MENU
TH EN

03. อรัณยกะบรรพ หรือ วนบรรพ

03. อรัณยกะบรรพ หรือ วนบรรพ01.01,02,03,04.
First revision: Jul.22, 2022
Last change: Jul.15, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรต โดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

"อเทฺวษฺฏา สรฺวภูตานามฺ, ไมตฺระ กรุณ เอว จ,
นิรฺมโม นิรหํการะ, สมทุะขสุขะ กษฺมี"

ผู้ไม่เกลียดชังต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีเมตตา กรุณาโดยแท้
ปราศจากมมังการ อหังการ สม่ำเสมอในทุกข์และสุข คอยแต่จะให้อภัย
 
"สํตุษฺฏะ สตตํ โยคี, ยตาตฺมา ทฺฤฒินิศฺจยะ,
มยฺยรฺปิตมโนพุทฺธิรฺ, โย มทฺภกฺตะ ส เม ปฺริยะ"

สันโดษเนืองนิตย์ เป็นผู้ประกอบในสมาธิ บังคับใจอยู่ มีความตั้งใจมั่นคง
มีใจและปัญญาแน่นแฟ้นในอาตมา ภักดีต่ออาตมา เขาผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของอาตมา
จากหนังสือ ศรีมัทภควัทคีตา แปลโดยศาสตราจารย์
ร.ต.ท. แสง มนวิทูร และราชบัณฑิต จำนงค์ ทองประเสริฐ.

 
119
       กลุ่มพี่น้องปาณฑพ นางเทฺราปที และปุโรหิตเธามฺยะ ผู้ซื่อสัตย์ ได้ออกเดินทางจากนครหัสตินาปุระ มุ่งหน้าเข้าสู่ป่า กามัยกะ01.โดยมี อินทรเสน ข้าผู้รับใช้และครอบครัวติดตามไปด้วย ขณะที่จะออกเดินทางนั้น มีชาวนครหัสตินาปุระเป็นจำนวนมาก แสดงความประสงค์จะร่วมเดินทางไปด้วย เพราะสงสารและเห็นความไม่เป็นธรรมของฝ่ายเการพ แต่ธรรมบุตรยุธิษฐิระได้ห้ามปรามไว้ โดยชี้ให้เห็นความลำบากยากเข็ญที่คนเหล่านั้นจะได้รับจากการไปมีชีวิตอยู่ในป่า แม้กระนั้นก็ตาม ชาวนครเหล่านั้นก็ยังได้ติดตามไปสูงจนถึงชายเมืองจะเข้าเขตป่า จึงอำลาพี่น้องปาณฑพกลับ.
       ทางนครหัสตินาปุระ หลังจากที่พวกปาณฑพได้เข้าป่าไปแล้ว ทุรโยธน์และน้อง ๆ รวมทั้งศกุนิด้วย ต่างก็ตั้งข้อรังเกียจมหามติวิทูรต่าง ๆ นานา จนในที่สุดมหามติวิทูรทนอยู่ไม่ได้ ต้องพลอยติดตามไปอยู่ในป่ากับพวกปาณฑพด้วย เมื่อความจริงเรื่องนี้ล่วงรู้ไปจนถึงพระกรรณของธฤตราษฎร์เข้า ท้าวเธอก็ทรงปริวิตกเป็นกำลัง เพราะมหามติวิทูรนั้นนอกจากจะเป็นอำมาตย์เก่าแก่แล้ว ยังเป็นทั้งพระญาติ มีความรอบรู้และมีปัญญาหลักแหลมในกิจการบ้านเมืองอีกด้วย.

---------------
01. ข้อความในบรรพนี้พรรณนาถึงการใช้ชีวิตในป่าของพี่น้องปาณฑพ จึงมีชื่อว่า วนบรรพ.
หมายเหตุและคำอธิบาย
01. ป่ากามัยกะ (Kamyaka Forest) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสรัสวตีที่ปัจจุบันได้แห้งผาก สูญสลายไปแล้ว เดิมเต็มไปด้วยสัตว์ป่า เป็นที่เหล่านักพรต ฤๅษีมักจะมาพำนักอาศัยบำเพ็ญเพียรในป่าแห่งนี้ กลุ่มพี่น้องปาณฑพสามารถเดินทางมายังป่าแห่งนี้ได้ (จากหัสตินาปุระมาป่ากามัยกะ) ใช้เวลาสามวัน โดยใช้รถเทียมม้า พี่น้องปาณฑพ พร้อมนางเทฺราปที และปุโรหิตเธามฺยะ พำนัก ณ บริเวณใกล้ ๆ ทะเลสาปของป่านี้อยู่หกปี. จากข้อเท็จจริงที่ว่าทุ่ง (หรือเมือง) คุรุเกษตร (Kurukshetra) ตั้งอยู่ในรัฐหรยาณา (Haryana) นักวิชาการสันนิษฐานประเมินว่าป่ากามัยกะแผ่ขยายไปทั่วรัฐหรยาณาและรัฐราชสถานทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย.


120
หากฝ่ายใดได้บุคคลผู้นี้ไปเป็นพรรคพวก ก็น่าจะเป็นกำลังแก่ฝ่ายนั้นอย่างมหาศาล ด้วยเหตุผลดังที่ได้พรรณนามานี้ ภายในเวลามิช้านานนักท้าวธฤตราษฎร์ก็รับสั่งให้ สัญชัย นายสารถีไปเชิญตัวมหามติวิทูรกลับมาอยู่ในนครหัสตินาปุระตามเดิม.
       การกลับมาของมหามติวิทูรได้สร้างความไม่สบายใจให้แก่ทุรโยธน์ ศกุนิ กรรณะ และทุหศาสันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะทั้ง 4 คนเกรงว่าวิทูรจะโน้มน้าวพระทัยท้าวธฤตราษฎร์ให้อนุญาตให้พี่น้องปาณฑพ กลับมาอยู่ในนครอินทรปรัสถ์ตามเดิม ซึ่งจะเป็นภัยแก่พวกตนเป็นอย่างยิ่ง ทุรโยธน์แสดงความเห็นว่า.
       "เราควรจะยกกองทหารออกติดตามพวกปาณฑพไป แล้วสังหารพวกมันเสียทั้งหมด เรื่องจะได้จบกันเสียที จะดีไหม"
       ศกุนิ กรรณะ และทุหศาสันเห็นดีด้วย จึงสั่งให้กองทหารเตรียมตัวพร้อมที่จะติดตามพวกปาณฑพไปในป่า.
       ฤษีวฺยาสซึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าหิมาลัยได้ทราบความดำริของกลุ่มเการพ ด้วยอำนาจของการบำเพ็ญตบะ จึงรีบรุดเข้าไปในนครหัสตินาปุระพร้อมด้วยฤๅษีไมเตฺรยะผู้เป็นสหาย ทั้งสองได้เข้าเฝ้าท้าวธฤษราษฎร์ แล้วทูลว่า.
       "มหาบพิตร! องค์ทุรโยธน์กับพรรคพวกกำลังจะนำภัยพิบัติอันมหาศาลมาสู่แผ่นดินหัสตินาปุระ ด้วยการยกกำลังทหารออกไปรังควานพี่น้องปาณฑพถึงในป่า ขอมหาบพิตรจงหยุดยั้งการกระทำของโอรสเสียในทันที มิฉะนั้นแล้วบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ แล้วมหาบพิตรเองก็จะทรงได้รับภัยพิบัติอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย".
       ด้วยความตกพระทัย ท้าวธฤตราษฎร์รีบให้อำมาตย์ไปเชิญทุรโยธน์มาพบกับฤๅษีทั้งสอง.
      "อาตมาภาพเพิ่งกลับจากการไปเยี่ยมภราดาปาณฑพซึ่งขณะนี้กำลังพำนักอยู่ในป่าด้วยความสงบ เพื่อความร่มเย็นของแผ่นดินหัสตินาปุระและอินทรปรัสถ์และเพื่อสวัสดิภาพของพระองค์เอง อาตมภาพใคร่ทูลขอร้อง ขอพระองค์และพรรคพวกอย่าได้กระทำการใด ๆ ที่จะเป็นพิษเป็นภัยแก่พี่น้องปาณฑพเป็นเด็ดขาด" ฤๅษีไมเตฺรยะหันหน้าไปพูดกับทุรโยธน์ด้วยท่าทางขึงขังและเป็นจริงเป็นจัง.
 
121
      ทุรโยธน์ได้ฟังแล้วไม่พูดจาว่าอะไร แต่กลับเอาฝ่ามือตบเบื้องอูรุ (โค่นขา) ของตนเล่น ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่แสดงความเคารพต่อผู้ที่ตนกำลังพูดคุยด้วย ทำให้ฤๅษีไมเตฺรยะบันดาลโทสะ จึงกล่าวคำสาปทุรโยธน์ขึ้นทันทีว่า.
      "อาตมภาพหวังดีต่อพระองค์ดอกนะ จึงสู้อุตส่าห์ลำบากเดินทางจากป่าเข้ามาจนถึงที่นี่ แต่เมื่อพระองค์ไม่เห็นคุณค่าของการมาของอาตมภาพ ซ้ำยังแสดงอาการลบหลู่ต่ออาตมภาพเช่นนี้ อาตมภาพก็ขอประกาศิตคำสาป ขอให้ความยโสโอหังของพระองค์จงได้รับการสนองตอบ ขอให้อาวุธร้ายของฝ่ายศัตรูจงกระทบโคนอูรุของพระองค์ ให้เหมือนกับที่พระองค์กำลังเย้ยหยันอาตมภาพด้วยการใช้หัตถ์ตบเบื้องอูรุเล่นอยู่ในขณะนี้เถิด!"01.
       ปรากฎว่าคำสาปของฤๅษีไมเตฺรยะได้ช่วยยับยั้งมิให้ทุรโยธน์กับพวกติดตามไปรังควานพี่น้องปาณฑพถึงในป่าได้!.
       จะขอกลับไปเล่าถึงเรื่องราวของภราดาปาณฑพซึ่งกำลังใช้ชีวิตระหกระเหินอยู่ในป่ากามัยกะ ท่ามกลางฤๅษีมุนีและสิงสาราสัตว์.
       ข่าวการที่พี่น้องปาณฑพเล่นสกาแพ้พวกเการพได้แพร่กระจายไปทั่วแว่นแคว้นแดนใกล้และไกล ทุกคนต่างก็ทราบว่าเป็นกโลบายของกลุ่มเการพและต่างก็พากันเวทนาสงสารพวกปาณฑพ ในบรรดาชนวรรณะกษัตริย์และเจ้าผู้ครองแคว้นก็มีพวกโภชะ พวกวฤษฺณี พวกอันธกะ และพวกปัญจาละ (Panchala Kingdom) ซึ่งทราบพฤติการณ์อันน่าบัดสีของพวกเการพดี ชนวรรณะกษัตริย์ดังกล่าวได้รวบรวมกันไปเยี่ยมเยียนพี่น้องปาณฑพถึงในป่า โดยมีพระกฤษณะเจ้าผู้ครองแคว้นทฺวารกาเป็นผู้นำ และมีธฤษฎะทฺยุมัน ภราดาของนางเทฺราปทีติดตามไปด้วย.
---------------

01. ตามเนื้อเรื่องในสงครามมหาภารตะ ทุรโยธน์ถูกภีมะหรือภีมเสน อนุชาองค์ที่ 2 ของยุธิษฐิระ ใช้ตะบองตีโคนขาล้มลงแล้วสิ้นชีวิตในภายหลัง.

122
       พระกฤษณะ แห่งแคว้นทฺวารกา นั้น ได้รับการยกย่องจากเจ้าผู้ครองแคว้นและประชาชนทั่วไปว่า เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในความยุติธรรม ประหนึ่งว่าพระผู้เป็นเจ้าอวตารมาเกิดในร่างของมนุษย์ ฉะนั้น ไม่ว่าผู้ใดจะเกิดทุกข์ยากหรือได้รับความเดือดร้อนประการใด ผู้นั้นก็มักจะไปขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากพระกฤษณะ.
       พอเห็นหน้าพระกฤษณะเข้า นางเทฺราปทีผู้มีความชอกช้ำระกำใจมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่สวามีของนางเล่นสกาพนันแพ้พวกเการพ ต้องเสียสมบัติพัสถาน บ้านเมือง พี่น้อง ภรรยา และ แม้แต่องค์ยุธิษฐิระเองตามที่ได้พรรณนามาแล้ว นางจึงร่ำไห้แล้วทูลให้พระกฤษณะทรงทราบเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ โดยละเอียด พร้อมกับวิงวอนขอให้พระกฤษณะประทานความช่วยเหลือตามแต่จะทรงเห็นสมควร.
       "น้องหญิงเทฺราปที! ขออย่าได้เศร้าโสกเสียใจไปเลย! ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกรรมวิบาก เราจะพยายามให้ความช่วยเหลือแก่สวามีของน้องหญิงทุกประการเท่าที่จะกระทำได้ ผู้ที่ทำให้น้องหญิงร้องไห้ในวันนี้ จะต้องร้องไห้เองในวันหน้า น่าเสียดายที่ว่าระหว่างที่มีการพนันขันต่อสกากันในกรุงหัสตินาปุระนั้น เราเองมิได้อยู่ในนครทฺวารกา!!! (น่าจะเป็นกรุงหัสตินาปุระมากกว่า) มิฉะนั้นแล้ว เราจะไม่ยอมให้มีการเล่นพนันขันต่อกันเป็นอันขาด เพราะโบราณท่านว่าไว้ว่า สตรี 1 การพนัน 1 การล่าสัตว์ตัดชีวิต 1 การดื่มของมึนเมา 1 สี่อย่างนี้แลเป็นมูลเหตุแห่งความพินาศฉิบหายของบุรุษ อย่างไรก็ดีเราจะขอทำนายไว้ว่า อนาคตของฝ่ายน้องหญิงนั้นรุ่งโรจน์มาก ขอให้มั่นใจได้!" พระกฤษณะตรัสปลอบใจนางเทฺราปทีและกลุ่มสวามีของนาง.

ภาพวาดท้าวธฤษฎะทฺยุมัน กำลังขับราชรถ, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 18 กันยายน 2565.

       ครั้นแล้วพระกฤษณะก็อำลาพี่น้องปาณฑพกลับสู่นครทฺวารกาพร้อมด้วยเจ้าหญิงสุภัทรา (Subhadrā) อนุภคินีของพระองค์และอภิมันยุ (Abhimanyu) ผู้นัดดา อันเกิดจากอรชุนกับเจ้าหญิงสุภัทรา ส่วนเจ้าชายธฤษฏะทฺยุมัน (Dhṛṣṭadyumna) ผู้ภราดาของนางเทฺราปที ก็กลับคืนสู่นิวาสสถานอันมีนามว่าปัญจาลเทศ (Panchala Kingdom) เช่นเดียวกับท้าวพระยามหากษัตริย์องค์อื่น ๆ .
       ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่ากามัยกะนั้น วันหนึ่งฤๅษีพฺฤหทัศวะ ได้ไปเยี่ยมเยืยนพี่น้องปาณฑพถึงที่พัก.

 
123
       พอพบหน้าฤๅษี ยุธิษฐิระก็รำพันถึงความอาภัพอับโชคของตนและน้อง ๆ อีกทั้งภรรยาให้ฟัง01.
       ฤๅษีพฺฤหทัศวะจึงหยิบยกเอาเรื่องพระนลและนางทมยันตีมาเล่าให้พี่น้องปาณฑพฟังเพื่อเป็นการปลอบใจ ทั้งนี้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ช่วยให้พี่น้องทั้ง 5 รวมทั้งนางเทฺราปที ศรีภรรยา คลายความทุกข์โศกลงได้เป็นอย่างมาก02.
       ชีวิตในป่ากามัยกะของพี่น้องปาณฑพเต็มไปด้วยภยันตรายและเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นก็ได้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา ที่สมควรจะนำมาพรรณนาไว้พอเป็นสังเขป ก็มีดังต่อไปนี้.
       ครั้งหนึ่ง ภีมะได้รับบัญชาจากยุธิษฐิระผู้เชษฐภราดาให้ออกไปหาผลาหารมาไว้เป็นเสบียงและบรรเทาความหิวโหยภายในป่า ภีมะจึงออกจากกระท่อมที่พักไปแต่รุ่งอรุณ ครั้นเวลาผ่านไป ๆ จนตะวันเคลื่อนคล้อยไปสู่ปัจฉิมทิศมากพอสมควรแล้ว ก็ยังไม่มีผู้ใดเห็นภีมะกลับมา จึงเกิดความกังวลใจกันขึ้น โดยเฉพาะนางเทฺราปทีศรีภริยานั้น ให้มีอาการกระสับกระส่ายรุ่มร้อนใจเป็นกำลัง นางจึงขอร้องให้องค์ยุธิษฐิระออกไปตามหา โดยเกรงว่าอาจจะมีภยันตรายเกิดขึ้นแก่ภีมะก็เป็นได้.
       ยุธิษฐิระหยิบธนูคู่ชีพแล้วก็เดินเข้าไปในป่าทึบ แต่ไม่ลืมที่จะหันมาสั่งเสียน้อง ๆ ให้คอยดูแลความปลอดภัยให้นางเทฺราปที.
       ภายหลังที่ได้ค้นหาภีมะอยู่พักใหญ่ ยุธิษฐิระก็มาถึงถ้ำใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ ๆ และเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมอยู่หนาทึบ ณ ปากถ้ำนั้นเอง ยุธิษฐิระแทบจะไม่เชื่อนัยน์ตาตนเอง ที่ได้เห็นภีมะน้องชายนอนหายใจแขม่ว ๆ อยู่ โดยถูกงูตัวใหญ่ตัวหนึ่งรัดไว้รอบร่างเป็นเปลาะ ๆ .
---------------

01. ใน ราโมภาคยัน บ้างก็เรียก ราโมปาขยาน (Rāmopākhyāna - เป็นเรื่องเกล็ดว่าด้วยเรื่องของพระราม) เรียกนามพระฤๅษีพฺฤหทัศวะ ท่านนี้ว่า พระฤๅษีมารฺคณฺเฑยะ (मार्कण्‍डेय - Sage Markaṇḍeya) พระฤๅษีจึงได้เล่าเรื่องของพระรามให้ท้าวยุธิษฐิระฟัง นักวิชาบางท่านเชื่อว่าการเล่าเรื่องนี้สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเรื่องพระราม.
02. เรื่องพระนลและนางทมยันตี ซึ่งในภาษาสันสกฤตมีชื่อว่า "นโลปาขยาน" นี้ ร.6 ได้นิพนธ์ไว้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย ชื่อว่า "พระนลคำหลวง" และกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ก็ได้นิพนธ์ถ่ายทอดไว้เช่นเดียวกัน ชื่อว่า "พระนลคำฉันท์" เรื่องของพระนลและนางทมยันตีมีแทรกอยู่ในมหากาพย์ มหาภารตะดังเป็นที่ทราบกัน.


124
       พอเห็นยุธิษฐิระเข้ามาใกล้ งูตัวนั้นก็กล่าวเป็นภาษาคนขึ้นว่า.
       "องค์ธรรมบุตร! เราดีใจที่ท่านได้มาถึง ณ ที่นี้ ตัวเรานี้หาใช่ใครอื่นไม่ หากเป็นบรรพบุรุษของท่านคนหนึ่ง เรามีชื่อว่า นหุษะ 01. เป็นโอรสของท้าวอายุ ซึ่งเป็นต้นตระกูลภรตองค์หนึ่งเหมือนกัน ความยโสโอหังของเราเป็นเหตุให้ฤๅษีอคสฺตฺยะสาปให้เรามาเกิดเป็นงูเช่นที่ท่านเห็นอยู่ขณะนี้ วันนี้นับว่าเราโชคดีมากที่จะได้เสพอนุชาของท่านเป็นภักษาหาร แต่เอาเถอะ! ถึง...เอาเถอะ ถึงอย่างไร ๆ เราก็มีสายเลือดเดียวกัน เราจะให้โอกาสท่านช่วยชีวิตอนุชาของท่านสักครั้งหนึ่งกล่าวคือ ท่านจะต้องใช้ความรอบรู้ของท่านตอบปัญหาของเราสัก 2-3 ข้อ หากท่านตอบได้เป็นที่พอใจแก่เรา เราก็จะปล่อยอนุชาของท่านให้เป็นอิสระ".
       "ปัญหาของท่านมีประการใดเล่า? ขอได้รีบถามมาเถิด ข้าพเจ้ากลัวว่าน้องภีมะของข้าพเจ้าจะสิ้นชีวิตในขนดของท่านเสียก่อน" ยุธิษฐิระตอบ.
       "ใครคือพราหมณ์ พราหมณ์มีคุณลักษณะประการใดเป็นเครื่องสังเกตบ้าง" งูนหุษะถามขึ้นมาทันที.
       "พราหมณ์คือผู้รักความสัตย์ยิ่งชีวิต มีความเมตตาปรานีต่อผู้อื่น และไม่เคียดแค้นชิงชัง หรืออาฆาตมาดร้ายผู้ใด" ยุธิษฐิระตอบ.
       "หากศูทรมีคุณลักษณะดังกล่าว ศูทรจะเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่?" งูถามต่อ
       "ได้สิท่าน! เป็นได้อย่างแน่นอน เพราะการที่คนเราจะเป็นพราหมณ์หรือเป็นศูทรนั้น มิใช่อยู่ที่ชาติกำเนิด หากอยู่ที่ความประพฤติและคุณสมบัติประจำตัวของผู้นั้นเอง" ยุธิษฐิระตอบอย่างเน้นถ้อยคำ.
       "ถ้าเช่นนั้น วรรณาศรมธรรม01." ก็ไร้ความหมายน่ะสิท่าน งูถามต่อ.
       "วรรณาศรมธรรม เป็นเรื่องสลับซับซ้อน ไม่มีใครจะสามารถทราบความบริสุทธิ์ของวรรณะของตนได้อย่างเด็ดขาดแน่นอน ชายหญิงใน 4 วรรณะเป็นมนุษย์เหมือน ๆ กัน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะสมสู่สังวาสกันได้ เรื่องของกามารมณ์นั้นย่อมเป็นเช่นเดียวกับเรื่องของการเกิด การตาย และการพูดจาพาที กล่าวคือ ไม่ได้อยู่ที่กฎเกณฑ์ทางวรรณะ หากแต่คุณสมบัติประจำตัวของคนเท่านั้นที่เป็นเครื่องกำหนดและเป็นความจริงแท้แน่นอน พระมนูเองก็ได้ทรงอนุศาสน์ไว้มิใช่หรือว่า ผู้ที่เกิดในวรรณะต่ำนั้น หากมีคุณธรรมประจำใจ ก็ประเสริฐยิ่งเสียกว่าผู้เกิดในวรรณะสูงอีก" ยุธิษฐิระตอบอย่างหนักแน่น.
---------------

01. วรรณาศรมธรรม คือทฤษฎีของฮินดูที่แบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่ (1) พราหมณ์ (2) กษัตริย์ (3) ไวศยะ หรือ แพศย์ และ (4) ศูทร.
หมายเหตุและคำอธิบาย
01. นหุษะ (Nahusha)
125

       "คำตอบของท่านถูกต้องดีมาก เราเห็นจะเสพน้องชายของท่านเป็นอาหารของเราในวันนี้ไม่ได้เสียแล้ว เราขอถามปัญหาอีกสักข้อหนึ่งนะว่า คนเราจะบรรลุโมกษะคือความหลุดพ้นได้อย่างไร"
       "การบรรลุโมกษะนั้นไม่มีทางอื่น นอกเสียจากจะขจัดความชั่ว สร้างแต่ความดีและทำจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด" ยุธิษฐิระตอบโดยมิได้นิ่งรอช้า.
       "สัตย์ และ อหิงสา สองสิ่งนี้ ไหนสำคันกว่ากัน" งูถาม.
       "สัตย์และอหิงสามีความสำคัญเท่ากันและจะขาดเสียซึ่งกันและกันไม่ได้" ยุธิษฐิระตอบอย่างหนักแน่น.
       "ท่านตอบปัญหาของเราได้ดีมาก เราพอใจยิ่ง จึงขอปล่อยภีมะน้องชายของท่านเป็นอิสระดังที่ได้สัญญาไว้".
       พูดจบ งูนหุษะก็คลายขนดปล่อยตัวภีมะ แล้วตนเองก็ค่อย ๆ กลายร่างเป็นเทพยดาเลือนหายไปในฟากฟ้า01.
       ต่อจากนั้น ยุธิษฐิระก็พาตัวภีมะกลับคืนมาสู่ที่พักในท่ามกลางความชื่นชม โสมนัสของบรรดาน้อง ๆ และนางเทฺราปทีผู้ชายา.
       ได้พรรณนามาแล้วในบรรพที่ 1 ว่า ท้าวธฤตราษฎร์นั้นมีธิดาอยู่องค์เดียวคือ นางทุหศาลา ซึ่ง ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสเป็นชายาของท้าวชยัทรัถ01. ราชาแห่งแคว้นสินธุ.

---------------
01. ปราชญ์ฮินดูมักจะนำข้อความตอนนี้ไปอ้างในเมื่อต้องการลบล้างความเชื่อถือเกี่ยวกับเรื่องการถือชั้นวรรณะ มหาตมา คานธีเองก็ใช้ "สัตย์-อสิงหา" เป็นอุดมการณ์ในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศอินเดีย.
หมายเหตุและคำอธิบาย
01. ท้าวชยัทรัถ (Jayadratha)

126
       วันหนึ่ง ท้าวชยัทรัถพร้อมด้วยข้าราชบริพารได้เสด็จประพาศป่ากามัยกะ เพื่อแสวงหาความชื่นฉ่ำสำราญพระทัย.
       ขบวนเสด็จของท้าวชยัทรัถได้ผ่านอาศรมที่พักของพี่น้องปาณฑพ ซึ่งขณะนั้นพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 องค์กำลังออกไปล่าเนื้อที่ในป่า คงเหลือแต่ปุโรหิตเธามฺยะกับนางเทฺราปทีเฝ้าดูแลอาศรมอยู่.
       เมื่อทราบว่านางเทฺราปทีอยู่ในอาศรม ชยัทรัถจึงลงจากราชรถจะเข้าไปเยี่ยมนาง.
       นางเทฺราปทีได้ออกมาต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี ทั้งสองได้เจรจาปราศรัยกัน โดยมีพราหมณ์เธามฺยะนั่งอยู่ด้วย ณ ที่ใกล้ ๆ .
       ครั้นแล้วตัณหาราคะได้ทำให้ชยัทรัถหน้ามืดตามัว เห็นผิดเป็นชอบ กษัตริย์หนุ่มเริ่มกล่าวคำลวนลามนางเทฺราปทีขึ้นว่า.
       "น้องหญิงผู้เลอโฉม! เหตุไฉนน้องจึงมาทนทุกข์ทรมานนอนกลางดินกินกลางไพรกับพี่น้องปาณฑพเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผู้ที่มีสุขุมาลชาติเช่นน้องหญิงนี้น่าจะอยู่แต่ในปราสาทราชวัง ไม่บังควรจะมาตกระกำลำบากกับพวกปาณฑพซึ่งหาอนาคตไม่ได้แล้ว มาเถิด! มาไปกับพี่! ไปเป็นราชินีแห่งแคว้นสินธุดีกว่า พี่จะให้ความสุขแก่น้องหญิงทุกประการ!".
       กล่าวจบ ชยัทรัถก็สั่งให้ทหารที่ติดตามมาด้วย ใช้กำลังเข้าโอบอุ้มนางเทฺราปทีขึ้นราชรถไปทันที นางเทฺราปทีได้แต่ส่งเสียงกรีดกราดร้องขอความช่วยเหลือ พลางก็ใช้มือเท้าเท่าที่จะใช้ได้เพื่อปกป้องตนเอง แต่กำลังกายของหญิงหรือจะสู้ชายอกสามศอกซึ่งเป็นทหารกล้าของชยัทรัถได้!
       ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ชุลมุนกันอยู่นั้น พราหมณ์เฒ่าเธามฺยะได้เข้าห้ามปราม โดยเตือนสติชยัทรัถว่า.
       "ท่านเกิดในสกุลกษัตริย์ ย่อมทราบดีว่าพฤติกรรมที่ท่านกำลังกระทำอยู่ขณะนี้ เป็นเรื่องที่น่าบัดสีเพียงไร ก็ในเมื่อฝ่ายหญิงเขาไม่มีความพิศวาสในตัวท่าน และเขาเองก็เป็นหญิงที่มีสามีอยู่แล้วด้วย ท่านกระทำเช่นนี้ นับว่าท่านละเมิดธรรมะของกษัตริย์อย่างอุกฤษฎ์ทีเดียว จงยุติเสียเถิด มิฉะนั้นวิบากกรรมจะตามสนองท่านอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว!".

127

       คำพูดของปุโรหิตเธามฺยะไม่สามารถยับยั้งการกระทำของชยัทรัถและบริวารได้ ตรงข้าม คนเหล่านั้นกลับใช้กำลังเข้าหักโหมฉุดคร่านางเทฺราปทีอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเกรงว่าพี่น้องปาณฑพจะกลับมาและจะเกิดการต่อสู้กันขึ้น.
       ในที่สุด นางเทฺราปทีผู้เอวบางร่างน้อยก็ถูกทหารของชยัทรัถอุ้มขึ้นราชรถพาขับหนีพ้นไปจากอาศรม โดยมีชยัทรัถนั่งควบคุมไปด้วย.
       ครั้นตกเพลาสายัณห์ ยุธิษฐิระและน้อง ๆ กลับคืนสู่อาศรมพร้อมด้วยเนื้อสมันและอาหารป่าที่ไปล่ามาได้ พราหมณ์เธามฺยะจึงเล่าพฤติการณ์อันชั่วช้าสามานย์ของชยัทรัถและพรรคพวกให้พี่น้องทั้งห้าฟังอย่างละเอียด.
       ทันทีที่ได้ฟังเรื่องราวจากเธามฺยะ ภีมะก็ฉวยตะบองคู่ชีพชูขึ้นควงเหนือศีรษะพร้อมกับประกาศก้องว่า.
      "ไอ้ชยัทรัถ! กูจะตามไปฉีกอกควักหัวใจมึงออกมาให้โลกดูเล่นเดี๋ยวนี้ทีเดียว!".
       ประกาศเสร็จ ภีมะกับอรชุนก็ผลุนผลันขึ้นรถตามกองทหารของชยัทรัถเข้าป่าไป.
       การจากไปของเทฺราปที ได้สร้างความเศร้าโศกวิโยคใจให้แก่ยุธิษฐิระและปวงอนุชาเป็นอย่างมาก แม้ว่าทุกคนจะเชื่อมั่นในฝีมือของภีมะและอรชุนว่า อย่างไรเสียทั้งสองก็จะต้องตามกันกองทหารของชยัทรัถ และจะสามารถชิงตัวนางเทฺราปทีกลับคืนมาได้อย่างแน่นอน.
       ในบริเวณพณาสณฑ์อันเป็นที่ตั้งของอาศรมแห่งพี่น้องปาณฑพนั้น โดยเหตุที่เป็นรมณียสถานอันเพียบพร้อมด้วยความวิเวกวังเวง จึงปรากฎว่ามักจะมีนักบวชและผู้ทรงศีลจาริกไปแสวงความสงบสุขทางจิตใจอยู่เนือง ๆ มารฺคณฺเฑยะ ก็เป็นฤๅษีรูปหนึ่งซึ่งขณะนั้นกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ในบริเวณนั้นของป่าหิมาลัย เมื่อได้ทราบพฤติการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแก่พี่น้องปาณฑพ จนถึงต้องตกไร้ได้ยากพลัดพรากจากราชสมบัติเป็นเวลานานเช่นนั้น ก็ให้เกิดความเมตตาสงสาร จึงได้ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องปาณฑพ พร้อมทั้งได้กล่าวคำปลอบโยนต่าง ๆ นานา.
       ฤๅษีมารฺคณฺเฑยะได้ยกตัวอย่างเรื่องราวของนางสาวิตรีมาเล่าให้ยุธิษฐิระและภราดาฟัง01,01. พร้อมทั้งย้ำไว้ในตอนท้ายด้วยว่า.


ปกหนังสือสาวิตรี (Savitri), ที่มา: kunmaebook.com, วันที่เข้าถึง 22 กันยายน 2565.

---------------
01. เรื่องราวของนางสาวิตรีนี้ ร.6 ได้ทรงนิพนธ์ไว้เป็นบทละครร้อง เรื่อง "สาวิตรี" ซึ่งสามารถหาอ่านได้ทั่วไป.

หมายเหตุ การขยายความ
01. มีข้อมูลอ้างอิงจาก "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com., อธิบายว่า พระฤๅษีมารฺคณฺเฑยะ (Sage Markaṇḍeya - मार्कण्‍डेय) ได้เล่าเรื่องของพระรามที่เรียกว่า ราโมภาคยัน (Rāmopākhyāna - เรื่องราวของพระราม) หรือ รามา อิพิโสด (the Rāma episode) ให้ท้าวยุธิษฐิระฟังอีกด้วย. นักวิชาบางท่านเชื่อว่าการเล่าเรื่องนี้สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเรื่องพระราม.

128
       "มหาบพิตร ไม่ต้องเป็นห่วงในความปลอดภัยของพระนางเทฺราปทีหรอก เพราะพระนางมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระสวามีของพระนาง เช่นเดียวกับที่นางสาวิตรีมีต่อ พระสัตยวาน และ ปติวรฺตาธรรม01. นี้เองจะช่วยให้นางแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง อาตมภาพเชื่อว่าภายในเวลามิช้ามินาน พระนางก็จะเสด็จกลับมาประทับร่วมทุกข์ร่วมสุขกับมหาบพิตรได้อีกเช่นเดิม".
       กล่าวเสร็จ ฤๅษีมารฺคณฺเฑยะก็อำลายุธิษฐิระกลับไป.
       ความก็ปรากฎว่าเป็นจริงดังที่ฤๅษีมารฺคณฺเฑยะได้พยากรณ์ไว้ กล่าวคือทางด้านภีมะและอรชุนสองพี่น้องนั้น เมื่อได้ติดตามไปทันกองทหารของชยัทรัถก็ได้เกิดการสู้รบกันเป็นการใหญ่ ผลของการต่อสู้ปรากฎว่า ฝ่ายชยัทรัถไม่สามารถจะสู้กับภีมะและอรชุนได้ องค์ชยัทรัถเองถูกภีมะและอรชุนจับมัดไพล่หลัง แล้วนำมาเฝ้าองค์ยุธิษฐิระ ส่วนนางเทฺราปทีก็ปลอดภัยทุกประการ.
       ภีมะต้องการจะฉีกอกควักหัวใจชยัทรัถออกมาให้โลกดูตามที่ลั่นวาจาไว้ แต่ถูกยุธิษฐิระทัดทานไว้ โดยเตือนว่าถึงอย่างไร ๆ ก็เป็นเครือญาติกัน และหากชยัทรัถสิ้นชีวิตลง นางทุหศาลาน้องสาวของทุรโยธน์ก็จะเป็นม่าย และจะเป็นบาปกรรมแก่ตระกูลปาณฑพอย่างมหันต์ต่อไป.
       ในที่สุด พี่น้องปาณฑพจึงตัดสินใจลงโทษชยัทรัถเพียงด้วยการกล้อนผมให้เหลือไว้เป็น 5 กระจุก อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ตกเป็นทาสในสมัยนั้น ต่อจากนั้นชยัทรัถก็ได้รับการปล่อยตัวกลับคืนนครสินธุอันเป็นแคว้นครอบครองของตน ยังความอัปยศอดสู และแค้นเคืองให้แก่ชยัทรัถและพวกพ้องที่สุดจะพรรณนา.
       ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งกิดขึ้นระหว่างที่พี่น้องปาณฑพใช้ชีวิตอยู่ในป่ากามัยกะ.
---------------

01. ปติวรฺตาธรรม แปลว่า ธรรมอันว่าด้วยความซื่อสัตย์ภักดีที่ภรรยามีต่อสามี.     

129

       วันหนึ่ง ณ อาศรมที่พำนักของกลุ่มปาณฑพ ได้มีพายุฝนพัดมาจากด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างแรง พอพายุฝนสงบลง นางเทฺราปทีออกไปเดินเล่นนอกอาศรมก็ได้พบดอกบัวสีสวยสดงดงาม มีกลิ่นหอมเย้ายวนใจเป็นอย่างยิ่ง นางอยากได้ดอกบัวชนิดนั้นมาก ๆ เพื่อจะได้นำไปบูชาพระ จึงขอร้องภีมะให้ช่วยเข้าไปในดงลึกในป่า หาดอกบัวชนิดนั้นมาให้ได้มาก ๆ .


หนุมาน, ที่มา: www.mygodpictures.com, วันที่เข้าถึง: 22 กันยายน 2565.
 

       ภีมะได้ออกเดินทางดั้นด้นค้นหาดอกบัวจนห่างไกลจากอาศรมที่พักออกไปอย่างมาก ระหว่างทางภีมะได้พบ หนุมาน ทหารเอกของพระราม ในมหากาพย์รามายณะ (หรือรามเกียรติ์) คงจะจำกันได้ว่า หนุมานก็เป็นโอรสของพระวายุเช่นเดียวกับภีมะ โดยถือกำเนิดก่อนภีมะ อย่างไรก็ตาม กว่าทั้งสองจะรู้ว่าตนเป็นพี่น้องกัน ก็เกือบจะต้องลงมือประหัตประหารกันเองอยู่แล้ว01.
       ภีมะได้เสาะหาดอกบัวหอมประหลาดนั้นไปจนถึงภูเขาไกลาศ (เขาไกรลาส, สันสกฤต: कैलास, Kailāsa) อันเป็นดินแดนของท้าวกุเวร 01. ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งทรัพย์สินเงินทอง และดอกบัวชนิดนั้นก็ขึ้นอยู่ในสระของท้าวกุเวรนั่นเอง แต่มีบริวารอันได้แก่เหล่ายักษ์และรากษสดูแลรักษาอยู่อย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ภีมะก็ได้ดอกบัวไปให้นางเทฺราปทีสมตามความปรารถนา.
       หลังจากที่ได้อยู่ในป่า กามัยกะ ณ ริมฝั่งแม่น้ำ สรัสวดี มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว พี่น้องปาณฑพก็เคลื่อนย้ายไปอยู่ในป่าแหล่งใหม่ซึ่งมีชื่อว่า ไทฺวตวัน ระหว่างนั้น มีอยู่บ่อยครั้งที่นางเทฺราปทีทนต่อความลำบากยากเข็ญอันเกิดจากชีวิตในป่าดงไม่ได้ และนางถึงกับขอร้องให้ธรรมบุตรยุธิษฐิระใช้กำลังกับกลุ่มเการพ เพื่อจะได้กลับไปอยู่ในนครอินทรปรัสถ์ด้วยความสุขตามเดิม.
       ครั้งหนึ่ง ระหว่าางที่เดินทางอยู่ในป่า ภีมะต้องเรียก ฆโฏตกัจ ซึ่งเป็นลูกชายอันเกิดจากนางรากษสี หิฑิมพา ให้มาช่วยแบกนางเทฺราปทีขึ้นหลังไป
---------------

01. นักภารตวิทยาส่วนใหญ่เชื่อกันว่า เรื่องในมหากาพย์รามายณะนั้น อุบัติขึ้นก่อนเรื่องในมหากาพย์มหาภารตะ.
หมายเหตุและคำอธิบาย


ท้าวกุเวร (รูปแกะสลักในคริสตศวรรษที่ 14 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะซาน แอนโตนิโอ, สหรัฐอเมริกา), ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 22 กันยายน 2565.

01. ท้าวกุเวร (สันสกฤต: कुबेर กุเพร, Kubera, Kuvera) เป็นเทพประจำทิศอุดร ผู้ปกครองเหล่ายักษ์ รากษส และกินนร เป็นเทพแห่งทรัพย์สมบัติ ความมั่งคั่ง โชคลาภ.

130
นางเทฺราปทีอ้างว่า มีราชามหากษัตริย์จำนวนไม่น้อยซึ่งพร้อมจะร่วมเป็นพันธมิตรช่วยฝ่ายปาณฑพทำสงครามกับพวกเการพ เมื่อใดที่นางเทฺราปทีหยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกับยุธิษฐิระผู้สวามี เมื่อนั้นอนุชาอีก 4 องค์โดยมีภีมะเป็นผู้นำ ก็จะสนับสนุนคำพูดของนางอย่างแข็งขัน พร้อมทั้งแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถเอาชนะฝ่ายเการพได้อย่างแน่นอน แต่ทุกครั้งยุธิษฐิระผู้ยึดมั่นในสันติธรรมก็จะห้ามปรามอนุชาและชายาไว้ โดยจะเตือนสติว่า ธรรมะย่อมจะชนะอธรรม ในที่สุด และธรรมะจะคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมเสมอ.
       ระหว่างที่พำนักอยู่ในป่าไทฺวตวันนั้น วันหนึ่งฤๅษีวฺยาสได้จาริกมาถึงที่พักของพี่น้องปาณฑพ และได้ทูลยุธิษฐิระว่า.
       "มหาบพิตร! อาตมาจะขอมอบมนตร์อันมีชื่อว่าประติสมฤดี ไว้กับมหาบพิตร เพื่อจะได้ใช้สอนองค์อรชุน อนุชาผู้แกล้วกล้าของมหาบพิตร ด้วยอำนาจของมนตร์ประติสมฤดีนี้ องค์อรชุนจะประสบผลสำเร็จในการบำเพ็ญตบะเพื่อขอประทานอาวุธวิเศษจากพระอินทร์และพระศิวะ อาวุธนี้จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายมหาบพิตรต่อไปในอนาคต".
       ครั้นแล้ว ฤๅษีวฺยาสก็ได้สอนมนต์ประติสมฤติให้แก่ยุธิษฐิระ และยุธิษฐิระได้สอนมนตร์บทนี้ให้อรชุนอีกทอดหนึ่ง เมื่อทราบถึงวิธีใช้มนตร์อย่างถูกต้องแล้ว อรชุนก็ร่ำลาพี่น้องมุ่งหน้าสู่หิมาลัยบรรพต เพื่อบำเพ็ญตบะ ขอประทานอาวุธวิเศษจากพระอินทร์และพระศิวะ ก่อนออกเดินทาง อรชุนมิได้ลืมที่จะหยิบธนูคู่ชีพซึ่งมีชื่อว่า คาณฑีพ หรือ คาณฑีวะ และแล่งธนูชื่อ อักษยะ หรือ อักฺษัย ติดตัวไปด้วย แล่งธนูนี้มีคุณสมบัติพิเศษสมชื่อ กล่าวคือสามารถบรรจุลูกธนูได้โดยจะดึงออกมาใช้เท่าไร ๆ ลูกธนูก็ไม่รู้จักหมดสิ้น01.
       อรชุนได้เดินทางไปจนถึงอินทรกีล หรือ อินทรขีล ซึ่งเป็นขุนเขาลูกหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัยหรือป่าหิมพานต์ ณ ที่แห่งนี้ อรชุนได้บำเพ็ญตบะอย่างเคร่งครัดอยู่เป็นเวลาถึง 4 เดือน ในเดือนแรกอรชุนอดอาหารเป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน เดือนที่สอง 6 วัน และในเดือนที่สามได้อดอาหารติดต่อกันเป็นเวลาถึง
---------------

01. อักษัย แปลว่า ไม่มีวันหมดสิ้น คือ อ + กษัย นั่นเอง.

131

15 วัน ครั้นถึงเดือนที่สี่ อรชุนก็หยุดรับประทานอาหารโดยสิ้นเชิง คงยืนขาเดียวและชูแขนข้างหนึ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าตลอดเวลา ด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยาและแสดงพลังจิตอย่างแน่วแน่เช่นนี้ ในที่สุด พระศิวะก็ทรงพอพระทัยในความอดทนและพากเพียรของอรชุน ได้ทรงแปลงพระวรกายเป็นนายพรานล่าเนื้อนำอาวุธวิเศษชื่อปาศุปัต มามอบให้แก่อรชุน พร้อมทั้งได้ทรงสอนคาถาที่จะใช้กับอาวุธวิเศษนี้ให้ด้วย ต่อจากนั้น อรชุนก็ได้ไปเฝ้าพระอินทร์ยังนครอมราวดี และได้รับอาวุธวิเศษจากพระอินทร์อีกด้วย.
       ระหว่างที่พำนักอยู่ในนครอมราวดีอันเป็นอาณาจักรของพระอินทร์นั้น อรชุนได้ศึกษาวิชานาฏศิลป์และสังคีตศิลป์จากเหล่าคนธรรพ์ด้วย วันหนึ่ง อรชุนได้ไปเดินเล่นในสวนนันทนะ ได้พบกับนางอุรวศี01. ซึ่งเป็นหัวหน้านางอัปสรที่งดงามที่สุดในสวรรค์ นางอุรวศีเห็นความสง่างามของอรชุนเข้าก็หลงรัก ใคร่จะได้อรชุนไว้เป็นคู่ครอง จึงเจรจาพาทีขอให้อรชุนอยู่กับนางในสวรรค์ อรชุนปฏิเสธโดนอ้างว่า ตนมีพี่น้องที่รออยู่ในมนุษยโลก จะต้องกลับไปช่วยพี่น้องทำสงครามกับพวกเการพ ที่ตนมาเมืองสวรรค์ ก็เพราะต้องการมาขออาวุธวิเศษจากพระอินทร์ บัดนี้ เมื่อได้อาวุธแล้ว จะต้องรีบกลับไปยังมนุษยโลก นางอุรวศีลั่นวาจาสาปอรชุน ขอให้ในช่วงชีวิตหนึ่งของอรชุน อรชุนจงหมดสมรรถภาพทางเพศ จงมีสภาพเหมือนกระเทย และจงไม่ได้รับความเหลียวแลจากหญิงใดเลย.
       อรชุนตกใจมาก รีบไปเฝ้าพระอินทร์ แล้วทูลเรื่องราวให้ทราบโดยละเอียด พระอินทร์ทรงปลอบใจโดยชี้แจงว่า เป็นการดีแล้วที่นางอุรวศีสาปไว้เช่นนั้น เพราะในปีที่ 13 อันเป็นปีสุดท้ายแห่งการมีชีวิตอยู่ในป่าตามเงื่อนไขแห่งการที่ยุธิษฐิระเล่นสกาแพ้ฝ่ายเการพ อรชุนและพี่น้องอีก 4 คน รวมทั้งชายาคือนางเทฺราปที จะต้องปลอมตนเพื่อมิให้ฝ่ายเการพจำได้ เฉพาะอรชุนเองนั้นจะต้องใช้ชีวิตอย่างกระเทย โดยจะต้องมีหน้าที่เป็นครูสอนนาฏศิลป์และการดนตรีให้แก่เพศตรงข้าม จึงย่อมจะเป็นการดีสำหรับอรชุนเอง.
       ฝ่ายพี่น้องปาณฑพอันมีท้าวยุธิษฐิระเป็นหัวหน้านั้น หลังจากที่ได้พำนักอยู่ในป่าไทฺวตะเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ได้จาริกต่อไปยังภูเขา คันธมาทน์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพระ สุเมรุ.

หมายเหตุและคำอธิบาย
01. นางอัปสรา อุรวศี (Uravashi)


132
พี่น้องปาณฑพได้พำนักอยู่ในบริเวณป่าภูเขาคันธมาทน์เป็นเวลา 4 ปี เมื่อรวมกับ 6 ปีที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่ากามัยกะและป่าไทฺวตะแล้ว เวลาจึงรวมเป็น 10 ปีด้วยกัน ณ ภูเขาคันธมาทน์นี้ อรชุนได้เดินทางกลับมามีชีวิตอยู่ร่วมกับพี่น้องอีก พร้อมด้วยอาวุธวิเศษที่ได้รับจากพระศิวะและพระอินทร์ดังกล่าวแล้ว.
       จากภูเขาคันธมาทน์ ธรรมบุตรยุธิษฐิระพร้อมด้วยอนุชาทั้ง 4 และนางเทฺราปทีศรีภรรยา ได้จาริกไปยังบุณยสถานหลายแห่งมี อลกานันท์ และ พัทริกาศรม เป็นต้น ในช่วงหนึ่งแห่งการจาริก ปาณฑพทั้ง 5 อีกทั้งนางเทฺราปทีก็ได้ไปยังนครทฺวารกาอันเป็นอาณาจักรของชนเผ่า ยาทพ01. ซึ่งมีพระกฤษณะเป็นหัวหน้า ในโอกาสนั้น พระกฤษณะได้กล่าวปฏิสันถารต้อนรับเผ่ากษัตริย์ปาณฑพเป็นอย่างดี เฉพาะนางสัตยภามา02. ผู้ชายาของพระกฤษณะนั้น ได้สนทนาและให้ความสนิทสนมแก่นางเทฺราปทีเป็นพิเศษ เนื้อความในมหากาพย์มหาภารตะตอนนี้มีชื่อว่า "เทฺราปที-สัตยภามาสังวาท" ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างนางเทฺราปทีกับนางสัตยภามา นางสัตยภามาได้ไต่ถามนางเทฺราปทีถึงวิธีการที่ว่า ทำอย่างไร นางเทฺราปทีจึงเป็นที่สนิทเสน่หาและสามารถเอาชนะพระทัยของพระสวามีทั้ง 5 องค์ในเวลาเดียวกันได้ นางเทฺราปทีก็ได้ให้คำตอบและชี้แจงจนเป็นที่พอใจแก่นางสัตยภามา01.
       ในปีที่ 11 และ 12 พี่น้องปาณฑพพร้อมนางเทฺราปทีศรีชายา ก็ได้ย้ายไปพำนัก ณ อาศรมแห่งหนึ่งในป่าริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดี.
       ระหว่างที่พำนักอยู่ ณ อาศรมดังกล่าว พระกฤษณะแห่งแคว้นทฺวารกา ผู้เป็นโอรสของท้าววสุเทพ และนางเทวกี พร้อมด้วยนางสัตยภามา ผู้ชายาได้เสด็จมาเยี่ยมพี่น้องปาณฑพอีก และได้ประทานคำมั่นว่าหากถึงกาลอันควรเมื่อใด เมื่อนั้นพระองค์ก็พร้อมที่จะเป็นกำลังให้แก่กลุ่มพี่น้องปาณฑพ ในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากฝ่ายเการพ.
---------------

01. กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้ทรงนิพนธ์ไว้มีชื่อว่า "กฤษณาสอนน้องคำฉันท์" ซึ่ง ร.5 ได้ทรงวินิจฉัยว่าเป็นข้อความตอนนี้ในมหากาพย์มหาภารตะ.
หมายเหตุและคำอธิบาย
01. ยาทพ (Yadava) เป็นกลุ่มชนชาวอินเดียโบราณ เชื่อกันว่าสืบเชื่อสายมาจากท้าวยาดู ซึ่งเป็นโอรสของท้าวยยาติ (Yayati) เป็นปฐมวงศ์สืบเชื้อสายตามตำนานของจันทรวงศ์  (Chandravamsha).
02. นางสัตยภามา หรือ พระแม่สัตยภามา หรือ นางสัตราจิติ (Satyabhāma or Satrajiti) เป็นชายาองค์ที่ 3 ในพระชายาทั้ง 8 องค์ของพระกฤษณะ พระนางมีส่วนสำคัญในการช่วยพระกฤษณะรบกับนรกสูร (Narakasura).

 

133

       จะขอกลับไปเล่าถึงพฤติการณ์ของทุรโยธน์และพี่น้องในนครหัสตินาปุระ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้สักเล็กน้อย ก่อนที่จะดำเนินเรื่องต่อไป.
       ทุรโยธน์ ทุหศาสัน กรรณะ และศกุนิ ได้ทราบจากหน่วยสอดแนมของตนเป็นระยะ ๆ ว่า กลุ่มปาณฑพต้องประสบกับความลำบากยากเข็ญในป่าอย่างแสนสาหัส แต่เพียงได้ทราบด้วยโสตประสาทเท่านั้นยังไม่เป็นการเพียงพอ กลุ่มเการพยังต้องการเห็นความทุกข์ยากของกลุ่มปาณฑพด้วยจักษุประสาทของตนเองอีกด้วย ดังนั้น อยู่มาวันหนึ่ง ทุรโยธน์จึงทูลขออนุญาตท้าวธฤตราษฎร์เดินทางเข้าไปในป่า โดยอ้างว่าเพื่อไปสำรวจดูทุกข์สุขของไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น.
       ขณะที่คณะของทุรโยธน์พร้อมด้วยกองกำลังทหารไปถึงกลางป่า ปรากฎว่าเป็นเวลาที่จิตรเสน ผู้เป็นราชาของพวกคนธรรพ์ กำลังพักผ่อนหาความหรรษาอยู่กับครอบครัวในบริเวณนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเกิดปะทะกันขึ้น ฝ่ายทุรโยธน์รบสู้ฝ่ายคนธรรพ์ไม่ได้ จึงถูกทหารของฝ่ายจิตรเสนตีกระเจิดกระเจิงไป ทุรโยธน์ ทุหศาสัน กรรณะ และศกุนิเอง ก็ถูกทหารของจิตรเสนจับกุมตัวไว้.
       ระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายกำลังรบพุ่งกันอยู่นั้น ได้มีทหารของฝ่ายเการพหลบหนีไปถึงอาศรมอันเป็นที่พำนักของภราดาปาณฑพ ณ ริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดี และทหารเหล่านั้นได้ไปทูลให้ท้าวยุธิษฐิระทรงทราบเกี่ยวกับการพ่ายแพ้ของตน ตลอดจนเรื่องที่ทุรโยธน์และพรรคพวกถุกจับกุมไป ด้วยพระทัยอันเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปรานีในฐานะร่วมสายโลหิตเดียวกัน ยุธิษฐิระจึงสั่งให้อนุชาทั้งสี่รีบรุดไปช่วยทุรโยธน์กับพวก ภีมะและอรชุนอิดเอื้อนไม่ยอมไปโดยอ้างว่า เป็นการสมควรแล้วที่กลุ่มเการพจะต้องได้รับกรรมเสียบ้าง ให้สมกับความชั่วร้ายที่พวกเข้าได้กระทำไว้อย่างมากมาย.
       "สมน้ำหน้าแล้ว เพราะไอ้พวกเการพได้ทำบาปไว้อย่างเหลือหลาย โดยเฉพาะกับพวกเรา สิ่งใดที่เราควรทำด้วยมือของเราเอง สิ่งนั้นพวกคนธรรพ์ได้ช่วยทำแทนให้พวกเราแล้ว เราควรจะขอบใจพวกคนธรรพ์!" ภีมะเปล่งเสียงพูดขึ้นด้วยความแค้นเคือง.


ภาพสลักหน้าบัน "พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร" ด้านในของประสาทประธาน ปราสาทเปือยน้อย อ.เปือยน้อย จ.ขอนแก่น ศิลปะสมัย พศว.ที่ 16-17 ผสมผสานระหว่างศิลปะแบบบาปวนและเมืองพระนคร, ถ่ายไว้เมื่อ 16 มิถุนายน 2565.

134
       "น้องรักของพี่! อย่าได้พูดเช่นนั้นเลย ทั้งเการพและปาณฑพต่างก็สิบสายโลหิตมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน เมื่อใดที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นจากภายนอก เมื่อนั้นเราจะรวมกันเป็น 105 คน แต่เมื่อใดเราทะเลาะกันเอง เมื่อนั้นเการพจะมี 101 คน ส่วนเราปาณฑพจะมีเพียง 5 คนเท่านั้น" ยุธิฐิระผู้ได้รับสมญาว่าธรรมบุตร กล่าวเตือนน้อง ๆ .
       เมื่อได้ยินพี่ใหญ่ผู้ที่ตนเคารพเสมือนบิดาพูดเช่นนี้ พี่น้องปาณฑพที่เหลืออยู่ทั้งสี่ คือ ภีมะ อรชุน สหเทพ และนกุล จึงต่างก็ไม่กล้าขัดขืน และต่างรีบรุดไปช่วยทุรโยธน์ ซึ่งกำลังถูกกองทหารของคนธรรพ์จิตรเสนควบคุมตัวไว้.
       หลังจากที่ได้สู้รบกันเป็นเวลานานพอสมควร ทหารของจิตรเสนก็มีทีท่าว่าจะสู้พี่น้องปาณฑพทั้งสี่ไม่ได้ อรชุนผู้ไม่ประสงค์จะวางตนเป็นศัตรูกับพวกคนธรรพ์ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลอยู่ในป่า จึงเข้าไปหาจิตรเสน แล้วถามด้วยความสุภาพถึงสาเหตุแห่งการสู้รบกันระหว่างฝ่ายคนธรรพ์กับพวกเการพอันมีทุรโยธน์เป็นหัวหน้า.
       "เราได้รับคำสั่งจากพระอินทร์ผู้เป็นราชาแห่งทวยเทพให้มาสกัดกั้นทุรโยธน์กับพวกไว้ เพราะพวกนี้กำลังจะเดินทางไปเย้ยเยาะพวกพี่น้องปาณฑพซึ่งกำลังได้รับความทุกข์ทรมานอยุ่ในป่านี้ ท่านเล่า เป็นใคร และเหตุไฉนจึงบังอาจมาเข่นฆ่าทหารของเรา".
       อรชุนจึงแสดงตนให้จิตรเสนทราบว่าตนเป็นใคร พร้อมทั้งพาจิตรเสนและทุรโยธน์กับพวกไปเฝ้ายุธิษฐิระ ซึ่งขณะนั้นกำลังประกอบพิธีโหมกรรมอยู่ ณ อาศรมริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดี.
       เมื่อได้เจรจาทราบเรื่องกันดีแล้ว ยุธิษฐฺระจึงขอร้องให้จิตรเสนปล่อยทุรโยธน์เป็นอิสระ และพร้อมกันนั้นก็ได้กล่าวกับทุรโยธน์ว่า.
       "ทุรโยธน์น้องรัก! จงกลับสู่นิวาสสถานของน้องเสียเถิด ป่าดงดิบแห่งนี้เป็นเขตของพวกคนธรรพ์ชุกชุมไปด้วยสิงสาราสัตว์ที่ดุร้าย ไม่สมควรอย่างยิ่งที่น้องกับพวกจะมาเที่ยวเล่น เมื่อได้กลับถึงนครหัสตินาปุระแล้ว ขอให้น้องกราบทูลเสด็จลุงด้วยว่า พวกพี่มีความสุขสบายดีที่ในป่า และจะปฏิบัติตนตามคำมั่นสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ทุกประการ".

135

       ด้วยประการฉะนี้ แทนที่จะได้เห็นพี่น้องปาณฑพทนทุกขเวทนาเพื่อความสุขใจของตน ทุรโยธน์กับพวกก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด และต้องเดินทางกลับยังถิ่นฐานของตนด้วยความอับอายขายหน้าเป็นที่สุด.
       ระหว่างที่เร่ร่อนอยู่ในป่านั้่น ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์ชรานักบวชรูปหนึ่งเข้ามาหากลุ่มภราดาปาณฑพแล้วกล่าวขึ้นว่า.
       "ดูกรท่านผู้เจริญและแกล้วกล้า! อาตมภาพมีเรื่องที่จะต้องรบกวนขอความช่วยเหลือจากท่าสักครั้งหนึ่ง คือว่า อาตมภาพได้แขวนหม้อไว้กับกิ่งไม้ หม้อนั้นบรรจุไม้อรณี01. ไว้สำหรับจุดไฟบูชายัญ พอดีมีกวางใหญ่ตัวหนึ่งมาใช้เขาของมันเสียดสีกิ่งไม้นั้นเล่น บังเอิญเขาของกวางเสยเอาเชือกผูกหม้อซึ่งแขวนไว้กับกิ่งไม้ติดตัวหนีไปด้วย อาตมภาพตามหากวางตัวนั้นเท่าไร ๆ ก็ไม่พบ หากขาดหม้อไม้อรณีซึ่งมีทั้งหินและเหล็กไฟบรรจุรวมอยู่ด้วยกัน อาตมภาพก็ไม่สามารถจะจุดไฟประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ ขอท่านผู้เจริญได้โปรดช่วยตามหากวางตัวนั้นเพื่อให้ได้หม้อกลับคืนมาด้วยเถิด จะเป็นการช่วยสงเคราะห์อาตมภาพและจะเป็นกุศลกรรมแก่ตัวท่านเองเป็นอย่างยิ่งทีเดียว".
       ยุธิษฐิระได้ฟังดังนั้นก็รีบออกติดตามกวางไปพร้อมกับน้อง ๆ ทั้งสี่คน พอพี่น้องทั้งห้ามาถึงกลางป่าห่างจากอาศรมพอประมาณ ก็เหลือบไปเห็นกวางตัวหนึ่งยืนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ พร้อมด้วยหม้อบรรจุไม้อรณีห้องติดอยู่ที่เขาของมัน อรชุนจึงรีบขึ้นสายธนูแล้วยิงไปยังเจ้าสัตว์ตัวงาม โดยหวังจะให้มันล้มลงแล้วจะได้เข้าไปเก็บหม้อเพื่อนำไปคืนให้แก่พราหมณ์นักบวชผู้เป็นเจ้าของ แต่....เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าแม้ฝีมือแม่นธนูของอรชุนก็ยิงกวางตัวนั้นไม่ถูก ตรงกันข้ามมันกลับโจนหนีไปอย่างรวดเร็ว พี่น้องปาณฑพจึงวิ่งตามและยิงกวางตัวนั้นไปอย่างไม่ลดละ อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถตามกวางไปอย่างชนิดที่มองเห็นร่างของมันได้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดในบรรดาพี่น้องทั้งห้าจะสามารถยิงมันได้ถูก.

หมายเหตุและคำอธิบาย
01. ไม้อรณี เป็นไม้ใช้สีไฟ โดยพราหมณ์จะให้ไม้อรณีนี้สีกันให้เกิดไฟ เพื่อนำมาจุดลงในเตากูณฑ์ ในการเริ่มพิธีคฤหประเวศน์ (Grihapravesam) หรือพิธีขึ้นบ้านใหม่. ที่มา: Facebook เพจ: วีรภัทราศรม Virabhadrashram, วันที่เข้าถึง 28 กันยายน 2565.


136
       ในที่สุด ด้วยความเหนื่อยอ่อนและกระหายน้ำ ภราดาทั้งห้าจึงหยุดพักผ่อนกัน ณ ใต้ร่มไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ครั้นแล้ว ยุธิษฐิระก็สั่งให้ภราดาองค์สุดท้องคือนกุล ไปหาน้ำมาบรรเทาความกระหาย.
       นกุลเดินวกไปเวียนมาอยู่ในป่าพักใหญ่ก็พบสระแห่งหนึ่งมีน้ำใสสะอาด ด้วยความกระหายจึงรีบทรุดกายลง ณ ขอบสระ โดยหวังจะดื่มน้ำให้สมใจ แล้วจะได้ตักใส่กุณโฑนำกลับไปให้พวกพี่ ๆ ได้ดื่มกันด้วย แต่...ทันใดนั้นก็มีเสียงประหลาดดังก้องจากฟากฟ้ามาว่า.
       "หนุ่มน้อยนกุล! สระนี้เป็นของเรา จงตอบปัญหาให้เป็นที่พอใจแก่เราเสียก่อน แล้วจึงค่อยดื่มน้ำและตักไปให้พี่ ๆ ของเจ้าดื่ม".
       ด้วยความกระหาย นกุลไม่ฟังเสียง รีบก้มลงดื่มน้ำในสระทันที ทันใดนั้นร่างของนกุลก็ล้มลงสิ้นสติอยู่ตรงขอบสระนั้นเอง!.
       เวลาผ่านพ้นไปนานผิดปกติ เมื่อไม่เห็นนกุลกลับมา ยุธิษฐิระสั่งให้สหเทพออกไปตามหาน้องชายอีกคนหนึ่ง.
       สหเทพตามไปจนถึงสระน้ำแห่งนั้นและประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับน้องชาย!.
       ในทำนองเดียวกัน อรชุนและภีมะก็ได้รับคำสั่งจากเชษฐภราดาให้ไปตามหาน้อง ๆ และทั้งสองก็ประสบกับชะตากรรมดังที่ได้พรรณนามาแล้วอีกเหมือนกัน.
       ในที่สุดธรรมบุตรยุธิษฐิระจึงต้องออกไปตามหาน้อง ๆ ด้วยตนเอง และเมื่อไปถึงสระน้ำ ก็ได้เห็นน้องทั้งสี่คนนอนสิ้นสติอยู่ ณ ขอบสระ และได้ยินเสียงประหลาดดังกล่าวจากฟากฟ้าเช่นเดียวกัน.
       ยุธิษฐิระได้ตอบเสียงประหลาดนั้นไปว่า
       "เราจะพยายามตอบปัญหาของท่านตามความสามารถที่มีอยู่ ขอให้ท่านถามมาเถิด".
       เสียงประหลาดจึงถามขึ้นว่า
       "ทางเดียวที่จะนำไปสู่ธรรมะคืออะไร ทางเดียวที่จะนำไปสู่เกียรติคืออะไร ทางเดียวที่จะนำไปสู่สวรรค์คืออะไร และทางเดียวที่จะนำไปสู่ความสุขคืออะไร".

137

       ธรรมบุตรยุธิษฐิระตอบว่า.
       "ทางเดียวที่จะนำไปสู่ธรรมะได้แก่ความสามารถในการปฏิบัติธรรมโดยถูกต้อง ทางเดียวที่จะนำไปสู่เกียรติได้แก่การบริจาค ทางเดียวที่จะนำไปสู่สวรรค์ได้แก่การมีสัจจะ และทางเดียวที่จะนำไปสู่ความสุขนั้น ก็ได้แก่การมีความประพฤติดี".
       เสียงจากฟากฟ้าถามต่อไปว่า.
       "ใครคือวิญญาณของมนุษย์ ใครคือมิตรร่วมชะตากรรมของมนุษย์".
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "บุตรคือวิญญาณของมนุษย์ ภรรยาคือมิตรร่วมชะตากรรมของมนุษย์".
       เสียงถามต่อ.
       "อะไรคือลาภอันประเสริฐสุด อะไรคือความสุขอันยอดเยี่ยม".
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "ความมีพลานามัยสมบูรณ์คือลาภอันประเสริฐสุด ความสันโดษคือความสุขอันยอดเยี่ยม".
       เสียงถาม.
       "อะไรที่สูงกว่าธรรมะในโลกนี้ ธรรมะชนิดไหนที่สามารถอำนวยผลได้ตลอดกาล การเอาชนะสิ่งไหนได้จึงจะทำให้มนุษย์ไม่เกิดทุกข์ การผูกมิตรกับใครจึงจะไม่รู้เสื่อม".
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "ความเมตตากรุณ่สูงกว่าธรรมะในโลกนี้ เวทิกธรรม1 สามารถอำนวยผลได้ตลอดกาล การเอาชนะใจตนเองได้จะทำให้มนุษย์ไม่เกิดทุกข์ การผูกมิตรกับคนดีนั่นแลจึงจะไม่รู้เสื่อม".
       เสียงถาม.
       "การละทิ้งอะไรจะทำให้มนุษย์เป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น การละทิ้งอะไรจะทำให้มนุษย์ไม่เกิดความเศร้า การละทิ้งอะไรจะทำให้มนุษย์รุ่มรวย และการละทิ้งอะไรจะทำให้มนุษย์มีความสุข".
---------------

1. เวทิกธรรม คือ ธรรมะที่สอนอยู่ในคัมภีร์พระเวท.


ฤๅษีวสิษฐ์ (Sage Vasiṣṭha) ผู้เป็นสัปตฤๅษี (Saptarishi), หนึ่งในเจ็ดมหาฤๅษีที่ยิ่งใหญ่ของอินเดียในยุคพระเวท, ที่มา: hindu-blog.com, วันที่เข้าถึง: 28 กันยายน 2565.


138
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "การละทิ้งความยโสโอหังจะทำให้มนุษย์เป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น การละทิ้งความโกรธเสียได้จะทำให้มนุษย์ไม่เกิดความเศร้า การละทิ้งความอยากเสียได้จะทำให้มนุษย์เกิดความรุ่มรวย และการละทิ้งความอาฆาตมาดร้ายนั่นแลจึงจะทำให้มนุษย์มีความสุข".
       เสียงถาม.
       "อะไรคือการบำเพ็ญตบะ อะไรคือการควบคุมตนเอง อะไรคือความอดทน และอะไรคือความละอาย".
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "การปฏิบัติตนให้อยู่ในธรรมะคือการบำเพ็ญตบะ การควบคุมจิตใจคือการควบคุมตนเอง การยิ้มรับสภาพคู่อันได้แก่ความร้อน-ความเย็น ความทุกข์-ความสุข ฯลฯ คือความอดทน ส่วนการหันหลังให้แก่ความชั่วนั่นแหละคือความละอาย".
       เสียงถาม.
       "อะไรคือความเมตตาอันสูงสุด และอะไรคือความเที่ยงตรง".
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขนั่นแหละคือความเมตตาอันสูงสุด ส่วนการรักษาจิตให้อยู่ในสภาพสมดุลนั่นแหละคือความเที่ยงตรง".
       เสียงถาม.
       "อะไรคือศัตรูที่มนุษย์ยากจะเอาชนะได้ อะไรคือโรคซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด คนชนิดใดคือคนดี และคนชนิดใดคือคนไม่ดี".
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "ความโกรธคือศัตรูที่มนุษย์ยากจะเอาชนะได้ ความอาฆาตมาดร้ายคือโรคซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด คนที่มีความเมตตากรุณาต่อสรรพชีวิตคือคนดี และคนที่ไม่มีเมตตาจิตต่อผู้อื่นคือคนไม่ดี".
       เสียงถาม.

139

       "อะไรคือการชำระล้างที่ดีที่สุด และอะไรคือของกำนัลที่มีค่าที่สุดในโลกนี้".
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "การชำระล้างที่ดีที่สุดได้แก่การชำระล้างจิตให้บริสุทธิ์ ส่วนของกำนัลที่มีค่าที่สุดในโลกนี้ก็คือ การให้ความคุ้มครองแก่สรรพชีวิต".
       เสียงถาม.
       "อะไรคือสิ่งมหัศจรรย์ในโลกนี้".
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "สิ่งมหัศจรรย์ในโลกคือ ความจริงที่ว่าทุกวัน สิ่งมีชีวิตจะต้องตายจากไป แม้กระนั้นก็ดี ที่เหลืออยู่ ก็อยากจะมีชีวิตสืบต่อไปโดยไม่ต้องตาย อะไรเล่าจะมหัศจรรย์ยิ่งไปกว่านี้".
       เสียงพูด.
       "ท่านผู้ประเสริฐ! ท่านได้ตอบปัญหาของเราถูกต้องหมดแล้วทุกข้อ เราจะตอบแทนท่านด้วยการให้น้องชายคนหนึ่งของท่านกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา ขอให้ท่านระบุมาว่าท่านต้องการให้ใครคืนชีพ".
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "ข้าพเจ้าขอเลือกน้องชายผู้มีชื่อว่านกุล".
       เสียงถาม.
       "ก็นกุลเป็นน้องต่างมารดาของท่าน เหตุไฉนท่านจึงเลือกนกุลเล่า".
       ยุธิษฐิระตอบ.
       "ทั้งพระแม่กุนตีและพระแม่มาทรีต่างก็เป็นมารดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าให้ความเคารพรักแก่บุคคลทั้งสองเท่า ๆ กัน เพื่อบุคคลทั้งสองจะได้มีบุตรเหลือไว้ชื่นชมคนละคน ข้าพเจ้าขอเลือกนกุล".
       เสียงประหลาดนั้นดังสำรวลออกมาด้วยความพอใจพร้อมกับเสียงพูดว่า.
       "ท่านเป็นคนที่มีจิตใจเป็นธรรมยิ่งแล้ว! สมกับที่เขาขนานนามท่านว่า "ธรรมบุตร" เราคือธรรมะแปลงร่างเป็นกวางไปลอบลักหม้อบรรจุไม้อรณีของพราหมณ์ผู้เฒ่ามา และเราเองเป็นเจ้าของเสียงประหลาดที่พูดกับน้อง ๆ ของท่าน


140
และตัวท่านเองอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะเราต้องการจะทดสอบความหนักแน่นแห่งจิตใจของท่าน บัดนี้เราพอใจในตัวท่านแล้ว จึงขออวยพรให้น้องของท่านกลับฟื้นคืนชีพหมดทุกคน และพร้อมกันนี้ เราขออวยพรด้วยว่า ในปีที่ 13 อันเป็นปีสุดท้ายแห่งการอยู่ป่าของท่านนี้ ไม่ว่าท่านและน้อง ๆ ของท่านจะอยู่ ณ ที่ใด และจะแต่งกายอย่างไรก็ตาม พวกเการพจะไม่มีทางจำหน้าพวกท่านได้เป็นอันขาด และนี่คือหม้อไม้อรณี ขอให้ท่านนำกลับไปคืนพราหมณ์ผู้เฒ่าคนนั้นเสียด้วย".
       พอสิ้นเสียง ธรรมเทพก็ปรากฎร่างเป็นพระนารายณ์สี่กรให้ยุธิษฐิระและน้อง ๆ ได้เห็นเพียงครู่เดียว แล้วก็อันตรธานไปต่อหน้าต่อตา ยังให้พี่น้องปาณฑพทั้งห้าปลื้มปีติและงงงวยไปตาม ๆ กัน.
       ภราดาปราณฑพก้มลงกราบเงาของธรรมเทพด้วยความตื้นตันใจ แล้วก็นำหม้อไม้อรณีนั้นกลับไปคืนให้แก่พราหมณ์เฒ่าตามที่ได้รับปากไว้.

 

จบบรรพที่ 3: วนบรรพ



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.


 

info@huexonline.com