MENU
TH EN

A01. บทนำ - มหาภารตยุทธ

Title Thumbnail & Hero Image: สงครามมหาภารตะ, ที่มา: vedicfeed.com, วันที่เข้าถึง 22 กรกฎาคม 2565.
A01. บทนำ
First revision: Jul.22, 2022
Last change: Sep.21, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรต โดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
.
หน้าที่ 1
       มหากาพย์มหาภารตะ บ้างก็เรียกมหาภารตะ บ้างก็เรียก มหาภารตยุทธ บางครั้งก็เรียกสั้น ๆ ว่า ภารตะ เป็นหนึ่งในสองของมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย (มหากาพย์อีกเรื่องคือ รามายณะ-ซึ่งเก่าแก่กว่า) ประพันธ์เป็น โศลก01. ภาษาสันสกฤต.

       ในส่วนคัดเกลาแล้วจะมีเนื้อหาราว 80,000 โศลก หากเป็นในส่วนรวม ๆ ทั้งหมดก็จะมีความยาวใกล้เคียงถึง 100,000 โศลกเลยทีเดียว รวมทั้งส่วนที่เป็นหริวงศ์ (हरिवंश - Harivamsha or Harivamśa- พงศาวดารแห่งพระหริ) และภควัทคีตา (Bhagavad gītā) ด้วย.

       มหากาพย์เรื่องนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ "อิติหาส หรือ อิติหะสะ - इतिहास - Itihāsas"02. และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของเทพปกรณัมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู.


คัมภีร์พราหมณ์-ฮินดู
       ศาสตร์ หรือ คัมภีร์ (शास्त्र - Shastras or Śāstra) (รายละเอียดศึกษาเพิ่มเติมได้ใน หมายเหตุและคำอธิบายที่ 9 หน้าที่ 7 ของ 01.101 อนุกรมณิกา บรรพ) ที่รวบรวมแนวคิดหลักของชาวฮินดู-พราหมณ์นั้น โดยมีพระพรหม (ब्रह्मा - Brahmā ) เป็นผู้เปิดเผย และอธิบายเพิ่มเติมโดยนักบุญมุนีและผู้พยากรณ์ ข้อความเหล่านี้ถูกส่งต่อด้วยปากเปล่าจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนที่จะมีการจารึกเป็นอักษร.

       โดยทั่วไปแล้ว ตำราฮินดู-พราหมณ์นั้น แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ศรุติ (श्रुति - Śruti) และ สมฤติ (स्मृति - Smṛti) โดยศรุติ แปลว่า "สิ่งที่ได้ยินมา - that which is heard," เป็นการเปิดเผยจากสวรรค์. ดังนั้นจึงเป็นข้อความที่เชื่อถือได้มากที่สุด. สิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อด้วยปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น โดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ .

       คัมภีร์ศรุตินั้น ได้รวมพระเวท03.ไว้ด้วย ซึ่งเป็นชุดของบทสวดของคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก. พระเวทที่เก่าแก่ที่สุดคือ ฤคเวท (Ṛg-Veda) ปราชญ์บางท่านว่าเก่าแก่ อายุย้อนไปถึง 1,500 ปีก่อนคริสตศักราช คัมภีร์พระเวทนี้ ยังประกอบด้วย สามเวท (Sāma Veda) ยชุรเวท (Yajur Veda) และ อรรถรเวท (Atharva Veda) ซึ่งได้ประพันธ์ขึ้นต่อมาไม่น้อยกว่า 1,000 ปีมาแล้ว (รายละเอียดดูใน ปรัชญาอินเดีย เล่มที่ 1.003).

       ควบคู่ไปกับพระเวท ก็มีคัมภีร์พราหมณ์ (Brāhmaṇas - เป็นบันทึกที่เกี่ยวกับพิธีกรรม) คัมภีร์อารัณยกะ บ้างก็เขียน อรัญญากะ (आरण्यक  - āraṇyaka - พิธีบวงสรวง - การสนทนาเกี่ยวกับพิธีกรรมและการทำสมาธิ) และอุปนิษัท04. (Upaniṣads - รายละเอียดทางปรัชญาในคัมภีร์พระเวท - รายละเอียดดูเพิ่มเติมใน อุปนิษัท: สรุปสาระสำคัญ) ทั้งสามคัมภีร์ข้างต้นถือว่าเป็นคัมภีร์ศรุติเช่นกัน วรรณกรรมศรุติทั้งหมด ล้วนประพันธ์เป็นภาษาสันสกฤต.

       ส่วนคัมภีร์สมฤติ (स्मृति - Smṛti) นั้น เป็นการอธิบายขยายความคิดในคัมภีร์ศรุติ และเนื่องจากการแตกย่อยออกมาของสมฤติ ได้รับการพิจารณาว่ามีอิทธิพลหรือมีความสำคัญไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างจากข้อความในศรุติ. สมฤติ แปลว่า "สิ่งที่จำได้ - that which is remembered," เป็นข้อความที่มาจากผู้ประพันธ์ที่หลากหลาย มีการเขียนและถ่ายทอดสืบต่อมาตามจารีตประเพณี.

       คลังข้อมูลสมฤติ (The Smṛti corpus) นี้ ประกอบด้วยข้อความมากมาย อาทิ เวทางค05. ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาพระเวท อิติหาส หรือ อิติหะสะ (มหากาพย์ มหาภารตะ และรามายณะ) ปุราณะ06. (ตำนาน เรื่องเก่า ๆ เช่น ตำนานการสร้างโลก) พระธรรมศาสตร์07. พระอรรถศาสตร์08. และพระสูตร09. ภาษยะ10. และนิพันธะ11. ซึ่งเกี่ยวกับหัวข้อที่หลากหลาย เช่น การเมือง วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับจริยธรรม ศิลปะและสังคม. แม้ว่าข้อความบางส่วนจะเป็นภาษาท้องถิ่น แต่ข้อความส่วนใหญ่นั้น เป็นภาษาสันสกฤต.
---------------
หมายเหตุ คำอธิบาย

01. โศลก อ่านว่า สะ-โหลก, น. สุภาษิต, บทประพันธ์ ภาษาสันสกฤต 4 บาท (บรรทัด) เป็น 1 บท เรียก โศลกหนึ่ง, คำสรรเสริญยกย่อง, คำขับร้อง, สรรเสริญที่เป็นบทกลอน, ชื่อเสียง, เกียรติยศ - ไทย - ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร.
02. อิติหาส หรือ อิติหะสะ (इतिहास - Itihāsas - แปลตามศัพท์ว่า "ประวัติศาสตร์" หรือ "เรื่องราวแบบดั้งเดิมของเหตุการณ์ที่ผ่านมา" หรือ แปลว่า "จึงเกิดขึ้น-so it happened") ซึ่งมหาภารตะและรามายณะถือเป็นส่วนหนึ่งของอิติหาสนี้ สองมหากาพย์นี้ถูกมองว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ตรงข้ามกับปุราณะ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในอดีตอันไกลโพ้น.
03. พระเวท (The Vedas) เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในคัมภีร์ศรุติที่เปิดเผยโดยพระพรหม ฤคเวทเป็นรากฐานของข้อความอีกสามบทสวด คือ สามเวทนั้นเกี่ยวกับพิธีกรรม ยชุรเวทจะเกี่ยวกับการแสดงมนต์ในพิธีกรรม และอรรถรเวทจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน.
04. อุปนิษัท (Upaniṣads) (รายละเอียดดูใน
อุปนิษัท: สรุปสาระสำคัญ) ความหมายตามตัวอักษรว่า "นั่งใกล้ ๆ " เป็นการฟังคำสอนของครูอย่างใกล้ชิด บทความคัมภีร์ศรุติชุดนี้ได้กล่าวถึงหลักการสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่น โมกษะ (mokṣa หรือ Moksha - मोक्ष) เป็นการหลุดพ้นจากวงเวียนหรือสังสารวัฏแห่งการเกิดใหม่ บางทีก็เรียกว่า เวทานตะ (Vedānta) ซึ่งเป็นจุดประสงค์สูงสุดของพระเวท มีอุปนิษัทมากกว่า 200 บท และประมาณ 12 บทถือว่าเป็นมุขยะ (mukhya).
05. เวทางคะ (vedāṅga - वेदाङ्ग - แขนขาของพระเวท) เป็นหกวิชาเสริมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ก่อร่างขึ้นในสมัยโบราณและเชื่อมโยงกับการศึกษาพระเวท ศึกษา (शीक्ष - śīkṣa - สัทศาสตร์ - phonetics or articulation and pronunciation), กัล์ป (कल्प - kalpa - ความคิดทางสังคม หรือ พิธีกรรม - social thought or rituals), ไวยากรณ์ (व्याकरण - vyākaraṇa - grammar), นิรุกตะ (निरुक्त - nirukta - นิรุกติศาสตร์, exposition of words, etymology), ฉันท์ (छन्द - สัมผัส - chandas or Chhanda - metrics or prosody), โยธิษะ บ้างก็เรียก ชฺโยติษะ (ज्योतिष - jyotiṣa - ดาราศาสตร์ตามแบบพระเวท - Vedic astronomy), และมีส่วนเสริมคือ อลังการศาสตร์ (अलंकारशास्त्र - alaṃkāraśāstra - วาทศาสตร์ - study of figures of speech). ได้มีการกล่าวถึงเวทางคะไว้ในไตติรียะ อุปนิษัท (
รายละเอียดดูในหน้าที่ 5 อุปนิษัท: สรุปสาระสำคัญ).
06. ปุราณะ (पुराण - Purāṇas)  เป็นข้อความในสมฤติ เป็นขัอความที่อธิบายเหตุการณ์ที่กล่าวว่าเกิดขึ้นในอดีตกาลอันไกลโพ้น มีหัวข้อที่หลากหลาย เช่น ตำนานกษัตริย์ และวาทกรรมเกี่ยวกับปรัชญา ไวยกรณ์ และภูมิศาสตร์  ซึ่ง มารคัณฑียะ ปุราณะ (मार्कण्डेय पुराण - the Mārkaṇḍeya Purāṇa) นั้นเก่าแก่ที่สุด และมี เทวีมหัตมยะ (देवीमाहात्म्यम् - the Devi Mahatmya หรือ devīmāhātmyam) เป็นบทความที่เกี่ยวกับเทพธิดาผู้ทรงพลังมากที่สุดเมื่อเทียบกับเหล่าเทพธิดาทั้งมวล.
ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก คัมภีร์ปุราณะ 1.
07. พระธรรมศาสตร์ หมายถึง ตำนานการตั้งแผ่นดิน การกำเนิดมนุษย์ การกำเนิดรัฐ และเจ้าผู้ครองรัฐ หลักในการปกครอง.
08. พระอรรถศาสตร์ เป็นคู่มือหรือคัมภีร์การปกครองที่เก่าแก่ที่สุดของภารตวรรษ.
09. พระสูตร หมายถึง รหัสแห่งความรู้พิเศษ องค์ความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะอย่าง.
10. ภาษยะ หมายถึง บทวิจารณ์และข้อคิดเห็นทั้งที่เกี่ยวกับและไม่เกี่ยวกับคัมภีร์ศรุติ.
11. นิพันธะ หมายถึง สรุปเนื้อหา.
1.
2.
หน้าที่  2
 
ฤๅษีกฤษณะ ไทวปายนะ วฺยาส (ท่านเป็นโอรสของนางสัตยวดี กับ ฤๅษีปราศร และคลอดตรงบริเวณเกาะกลางแม่น้ำยมุนามีชื่อเต็มว่า กฤษณะ ทไวปายณะ เวทวฺยาส (कृष्ण द्वैपायन वेदव्यास - Kṛṣṇa Dvaipāyana Vedavyāsa) แปลว่าผู้มีผิวคล้ำ (कृष्ण - Kṛṣṇa - ดำ) เกิดบนเกาะ (द्वीप - Dvīpa - ทวีป) แห่งแม่น้ำยมุนา (यमुना नदी) นั่นเอง และ อายน (อา+ยานะ - आयन - āyana) แปลว่า การมาถึงหรือการเกิด การเข้าไปสู่ (ราศี) ต่อมาเปลี่ยนเป็น วฺยาส แล้วออกบวชตามบิดาอยู่ในป่าหิมาลัย ต่อมานางสัตยวดีผู้เป็นมารดาได้ให้ไปทำนิโยคกับมเหสีม่ายของวิจิตรวีรยะ น้องชายต่างบิดา จึงต้องหลับนอนกับมเหสี ทั้งสองและนางกำนัลอีก 1 คน จนมีโอรสคือท้าวธฤตราษฎร์ ท้าวปาณฑุ และท้าววิทูร ต่อมาโอรสของท้าวธฤตราษฎร์ และท้าวปาณฑุแย่งบัลลังก์กันและล้มตายจำนวนนับล้าน ท่านฤๅษีเกิดความรันทด จึงต้องการบอกเล่าเรื่องราวของลูกหลาน ที่ฆ่าฟันกันเอง จึงเชิญพระคเณศมาเขียน เป็นที่มาของมหาภารตยุทธ, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2560, ภาพ: www.mygodpictures.com, วันที่เข้าถึง 18 ธันวาคม 2565.


       "การอ่านมหากาพย์มหาภารตะช่วยให้จิตใจของเรามีความเข้มแข็ง วรรณกรรมชิ้นนี้สอนให้เราตระหนักถึงความจริงที่ว่า เวรย่อมก่อให้เกิดเวร ความโลภและการใช้ความรุนแรงมีแต่จะนำมนุษย์ไปสู่ความพินาศหายนะ และการชนะที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การชนะธรรมชาติฝ่ายต่ำในตัวของเราเอง...

       ท่านอาจเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วประเทศอินเดียและได้ประสบพบเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง แต่ท่านจะไม่สามารถเข้าใจซึ้งในวิถีชีวิตของอินเดียได้ หากท่านไม่ได้อ่าน มหากาพย์รามายณะ และมหากาพย์มหาภารตะ อย่างน้อยก็ในคำแปลที่ดีของวรรณกรรมสองเรื่องนี้
"03.
ที่มา: Mahabharata by C. Rajagopalachari (จักรวะระดี ราชาโคปาลาจารี)
ผู้สำเร็จราชการคนแรกของอินเดีย

       ตามตำนานกล่าวว่าผู้แต่งมหากาพย์เรื่องนี้คือ ฤๅษีกฤษณะ ไทวปายนะ วฺยาส นับเป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก มีเนื้อหาซับซ้อน เล่าเรื่องอันยืดยาวที่เกี่ยวข้องกับเทพปกรณัม และหลักปรัชญาของอินเดีย ทั้งนี้ยังมีเรื่องย่อย ๆ แทรกอยู่มากมาย ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในเมืองไทย เช่น ภควัทคีตา ศกุนตลา สาวิตรี พระนล กฤษณาสอนน้อง อนิรุทธ์ เป็นต้น ทั้งนี้ยังถือว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของศาสนาฮินดูด้วย นอกจากนี้ มหาภารตะนี้ยังสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับขนมธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ศาสนา การเมือง ศิลปะหลายแขนง ประวัติความเป็นมาของวงศ์ตระกูลต่าง ๆ ในเรื่อง และธรรมเนียมประเพณีการรบการสงครามของอินเดียยุคโบราณด้วย.

       มหาภารตะ เป็น เรื่องราวความขัดแย้งของพี่น้องสองตระกูล ในราว 500 ปีหรือกลางสหัสวรรษก่อนคริสต์ศักราช ทางตอนเหนือของอนุทวีปอินเดีย ระหว่างตระกูลเการพ (เกา-รบ, สันสกฤต เการว อ่าน เกา-ระ-วะ) และตระกูลปาณฑพ (ปาน-ดบ) ซึ่งทั้งสองตระกูลต่างก็สืบเชื้อสายมาจากท้าวภรต แห่ง กรุงหัสตินาปุระ จนบานปลายไปสู่มหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ซึ่งมีพันธมิตร ของแต่ละฝ่ายเข้าร่วมรบด้วยเป็นจำนวนมาก กล่าวกันว่านี่คือการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะ และฝ่ายอธรรม ความดี และความชั่ว ซึ่งในที่สุดแล้ว ฝ่ายปาณฑพก็เป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้.

       ซึ่งทางตอนเหนือของอินเดียนี้ส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมทางการเมืองของผู้คนที่แผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคจากตะวันตก และในช่วงเวลาดังกล่าว ก็มีความก้าวหน้าอย่างมากในการก่อตั้งอาณาจักรโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสำคัญ ๆ ของพวกเขา (เหล่าชาวอารยัน) มีภาษา (สันสกฤต) และมีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ขณะที่ชาวอารยันได้แพร่กระจายไปในอนุทวีปอินเดียนั้น วัฒนธรรมของชาวอารยันก็ได้ผลิตข้อความเป็นจำนวนมากที่รวบรวมศาสนาที่เป็นแกนหลักไว้ มีคัมภีร์พระเวทบางตอนก็เก่าแก่มาก01.

       มีบทสวดที่เก็บรวบรวมไว้มากมายเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมอันซับซ้อนของเหล่าพรตที่เป็นพราหมณ์ที่ต้องการรักษาสงบเรียบร้อยในราชอาณาจักรและบริเวณที่ขยายออกไป พร้อมทั้งมีคัมภีร์ตีความอรรถาธิบายและการคาดการณ์ไปเบื้องหน้า. แม้ปัจจุบัน งานเหล่านี้ยังให้ความรู้สึกที่ไร้กาลเวลา นำเสนอโลกทัศน์ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง มุมมองยังโลกที่มีความซับซ้อนและไร้การเปลี่ยนแปลง. อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างกำลังดำเนินไปและโลกทัศน์ใหม่ ๆ ก็พัฒนาขึ้น นี่คือสภาพแวดล้อมอันส่งผลให้มหาภารตะถือกำเนิด.

       แท้จริงแล้วถือเป็นช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนทางปัญญาที่ไม่ปกตินัก ซึ่งถูกกระตุ้นจากความไม่พอใจต่อแนวคิดในการไกล่เกลี่ยของพราหมณ์และพิธีกรรมของพราหมณ์ อันเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ศาสนา (ฮินดู) บรรลุผลสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย มีมหาคุรุหลักที่ผ่าเหล่าออกไป ได้แก่ มหาวีระ (Mahāvīra) หรือ วรรธมานะ (Vardhamāna - वर्धमान  - แปลว่า ผู้เจริญ) ซึ่งถือเป็นศาสนาหลักหนึ่งของอินเดีย และสมณะโคดมแห่งศากยวงศ์ หรือสมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาหลักศาสนาหนึ่งของโลก.
---------------

01. บทสวดเริ่มแรกของฤคเวท (Ṛg-Veda) กำเนิดขึ้นราว 1200 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรืออาจจะก่อนหน้านี้.
1.
2.
หน้าที่  3
       นอกจากศาสนาเชนและศาสนาพุทธที่ความมีเห็นแย้งออกไปจากแนวคิดของพราหมณ์ ก็ยังมีคุรุอีกหลายท่านที่เสนอวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำสอนดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเลย แน่นอนว่าคำสอนดั้งเดิมนี้กำลังถูกคุกคาม. อย่างไรก็ดี ความไม่เปลี่ยนแปลงของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น เหมือนจะชัดเจนยิ่งกว่าความเป็นจริง ในคัมภีร์พระเวทยุคหลัง ๆ มีการเน้นย้ำมากขึ้น ความรู้อันลึกลับซึ่งเคยมีคุณค่าเสมอถูกจัดให้ผนวกคู่กับพิธีกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ บุญกุศลทางศาสนาสามารถได้รับโดยผ่านชีวิตแห่งการสละสู่สมณเพศและการบูชายัญราคาแพง. ภูมิปัญญาที่แท้จริงตอนนี้ประกอบด้วยความเข้าใจในความเป็นหนึ่งเดียวที่สำคัญของตัวมนุษย์กับสรรพสิ่งทั้งมวลในจักรวาล.

      ข้อกังวลเหล่านี้บางส่วนได้ปรากฎเด่นชัดในมหาภารตะด้วย แต่นี่เป็นผลงานที่แตกต่างอย่างมากจากสิ่งที่ปรากฎในคลังคัมภีร์พระเวทที่มีก่อนหน้า (ประการแรก:) มีเรื่องราวนิทานปรัมปราสั้น ๆ  ปรากฎมากมายในมหาสงครามภารตะ.

       ประการที่สอง:มหาภารตะไม่ใช่ข้อความในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สังคมที่ปรากฎอยู่นั้นถูกแบ่งออกเป็นลำดับชั้นของสี่ชนชั้น (วรรณะ - caste) ซึ่งกำหนดโดยบทบาททางสังคมที่สมาชิกของแต่ละวรรณะควรจะมี. เรียงลำดับจากบนลงล่างคือ พราหมณ์ปุโรหิตและนักปราชญ์ (the Brahmin priests and scholars) ตามมาด้วยวรรณะกษัตริย์ (Kṣatriya) ซึ่งเป็นนักรบและผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้ง วรรณะแพทย์หรือไวศยะ (Vaiśya) ซึ่งทำหน้าที่เป็นชาวนาและพ่อค้า และวรรณะศูทร (Śūdra) ซึ่งมีหน้าที่รับใช้วรรณะสูงทั้งสาม. การมีอยู่ของกลุ่มสังคมอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่นวรรณะศูทรเป็นทหารเลว (พลม้า - charioteer) และกวีนักแต่งกลอนทั่วไป และมีการอ้างถึงในนิทานปรัมปรา. อย่างไรก็ตาม วรรณะศูทรก็ได้รับการอธิบายว่าเกิดจากการรวมตัวของผู้คนในวรรณะหลักที่แตกต่างกัน {ส่วนพวกสูตะ (सूत - Sūta) เป็นผลมาจากการสมรสกันของบุรุษวรรณะกษัตริย์กับสตรีวรรณะพราหมณ์ ซึ่งกำหนดอาชีพไว้ให้เป็นคนขับรถม้า เทียมม้า มักจะเป็นกวีและมักจะพูดจาหยาบกระด้าง}.

        มหาภารตะนั้น แม้ว่าจะมีนำมาจากพระสูตรของบรรดาพราหมณ์ก็ตาม แต่แท้จริงแล้ว มหาภารตะเป็นข้อความที่มาจากพวกวรรณะกษัตริย์ ไม่เพียงแต่บรรดาเหล่ากษัตริย์เป็นตัวละครหลักในเรื่องที่รจนานี้เท่านั้น แต่ประเด็นที่เหล่ากษัตริย์เน้นก็คือ ความรุนแรง หากมีการใช้ความรุนแรงในเรื่องที่ผิดแล้ว ก็จะนำไปสู่กรรมชั่ว มีการเวียนว่ายเกิดใหม่ (ที่เลวร้ายลงไปอีก) มีการกล่าวว่าพวกวรรณะกษัตริย์ควรปฏิบัติตนอย่างไร เพราะไม่ว่าจะเป็นนักรบในสมรภูมิการศึกหรือผู้ปกครองที่ชอบลงทัณฑ์ การใช้ความรุนแรงคือบทบาทในชีวิตของบรรดาพวกวรรณะกษัตริย์เหล่านี้หรือ. นี่คือประเด็นที่เราจะต้องศึกษาทบทวนมหาภารตะครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่ง ภควัทคีตา คือหมวดที่มีชื่อเสียงที่สุด อันเป็นอนุสารที่พระกฤษณะ (วาสุเทพกฤษณะ) สอนแก่อรชุนก่อนเริ่มมหาสงครามนี้.

       ในแง่มุมของชาวตะวันตก มักจะคิดว่ามหาภารตะมีความคล้ายคลึงกับเรื่องอิเลียด (Iliad) - ที่มหากวีโฮเมอร์เป็นผู้ประพันธ์ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เรื่องราวมหาภารตะมีการแต่งขึ้นในหมู่พราหมณ์เหล่ากวีที่เขียนพระสูตร ถ่ายทอดสืบมาด้วยปากเปล่า (โอษวาท หรือ มุขปาฐะ) มีการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 18 บรรพ (parvan) ในแต่ละบรรพมีบทย่อย ๆ ที่เรียกว่าอัธยายะ (adhyāya).

       การที่จะคิดว่ามหาภารตะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวีรบุรุษในสมรภูมิทุ่งกุรุเกษตรเท่านั้นหาได้ไม่ เพราะมีเรื่องราวสอดแทรกเป็นจำนวนมาก ทั้งมีเรื่องเล่าที่แตกหน่อออกจากเรื่องหลัก มีเรื่องย่อย นิทานปรัมปรา คำเทศนา อนุสารต่าง ๆ (ที่อาจจะยืดเยื้อ) ฯ นี่เป็นกระบวนการสำคัญของการก่อร่างมหากาพย์นี้ขึ้น ในยุคแรก ๆ มหาภารตะนั้น เป็นมหากาพย์ที่เล่าสืบทอดด้วยปากเปล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของวรรณะกษัตริย์ จบลงด้วยการเป็นบทสรุปขนาดมหึมาที่เหล่าพราหมณ์ได้ประมวลขึ้นมา อันเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาที่เกิดขึ้นในยุคแรก ๆ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู.

       ในปัจจุบันชาวฮินดูถือว่าภควัทคีตา (มักเรียกย่อ ๆ ว่า 'คีตา') เป็นคัมภีร์ที่สร้างแรงบันดาลใจได้มากที่สุด มหาตมะ คานธีเป็นผู้มีส่วนสำคัญทำให้มีความนิยมในคีตาเพิ่มขึ้นมาก ท่านทุ่มเทศึกษาคีตาและถึงกับตีพิมพ์งานแปล ซึ่งส่วนหนึ่งได้แต่งขึ้นในช่วงที่ท่านถูกขุมขังในเรือนจำเยรวดา เมืองปูนา รัฐมหาราษฏระ (Yerawada, Poona or Pune) อย่างไรก็ตามในอินเดีย มหากาพย์มหาภารตะโดยรวมแล้ว กลับไม่ค่อยดีนัก ด้วยสาเหตุหลักมาจากการเล่าเรื่องที่นองเลือดไว้เป็นพิเศษและการมองโลกในแง่ร้ายที่เด่นชัดแฝงอยู่ ถือว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมเพียงไม่กี่เล่มที่เล่าถึงการเสียชีวิตของผู้คนรวม 1,660,020,000 ชีวิต (ดูในบรรพที่ 11: สตรีบรรพ, อัธยายะที่ 26) และยังมีบางส่วนกล่าวถึงการสังหาร มหาภารตะยังคงมีความนิยมยืนหยัดอยู่ในอินเดียใต้เป็นหลัก ในขณะที่อินเดียทางเหนือกลับนิยมเรื่องราวของพระรามมากกว่า และแซงหน้าไปไกล โดยทั่วไปชาวอินเดียในพื้นที่ส่วนใหญ่มีความเชื่อเรื่องโชคลาง เชื่อว่าหากอ่านมหาภารตะแล้ว (ทั้งหมดหรือบางส่วน) จะนำมาซึ่งความโชคร้าย คำว่ามหาภารตะนั้น ในประเทศอินเดียปัจจุบัน มักใช้เพื่ออ้างเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งที่รุนแรงหรือเรื่องที่ไม่เป็นที่พอใจ.

      ท่ามกลางความสับสนของผู้คนที่มีต่อมหาภารตะ สถานภาพของมหากาพย์ก็ยังคงสถิตนิ่งไม่ผิดหรือผันแปรแต่อย่างใด แม้ว่าอินเดียมีความเปลี่ยนแปลงที่รุดหน้ารวดเร็วในช่วงปลายคริสต์ศวรรษที่ 20 และ 21. เป็นการยากที่จะหาชาวฮินดูที่ไม่รู้เรื่องมหาภารตะหรือโครงร่างเรื่องราวคร่าว ๆ และบุคลิกของวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในมหากาพย์นี้ได้เลย. เรื่องราวที่เล่าขานกันมานี้ก็จะกลายเป็นพื้นฐานในการหาความรื่นรมย์ทางละครหรือภาพยนตร์ การเล่าขานที่ทันสมัยกว่า มักปรากฎในรูปแบบของการ์ตูน แอนนิเมชั่นในสื่อต่าง ๆ.

สถานีโทรทัศน์ ดอร์ดาร์ชาน ของรัฐบาลอินเดีย, ที่มา: justquikr.com, วันที่เข้าถึง: 27 มกราคม 2566.

       มีปรากฎการณ์เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 เมื่อ Doordarshan ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลอินเดีย ฉายซีรี่มีความยาว 94 ตอน (Episode) ของมหากาพย์นี้ ไม่ใช่แค่มีผู้ชมจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ (ต่อมาได้รับความนิยมในสหราชอาณาจักรด้วย) แต่ยังเห็นสื่อโทรทัศน์ที่เปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ ซีรีส์นำเหล่าทวยเทพเข้ามาในบ้านของผู้ชม และพวกเขาก็ตอบสนองด้วยการจุดธูปและพรมน้ำต่อหน้าเครื่องรับโทรทัศน์ เหมือนกับที่พวกเขาจะทำในเทวสถานตามประเพณีต่าง ๆ ในครัวเรือนทั่วประเทศอินเดีย ชายและหญิง เด็กและผู้ใหญ่ ผู้บริหาร และพนักงาน นายจ้าง และลูกจ้าง ร่วมกันชมเรื่องราวอันน่าทึ่งอันได้เปิดเผยให้เห็นถึงความทุ่มเทของผู้อำนวยการสร้างและถ่ายทำซีรี่นี้อย่างแท้จริง.
1.
2.
หน้า 4
     มหาภารตยุทธ ประกอบด้วยบรรพหลักใหญ่ ๆ ทั้งหมด 18 บรรพ และอีกหนึ่งขิละ (ภาคผนวกหรือส่วนเสริม) ซึ่งสามารถดูส่วนขยายอันเป็นรายละเอียดร่วม 98 บรรพ 118 อัธยายะ และจำนวนโศลกทั้งหมด 79,860 โศลกได้ที่ A02. บทนำ: การจำแนกเนื้อหาโดยละเอียดในมหาภารตยุทธ (บรรพ-อัธยายะ-โศลก).

       1. อาทิบรรพ (บรรพแห่งการเริ่มต้น) - บทนำ กำเนิดเจ้าชายต่าง ๆ 
       2. สภาบรรพ (บรรพแห่งสภา) ชีวิตในราชสำนัก การเล่นสการะหว่างยุธิษฐิระกับทุรโยธน์ (หรือโดย ศกุนิ) และการเนรเทศเหล่าปาณฑพ
       3. อรัณยกะบรรพ (เรียก วนบรรพ หรือ อรัณยบรรพ ก็มี) - การเดินป่าของเหล่าปาณฑพในช่วง 12 ปีแห่งการเนรเทศ
       4. วีรตบรรพ หรือ วิราฏบรรพ (บรรพแห่งท้าววิราฏ) ช่วงที่เหล่าปาณฑพพำนักในราชสำนักของท้าววิรตะหรือท้าววิราฏ ในปีที่ 13 แห่งการเนรเทศ
       5. อุโทยคบรรพ (บรรพแห่งความพยายาม) - ฝ่ายเการพและฝ่ายปาณฑพเตรียมการรบ พระกฤษณะบรรยายหรือแสดงลำนำการสนทนาระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับเหล่ามนุษย์ที่เรียกว่า "ภควัทคีตา" แก่อรชุน.
       6. ภีษมบรรพ - ช่วงแรกของมหาสงคราม มีภีษมะเป็นแม่ทัพฝ่ายเการพ
       7. โทรณบรรพ - ภีษมะต้องธนูของอรชุนจนบาดเจ็บสาหัส ไม่อาจบัญชาการรบต่อไปได้ โทรณาจารย์จึงเป็นแม่ทัพฝ่ายเการพแทน
       8. กรรณบรรพ - โทรณาจารย์ถูกธฤษฎะทยุมัน (พี่ชายของเจ้าหญิงเทฺราปที, โอรสท้าวทรุปัท) สังหารสิ้นชีวิตในการรบ กรรณะดำรงตำแหน่งแม่ทัพฝ่ายเการพคนถัดมา ทุหศาสันถูกภีมะ หรือ ภีม (หรือ ภีมเสน) สังหาร
       9. ศัลยบรรพ (บรรพแห่งท้าวศัลยะ) ท้าวศัลยะ เจ้าเมืองมัทรเทศ เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายเการพแทนกรรณะที่ถูกอรชุนสังหารสิ้นชีวิต ทุรโยธน์ถูกภีมสังหาร กองทัพฝ่ายเการพประสบความปราชัย
      10. เสาปติกบรรพ (บรรพที่ฝ่ายปาณฑพกำลังหลับไหล) อัศวถามาและกองทัพเการพที่เหลืออยู่ลอบทำลายกองทัพปาณฑพขณะหลับไหล
      11. สตรีบรรพ - คานธารีและหญิงคนอื่น ๆ โศกเศร้ากับความตายของเหล่านักรบ
      12. ศานติบรรพ - ท้าวธฤตราษฎร์สละราชสมบัติ ยุธิษฐิระขึ้นครองราชสมบัติเมืองหัสตินาปุระแทน และรับคำสอนจากภีษมะ
      13. อนุษสนบรรพ (บรรพแห่งคำสอน) บ้างก็เรียก อนุศาสนบรรพ เป็นบรรพที่ต่อมาจากศานติบรรพ ยุธิษฐิระรับคำสอนครั้งสุดท้ายของภีษมะ
      14. อัศวเมธิบรรพ (บรรพแห่งม้าอัศวเมธ) ยุธิษฐิระทำพิธีอัศวเมธ เพื่อประกาศอำนาจของกรุงหัสตินาปุระ
      15. อาศรมวาสิกบรรพ (บรรพแห่งอาศรม) ท้าวธฤตราษฎร์ดำเนินตามแบบคติพราหมณ์สันยาสี ออกสู่ป่าพนาวร หรือบำเพ็ญตามขั้นตอนชีวิตบั้นปลาย สันยาสี หรือ สันยาสะ พร้อมกับนางคานธารี และนางกุนตี ตลอดจนสัญชัยสารถี ต่อมาเหล่ากษัตริย์ทั้งสามพระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยไฟป่า เหลือเพียงสัญชัยเท่านั้นที่รอดชีวิต และไปอาศัยอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัย
      16. เมาสลบรรพ - ความพินาศของเหล่ากษัตริย์ยาทวะหรือยาทพ วาระสุดท้ายของพระพลราม พระกฤษณะและกรุงทวารกา
      17. มหาปรัสถานิกบรรพ (บรรพแห่งการผจญภัย) ยุธิษฐิระสละราชสมบัติ และช่วงแรกของเส้นทางสู่การไปสวรรค์ของเหล่าพี่น้องปาณฑพ
      18. สวรรคโรหนบรรพ (บรรพแห่งการไปสรวงสวรรค์) - พี่น้องปาณฑพกลับสู่สวรรค์.
และมี ขิละ ซึ่งเป็นภาคผนวกหรือส่วนเสริม คือ หริวงศ์ 


       ซึ่งท่านผู้สนใจสามารถศึกษาโดยสังเขป โดยอิงโครงเรื่องหลักตามคำประพันธ์ของ กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย จาก 02. ได้ตั้งแต่ เพจ 01.1 อาทิบรรพ - บรรพแห่งการเริ่มต้น จนถึง เพจ 18. สวรรคโรหนบรรพ. หากจะศึกษาฉบับเต็มตามที่มหาฤๅษีวฺยาสได้เรียบเรียง ซึ่งผมจะพยายามสืบค้น รวบรวม แปล เรียบเรียง และปริวรรต จนสุดกำลังและสติปัญญา กอปรกับเวลาเท่าที่พึงมีได้ ตั้งแต่เพจ 01.101 อนุกรมณิกา บรรพ เป็นต้นไป
1.
2.


แหล่งอ้างอิง:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
       หนังสือที่ใช้แปล เรียบเรียง และอรรถาธิบาย:
          1) มหาภารตะ ภาษาฮินดี ของ ศรีจตุรฺเวที ทฺวารกา ปฺรสาท ศิรมา.
          2) The Mahabharata, Condensed in the Poet's own words, by Pandit A.M. Srinivachariar and translated into English by Dr. V. Raghavan, M.A., Ph.D.
          3) Mahabharata, by C. Rajagopalachari.
          4) The Mahabharata of Vyas, Condensed from Sanskrit and Transcreated into English, by P. Lal.
          5) A Classical Dictionary of Hindu Mythology and Religion, Geography, History, and Literature, by John Dowson.
          6) Hindu World, An Encyclopedic Survey of Hinduism, by Benjamin Walker.
03จาก. "เล่าเรื่องมหาภารตะ" โดย มาลัย (จุฑารัตน์) ไม่ทราบปีที่เขียน, เข้าถึงจากอินเทอร์เน็ตเมื่อ 3 สิงหาคม 2565.
04จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
05. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.

1.
2.
3.





 
humanexcellence.thailand@gmail.com