MENU
TH EN

01.1 อาทิบรรพ - บรรพแห่งการเริ่มต้น

อาทิบรรพ, ที่มา: www.pinterest.com, วันที่เข้าถึง: 22 กรกฎาคม 2565.
01.1 อาทิบรรพ01. - บรรพแห่งการเริ่มต้น01,02,04,05.
First revision: Jul.22, 2022
Last change: Dec.03, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       ในบล็อค "มหาภารตยุทธ" ภาคภาษาไทยนี้ กระผมขอน้อม และใคร่ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ นำการแปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย มาเป็นเนื้อหาหลัก และผมจะเสริมสิ่งที่ได้ค้นคว้ามาจากแหล่งอื่น ๆ ประกอบเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยจะอ้างอิง และให้ความเคารพเป็นอย่างสูง หวังว่างานนี้คงเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจใคร่ศึกษาต่อไปได้บ้างไม่มากก็น้อย ใคร่ขอขอบคุณ และขอให้ดวงวิญญาณของท่านกรุณาและคุณเรืองอุไร กุศลาสัย ได้เข้าสู่ภพภูมิที่สูงส่ง ละเอียด และประณีตด้วยเทอญ.
 
33
      ตูข้าขอน้อมนมัสการองค์พระหริ03.ผู้เป็นปฐมบรมชีพ และผู้ได้รับการกราบไหว้สดุดีจากสรรพชีวิต พระองค์ทรงเป็นจ้าวโลกและธำรงอยู่เหนืออินทรีย์สัมผัสทั้งหลาย
       ตูข้าจะขอพรรณนาเกี่ยวกับจินตนาการแห่งท่านฤๅษีวฺยาส ซึ่งเต็มไปด้วยพฤติการณ์อันน่ามหัศจรรย์.
       อนึ่ง ตูข้าขอก้มอภิวาทน์แด่ท่านฤๅษีวฺยาสผู้เปรื่องปราดด้วยอัจฉริยภาพอันดลบันดาลให้ตูข้าได้พรรณนาเรื่องราวขององค์พระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า.
       ทุกท่านที่ปรารถนาความสำเร็จในชีวิตพึงสดับตรับฟังมหากาพย์อันมีสมญาว่า "ชัย"02 นี้เถิด. 

หมายเหตุ ขยายความ
01. บรรพ (อ่านว่า บับ) หรือตอนนี้ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษของกษัตริย์วงศ์เการพและปาณฑพ อาทิ แปลว่า ต้น แรก หรือนำ ดังนั้น อาทิบรรพจึงแปลว่า บรรพต้น บรรพแรก หรือ บรรพนำ.
02. มหากาพย์มหาภารตะเดิมมีชื่อว่า "ชัย" แล้วต่อมามีชื่อว่า "ภารตะ" และ "มหาภารตะ" ตามกาลเวลาที่ล่วงเลยไป.
พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ (Vishnu or Nārāyaṇa - नारायण), ที่มา: www.pinterest.com, วันที่สืบค้น 4 สิงหาคม 2561.
03. เป็นชื่อของพระนารายณ์ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่เคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ.

34
       แรกเริ่มเดิมทีนั้นโลกไม่มีแสงสว่าง มีแต่ความมืดปกคลุมห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้วการเคลื่อนไหวครั้งแรกก็อุบัติขึ้น ยังให้เกิดไข่ฟองมหึมามหาศาล อันเป็นพืชแห่งชีวิตที่ไม่มีวันจะสิ้นสุดลงได้.
       จากไข่ก็เกิดพระประชาบดีผู้เป็นเจ้าแห่งสรรพสัตว์ และเกิดสัตวะอื่น ๆ ติดตามมา เช่น มนุ ทักษะและลูกชาย 7 ตน
อัศวินฝาแฝด อาทิตย์ และปิตฤ
       แล้วก็เกิดน้ำ แผ่นดิน อากาศ ท้องฟ้า ทิศต่าง ๆ ปี ฤดูกาล เดือน ปักษ์ กลางวัน และกลางคืน
       ด้วยประการฉะนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์รู้จักก็เกิดมีขึ้น
       แต่บรรดาสรรพสิ่งที่กล่าวถึงนี้ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดในสกลจักรวาล ล้วนมีอันจะสูญสลายไปในเมื่อสิ้นยุค แล้วยุคใหม่ก็จะก่อให้เกิดชีวิตใหม่ เสมือนผลไม้ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ครั้นฤดูกาลผ่านไป ต้นไม้และผลไม้นั้นก็ย่อมต้องเหี่ยวแห้งตายไป ด้วยประการฉะนี้ โลกก็หมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่มีเริ่มต้นและไม่มีสิ้นสุด เป็นวัฏจักรแห่งการสร้างสรรค์และทำลาย เป็นเช่นนี้อยู่ชั่วนิจนิรันดร.
       เมื่อฤๅษีวฺยาสคิดรจนามหากาพย์มหาภารตะได้สำเร็จ ท่านก็เกิดความปรารถนาที่จะบันทึกวรรณกรรมชิ้นนี้ลงเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อไว้สั่งสอนศิษยานุศิษย์ แต่โดยเหตุที่เป็นเรื่องยืดยาวและจะต้องร่ายเป็นโศลกออกมาให้ติดต่อสืบเนื่องกัน ท่านจึงเกิดความวิตกว่าจะได้ผู้ใดเล่า ที่จะมาช่วยลิขิตให้ได้รวดเร็วและถูกต้องตามคำบอกของท่านได้.
       พระพรหมทรงหยั่งทราบความวิตกของฤๅษีวฺยาสในข้อนี้ จึงปรากฎองค์เฉพาะหน้าฤๅษี แล้วแนะนำให้ฤๅษีอาราธนาพระคเณศมาช่วยเขียน ทั้งนี้เพราะพระคเณศได้ชื่อว่าเป็นเทวะแห่งปัญญา มีความสามารถในการเขียนได้รวดเร็วและถูกต้อง ทั้งยังเป็นผู้สามารถกำจัดอุปสรรคทั้งปวงได้อีกด้วย.
              
จากซ้ายไปขวา: พระคเณศร์กำลังเขียนมหาภารตะตามที่ฤๅษีวยาสได้รจนา (Ganesa wrote the Mahābhārata)  
และฤๅษีวยาสกำลังให้อรรถาธิบายเรื่องมหาภารตะแก่พระคเณศร์ (Vyāsa narrating the Mahābhārata to Ganesha, his scribe), ภาพจากนครวัด (เฉพาะภาพด้านขวา) เสียมราฐ กัมพูชา, ที่มา: en.wikipedia.org , วันที่สืบค้น 16 พฤษภาคม 2560.

 
       ฤๅษีวฺยาสจึงมุ่งมโนน้อมรำลึกถึงพระคเณศ พระคเณศก็มาปรากฎตนต่อหน้าฤๅษี ฤๅษีจึงบอกเล่าความประสงค์ให้ทราบ พระคเณศตอบรับด้วยความยินดี แต่มีเงื่อนไขว่า เมื่อลงมือลิขิตแล้วฤๅษีจะหยุดคำบอกไม่ได้ หากจะต้องร่ายโศลกคำบอกให้ติดต่อกันไปจนจบเรื่อง.
 
35
        ฤๅษีวฺยาสยอมรับจะปฏิบัติตาม แต่ขอร้องว่า อันใดที่พระคเณศลิขิตลงไปอันนั้นพระคเณศเองจะต้องเข้าใจเสียก่อน มิฉะนั้นอาจจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้.
       ทั้งสองฝ่ายตกลงกันตามเงื่อนไขที่ได้วางไว้ข้างต้น.
       ครั้นแล้ว ฤๅษีวฺยาสก็เริ่มร่ายโศลกบอกพระคเณศ และพระคเรศก็ลงมือลิขิต ระหว่างนั้น หากฤๅษีต้องการจะพักผ่อนหรือต้องการจะใช้ความคิดรจนาโศลกให้รัดกุมสละสลวยยิ่งขึ้น ท่านก็ใช้ศัพท์หรือวลียาก ๆ เพื่อให้พระคเณศต้องหยุดใคร่ครวญตีความหมายของศัพท์หรือวลีนั้น ๆ ก่อนที่จะลิขิตต่อไป และด้วยวิธีนี้ ฤๅษีวฺยาสจึงมีเวลารจนามหากาพย์ของท่านได้สมบูรณ์ตามความปรารถนาทุกประการ.
       มหากาพย์มหาภารตะเป็นเรื่องราวของกษัตริย์แห่งวงศ์ภรต เกียรติคุณของราชวงศ์ภรตปรากฎอยู่ในมหากาพย์ชิ้นนี้ทั้งหมด และ "ภรต" นี่เองเป็นที่มาของคำว่า ภารต (ะ) อันเป็นชื่อเผ่าพันธุ์และประเทศอินเดีย.
       โอสถล้างตาช่วยให้นัยน์ตาสว่างขึ้นฉันใด มหากาพย์มหาภารตะก็ช่วยให้โลกเกิดความสว่างขึ้นได้ฉันนั้น จิตใจมนุษย์จักเบิกบานได้ด้วยมหากาพย์มหาภารตะดุจเดียวกับที่อัมพุชชาติเบิกบานได้ด้วยแสงพระจันทร์ มหากาพย์มหาภารตะเป็นประทีปที่ทำลายความมืดมนอนธกาล และอำนวยแต่ความสว่างสดใส มหากาพย์มหาภารตะเป็นพฤกษชาติอุดมด้วยดอกใบที่ไม่รู้จักอับเฉา หากมีผลอันหอมหวาน.
       มหากาพย์มหาภารตะพรรณนาถึงความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์กุรุ (แห่งแคว้นกุรุรัฐ) ความดีงามของนางคานธารี ความปราดเปรื่องด้วยปัญญาของท้าววิทูร ความอดทนหนักแน่นของนางกุนตี ความเป็นเทพเจ้า (ทิพยภาวะ) ของพระกฤษณะ ความซื่อสัตย์ของพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 และกรรมชั่ว (บาปกรรม) ของลูกชายของท้าวธฤตราษฎร์


36
                     กาลเวลาเป็นผู้สร้าง          กาลเวลาเป็นผู้ทำลาย
              กาลเวลาเป็นเพลิงเผาไหม้       กาลเวลาเป็นเครื่องดับไฟนั้น
              กาลเวลาเป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์       ทั้งความดีและความชั่ว
              กาลเวลาฟาดฟันเราให้หมองมัวและมอดม้วย       กาลเวลาช่วยสร้างสรรค์เราขึ้นมาใหม่
              กาลเวลาไม่เคยหลับใหล       ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างหลับหมด
              กาลเวลาเท่านั้นที่ยืนคงยงยศ       ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างล้มล่ม
              ปัจจุบัน อดีต และอนาคตอันอุดม       ล้วนเป็นลูกของกาลเวลา
              โอ้! เหตุผลเจ้าหนา       เจ้าจงตระหนักไว้ดั่งที่ได้พรรณนามานี้เถิด       แล้วความเข้มแข็งจะบังเกิดแก่สูเจ้า!

 
       การศึกษามหากาพย์มหาภารตะพึงกระทำด้วยจิตอันมีศรัทธา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว แม้การศึกษาจริง ๆ เพียงหน้าหนังสือเดียว ก็จะช่วยชำระล้างจิตใจของผู้ศึกษาให้ใสสะอาดได้ มหากาพย์มหาภารตะมีความเลอเลิศอยู่ในท่ามกลางงานวรรณกรรม ดุจเดียวกับเนยใสมีความเลอเลิศอยู่ในท่ามกลางนมเปรี้ยว พราหมณ์มีความเลอเลิศอยู่ในท่ามกลางฝูงชน น้ำอมฤตมีความเลอเลิศอยู่ในท่ามกลางเภสัชทั้งหลาย ทะเลมีความเลอเลิศอยู่ในท่ามกลางมหาสาคร และแม่โคก็ย่อมมีความเลอเลิศอยู่ในท่ามกลางสัตว์ทั้งหลาย ผู้ใดที่เข้าถึงมหากาพย์ชิ้นนี้ ผู้นั้นย่อมปลอดภัย ทั้งนี้ก็เพราะว่าการบำเพ็ญคุณธรรมก็ดี การศึกษาก็ดี การแสวงหาความจริงก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นกุศลกรรม การนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิดต่างหากที่ก่อให้เกิดภยันตราย.
       เพราะฉะนั้น สัตบุรุษพึงละทิ้งความเฉื่อยชา แล้วเร่งบำเพ็ญคุณงามความดี ความดีเท่านั้นที่เป็นมิตรของมนุษย์ ก็ใครเล่าจะสามารถครอบครองทรัพย์สินและลูกเมียไว้ได้ตลอดไป ใคร่เล่าจะสามารถนำสิ่งเหล่านี้ติดตัวไปได้ในชีวิตข้างหน้า.
       งานวรรณกรรมของฤๅษีวฺยาสเป็นบ่อเกิดแห่งความดี มีคุณธรรมและความบริสุทธิ์ เป็นอนุศาสน์แห่งธรรมะ อรรถะ กามะ และโมกษะ01 ซึ่งสาธยายจากปากของท่านฤๅษีเอง และต่อไปนี้คือกำเนิดของฤๅษีวฺยาสผู้ทรงปัญญาอันล้ำเลิศ.
       ทิวาวันหนึ่ง ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในป่าและกำลังจะข้ามแม่น้ำยมุนา ฤๅษีปราศรเหลือบไปเห็นสาวน้อยสัตยวดีกำลังพายเรือข้ามฟากอยู่ ความงามของสัตยวดีเป็นที่จับใจฤๅษีเป็นอย่างยิ่ง เธอจึงเข้าไปเจรจาของฝากรักโดยให้คำมั่นสัญญาว่า เธอจะได้บุตรชายที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีคนเคารพนับถือไปทั่วโลก.
หมายเหตุ ขยายความ

01. โมกษะ (Moksha) ชื่ออื่น ๆ เช่น วิโมกษะ, วิมุขติ, มุขติ เป็นคำศัพท์ในศาสนาฮินดู พุทธ ซิกข์ และ เชน หมายถึงรูปแบบต่าง ๆ ของการปลดปล่อย (emancipation), การตรัสรู้ (enlightment), การเป็นอิสระ (liberation) และการปล่อยไป (release) ในเชิงโมกขวิทยา (soteriology) และเชิงอวสานวิทยา (eschatology) หมายถึงอิสระจากสังสารวัฏ คือวงจรแห่งการเกิดและตาย ในขณะที่ความหมายในเชิงญาณวิทยา (epistemology) และในเชิงจิตวิทยา "โมกษะ" หมายถึงอิสระจากความไม่รู้ (ignorance) คือ การเข้าใจตัวเอง รู้จักตัวเอง และปรับปรุงตัวเอง ตามคติของฮินดู โมกษะคือแนวคิดแกนกลาง และเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ซึ่งต้องผ่านขั้นสามขั้นในชีวิต คือ ธรรมะ (ชีวิตที่มีคุณธรรม จริยธรรมและความเหมาะสม), อรรถะ (ควาทเจริญทางวัตถุ เงินทอง ชีวิตที่มั่นคง ความหมายของชีวิต) และ กาม (ความสุขทางใจและอารมณ์ที่เบิกบาน)ทั้งหมดทั้งสี่แนวคิดนี้ เรียกรวมกันว่า "ปุรุษารถะ (Puruṣārtha), ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 29 กรกฎาคม 2565.
 
37
       ด้วยประการฉะนี้ สาวน้อยสัตยวดีก็ให้กำเนิดแก่บุตรชายบนเกาะกลางลำน้ำยมุนานั้นเอง โดยเหตุที่มีผิวพรรณค่อนข้างคล้ำและเกิดบนเกาะกลางน้ำ ทารกผู้นี้จึงได้รับขนานนามว่า กฤษณะ ไทฺวปายนะ แปลว่า ผู้มีผิวคล้ำหรือดำ ส่วนไทฺวป เกิดจากคำว่า ทฺวีป ซึ่งแปลว่า เกาะ และ อา+ยานะ แปลว่า การมาถึงหรือการเกิด).
       ส่วนชื่อ วฺยาส หรือ เวท วฺยาส นั้นเกิดขึ้นภายหลังในฐานะที่ท่านเป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียงคัมภีร์พระเวทและมหากาพย์มหาภารตะ (วฺยาส แปลว่า ผู้จัดให้เป็นระเบียบ) เฉพาะมหากาพย์มหาภารตะนั้นถือกันว่าเป็นคัมภีร์พระเวทที่ 5 (โดยทั่วไปแล้วคัมภีร์พระเวทมีเพียง 4)01.
       กฤษณะไทฺวปายนะต้องจากสัตยวดีผู้มารดาไปแต่เยาว์วัย แต่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า หากมารดามีกิจธุระอันใด ก็ขอได้โปรดเรียกตนในใจ แล้วตนจะมาปรากฎต่อหน้าในทันที.
       ภีษมะเป็นบุคคลที่มีบทบาทและความสำคัญมากในสงครามมหาภารตะ จึงขอนำเอาประวัติของท่านมาเสนอไว้ ณ เบื้องต้นนี้เสียก่อน.
       ในบรรดานรเทพหรือเทวดาซึ่งมีอยู่มากมายหลายกลุ่มนั้น มีอยู่กลุ่มหนึ่งนามว่า วสุคณะ เทวดาในกลุ่มวสุคณะนี้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 8 องค์ วันหนึ่งเทวดาในกลุ่มนี้ได้พาภริยาของตนไปหาความรื่นเริงบันเทิงใจ ณ บริเวณใกล้ ๆ ภูเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่ตั้งอาศรมของฤษีวสิษฐ์ ฤษีวสิษฐ์มีแม่โคอยู่ตัวหนึ่งชื่อว่า นันทินี นันทินีเป็นแม่โคที่มีคุณสมบัติและความงามเป็นพิเศษไม่เหมือนแม่โคอื่น กล่าวคือ สามารถให้นำนมแก่เจ้าของได้มากตามความต้องการของเจ้าของเอง และใครก็ตามที่ได้ดื่มน้ำนมของแม่โคนันทินีแล้ว จะมีอายุยืนนานถึงหนึ่งพันปี.
       ในกลุ่มวสุคณะนั้นมีเทวดาอยู่องค์หนึ่งนามว่า ทฺยุ01 (ซึ่งในชาติต่อมาจะเป็น ภีษมะ บุตรของท้าวศานตนุ และพระแม่คงคา) ภริยาของเทวดาทฺยุ เกิดชอบใจโคนันทินีและปรารถนาจะพาไปอยู่ที่บ้านของนาง เพราะประสงค์จะได้น้ำนมของโคนันทินีไปให้เพื่อนหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรีของ ท้าวอุศีนระ ดื่มเพื่อจะได้มีอายุยืนนาน นางพยายามอ้อนวอนสามีด้วยถ้อยคำนานาประการ จนในที่สุด เทวดาทฺยุอดรนทนไม่ได้ จึงขอความร่วมมือจากเพื่อนเทวดาในกลุ่มเดียวกันอีก 7 องค์ ให้ช่วยลักแม่โคนันทินีกับลูกโคไปเลี้ยงยังนิวาสสถานของตน.
 ---------------

01. ทฺยุ แปลว่า สวรรค์ ฟ้า อากาศ ฯลฯ เกี่ยวกับคำศัพท์ว่า Dyaus (ทโยษะ หรือ เทยาสฺ หรือ อากาศ (ākāśa, Akasha) - ท้องฟ้า สวรรค์) ซึ่งเป็นเทพระดับแรก ๆ ของปรัชญาอินเดียโบราณ.
หมายเหตุ ขยายความ
01. คัมภีร์พระเวทมีเพียง 4 ประกอบด้วย ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอรรถรเวท รายละเอียดูใน ปรัชญาอินเดีย เล่มที่ 1.003 ยุคพระเวท: บทสวดแห่งฤคเวท หน้าที่ 64 .
38
       ขณะที่เทวดาทั้ง 8 องค์กำลังจูงแม่โคนันทินีพร้อมกับลูกโคออกจากอาศรมนั้น ฤษีวสิษฐ์ไปเก็บผลไม้อยู่ในป่า จึงไม่มีโอกาสได้เห็น แม้กระนั้น ด้วยญาณวิเศษ ฤษีวสิษฐ์ก็สามารถทราบเหตุการณ์ทั้งหมดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นท่านจึงรีบกลับอาศรม ตรงเข้าจับเทวดาทั้ง 8 องค์ พร้อมทั้งภริยา โคนันทินีและลูกโคได้อย่างที่เรียกว่า "คาหนังคาเขา" ฤษีวสิษฐ์จึงกล่าวคำสาปเทวดาเหล่านั้นว่า
       "พวกท่านเป็นเทวดาเสียเปล่า ยังหัดขโมยทรัพย์สินของผู้อื่นอยู่อีก เพราะฉะนั้นด้วยเดชะแห่งพลังตบะของเรา เราขอสาปให้ท่านทั้งหลายไปเกิดในมนุษยโลก!"
       ในบรรดาเทวดากลุ่มวสุคณะทั้ง 8 นั้น เทวดาทฺยุนับว่ามีโทษหนักกว่าใคร ๆ เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว เทวดาทฺยุเป็นผู้ริเริ่มและชักชวนให้เพื่อเทวดาในกลุ่มเดียวกันกระทำการโจรกรรมแม่โคนันทินีกับลูกโคจากฤษีวิสิษฐ์ดังกล่าวแล้ว ส่วนเทวดาอีก 7 องค์มีความผิดในอันดับรองลงมา ดังนั้น ฤษีวสิษฐ์จึงกล่าวกับเทวดา 7 องค์ว่า
       "พวกท่านทั้ง 7 มีความผิดไม่อยู่ในขั้นอุกฤษฎ์ เราจึงขอสาปแต่เพียงให้ไปเกิดในโลมนุษย์เท่านั้น แต่เฉพาะเทพทฺยุนั้น เราขอสาปให้ไปเกิดและมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์ นานเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่ได้!".
       คำสาปของฤษีวสิษฐ์ก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่เทวดาในกลุ่มวสุคณะเป็นอย่างยิ่ง  เพราะคำสาปของฤษีมุนีผู้ทรงศีลเช่นฤษีวสิษฐ์นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก จะแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อมองไม่เห็นผู้ใดอื่นที่จะช่วยบรรเทาหรือปลดเปลื้องความทุกข์ยากของตนได้ เทวดาในกลุ่มวสุคณะทั้ง 8 องค์จึงพากันไปเฝ้าพระแม่คงคา แล้วพรรณนาให้ฟังถึงคำสาปของฤษีวสิษฐ์พลางวิงวอนให้พระแม่คงคารับเป็นมารดาของตนในเวลาที่ตนจะต้องลงไปเกิดในมนุษย์โลก.

 
39
       "ข้าแต่พระแม้เจ้า! ขอได้โปรดเมตตาแก่พวกข้าด้วยเถิด ในโลกมนุษย์นั้นมีธรรมิกราชาอยู่องค์หนึ่งทรงพระนามว่า ประตีปะ ซึ่งต่อไปจะทรงมีโอรสทรงพระนามว่า ศานตนุ หากจะต้องไปเกิดในโลกมนุษย์ตามคำสาปของฤษีวสิษฐ์แล้วไซร้ พวกข้าทั้ง 8 ก็ขอเกิดเป็นลูกของท้าวศานตนุเถิด เพราะเหตุฉะนั้นขอพระแม่เจ้าได้โปรดเมตตายอมเป็นมารดาของพวกข้า โดยพระแม่เจ้าต้องไปเป็นมเหสีของท้าวศานตนุในโลกมนุษย์ ทั้งนี้แล้วแต่พระแม่เจ้าจะทรงพระกรุณาดำเนินการตามควรแก่กรณีเช่นไร แต่พวกข้าใคร่ขอประทานพรไว้อย่างหนึ่งคือ ทันใดที่พวกข้าคลอดพ้นจากครรโภทรของพระแม่เจ้า ก็ขอให้พระแม่เจ้าได้โปรดโยนพวกข้าทุกคนลงในห้วงชโลทีด้วยเถิดพระเจ้าข้า!".
รูปปั้นพระแม่คงคา, ที่มา: ndtv.com, วันที่เข้าถึง 30 กรกฎาคม 2565.

       พระแม่คงคาได้ฟังคำของวสุคณะทั้ง 8 องค์แล้ว. ก็ให้เกิดความสงสารเป็นกำลัง จึงยอมรับว่าจะทำตามที่วสุคณะได้พากันมาขอร้อง.
       ทางด้านมนุษยโลกนั้น ราชาประตีปะแห่งกรุงหัสตินาปุระ ผู้ดื่มด่ำในศาสนาธรรม เมื่อว่างจากราชภารกิจก็มักจะเสด็จไปประทับ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนา หาความสงบทางใจ วันหนึ่ง ขณะที่ท้าวเธอกำลังประทับนั่งหลับพระเนตรบำเพ็ญภาวนาอยู่ เจ้าแม่คงคาก็ทรงแปลงร่างเป็นสาวน้อยผู้เลอโฉมมานั่งใกล้ ๆ พอราชาประตีปะลืมพระเนตร ก็เหลือบไปเห็นเธอเข้า ด้วยความหลากพระทัย พระองค์จึงดำรัสถามว่า.
       "ดูก่อนเทวี เธอเป็นใคร และเหตุไฉนจึงมานั่งอยู่ใกล้เรา ณ ที่นี้"
       "ขอเดชะ! เกล้ากระหม่อมฉันอยู่คนเดียวให้เกิดความว้าเหว่เป็นกำลัง จึงปรารถนาที่จะได้คู่ครองเพคะ" เจ้าแม่คงคาในร่างของหญิงสาวผู้เลอโฉมทูลตอบ.
       "ดีแล้ว! หากเรามีลูกชายเมื่อใด เราก็จะรับเจ้าไว้เป็นสะใภ้ของเราเมื่อนั้น" ราชาประตีปะรับสั่ง.
       "เป็นพระเดชพระคุณล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้เพคะ แต่เกล้ากระหม่อมฉันใคร่ขอพระราชทานพรสักประการหนึ่ง พรนั้นคือ เมื่อได้เกล้ากระหม่อมฉันเป็นคู่ชีวิตแล้ว พระโอรสจะต้องตามใจเกล้ากระหม่อฉันทุกประการ จะต้องไม่ทรงคัดค้านหรือปฏิเสธคำขอร้องประการใด ๆ ขงเกล้ากระหม่อมฉันเลยเพคะ".
       "ได้สินาง! เราจะให้ลูกชายของเราปฏิบัติตามเงื่อนไขของเจ้าทุกประการ" กษัตริย์ประตีปะตรัสตอบ.


40
       จำเนียรกาลผ่านไป ท้าวประตีปะก็ได้โอรสสมมโนรถปรารถนา พระราชทานนามพระโอรสนั้นว่า ศานตนุ ศานตนุเป็นราชกุมารที่ทรงเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมความดี เพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ และทรงศึกษาศิลปวิทยานานาแขนงอย่างแตกฉานเช่นเดียวกับราชาประตีปะผู้ราชบิดา.
       เมื่อได้ครองราชสมบัติด้วยทศพิธราชธรรมจนอายุล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว ราชาประตีปะก็ทรงปฏิบัติตนตามขั้นตอนแห่งชีวิตในอุดมการณ์ของวัฒนธรรมฮินดู นั่นคือวานปรัสถ์01. อันได้แก่ การสละบ้านเรือนและวงศ์วานออกสู่ป่าเพื่อบำเพ็ญสมาธิภาวนา แต่ก่อนที่จะมอบราชสมบัติให้แก่พระโอรสแล้วพระองค์เองออกสู่ป่านั้น ราชาประตีปะไม่ทรงลืมที่จะสั่งเสียศานตนุผู้กุมารว่า.
       "ศานตนุลูกรัก! พ่อเคยตกปากไว้กับดรุณีผู้เลอโฉมคนหนึ่งว่า พ่อจะให้เจ้าสมรสกับเขา แล้วเขาจะได้รับความสะดวกสบายจากเจ้าทุกประการ เจ้าจะต้องไม่ขัดใจเขา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องหรือคำขอร้องใด ๆ ที่เขาจะขอจากเจ้า พ่อเชื่อว่าบัดนี้เวลาที่เจ้าจะพบกับดรุณีผู้นี้ได้ใกล้เข้ามาแล้ว ส่วนพ่อนั้นถึงเวลาที่จะต้องเข้าป่าเพื่อหาความสงบสุขทางใจตามคำสอนของศาสนาและแนวปฏิบัติของบรรพบุรุษของเราแล้ว ขอเจ้าจงอย่าลืมคำพูดของพ่อ และจงปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่พ่อได้ให้ไว้กับดรุณีผู้นั้นด้วยนะลูกนะ ทั้งนี้เพื่อรักษาชื่อเสียงแห่งวงศ์ตระกูลของเรา".
       ศานตนุเป็นกษัตริย์ที่โปรดกีฬาล่าสัตว์มาก วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปล่าสัตว์พร้อมด้วยข้าราชบริพาร และได้เสด็จเลยไปจนถึงฝั่งแม่น้ำคงคา ณ ที่นั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นสาวร่างสคราญนางหนึ่งกำลังเยื้องยาตรอยู่ริมฝั่งน้ำ ราวกับจะรอพบใครคนหนึ่ง พระองค์จึงเสด็จเข้าไปใกล้ และเมื่อได้ยลโฉมของนางในระยะใกล้เช่นนั้น ก็ให้หลงใหลในรูปสมบัติของนางเป็นกำลัง เธอจึงตรัสกับนางว่า.
       "ดูกรน้องนางผู้น่ารัก! เธอเป็นมนุษย์หรือเทพธิดากันแน่หนอ! ทำไมเธอจึงได้ทรงความงามถึงเพียงนี้! ถ้าหากเธอยังไม่มีชายใดเป็นผู้หมายปอง เราก็อย่างจะได้เธอไปเป็นเพื่อนร่วมชีวิตด้วย ตัวเรานี้คือราชาศานตนุแห่งกรุงหัสตินาปุระ".
ภาพพระเจ้าศานตนุพบพระเม่เจ้าคงคา, จิตรกร Warivick Goble, เป็นการวาดภาพสไตล์อินโดนีเซีย, จากหนังสือ Indian myth and legend หน้าที่ 284 ปี พ.ศ.2456, ที่มา: commons.wikimedia.org, วันที่เข้าถึง 31 กรกฎาคม 2565.
41
       เจ้าแม่คงคาผู้จำแลงแปลงร่างมาในรูปของดรุณีงามจึงตอบไปว่า.
       "ข้าแต่พระองค์! หม่อมฉันดีใจที่โชควาสนาได้พาตัวมาพบกับพระองค์ หม่อมฉันยินดีที่จะรับใช้เป็นข้าบาทบริจาริกาของพระองค์ แต่หม่อมฉันใคร่ขอประทานพรจากพระองค์สักอย่างหนึ่ง คือ พระองค์จะต้องไม่ขัดใจหม่อมฉันด้วยประการทั้งปวง จะต้องตามใจหม่อมฉันในการกระทำทุกอย่าง หากพระองค์ผิดคำมั่นสัญญาข้อนี้เมื่อใด เมื่อนั้นหม่อมฉันก็จะขอทูลลาพระองค์ไปโดยมิรอช้า".
       ราชาศานตนุทรงรำลึกถึงคำพูดของท้าวประตีปะผู้บิดาได้ในทันที พระองค์ทรงแน่พระทัยว่า ดรุณีผู้นี้ต้องเป็นหญิงที่พระราชบิดาได้ประทานคำสัญญาไว้อย่างแน่นอน พระองค์จึงทรงรับเงื่อนไขของดรุณีผู้เลอโฉมนี้ไว้โดยมิรีรอ ต่อจากนั้นกษัตริย์หนุ่มและดรุณีสาวก็กลับสู่นครหัสตินาปุระ และร่วมชีวิตกันเยี่ยงสามีภรรยาด้วยความสุขเสน่หาอย่างยากที่จะหาสามีภริยาคู่ใดมาเปรียบได้.
       แต่.....ร่างกายมีเงาติดตามตัวฉันใด ชีวิตของคนเราก็มีความทุกข์ติดตามตัวอยู่ทุกเมื่อฉันนั้น ดรุณีผู้ซึ่งบัดนี้ได้เป็นมเหสีของราชาศานตนุแล้ว ได้ประสูติโอรสติดต่อกันถึง 7 องค์ โอรสแต่ละองค์นั้น พอได้ประสูติออกมายังไม่ทันจะลืมพระเนตร นางผู้มเหสีก็จับโยนลงน้ำหมด ยังให้ศานตนุผู้สวามีเกิดความระทมทุกข์อย่างสุดแสนที่จะทนทานได้ แต่พระองค์ก็ไม่กล้าเอ่ยโอษฐ์ว่ากล่าวมเหสีแต่ประการใด เพราะทรงระลึกถึงคำมั่นสัญญาที่ได้ถวายไว้แด่ราชาประตีปะผู้บิดาและแก่มเหสีเอง ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงมีแต่ความหม่นหมองอยู่ในพระทัยตลอดเวลา.
       กาลผ่านไป ในที่สุดมเหสีก็ประสูติโอรสองค์ที่ 8 แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับ 7 องค์ก่อน พอประสูติออกมายังไม่ทันจะลืมพระเนตร มเหสีก็ทำท่าจะจับทารกโยนลงน้ำอีก ครานี้ราชาศานตนุทรงระงับพระทัยไว้ไม่ไหว จึงกรากเข้าไปต่อว่ามเหสีว่า
       "เธอนี้ช่างมีน้ำใจทารุณยิ่งเสียกว่าเดียรัจฉาน เธอไม่รักเลือดในอกของเธอบ้างเลยหรือ จึงจับลูกแต่ละคนโยนน้ำตายจวนจะครบ 8 คนอยู่แล้ว ฉันจะยอมให้เธอทำเช่นนี้ต่อไปอีกไม่ได้" ตรัสพลางราชาศานตนุก็ตรงเข้าขัดขวางเพื่อมิให้มเหสีโยนโอรสองค์ที่ 8 ลงในน้ำ.

หมายเหตุ ขยายความ
01. ใน มานวธรรมศาสตร์ 03 จัดขั้นตอนชีวิตพราหมณ์ออกเป็น 4 ชั้น (อาศรม) คือ
       1) พรหมจารี - นักเรียน มีหน้าที่ปฏิบัติและศึกษาพระเวทวิทยาในสำนักอาจารย์คนใดคนหนึ่ง (หากอยู่ในวรรธกษัตริย์ก็จะศึกษาวิชาการรบ การปกครอง).
       2) คฤหัสถ์ - ผู้ครองเรือน มีภรรยาและครอบครัว เป็นหัวหน้าในบ้าน อ่านและสอนพระเวท ทำการบูชาเองหรือช่วยผู้อื่นกระทำยัญกรรมให้ทานและรับทักษิณา (หากอยู่ในวรรณะกษัตริย์ก็จะปกครองบ้านเมือง).
       3) วานปรัสถ์ - ผู้อยู่ป่า ละบ้านเรือนและครอบครัวเพื่อเข้าป่า บำเพ็ญเพียร.
       4) สันยาสี (संन्यासिन् - saṁnyāsin) - เพียรภิกขาจาร เลี้ยงชีพด้วยการขอเขากิน และตั้งจิตมุ่งอยู่ตรงพระปรพรหมและนฤพาน. อ้างถึง มุณฑกะ อุปนิษัท มีเพียงสันยาสีเท่านั้นที่จะเข้าถึงพราหมณ์ จะได้รับความรู้สูงสุด (รายละเอียดดูใน
อุปนิษัท: สรุปสาระสำคัญ หน้าที่ 10)
     
จาก. "เล่าเรื่องมหาภารตะ" โดย มาลัย (จุฑารัตน์) ไม่ทราบปีที่เขียน, เข้าถึงจากอินเทอร์เน็ตเมื่อ 3 สิงหาคม 2565.


42
       เจ้าแม่คงคาในร่างมเหสีจึงกล่าวเตือนราชาศานตนุว่า พระองค์กำลังจะลืมคำมั่นที่ได้ประทานไว้แก่นางและแก่พระบิดาของพระองค์เสียแล้ว และเพราะเหตุฉะนั้นนางจึงไม่สามารถจะอยู่ร่วมกับพระองค์ได้อีกต่อไป ครั้นแล้วนางก็ทูลเล่าให้ราชาศานตนุฟังถึงความจริงเบื้องหลังตั้งแต่เทวดาในกลุ่มวสุคณะทั้ง 8 องค์ถูกฤษีวสิษฐ์สาป แล้วไปขอร้องให้นางรับเป็นมารดา ฯลฯ เล่าเสร็จนางก็อันตรธานไปกับกุมารองค์ที่ 8 ทิ้งราชาศานตนุไว้ในท่ามกลางความงงงวยสุดที่จะพรรณนา.
       กุมารองค์ที่ 8 ที่หายตนไปพร้อมกับพระชนนีหรือเจ้าแม่คงคาผู้แปลงร่างมาเป็นมเหสีของกษัตริย์ศานตนุนี้ มีนามว่า ศานตนพ หรือคางเคยะ หรือ คงคาทัตต์01.
       หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นดังได้พรรณนามานี้ไม่นานนัก ท้าวศานตนุก็ทรงเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติและโลกียสุข จึงเสด็จออกสู่ป่าเพื่อหาความสงบทางใจ พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญตบะอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเป็นเวลาหลายปี ระหว่างนั้นศานตนพหรือคางเคยะก็อยู่กับพระมารดาคือเจ้าแม่คงคาจนเจริญวัยเติบใหญ่ขึ้นเป็นกุมารหนุ่ม เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติและความสามารถในการยิงธนู ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้.
       วันหนึ่ง ขณะที่ราชาศานตนุทรงดำเนินเล่นอยู่ ณ ริมฝั่งแม่คงคา พระองค์ก็เหลือบไปเห็นกุมารน้อยคนหนึ่งกำลังยิงธนูไปตกซ้อนกันเป็นเขื่อนกั้นกระแสน้ำไว้มิให้ไหล ฝีมือแม่นธนูของกุมารน้อยนั้นทำให้ศานตนุต้องสาวพระพระบาทเข้าไปใกล้ แล้วก็ถึงกับตกตะลึงในเมื่อได้เห็นความสง่างามของกุมารผู้นั้นตลอดจนความเป็นผู้มีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับพระองค์ พอราชาศานตนุจะเอ่ยโอษฐ์ตรัสด้วย กุมารน้อยผู้นั้นก็รีบวิ่งหนีไปเสียก่อน.

 ---------------
01. ศานตนพ แปลว่า ลูกของศานตนุ ส่วนคางเคยะ หรือคงคาทัตต์แปลว่า ผู้มีกำเนิดจากคงคา เทวพรต ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของศานตนพ.
43
       สักครู่ให้หลัง กุมารน้อยก็กลับมาใหม่ โดยมีนางคงคาผู้มารดาเดินตามมาด้วย พอเห็นหน้าราชาศานตนุ นางคงคาก็เอ่ยขึ้นว่า.
       "ข้าแต่พระราชา กุมารผู้นี้คือโอรสของพระองค์ ซึ่งหม่อมฉันได้พามาเลี้ยงไว้จนเติบใหญ่ขึ้นถึงเพียงนี้ เธอเป็นที่โปรดปรานของทวยเทพยดาทั้งหลาย ฤษีวสิษฐ์เป็นพระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์พระเวท01. ให้แก่เธอ ส่วนสรรพศาสตร์อื่น ๆ นั้น เธอได้รับการฝึกสอนจากฤษีพฤหัสบดี02. และฤษีศุกฺล03. เช่นเดียวกับที่เธอได้เล่าเรียนวิชาการยิงธนูจากฤษีปรศุราม04. ขอพระองค์จงรับเอาโอรสของพระองค์กลับสู่พระนครด้วยเถิดเพคะ".
       ว่าแล้วนางคงคาก็อันตรธานไป
       ฝ่ายราชาศานตนุก็พาเจ้าชายศานตนพหรือคางเคยะหลับสู่นครหัสตินาปุระด้วยความปลื้มปีติเป็นล้นพ้น ครั้นศานตนพมีพระชนมายุพอสมควรแล้ว ราชาศานตนุก็ทรงสถาปนาให้เป็นพระยุพราชช่วยบริหารราชการบ้านเมืองตามขัตติยราชประเพณีต่อไป.
       อยู่มาวันหนึ่ง ราชาศานตนุได้เสด็จไปสำราญพระอิริยาบท ณ ป่าริมฝั่งแมน้ำยมุนา ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในป่านั้น พระองค์ทรงได้กลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่งบริเวณ จึงเสด็จค้นหาที่มาของกลิ่นหอมนั้นไปรอบ ๆ สักครู่หนึ่งพระองค์ก็ทอดพระเนตรเห็นดรุณีนางหนึ่งซึ่งมีความงามประดุจเทพธิดา พระองค์เสด็จเข้าไปใกล้จึงทรงทราบว่ากลิ่นหอมดังกล่าวโชยมาจากร่างของสาวงามนางนั้นนั่นเอง!
       "น้องหญิง! เธอเป็นใคร มาจากที่ไหนจ๊ะ" ศานตนุทรงถาม
       "หม่อมฉันชื่อ สัตยวดี01. เป็นลูกของคนหาปลาเพคะ" หญิงสาวตอบ
ราชาศานตนุหลงรักสัตยวดี หญิงชาวประมงค์, จิตรกร: ราชา รวิ วรรมา, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 5 สิงหาคม 2565.

       อันที่จริงแล้วสาวงามสัตยวดีหาใช่เป็นลูกของคนหาปลาไม่ คนหาปลาได้พบเธอในท้องปลาตัวหนึ่งซึ่งเขาจับได้ แต่คนทั่วไปก็เข้าใจและเรียกเธอว่าเป็นลูกของคนหาปลา.
---------------
01.  คนเดียวกันกับสัตยวดีที่เป็นมารดาของกฤษณะ ไทฺวปายนะ หรือวฺยาส
หมายเหตุ ขยายความ
01. คัมภีร์พระเวทมี 4 คัมภีร์ประกอบด้วย ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอรรถรเวท เป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่เรามีในจิตใจมนุษย์  ฤคเวทนั้นเป็นหลักสำคัญของพระเวททั้งหมด. เป็นลำนำที่ได้รับแรงดลใจที่ชาวอารยันนำมาจากถิ่นเก่าของพวกเขา (แถบคอเคซัส) แล้วนำพามาสู่อินเดียในฐานะที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าที่สุดของชาวอารยันที่ได้รวบรวมเก็บไว้ พวกเขาตอบสนองต่อการกระตุ้นโดยต้องรักษาสมบัติของเขาไว้ให้ดี จากการที่ชาวอารยันได้พบผู้นับถือเทพเจ้าอื่น ๆ จำนวนมากในแผ่นดินใหม่ (ภารตะมาตา หรือ ฮินดูสถาน). รายละเอียดดูใน ปรัชญาอินเดีย เล่มที่ 1.003 - ยุคพระเวท: บทสวดแห่งฤคเวท.
02. ฤษีพฤหัสบดี เป็นคุรุแห่งเหล่าเทวดา ทรงเป็นทั้งเทวฤๅษี เทวคุรุ และเทวดานพเคราะห์ เป็นเทพประจำดาวพฤหัสบดี เป็นเทพแห่งสติปัญญา ความรู้ พลังญาณ การศึกษาเล่าเรียน เป็นเทพประจำเหล่าครูบาอาจารย์และฤๅษีมุนี, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 2 สิงหาคม 2565.
03. ฤษีศุกฺล (สุก-กะ-ละ)
04. ฤษีปรศุราม เป็นบุคคลที่ปรากฎทั้งในรามายณะและมหาภารตะ รายละเอียดดูใน นารายณ์อวตาร ตอนที่ 6 "ปรศุรามาวตาร".

44
       ราชาศานตนุทรงหลงรักสัตยวดีอย่างจับพระทัย พระองค์ทรงขอร้องให้เธอแต่งงานกับพระองค์ แต่สาวสัตยวดีบ่ายเบี่ยงว่าขอให้ไปสู่ขอจากพ่อแม่ของเธอให้ถูกต้องตามประเพณีเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ ราชาศานตนุจึงเสด็จไปหาคนหาปลาแล้วรับสั่งว่า
       "เราอยากจะได้ลูกสาวของท่านมาเป็นคู่ครอง เราสัญญาว่าจะเลี้ยงดูและให้เกียรติลูกสาวของท่านอย่างดีที่สุด ขอให้ท่านจงเห็นใจเราเถิด"
       "ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะถวายบุตรสาวให้เป็นข้าบาทบริจาริกาของพระองค์ แต่ข้าพระพุทธเจ้าใคร่จะขอประทานคำมั่นจากพระองค์สักหน่อยว่า โอรสอันจะประสูติจากครรโภทรของบุตรสาวของข้าพระพุทธเจ้านั้น จะต้องได้เป็นรัชทายาทและได้สืบสันตติวงศ์ต่อจากใต้ฝ่าพระบาท พระองค์จะทรงพระกรุณาได้หรือไม่เล่าพระเจ้าข้า"
       แม้จะทรงเสน่หาในความงามของสัตยวดีสักเพียงใดก็ตาม แต่กษัตริย์ศานตนุก็หาได้ทรงลืมศานตนพโอรสซึ่งเกิดจากนางคงคาไม่ และพระองค์ก็ได้ทรงสถาปนาศานตนพขึ้นเป็นพระยุพราชแล้ว ดังนั้น พระองค์จึงทรงอิดเอื้อนไม่ทรงตอบคำขอของชายชาวประมงผู้พ่อของสัตยวดีแต่ประการใด ต่อจากนั้น พระองค์ก็เสด็จกลับราชธานีด้วยความหม่นหมองพระทัย และภายในเวลามิช้ามินาน พระองค์ก็ประชวรโดยไม่ปรากฎสาเหตุอันแน่ชัด.
       อาการประชวรของราชาศานตนุได้ทรุดลงอย่างรวดเร็ว ยังให้เจ้าชายศานตนพทรงวิตกเป็นอย่างยิ่ง เธอได้เฝ้าถวายการปรนนิบัติแด่พระราชบิดาอย่างใกล้ชิด และได้พยายามทูลถามถึงมูลเหตุของการประชวร แต่ราชาศานตนุก็หาได้ยอมบอกความจริงแก่พระโอรสไม่ ในที่สุด ศานตนพอดรนทนไม่ได้ จึงเชิญอำมาตย์ผู้ใหญ่มาปรึกษา ก็ทรงทราบความเป็นจริงทุกประการ พระองค์จึงรีบเสด็จไปยังกระท่อมน้อยของสัตยวดีแล้วรับสั่งกับชายชาวประมงผู้บิดา ขอให้ยกบุตรสาวให้แก่พระราชบิดาของพระองค์เถิด.
       ชายชาวประมงผู้นั้นทูลตอบยุพราชศานตนพว่า
       "เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ว่าที่จริงก็นับว่าเป็นบุญของข้าพระพุทธเจ้าอย่างหาที่เปรียบมิได้ ที่จะได้มีโอกาสถวายลูกน้อยให้เป็นข้ารับใช้พระบิดาของพระองค์ แต่ข้าพระพุทธเจ้าหวั่นวิตกว่า อนาคตนั้นจะไม่ราบรื่น เพราะหากว่าว่าบุตรสาวของข้าพระพุทธเจ้ามีบุญวาสนาได้เป็นมารดาของราชโอรสขึ้นมาเมื่อใด เมื่อนั้นราชโอรสนั้นซึ่งก็เป็นหลานในไส้ของข้าพระพุทธเจ้านั่นเอง ก็คงจะต้องมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกับพระองค์ตามวิสัยของปุุถุชนอย่างแน่นอนและเมื่อนั้นก็จะเป็นความอาภัพอัปภาคย์ของหลานชองข้าพระพุทธเจ้าอย่างมิพึงต้องสงสัย เพราะไหนเลยหลานของข้าพระพุทธเจ้าจะไปแข่งบารมีกับพระองค์ได้".

ภีษมะ (Bhīṣma) หรือ ปิตามะห์ (เสด็จปู่ภีษมะ-Pitāmaha) หรือ คงคาบุตร (Gangaputra) หรือ เจ้าชายเทวพรต (Devavrata) ที่มา: www.quora.com, วันที่เข้าถึง 5 สิงหาคม 2565.
45
       ศานตนพนิ่งเงียบอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงตอบชายหาปลาผู้พ่อของสัตยวดีว่า.
       "เราเข้าใจท่านแล้ว เอาเถิด ท่านไม่ต้องกลัว เราขอให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะไม่เป็นกษัตริย์สืบราชบัลลังก์แทนพระราชบิดาของเราเป็นอันขาด".
       "เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยเห็นเจ้าชายองค์ใดที่ไหนที่มีน้ำพระทัยกว้างขวางเช่นพระองค์เลย แต่ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่แน่ใจว่า พระโอรสของพระองค์จะมีพระทัยกว้างขวางเหมือนพระองค์ นั่นแหละเรื่องยุ่งยากก็จะเกิดขึ้น" ชายหาปลาทูล
       "ถ้าท่านยังไม่หายห่วง เราก็จะขอให้คำมั่นสัญญาข้อที่สองแก่ท่านว่าเราจะไม่ขอแต่งงานในชีวิตนี้ หวังว่าท่านคงจะพอใจละนะคราวนี้" เจ้าชายศานตนพทรงตอบ
       "ถ้าเช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็ยินดียกสัตยวดีให้เป็นข้าบาทบริจาริกาแห่งพระราชบิดาของพระองค์พ่ะย่ะค่ะ" ชายหาปลาทูลด้วยความดีใจ
       ทันใดนั้นบรรดาเทพยดาซึ่งเฝ้าดูการสนทนาระหว่างเจ้าชายศานตนพกับคนจับปลาอยู่ในฟากฟ้านภากาศ ต่างก็โปรยข้าวตอกดอกไม้ลงมาสดุดีความมีพระทัยกว้างของเจ้าชายศานตนพ พร้อมทั้งเปล่งเสียงว่า "ภีษมะ! ภีษมะ!" ซึ่งแปลว่า "ฉกาจฉกรรจ์! ฉกาจฉกรรจ์!" และนับตั้งแต่นั้นมา เจ้าชายศานตนพหรือคางเคยะหรือคงคาทัตต์ก็ทรงได้รับพระนามสมญาว่า "ภีษมะ".
       ต่อจากนั้น ภีษมะก็เชิญนางสัตยวดีเข้าสู่นครหัสตินาปุระ พิธีอภิเษกสมรสระหว่างราชาศานตนุกับสัตยวดีได้ดำเนินไปอย่างมโหฬาร ยังความปลื้มปีติให้แก่หมู่อำมาตย์ข้าราชบริพาร และพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง.
       เฉพาะราชาศานตนุนั้นทรงพอพระทัยในน้ำใจอันกว้างขวางของศานตนพหรือภีษมะมาก ถึงกับได้ประทานพรไว้ว่า ตราบใดที่ภีษมะเองไม่ปลงใจที่จะกระทำกาลกิริยา ตราบนั้นจะไม่มีใครสามารถประหัตประหารภีษมะให้สิ้นชีพได้.

 
46
       ราชาศานตนุทรงมีโอรสกับสัตยวดีสององค์ คือ จิตรางคทะ กับ วิจิตรวีรยะ ต่อจากนั้น ราชาศานตนุก็เสด็จสวรรคต ขณะนั้น จิตรางคทะเจริญวัยแล้ว จึงขึ้นครองราชย์แทนพระบิดา ต่อมาจิตรางคทะได้สู้รบกับคนธรรพ์ซึ่งเป็นชาวสวรรค์จำพวกหนึ่ง จิตรางคทะสู้ไม่ได้ถึงแก่ความตายลง วิจิตรวีรยะจึงได้สืบราชสมบัติแทนเชษฐา แต่โดยเหตุที่ยังเยาว์วัย ภีษมะผู้เป็นพี่จึงช่วยดูแลราชการบ้านเมืองให้ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์.
       จำเนียรกาลผ่านมา เมื่อกษัตริย์วิจิตรวีรยะทรงเติบโตเป็นหนุ่มขึ้น ราชาแห่งแคว้นกาศีก็ได้จัดพิธีสยุมพรหรือพิธีเลือกคู่ให้แก่ 3 ราชธิดาของพระองค์ ซึ่งมีพระนามและอาวุโสตามลำดับว่า อัมพา อัมพิกา และอัมพาลิกา ภีษมะประสงค์จะได้ธิดาสาวทั้ง 3 องค์มาเป็นมเหสีของวิจิตรวีรยะผู้อนุชาของพระองค์.
       ดังนั้น เธอจึงเสด็จไปเฝ้าราชาแห่งแคว้นกาศีแล้วทูลว่า.
       "หม่อมฉันมีความประสงค์ที่จะได้ธิดาทั้ง 3 องค์ของฝ่าพระบาทไปเป็นคู่ครองของน้องชายหม่อมฉัน อันการสมรสระหว่างเราเผ่ากษัตริย์ด้วยกันนั้นมีอยู่หลายวิธี เช่น ให้หญิงเป็นผู้เลือกคู่ครองด้วยการทิ้งพวงมาลัยให้แก่ชายเองหรือจะให้ฝ่ายชายแสดงความกล้าหาญเข้าชิงตัวเจ้าสาวไปด้วยกำลังอาวุธก็ได้ หม่อมฉันปรารถนาที่จะใช้วิธีที่สอง หากฝ่าพระบาทไม่เห็นด้วยก็ขอได้โปรดนำอาวุธมาประลองฝีมือกัน"01.
       กล่าวเสร็จ ภีษมะก็สั่งให้พลพรรคที่มาด้วยใช้กำลังเข้าชิงธิดาทั้ง 3 องค์ของราชาแห่งแคว้นกาศี ครั้นแล้วการต่อสู้ระหว่างกองกำลังของภีษมะกับกองทหารของราชาแห่งแคว้นกาศีก็อุบัติขึ้นอย่างดุเดือด ภีษมะนั้นกระโดดเข้าต่อสู้กับราชา ศาลวะ ผู้พันธมิตรของแคว้นกาศีและเป็นผู้ปองรักเจ้าหญิงอัมพา ธิดาองค์ใหญ่ของราชาแห่งแคว้นกาศี ทำให้ราชาศาลวะได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัส.
       ในที่สุด ภีษมะเป็นฝ่ายมีชัย จึงพาธิดาสาวทั้ง 3 องค์แห่งแคว้นกาศีมุ่งหน้าสู่นครหัสตินาปุระ ระหว่างทางเจ้าหญิงอัมพาได้ทูลให้ภีษมะทราบว่า นางนั้นรับหมั้นและปลงพระทัยรักอยู่กับราชาศาลวะแล้ว และถึงอย่างไรก็จะไม่ขอรักผู้อื่นอีก ภีษมะจึงปล่อยเจ้าหญิงอัมพากลับนครกาศี คงพาแต่เจ้าหญิงอัมพิกาและอัมพาลิกาสู่นครหัสตินาปุระ และได้จัดการให้เจ้าหญิงทั้งสองอภิเษกสมรสกับราชาวิจิตรวีรยะ (Vicitravīrya) ผู้อนุชา.
---------------

01. วิธีแรกเรียกว่า สยัมวร สยมพร สยุมพร หรือสวยมพร วิธีหลังเรียกว่า รากฺษส-วิวาท หรือการแต่งงานแบบยักษ์.
 
47
       เฉพาะเจ้าหญิงอัมพานั้น. แม้จะได้รับอิสรภาพกลับไปได้ แต่ราชาศาลวะก็ไม่ยอมอภิเษกสมรสด้วย เพราะมีเสียงครหานินทาในทำนองไม่เป็นมงคลระหว่างที่เธอต้องตกไปอยู่ในกำมือของฝ่ายภีษมะ เธอจึงมีความแค้นเคืองภีษมะมากและด้วยความเสียใจ ได้ออกไปบำเพ็ญตบะแสดงความภักดีต่อพระศิวะผู้เป็นเจ้า พระศิวะทรงพอพระทัยต่อการบำเพ็ญของเจ้าหญิงอัมพา จึงประทานพรให้เธอไปเป็นโอรสของท้าวทรุปัทหรือทรุบท มีชื่อว่า ศิขัณทิน เพื่อจะได้สังหารภีษมะเป็นการแก้แค้น ศิขัณทินเป็นน้องชายของธฤษ์ฏะทฺยุมันและนางกฤษณาหรือเทฺราปที เมื่อโตขึ้นศิขัณทินได้กลายเป็นกระเทยและได้เข้าร่วมสงครามมหาภารตะด้วย โดยอยู่ฝ่ายปาณฑพ และเป็นต้นเหตุแห่งการตายของภีษมะ.
       ราชาวิจิตรวีรยะเป็นกษัตริย์ที่หมกมุ่นกับกามคุณจนเกินขอบเขต เพราะฉะนั้นหลังจากได้เสวยสุขกับนางอัมพิกาหรืออัมพาลิกาอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็ประชวรและสวรรคตด้วยโรคกษัย โดยไม่มีโอรสหรือธิดาแม้แต่องค์เดียว.
       นางสัตยวดีผู้ชนนีของวิจิตรวีรยะรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีผู้สืบสันตติ และราชวงศ์ภารตะหรือกุรุจะสูญสิ้นลงเพียงวิจิตรวีรยะ นางจึงนำเรื่องนี้เข้าปรึกษากับภีษมะซึ่งทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการในช่วงเวลาอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น.
       นางสัตยวดีได้พยายามชี้แจงให้ภีษมะทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องมิให้ราชวงศ์ภารตะหรือกุรุสูญสิ้นลงแค่วิจิตรวีรยะ และได้ขอร้องให้ภีษมะรับภาระหน้าที่ "นิโยค"01. ไปปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อเห็นแก่อนาคตของวงศ์ตระกูล.
---------------

01. ในอินเดียสมัยโบราณมีประเพณีอยู่อย่างหนึ่งคือ หากสตรีคนใดสามีตายโดยไม่มีบุตร พี่ชายหรือญาติที่ใกล้ชิดของสามีที่ตายไปนั้นอาจจะรับเป็นสามีของสตรีคนนั้นได้ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีบุตรสืบสกุล ประเพณีนี้ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า "นิโยค" และบุตรที่เกิดโดยเงื่อนไขเช่นนี้ เรียกว่า "เกฺษตฺรช" ประเพณีนี้มีปฏิบัติกันในบรรดาชนเผ่ายิวโบราณเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Levirate.

 
48
       แต่ภีษมะทูลนางสัตยวดีว่า "โธ่ พระมารดา! จะให้หม่อมฉันรับหน้าที่ "นิโยค" ไปปฏิบัติได้อย่างไร หม่อมฉันได้ลั่นวาจาไว้ต่อทวยเทพยดาแล้วว่าชาตินี้ทั้งชาติจะไม่ขอแต่งงาน อย่างไรก็ตาม หม่อมฉันขอเสนอว่า ผู้ที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ยังมีอยู่ และเขาผู้นั้นก็คือ โอรสองค์ใหญ่ของพระมารดานั่นเอง".
       ทันใดนั้น นางสัตยวดีก็นึกถึงกฤษณะ ไทฺวปายนะ วฺยาส ลูกชายคนโตของนาง ซึ่งเกิดจากฤๅษีปราศรได้ทันที นางจำได้ว่าก่อนจะแยกจากกันเมื่อครั้งวฺยาส ยังเยาว์วัยอยู่ วฺยาสได้เคยบอกว่า หากนางมีธุระอะไรจะใช้ตน ขอให้เพียงแต่เรียกตนในใจ แล้วตนก็จะมาปรากฎต่อหน้านางในทันที.
       ระลึกได้ดังนั้นแล้ว นางจึงสำรวมจิตตั้งสมาธิเรียกวฺยาสให้มาหา.
       ณ บัดดล ฤๅษีวฺยาสซึ่งขณะนั้นกำลังสาธยายพระเวทให้สานุศิษย์ฟังอยู่ในป่าหิมาลัย ก็มาปรากฎตนต่อหน้านางสัตยวดีผู้มารดา.
       เมื่อได้ทราบเรื่องราวโดยละเอียดแล้ว วฺยาสนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งจึงพูดกับมารดาว่า
       "อาตมายินดีจะปฏิบัติตามคำเรียกร้องของโยมแม่ เพราะอาตมาเองก็ได้จากโยมแม่ไปนานแล้ว ยังไม่มีโอกาสได้สนองคุณของโยมแม่เลยแม้แต่น้อย อาตมารับรองว่า น้องวิจิตรวีรยะจะมีบุตรสืบสกุลที่มีคุณธรรมไม่แพ้พระยมและพระวรุณ แต่น้องหญิงอัมพิกาและอัมพาลิกานั่นสิ คงจะต้องอดทนต่อสารรูปอันแสนจะทุเรศของอาตมาเสียอย่างเหลือเกินเหลือการ!"
       นางสัตยวดีได้พยายามชี้แจงให้ลูกสะใภ้ทั้งสองคือเจ้าหญิงอัมพิกาและอัมพาลิกาทราบถึงความจำเป็นของภาระหน้าที่แห่ง "นิโยค" โดยเห็นแก่อนาคตของบ้านเมืองและวงศ์สกุล ด้วยประการฉะนี้ ภายหลังที่ได้รับการเกลี้ยกล่อมอยู่เป็นเวลานาน มเหสีม่ายทั้งสองของวิจิตรวีรยะก็ตกลงปลงพระทัยยอมปฏิบัติ "นิโยค" กับวฺยาสผู้มีศักดิ์เป็นพี่ชายของสวามีของนาง.
       คัมภีร์ปุราณะซึ่งว่าด้วยเรื่องราวปรัมปราของฮินดูกล่าวไว้ว่า ผมเผ้าและหนวดเคราอันยุ่งเหยิงรุงรัง ตลอดจนร่างกายอัมมอมแมมด้วยเถ้าและฝุ่นเยี่ยง "สาธุ" หรือนักบวชฮินดูของวฺยาส ได้ก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนสะอิดสะเอียนแก่นางอัมพิการะหว่างที่ต้องปฏิบัติหน้าที่นิโยคกับวฺยาสเป็นที่สุด นางหลับตาอยู่ตลอดเวลาที่ต้องปฏิบัติหน้าที่นั้น และผลก็คือ เมื่อนางคลอดบุตรออกมา ปรากฎว่าบุตรนั้นนัยน์ตาบอดทั้งสองข้าง บุตรผู้นี้ก็คือ ท้าวธฤตราษฎร์ ผู้ชนกของกษัตริย์เการพทั้ง 100 นั่นเอง.
 
49
       ฝ่ายเจ้าหญิงอัมพาลิกาก็เช่นกัน ด้วยเหตุที่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่นิโยคกับวฺยาสอยู่นั้น เธออยู่ในสภาพประหวั่นพรั่นพรึงจนถึงกับหน้าตาและร่างกายซีดขาว เมื่อคลอดบุตรออกมา บุตรนั้นจึงมีผิวพรรณขาวซีด และด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า ปาณฑุ (ปาณฑุ แปลว่า ซีดหรือขาว) ซึ่งต่อมาเป็นผู้ให้กำเนิดแก่กษัตริย์ปาณฑพทั้ง 5.
       นางสัตยวดีเห็นสภาพอันไม่เป็นปกติของหลานทั้งสองเข้า ก็เกิดความไม่สบายใจ จึงอ้อนวอนขอร้องให้นางอัมพิกาปฏิบัตินิโยคกับวฺยาสเพื่อเป็นการแก้ตัวอีกสักครั้ง.
       นางอัมพิกาไม่เต็มใจแต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธ จึงออกอุบายให้ทาสีสาวปลอมร่างเป็นนางเข้าไปรับการนิโยคกับวฺยาสในยามค่ำคืน และบุตรซึ่งเกิดจากนิโยคครั้งที่ 3 ของฤๅษีวฺยาสนี้ก็คือ ท้าววิทูร ซึ่งมีสติปัญญาล้ำเลิศและเปี่ยมด้วยความเที่ยงธรรมจนได้รับสมญาว่า "มหามติ".

     
ภาพจากซ้ายไปขวา: ท้าวธฤตราษฎร์ กำลังฟังสัญชัยเล่าเหตุการณ์รบที่ทุ่งคุรุเกษตร, ที่มา: www.bloggang.com, ท้าวปาณฑุกับราชินีกุนตี01., ที่มา: hmong.in.th, วันที่เข้าถึง 8 สิงหาคม 2565. และ มหามติวิทูร, ที่มา: www.bonobology.com, วันที่เข้าถึง 20 สิงหาคม 2565.

       ภีษมะทะนุบำรุงเลี้ยงดูกุมารทั้ง 3 คือ ธฤตราษฎร์ ปาณฑุ และวิทูร ด้วยความรักและเอาใจใส่ประดุจบุตรของตนเอง ปาณฑุมีฝีมือในธนุรวิทยาคือ วิชาการยิงธนูมาก ข้างธฤตราษฎร์ก็มีกำลังประหนึ่งช้างสาร ส่วนวิทูรนั้นมีปัญญาและรักความเป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง.
       โดยเหตุที่ธฤตราษฎร์เนตรบอดทั้ง 2 ข้าง และวิทูรนั้นเกิดจากมารดาซึ่งมีสกุลต่ำต้อย ปาณฑุจึงได้ขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งนครหัสตินาปุระ.
       ด้วยความปรารถนาดีที่จะได้เห็นกุมารทั้ง 3 มีความสุขเยี่ยงปุถุชนทั้งหลาย ภีษมะจึงจัดให้มีการอภิเษกสมรสขึ้นตามขัตติยราชประเพณี.
       ธฤตราษฎร์นั้น ภีษมะจัดให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงคานธารี ธิดาของท้าวสุพลแห่งนครคันธาระหรือคันธารราษฎร์02. ด้วยความเคารพรักต่อสวามีผู้มีเนตรเสียทั้ง 2 ข้าง ตลอดชีวิตของนาง นางจึงได้ใช้ผ้าผูกนัยน์ตาของนางไว้เสียเพื่อกันไม่ให้เห็นอะไรได้เช่นสวามีเหมือนกัน นางคานธารีมีเชษฐภราดาชื่อ ศกุนิ03. ซึ่งมีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในสงครามมหาภารตะ.
หมายเหตุ ขยายความ
01. เป็นภาพวาดสีน้ำที่วาดขึ้นในคริสต์ศวรรษที่ 20 จากแคว้นจัมปูและแคชเมียร์ อินเดีย แสดงถึงกษัตริย์ปาณฑุและมเหสีองค์แรก นางกุนตี.
02
. คันธาระหรือคันธารราษฎร์ คือเมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) ปัจจุบันอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน ส่วนแคว้นคันธาระ ปัจจุบันอยู่แถบหุบเขาเปศวาร์ (Peshawar) ประเทศปากีสถาน.
03. ศกุนิ (Shakuni) พี่ชายของนางคานธารี เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นคันธาระ ปัจจุบันเป็นบริเวณอยู่แถบปากีสถานตะวันตกเฉียงเหนือและอัฟกานิสถานตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ตั้งของเมืองตักศิลา พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนียเคยบุกมาถึงที่นี่ราว 327 ปีก่อนคริสตกาล. มีศิลปะทางด้านพุทธศาสนาแบบคันธาระ

50
       ในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ได้จัดหาชายาให้ท้าวธฤตราษฎร์ ภีษมะก็ได้สู่ขอเจ้าหญิงกุนตีให้แก่ท้าวปาณฑุ กุนตีเป็นธิดาของราชาศูระ กษัตริย์เชื้อสายยาทพ ปกครองชาวศูรเสนอยู่ ณ นครมถุรา บนฝั่งแม่น้ำยมุนา เจ้าหญิงกุนตีเป็นกนิษฐภคินีของท้าววสุเทพ ผู้เป็นชนกของพระกฤษณะ ราชาศูระได้ยกเจ้าหญิงกุนตีให้เป็นธิดาเลี้ยงของราชากุนติโภชตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งนี้เพราะราชากุนติโภชไม่มีโอรสและธิดา.
       พิธีอภิเษกสมรสระหว่างปาณฑุกับเจ้าหญิงกุนตีได้เป็นไปอย่างเอกเกริกไม่แพ้การอภิเษกสมรสระหว่างธฤตราษฎร์กับเจ้าหญิงคานธารี.
       คัมภีร์ปุราณะมีเรื่องเล่าว่า ระหว่างที่ยังพำนักอยู่กับราชากุนติโภชผู้เป็นบิดาเลี้ยง วันหนึ่งฤๅษีทุรวาสัสผู้มีอิทธิฤทธิ์และวาจาศักดิ์สิทธิ์ ได้ไปเยี่ยมราชากุนติโภช และได้รับการปรนนิบัติจากเจ้าหญิงกุนตีเป็นอย่างดียิ่ง ฤๅษีทุรวาสัสพอใจจึงให้พรเจ้าหญิงกุนตีไว้ว่า หากนางประสงค์จะมีบุตรกับเทพเจ้าองค์ใด ก็ขอให้ได้สมดั่งปรารถนา พร้อมกันนั้นฤๅษีก็สอนให้เจ้าหญิงรู้จักใช้มนตร์ในการที่จะอัญเชิญเทพเจ้ามาหานางด้วย.
       อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าหญิงกุนตีต้องการจะทดลองมนตร์ฤๅษีทุรวาสัสให้ไว้ นางจึงร่ายมนตร์อัญเชิญสูรยเทพเจ้าให้มาหา.
       ในทันใด สูรเทพเจ้าก็มาปรากฎองค์ต่อหน้านางแล้วถามว่า.
       "เจ้าต้องการอะไรหรือจึงเรียกเราให้มาหา".
       ด้วยความตกใจเพราะไม่คิดว่ามนตร์ของฤๅษีทุรวาสัสจะศักดิ์สิทธิ์และมีผลรวดเร็วถึงเพียงนั้น เจ้าหญิงกุนตีจึงตอบอย่างละล่ำละลักว่า.
       "ข้าพเจ้าไม่ต้องการสิ่งใดดอกพระเจ้าข้า เพียงแต่ประสงค์จะทดลองมนตร์ของฤๅษีทุรวาสัสว่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงใดเท่านั้น".
       "อันมนตร์นั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เจ้าจะใช้ทดลองเล่น โดยปราศจากความหมายไม่ได้ ฤๅษีทุรวาสัสก็ได้บอกให้เจ้าทราบแล้วว่า เมื่อเจ้าประสงค์จะมีบุตรกับเทพเจ้าเท่านั้น เจ้าจึงจะใช้มนตร์อัญเชิญเทพเจ้านั้น ๆ มาได้ บัดนี้เมื่อเรามาแล้ว เราก็จะมอบโอรสให้ไว้กับเจ้า โดยที่เจ้าจะไม่เสียความบริสุทธิ์ เพราะเราเป็นสูรยเทพ" สูรยเทพเจ้าตอบ.
 
51
       ต่อจากนั้น เจ้าหญิงกุนตีก็ประทานกำเนิดแก่โอรส ซึ่งประสูติพร้อมด้วยเสื้อเกราะ และอาวุธติดร่างออกมาจากครรโภทรของมารดาด้วย ด้วยความละอายและกลัวคำครหา นางจึงทิ้งทารกน้อยนั้นลงในแม่น้ำ บังเอิญนันทนะผู้เป็นอธิรถะคือ สารถีของท้าวธฤตราษฎร์กับภรรยาชื่อราธา ได้มาพบเข้า จึงเก็บทารกนั้นมาเลี้ยงไว้และให้ชื่อว่า วสุเษณะ ซึ่งแปลว่า ผู้ที่เกิดมาพร้อมด้วยสมบัติติดตัว.
       วสุเษณะเติบใหญ่ขึ้นมาในท่ามกลางพราหมณาจารย์ผู้รอบรู้ในคัมภีร์พระเวทและศิลปวิทยานานาแขนงรวมทั้งวิชาการรบด้วย.
       อยู่มาวันหนึ่ง พระอินทร์ผู้เป็นราชาแห่งทวยเทพ ได้แปลงร่างเป็นพราหมณ์เฒ่า มาขอเกราะซึ่งสวมใส่อยู่บนร่างของวสุเษณะ เพราะต้องการจะเอาไปให้อรชุนผู้บุตรของตนใช้ ด้วยความเคารพต่อพราหมณ์ วสุเษณะรีบตัดเสื้อเกราะของตนออกให้พระอินทร์ทันที และตั้งแต่นั้นมา วสุเษณะจึงได้ชื่อว่า กรรณะ ซึ่งแปลว่าผู้ที่ตัด (เสื้อเกราะ) ออก.
       กาลเวลาล่วงเลยมาระยะหนึ่ง ภีษมะได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับความงามของเจ้าหญิงมาทรี ผู้เป็นกนิษฐภคินีของราชาศัลยะแห่งแคว้นมัทระ (ปัจจุบันคือมัทราส) ด้วยความรักปาณฑุและปรารถนาจะได้แคว้นมัทระไว้เป็นพันธมิตร ภีษมะจึงไปสู่ขอเจ้าหญิงมาทรีมาให้เป็นชายาของท้าวปาณฑุคู่กับนางกุนตีอีกองค์หนึ่ง.
       ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ภีษมะก็ได้สู่ขอธิดาแห่งราชาเทวกะซึ่งเกิดจากชนนีในวรรณะไวศฺยะ (แพศย์) ให้เป็นชายาของมหามติวิทูรด้วย ทั้งสองมีโอรสธิดาด้วยกันหลายองค์.
       พี่น้องทั้ง 3 คือ ธฤตราษฎร์ ปาณฑุ และวิทูร ต่างก็ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความผาสุกในนครหัสตินาปุระ โดยมีภีษมะช่วยให้คำแนะนำในงานดำเนินกิจการบ้านเมือง.
       วันหนึ่ง ฤๅษีวฺยาสได้ไปเยี่ยมท้าวธฤตราษฎร์และได้รับการต้อนรับจากนางคานธารีเป็นอย่างดียิ่ง ฤๅษีวฺยาสจึงอวยพรขอให้นางคานธารีมีโอรส 100 องค์ และธิดา 1 องค์.

 
52
       นางคานธารีอุ้มท้องอยู่เป็นเวลานานถึง 2 ปี จึงคลอดเป็นก้อนเนื้อใหญ่ออกมา ฤๅษีวฺยาสรีบรุดมาแยกก้อนเนื้อนั้นออกเป็น 101 ชิ้น แล้วดองชิ้นเนื้อแต่ละชิ้นไว้ในหม้อเนยใส 101 ใบ พร้อมกับสั่งนางคานธารีให้เปิดหม้อเหล่านั้นเมื่อ 2 ปีให้หลัง เสร็จแล้วฤๅษีวฺยาสก็กลับไปพำนัก ณ อาศรมในป่าหิมาลัยตามเดิม.
       ครั้นครบ 2 ปี นางคานธารีก็ทำตามที่ฤๅษีวฺยาสได้สั่งไว้ ปรากฎว่าจากหม้อเนยใสใบแรกมีกุมารประสูติออกมาพร้อมกับส่งเสียงร้องเหมือนลา ทันใดนั้นลาทั่วประเทศ อีกทั้งสุนัขจิ้งจอก แร้ง และกาต่างก็ส่งเสียงรับกันเซ็งแซ่ ท้องฟ้ามืดมิดไปทั่วทิศทั้ง 4 ลมแรงพัดกระโชกถี่ ๆ เป็นระยะ ๆ ในป่าเกิดไฟไหม้ลุกลามอย่างโชติช่วง ยังความประหลาดใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง กุมารองค์นี้คือ ทุรโยธน์  (บ้างก็เรียก สุโยธนะ หรือ สุโยธน์ - Suyodhana) โอรสองค์ใหญ่ของท้าวธฤตราษฎร์.
       และจากหม้อเนยใสอีก 100 ใบ ก็เกิดกุมารอีก 99 องค์ และกุมารี 1 องค์ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน เหล่าบุตรและบุตรีแห่งฝ่ายเการพ) กุมารีองค์นี้คือเจ้าหญิงทุหศลา ธิดาองค์เดียวของท้าวธฤตราษฎร์ ซึ่งต่อมาได้เป็นชายาของท้าวชยัทรัถ ราชาแห่งแคว้นสินธุ.
       สมควรจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ในช่วงเวลาที่นางคานธารีอุ้มครรภ์แก่อยู่นั้น ท้าวธฤตราษฎร์ได้มีโอรสอีกองค์หนึ่งกับนางกำนัลในวรรณะไวศฺยะ โอรสองค์นี้มีนามว่า ยุยุตสุ ซึ่งไปเข้ากับฝ่ายปาณฑพในสงครามมหาภารตะ.
       เหตุอาเพศซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการประสูติของทุรโยธน์โอรสองค์ใหญ่ของท้าวธฤตราษฎร์ดังกล่าวแล้วข้างต้น เป็นที่โจษจันกันทั่วไป บรรดาปุโรหิตาจารย์ต่างต้องทำหน้าที่หนักในการตรวจดูดวงชะตาของกุมารน้อย ทุกคนรวมทั้งมหามติวิทูรต่างลงความเห็นว่า ดวงของโอรสเป็นกาลกิณี จะนำภัยและความหายนะอย่างมหันต์มาสู่บ้านเมืองและวงศ์ตระกูล ต่างทูลขอให้ท้าวธฤตราษฎร์นำกุมารน้อยไปทิ้งเสีย แต่ด้วยความรักที่มีต่อโอรส ท้าวธฤตราษฎร์มิสามารถจะปฏิบัติตามความเห็นของกลุ่มปุโรหิตาจารย์ได้.
       วันหนึ่ง ท้าวปาณฑุเสด็จประพาสป่าพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ระหว่างที่ชมนกชมไม้อยู่ในป่านั้น พระองค์เหลือบไปเห็นกวางคู่หนึ่งกำลังเสพสังวาสกันอยู่ ด้วยความคะนองมือและปราศจากความยั้งคิด ท้าวปาณฑุหยิบศรขึ้นมายิงทันที ปรากฎว่าลูกศรพุ่งไปถูกกวางตัวผู้พลัดตกจากหลังตัวเมียในฉับพลัน พร้อมกันนั้นมันก็ส่งเสียงโหยหวนด้วยความเจ็บปวดและพูดเป็นภาษาคนว่า

 
53
       "ดูก่อนราชัน! ท่านไม่น่าจะมีน้ำใจเหี้ยมโหดทำกับเราเช่นนี้เลย เราไม่เคยทำอะไรให้ท่านเจ็บช้ำน้ำใจ เรากำลังเสพสุขอยู่กับคู่รักของเราเยี่ยงโลกียสัตว์ทั้งหลาย แต่แล้วท่านกลับมาลอบทำร้ายเรา เสียแรงที่ท่านเป็นมนุษย์แต่ช่างไร้ศีลธรรมเสียนี่กระไร! ขอให้บาปกรรมอันนี้จงสนองตอบท่าน ขอให้ท่านจงหมดสมรรถภาพในการมีบุตร ขอท่านจงสิ้นชีพในขณะเสพสุขอยูุ่กับภรรยาของท่าน และขอให้ภรรยาของท่านจงตายตามท่านไปด้วย ตัวเรานี้หาใช่เป็นกวางตามที่ท่านเห็นไม่ หากเป็นพราหมณ์แปลงกายมาหาความสุขในป่า ท่านจงรู้ไว้เถิด" สิ้นเสียง กวางตัวผู้นั้นก็ล้มลงขาดใจตายเคียงข้างกวางตัวเมียผู้เป็นยอดรักของมัน.
       ราชาปาณฑุถึงกับงงงัน เนื้อตัวสั่นด้วยความตกใจกลัว.
       คำสาปของกวางพราหมณ์ก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่ปาณฑุเป็นอย่างยิ่ง ท้าวเธอสำนึกถึงบาปกรรมที่ได้ทำไว้ และคิดจะล้างบาปด้วยการสละราชสมบัติออกบำเพ็ญศีลภาวนาในป่า เมื่อนำเรื่องนี้เข้าปรึกษากับนางกุนตีและนางมาทรีผู้มเหสี ทั้งสองไม่ขัดข้องและพร้อมที่จะติดตามสวามีออกบำเพ็ญพรตดังกล่าวด้วย.
       เมื่อท้าวธฤตราษฎร์ทรงทราบถึงการตัดสินพระทัยของอนุชาก็ให้เกิดความเศร้าโศกเป็นอย่างยิ่ง และแม้จะทรงทัดทานและชี้แจงแสดงเหตุผลสักเท่าใด ๆ ก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงการตัดสินพระทัยของปาณฑุผู้อนุชาได้.
       ในที่สุด ท้าวปาณฑุพร้อมด้วยนางกุนตีและมาทรีก็สละราชสมบัติเสด็จออกป่าเพื่อบำเพ็ญบุญกิริยาและหาความสงบทางใจ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 3 ในชีวิตตามอุดมการณ์ของฮินดูโบราณ.
       ระหว่างที่บำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ในป่านั้น ปาณฑุรำลึกถึงคำสอนในศาสนาได้ว่า ผู้ที่ไม่มีบุตรจะประสบกับความทุกข์ทรมานในภพหน้า เพราะไม่มีใครจะทำบุญกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลไปให้ ในขณะเดียวกันท้าวเธอก็ทราบดีว่า ตนเองจะมีบุตรไม่ได้เพราะคำสาปแช่งของพราหมณ์กวางดังกล่าวมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ ราชาผู้เฒ่าจึงเกิดความระทมทุกข์เป็นอย่างยิ่ง.

 
54
       เมื่อได้เห็นสวามีไม่สบายพระทัยเช่นนั้น วันหนึ่งนางกุนตีจึงทูลให้ทราบถึงพรที่นางได้รับจากฤๅษีทุรวาสัส ในอันที่จะมีบุตรกับเทพเจ้าได้ตามปรารถนา ราชาปาณฑุทรงพอพระทัยมากจึงตรัสกับนางว่า.
       "ดีแล้ว ถ้าเช่นนั้นขอน้องจงอัญเชิญเทพเจ้ามาเถิด เพื่อเราทั้งสองจะได้มีบุตร แล้วชาติหน้าเราจะได้มีคนทำบุญกรวดน้ำไปให้"
       เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสวามีเช่นนั้นแล้ว นางกุนตีก็อัญเชิญเทพเจ้า 3 องค์ มาประทานโอรสแก่นางโดยลำดับดังต่อไปนี้
       1. พระธรรมเทพหรือธรรมราช01. ประทานโอรสองค์ใหญ่ ได้แก่ ยุธิษฐิระ
       2. พระวายุ ประทานโอรสองค์ที่ 2 ได้แก่ ภีมะ หรือภีมเสน
       3. พระอินทร์ ประทานโอรสองค์ที่ 3 ได้แก่ อรชุน
       เมื่อได้เห็นนางกุนตีมีโอรสแล้วเช่นนั้น นางมาทรีก็ปรารถนาจะได้โอรสบ้าง จึงขอร้องนางกุนตีให้ช่วยสอนมนตร์อัญเชิญเทพเจ้ามาประทานโอรสให้แก่นางบ้าง ซึ่งนางกุนตีก็สนองตอบโดยดี ผลก็คือ พระอัศวินฝาแฝดซึ่งเป็นนายแพทย์ของทวยเทพและมีกิตติศัพท์ในด้านความงาม ได้เสด็จมาประทานโอรสแฝดให้แก่นางมาทรี โอรสแฝดคู่นี้คือ นกุลและสหเทพ01.
เหล่าปาณฑพ, ที่มา: www.printerest.com, วันที่เข้าถึง 11 สิงหาคม 2565.
 
       ด้วยประการฉะนี้ ท้าวปาณฑุและมเหสีทั้งสองจึงต่างก็ชื่นชมโสมนัสที่ได้มีโอรสสมความมุ่งมาดปรารถนา ทั้งแปดชีวิตคือ พ่อ 1 แม่ 1 และลูกอีก 5 ก็ต่างใช้ชีวิตอยู่ ณ อาศรมในป่าด้วยความสงบราบรื่น.
       วันหนึ่ง ในฤดูใบไม้ผลิ ธรรมชาติในป่ากำลังเป็นที่น่าอภิรมย์ชมชื่น พฤษานานาพันธุ์ผลิดอกออกช่อบานสะพรั่งไปทั่วทิศ กลิ่นหอมของบุปผชาติตลบอบอวลไปถ้วนทั่วทุกราวป่า.

---------------
01. กุมารทั้ง 5 คือ ยุธิษฐิระ ภีมะ หรือภีมเสน อรชุน นกุล และสหเทพ มีนามว่า ปาณฑพ เพราะเกิดจากท้าวปาณฑุ ทั้งนี้เป็นไปตามกฎแห่งไวยากรณ์ในภาษาสันสกฤต.
หมายเหตุ ขยายความ
01. ธรรมเทพ หรือ ธรรมราช หมายถึง พญายม พระยม หรือ ยมะ (Yama) หรือ พระยมราช (Yamarāja) (เทพประจำทิศใต้ มี 18 กร กระชับถือดาบไว้ไม่ต่ำกว่า 16 เล่ม ทรงกระบือเป็นพาหนะ) ผู้มีหน้าที่พิพากษาให้ความเป็นธรรมแก่มนุษย์ที่ตายไปซึ่งได้กระทำกรรมใดมา ด้วยการยกกระบอกชี้ไปยังผู้กระทำ กระทำความดีไปขึ้นสวรรค์ หากกระทำความผิดก็ตกนรก เบื้องขวาของพระยม (ภาพด้านขวา) คือจิตรคุปต์ (Chitragupta) ซึ่งเป็นนายบัญชีของพระยม.
         
ภาพจากระเบียงคดทิศใต้ปีกตะวันออก นครวัด เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา - สรวงสวรรค์และนรกภูมิ (heavens and Hells) ถ่ายไว้เมื่อ 20 ตุลาคม 2561.
55
       บรรดาวิหคนกนานาต่างก็เกาะกิ่งไม้ส่งเสียงคูขันกันเจื้อยแจ้ว ในท่ามกลางบรรยากาศอันรมณียะเช่นนี้ ท้าวปาณฑุทรงอดกลั้นต่อความเย้ายวนของธรรมชาติไม่ไหว ท้าวเธอจึงชวนนางมาทรีผู้ยอดเสน่หาให้ไปเดินเล่นด้วยกัน ณ ชายป่าริมลำธารซึ่งอยู่ห่างจากอาศรมที่พักไปไม่ไกลนัก ด้วยอานุภาพแห่งกามเทพ และด้วยแรงสาปของพราหมณ์ซึ่งแปลงร่างเป็นกวาง ตามเรื่องที่ได้พรรณนามาแล้วข้างต้น และทั้ง ๆ ที่นางมาทรีได้เคยทักท้วงโดยเตือนให้ระลึกถึงคำสาปดังกล่าว ท้าวปาณฑุก็ยังมิวายตกเป็นเหยื่อของราคดำฤษณา ท้าวเธอได้ร่วมเสพสังวาสกับนางมาทรี ขณะที่เสพสุขอยู่บนอุระของนางมาทรีนั้น ท้าวเธอก็เกิดอาการกระตุก หทัยวายและสิ้นพระชนม์อยู่บนอุระของนางนั่นเอง ทั้งนี้ยังให้เกิดความวิปโยคโศกเศร้าแก่นางกุนตีและภราดาปาณฑพทั้ง 5 อย่างสุดที่จะพรรณนาได้.
       เฉพาะนางมาทรีนั้น คัมภีร์ปุราณะเล่าว่า นางได้กระโดดลงในกลางจิตกาธารที่กำลังเผาผลาญสรีรร่างของสวามีสิ้นพระชนม์ตามไปด้วยอย่างน่าอเนจอนาถ.
       หลังจากได้จัดพิธีสังสการพระศพท้าวปาณฑุเรียบร้อยแล้ว บรรดาฤๅษีมุนีที่บำเพ็ญพรตอยู่ในป่า ก็แนะนำนางกุนตีกับโอรสอีก 5 องค์ให้กลับคืนไปพำนัก ณ พระราชฐานในหัสตินาปุรนครเช่นเดิม.
       ภีษมะ ธฤตราษฎร์ และมหามติวิทูรต่างก็ชื่นชมยินดีที่ได้เห็นนางกุนตีกับโอรสกลับคืนสู่นคร และต่างถวายการดูแลเอาพระทัยใส่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะพี่น้องปาณฑพทั้ง 5 นั้น ได้จัดให้ประทับร่วมกับโอรสทั้ง 100 องค์ของท้าวธฤตราษฎร์ ซึ่งมักจะได้รับการขนานนามรวม ๆ ว่า เการพ01.
       กาลเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ครั้นแล้ววันหนึ่งฤๅษีวฺยาสรำลึกถึงนางสัตยวดีผู้มารดา จึงรีบรุดออกจากป่าไปยังราชสำนักแห่งนครหัสตินาปุระด้วยอำนาจแห่งการบำเพ็ญโยคะ ฤๅษีวฺยาสเล็งเห็นเหตุการณ์ในอนาคตได้จึงแนะนำมารดาดังต่อไปนี้
---------------

01. เการพเกิดจากศัพท์ กุรุ ซึ่งเป็นนามของกษัตริย์องค์หนึ่งแห่งราชวงศ์ภรต เการพแปลว่าผู้สืบเชื้อสายจากกุรุ แต่ในมหากาพย์มหาภารตะ มักจะใช้กับโอรส 100 องค์ของท้าวธฤตราษฎร์โดยเฉพาะ.

 
56
       "ข้าแต่มารดา! อาตมารู้สึกว่า นับวันเหตุการณ์ในบ้านเมืองของเราจะทวีความขัดแย้งและสับสนมากยิ่งขึ้นตามลำดับ มารดาเองก็เข้าสู่วัยชรามากแล้ว อาตมาขอแนะนำให้มารดาและน้องอัมพิกาทั้งน้องอัมพาลิกาด้วย จงปลีกตัวไปหาความสงบในป่าเสียเถิด มนุษย์ในเมืองนั้นกิเลสหนาและนับวันจะเป็นศัตรูคู่อาฆาตจองผลาญกันมากยิ่งขึ้น ขอมารดาและน้องหญิงทั้งสองจงเชื่ออาตมาเถิด มิฉะนั้นแล้วจะต้องพลอยได้รับทุกขเวทนาไปกับเขาด้วย"
       นางสัตยวดีทราบดีว่า คำพูดของฤๅษีมุนีผู้บำเพ็ญพรตนั้นมีความจริงและศักดิ์สิทธิ์เพียงใด นางและลูกสะใภ้ทั้งสองจึงตกลงสละบ้านเมืองไปใช้ชีวิตเยี่ยงผู้ทรงศีลอยู่ในป่าตามคำแนะนำของวฺยาสผู้อภิชาตบุตร และแล้วในที่สุดทั้ง 3 แม่ลูกก็ได้สิ้นชีวิตในป่าตามความร่วงโรยของสังขารในกาลต่อมา.
       จะขอกลับมาเล่าถึงกุมารปาณฑพทั้ง 5 และเการพทั้ง 100 องค์ต่อไป.
       กุมารลูกพี่ลูกน้องทั้ง 105 องค์ประทับอยู่ในวังเดียวกัน และทรงมีชีวิตอยู่ร่วมกันละม้ายคล้ายคลึงกันทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการกินอยู่หลับนอน เล่าเรียนศิลปวิทยา ฝึกวิชาอาวุธ หรือประกอบกิจกรรมอื่นใดก็ตาม แต่ในบรรดาโอรสหนุ่มเหล่านั้น ปรากฎว่าภีมะเป็นผู้ที่มีกำลังกายมากมายกว่าคนอื่นทั้งปวง แม้เวลาเล่นหัวกัน ภีมะก็มักจะแสดงกำลังเหนือกว่าพี่น้องทุกองค์ โดยเฉพาะกับพี่น้องซึ่งเป็นโอรสของท้าวธฤตราษฎร์แล้ว ภีมะจะเล่นขัดคอและทำให้กุมารเหล่านั้นเป็นฝ่ายแพ้และเกิดความไม่พอใจอยู่เสมอ ๆ ทั้ง ๆ ที่โอรสของฝ่ายท้าวธฤตราษฎร์มีถึง 100 องค์ แต่จะหากุมารองค์ใดที่มีกำลังวังชาเสมอเหมือนภีมะนั้นเป็นไปไม่มี.    
ภีมะกำลังต่อสู้กับเหล่านาค, ที่มา: religion.fandom.com, วันที่เข้าถึง 12 สิงหาคม 2565
 
       เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุรโยธน์กับน้อง ๆ อีก 99 องค์ จึงต่างก็ไม่พอใจภีมะและต่างครุ่นคิดอยู่ในใจว่า "หากในเยาว์วัย ภีมะยังสามารถสร้างความปั่นป่วนและผิดหวังให้แก่พวกเราได้มากถึงเพียงนี้แล้ว ต่อไปภายหน้าเล่า เมื่อเติบใหญ่ขึ้น เขาจะสร้างความหนักใจให้แก่พวกเราได้มากสักเพียงไหน เราจะต้องหาทางกำจัดภีมะเสียให้จงได้ เมื่อสิ้นภีมะแล้วคงจะไม่ยากนักที่เราจะหาทางจัดการกับพี่น้องอีก 4 คนของมัน".
 
57
       กาลเวลาผ่านพ้นไป อยู่มาวันหนึ่ง ทุรโยธน์ได้เอ่ยปากชวนกุมารปาณฑพทั้ง 5 และน้อง ๆ ของตนให้ไปเล่นน้ำในแม่น้ำคงคาด้วยกัน ทุรโยธน์ได้วางแผนกำจัดภีมะไว้อย่างแยบยล แต่พี่น้องปาณฑพหาได้เฉลียวใจไม่ จึงยอมไปด้วยความยินดี โดยหวังว่าจะได้มีโอกาสเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน.
       ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา มีท่าน้ำอยู่ท่าหนึ่งมีชื่อว่า ประมาณโกฏิ ตั้งอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม ณ ท่าน้ำแห่งนี้มีพลับพลาอยู่หลังหนึ่งชื่อ อุทกกรีฑา ซึ่งเป็นที่ประทับรับเสด็จของบรรดาเจ้านายที่จะเสด็จไปสรงน้ำในพระแม่คงคา ทุรโยธน์ได้สั่งให้มีการตระเตรียมไว้ล่วงหน้าทั้งในเรื่องอาหารและความสะดวกสบายต่าง ๆ
       พอไปถึง กุมารทั้งหลายก็เริ่มเล่นหัวกันอย่างสนุกสนาน และเมื่อระเริงเล่นกันทั้งในน้ำและบนบกจนเหนื่อยอ่อนแล้ว ต่างก็หยุดพักเสวยกระยาหารและเครื่องสุธารส ภีมะนั้น โดยเหตุที่มีพลังวังชาและร่างกายกำยำล่ำสันมาก จึงมีความหิวและเสวยได้มากกว่าผู้อื่น ในระหว่างนั้น ทุรโยธน์เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงยื่นขนมซึ่งมียาพิษซ่อนไว้ข้างในให้ภีมะเสวย ภีมะไม่ทราบแผนอันชั่วช้าของทุรโยธน์ก็รับก้อนขนมนั้นมาเสวยด้วยความดีใจและรู้สึกเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ.
       เมื่อเสวยแล้ว กุมารทั้งหลายก็ลงไปเล่นน้ำดำผุดดำว่ายกันอย่างสนุกสนาน อีกวาระหนึ่ง ถึงตอนนั้น พิษของยาเริ่มแผ่ซ่านไปทั่วสรีรร่างของภีมะ ทำให้เด็กหนุ่มผู้กำยำรู้สึกเหนื่อยอ่อนและวิงเวียนศีรษะ ไม่สามารถจะเล่นน้ำได้ต่อไปจึงค่อย ๆ ประคองร่างขึ้นฝั่ง พอขึ้นไปบนบกได้ ก็ปรากฎว่าภีมะสิ้นสติเป็นลมล้มแน่นิ่งอยู่ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง.
       ทุรโยธน์กับพรรคพวกซึ่งเฝ้าจับตาดูอาการของภีมะอยู่ตลอดเวลา เมื่อเห็นเช่นนั้นจึงรีบวิ่งไปยังภีมะ ใช้เถาวัลย์มัดร่างของภีมะแล้วก็ช่วยกันหามไปถ่วงลงในแม่น้ำคงคา.
       ทุรโยธน์คิดว่า การกระทำเช่นนั้นของตนและพรรคพวกคงจะทำให้ภีมะสิ้นชีวิตลงได้อย่างแน่นอน.

58
       แต่ใครก็ตามซึ่งมีพระเจ้าเป็นผู้อภิบาลอยู่แล้วไซร้ แม้ศัตรูจะพยายามทำลายล้างสักเพียงไรก็ตาม เขาผู้นั้นก็จะคลาดแคล้วจากภยันตรายไปได้เสมอ ที่ว่ามานี้ฉันใด กรณีของภีมะก็ฉันนั้น มาตรแม้นว่าพรรคพวกของทุรโยธน์จะนำร่างอันไร้สติของภีมะไปถ่วงน้ำ ณ จุดอื่นของแม่พระคงคาแล้วไซร้ ภีมะก็คงจะต้องถึงแก่ความตายไปแล้วโดยไม่พึงต้องสงสัย แต่บังเอิญคุ้งน้ำที่ร่างของภีมะถูกหามไปถ่วงนั้น เป็นปากทางที่จะลงไปสู่บาดาลโลก อันเป็นนิวาสสถานของพญานาควาสุกรีผู้เป็นราชาแห่งงูเงือกทั้งหลาย และเมื่อเป็นเช่นนี้ ร่างอันสิ้นสติสมปฤดีของภีมะจึงถูกกระแสน้ำพัดพาไปจนถึงบาดาลโลก.
       ณ วิถีทวารไปสู่บาดาลโลกนั้น บรรดาเงือกงูอาศิรพิษทั้งหลายซึ่งทำหน้าที่ดูแลให้ความอารักขาแก่พญานาควาสุกรี ต่างก็ตรงเข้ารุมกัดและปล่อยพิษของตนเข้าสู่ร่างของภีมะ ในบัดดลที่กระทบกับพิษของงูร้าย พิษในขนมซึ่งภีมะหลงเสวยเข้าไปด้วยกลลวงของทุรโยธน์ก็คลายกำลังลง ยังผลให้ภีมะคืนสติพร้อมทั้งมีกำลังวังชาขึ้นมาเช่นเดิม ภีมะดิ้นรนอยู่เพียงครู่เดียวก็สามารถทำลายพันธนาการซึ่งรัดรึงอยู่ทั่วร่างกายตนได้สำเร็จ ครั้นแล้วภีมะก็เริ่มต่อสู้กับอสรพิษร้ายที่พากันมาห้อมล้อมตนอยู่ จนในที่สุดอสรพิษเหล่านั้นต้องรีบหนีเอาชีวิตรอด พร้อมกับนำความไปแจ้งแก่พญานาควาสุกรีผู้เป็นนายว่า.
       "ข้าแต่พญานาคราช บัดนี้มีมนุษย์ตนหนึ่งถูกมัดมือมัดเท้าโยนลงในแม่น้ำคงคา แล้วก็ถูกกระแสน้ำไหลพัดพามาจนถึงประตูนครของเรา ตอนแรกนั้นร่างเขาไร้สติ แต่พอถูกพวกข้าขบกัดเข้า เขากลับฟื้นคืนชีพขึ้นโดยฉับไว แล้วก็ตรงเข้าทำร้ายพวกข้าด้วยกำลังวังชาอันมหาศาล พวกข้าสู้ไม่ได้จึงต้องรีบหนีมาพึ่งพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองเถิดพระเจ้าข้า ว่ามนุษย์ตนนี้เป็นใครกันแน่!".
       เมื่อได้ทราบดังนี้ พญานาควาสุกรีจึงชวนนาคอีกจำนวนหนึ่งรีบรุดไปยังที่เกิดเหตุ ในบรรดานาคอาวุโสที่ร่วมไปกับพญานาควาสุกรีนั้น มีนาคอยู่ตนหนึ่งชื่อ อารยกะ ซึ่งเป็นตาทวดของนางกุนตีผู้ชนนีของภีมะ พอเห็นภีมะเข้า นาคอารยกะก็จำได้ว่าเป็นลูกหลานของตน จึงตรงเข้าไปสวมกอดภีมะ เพื่อพญานาควาสุกรีได้ทราบจากนาคอารยกะว่าภีมะเป็นใคร ก็ได้จัดการต้อนรับภีมะเป็นอย่างดี.
              
สะพานพญานาคเจ็ดเศียร ด้านหน้าของนครวัด เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา, ถ่ายไว้เมื่อ 20 ตุลาคม 2561.
 
59
      ในบาดาลโลกนั้น พญานาควาสุกรีมีน้ำอมฤต01. เก็บไว้ในกุณโฑเป็นจำนวนมาก ด้วยความรักและเมตตาที่มีต่อภีมะ พญานาควาสุกรีจึงจูงมือภีมะไปยังที่เก็บกุณโฑน้ำอมฤตเหล่านั้นแล้วพูดขึ้นว่า "เจ้าจงดื่มน้ำอมฤตในกุณโฑเหล่านี้ตามใจชอบเถิด".
       ด้วยความดีใจ ภีมะเดินตรงไปยกกุณโฑน้ำอมฤตขึ้นดื่มทันที และภายในชั่วเวลาอันเล็กน้อย หนุ่มร่างใหญ่ก็ดื่มน้ำอมฤตไปถึงแปดกุณโฑ ครั้นแล้วพญานาควาสุกรีก็พาเขาไปพักผ่อนหลับนอนในปราสาท ภีมะได้พักผ่อนอยู่ในบาดาลนครของพญานาควาสุกรีด้วยความผาสุกเป็นที่ยิ่ง.
       ฝ่ายพี่น้องปาณฑพทั้ง 4 องค์ เมื่อได้รื่นเริงสนุกสนานทั้งบนริมฝั่งและในแม่น้ำคงคากันจนได้เวลาพอสมควรแล้ว ก็พากันกลับยังราชวัง  ระหว่างทางยุธิษฐิระไม่เห็นภีมะผู้น้อง ร่วมเดินทางมาด้วย แต่เข้าในเอาว่าคงจะล่วงหน้ากลับไปก่อนแล้ว จึงมิได้เกิดความห่วงใยแต่ประการใด.
       ครั้นถึงตำหนักอันเป็นที่ประทับ ยุธิษฐิระก็เข้าไปกราบแทบบาทของนางกุนตีผู้ชนนี แล้วทูลถามขึ้นว่า
       "แม่จ๋า! น้องภีมะกลับจากท่าน้ำมาก่อนพวกเรา แต่ข้าก็ไม่เห็นเขา ไม่ทราบว่าแม่ใช้ให้ภีมะไปที่ไหนหรือเปล่า".
       ได้ฟังดังนี้ อุระของนางกุนตีก็เต้นระทึกด้วยความห่วงใยในสวัสดิภาพของภีมะผู้โอรส แล้วนางก็อุทานขึ้นว่า
       "ตั้งแต่พวกเจ้าลาแม่ไปเล่นน้ำกันในตอนเช้าแล้ว แม่ยังไม่เห็นลูกภีมะกลับมาเลย จะมีเหตุร้ายประการใดเกิดขึ้นหรือเปล่าก็สุดรู้ ขอพวกเจ้าจงรีบไปตามหาน้องมาให้ได้เถิด".
       ครั้นแล้วนางกุนตีก็รับสั่งให้มหามติ วิทูร ผู้เป็นปิตุลา02. ของยุธิษฐิระเข้าเฝ้า แล้วเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นให้มหามติวิทูรฟังอย่างละเอียด พลางรับสั่งว่า
---------------
01. น้ำอมฤต คือน้ำทิพย์ และน้ำอมตะ นัยว่าผู้ใดได้ดื่มแล้วจะมีพลังมหาศาล.
02. ปิตุลา ในที่นี้คือน้องชายของพ่อ.

60
       "การกระทำครั้งนี้ต้องเป็นฝีมือของทุรโยธน์โดยไม่ต้องสงสัย หม่อมฉันเชื่อว่า เขาต้องฆ่าลูกภีมะของหม่อมฉันแน่นอน".
       มหามติวิทูรทูลว่า "เจ้าพี่! โปรดรับสั่งค่อย ๆ มิฉะนั้นแล้ว หากทุรโยธน์ได้ยินเข้า เรื่องจะไปกันใหญ่ เพราะทุรโยธน์เป็นคนที่มีพิษสงร้ายกาจมาก ขอเจ้าพี่จงอย่าได้เป็นห่วงถึงภีมะเลย เพราะหม่อมฉันเคยได้ยินท่านฤๅษีวฺยาสพูดว่าโอรสทั้ง 5 องค์ของเจ้าพี่นั้นล้วนมีชนมายุยืนนาน ภยันตรายใด ๆ จะมากล้ำกรายโดยง่ายไม่ได้ คำพูดของฤๅษีวฺยาสไม่เคยปรากฎเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นเจ้าพี่จงวางพระทัยได้ ภีมกุมารคงจะเสด็จกลับในไม่ช้า".
       คำพูดของมหามติวิทูรได้ช่วยให้นางกุนตีและลุก ๆ คลายความกังวลลงได้บ้าง แต่ในห้วงลึกแห่งหัวใจนั้น ทุกองค์ก็ยังอดที่จะรู้สึกเป็นห่วงภีมะไม่ได้.
       ทางด้านภีมะนั้น หลังจากที่ได้อยู่ในราชธานีของพญานาควาสุกรีอย่างสุขสำราญนับเป็นเวลาได้แปดวัน ก็ให้รู้สึกคิดถึงมารดาและพี่น้องเป็นกำลังระหว่างนั้น น้ำอมฤตที่ดื่มเข้าไปมากมายก็ได้ช่วยให้ภีมะมีพลังประดุจช้างสารนับได้เป็นพัน ๆ บรรดาฝูงนาคต่างก็ช่วยปรนนิบัติดูแลภีมะเป็นอย่างดี และเมื่อได้ทราบว่าภีมะคิดถึงบ้าน ก็จัดการเลี้ยงอำลา แล้วพาภีมะจากบาดาลโลกขึ้นมาส่งจนถึงท่าน้ำที่มีชื่อว่า ประมาณโกฎิ พอกลับถึงมนุษยโลก ภีมะก็รีบรุดกลับเข้าสู่วัง เพื่อจะได้เห็นหน้ามารดาและญาติพี่น้องทั้งปวง.
       ฝ่ายนางกุนตี เมื่อได้เห็นภีมะกลับมาโดยปลอดภัย ก็ดีใจเป็นกำลัง นางรีบเข้าไปสวมกอดลูกรักไว้กับทรวงอก แล้วไต่ถามเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นซึ่งภีมะก็ได้เล่าให้มารดาฟังอย่างละเอียด เมื่อได้ฟังเรื่องจบลงแล้ว ยุธิษฐิระซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยก็หัันไปป้องปากพูดกับภีมะว่า
       "น้องรัก เรื่องนี้น้องต้องเก็บไว้เป็นความลับนะ อย่าได้ไปแพร่งพรายให้ใครรู้เป็นอันขาด"
       นับแต่นั้นมา พี่น้องปาณฑพทั้ง 5 ก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น ทางฝ่ายทุรโยธน์ซึ่งมีบิดาคือ ท้าวธฤตราษฎร์ และลุงคือ ท้าวศกุนิ01. เป็นที่ปรึกษา ก็คอยจ้องหาโอกาสที่จะทำลายล้างพี่น้องปาณฑพและมารดาให้จงได้.
---------------

01. ศกุนิ เป็นพี่ชายของนางคานธารี ผู้เป็นมารดาของทุรโยธน์.
 
61
      เป็นประเพณีของโอรสในตระกูลกษัตริย์สมัยนั้นที่จะต้องเล่าเรียนวิชาการรบ ซึ่งเรียกว่า ศัสตรวิทยา พร้อมกันไปกับการศึกษาศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ กุมารทั้งสองตระกูล คือ ทั้งฝ่ายยุธิษฐิระทั้ง 5 และฝ่ายทุรโยธน์ทั้ง 100 จึงเข้าฝึกวิชาการรบจากพราหมณ์ ผู้มีชื่อว่า กฤปาจารย์.
       วันหนึ่ง กุมารทั้งสองตระกูลได้ออกไปเล่นลูกคลีกรีฑากันในสนามภายในพระราชวัง บังเอิญลูกคลีได้ตกไปในบ่อน้ำลึกซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กุมารทั้งหลายต่างพยายามที่จะกู้ลูกคลีขึ้นมาให้พ้นจากบ่อให้ได้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดทำได้สำเร็จ ในที่สุดด้วยความหมดหวัง ต่างก็ลงนั่งจับเจ่ามองหน้ากัน.
       ขณะนั้น มีพราหมณ์ชราผู้หนึ่งเดินผ่านมาทางนั้น แม้เส้นผมที่ปกคลุมศีรษะจะมีสีขาวด้วยอายุล่วงไป แต่ใบหน้าของพราหมณ์ผู้นั้นก็อิ่มเอิบด้วยประกายแห่ง พรหมเดช01. ในมือของพราหมณ์มีคันธนู และมีแล่งเก็บลูกศรเต็มสะพายอยู่บนบ่า.
       กุมารทั้งหลายต่างวิ่งไปห้อมล้อมพราหมณ์พร้อมกับขอความช่วยเหลือให้ช่วยกู้ลูกคลีขึ้นมาจากบ่อ เมื่อได้ทราบเรื่องราวและเห็นลูกคลีอยู่ในบ่อเช่นนั้น พราหมณ์จึงหันหน้าไปพูดกับกุมารเหล่านั้นว่า.
       "น่าเสียดายที่พวกเธอเกิดในตระกูลกษัตริย์ ได้เล่าเรียนวิชาอาวุธและศิลปศาสตร์มาก็มากมาย แต่ไม่สามารถที่จะกู้ลูกคลีขึ้นมาจากบ่อน้ำได้ เอาเถอะเราจะแสดงอะไรให้เธอทั้งหลายดูสักอย่างหนึ่ง เราจะทิ้งแหวนของเราลงไปในบ่อน้ำนี้ แล้วเราก็ จะเอาทั้งแหวนของเราและลูกคลีของเธอขึ้นมาจากบ่อน้ำ ให้เธอดู ว่าแต่ว่า หากเราทำได้สำเร็จ พวกเธอจะให้อะไรแก่เราเล่า".
       ยุธิษฐิระตอบแทนน้อง ๆ ว่า.

---------------
01. พลังอันเกิดจากการรักษาพรหมจรรย์.

62
       "มหาราช!01. หากท่านทำได้ พวกข้าพเจ้าจะบูชาท่านด้วยเครื่องไทยธรรม ซึ่งคงจะช่วยให้ท่านไม่ต้องกังวลในเรื่องขบฉันไปได้หลายเพลาทีเดียว".
       ได้ฟังดังนี้ พราหมณ์จึงหยิบลูกศรขึ้นมาจากแล่งกำมือหนึ่ง แล้วใช้ศรลูกแรกขึ้นสายธนูไปปักติดไว้กับลูกคลี ต่อจากนั้นก็ใช้ศรลูกอื่นยิงไปเสียบกับปลายของศรลูกนั้นต่อ ๆ กันขึ้นมาจนถึงขอบบ่อ ครั้นแล้ว พราหมณ์ก็ดึงเอาลูกคลีขึ้นมาได้.
       กุมารทั้งหมดต่างพากันรู้สึกอัศจรรย์ใจในความสามารถของพราหมณ์และด้วยวิธีเดียวกันนี้ พราหมณ์ก็สามารถเก็บเอาแหวนซึ่งตนโยนลงไปในบ่อน้ำขึ้นมาได้ภายในเวลาอันไม่ช้านัก.
       ด้วยความฉงนสนเท่ห์เป็นที่ยิ่ง กุมารทั้งหลายก็พากันมาก้มกราบ ณ แทบเท้าของพราหมณ์เฒ่าแล้วกล่าวว่า.
       "มหาราช ท่านต้องมิใช่บุคคลธรรมดาแน่ ๆ ได้โปรดบอกสิว่าท่านเป็นใคร และจะให้พวกเรารับใช้ท่านได้ด้วยประการใด"
       พราหมณ์ตอบว่า "ดูกร กุมาร เธอจงไปทูล ท้าวภีษมะ ผู้อัยกา (ปู่) ของเธอให้ทรงทราบถึงเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในวันนี้เถิด แล้วพวกเธอก็จะทราบเองว่าเราเป็นใคร".
       กุมารพี่น้องทั้งสองตระกูลจึงกลับเข้าไปในพระราชวัง แล้วทูลเล่าให้ท้าวภีษมะผู้อัยกาฟังถึงเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้น ท้าวภีษมะรับสั่งว่า "บุคคลผู้นี้จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกเสียจากพราหมณ์โทฺรณาจารย์ เพราะไม่มีใครที่ยิงธนูได้แม่นยำดั่งที่พวกเจ้าได้เล่าให้ปู่ฟังมาทั้งหมดนี้".
       อันที่จริง เป็นความประสงค์ของท้าวภีษมะมาตั้งแต่ต้นแล้วที่จะให้กุมารผู้เป็นนัดดา (หลาน) ทั้งหมดได้ฝึกฝนเล่าเรียนวิชาการยิงธนูจากพราหมณ์โทฺรณาจารย์ ดังนั้น เมื่อพราหมณ์ผู้ชำนาญในศิลปะการรบมาถึงยังประตูวังเช่นนี้ จึงก่อให้เกิดความปีติยินดีแก่ท้าวภีษมะเป็นอย่างยิ่ง ท้าวเธอจึงรีบเสด็จไปอาราธนาโทฺรณาจารย์ให้เข้ามาในพระราชวัง.
---------------

01. มหาราช เป็นคำที่ใช้กับนักบวชในอินเดีย โดยเฉพาะกับพราหมณ์ ในอินเดียสมัยโบราณนั้น พราหมณ์มีหน้าที่ให้ความรู้แก่เยาวชน และยังชีพอยู่ได้ด้วยการบริจาคของผู้อื่น.
 
63
       โทฺรณาจารย์ หรือ อาจารย์โทฺรณะ เป็นบุตรของ ฤษีรัทวาช โทฺรณาจารย์ได้พากเพียรเรียนศิลปวิทยาทุกแขนงอย่างแตกฉาน แต่มีความเชี่ยวชาญในธนุรฺวิทยาหรือวิชาการยิงธนูเป็นพิเศษ นอกจากนี้ โทฺรณาจารย์ยังได้รับศัสตราวุธนานาประการ จากฤษีปรศุรามผู้ปรามาจารย์ในวิชาการรบไว้เป็นเครื่องป้องกันตัวอีกด้วย สรุปแล้ว ในด้านการรบพุ่งนั้น ยากที่จะมีผู้ใดเสมอเหมือนอาจารย์โทฺรณะได้.
       โทฺรณะมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อครั้งยังศึกษาวิชาอยู่ด้วยกัน เขาผู้นั้นคือ เจ้าชายทรุปัท (ทรุ-ปะ-ทะ) ผู้โอรสของ ท้าวปฤษกะ กษัตริย์แห่งแคว้นปัญจาละ ครั้งหนึ่งเจ้าชายทรุปัทกล่าวแก่โทฺรณะว่า หากได้สืบราชสมบัติแทนบิดาเมื่อไร "เรายินดีที่จะรับท่านเป็นอาจารย์ในราชสำนักของเรา" โทฺรณาจารย์จดจำคำสำคัญข้อนี้ของเจ้าชายทรุปัทใส่ใจอยู่ตลอดเวลา.
       โทฺรณะได้แต่งงานกับน้องสาวฤษี กฤปะ ผู้เป็นอาจารย์คนแรกของพี่น้องตระกูลปาณฑพและเการพ ทั้งสองมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่อ อัศวัตถามา โทฺรณาจารย์มีแต่ความยากจนเป็นสมบัติ เช่นเดียวกับผู้ที่เกิดในสกุลพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่ เพราะพราหมณ์ที่แท้จริงนั้นย่อมใฝ่แต่จะสร้างคุณธรรมความดี หาใช่เงินทองหรือทรัพย์สมบัติไม่ ดังนั้น โทฺรณะจึงขัดสนเงินทอง แม้แต่จะซื้อน้ำนมให้ลูกกินก็แทบจะไม่มี ดังนั้น ระหว่างที่เป็นเด็กอยู่ อัศวัตถามาจึงมักจะร้องไห้ ในเมื่อเห็นเด็ก ๆ เพื่อนเล่นของตนมีน้ำนมดื่มหรือมีขนมรับประทาน แต่ตนไม่มีกับเขา ในยามเช่นนั้น เพื่อน ๆ จะวิ่งไปขอน้ำซาวข้าวซึ่งมรสีขาวคล้ายน้ำนมจากแม่ ๆ มาให้อัสวัตถามากิน อัศวัตถามาก็จะกินน้ำซาวข้าวนั้นด้วยความดีใจเพราะคิดว่าเป็นน้ำนม ครั้นแล้ว เพื่อน ๆ ก็จะโห่ให้และหัวเราะอย่างสนุกสนาน พร้อมกับพูดจาเหยียดหยามว่า "ก็เกิดมามีพ่อเป็นพราหมณ์ที่ยากจนนี่นา จะไปมีน้ำนมกินได้อย่างไรกันเล่า".
       อัศวัตถามาได้ฟังดังนั้นก็เสียใจร้องไห้โฮรีบวิ่งกลับไปเล่าให้บิดาฟัง โทฺรณะให้รู้สึกเสียใจในความยากจนของตนเป็นอย่างยิ่ง คิดไปคิดมาก็ระลึกถึงทรุปัทผู้เป็นสหายมาตั้งแต่เยาว์วัย.

64
และผู้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ตนหากได้สืบราชสมบัติแทนพระบิดา บัดนี้ ทรุปัทก็ได้เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นปัญจาละแล้ว ดังนั้น โทฺรณะจึงสู้ฝ่าฟันความยากลำบากเดินทางไปเฝ้าท้าวทรุปัทจนถึงนครหลวงของแคว้นปัญจาละ แต่เมื่อได้เห็นหน้าและได้ฟังคำพูดของโทฺรณาจารย์เข้า แทนที่จะให้ความอุปการะช่วยเหลือดังเช่นที่ได้เคยลั่นวาจาไว้ ท้าวทรุปัทกลับแสดงท่าทีไม่ต้อนรับโทฺรณะ ถึงกลับกล่าวว่า ตนเองนั้นไม่เคยรู้จักโทฺรณาจารย์ และถึงอย่างไร ๆ กษัตริย์ผู้เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สินศฤงคารเช่นตนนั้น จะเป็นมิตรกับพราหมณ์ผู้ยากจน เช่นโทฺรณะหาได้ไม่ โทฺรณะทนฟังคำพูดอันเหยียดหยามของท้าวทรุปัทไม่ได้ จึงสะบัดหน้าเดินออกจากราชสำนักของท้าวทรุปัทไปในทันที โทฺรณะมุ่งหน้าเดินทางสู่แคว้นหัสตินาปุระพร้อมกับตั้งปณิธานไว้ในใจว่าจะต้องล้างแค้นความยโสโอหังของท้าวทรุปัทราชาแห่งแคว้นปัญจาละให้จงได้.
       โทฺรณาจารย์หรืออาจารย์โทฺรณะเดินทางรอนแรมมาในป่าเป็นเวลาหลายวันจนถึงนครหัสตินาปุระ และขณะที่ถึงชานนครแห่งนั้นก็เป็นเวลาที่โอรสแห่งราชตระกูลเการพและปาณฑพกำลังเล่นลูกคลีกันอยู่ และบังเอิญลูกคลีตกลงไปในบ่อน้ำ กุมารทั้งหมดก็พยายามที่จะหาทางกู้เอาลูกคลีขึ้นมาดั่งที่ได้พรรณนาไว้แล้วข้างต้น.
       เมื่อได้จัดการต้อนรับและให้สถานที่พักพิงแก่โทฺรณาจารย์เรียบร้อยแล้ว ท้าวภีษมะก็มอบหมายให้โทฺรณาจารย์ลงมือฝึกวิชายิงธนูหรือที่เรียกว่า ธนุรฺวิทยาแก่หลาน ๆ ในตระกูลเการพและปาณฑพของตน ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติตามคำขอร้องของท้าวภีษมะ โทฺรณาจารย์ได้ขอคำมั่นสัญญาจากศิษย์สกุลเการพและปาณฑพว่า จะต้องช่วยทำงานให้อาจารย์สักอย่างหนึ่ง ซึ่งจะได้ชี้แจงให้ทราบภายหลังในเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว บรรดาศิษย์ทั้งหลายซึ่งมีอรชุนเป็นผู้แทนก็รับปากว่า ยินดีจะตอบแทนบุญคุณทุกประการแล้วแต่อาจารย์จะสั่งมา โทฺรณาจารย์ดีใจถึงกับน้ำตาไหลและเข้าไปสวมกอดอรชุนเมื่ออรชุนพูดจบ.
       โทฺรณาจารย์เริ่มการฝึกวิชายิงธนูให้แก่พี่น้องเการพและปาณฑพอย่างขมีขมัน ระหว่างที่ฝึกอยู่นั้น มีโอรสกษัตริย์และศิษย์ภายนอกเข้าร่วมเรียนอยู่ด้วย 2-3 คน คนหนึ่งมีชื่อว่า กรรณะ ซึ่งเป็นลูกของ อธิรถะ สารถีของท้าวธฤตราษฎร์ ดั่งที่ได้พรรณนามาแล้ว.

 

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "เล่าเรื่องมหาภารตะ," โดย มาลัย (จุฑารัตน์) ไม่ทราบปีที่เขียน, เข้าถึงจากอินเทอร์เน็ตเมื่อ 3 สิงหาคม 2565.
04จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
05. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.

 
info@huexonline.com