MENU
TH EN

13. อนุษสนบรรพ หรือ อนุศาสนบรรพ

ภาพแสดงคำสอนครั้งสุดท้ายของภีษมะก่อนการละสังขาร, ที่มา: greatertelugu.org, วันที่เข้าถึง 23 สิงหาคม 2565.
13. อนุษสนบรรพ หรือ อนุศาสนบรรพ - บรรพแห่งคำสอน01,01,02,03,04.
First revision: Aug.22, 2022
Last change: Nov.22, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

234
       "ความเมตตากรุณาเป็นคุณธรรมอันสูงส่ง ทุกคนควรมีความเมตตากรุณาไว้เป็นหลักธรรมประจำใจ
       เราไม่ต้องการให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติต่อเราเช่นใด เราก็ไม่ควรจะประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นต่อผู้อื่นด้วย
       เรารักผู้อื่น ผู้อื่นย่อมรักเรา เราเกลียดผู้อื่น ผู้อื่นก็ย่อมเกลียดเรา
       การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นศาสนาอันสูงสุด
       การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นวินัยอันสูงสุด
       การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นการปฏิบัติธรรมอันสูงสุด
       การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นการเสียสละอันสูงสุด
       การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นความสุขอันสูงสุด
       การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นเป็นความสัตย์อันสูงสุด
       การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นย่อมมีคุณค่าสูงส่งกว่าพิธีกรรมทางศาสนาทุกประการ
       จงอย่าปิดบังความผิด เพราะความผิดที่ปิดบังจะทวีปริมาณและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
       จงละทิ้งความริษยา เพราะความริษยาทำให้อายุสั้น
       ความสุขที่สมบูรณ์และล้วน ๆ ไม่มีที่ไหนในโลก

---------------

01. อนุศาสน (ะ) แปลว่า คำสอน หรือการวิสัชนาหลักธรรม ซึ่งภีษมะแสดงให้ยุธิษฐิระและพรรคพวกฟังตั้งแต่ตอนสุดท้ายของบรรพที่ 12 แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงมีต่อมาจนถึงบรรพที่ 13 นี้.

 
235
       ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมถึงซึ่งความเสื่อมโทรม มีขึ้น ย่อมมีลง มีรวม ย่อมมีแยก มีชีวิต ก็ย่อมมีความตาย
       ไม่มีความสิ้นสุดในการแสวงหาทรัพย์สิน
       ไม่มีความสิ้นสุดในการป้องกันรักษาทรัพย์สิน
       ไม่มีความสิ้นสุดในการติดตามทรัพย์สินเมื่อทรัพย์สินนั้นสูญหาย
       ไม่มีความสิ้นสุดในการหาทรัพย์สินใหม่ในเมื่อของเก่าหมดสิ้นลง
       เพราะฉะนั้น จงอย่าหลง อย่าติดในทรัพย์สินทั้งหลาย
       ความประพฤติดีช่วยให้คนมีอายุยืน ความประพฤติชั่วทำให้คนมีอายุสั้น
       จงอย่ายุ่งเกี่ยวกับภรรยาของชายอื่น จงอย่าให้ร้ายผู้อื่น จงละทิ้งความเกลียดชัง ความแข็งกร้าว ความยโสโอหัง และความรุนแรง เสียให้สิ้น
       จงให้ความอนุเคราะห์แก่คนชรา ญาติ มิตร น้องสาว ผู้ไร้ที่พึ่งพิง ครู สาธุชน และคนมีความรู้ ทั้งนี้ตามความสามารถที่จะอนุเคราะห์แก่คนเหล่านั้นได้
       ผู้ทรงศีลกล่าวไว้ว่า การไม่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นเรื่องควรแก่การสรรเสริญ ยกย่อง ช่วยให้มีอายุยืนนาน มีพลานามัยดี และย่อมไปสู่สรวงสวรรค์
       ผู้ที่ฆ่าตัวเองด้วยกาม โกรธ หรือกลัว ย่อมไปสู่อนันตนรกโดยแท้
       คนโง่เท่านั้นที่เป็นทาสแห่งความเศร้าโศกเสียใจ และความประหวั่นพรั่นกลัวร้อยสีพันอย่าง ซึ่งเกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คนฉลาดหาเป็นเช่นนั้นไม่
       ผู้ที่ไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่อการเกิดและการตาย ย่อมไม่ผิดอะไรกับไม้ท่อนหนึ่งหรือดินก้อนหนึ่ง
       การระลึกถึงพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าอยู่เสมอ ๆ และการบูชาพระองค์ท่านเป็นนิจศีล จะช่วยให้เรารอดพ้นจากความทุกข์โศกทั้งหลายทั้งปวง พระองค์ท่านเป็นจ้าวโลก เป็นจ้าวของทวยเทพ เป็นอนันตะ และเป็นผู้ประเสริฐสุด
".
       เมื่อได้ประทานอนุศาสน์มาถึงเพียงนี้ รัฐบุรุษอาวุโสและนักรบผู้เฒ่าภีษมะก็ผันพักตร์ไปทางท้าวยุธิษฐิระโดยเฉพาะ แล้วตรัสว่า.
       "ยุธิษฐิระหลานรัก! จงหมั่นดูแลความทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ตลอดจนสมณะชีพราหมณ์ไว้ให้จงดี และจงยึดพระกฤษณะเป็นที่พึ่งไว้ตลอดไป".
       ตรัสเสร็จ ภีษมะก็หลับพระเนตรมุ่งสมาธิจิตไปยังพระผู้เป็นเจ้า.


236
       ฤๅษีวฺยาสเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ ณ ที่นั้นด้วย จึงเข้าไปทูลกระซิบที่พระกรรณของภีษมะว่า.
       "ยุธิษฐิระดูจะคลายวิจิกิจฉาและความวิตกกังวลลงแล้ว ขอท่านจงอนุญาตให้ภราดาปาณฑพและบริวาร กลับหลังยังหัสตินาปุรนครได้แล้ว".
       ภีษมะจึงหันไปตรัสกับยุธิษฐิระอีกว่า.
       "หลานจงกลับไปราชธานีและพักผ่อนเถิด จงยึดมั่นในหลักธรรมและทำจิตใจให้สงบ ต่อเมื่อพระอาทิตย์เริ่มโคจรจากทักษิณทิศสู่อุดรทิศแล้ว หลานค่อยกลับมาเยี่ยมปู่อีกสักครั้งหนึ่ง".
       ภายหลังที่ได้ทรงพักผ่อนอยู่ในท่ามกลางพระประยูรญาติ ณ นครหัสตินาปุระเป็นเวลา 50 วัน ท้าวยุธิษฐิระพร้อมด้วยกษัตริย์ผู้เฒ่าธฤตราษฎร์ นางคานธารี นางกุนตี มหามติวิทูร และบุคคลสำคัญอื่น ๆ ก็เสด็จไปยังริมฝั่งลำธารโอฆวตี อันเป็นที่ประทับชั่วคราวของภีษมะอีกครั้งหนึ่ง.
       ภีษมะทรงจับหัตถ์ของยุธิษฐิระไว้ แล้วตรัสว่า.
       "หลานปู่เอ๋ย! พระอาทิตย์ได้โคจรเข้าสู่อุดรทิศแล้ว บัดนี้ ถึงเวลาที่ปู่จะต้องจากไป ปู่ต้องนอนโทรมอยู่ที่นี่เป็นเวลาถึง 58 วัน!!!??? แล้ว (ควรจะเป็น 68 วัน เพราะรบกัน 18 วัน ภราดาปาณฑพ พักผ่อน 50 วัน) แต่ศรจำนวนมหาศาลที่เสียบแทงร่างของปู่อยู่นี้ มันทำให้ปู่รู้สึกเสมือนกับว่า ปู่ได้นอนมาเป็นเวลาตั้งร้อยปี".
       กับท้าวธฤตราษฎร์นั้น ภีษมะตรัสว่า "ในยามที่จะต้องจากไปนี้ อาขอเตือนหลานแต่เพียงว่า จงทำจิตใจให้สงบ อย่าได้เศร้าโศกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นเลย ทุกสิ่งทุกอย่างได้ผ่านพ้นไปแล้ว ยุธิษฐิระเป็นกษัตริย์ที่มีคุณธรรมประจำใจ จะไม่สร้างความผิดหวังให้แก่ผู้ใดเลย ขอหลานจงคลายความวิตกได้".
       ครั้นแล้วท้าวภีษมะก็ประณมหัตถ์ ผันพระพักตร์ไปตรัสกับพระกฤษณะว่า.
       "ข้าพเจ้าได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทาง ที่จะยับยั้งมิให้สงครามมหาประลัยครั้งนี้เกิดขึ้น แต่ทุรโยธน์กับพวกหายอมไม่ ผลที่เกิดขึ้นเป็นประการใดนั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาโลกแล้ว สำหรับตัวของข้าพเจ้าเองนั้น ขอทูลลาฝ่าพระบาทไป ณ บัดนี้!".

 
237
       ต่อจากนั้น นักรบผู้เฒ่าภีษมะก็ไม่ลืมที่จะกล่าวคำอำลาต่อทุกคนวึ่งอยู่ ณ ที่นั้นว่า.
       "เราขอยุติชีวิตของเรา ณ บัดนี้ ได้โปรดอนุญาตเราเถิด 'สตฺเยษุ ยติตวฺยํ วะ, สตฺยํ หิ ปรมํ พลํ ฯ' (ท่านทั้งหลายจงพากเพียรเพื่อสัจจะ เพราะสัจจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่)".
       ตรัสเสร็จ ภีษมะก็หลับพระเนตร บรรดาลูกศรทั้งหมดต่างพากันหลุดออกจากร่างโดยอัตโนมัติ พระฉวีที่เต็มไปด้วยบาดแผลก็กลับแห้งสนิทเหมือนปกติ...และโดยประการฉะนี้ วิญญาณของภีษมะรัฐบุรุษอาวุโสแห่งราชตระกูลภรตก็ออกจากกลางกระหม่อมขึ้นสู่เบื้องบนแห่งสวรรคาลัย.
       ทันใดนั้น บุปผชาตินานาพรรณก็พลันโปรยปรายเป็นสายฝนลงมาต้องสรีระอันไม่ไหวติงของนักรบผู้เฒ่า พร้อมด้วยเสียงประโคมแห่งดนตรีสวรรค์บรรดาสิทธาจารย์และพรหมฤๅษีต่างก็แซ่ซ้องสดุดีว่า "สาธุ สาธุ สาธุ" ดังก้องไปทั่วทั้งอาณาบริเวณ.
       ครั้นแล้ว ยุธิษฐิระและพระประยูรญาติทั้งหมด รวมทั้งพระกฤษณะด้วยก็ได้จัดพิธี อคฺนิสํสฺการ อันได้แก่พิธีฌาปนกิจศพรัฐบุรุษอาวุโสภีษมะ ณ ด้วยกองอัคคีริมฝั่งแม่น้ำคงคา อย่างสมพระเกียรติ โดยได้ใช้ไม้จันทน์ ไม้กฤษณา เนยใส และสิ่งมีค่าอื่น ๆ เป็นเครื่องประกอบ ต่อจากนั้นก็ได้ประกอบพิธีศราทธ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่เชษฐบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งคัมภีร์พระเวททุกประการ.

 
จบบรรพที่ 13: อนุศาสนบรรพ

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.


 
info@huexonline.com