MENU
TH EN

12. ศานติบรรพ

บนภารกิจของราชธรรม, ที่มา: www.indica.today, วันที่เข้าถึง: 1 สิงหาคม 2565.
12. ศานติบรรพ01, 01, 02, 03, 04.
First revision: Aug.01, 2022
Last change: Nov.22, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
"เชฺญยะ ส นิตฺยสํนฺยาสี, โย น เทฺวษฏิ น กางฺกฺษฺติ
นิรฺทฺวนฺโทฺว หิ มหาพาโห, สุขํ พนฺธาตฺปฺรมุจฺยเต"
ผู้ใดไม่มีความชิงชัง (ไม่ยินดียินร้าย) ไม่หวังผลอะไร ๆ ท่านพึงทราบเถิดว่า
ผู้นั้นเป็นสันยาสี (ผู้สละกรรม) ทุกเมื่อ มหาพาทุ! เพราะว่าผู้ที่ไม่มี
ทวันทวธรรม ย่อมพ้นจากเครื่องผูกพันได้โดยง่าย

 
"อาตฺเมาปมฺเยน สรฺวตฺร, สมํ ปศฺยติ โย' รฺชุน
สุขํ วา ยทิ วา ทุะขมฺ, ส โยคี ปรโม มตะ"
อรชุน! ผู้ใดเห็นสุขหรือทุกข์ในทุก ๆ สิ่งเสมอด้วย
สุขหรือทุกข์ของตนเอง ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบรมโยคี

 
จากหนังสือ "ศรีมัทภควัทคีตา" แปลโดยศาสตราจารย์
ร.ต.ท.แสง มนวิทูร และราชบัณฑิต จำนงค์ ทองประเสริฐ

       การสูญเสียชีวิตของผู้เป็นวงศาคณาญาติ อีกทั้งมวลมิตรสหายทั้งน้อยใหญ่ได้ก่อให้เกิดความโศกสลดใจแก่ธรรมบุตรยุธิษฐิระอย่างสุดซึ้ง พระองค์ทรงรู้สึกหดหู่พระทัยและไม่ทรงปรารถนาที่จะขึ้นครองราชสมบัติเลย แต่มีพระประสงค์จะเสด็จออกสู่ความวิเวกบำเพ็ญศีลภาวนาในป่าอย่างสงบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการชำระล้างบาปกรรมที่ได้ทรงกระทำไว้ในสงครามล้างเผ่าพันธุ์ดังที่ได้พรรณนามาแล้ว.
       บรรดาอนุชาทั้งสี่ อีกทั้งชายาคือ นางเทฺราปที ต่างก็ช่วยกันปลอบพระทัยองค์ธรรมบุตร โดยทูลขอร้างให้ทรงเห็นแก่พสกนิกรและความจำเป็นของบ้านเมืองในขณะนั้น เพราะแผ่นดินจะว่างกษัตริย์หาได้ไม่ ท้าวธฤตราษฎร์เองและนางคานธารีผู้ชายา ก็ได้ทรงขอร้องให้ยุธิษฐิระเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เพราะมิฉะนั้นแล้วความระส่ำระสายอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งในขอบขัณฑสีมาแห่งหัสตินาปุระและอินทรปรัสถ์.
       ด้วยญาณพิเศษ พระกฤษณะ ฤๅษีวฺยาส และนารทมุนี ต่างก็เห็นภาวะแห่งความลังเล ซึ่งได้เกิดขึ้นในพระทัยขององค์ยุธิษฐิระ ผู้บริสุทธิ์ทั้งสามจึงรีบรุดไปยังกระโจมที่พักของภราดาปาณฑพ ณ ทุ่งราบกุรุเกษตรทันที พระกฤษณะ -
---------------

01. ภายหลังที่การต่อสู้รบพุ่งได้สงบลงแล้ว สันติภาพก็กลับคืนสู่นครหัสตินาปุระ ความในบรรพนี้พรรณนาถึงเหตุการณ์ในช่วงสุขสงบ เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า ศานติบรรพ หรือตอนที่ว่าด้วยสันติภาพ.

228
และฤๅษีวฺยาสได้ช่วยกันปลอบพระทัยและถวายหลักธรรมคำเตือนสติอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดยุธิษฐิระจึงตกลงพระทัยยอมรับภาระแห่งการเป็นกษัตริย์ ปกครองนครหัสตินาปุระและนครอินทรปรัสถ์โดยดุษณี ต่อจากนั้น ภราดาปาณฑพก็เสด็จกลับเข้าสู่นครหัสตินาปุรนคร ในท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องซ้องสาธุการของบรรดาพสกนิกรอย่างอึงมี่.
       หลังจากการประกอบพิธีศราทธ์  อันเป็นการบำเพ็ญบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วในสงคราม พระกฤษณะก็ได้ทำหน้าที่เป็นประธานจัดพิธีราชาภิเษกถวายองค์ยุธิษฐิระอย่างสมเกียรติ และสมตามขัตติยราชประเพณีทุกประการ ในโอกาสนี้บรรดาท้าวพระยามหากษัตริย์ทั้งใกล้และไกล ต่างก็ส่งเครื่องบรรณาการไปถวายองค์ยุธิษฐิระ อันเป็นนิมิตหมายแสดงการยอมรับความเป็นจักรพรรดิราชาธิราชแห่งองค์ยุธิษฐิระเอง.
       เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างในนครหัสตินาปุระได้เข้าสู่สภาพ "แผ่นดินไม่ไร้กษัตริย์" แล้ว พระกฤษณะพร้อมด้วยยุธิษฐิระ อนุชาทั้ง 4 มหามติวิทูร กฤปาจารย์ ฤๅษีวฺยาส ท้าวธฤตราษฎร์ นางคานธารี นางกุนตี และคนสำคัญอื่น ๆ จึงรีบรุดไปเยี่ยมเคารพท้าวภีษมะนักรบผู้เฒ่าซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส และกำลังนอนอยู่บนเตียงลูกศรภายใต้ร่มไม้ ณ ริมลำธาร โอฆวตี ใกล้สมรภูมิกุรุเกษตร.
       และบัดนี้ เมื่อสงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว พระกฤษณะไม่ต้องทำหน้าที่เป็นสารถีให้อรชุนอีกต่อไป พระองค์จึงทรงใช้ราชรถของพระองค์เองซึ่งมีสาตฺยกี เป็นสารถี มีธงรูปพญาปักษีคือครุฑเป็นสัญลักษณ์ เทียมด้วยม้าอาชาไนยฝีเท้ารวดเร็ว 2 ม้า ชื่อ สุครีพ และ ไศวฺยะ คัมภีร์มหาภารตะได้พรรณนาไว้ว่า ราชรถของพระกฤษณะนั้นมีความสง่างามไม่แพ้ราชรถ "วิมานเวชยันตร์" ของพระอินทร์เลย.
       ครั้นเสด็จถึงริมฝั่งลำธารโอฆวตี พระกฤษณะจึงเสด็จเข้าไปใกล้ท้าวภีษมะแล้วตรัสขึ้นว่า.
       "อีกไม่ช้าเสด็จปู่ก็จะจากพวกเราไปแล้ว ขณะนี้องค์ยุธิษฐิระกำลังกังวลพระทัยด้วยเรื่อง ราชธรรม และภาระหน้าที่อื่น ๆ อันเป็นผลเนื่องมาแต่สงครามมหาประลัยครั้งนี้ หม่อมฉันมองไม่เห็นผู้ใดในราชสกุลภรต ที่จะช่วยขจัดวิจิกิจฉาและปริวิตกขององค์ยุธิษฐิระได้ดีเท่าเสด็จปู่ จึงใคร่ขอเชิญเสด็จปู่ได้โปรดมีเมตตาจิตประทานธรรโมปเทศเพื่อความรุ่งเรืองสถาพรของราชสกุลภรต และอาณาประชาราษฎร์แห่งแผ่นดินหัสตินาปุระด้วยเถิด".

 
229
       ในบัดดลที่สุรเสียงของพระกฤษณะผู้เป็นเจ้า แว่วมากระทบโสตประสาทความเจ็บปวดรวดร้าวอันเนื่องมาแต่พิษลูกศร ที่เสียบอยู่ทั่วสรรพางค์ของท้าวภีษมะก็ปลาสนาการไป ท้าวเธอรีบยกหัตถ์ขึ้นกระทำอัญชลีต่อพระกฤษณะ แล้วก็ผันพักตร์ไปยังองค์ยุธิษฐิระ พร้อมกับตรัสขึ้นว่า.
       "มาเถิดหลานรัก! เข้ามาหาปู่ ปู่มิได้ขึ้งเคียดเกลียดหลานหรือผู้ใดใครอื่นทั้งสิ้น ปู่ทราบดีว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของคนเรานั้นเป็นไปตามกรรมที่เราได้กระทำไว้ ไม่มีใครจะหลีกเลี่ยงกฎแห่งกรรมนี้ไปได้ดอก อันที่จริง ปู่ก็คอยหลาน ๆ อยู่ เพราะตั้งใจจะฝาก อนุศาสน์ ไว้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเตือนสติให้ตั้งมั่นอยู่ในทางที่ชอบที่ควร จะได้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ตนเองและแก่แผ่นดิน ซึ่ง ณ บัดนี้ เป็นภาระหน้าที่ของหลานที่จะต้องดูแลปกครองต่อไปแล้ว จงเข้ามานั่งใกล้ ๆ ปู่เถิด ปู่จะได้วิสัชนาหลักธรรมต่างๆ ให้หลานฟัง".
       พอได้ยินวาจาอันเปี่ยมไปด้วยความเมตตาการุณย์ ยุธิษฐิระก็คลายความเกรงกลัวว่าจะถูกท้าวภีษมะสาป จึงเข้าไปใกล้แล้วก้มลงประคองอัญชลี ณ แทบบาทของภีษมะ พร้อมกับทูลว่า.
       "หลานมีความปลื้มปีติเป็นที่สุด ที่เสด็จปู่ไม่ทรงถือโทษโกรธหลานและน้อง ๆ ตลอดจนพรรคพวกของหลาน ก็และธรรมอันใดที่เสด็จปู่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ในสภาวะเช่นหลานได้ ก็ขอได้โปรดประทานอรรถาธิบายธรรมอันนั้นให้หลานได้ทราบ ตามแต่จะทรงเห็นสมควรด้วยเถิดพ่ะย่ะค่ะ".
       "ถ้าเช่นนั้น ก็จงมีมนสิการฟังคำพูดของปู่ดังต่อไปนี้ให้ดี ปู่จะขอวิสัชนาเฉพาะหัวข้อธรรมที่เป็นหลักเท่านั้น" ภีษมะกล่าว.

       "สัจจะหรือความจริงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในราชธรรม พระราชาจะต้องมีสัจจะและจะต้องเคารพสัจจะเสมอ พระราชาจะต้องไม่กระทำการใด ๆ โดยปราศจากสัจจะ สัจจะจะนำความรุ่งเรืองมาสู่พระราชาเสมอ
       พระราชาจะต้องมีความขยันหมั่นเพียรอยู่เป็นนิจ จะต้องไม่เชื่อในเรื่องโชคชะตา เพราะการเชื่อในเรื่องโชคชะตาเป็นโมหะ คือความหลงผิด


230
       ชื่อว่าราชา หากอ่อนเกินไปก็จะไม่มีผู้ใดยำเกรง แต่ถ้าแข็งหรือเคร่งเกินไป ก็จะมีความหวาดระแวง เพราะฉะนั้น พระราชาจะต้องมีทั้งอ่อนและแข็งตามควรแก่กาลเทศะ
       ชื่อว่าราชา จะต้องสละความสุขสบายส่วนตัว เพื่อความสุขสบายของส่วนรวม
       พระราชาที่ดีที่สุด คือพระราชาที่ปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบร่มเย็น ยังผลให้ประชาชนมีความสุข เหมือนอยู่ในบ้านบิดามารดาของตนฉะนั้น
       ชื่อว่าราชาต้องชนะตนเองเสียก่อน แล้วจึงจะชนะศัตรูอื่นได้ นั่นก็คือราชาต้องมีธรรมะ ต้องละกิเลส และละความโกรธเสียให้สิ้น
       พระราชา ต้องไม่เห็นแก่ได้
       พระราชาต้องดูแลความทุกข์สุขของปวงประชา
       พระราชาต้องมีชัยชนะไม่ใช่ด้วยสงคราม เพราะชัยชนะอันเกิดจากสงครามเป็นชัยชนะที่เลวร้ายที่สุด
       ยอมตายเพื่อธรรมะ ดีกว่าได้ชัยชนะด้วยการทำบาป
       ความโลภเป็นบ่อเกิดแห่งบาปทั้งปวง ผู้ที่จะชนะตนเองได้ต้องเอาชนะความโลภของตนเสียก่อน
       ความกำหนัด ความมุ่งร้าย ความหลง ความระเริง ความเศร้าโศก ความถือตัว ความโกรธ ความเย่อหยิ่ง ความเกียจคร้าน ความริษยา เหล่านี้ ล้วนเป็นลักษณะของความไม่รู้จริง
       ไม่มีธรรมะอันใดในโลกที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการควบคุมใจของตนเอง
       การให้อภัย ความหนักแน่น การไม่ปองร้าย ความเยือกเย็น ความสัตย์ ความซื่อตรง การเอาชนะอินทรีย์ทั้งหก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ความอ่อนโยน ความละอายต่อบาป ความไม่เรรวน การละเว้นความชั่วร้าย ความไม่วุ่นวาย ความสันโดษ การพูดจาอ่อนหวาน การไม่เบียดเบียน การไม่อิจฉา เหล่านี้คือคุณลักษณะของผู้ที่ควบคุมใจตนเองได้
       ความสัตย์คือธรรมะอันยืนยงสถาพร
       ความสัตย์คือพรหมอันนิรันดรไม่มีที่สิ้นสุด

 
231
       ความสัตย์คือการบูชาอันเลิศวรุตม์ไม่มีสิ่งใดเสมอสมาน
       ความสัตย์คือรากฐานของสรรพสิ่งทั้งหลาย
       เมื่อใดที่เราย่นความอยากเข้าตัวของเราได้ ดุจเดียวกับที่เต่าหดหัวเข้ากระดองของมัน เมื่อนั้นเราจะพบแสงสว่างและความสูงส่งแห่งวิญญาณ
       มนุษย์กลายเป็นพรหมในเมื่อเขาหมดความกลัวและไม่มีผู้ใดกลัวเขา มนุษย์กลายเป็นพรหมในเมื่อเขาไม่รักและไม่เกลียดผู้ใด มนุษย์กลายเป็นพรหม ในเมื่อเขาไม่เบียดเบียนผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นด้วย กาย วาจา หรือใจ
       ความตายกับความไม่ตายเกิดขึ้นในตัวของเราเอง ความตายเกิดจากความไม่รู้จริง ความไม่ตายเกิดจากความรู้จริง
       ไม่มีสิ่งใดที่ช่วยให้แสงสว่างได้ยิ่งเท่าความรู้
       ไม่มีสิ่งใดที่ช่วยขัดถูและเกลากิเลสได้เหมือนความสัตย์

       ไม่มีสิ่งใดที่เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ถนัดได้เท่าราคะ
       ไม่มีสิ่งใดที่ให้ความสุขเสมือนการเสียสละเพื่อผู้อื่น
       เมื่อยามสุข ไม่ควรจะเต้นตื่นฉันใด เมื่อยามมีทุกข์ภัยก็ไม่ควรจะโศกเศร้าฉันนั้น
       ความรู้จริงเป็นรากฐานของสรรพชีวิต
       ความรู้จริงเป็นลาภอันประสิทธิ์ประเสริฐสุด
       ความรู้จริงเป็นยอดอนุตร์แห่งความสุขในโลก
       ความรู้จริงเป็นสวรรค์อันวิโมกษ์ของสัตบุรุษ
       ความมุ่งหมายของพระเวทคือความสัตย์ ความมุ่งหมายของความสัตย์คือการเอาชนะตนเอง ความมุ่งหมายของการเอาชนะตนเองคือความหลุดพ้นนี้คือคำสอนอันยิ่งใหญ่
       ผู้ที่หมกหมุ่นอยู่กับกามและกิน 1 ผู้ที่ลักขโมยของผู้อื่น 1 ผู้ที่ชอบใช้ผรุสวาจา 1 ทั้ง 3 นี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไร้ธรรมะ แม้เทพเจ้าก็ย่อมหลีกเลี่ยงคน 3 ประเภทนี้ไกลแสนไกล
       ตัณหาคือความอยาก เป็นบ่อเกิดแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง ความอยากก่อให้เกิดความโลภ ความโลภก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดและเล่ห์เหลี่ยมทั้งหลายทั้งปวง


232
ลักษณะหน้าไหว้หลังหลอก อหังการ ความอาฆาต ความหลงผิดในความรู้ ในชาติกำเนิด ในทรัพย์สินศฤงคารเป็นอาทิ เหล่านี้ล้วนมีกำเนิดจากความโลภ ความโลภมีให้เห็นในทุกแห่งหน ไม่เลือกว่าในเด็กในหนุ่มสาว และในผู้ใหญ่ ความโลภซ่อนตัวมาแม้แต่ในเสื้อคลุมของศาสนา
       ความโลภมีมากเท่าใด ความไม่รู้จริงก็มีมากเท่านั้น หมดความโลภจึงจะหมดความไม่รู้จริง
       ในบรรดาสิ่งพึงประสงค์ 4 ประการของมนุษย์คือ อรรถะ ธรรมะ กามะ กับโมกษะ นั้น โมกษะเป็นสิ่งพึงประสงค์อันสูงสุด
       คนจนไม่มีศัตรู แต่คนรวยอยู่ในอุ้งหัตถ์แห่งมฤตยูเสมอ
       ความรู้จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อความรู้นั้นช่วยให้ผู้รู้มีความประพฤติดี และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิตย์
".


 
จบบรรพที่ 12: ศานติบรรพ


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.


 

 
info@huexonline.com