MENU
TH EN

06. ภีษมบรรพ

"ความจริงอันขมขื่น," ที่มา: ashokkoul.blogspot.com, วันที่เข้าถึง: 25 กรกฎาคม 2565.
06. ภีษมบรรพ01,02,03,04.
First revision: Jul.25, 2022
Last change: Oct.26, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรต โดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
"ลภนฺเต พฺรหฺมนิรฺวาณมฺฤษยะ กฺษีณกลฺมษาะ,
ฉินฺนไทฺวธา ยตาตฺมานะ, สรฺวภูตหิเต รตาะ"
พระฤๅษีผู้สิ้นบาปสิ้นสงสัย บังคับตนได้
ยินดีในการสงเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง ท่านย่อมได้รับนิพพาน อันเป็นพรหม


"กามฺโกรฺธวิยุกฺตานามฺ, ยตีนำ ยตเจตฺสามฺ,
อภิโต พฺรหฺมนิรฺวาณมฺ, วรฺตเต วิทิตาตฺมานามฺ"
ผู้บำเพ็ญพรต พรากจากกามและโกรธ ข่มใจได้
รู้แจ้งอาตมัน ย่อมมีนิพพาน คือพรหมโดยทั่วไป (ทุกหนทุกแห่ง)

จากหนังสือ ศรีมัทภควัทคีตา แปลโดยศาสตราจารย์
ร.ต.ท. แสง มนวิทูร และราชบัณฑิต จำนงค์ ทองประเสริฐ.

       เมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายเข้าประจำที่มั่นในทุ่งราบกุรุเกษตรเรียบร้อยแล้ว ก็ได้มีการตกลงกันด้วยเงื่อนไขแห่งการรบดังต่อไปนี้.
       ประการแรก ทั้งสองฝ่ายจะไม่เป็นศัตรูหรือจองเวรซึ่งกันและกันหลังจากสงครามในสมรภูมิกุรุเกษตรสิ้นสุดลงแล้ว.
       ประการที่สอง จะไม่มีการประทุษร้ายทหารที่วางอาวุธ ทหารที่ไม่ยอมหันหน้ามาต่อสู้ด้วย ทหารที่กำลังรบกับทหารอื่น และทหารที่ถูกขับไล่ออกจากสมรภูมิ.
       ประการที่สาม ทหารบนรถจะต้องรบกับทหารบนรถ ทหารบนหลังม้ารบกับทหารบนหลังม้า ทหารบนหลังช้างรบกับทหารบนหลังช้าง และทหารราบจะต้องรบกับทหารราบด้วยกัน จะรบผิดเหล่าผิดพวกกันไม่ได้.
       ประการที่สี่ จะไม่มีการทำร้ายทหารที่ไม่ถืออาวุธ ไม่สวมเกราะ และจะไม่มีการทำร้ายฝ่ายที่เผลอตัว.
       ประการที่ห้า ทั้งสองฝ่ายจะต่อสู้กันเฉพาะในสนามรบและในเวลากลางวันเท่านั้น.
       ประการที่หก จะไม่มีการทำร้ายสารถี ทหารเลี้ยงม้า ทหารที่แบกยุทธสัมภาระและทหารกองดุริยางค์.

---------------

01. ภีษมะ แม่ทัพคนแรกของฝ่ายเการพ ได้ทำหน้าที่สู้รบจนถึงพ่ายแพ้ในบรรพนี้ ดังนั้นบรรพนี้จึงมีชื่อว่า ภีษมบรรพ.

 

ภาพสลักหินทราย ภีษมะ (นักรบผู้เฒ่านอนบริกรรมถึงพระผู้เป็นเจ้าในสภาพร่างไม่ติดพื้น เพราะมีลูกศรค้ำไว้ ภีษมะมีชีวิตอยู่ต่อจากเหตุการณ์นี้อีก 58 วัน จนสงครามทุ่งราบคุรุเกษตรสงบ และได้ให้ "อนุศาสน์" แก่บรรดาลูกหลานแล้วจึงสิ้นใจ) บนกำแพงแนวระเบียงคด ทิศใต้ปีกตะวันตกของนครวัด เสียมราฐ กัมพูชา, ถ่ายไว้เมื่อ 20 ตุลาคม 2561.

166
       สมควรจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า สงครามมหาภารตะได้เป็นต้นเหตุดึงดูดท้าวพระยามหากษัตริย์บรรดาที่มีอยู่ในชมพูทวีปทั้งหมด ให้ร่วมเข้าเป็นพันธมิตรไม่กับฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้น "มหาภารตยุทธ" จึงเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่และมีการสูญเสียกันมากที่สุด ก่อนที่สงครามจะได้เริ่มต้น ฤษี เวทวฺยาส หรือ กฤษณะ ไทฺวปายนะ วฺยาส ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของพี่น้องตระกูลปาณฑพและเการพ และเป็นผู้รจนามหากาพย์มหาภารตะ ได้เข้าเฝ้าท้าวธฤตราษฎร์ และได้ทูลให้ท้าวเธอห้ามปรามมิให้ทุรโยธน์และโอรสตลอดจนพระญาติองค์อื่น ๆ ก่อศึกสงครามกับฝ่ายปาณฑพ เพราะจะนำความหายนะสุดที่จะคณนามาสู่ทั้งสองฝ่าย แต่ท้าวธฤตราษฎร์ได้ตอบว่า พระองค์ได้ทรงพยายามจนถึงที่สุดแล้ว ทุรโยธน์ก็หาได้เชื่อฟังไม่ พระองค์หมดปัญญาไม่สามารถจะแก้ไขสถานการณ์ได้ ฤๅษีเวทวฺยาสจึงกลับเข้าป่าไปด้วยความโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง.
       คงจะจำกันได้ว่า ท้าวธฤตราษฎร์นั้นพระเนตรทั้งสองข้างพิการ ไม่สามารถจะมองเห็นอะไรได้ตั้งแต่แรกประสูติ ฤๅษีวฺยาสจึงทูลถามท้าวธฤตราษฎร์ก่อนจะกลับคืนสู่ป่าว่า.
       "หากมหาบพิตรทรงประสงค์จะทอดพระเนตรการศึกครั้งนี้ว่าโหดร้ายและรุนแรงเพียงไร อาตมภาพก็ยินดีจะถวายอำนาจพิเศษ ให้มหาบพิตรได้ทอดพระเนตรเห็น".
       "หม่อมฉันขอขอบพระคุณทูลกระหม่อมปู่ ต้องนับว่าเป็นโชคดีของหม่อมฉันที่นัยน์ตาไม่สามารถจะมองเห็นอะไรได้ มิฉะนั้นแล้ว คงจะต้องรันทดใจมิใช่น้อยทีเดียว" ท้าวธฤตราษฎร์ทูลตอบฤๅษีวฺยาสด้วยความหม่นหมองพระทัยเป็นอย่างยิ่ง.
       "ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะขอมอบอำนาจนี้ให้แก่สัญชัยผู้เป็นสารถีของมหาบพิตร สัญชัยจะสามารถเห็นเหตุการณ์ทุกขั้นตอนและทุกอย่างในสนามรบได้แล้วจะทูลให้มหาบพิตรทรงทราบได้ตลอด โดยมิต้องเคลื่อนที่ไปไหน" ฤๅษีวฺยาสทูลตอบเสร็จแล้วก็กลับคืนสู่ไพรกว้าง.
       ว่ากันว่า ในมหาภารตยุทธครั้งนั้น มีราชาอยู่สององค์เท่านั้นที่มิได้เข้าร่วมรบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ ท้าว พลราม ผู้เป็นเชษฐภราดาของพระกฤษณะ

 
167
และท้าว รุกมิน ราชาแห่งแคว้นโภชกฏะ ท้าวพลรามไม่ร่วมรบกับฝ่ายใดเพราะไม่ต้องการเห็นพี่น้องรบราฆ่าฟันกันเอง ส่วนท้าวรุกมินผู้เป็นพี่เขยของพระกฤษณะ เพราะเป็นพี่ชายของนางรุกมิณี ชายาของพระกฤษณะนั้น ไม่มีฝ่ายใดรับเป็นพันธมิตรเนื่องจากเป็นนักฉวยโอกาส และไม่เคยจริงจังกับใคร.
       หลังจากที่ได้วางกำลังรบไว้เรียบร้อยแล้ว ยุธิษฐิระก็กำชับอรชุนกับน้อง ๆ ให้ใช้ความระมัดระวังให้จงหนัก จะประมาทไม่ได้เลยแม้แต่น้อย เพราะฝ่ายเการพมีกำลังเหนือกว่ามาก อรชุนรับฟังคำสั่งของพี่ชายด้วยความเคารพ พลันก็ทอดพระเนตรสายตาไปยังกองทหารซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ ณ ทุ่งราบกุรุเกษตรเนืองแน่นไปหมด ทันใดนั้น ความหดหู่ก็บังเกิดขึ้นในห้วงลึกแห่งจิตใจของยอดนักรบหนุ่ม โดยเหตุที่พี่น้องและญาติสนิทมิตรสหายจะต้องมาประหัตประหารกันเอง... โลหิตจะนองแผ่นดิน... ความเดือดร้อนและสูญเสียจะต้องเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า... อรชุนไม่สามารถจะเอาชนะความหม่นหมองครองเศร้าและความหดหู่ใจที่เกิดขึ้นได้ จึงวางธนูคาณฑีวะคู่ชีพไว้กับพื้นราชรถ ซึ่งมีธงรูปวานรเป็นสัญลักษณ์ แล้วปรารภกับพระกฤษณะผู้ทรงทำหน้าที่เป็นนายสารถีว่า
       "ข้าแต่พระองค์! หม่อมฉันหมดกำลังใจที่จะสู้รบเสียแล้วพ่ะย่ะค่ะ! หม่อมฉันทนดูญาติมิตรมาฆ่าฟันกันเองไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะรบชนะและได้บ้านเมืองตลอดจนทรัพย์สินศฤงคารกลับคืนมา หม่อมฉันก็คิดว่าจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ด้วยความผาสุกได้ หม่อมฉันจะไม่ขอรบละพ่ะย่ะค่ะ ขอได้โปรดขับราชรถออกไปนอกบริเวณสมรภูมิเสีย ณ บัดนี้เถิด!"
       พระกฤษณะทรงทราบถึงวิจิกิจฉาซึ่งบังเกิดขึ้นในจิตใจของอรชุนได้เป็นอย่างดี พระองค์จึงทรงปรากฎพระวรกายในรูปของพระวิษณุผู้เป็นเจ้าทรงผันพระพักตร์ไปเบื้องหลังแล้วประทานอนุศาสน์01 แก่อรชุนจนในที่สุดอรชุนได้สติตัดสินใจรบ จึงหยิบธนูคาณฑีวะขึ้นมาถือไว้ พร้อมกับทูลพระกฤษณะว่า.
---------------

01. อนุศาสน์หรือคำสอนนี้ ได้แก่คัมภีร์ภควัทคีตา อันเป็นคัมภีร์ปรัชญาที่มีชื่อเสียงที่สุดของฮินดู ท่านที่สนใจจะหาคัมภีร์นี้อ่านได้ในพากย์ไทยซึ่งเป็นคำแปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤตโดย ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร และราชบัณฑิต จำนงค์ ทองประเสริฐ ฉบับที่ อินทรายุธ (นายผี) พ.อ.ทวิช เปล่งวิทยา และสมัคร บุราวาศ เป็นผู้แปลก็มี ฉบับที่ พ.อ.ทวิช เปล่งวิทยาแปลให้ชื่อว่า "เพลงทิพย์" คัมภีร์ภควัทคีตามีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ อีกมากมายหลายภาษาเฉพาะที่เป็นภาษาอังกฤษมีอยู่หลายสำนวน. และสามารถศึกษาได้ในเพจ ภควัทคีตา ของเว็บไซต์นี้.

พระกฤษณะทรงประทานอนุศาสน์ "ภควัทคีตา" ให้แก่อรชุน, ที่มา: mythgyaan.com, วันที่เข้าถึง: 21 ตุลาคม 2565.

168
       "หม่อมฉันกระจ่างแจ้งในธรรมะอันได้แก่ หน้าที่ แล้วพ่ะย่ะค่ะ ต่อนี้ไปหม่อมฉันจะปฏิบัติตามหน้าที่อย่างสุดความสามารถ".
       เมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายอยู่ในสภาพพร้อมที่จะรบแล้วเช่นนั้น ทุกคนต่างก็รู้สึกอัศจรรย์ใจที่ได้เห็นยุธิษฐิระวางอาวุธไว้บนรถรบ ก้าวลงสู่พื้นดินแล้วเดินประณมมือฝ่ากองทหารตรงไปยังราชรถของท้าวภีษมะ ซึ่งมีธงรูปต้นตาลโบกสะบัดอยู่เบื้องหน้า ทันใดที่ไปถึง ยุธิษฐิระก็ก้มลงใช้ปลายนิ้วหัตถ์เบื้องขวาสัมผัสกับพระบาทของภีษมะ แล้วนำมาแตะกับนลาฏของตน อันเป็นวิธีแสดงความเคารพอย่างสูงสุดของฮินดู.
       "ข้าแต่เสด็จปู่! หม่อมฉันขอถวายความเคารพ และขอประทานอนุญาตในการที่จะทำสงครามกับฝ่าพระบาทครั้งนี้ หากหม่อมฉันจะได้กระทำสิ่งใดที่ผิดพลาดหรือเกินเลยไป ขอฝ่าพระบาทได้โปรดประทานอภัยด้วยเถิดพระเจ้าข้า!" ยุธิษฏิระทูลท้าวภีษมะด้วยอาการนอบน้อมคารวะ.
       "ปู่ขออวยพรให้เธอเป็นฝ่ายชนะ เธอได้ปฏิบัติหน้าที่สมกับที่ได้ถือกำเนิดมาในตระกูลกษัตริย์แล้ว ปู่เองก็จำต้องกระทำตามหน้าที่และพันธกรณีย์เช่นเดียวกัน" ท้าวภีษมะตรัสตอบด้วยพระพักตร์อันยิ้มแย้ม.
       ต่อจากนั้น ยุธิษฐิระได้เดินประณมมือตรงไปยังราชรถของโทฺรณาจารย์ อาจารย์กฤปะ และท้าวศัลยะผู้มีศักดิ์เป็นน้าชาย พร้อมทั้งได้ขออนุญาตที่จะทำการรบเช่นเดียวกับที่ได้ขอต่อท้าวภีษมะ ผู้อาวุโสทั้งสามท่านก็ได้กล่าวคำอนุญาตและอวยชัยให้พร เช่นเดียวกับท้าวภีษมะ.
       ระหว่างนั้น พระกฤษณะผู้ทรงทราบถึงความร้าวฉานระหว่างกรรณะและท้าวภีษมะเป็นอันดี ก็ได้ตรัสชักชวนให้กรรณะมาอยู่เสียกับฝ่ายปาณฑพอีก แต่กรรณะไม่ยอมโดยอ้างว่าทุรโยธน์มีบุญคุณต่อตนมาก ตนจะไม่ยอมทอดทิ้งทุรโยธน์เป็นอันขาด.
       สมควรจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ในบรรดาโอรสของท้าวธฤตราษฎร์นั้นมีอยู่องค์หนึ่งพระนามว่า ยุยุตสุ ซึ่งเกิดจากชนนีในวรรณะไวศยะหรือแพศย์ ยุยุตสุไม่เห็นด้วยกับการกระทำของทุรโยธน์กับพวก จึงขอข้ามไปอยู่กับฝ่ายปาณฑพระหว่างที่การรบพุ่งกำลังจะเริ่มต้น.

 
169
       ครั้นแล้วการสู้รบก็ได้เริ่มต้นขึ้น ในขั้นแรกเป็นการสู้รบกันตัวต่อตัวกล่าวคือ
              อรชุน จับคู่ต่อสู้กับท้าว ภีษมะ 
              สาตฺยกี กับ กฤตวรมัน ผู้เป็นแม่ทัพคนหนึ่งของฝ่ายเการพ และเป็นกษัตริย์เชื้อสายยาทพ (เชื้อสายพระกฤษณะ) องค์เดียวเท่านั้นที่อยู่ข้างเการพ
             อภิมันยุ กับ พฤหัทพละ ราชาแห่งแคว้นโกศล
              ภีมะ กับ ทุรโยธน์
              ยุธิษฐิระ กับท้าว ศัลยะ
              ธฤษฏะทฺยุมัน กับ โทฺรณาจารย์
       ต่อจากนั้นก็เป็นการรบหมู่ซึ่งในภาษาสันสกฤตเรียกว่า "สังกุลยุทธ".

       ผลแห่งการสู้รบปรากฎว่า ทหารของทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บและล้มตายกันสุดที่จะคณนา ได้มีการใช้ "พยุหรจนา" หรือการแปรทัพเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น แปรเป็นรูปนกกระสา รูปครุฑ รูปจระเข้ ฯลฯ นอกจากผู้คนแล้ว สัตว์ที่นำใช้ในการรบ ดดยเฉพาะม้าและช้างก็ล้มตายกันเกลื่อนกลาด ยังให้ทุ่งราบกุรุเกษตร อันกว้างใหญ่กลายเป็นสุสานของคนและสัตว์ไปอย่างน่าอเนจอนาถ ทั่วสมรภูมิแดงฉานไปด้วยโลหิต ซึ่งส่งกลิ่นคาวคลุ้งตลบไปทั่วบริเวณ.

       การรบได้ดำเนินไปจนถึงวันที่ 10 โดยที่ต่างฝ่ายต่างผลัดกับรุกผลัดกันรับตลอดเวลา ท้าวภีษมะนักรบผู้เฒ่าซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายเการพได้แสดงความคล่องแคล่วแกล้วกล้าในการใช้อาวุธอย่างน่าอัศจรรย์ จนนักรบฝ่ายปาณฑพแสดงอาการระย่อท้อถอยไปตาม ๆ กัน พระกฤษณะซึ่งทำหน้าที่เป็นสารถีให้อรชุน ทรงทราบเคล็ดลับที่จะใช้อาวุธสังหารภีษมะ จึงตรัสสั่งให้ศิขัณฑินผู้เป็นน้องชายของนางเทฺราปทีและเป็นกะเทย นำหน้าอรชุนออกรบ นักรบอินเดียโบราณมีคติธรรมประจำใจที่จะไม่ทำร้ายคู่ต่อสู้ที่เป็นหญิงหรือกะเทย เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นศิขัณฑินออกรบกับตนโดยนำหน้าอรชุนมา ท้าวภีษมะจึงไม่ยอมใช้อาวุธ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้อรชุนใช้อาวุธได้อย่างสบาย ผลก็คือท้าวภีษมะถูกศรของอรชุนยิงเสียบจนเต็มร่างตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า จะหาที่ว่างแม้แต่สักสองนิ้วก็ไม่ได้ บรรดาแม่ทัพนายกองของทั้งสองฝ่ายต่างตกใจ รีบวางอาวุธ แล้ววิ่งไปห้อมล้อมแสดงความเคารพและอาลัยต่อภีษมะ ในบรรดาผู้ที่เข้าไปห้อมล้อมนั้นมีอรชุนรวมอยู่ด้วย ภีษมะซึ่งขณะนั้นล้มลงแต่ร่างไม่แตะพื้นดิน เพราะศรที่เสียบอยู่เต็มร่างนั้นค้ำไว้ ได้ขอร้องนักรบรุ่นลูกหลานทั้งหลายให้หาสิ่งของมารองหนุนศีรษะให้ พวกนักรบลูกหลานจึงไปหาหมอนอย่างสมเกียรติมาให้ แต่ก็ไม่เป็นที่ถูกใจ นักรบผู้เฒ่าจึงกวักมือเรียกอรชุนเข้าไปใกล้แล้วพูดว่า


170
       "อรชุนหลานรัก! ปู่กำลังจะจากหลานไปแล้ว ปู่มีความภูมิใจในฝีมือยิงธนู ทั้งด้วยแขนขวาและแขนซ้ายของหลานเป็นยิ่งนัก01. หลานเท่านั้นที่ทราบดีว่าศีรษะของคนอย่างปู่นั้น น่าจะใช้อะไรเป็นเครื่องหนุนในยามที่ปู่กำลังจะจากโลกไปนี้!".
       อรชุนเข้าใจความประสงค์ของยอดนักรบผู้เฒ่าในทันที จึงดึงลูกศรออกมาจากแล่ง 3 ดอก เอาปลายศรปักลงไปในพื้นดิน แล้วใช้หัวศรอันคมกริบทั้ง 3 ดอก รองรับศีรษะของภีษมะไว้.
       ภีษมะแสดงความพอใจด้วยการยิ้มออกมาจนปรากฎชัด แล้วค่อย ๆ พูดกับอรชุนว่า.
       "ขอบใจหลานรักมาก! ปู่จะขอนอนอยู่ในสภาพเช่นนี้จนกว่าพระอาทิตย์จะเคลื่อนคล้อยไปสู่ทิศเหนือ แล้วชีวิตจึงจะออกจากร่างของปู่ ขณะนี้ปู่กระหายน้ำมาก ขอน้ำให้ปู่ได้ดื่มพอชื่นใจสักหน่อยเถิด!".
       อรชุนรีบหยิบธนูคาณฑีวะคู่ชีพมาขึ้นสาย แล้วกะยิงให้ลูกศรไปตกลงใกล้ศีรษะของภีษมะ ความแรงของลูกศรที่แหวกลงไปในพื้นดิน ทำให้เกิดน้ำพุไหลพุ่งเป็นสายธารออกมาเข้าปากของภีษมะพอดี เมื่อได้ดื่มน้ำดับกระหายแล้ว นักรบผู้เฒ่าจึงหันหน้าไปพุดกับทุรโยธน์ ซึ่งก็ยืนอยู่ ณ ที่นั้นด้วยว่า.
       "ทุรโยธน์! หลานเห็นฝีมือยิงธนูของอรชุนด้วยนัยน์ตาของหลานเองอีกแล้วใช่ไหม หลานต้องเข้าใจนะว่าหลานกำลังทำสงครามกับใคร ปู่ขอแนะนำให้หลานยุติการรบพุ่ง แล้วเปิดฉากเจรจากับฝ่ายปาณฑพเสีย ก่อนที่เหตุการณ์จะสายเกินแก้เถิดหนา".
       ทุรโยธน์ฟังคำพูดของภีษมะด้วยความไม่พอใจ พอภีษมะพูดขาดคำ ทุรโยธน์ก็รีบสาวเท้าเดินออกจากกลุ่มนักรบที่ห้อมล้อมภีษมะไปในทันที.
---------------

01. ตามเนื้อเรื่อง อรชุนใช้แขนขวาและแขนซ้ายได้ถนัดและแม่นยำพอ ๆ กัน.
 
171
       กรรณะเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้เข้าไปกระทำความเคารพต่อนักรบผู้เฒ่า ด้วยการใช้ฝ่ามือแตะกับเบื้องบาทของภีษมะ แล้วนำมาสัมผัสกับนลาฎของตนเองพร้อมกับพูดขึ้นว่า.
       "เสด็จปู่ยอดนักรบของตระกูลภรต! หลานขอรับประทานโทษในความผิดพลาดล่วงเกินทั้งหลายที่ได้กระทำไว้กับเสด็จปู่ ขอเสด็จปู่โปรดอย่าถือโทษโกรธขึ้งต่อตัวหลานเลย".
       "กรรณะหลานรัก! ปู่ไม่เคยถือโทษโกรธหลานเลย! ที่ปู่เคยพูดขัดใจหลานบ่อย ๆ ทั้งในที่ประชุมรัฐสภาของพี่น้องเการพและในที่อื่น ๆ นั้น ก็เป็นเพราะปู่เห็นว่าหลานประพฤติผิดหลักธรรม ในการส่งเสริมให้พี่น้องเการพกับปาณฑพประหัตประหารกันเอง อันที่จริงแล้ว หลานก็หาใช่ใครอื่นไม่ หากแต่เป็นลูกชายคนหัวปีของนางกุนตีนั่นเอง และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นพี่อ้ายของกลุ่มปาณฑพด้วย พระฤๅษีนารทะทราบเรื่องนี้ดี และท่านเป็นผู้เล่าเหตุการณ์ทั้งหลายให้ปู่ฟัง เพราะฉะนั้น ปู่จึงขอแนะนำให้หลานและเการพ เลิกละความคิดที่จะรบพุ่งกับฝ่ายปาณฑพเสียเถิด! แผ่นดินภารตะจะได้ไม่ต้องชุ่มนองไปด้วยเลือดของเหล่าญาติและนักรบทั้งหลาย".
       "เสด็จปู่ผู้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมพระเจ้าข้า! หลานทราบดีว่าตัวหลานนี้มิใช่ลูกของนายสารถี อธิรถ และนาง ราธา ผู้ภรรยา แต่จะให้หลานลืมรสเกลือขององค์ทุรโยธน์อย่างไรได้! หากหลานเลิกรบหรือไปเข้ากับฝ่ายปาณฑพ หลานจะได้ชื่อว่าเป็นคนอกตัญญูไม่รู้คุณคน แล้วหลานจะมองหน้าผู้อื่นได้อย่างไร หากหลานจะตาย ก็ขอให้ตายในสนามรบและในหน้าที่เถิด! หลานจะพอใจและมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง".
       "กรรณะหลานปู่! ปู่ขอชมเชยความมีใจแน่วแน่และรู้คุณคนของหลาน ขอให้หลานประสบความสำเร็จในมโนปณิธานของหลานเถิด!".
       กรรณะก้มลงกราบ ณ แทบเท้าของภีษมะแล้วก็ลาจากไป ส่วนท้าวภีษมะนักรบผู้เฒ่าคงนอนบริกรรมถึงพระผู้เป็นเจ้าในสภาพร่างไม่แตะพื้นดิน เพราะมีลูกศรค้ำไว้เต็มตัว ดังที่ได้พรรณนาไว้ว่านอนบน "ศรตลฺลป" หรือ "เตียงลูกศร" ในโศลกภาษาสันสกฤตเดิม.


172
       (ตามเนื้อเรื่องในมหากาพย์ "มหาภารตะ" นั้น ด้วยความเสียสละที่จะไม่ขอแต่งงานชั่วชีวิต ภีษมะจึงได้รับพรจากราชาศานตนุผู้บิดา ให้กำหนดวันตายของตนเองได้ ด้วยเหตุนี้ ภีษมะจึงมีชีวิตอยู่ต่อจากเหตุการณ์ในวันนี้ไปได้อีก 58 วัน จนสงครามสงบและได้ให้ "อนุศาสน์" แก่บรรดาลูกหลานแล้ว จึงสิ้นชีวิตลงด้วยความสงบ).

 
จบบรรพที่ 6: ภีษมบรรพ


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.

 
info@huexonline.com