MENU
TH EN

16. เมาสลบรรพ - บรรพแห่งไม้ตะบอง

ภาพ: เมืองทวารกาของพระกฤษณะ, ที่มา: www.templepurohit.com, วันที่เข้าถึง 15 กันยายน 2565.
 
16. เมาสลบรรพ - บรรพแห่งไม้ตะบอง01,01,02,03,04.
First revision: Sep.15, 2022
Last change: Jan.03, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
256
       หลังจากที่สงครามได้สิ้นสุดลงเป็นปีที่ 36 เหตุอาเพศลางร้ายต่าง ๆ ก็ได้อุบัติขึ้นให้เห็น ทั้งในทฺวารกาของพระกฤษณะ และนครหัสตินาปุระของท้าวยุธิษฐิระและอนุชาทั้ง 4 อาทิเช่น พายุทรายพัดกระหน่ำมามิได้หยุดหย่อนก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั้งในเมืองและนอกเมือง ท้องฟ้าก็ลำเลืองมัวมนมืดคลุ้มมองไม่เห็นพระอาทิตย์ อุกกาบาตก็แรงฤทธิ์ ตกลงมาจากฟากฟ้า สร้างความหวั่นวิตกให้แก่อาณาประชาราษฎร์ มีสัตว์จำพวกหนูออกมาวิ่งเพ่นพ่านตามถนนหนทางในเมืองและตามหมู่บ้านชนบทในยามดึกดื่น ทั้งยังเที่ยวแทะเล็บและผมของหญิงชายที่กำลังหลับนอน ณ ยามค่ำคืน ภาชนะดินที่ใช้หุงต้มและเก็บถนอมอาหาร ต่างก็ส่งเสียงเปรียะประแตกร้าวไปเอง นกแก้ว นกสาลิกา และนกขุนทองที่เคยร้องเพราะ ๆ ต่างออกปากส่งเสียงเถียงทะเลาะราวกับจะตีกันเองอยู่ตลอดเวลา สัตว์เลี้ยงจำพวกแพะแกะต่างก็พากันร้องร่ำเสียงเหมือนสุนัขจิ้งจอกหอน วัวตกลูกเป็นลา ล่อตกลูกเป็นช้าง สุนัขตกลูกเป็นแมว พังพอนตกลูกเป็นหนู อาหารที่หุงต้มเสร็จใหม่ ๆ ในเมื่อนำมาต้อนรับอาคันตุกะ กลับมีกลิ่นบูดและหนอนขึ้น ฯลฯ...ฯลฯ สารพันจะวิปริตผิดประหลาดไปเสียหมดสิ้น.
---------------

01. เมาสล (ะ) แปลว่า ตะบอง ในภาษาสันสกฤต บรรพนี้พรรณนาเกี่ยวกับการใช้ตะบองเป็นอาวุธประหัตประหารในระหว่างพวกยาทพด้วยกันเอง พวกยาทพหรือยาทว(ะ) เป็นเชื้อสายของพระกฤษณะแห่งนครทฺวารกาหรือทวาราวดี เพราะฉะนั้น บรรพนี้จึงมีชื่อว่าเมาสลบรรพ.

257
       อนึ่ง แม้กิริยามารยาทและความประพฤติและความประพฤติของชาวยาทพ อันเป็นเผ่าพันธุ์ของพระกฤษณะเอง ก็ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก เช่น ไม่สนใจที่จะปฏิบัติศาสนกิจ ไม่ประพฤติตามประเพณีอันดีงามต่าง ๆ ซึ่งเคยมีมาแต่โบราณกาล ละเลิกการบริจาคทาน และไม่เคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่ ตลอดจนสมณะชีพราหมณ์ผู้ทรงศีลทั้งปวง ไม่สดับตรับฟังพระธรรมคำสอนของศาสนาโดยเฉพาะแล้วมีการประพฤติผิดทางกามา ดื่มของมึนเมา และหมกมุ่นอยู่กับการพนัน โดยไม่มีเวลาว่างเว้น ฯลฯ ... ฯลฯ.
       ครั้นแล้ว ณ กาลวันหนึ่ง ฤๅษีวิศวามิตร ฤๅษีกัณวะ และฤๅษีนารทะ ได้จาริกไปถึงนครทฺวารกา โดยตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมเยือนพระกฤษณะ พอผ่านเข้าไปในกำแพงเมือง เด็กหนุ่มตระกูลยาทพก็เกิดความคึกคะนองพากันไปรุมล้อมล้อเลียนฤๅษีทั้งสาม โดยให้กุมาร ศามพะ (Samba) ซึ่งเป็นโอรสองค์หนึ่งของพระกฤษณะ ประสูติแต่นาง ชามพวดี (Jambavati) แต่งกายเป็นหญิง เอากะทะผู้หน้าท้องไว้ ทำทีว่าตั้งครรภ์ แล้วพาไปให้ฤๅษีทั้งสามดู พลางตั้งคำถามว่า เด็กในท้องเมื่อคลอดออกมาจะเป็นหญิงหรือชาย.
       ฤๅษีนารทะบันดาลโทสะที่ถูกลองดีและหลู่เกียรติ จึงลั่นคำสาปออกไปว่า.
       "เฮ้ย! เจ้าเด็กเมื่อวานซืน! เจ้าคิดหรือว่าข้าจะไม่รู้ความหยิ่งผยองอวดดีของพวกเจ้า ในท้องของเพื่อนของเจ้านั้นจะมีอะไรก็ตามที แต่ข้าขอบอกว่าพวกเจ้าทั้งโคตรยาทพนั่นแหละ จะต้องตายด้วยสิ่งนั้นไม่มีข้อสงสัยอันใดเลย!".
       กล่าวคำสาปแล้ว ฤๅษีนารทะพร้อมทั้งฤๅษีกัณวะและฤๅษีวิศวามิตร ก็พากันกลับไปสู่อาศรมในป่า.
       คำสาปของฤๅษีนารทะ ได้ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนและหวั่นวิตกไปทั่วนครทฺวารกา เพราะทุกคนทราบดีว่า คำสาปของฤๅษีผู้ทรงอิทธิฤทธิ์เช่น ฤๅษีนารทะนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงไร!.
       กะทะซึ่งปิดหน้าท้องของศามพะกุมารนั้น ปรากฎว่า ได้กลายเป็นไม้ตะบอง! พระกฤษณะทรงระลึกถึงคำสาปของนางคานธารีได้ทันที! จึงดำรัสสั่งให้ข้าราชบริพารนำไม้ตะบองอันนั้นมาตำเสียจนเป็นผงละเอียด แล้วให้นำไปทิ้งในท้องทะเล บังเอิญ ในระหว่างทาง เกิดลมพายุพัดกระหน่ำมาอย่างแรง ทำให้-


258
ผงไม้ตะบองเหล่านั้นปลิวไปตกตามชายหาดริมฝั่งทะเล ครั้นต่อมา ผงจากไม้ตะบองเหล่านั้นก็ได้เจริญพันธุ์งอกงาม เกิดเป็นพืชไม้ตระกูลหนึ่งซึ่งลำต้นมีลักษณะคล้ายไม้ตะบอง ขึ้นเต็มทั่วไปในบริเวณชายหาดนั้น01.
       ทิวาวันหนึ่ง อันเป็นวันที่มีความสำคัญทางศาสนา พระกฤษณะได้ตรัสสั่งให้พระประยูรญาติและข้าราชบริพารไปร่วมบำเพ็ญศาสนกิจกัน ณ บุณยสถานอันมีชื่อว่า ประภาสตีรถะ ซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลดังกล่าว ภายหลังที่ได้บำเพ็ญพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จแล้ว ชาวยาทพเหล่านั้นก็พากันร้องรำทำเพลงและดื่มน้ำสุรามฤตกันอย่างสนุกสนาน มิไยที่พระกฤษณะจะตรัสห้ามปรามสักเท่าใด ๆ คนเหล่านั้นก็หาได้สนใจเชื่อฟังไม่ ฤทธิ์สุราบานทำให้เขาเหล่านั้นคุมสติไม่อยู่ จนกระทั่งเกิดการทะเลาะวิวาทชกต่อยกันเองอย่างอุตสุด และต่างก็ถอนต้นไม้ซึ่งมีลักษณะคล้ายตะบองดังกล่าวขึ้นมาเป็นอาวุธประหัตประหารกันเองจนล้มตายลงระเนระนาด.
       ด้วยความมีนเมาเช่นนั้น ตอนหนึ่ง สาตฺยกี ผู้เป็นสารถีของพระกฤษณะและซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ได้ต่อว่า กฤตวรมัน ผู้ลอบเข้าไปสังหารฝ่ายปาณฑพในยามค่ำคืน โดยร่วมไปกับกฤปาจารย์ และอัศวัตถามา ตามความปรากฎในบรรพที่ 10 แล้ว สาตยฺกีส่งเสียงอ้อแอ้ด้วยฤทธิ์สุราว่า.
       "ท่านนี้ไม่สมกับเกิดมาในตระกูลกษัตริย์ชาตินักรบเสียเลย! มีเยี่ยงอย่างที่ไหนในการรบ ที่ฝ่ายหนึ่งเล็ดลอดเข้าไปฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่กำลังนอนหลับอยู่".
       "แล้วท่านเล่า ที่สังหารชีวิตภูริศฺรวัสผู้มีอายุแก่กว่าท่านตั้งหลายปี! ท่านได้ปฏิบัติการเยี่ยงกษัตริย์ละหรือ" กฤตวรมันตอบโต้ด้วยความมึนเมาเช่นเดียวกับสาตฺยกี.
       ทันใดนั้น สาตยฺกี ซึ่งถือตะบองทำด้วยต้นไม้ดังกล่าว ก็ตรงเข้าทุบตีกฤตวรมันจนตายคาที่! พรรคพวกของกฤตวรมันเห็นเช่นนั้นจึงเข้ารุมล้มเล่นงานสาตฺยกีทันที! -
---------------

01. ร.6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องตอนนี้ไว้ในหนังสือ "ลิลิตนารายณ์สิบปาง" ว่า "...แต่ก่อนถึงวารี ธุลีหล่นลงบ้าง ที่หาดข้างธาราไม่ช้าเป็นไม้อ้อกอดกล้วนแหลมแท้...".

259
ปรัทยุมัน โอรสของพระกฤษณะอันเกิดแต่นาง รุกมิณี ธิดาของท้าว ภีษมกะ แห่งแคว้น วิทรรภ เห็นดังนั้นจึงกระโดดเข้าช่วยสาตฺยกี! แต่ทั้งสาตฺยกีและปรัทยุมันต่างก็ถูกพรรคพวกของกฤตวรมันรุมตีด้วยตะบองจนตายสนิททั้งคู่!.
       พระกฤษณะซึ่งประทับยืนทอดพระเนตรเหตุการณ์อยู่ใกล้ ๆ ทรงตระหนักดีว่า บัดนี้ คำสาปของนางคานธารีและมุนีนารทะกำลังจะกลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว พระองค์จึงรับสั่งให้ ทารุกะ สารถีอีกนายหนึ่งรีบรุดไปยังนครหัสตินาปุระ เพื่อนำข่าวนี้ไปทูลให้ภราดาปาณฑพทรงทราบ และขอให้อรชุนยกกองทัพมาช่วยโดยด่วน ในขณะเดียวกัน พระองค์เองนั้นรีบรุดกลับนครทฺวารกา และเข้าเฝ้าท้าววสุเทพพระบิดา พร้อมกับทูลว่า.
       "ขอพระทูลกระหม่อมจงได้โปรดประทับอยู่ในนครหลวง เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ฝ่ายใน และพสกนิกรของเราจนกว่าอรชุนจะยกกองทัพมาถึงเถิด! หม่อมฉันจะต้องรีบไปตามเสด็จพี่พลรามในป่า".

ท้าวพลราม (Balarama), ศิลปะแบบพนมดา (ยุคก่อนศิลปะแบบเมืองพระนคร ราวคริสต์ศตวรรษที่ 6) พบที่อังกอร์ บอเรย์ จังหวัดตาแก้ว,
ถ่ายจากพิพิธภัณฑ์กรุงพนมเปญ, กัมพูชา, เมื่อ 5 ธันวาคม 2565.

       พอเสด็จพ้นเขตเมืองถึงชายป่าริมทะเล พระกฤษณะก็ทอดพระเนตรเห็นท้าว พลราม ประทับนั่งอยู่ภายใต้ต้นไทรใหญ่หลับพระเนตรกระทำบริกรรมอยู่ ทันใดนที่พระกฤษณะจะเอ่ยโอษฐ์รับสั่งบอก ก็ปรากฎว่า มีงูใหญ่ประกอบด้วยเศียรหนึ่งพันเศียร ลำตัวขาวตลอด ปากสีแดงจ้า ค่อย ๆ เลื้อยออกมาจากโอษฐ์ของท้าวพลราม แล้วเลยลงทะเลไป! ณ วาระนั้นเอง พระกฤษณะก็ทรงทราบว่า ท้าวพลรามผู้เชษฐาของตน ได้ทิ้งร่างไว้ในโลกมนุษย์ กลับคืนสู่นครบาดาลแล้ว! ทั้งนี้ก็เพราะว่า ท้าวพลรามนั้นหาใช่ใครอื่นไม่! หากเป็น พญาวาสุกรี หรือ เศษนาค หรือ พญาอนันตนาคราช เจ้าแห่งนครบาดาล อวตารมาเกิดในมนุษยโลกนั่นเอง!.
       การจากไปของผู้เชษฐา ทำให้พระกฤษณะหมดหวังหมดกำลังพระทัย พระองค์ทรงดำเนินเข้าไปในป่าด้วยพระทัยอันหดหู่ ในขณะเดียวกันก็ทรงตระหนักดีว่า วาระสุดท้ายของพระองค์ได้ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว!.
       ระหว่างที่พระกฤษณะทรงดำเนินอย่างคนสติลอยอยู่นั้น มีพรานล่าเนื้อนายหนึ่งซึ่งซุ่มรอเหยื่ออยู่ เห็นพระองค์เข้าก็เข้าใจว่าเป็นกวาง จึงยกคันธนูขึ้นเล็งแล้วลั่นลูกไปในฉับพลัน! ด้วยอานุภาพแห่งคำสาปของนางคานธารีและฤๅษีนารทะ และด้วยกรรมเก่าของพระองค์เอง พระกฤษณะก็สิ้นพระชนมชีพเสด็จจากมนุษยโลกได้ด้วยประการฉะนี้.


260
       ฝ่ายสารถี ทารุกะ เมื่อเดินทางไปถึงหัสตินาปุรนคร ก็รีบรุดเข้าเฝ้าองค์อรชุน และทูลให้ทราบเหตุการณ์ทุกประการในนครทฺวารกา ท้าวอรชุนได้ฟังเรื่องราวแล้วก็รีบยกกองทัพไปยังนครทฺวารกาทันที โดยหมายมั่นว่าจะช่วยกู้สถานการณ์จากหนักให้เป็นเบา แต่ปรากฎว่า ทุกสิ่งทุกอย่างช้าเกินไป! ไม่ทันกาลเสียแล้ว! นครทฺวารกาได้กลายเป็นป่าช้าใหญ่ ศพของชาวยาทพซึ่งฆ่าฟันกันเองเกลื่อนกลาดทั่วเมืองไปหมด ทำให้อรชุนบังเกิดความสังเวชและสลดใจอย่างสุดที่จะพรรณนา.
       อรชุนรีบเข้าไปเฝ้าท้าววสุเทพ ชนกของพระกฤษณะและเชษฐภราดาของนางกุนตี ผู้เป็นชนนีของยุธิษฐิระ ภีมะ และอรชุน และด้วยสายสัมพันธ์อันนี้ ท้าววสุเทพจึงมีศักดิ์เป็นพระมาตุลาหรือลุงของอรชุน อรชุนรีบทูลท้าววสุเทพ ซึ่งขณะนั้นกำลังประชวรหนักอยู่ว่า.
       "ขอเสด็จลุงอย่าได้ทรงเป็นห่วงพระประยูรญาติเลย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหน้าหรือฝ่ายใน หม่อมฉันจะพาพวกเราทั้งหมดไปอยู่ด้วยกันที่นครอินทรปรัสถ์ และจะขอให้ความพิทักษ์คุ้มครองเป็นอย่างดี อนึ่ง หม่อมฉันจะจัดการราชาภิเษกให้วัชรกุมาร01.หลานชายของเสด็จลุง เป็นราชาของชาวยาทพ และจะให้ครองราชย์อยู่ ณ นครอินทรปรัสถ์ต่อไป".
       ท้าววสุเทพตรัสขอบพระทัยอรชุน แล้วก็หลับพระเนตรเสด็จสู่สวรรคาลัยด้วยความสงบ.
       อรชุนจึงรีบจัดการสังสการพระศพท้าววสุเทพ และศพของชาวยาทพคนอื่น ๆ เสร็จแล้วก็ออกเดินทางกลับสู่นครหัสตินาปุระ พร้อมด้วยพระญาติของฝ่ายยาทพซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรี เด็กและคนชรา.
       พอขบวนของอรชุนยาตราพ้นเขตนครทฺวารกาก็ปรากฎว่า น้ำทะเลได้ไหบบ่าเข้ามาท่วมนครทฺวารกาทั้งนครจมหายไปในท้องทะเล!.
       ระหว่างการเดินทางปรากฎว่า ได้มีกองโจรเข้าปล้นสะดมขบวนของอรชุนและแย่งชิงเอาทรัพย์สินเงินทองตลอดจนเพชรนิลจินดาไปได้เป็นจำนวนมาก- 

---------------
01. หมายถึง ปรีกษิต (Parīkṣit หรือ Parikshit) บุตรของอภิมันยุกับนางอุตตรา อภิมันยุเป็นบุตรของอรชุนกับนางสุภัทรา ซึ่งนางสุภัทราเป็นน้องสาวของพระกฤษณะ ส่วนนางอุตตราเป็นพระธิดาของท้าววิราฏแห่งแคว้นมัสตยะ ซึ่งกษัตริย์ปรีกษิตและกษัตริย์ชนเมชยะ (Janamejaya - जनमेजय) พระโอรส ได้สร้างความรุ่งเรืองสูงสุดให้แก่รัฐกุรุ-ปัญจาละ ในกาลต่อมา.
 
261
อรชุนเองพยายามที่จะปกป้องคุ้มครองผู้ที่ร่วมมาในขบวน ซึ่งนอกจากจะประกอบด้วยผู้คนจำนวนมากแล้ว ยังมีทั้งรถ ช้าง ม้า วัว ควาย อูฐ ลา ฯลฯ จำนวนมหาศาล แต่อรชุนผู้แกล้วกล้าก็ไม่สามารถจะช่วยได้ เพราะกรรมเก่าบันดาลให้คันธนูคู่ชีพ "คาณฑีวะ" อันศักดิ์สิทธิ์ และแล่งธนู "อักษัย" ซึ่งในกาลก่อนมีลูกธนูอยู่เต็มอัตรา โดยไม่มีวันพร่องหมดสิ้นไป แต่ครานี้ทั้งคันธนู แล่งธนูและลูกธนูหมดอานุภาพ ไม่สามารถจะใช้ปราบศัตรูได้เช่นเคย! ผลก็คือ ผู้คนที่มา่ด้วยในขบวนถูกพวกโจรสังหารล้มตายเป้นจำนวนมาก และกว่าจะถึงนครหัสตินาปุระก็เหลือจำนวนน้อยและต่างก็หมดอาลัยตายอยากในชีวิตไปตาม ๆ กัน.
       เมื่อได้จัดการให้พวกยาทพมีที่อยู่กิน ณ นครอินทรปรัสถ์เรียบร้อยแล้ว อรชุนก็รีบไปเยือนฤๅษีวฺยาส ซึ่งจำศีลภาวนาอยู่ในป่าแถบเขาหิมาลัย และได้เล่าพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับพระกฤษณะและชาวยาทพ ให้ฤๅษีผู้เป็นทั้งพระอาจารย์ และญาติอาวุโสฟัง พร้อมกันนั้นก็ได้พรรณนาถึงความเหนื่อยหน่ายต่อความผันผวนของชีวิตของตนเท่าที่ได้ประสบมา และขอคำแนะนำว่า ควรจะปฏิบัติตนอย่างไรต่อไป.
       "อรชุนหลานรัก! พฤติการณ์ทุกอย่างทุกประการที่หลานได้พรรณนามานี้ ปู่ทราบดีนี่แหละคือชีวิต! นี่แหละคือกฎแห่งกรรม! ทุกคนเกิดมาในโลกจะหลีกเลี่ยงจากกฎนี้ไปไม่ได้ ไม่มีสิ่งไรที่หลานจะต้องเศร้าโศกเสียใจ หลานเองก็ได้ปฏิบัติหน้าที่และบรรลุเป้าหมายไปถึง 3 ประการในชีวิตแล้ว อันได้แก่ อรรถะ กามะ และธรรมะ บัดนี้ยังเหลืออยู่เพียงประการที่ 4 คือ โมกษะ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดเพียงประการเดียวในชีวิตของคน เพราะฉะนั้น ขอหลานจงอย่าได้ประมาท หากจงมุ่งหน้าแสวงหาเป้าหมายอันสูงสุดนี้โดยมิชักช้าเถิด!"01. ฤๅษีวฺยาสให้สติแก่อรชุนด้วยความเมตตาและปรารถนาดี.
--------------

01. ตามคติธรรมของฮินดูนั้น กฎประจำชีวิตหรือค่านิยมของมนุษย์เรา หรือ หลักปุรุษารถะ (पुरुषार्थ - Puruṣārtha  หรือ ประโยชน์สี่) มีเพียงอยู่ 4 ประการคือ
       1. อรรถะ (Artha) อันได้แก่ ประโยชน์หรือทรัพย์สินเงินทอง
       2. กามะ (Kama) อันได้แก่ ความใคร่ ความปรารถนา หรือความต้องการ
       3. ธรรมะ (Dharma) อันได้แก่ คุณความดีหรือความถูกต้อง
       4. โมกษะ (Moksha) อันได้แก่ ความหลุดพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตายเกิด หรือนิพพาน
     ทั้ง 4 นี้ถือว่า โมกษะเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิต.


262

      ถ้อยคำของฤๅษีวฺยาสเป็นประหนึ่งโอสถอันประเสริฐ ที่ช่วยชโลมพระทัยของอรชุนให้ชุ่มชื่นและคลายความโศกเศร้าลงได้ เธอก้มกายลงกระทำอัญชลี ณ แทบบาทของฤๅษีผู้ทรงศีล แล้วก็เสด็จคืนสู่นครหัสตินาปุรนคร.

 
จบบรรพที่ 16: เมาสลบรรพ


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.
info@huexonline.com