MENU
TH EN

15. อาศรมวาสิกบรรพ

ภาพแสดงนางกุนตีนำท้าวธฤตราษฎร์และนางคานธารีมุ่งสู่ป่าซึ่งเป็นขั้นตอนชีวิตบั้นปลาย ตามแบบคติพราหมณ์ สันยาสีหรือสันยาสะ (ผู้สละกรรม) , ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 23 สิงหาคม 2565.
15. อาศรมวาสิกบรรพ - บรรพแห่งอาศรม01,01,02,03,04.
First revision: Aug.23, 2022
Last change: Dec.07, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
248
"เย หิ สํสฺปรฺศชา โภคา, ทุะขโยนย เอว เต
อาทฺยนฺตวนฺตะ เกานฺเตย, น เตษุ รมเต พุธะ
"
แน่ะ เการฺเตย! ความสุขอันเกิดจากสัมผัสนั่นแหละ เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์
โดยแท้
เป็นความสุขที่มีเบื้องต้น (เกิด) และมีที่สุด (ดับ)
ผู้รู้ย่อมไม่เริงรมย์ในความสุขเหล่านั้นเลย



"ศกฺโนตีไหว ยะ โสฒุม, ปฺรากฺศรีรวิโมกฺษณาตฺ
กามโกฺร โธทฺภวํ เวคมฺ, ส ยุกตะ ส สุขี นระ
"
ในโลกนี้เอง ผู้ใดสามารถอดกลั้นอิทธิพลอันเกิดจากกาม และโกรธ
จนกระทั่งปลดร่าง ผู้นั้นเป็นโยคี เป็นคนมีความสุข

 
จากหนังสือ ศรีมัทภควัทคีตา แปลโดยศาสตราจารย์
ร.ต.ท.แสง มนวิทูร และราชบัณฑิต จำนงค์ ทองประเสริฐ
.
 
249
       ท้าวยุธิษฐิระและอนุชาทั้ง 4 ทรงปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในนครหัสตินาปุระและนครอินทรปรัสถ์ ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมาเป็นเวลา 15 ปี นับแต่มีการประกอบพิธีอัศวเมธตามที่ได้พรรณนามาแล้วในบรรพที่ 14 แม้จะมิได้ทรงเป็นกษัตริย์ แต่ท้าวธฤตราษฎร์ก็ทรงได้รับเกียรติและความอาทรเอาใจใส่จากภราดาปาณฑพเป็นอย่างดี ในด้านที่เกี่ยวกับบ้านเมืองแล้ว ไม่ว่าจะทรงทำอะไร ท้าวยุธิษฐิระเป็นต้องทูลให้พระปิตุลาคือท้าวธฤตราษฎร์ทรงทราบเพื่อทรงอนุมัติก่อนเสมอ โดยเฉพาะแล้ว ความสนิทสนมระหว่างนางกุนตีชนนีของปาณฑพกับนางคานธารีชนนีของเการพนั้นก็เป็นไปอย่างดียิ่ง เพราะทุกคนต่างลืมความหลังเสียสิ้น โดยถือว่าเป็นเรื่องกรรมเก่า ซึ่งไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้.
       อนึ่ง ในบรรดาโอรสของท้าวธฤตราษฎร์นั้นเหลือมีชีวิตอยู่รอดมาเพียงองค์เดียว คือ ยุยุตสุ มหามติวิทูร และสารถีสัญชัย ทั้ง 3 อำมาตย์นี้ มีหน้าที่คอยถวายความดูแลและปรนนิบัติท้าวธฤตราษฎร์ นางคานธารี และนางกุนตีอย่างใกล้ชิด พฤติการณ์เช่นนี้ นับว่าได้ช่วยให้ท้าวธฤตราษฎร์และนางคานธารีทรงคลายความโศกเศร้า อันเกิดจากการสูญเสียโอรสลงได้เป็นอย่างมาก.
---------------

01. บรรพนี้พรรณนาถึงการใช้ชีวิตอยู่ในอาศรมของท้าวธฤตราษฎร์ อีกทั้งเหตุการณ์สำคัญทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้น ณ อาศรมแห่งนั้น จึงได้ชื่อว่า อาศรมวาสิกบรรพ.

250
       อย่างไรก็ดี ในบรรดาอนุชาของท้าวยุธิษฐิระนั้น มีอยู่องค์เดียวคือ ภีมะ หรือภีมเสนที่ไม่ยอมลืมความหลัง และมักจะหาโอกาสพูดจากระทบกระเทียบเปรียบเปรยให้ท้าวธฤตราษฎร์ และนางคานธารีผู้มเหสี ต้องหม่นหมองพระทัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเมื่อมิได้อยู่เฉพาะพระพักตร์ท้าวยุธิษฐิระผู้เชษฐภราดา ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ภีมเสนปักใจเชื่อว่า เหตุการณ์ทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจวบจนอวสานลงด้วยสงครามมหาประลัยนั้น ล้วนอยู่ในความรู้เห็นและอนุโลมตามของท้าวธฤตราษฎร์ราชาผู้เฒ่า โดยที่จะปฏิเสธเสียมิได้เลย.
       วันหนึ่ง ท้าวธฤตราษฎร์จึงตรัสกับท้าวยุธิษฐิระว่า "ยุธิษฐิระหลานรัก! ลุงมีเรื่องที่จะต้องขอปรึกษาหลานสักหน่อย ทุกวันนี้ลุงกับป้าของหลานก็นับว่ามีความสุขสบายดีแล้วทุกประการ ทั้งนี้ก็ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของหลานตลอดจนอนุชาทั้งหลาย แต่ทั้งลุงและป้านั้นเปรียบเสมือนไม้ใกล้ฝั่ง จะตายวันตายพรุ่งเมื่อไรก็ยากที่จะทราบได้ ศาสนาของเราก็ย้ำอยู่เสมอถึงความไม่ประมาทในเรื่องความตาย และซ้ำสอนให้เรารู้จักปล่อยรู้จักวาง ลุงกับป้าจึงมาใคร่ครวญและตัดสินใจกันว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราทั้งสองจะต้องออกไปอยู่ป่า เพื่อแสวงหาความสงบวิเวก ความสะอาดและความสว่าง ตามอุดมการณ์แห่งศาสนาของเรา เพราะฉะนั้น ลุงจึงขอแจ้งกรณีการตัดสินใจในเรื่องนี้ของลุงและป้าให้หลานได้ทราบ และใคร่จะขออนุญาตจากหลานด้วย".
       ท้าวยุธิษฐิระได้ฟังแล้วก็ตกพระทัยถึงกับทรงนิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง ครั้นแล้วจึงทูลถามขึ้นว่า "เสด็จลุงไม่พอพระทัยในตัวหม่อมฉันหรือน้อง ๆ องค์ใดของหม่อมฉันหรือเปล่าพ่ะย่ะค่ะ หม่อมฉันรู้สึกเสียใจมากที่ได้ทราบเรื่องนี้ หม่อมฉันใคร่จะขอวิงวอน ขอเสด็จลุงอย่าได้เสด็จออกจากป่าเลยพ่ะย่ะค่ะ หากขาดเสด็จลุงเสด็จป้าไปเสีย หม่อมฉันก็คงจะไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ต่อไปเป็นแน่ขอเสด็จลุงและเสด็จป้า โปรดจงเห็นแก่หม่อมฉันและน้อง ๆ ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ด้วยเถิดพ่ะย่ะค่ะ".
       อย่างไรก็ตาม แม้ท้าวยุธิษฐิระจะทรงอ้อนวอนสักเพียงไร ท้าวธฤตราษฎร์ก็ทรงยืนกรานว่า จะขอเสด็จไปแสวงหาความวิเวกในป่าให้จงได้ โดยทรงอ้างว่า ชราแล้วและบ้านเมืองก็เป็นปกติสุขดี.

 
251
       ที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ นางกุนตีชนนีของภราดาปาณฑพเอง ซึ่งตลอดระยะเวลานั้นทรงใกล้ชิดกับนางคานธารีและทรงเห็นพระทัยกันมาก ก็ได้ทรงแสดงความจำนงกับท้าวยุธิษฐิระด้วยว่า จะขอเสด็จออกไปบำเพ็ญศีลภาวนาหาความสงบวิเวกในป่า พร้อมกับท้าวธฤตราษฎร์ และนางคานธารีด้วย ข่าวนี้ได้สร้างความสะเทือนพระทัยให้แก่พี่น้องปาณฑพเป็นอย่างมาก ทุกพระองค์ได้พร่ำวิงวอนด้วยอัสสุชลอันนองพระพักตร์ ขอร้องมิให้นางกุนตีกระทำเช่นนั้น โดยเฉพาะภีมะอนุชาองค์ที่ 2 ซึ่งมีพระวรกายใหญ่โตและทรงพลังยิ่งกว่าผู้ใดนั้น ถึงกับทอดองค์ลงแทบพระบาทของชนนี แล้วทรงกันแสงกลิ้งเกลือกเหมือนกุมารน้อย ๆ .
       นางกุนตีรับสั่งให้โอรสทุกองค์มาเฝ้าพร้อมหน้ากันแล้วตรัสว่า.
       "ลูกรักของแม่ทุกคน! แม่นี้ใช่ว่าจะใจดำอำมหิต ต้องการจะหาความสุขส่วนตัวแล้วทอดทิ้งลูกไปก็หาไม่ เหตุการณ์ในอดีตอันยาวนานย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่า ในยามวิกฤตและทุกข์ยากนั้น แม่อยู่กับเจ้าทั้งหลายมาโดยตลอด บัดนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพปกติแล้ว เจ้าทุกคนก็มีความสุขกายสบายใจกันดีแล้ว ตัวแม่เองได้เดินทางชีวิตมาใกล้จะถึงที่สุดอยู่แล้ว จะประมาทมิได้ จึงจำเป็นจะต้องตระเตรียมเสบียงกรัง อันได้แก่ บุญกุศลไปไว้ใช้ในการเดินทางไกลในภพหน้า เพราะฉะนั้น ขอลูกทุกคนจงอย่าได้เป็นห่วงแม่เลย และขอจงได้อนุญาตให้แม่ไปเถิด".
       ก่อนจะเดินทางออกจากเมืองไปอยู่ป่า ท้าวธฤตราษฎร์กับนางคานธารีและนางกุนตี ไม่ลืมที่จะอาราธนาสมณะชีพราหมณ์มาประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลไปให้บรรดาโอรสและญาติมิตรที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ทั้งในและนอกสนามรบ ทั้งนี้ได้ยังให้เกิดความปีติแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยเป็นอย่างยิ่ง.
       ครั้นถึงวันและเวลาที่ได้กำหนดไว้ กระบวนกษัตริย์ทั้งผู้ไปส่งเสด็จและเสด็จไปเอง มีอาทิ ท้าวธฤตราษฎร์ นางคานธารี นางกุนตี พร้อมด้วยมหามติวิทูรและสารถีสัญชัย ก็ขึ้นประทับและนั่งบนราชรถแล้วก็เสด็จเข้าสู่ป่าหิมพานต์ ซึ่งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย อันเป็นนิวาสสถานที่บำเพ็ญพรตของผู้ทรงศีลทั้งหลายตั้งแต่โบราณกาลมา.
       ฤๅษีวฺยาสผู้เป็นทั้งพระอาจารย์และญาติอาวุโส ได้ออกมากระทำปัจจุบันคมนาการอยู่ที่ข้างหน้าอาศรม -


252
และได้นำเสด็จเข้าไปจัดที่พำนักถวายภายในกุฏิในสภาพอันเหมาะสมแก่สมณสารูปแห่งผู้บำเพ็ญศีลภาวนาในป่าชัฏ ฤๅษีวฺยาสได้จัดให้บุคคลทั้ง 5 เป็นศิษย์อยู่ในอาศรม และรับการอบรมชี้แนะของอาจารย์ ศตยูปะ ผู้บรรลุแล้วซึ่งฌานสมาบัติขั้นสูงสุด.
       ภายหลังที่ได้จัดถวายอภิบาลแด่กษัตริย์ผู้เฒ่าคือท้าวธฤตราษฎร์ นางคานธารี นางกุนตีผู้ชนนี มหามติวิทูร และสารถีสัญชัย ให้ได้พำนักอยู่ในอาศรมของฤๅษีศตยูปะด้วยความเรียบร้อยทุกประการแล้ว ธรรมบุตรยุธิษฐิระ พร้อมด้วยอนุชาทั้ง 4 นางเทฺราปที นางสุภัทรา และนางอุตตรา ซึ่งได้ตามไปส่งเสด็จจนถึงในป่าหิมพานต์ก็พากันกลับมามายังหัสตินาปุรนคร และได้ใช้ชีวิตโดยปกติสุขสืบมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง.
       อย่างไรก็ดี แม้จะห้อมล้อมด้วยบริวารและทรัพย์ศฤงคาร ตลอดจนความสุขสำราญนานาประการ ท้าวยุธิษฐิระก็อดที่จะทรงรู้สึกหดหู่พระทัยในเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอดีตไม่ได้.
       ในกาลวันหนึ่ง พระองค์พร้อมด้วยพระประยูรญาติผู้ใกล้ชิด มีอนุชาและนางเทฺราปที เป็นต้น ได้เสด็จไปเยี่ยมเยือนท้าวธฤตราษฎร์ ณ อาศรมของฤๅษีวฺยาสและฤๅษีศตยูปะที่ในป่า และครั้งนี้ได้ประทับแรมอยู่ด้วยเป็นเวลานานถึง 1 เดือน ระหว่างนั้นเอง มหามติวิทูรผู้บำเพ็ญตบะ อันได้แก่การทรมานกายเพื่อให้กิเลสเบาบาง ก็ได้กระทำกาลกิริยาด้วยความสงบในท่ามกลางความเศร้าโศกาดูรของผู้อยู่เบื้องหลังโดยเฉพาะท้าวธฤตราษฎร์ นางคานธารี และนางกุนตี ซึ่งได้ใช้ชีวิตอันเตวาสิกร่วมกันมาอย่างใกล้ชิด ทั้งในยามสุขและยามทุกข์ การจากไปของมหามติวิทูรยิ่งทำให้พระทัยของท้าวธฤตราษฎร์ เกิดความเหนื่อยหน่ายต่อชีวิตและทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมากยิ่งขึ้น.
       ทิวาวันหนึ่ง ๆ ฤๅษีวฺยาสใคร่จะให้ท้าวธฤตราษฎร์ ท้าวยุธิษฐิระ และพระประยูรญาติทั้งหมด ได้เกิดความปีติจากการที่ได้เห็นภาพของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วในมหาสงคราม ณ ทุ่งราบกุรุเกษตร จึงได้เอ่ยปากชวนให้ทุกคนพร้อมกันไปบำเพ็ญศาสนากิจ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาซึ่งอยู่ไม่ห่างจากอาศรมอันเป็นที่พัก มากนัก.
       ครั้นได้เวลาพลบค่ำ ภายหลังที่ดวงอาทิตย์โคจรลับขอบฟ้าไปแล้ว ทั่งบริเวณสองฟากฝั่งท้องน้ำได้มืดมิดสนิทลง-

 
253
ด้วยอำนาจแห่งการบำเพ็ญตบะมาเป็นเวลาช้านาน ฤๅษีวฺยาสก็ชี้ให้ทุกคนมองไปยังท้องน้ำเบื้องหน้า พลางใช้เวทมนตร์อัญเชิญดวงวิญญาณของทุกคนที่ได้สิ้นชีวิตในสงคราม ให้ปรากฎร่างขึ้นจากห้วงแม่พระคงคา แล้วเดินตามกันมาเป็นขบวนยาวเหยียด โดยที่ทุกคนบนฝั่งน้ำสามารถมองเห็นและจำหน้าได้อย่างชัดเจน ท้าวธฤตราษฎร์เองแม้พระเนตรจะพิการตามที่ได้พรรณนามาแล้ว แต่ก็สามารถมองเห็นเหตุการณ์นั้นได้ ทั้งนี้โดยอำนาจแห่งการบำเพ็ญตบะและพรของฤๅษีวฺยาสนั้นเอง.
       ทุกคนต่างตกตะลึงและงงงวยในเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะท้าวธฤตราษฎร์และนางคานธารีนั้น ถึงกับอัสสุชลนองพระพักตร์ด้วยความปีติ ในเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นทุรโยธน์โอรสสุดแสนรัก พร้อมทั้งโอรสองค์อื่น ๆ อีกทั้งศกุนิ ภีษมะ นักรบผู้เฒ่า โทฺรณาจารย์ กรรณะ ศัลยะ ตลอดจนนักรบคนอื่น ๆ อีกสุดที่จะพรรณนาได้หมดสิ้น ภราดาปาณฑพทั้ง 5 องค์ก็ดีพระทัยไม่น้อยที่ได้เห็นพรรคพวกของฝ่ายตน โดยเฉพาะอรชุนกับนางสุภัทรานั้นดีใจเป็นที่สุด ที่ได้เห็นอภิมันยุลูกรักร่วมขบวนมากับเขาด้วย.
       แต่แล้ว...ภาพของนักรบทั้งสองฝ่ายแห่งสงครามมหาภารตะ ก็เลือนลางจางหายไปจากสายตาของผู้ที่ได้เห็นในชั่วเวลาอันไม่นานนัก ทุกคนต่างก้มลงกระทำอัญชลี ณ แทบยุคลบาทของมหาฤๅษีวฺยาส แล้วก็กลับคืนสู่อาศรมในท่ามกลางความสงัดเงียบของรัตติกาล.
       ต่อจากนั้น ท้าวยุธิษฐิระพร้อมทั้งคณะก็ได้เสด็จนิวัติสู่นครหัสตินาปุระ.

       กาลเวลาล่วงเลยมาได้ 2 ปีเศษ
       ครั้นแล้ววันหนึ่ง พระนารทมุนีก็ได้จาริกมาถึงนครหัสตินาปุระและได้เข้าเฝ้าท้าวยุธิษฐิระ พร้อมกับทูลว่า.
       "มหาบพิตร! อาตมภาพมีข่าวร้ายมาทูลให้มหาบพิตรได้ทรงทราบ ขอมหาบพิตรได้โปรดรับทราบไว้ด้วยอุเบกขาธรรมตามควรแก่กรณีเถิด อันพระปิตุลา พระปิตุฉา อีกทั้งพระราชชนนีของมหาบพิตรนั้น บัดนี้ ได้สิ้นพระชนม์เสียแล้วในป่าหิมพานต์ ทั้งนี้เพราะได้เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่-


254
ทั้ง 3 พระองค์กำลังเสด็จดำเนินอยู่ในป่าลึก ห่างจากอาศรมออกไปไกลพอสมควร ทั้ง 3 พระองค์ได้ถูกไฟคลอกสิ้นพระชนม์อยู่เคียงข้างกัน ส่วนสารถีสัญชัยนั้นพ้นภัยหนีรอดออกไปได้ทางภาคเหนือของภูเขาหิมาลัย และเข้าใจว่าคงจะใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่นั้นจนตราบอายุขัย ทั้งนี้ขอมหาบพิตรได้โปรดเข้าพระทัยเสียก็แล้วกันว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลแห่งกรรมอันจะหลีกเลี่ยงเสียมิได้".
       ท้าวยุธิษฐิระทรงตกตะลึงนิ่งขึงไปพักใหญ่ และหลังจากที่ได้ก้มลงกระทำอัญชลีแด่พระฤๅษีนารทะแล้ว พระองค์ก็เสด็จเข้าสู่พระราชฐานชั้นในโดยมิได้ทรงเอื้อนพระโอษฐ์ตรัสแม้แต่คำเดียว.
       ต่อจากนั้น ก็ได้ยินแต่เสียงพิลาปร่ำไห้ดังออกมาจากอันเตปุระแห่งพระราชฐานของหัสตินาปุรนคร.
       สิริรวมเวลาที่ท้าวธฤตราษฎร์กับนางคานธารี และนางกุนตี เชษฐบุรุษและเชษฐสตรีแห่งหัสตินาปุรนคร ได้บำเพ็ญศีลภาวนาในชีวิตบั้นปลายภายในป่านั้นก็ได้ 3 ปี.

 
จบบรรพที่ 15: อาศรมวาสิกบรรพ



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04.  จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.



 
info@huexonline.com