MENU
TH EN

17. มหาปรัสถานิกบรรพ

มรณกรรมแห่งนางเทฺราปที, วาดไว้ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 25 กันยายน 2565.
17. มหาปรัสถานิกบรรพ - บรรพแห่งการผจญภัย01,01,02,03,04.
First revision: Sep.25, 2022
Last change: Dec.16, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
"สมะ ศเตฺรา จ มิเตฺร จ, ตถา มานาปมานโยะ
ศีโตษฺณสุขทุะเขษุ, สมะ สงฺควิวรฺชิตะ
"
คนใดวางตนสม่ำเสมอในศัตรู และมิตร ในการได้รับความนับถือและถูกดูหมิ่น
มีความสม่ำเสมอในหนาว ร้อน สุข ทุกข์ เว้นจากการคลุกคลี.



"ตุลฺยนินฺทาสฺตุติรฺเมานี, สํตุษฺโฏ เยน เจนจิตฺ
อนิเกตะ สฺถิรมติรฺ-, ภกฺติมานฺเม ปฺริโย นระ
"
คนที่วางตนให้เท่ากันในนินทาและสรรเสริญ มีความนิ่ง มีสันโดษในทุกอย่าง
ไม่ติดที่อยู่ มีความเห็นมั่นคง มีภักดี ย่อมเป็นที่รักของอาตมา.
 
จากหนังสือ ศรีมัทภควัทคีตา แปลโดยศาสตราจารย์
ร.ต.ท.แสง มนวิทูร และราชบัณฑิต จำนงค์ ทองประเสริฐ
265
       อรชุนได้ทูลให้ท้าวยุธิษฐิระผู้เชษฐภราดาทราบถึงเรื่องความพินาศหายนะทุกประการ ที่ได้เกิดขึ้นแก่ตระกูลยาทพในนครทฺวารกาตามที่ได้ประสบพบเห็นมา โดยเฉพาะแล้วการสิ้นพระชนม์ของพระกฤษณะนั้น ได้ยังความวิปโยคโศกสลดให้เกิดแก่ภราดาปาณฑพเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะพระคุณอันใหญ่หลวงที่พระกฤษณะได้ทรงกระทำไว้แก่พี่น้องทั้ง 5 ในสงคราม ดั่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว.
       การจากไปของเสด็จลุงและเสด็จป้า อันได้แก่ท้าวธฤตราษฎร์ และนางคานธารี ตลอดจนพระชนนีคือนางกุนตี ดังปรากฎในบรรพที่ 15 นั้น นับว่าได้สร้างความขมขื่นในชีวิตให้แก่องค์ยุธิษฐิระและภราดาทั้ง 4 อย่างสาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว บัดนี้เมื่อมาได้ทราบว่า พระกฤษณะก็ได้เสด็จจากไปแล้วเช่นเดียวกันอีกเล่า ท้าวยุธิษฐิระจึงถึงกับทรงหมดอาลัยในไอศุริยสมบัติและพระชนมชีพทีเดียว พระองค์ได้ทรงปรึกษากับภราดาทั้ง 4 และในที่สุดทั้ง 5 องค์ก็ได้ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติเพื่อออกแสวงหาความสงบสุขในป่าเยี่ยงราชฤๅษีมุนีทั้งหลายในอดีต.
       เมื่อได้ตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ธรรมบุตรยุธิษฐิระก็ได้ตรัสสั่งให้มีการประกาศให้พสกนิกรได้ทราบกันโดยทั่วถึง เกี่ยวกับการตัดสินพระทัยสละราชสมบัติของพระองค์ และพร้อมกันนั้นก็ได้ทรงมอบพระราชอำนาจให้แก่เจ้าชายปรีกษิต โอรสของอภิมันยุอันเกิดแต่นางอุตตรา ขึ้นเป็นกษัตริย์ครอง-
---------------

01. มหาปฺรสฺถาน เป็นศัพท์ภาษาสันสกฤต แปลว่า การไปหรือการเดินทางอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึง การที่ท้าวยุธิษฐิระและอนุชาปาณฑพทั้ง 4 รวมทั้งนางเทฺราปทีศรีชายา ได้สละราชสมบัติ แล้วเดินทางมุ่งหน้าไปจาริกบุณย์และแสวงหาความวิเวกที่ในป่า.

266
นครหัสตินาปุระและนครอินทรปรัสถ์แทนพระองค์ ในการนี้ ท้าวยุธิษฐิระได้ทรงแต่งตั้งให้ ยุยุตสุ ผู้โอรสองค์หนึ่งของท้าวธฤตราษฎร์ อันเกิดแต่มารดาในไวศยวรรณ เป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้ช่วยของเจ้าชายปรีกษิตด้วย.
       ต่อจากนั้น ยุธิษฐิระ และอนุชาทั้ง 4 อีกทั้งนางเทฺราปทีมเหสีผู้ซื่อสัตย์ ก็ได้จัดพิธีทำบุญให้ทานแก่สมณะชีพราหมณ์ ตลอดจนผู้อนาถยากไร้ทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร ยังความปลาบปลื้มระคนเศร้าให้แก่อาณาประชาราษฎร์เป็นที่ยิ่ง.
       ครั้นแล้วทั้ง 6 องค์ คือ ยุธิษฐิระ 1 ภีมะหรือภีมเสน 2 อรชุน 3 นกุล 4 สหเทพ 5 และนางเทฺราปที 6 ก็ทรงแต่งพระองค์ด้วยภูษา วากจิรพัสตร์ หรือ วัลกล อันได้แก่ผ้าเปลือกไม้ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายตามเพศของนักบวช แล้วเสด็จออกสู่ป่า หรืออีกนัยหนึ่งคือกระทำ มหาปฺรสฺถาน ซึ่งตามศัพท์แปลว่า การไปหรือการเดินทางอันยิ่งใหญ่นั่นเอง.
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เบื้องหลังทั้ง 6 องค์นี้ มีสุนัขเดินติดตามไปด้วยตัวหนึ่ง ซึ่งแม้ภายหลังที่ชาวนาครผู้ติดตามไปส่งกลุ่มขัตติยชนทั้ง 6 จนพ้นเขตนครไป และพากันกลับเข้าเมืองมาแล้ว สุนัขตัวนั้นก็หาได้กลับเข้าเมืองด้วยไม่ หากยังเดินตามปาณฑพทั้ง 5 และมเหสีไปตลอดทาง.
       ยุธิษฐิระและอนุชาทั้ง 4 พร้อมด้วยนางเทฺราปที ได้เสด็จจาริกไปทางทิศตะวันออกของภารตประเทศเป็นอันดับแรก ทั้ง 6 องค์รวมทั้งสุนัขอีก 1 เป็น 7 รอนแรมผ่านป่าเขาลำเนาไพรไปตามโอกาสและความสะดวก ทั้งนี้เพื่อเยี่ยมเยือนบุณยสถานตามจุดต่าง ๆ ระหว่างทาง แต่ละองค์ต่างก็บำเพ็ญศาสนกิจและแสวงหาความสงบ ความสะอาด และความสว่างไปตายอัธยาศัยและต่างก็ได้รับปีติสุขอันเกิดจากเนกขัมบารมี และความมีน้ำใจแน่วแน่ที่จะขัดเกลากิเลส ตลอดจนชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดยิ่ง ๆ ขึ้นไป.
       ทางภาคตะวันออกของภารตประเทศ ณ บริเวณซึ่งมีชื่อว่า โลหิตสาคร หรือทะเลซึ่งน้ำมีสีแดง อรชุนได้พบกับพระอัคนิเทพ ผู้แนะนำให้อรชุนปลดเปลื้องคันธนู "คาณฑีวะ" และแล่ง "อักษัย" ออกทิ้งทะเลเสีย เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธนี้ต่อไปแล้ว อีกทั้งอาวุธวิเศษนี้ก็หมดอานุภาพตามความที่ได้-

 
267
พรรณนามาในบรรพที่ 16 แล้วด้วย.
       จากทิศตะวันออกของภารตวรรษ ปาณฑพทั้ง 5 และเทฺราปที ผู้มเหสีได้จาริกสู่ทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ต่อจากนั้น จึงวกขึ้นไปทางทิศตะวันตก อันเป็นที่ตั้งของนครทฺวารกา ซึ่งขณะนั้นได้จมหายลงไปในท้องทะเลเกือบจะหมดสิ้นอยู่แล้ว คงเหลือแต่ยอดของปราสาทราชมณฑียรและเทวาลัย ให้เห็นเหนือพื้นน้ำบ้างในสถานที่บางแห่งเท่านั้น สภาพของนครทฺวารกา ซึ่งเคยเป็นพระราชฐานของพระกฤษณะได้เตือนพระทัยให้ท้าวยุธิษฐิระและอนุชา ตลอดจนนางเทฺราปที ระลึกถึงความหลังด้วยความรันทดหดหู่พระทัยอย่างเหลือที่จะพรรณนา.
       จากทิศตะวันตก ปาณฑพทั้ง 6 พร้อมด้วยสุนัขก็ได้มุ่งหน้าขึ้นสู่ทิศเหนือ อันเป็นที่ตั้งของเทือกเขาหิมาลัยหรือป่าหิมพานต์ ดินแดนอันเป็นที่บำเพ็ญพรตของปวงฤๅษีมุนีมาแต่บรรพกาล.
       ณ เทือกเขาหิมาลัยหรือป่าหิมพานต์นี้เอง มีขุนเขาอยู่ลูกหนึ่งนามว่า เมรุบรรพต หรือ สุเมรุบรรพต และแม้ เทวบรรพต ก็เรียกกัน เมืองสวรรค์อันเป็นนิวาสสถานของพระอินทร์ ราชาแห่งทวยเทพนั้น ตั้งอยู่บนยอดขุนเขาพระสุเมรุลูกนี้.
       ธรรมบุตรยุธิษฐิระพร้อมทั้งอนุชา และนางเทฺราปที ต่างก็ตั้งปณิธานแน่วแน่ที่จะขึ้นไปให้ถึงยอดของขุนเขาพระสุเมรุให้จงได้ ทั้งหมดต่างก็มุ่งหน้าขึ้นไปพร้อมกันเพื่อให้บรรลุถึงเมืองสวรรค์อันเป็นที่พึงปรารถนา.
       อย่างไรก็ตาม การไต่ขึ้นภูเขาพระสุเมรุเพื่อจะให้ถึงยอดอันเป็นที่ตั้งของสวรรค์ ซึ่งเป็นนิวาสสถานที่ปุถุชนทั่ว ๆ ไปปรารถนานั้น มิใช่เป็นของง่าย ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่กุศลผลบุญของแต่ละบุคคลที่ได้สั่งสมไว้มากน้อยเพียงไร
       ภายหลังที่ได้เดินไต่เขาขึ้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง บุคคลแรกที่หมดแรงล้มลง และไม่สามารถจะปีนป่ายต่อไปอีกได้ก็คือ นางเทฺราปที.
       ภีมเสนจึงทูลถามองค์ยุธิษฐิระผู้เชษฐภราดาว่า เหตุไฉนน้องนางผู้ประกอบคุณงามความดีมาตลอดชีวิตจึงสิ้นบุญ ำม่มีแรงเดินขึ้นเขาพระสุเมรุต่อไปได้.
       "น้องเทฺราปทีมีความดีมากมาย แต่เพราะเธอมีฉันทาคติ กล่าวคือ มีความลำเอียงในองค์อรชุนมากกว่าภัสดาองค์อื่น ๆ เพราะฉะนั้น เธอจึงหมดบุญไม่สามารถเดินขึ้นเขาต่อไปได้".


268
       ตอบเสร็จ ยุธิษฐิระและอนุชาทั้ง 4 ตลอดจนสุนัขก็ปีนป่ายขึ้นภูเขาต่อไป.
       ทั้ง 5 คนและสุนัข ไต่ขึ้นภูเขาต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก็ปรากฎว่า สหเทพหมดแรงล้มลงเช่นเดียวกับนางเทฺราปที ภีมเสนจึงทูลถามพระยุธิษฐิระว่า.
       "น้องสหเทพประพฤติตนดีมาตลอด เหตุไฉนจึงมีอันเป็นไปเช่นนี้เล่าพ่ะย่ะค่ะ".
       "น้องสหเทพมีอติมานะว่า ไม่มีใครที่จะมีสติปัญญาเท่าเทียมเธอได้ เธอจึงต้องมีอันเป็นไปเช่นนี้" ยุธิษฐิระตอบ.
       ที่เหลืออยู่ 4 คนและสุนัขก็ปีนป่ายขึ้นภูเขาพระสุเมรุต่อไป โดยหมายมั่นจะไปให้ถึงยอดอันเป็นสวรรค์ ที่ประทับของพระอินทร์และทวยเทพทั้งหลาย.
       บุคคลที่ 3 ที่หมดแรงคือ นกุล ฝาแฝดของสหเทพอันเกิดแต่นางมาทรีมเหสีหนึ่งในสองของท้าวปาณฑุ.
       "้เหตุไฉน นกุลผู้มีรูปร่างสง่างามและตั้งมั่นอยู่ในธรรม จึงหมดบุญเสียเพียงเท่านี้เล่าพระเจ้าข้า". ภีมเสนทูลถามองค์ยุธิษฐิระอีก.
       "อหังการอันได้แก่การถือตัวว่า ตนนั้นไม่มีใครสง่างามเท่า นั่นแหละเป็นมูลเหตุแห่งความหายนะของน้องนกุล" ยุธิษฐิระก็ตรัสตอบ พลางก็เดินขึ้นเขาต่อไปพร้อมด้วยอรชุน ภีมเสน และสุนัขที่ซื่อสัตย์.
       บุคคลต่อไปที่หมดแรงล้มลงคือ อรชุนผู้ยอดเยี่ยมในฝีมือธนู.
       เมื่อถูกภีมเสนถามถึงเหตุแห่งความวิบัติของอรชุน ท้าวยุธิษฐิระก็ตรัสตอบว่า.
       "น้องอรชุนรักความสัตย์เสียยิ่งกว่าชีวิต แต่เป็นเพราะเคยโอ่อวดว่าเธอคนเดียวก็จะสามารถพิชิตศัตรูได้ทั้งหมด เสร็จแล้วก็ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้จริง เธอจึงถึงซึ่งความวิบัติดังที่เห็นกันอยู่นี้แหละ" ยุธิษฐิระตอบแล้วก็ปีนป่ายขึ้นเขาต่อไป.
       บุคคลถัดไปที่หมดกำลังไม่สามารถจะขึ้นเขาพระสุเมรุต่อไปได้ คือตัวภีมเสนเอง ขณะที่ซวนเซทรุดกายฮวบลงบนโขดหิน ภีมเสนได้เอ่ยปากถามเชษฐภราดาเป็นครั้งสุดท้ายถึงเหตุแห่งความปราชัยของตนเอง และก็ได้รับคำตอบว่า.

 
269
       "น้องเห็นแก่ปากท้องของตัวน้องเองมากเกินไป ความโลภทำให้น้องมองข้ามความจำเป็นของผู้อื่นไปเสียสิ้น โดยเฉพาะในเรื่องการบริโภค เพราะฉะนั้นน้องจึงต้องประสบกับความพ่ายแพ้เช่นที่เห็นอยู่นี้".
       แม้จะสูญเสียมเหสีและอนุชาไปจนหมดสิ้นแล้ว ยุธิษฐิระก็หาได้ย่นย่อท้อถอยต่อการเดินทางขึ้นภูเขาพระสุเมรุต่อไปไม่ หากยังคงค่อย ๆ คืบก้าวสาวพระบาทต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง และยังมีสุนัขตามติดอย่างกระชั้นชิดไปด้วยเช่นเดิม.
       ภายหลังที่ได้ทรงใช้ความพยายามปีนป่ายขึ้นเขาไปได้อีกระยะหนึ่ง ก็มีเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นดังขึ้นทั้งสี่ทิศ พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ที่บดบังหลังกลุ่มเมฆอันหนาทึบ และแล้วในบัดดล บรรยากาศรอบด้านก็มัวมนมืดคลุ้มชอุ่มควัน ทันใดนั้น องค์อินทราผู้เป็นราชาแห่งสรวงสวรรค์ ก็ปรากฎพระวรกายบนราชรถ ซึ่งค่อย ๆ เคลื่อนคล้อยลอยลดลงมาหยุดอยู่ ณ ไหล่เขา ไม่ห่างจากที่องค์ยุธิษฐิระกำลังประทับพักเอาแรงอยู่ด้วยความเหนื่อยอ่อน.
       องค์อมรอินทราธิราชทรงกวักพระหัตถ์ ให้ยุธิษฐิระขึ้นมาประทับบนราชรถพร้อมกับตรัสว่า.
       "ท่านจงขึ้นรถมากับเราเถิด! เราจะพาท่านไปส่งยังเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ท่านปรารถนาจะไป".
       "ข้าแต่ท่านท้าวสหัสนัยน์! เป็นพระกรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีพระเมตตาจะพาข้าพระองค์ไปส่งยังสวรรค์ชั้นฟ้า แต่อนุชาของข้าพระองค์ทั้ง 4 รวมทั้งเทฺราปทีศรีชายาด้วย ได้สิ้นแรงล้มลงระหว่างทางเสียแล้ว ข้าพระองค์ใคร่จะกราบทูลขอร้องให้พระองค์ได้โปรดทรงรับบุคคลทั้ง 5 ไปกับข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า!" ยุธิษฐิระกราบทูลอ้อนวอนภายหลังที่ได้กระทำอภิวาทต่อองค์อินทร์แล้ว.
       "อนุชาของท่านพร้อมทั้งเทฺราปทีศรีชายา ได้ทิ้งร่างไปรอท่านอยู่ในเมืองสวรรค์แล้ว ท่านอย่าได้เป็นห่วงเขาต่อไปอีกเลย สำหรับตัวท่านเองนั้น โดยเหตุที่ได้บำเพ็ญบุญญาบารมีมามาก เราจึงขอเชิญท่านไปประทับ ณ เมืองสวรรค์ โดยไม่ต้องทิ้งร่างไว้ในมนุษยโลกเช่นคนอื่น ๆ " พระอินทร์ตรัสตอบ.
       ด้วยความดีพระทัย ยุธิษฐิระจึงทรงย่างพระบาทจะขึ้นไปประทับบนราชรถ-


270
ของท้าวสหัสนัยน์ ทันใดนั้น สุนัขก็เดินตามจะขึ้นไปด้วย พระอินทร์จึงตรัสว่า.
       "ช้าก่อน! สุนัขเป็นสัตว์ที่ต้องห้ามในเมืองสวรรค์ ด้วยเหตุว่า จะไปทำให้พิธีบูชายัญของทวยเทพไม่บริสุทธิ์ ขอท่านจงทิ้งมันไว้ในมนุษยโลก ให้เหมือน ๆ กับที่ท่านทิ้งอนุชาและชายาของท่านเถิด!".
       "ขอเดชะ! ข้าพระองค์มิได้ทิ้งน้อง ๆ และชายาแต่อย่างใด หากเขาได้สิ้นบุญสิ้นวาสนาไปเสียก่อน และข้าพระองค์ก็ไม่สามารถจะยับยั้งกาลกิริยาของพวกเขาได้ ส่วนสุนัขตัวนี้มีความจงรักภักดีต่อข้าพระองค์มาก มันสู้อุตส่าห์ติดตามข้าพระองค์มาจากพื้นโลก ข้าพระองค์ไม่สามารถจะทิ้งมันไว้เบื้องหลังได้ เพราะจะเป็นการผิดหลักธรรมอย่างอุกฤษฏ์ มาตรว่า ข้าพระองค์จะต้องสูญเสียสวรรค์อันเป็นสิ่งพึงปรารถนาไป ข้าพระองค์ก็จะยอม แต่จะให้ข้าพระองค์ทอดทิ้งผู้จงรักภักดีที่ติดตามข้าพระองมานั้น ข้าพระองค์ทำไม่ได้! ขอพระองค์ได้โปรดประทานอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า..." ยุธิษฐิระทูลตอบท้าวโกสีย์... แต่ยังมิทันจะขาดคำดี สุนัขตัวนั้นก็พลันอันตรธานไปจากสายตาทุกคน และในบัดดล ธรรมเทพก็ปรากฎร่างเป็นพระนารายณ์สี่กรให้เป็นที่ประจักษ์ พร้อมกับรับสั่งว่า.
       "ดูกรยุธิษฐิระ! เราพอใจต่อพฤติการณ์ทั้งภายในและภายนอกดวงหทัยของท่านมาก สมแล้วที่โลกได้ขนานนามท่านว่า "ธรรมบุตร" เราได้ทดลองความหนักแน่นในธรรมะของท่าน ทั้งในป่าไทฺวตวัน และ ณ ที่นี้ เราได้แปลงร่างเป็นสุนัขติดสอยห้อยตามท่านมาตลอดทาง ตั้งแต่ราชธานีมาแล้ว สมควรแล้วที่ท่านจะได้ไปเสพสุขในเมืองสวรรค์ เราขออนุโมทนา!".
       ต่อจากนั้น ท้าวสักกะเทวราชและธรรมเทพก็เชิญยุธิษฐิระขึ้นประทับบนราชรถ ครั้นแล้วเวชยันตราชรถก็ทะยานขึ้นสู่สวรรค์.
       พระนารทะมุนีผู้เป็นฤๅษีแห่งเมืองสวรรค์ ได้ออกมากระทำปัจจุคมนาการแก่ท้าวยุธิษฐิระ พลางกล่าวสดุดีว่า.
       "ธรรมบุตรยุธิษฐิระเป็นราชฤๅษีพระองค์แรก ที่เสด็จมาสู่สวรรค์ในร่างของมนุษย์ ทั้งนี้เพราะได้ทรงบำเพ็ญกุศลกรรมไว้มากเป็นพิเศษ เราชาวสวรรค์ขอต้อนรับท่านด้วยความเปรมปราโมทย์".

 
จบบรรพที่ 17: มหาปฺรสฺถานบรรพ

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.


 
info@huexonline.com