MENU
TH EN

04. วีรตบรรพ หรือ วิราฏบรรพ - บรรพแห่งท้าววิราฏ

วิราฎบรรพในมหาภารตะ, ที่มา: www.templepurohit.com, วันที่เข้าถึง: 24 กรกฎาคม 2565.
04. วีรตบรรพ หรือ วิราฏบรรพ - บรรพแห่งท้าววิราฏ01,02,03,04.
First revision: Jul.24, 2022
Last change: Oct.19, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
142
       บัดนี้เป็นปีสุดท้ายคือปีที่ 13 ที่พี่น้องปาณฑพทั้ง 5 และนางเทฺราปทีผู้ชายาจะต้องซ่อนตนให้พ้นจากการจำได้ของฝ่ายเการพ มิฉะนั้นแล้วก็เร่ร่อนอยู่ในป่าต่อไปอีกเป็นเวลา 12 ปี ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ฝ่ายปาณฑพเล่นพนันสกาแพ้ฝ่ายเการพตามที่ได้พรรณนามาแล้ว.
       ในบรรดารัฐหรือแว่นแคว้นต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในชมพูทวีปสมัยนั้น เช่น แคว้นปัญจาละ แคว้นเจทิ แคว้นสุราษฎร์ แคว้นอวันตี เป็นต้น แคว้นมัตสยะ ซึ่งอยู่ในความปกครองของท้าววิราฏ นับว่าเป็นแคว้นที่พี่น้องปาณฑพติดใจใคร่จะไปขอซ่อนตัวลี้ภัยอยู่ด้วยมากที่สุด เพราะท้าววิราฏได้ชื่อว่าเป็นพระราชาที่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม แต่การจะไปขอลี้ภัยอยู่ด้วยอย่างตรงไปตรงมานั้น เห็นทีจะไม่ปลอดภัยนัก ดังนั้น ยุธิษฐิระจึงปรึกษากับน้อง ๆ แล้วก็ตัดสินใจปลอมตัว และใช้ชื่อดังต่อไปนี้.
       ยุธิษฐิระ ปลอมตัวเป็นพราหมณ์มีชื่อว่า กังกะ (Kanka) มีความชำนาญในการเล่นสกาเป็นพิเศษ เพราะท้าววิราฏก็โปรดการเล่นสกาเช่นเดียวกับราชามหากษัตริย์ส่วนใหญ่ในสมัยนั้น หากจำเป็นจริง ๆ เมื่อมีใครถาม ก็จะได้บอกว่าเคยอยู่และเป็นมิตรกับยุธิษฐิระ.
       ภีมะ ปลอมตัวเป็นพ่อครัวมีชื่อว่า วัลละ นอกจากชำนาญเรื่องการปรุงอาหารแล้ว ยังเล่นและเป็นครูสอนมวยปล้ำได้อีกด้วย ทั้งนี้เพราะภีมะหรือภีมเสนนั้น ร่างกายกำยำ สูงใหญ่กว่าเพื่อน.

เหล่าภราดาปาณฑพและนางเทฺราปที ปลอมตัว เปลี่ยนชื่อและทำหน้าที่ต่าง ๆ ในวังของท้าววิราฏ, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 2 ตุลาคม 2565.
143
       อรชุน มีรูปร่างสะโอดสะองคล้ายหญิง และโดยเหตุที่มีความรู้ในเรื่องดีดสีตีเป่าและฟ้อนรำ พี่น้องจึงเห็นว่าควรปลอมตัวเป็นสตรีผู้สอนนาฏศิลป์และดนตรี มีชื่อปลอมว่า พฤหันนลา (Brihannala).
       นกุล มีความชำนาญในการเลี้ยงม้า จึงควรจะสมัครเป็นคนเลี้ยงม้าและมีชื่อว่า ทามครันถี.
       สหเทพ มีความชำนาญในเรื่องเลี้ยงวัวและแพะแกะ จึงควรอาสาเข้าทำงานในด้านนี้ โดยมีชื่อว่า ตันตริปาละ.
      ส่วนนางเทฺราปทีนั้น มีความสามารถในการแต่งผมและเสริมสวย ควรจะสมัครเข้าไปเป็นสาวใช้ของนางสุเทศนา ผู้เป็นราชินีของท้าววิราฏ และควรใช้ชื่อปลอมว่า ไศรันธรี (Sairandhri).
       นอกจากนี้ พี่น้องทั้ง 5 ยังมีชื่อรหัสซึ่งรู้กันเองโดยเฉพาะดังต่อไปนี้คือ ยุธิษฐิระ มีชื่อว่า ชัย ภีมะมีชื่อว่า ชยันต์ อรชุนว่า วิชัย นกุลว่า ชยัตเสน และสหเทพว่า ชยัทพล.
       เมื่อได้ปรึกษาและตกลงหน้าที่กันเรียบร้อยแล้ว ภราดาปาณฑพและชายาก็มุ่งหน้าไปสู่นครหลวงของแคว้นมัตสยะ อันเป็นที่ประทับของท้าววิราฏ ก่อนที่จะเข้าประตูเมือง อรชุนไม่ลืมที่จะรวบรวมศัสตราวุธของตนเองและของพี่น้อง แล้วปีนขึ้นไปซ่อนไว้บนต้นศมีใหญ่ต้นหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อว่า หากจำเป็น ก็จะได้กลับมานำเอาอาวุธเหล่านั้นไปใช้ได้ทันท่วงที.
ต้นศมี (Shami tree), ที่มา: quora.com, วันที่เข้าถึง: 30 กันยายน 2565.

       เมื่อได้ซักซ้อมและเตรียมเนื้อเตรียมตัวกันเรียบร้อยแล้ว ปาณฑพทั้งห้าพร้อมด้วยนางเทฺราปทีก็เข้าไปเฝ้าท้าววิราฏ พลางพรรณนาถึงความทุกข์ยากให้ฟัง พร้อมทั้งขอรับอาสาเป็นข้ารับใช้ในหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ท้าววิราฏนั้นเป็นราชันที่มีพระทัยโอบอ้อมอารีอยู่แล้ว จึงทรงรับพี่น้องปาณฑพและนางเทฺราปทีไว้ และได้แบ่งหน้าที่ให้ทำตามความถนัดของแต่ละคน โดยเฉพาะนางเทฺราปทีนั้นได้รับการโปรดปรานจากนางสุเทศนาผู้รานีของท้าววิราฏเป็นพิเศษ เพราะนางปฏิบัติหน้าที่ได้ดีมาก.

144
       ในตอนปลายของปีที่ 13 แห่งการปลอมแปลงตนไปรับใช้อยู่ในราชสำนักของท้าววิราฏนั้น ได้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น กล่าวคือ กีจกะ (Kīcaka บ้างก็เขียน Kichaka) ผู้เป็นแม่ทัพของแคว้นวิราฏและเป็นน้องชายของรานีสุเทศนา ได้ประพฤติตนในทำนองลวนลามนางเทฺราปที ภีมะเห็นเข้าและสุดที่จะระงับโทสะไว้ได้ จึงเข้าห้ามปรามและตักเตือน แต่กีจกะกลับใช้กำลังเข้าตอบโต้จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ยังผลให้กีจกะเสียชีวิตด้วยน้ำมือของภีมะ.
       ข่าวการเสียชีวิตของกีจกะผู้เป็นแม่ทัพแห่งวิราฏได้แพร่สะพัดไปยังแคว้นใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว มีอยู่แคว้นหนึ่งชื่อว่า ตฺริครรตะ (Trigarta) อยู่ในความปกครองของท้าวสุศรฺมา (Susarma) แคว้นตฺริครรตะเคยถูกกองทหารของกีจกะเข้าไปปล้นสะดมทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยง (มักจะเป็นฝูงโคของราษฎร) อยู่เนือง ๆ และโดยเหตุที่มีกำลังน้อยกว่า จึงไม่สามารถจะต่อสู้ได้ บัดนี้เมื่อมีข่าวว่ากีจกะได้สิ้นชีวิตลง ท้าวสุศรฺมาจึงดีพระทัย รีบยกกองทัพไปล้อมนครหลวงของแคว้นมัตสยะเพื่อล้างแค้นทันที ท้าววิราฏได้นำกองทหารออกสู้รบกับฝ่ายตฺริครรตะเอง แต่ได้เพลี่ยงพล้ำถูกท้าวสุศรฺมาจับเป็นเชลยไปขังไว้ในแคว้นตฺริครรตะ.
       ยุธิษฐิระกับน้อง ๆ ซึ่งระหว่างนั้นยังคงปลอมกายอาศัยอยู่ในราชสำนักของท้าววิราฏ ยุธิษฐิระกับน้องอีก 3 คนคือ ภีมะ นกุล และสหเทพ ได้คุมทหารออกติดตามท้าวสุศรฺมาไปจนถึงแคว้นตฺริครรตะ ส่วนอรชุนซึ่งระหว่างนั้นปลอมตัวเป็นสาวใช้ของรานีสุเทศนามิได้ไปด้วย หากได้รับคำสั่งจากยุธิษฐิระให้คอยคุมสถานการณ์ และดูแลความปลอดภัยอยู่เบื้องหลัง.
       ระหว่างที่แคว้นมัตสยะดูจะไม่มีทหารเหลืออยู่เลย เพราะได้ติดตามไปช่วยท้าววิราฏจนถึงแดนของศัตรู คือแคว้นตฺริครรตะแห่งท้าวสุศรฺมาดังกล่าวแล้วในช่วงนี้เอง กองสอดแนมของฝ่ายทุรโยธน์ได้จับตาดูความเคลื่อนไหวของทุกฝ่ายอยู่ตลอดเวลา และได้รายงานให้ทุรโยธน์ทราบ ด้วยเจตนาที่จะช่วยท้าวสุศรฺมาผู้เป็นมิตร ทุรโยธน์จึงตัดสินใจยกกองทัพไปตีแคว้นมัตสยะ กองทัพของทุรโยธน์ซึ่งยกไปครั้งนี้มีภีษมะผู้เป็นปู่ของทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพร่วมไปด้วย นอกจากนี้ก็มีกรรณะ อาจารย์กฤปะ อาจารย์โทฺรณะ และอัศวัตถามาช่วยคุมทัพไปอย่างใกล้ชิด.
145
       กองทัพของทุรโยธน์ยังมิทันจะถึงเมืองหลวงของแคว้นมัตสยะ ทหารของฝ่ายมัตสยะก็รีบนำความไปทูลให้เจ้าชายภูมิญชัย โอรสของท้าววิราฏ ซึ่งขณะนั้นรักษาราชการแทนพระบิดาได้ทราบ ภูมิญชัยรีบจัดกำลังรบออกไปเผชิญหน้ากับฝ่ายทุรโยธน์ แต่พอได้เห็นกำลังอันมหาศาลของฝ่ายทุรโยธน์ ภูมิญชัยก็หมดกำลังใจที่จะสู้ รีบขับรถรบหนีกลับเข้านคร อรชุนซึ่งระหว่างนั้นปลอมตนเป็นสาวใช้ของรานีสุเทศนาอยู่เห็นเหตุการณ์เข้าขั้นคับขัน ประกอบกับขณะนั้นท้าววิราฏกับพี่น้องของตนก็ยกกำลังไปรบกับแคว้นตฺริครรตะหมด อรชุนจึงตัดสินใจแสดงตน โดยขอให้ภูมิญชัยเป็นสารถีขับรถรบให้ แล้วตนเองก็นำหน้ากองทหารฝ่ายมัตสยะเข้าโรมรันกับฝ่ายทุรโยธน์ก่อนที่จะออกสู่สมรภูมิ อรชุนไม่ลืมที่จะแวะเอาอาวุธซึ่งซ่อนไว้บนต้นศมีใหญ่ติดตัวไปด้วย.
       ทหารของฝ่ายมัตสยะกับทหารของฝ่ายเการพสู้รบกันอยู่เป็นเวลานาน ระหว่างการต่อสู้ อรชุนได้เห็นเสด็จปู่ภีษมะ อาจารย์โทฺรณะ และอาจารย์กฤปะยืนอยู่ข้างฝ่ายศัตรู ดังนั้น เพื่อแสดงความคารวะต่อพระญาติผู้ใหญ่และอาจารย์ อรชุนจึงใช้ธนูคาณฑีวะคู่ชีพยิงลูกศรไปตก ณ แทบเท้าของบุคคลทั้งสามคนละสองดอก พร้อมกันนั้นก็เป่าสังข์ซึ่งมีชื่อว่า เทวทัตตะ ด้วย ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกงงงวยเพราะไม่คิดว่าจะได้เห็นอรชุน ณ ที่นั้น โดยเฉพาะ ภีษมะนั้นทราบทันทีว่า บัดนี้ครบ 13 ปีแห่งการเนรเทศตนเองไปอยู่ในป่าของกลุ่มภราดาปาณฑพตามเงื่อนไขแห่งการแพ้พนันสกาแล้ว เพราะถ้าไม่เช่นนั้น อรชุนซึ่งเป็นหนึ่งในห้าปาณฑพ จะไม่ไปปรากฎตนด้วยการเป่าสังข์และยิงธนูให้เห็นเป็นอันขาด.
       ด้วยสายตาที่มองเห็นเหตุการณ์ไกลและด้วยความหวังดีต่อทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพ ภีษมะรัฐบุรุษผู้เฒ่าจึงกล่าวขึ้นกับทุรโยธน์ว่า.
       "ทุรโยธน์หลานรัก! ปู่เกรงว่าเหตุการณ์จะไปกันใหญ่ เพราะเป็นที่เห็น ๆ กันอยู่แล้วว่า ศัตรูที่เรากำลังจะเปิดฉากรบอยู่นี้ หาใช่ฝ่ายมัตสยะแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ หากมีพี่น้องปาณฑพทั้งห้าเป็นกำลังช่วยรบอยู่ด้วย เพียงอรชุนคนเดียว พวกเราก็แทบจะเสียทีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ปู่มีความเห็นว่าพวกเราควรจะยกทัพกลับยังนครหัสตินาปุระของเราเสียจะดีกว่า".


146
       แต่โดยอหังการและอติมานะ ทุรโยธน์หาได้ฟังคำเตือนของภีษมะไม่ ตรงข้าม กลับสั่งให้ทหารของตนโถมเข้าโรมรันกับทหารของฝ่ายมัตสยะและอรชุนทันที.
       การรบได้ดำเนินไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในที่สุด กองทหารของทุรโยธน์ก็แตกกระเจิงด้วยอาวุธวิเศษชื่อ สัมโมทัน ซึ่งอรชุนได้รับจากพระอินทร์เมื่อครั้งบำเพ็ญตบะอยู่ในป่าหิมาลัย ฝ่ายทุรโยธน์ต้องถอยทัพกลับนครหัสตินาปุระ ด้วยความเสียหายอย่างยับเยิน.
       ข้างยุธิษฐิระกับน้องอีก 3 คนคือ ภีมะ นกุล และสหเทพ ซึ่งยกทัพไปยังแคว้นตฺริครรตะ เพื่อช่วยท้าววิราฏให้เป็นอิสระนั้น ก็ได้รบชนะฝ่ายท้าวสุศรุมาและสามารถชิงตัวท้าววิราฏกลับคืนสู่แคว้นมัตสยะได้ด้วยความปลอดภัย.
       ทั้งสองฝ่ายเมื่อได้กลับมาพบกันพร้อมหน้า ก็ให้เกิดความยินดีปรีดาเป็นอย่างยิ่ง ท้าววิราฏได้ตรงเข้าสวมกอดภูมิญชัย และชมความเก่งกล้าที่สามารถชนะกองทัพของทุรโยธน์ได้ แต่ภูมิญชัยได้ทูลให้พระบิดาทราบตามความเป็นจริงว่า ที่รบชนะนั้นเป็นเพราะความช่วยเหลือของอรชุน ซึ่งตลอดเวลาได้ปลอมแปลงตนเป็นพฤหันนลา สาวใช้ของพระมารดาอยู่ภายในราชสำนัก.
       เมื่อเหตุการณ์ได้คลี่คลายมาถึงขั้นนั้น ประกอบกับเวลา 13 ปีแห่งวนวาสหรือการอยู่ป่าของฝ่ายตนก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว อรชุนจึงตัดสินใจทูลเปิดเผยความจริงให้ท้าววิราฏทราบ เมื่อได้ทราบความจริงเช่นนั้น ท้าววิราฐก็บังเกิดความปีติเป็นอย่างยิ่ง เพราะอันที่จริงแล้วพระองค์ก็ทรงสงสัยอยู่แล้วว่า เหตุไฉนยุธิษฐิระและน้องอีก 3 คน จึงเก่งกล้าสามารถในการรบนัก ดีร้ายชายหนุ่มกลุ่มนี้คงจะเป็นกษัตริย์หรือผู้ดีตกยากมาจากตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นแน่แท้!.
       ด้วยความปีติและปรารถนาที่จะได้เป็นทองแผ่นเดียวกันในวันข้างหน้า ท้าววิราฏจึงเสนอต่อยุธิษฐิระ ขอยกเจ้าหญิงอุตตรา (Uttarā บ้างก็เขียน Uttari) ธิดาของพระองค์และอนุภคินีของเจ้าชายภูมิญชัยให้แก่อรชุน แต่อรชุนปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า ตัวเขานั้นตลอดเวลาที่อยู่ในราชสำนัก ได้มีความใกล้ชิดกับเจ้าหญิงอุตตราเยี่ยงบิดากับบุตรและอาจารย์กับศิษย์ (เพราะอรชุนเป็นครูสอนนาฏศิลป์และดนตรีให้แก่นางอุตตรา)
147
แต่เขารู้สึกซาบซึ้งในความเมตตาปรานีของท้าววิราฏเป็นอย่างยิ่ง จึงใคร่จะขอยกความเมตตานี้ ให้แก่อภิมันยุบุตรของเขาซึ่งเกิดจากเจ้าหญิงสุภัทรา อนุภคินีแห่งพระกฤษณะผู้ครองแคว้นทฺวารกา ซึ่งตามความเห็นของอรชุนแล้ว เป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นคู่ครองของเจ้าหญิงอุตตราและควรจะได้เป็นชามาดา (ลูกเขย) ของท้าววิราฏ.
       ท้าววิราฏทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอของอรชุน ต่อจากนั้นการเตรียมงานอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายอภิมันยุกับเจ้าหญิงอุตตราจึงได้เริ่มขึ้นอย่างมโหฬาร ยุธิษฐิระได้ส่งสาส์นไปทูลให้พระกฤษณะทรงทราบ เพื่อจะได้จัดการนำองค์อภิมันยุพร้อมกับเจ้าหญิงสุภัทราผู้ชนนีไปร่วมพิธีมงคลวิวาห์ ณ นครมัตสยะด้วย ในทำนองเดียวกันท้าววิราฏก็ได้ทรงส่งข่าวอันเป็นมงคลนี้ไปให้ราชามหากษัตริย์ บรรดาที่เป็นญาติและมิตรทั้งใกล้และไกลได้ทราบด้วย.
       ฝ่ายเการพซึ่งมีองค์ทุรโยธน์เป็นหัวหน้า เมื่อถอยกลับไปถึงนครหัสตินาปุระพร้อมด้วยความเสียหายอย่างยับเยินแล้ว ก็ให้ผู้ใจเจ็บแค้นฝ่ายปาณฑพอยู่ตลอดเวลา และกลัวว่าฝ่ายปาณฑพจะหาทางกลับมาแก้แค้น ทุรโยธน์จึงได้ปรึกษากับศกุนิผู้เป็นลุง ทั้งสองมีความเห็นว่า ฝ่ายปาณฑพผิดสัญญา กล่าวคืออรชุนได้ปรากฎตนให้เห็นด้วยการออกช่วยภูมิญชัยรบในเมื่อปีที่ 13 แห่งการอยู่ป่ายังไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นพี่น้องปาณฑพทั้งห้าพร้อมด้วยชายา จะต้องกลับเข้าไปอยู่ในป่าอีกเป็นเวลา 12 ปีตามที่ได้ตกลงกันไว้ ทุรโยธน์จึงส่งทูตไปยังราชสำนักของท้าววิราฏแล้วแจ้งเรื่องนี้ให้ฝ่ายปาณฑพทราบ.
       ธรรมบุตรยุธิษฐิระทรงพระสรวลแล้วรับสั่งกับทูตของฝ่ายทุรโยธน์ว่า.
       "เรื่องนี้พูดกันไปก็เห็นทีว่าจะไม่มีวันสิ้นสุดลงได้ ขอให้เจ้านายของท่านถามเสด็จปู่ภีษมะดูจะดีกว่า ว่าการอยู่ป่าของเรานั้นครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้แล้วหรือยัง เรายินดีปฏิบัติตามคำตัดสินของเสด็จปู่ภีษมะทุกประการ".
       ทูตรีบกลับไป แล้วรายงานคำตอบของยุธิษฐิระให้ทุรโยธน์ได้ทราบ.
       เมื่อถูกทุรโยธน์ถาม ภีษมะผู้เป็นพระญาติผู้ใหญ่ที่สุดของทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพก็ยืนยันว่า ฝ่ายปาณฑพได้อยู่ในป่ามาครบ 13 ปีตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว ขอให้ทุรโยธน์มีความอดกลั้น อย่าได้ทำสิ่งไรที่อาจจะเป็นชนวนก่อให้เกิดการสู้รบกับฝ่ายปาณฑพได้เป็นอันขาด.


148
       บัดนี้ จะขอกลับไปกล่าวถึงการเตรียมงานอภิเษกสมรสระหว่างอภิมันยุโอรสของอรชุนกับนางอุตตรา ธิดาสาวของท้าววิราฏ.
       บรรดาอาคันตุกะจากใกล้และไกลต่างก็เดินทางไปยังราชธานีของแคว้นวิราฏพร้อมด้วยของขวัญของกำนัลอันมีค่ามากมาย ในจำนวนอาคันตุกะเหล่านี้ที่เด่นที่สุดก็ได้แก่พระกฤษณะ เจ้าผู้ครองแคว้นทฺวารกา ผู้ได้รับความยกย่องนับถือจากราชามหากษัตริย์โดยทั่วไปว่า ทรงมีอาวุโส และรักความเป็นธรรมอย่างยอดเยี่ยม คงจะจำกันได้ว่า พระกฤษณะผู้นี้เป็นเชษฐภราดาของเจ้าหญิงสุภัทรา ชายาของอรชุนและชนนีของอภิมันยุ.
       พระกฤษณะได้ไปถึงนครหลวงของท้าววิราฏพร้อมด้วยพลรามผู้พี่ชาย เจ้าหญิงสุภัทรา อภิมันยุ ธฤษฏะทฺยุมัน ผู้โอรสของท้าวทรุปัทและอนุชาของเจ้าหญิงสุภัทราตลอดจนเจ้านายคนสำคัญอื่น ๆ แห่งชนเผ่ายาทพ หรือ วฤษณี อันเป็นชนเผ่าเดียวกับพระกฤษณะ ซึ่งมีรกรากอยู่ทางทิศตะวันตกของอินเดีย.
       พิธีอภิเษกสมรสได้เป็นไปอย่างเอิกเกริกมโหฬาร เฉพาะนางเทฺราปทีนั้นเมื่อได้เห็นพระพักตร์พระกฤษณะกับอภิมันยุ ก็ถึงกับร่ำไห้ด้วยความตื้นตันพระทัย นางได้ทูลขอพระกฤษณะ ให้ประทานความเป็นธรรมและช่วยสงเคราะห์ให้นางกับภัสดาทั้งห้าได้กลับคืนสู่นครอินทรปรัสถ์ให้จงได้ ทั้งนี้เพราะนางภัสดาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการเล่นสกาแพ้พวกเการพโดยครบถ้วนทุกประการแล้ว
       พระกฤษณะรับสั่งว่า.
       "น้องหญิงผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม! จงอย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย เคราะห์กรรมของน้องหญิงเห็นทีจะสิ้นสุดลงเพียงนี้ สำหรับเรานั้น ขอรับรองว่าจะอยู่เคียงข้างฝ่ายเป็นธรรมตลอดไป และจะพยายามช่วยให้น้องหญิงกับครอบครัวได้กลับคืนสู่นครอินทรปรัสถ์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้".

 
149
     อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นสุขที่สุดในโอกาสนั้นเห็นจะได้แก่ท้าววิราฏ บิดาของเจ้าหญิงอุตตรา ผู้ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นคู่ครองของอภิมันยุ โอรสผู้แกล้วกล้าของอรชุนไปแล้ว.

 
จบบรรพที่ 4: วิราฏบรรพ 


 

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.




 

info@huexonline.com