองมหานาค เสด็จขึ้นวัดสระเกศทางทิศเหนือ เดิมมีศาลาอยู่ริมคลองมหานาคด้วย ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระอัฏฐารสก่อนแล้วจึงเสด็จเข้าพระอุโบสถ
     ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ ๔ ทรงเฉลิมพระนามพระอัฏฐารสองค์นี้ว่า "พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร"
     พระวิหารพระอัฏฐารส ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยสูตร เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์สำหรับแจกจ่ายให้ประชาชน สืบเนื่องมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๑๗๐ ปี
     วัดสระเกศเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมความสวยงาม และสักการะสิ่งศักดิ์กสิทธิ์ภายในวัดทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๐ น. - ๑๙:๐๐ น.01



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. Facebook ในห้อง "พระพุทธรูปสำคัญในประเทศไทย", วันที่เข้าถึง 18 พฤศจิกายน 2562.
 
info@huexonline.com