MENU
TH EN

18. สวรรคโรหนบรรพ

ศรีกฤษณะและเหล่าภราดาปาณฑพ, ที่มา: www.smacharjustclick.com, วันที่เข้าถึง: 25 กันยายน 2565.
18. สวรรคโรหนบรรพ - บรรพแห่งการไปสรวงสวรรค์01,01,02,03,04.
First revision: Sep.25, 2022
Last change: Dec.18, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

"ยสฺย นาหํกฺฤโต ภาโว, พุทฺธิรฺยสฺย น ลิปฺยเต
หตฺวาปิ ส อิมำลฺโลกานฺ-, น หนฺติ นิพธฺยเต
"
ผู้ไม่มีอหังการ และมีปัญญาไม่ติดอยู่ในสิ่งอะไร ๆ ผู้นั้นแม้จะจะฆ่า
ประชาโลกนี้เสีย ก็ชื่อว่าเขาไม่ได้ฆ่าใคร และไม่มีใครฆ่าเขา


"วิหาย กามานฺ ยะ สรฺวนฺ, ปมำศฺจรติ นิรฺสปฺฤหะ
นิรฺมโม นิรหํการะ, ส ศานฺติมธิคจฺฉติ
"
ผู้ใดละกามทั้งปวง เสียได้ ไม่มีความปรารถนาต่อสิ่งใด
ไม่มีมมังการ อหังการ ผู้นั้นย่อมเที่ยงที่จะถึงศานติ
จากหนังสือ ศรีมัทภควัทคีตา แปลโดยศาสตราจารย์
ร.ต.ท.แสง มนวิทูร และราชบัณฑิต จำนงค์ ทองประเสริฐ

 
273
       สิ่งแรกที่ธรรมบุตรยุธิษฐิระลงมือกระทำ หลังจากที่เสด็จถึงยังเมืองสวรรค์ก็คือ ตรัสถามทวยเทพยดาถึงอนุชาทั้ง 4 และนางเทฺราปทีศรีชายาว่า.
       "ขอได้โปรดพาตัวข้าพเจ้าไปยังที่อยู่ของน้อง ๆ และภรรยาของข้าพเจ้าด้วยเถิด เพราะหากปราศจากเขาเหล่านี้แล้ว แม้สวรรค์ชั้นฟ้าก็จะไม่มีความหมายสำหรับตัวข้าพเจ้าแม้แต่ประการใด".
       ทวยเทพยดาจึงพร้อมกันมีบัญชาให้เทวทูตตนหนึ่ง เป็นผู้นำยุธิษฐิระไปยังที่อยู่ของบรรดาอนุชาและชายาเทฺราปที.
       ระหว่างทาง ยุธิษฐิระต้องผ่านแดนนรกซึ่งเต็มไปด้วยภาพอันน่าอเนจอนาถขยะแขยง และมีแต่ความทนทุกขเวทนา มีการทรมานผู้ที่ต้องตกไปอยู่ ณ แดนนรกนั้นด้วยวิธีการอันน่าสยดสยองต่าง ๆ นานา เสียงพิลาปร่ำไห้ของส่ำสัตว์ในรูปลักษณะต่าง ๆ ดังระเบงเซ็งแซ่ไปทั่วอาณาบริเวณ กลิ่นคาวของโลหิตและน้ำเหลืองคละคลุ้งไปสุดที่ฆานประสาทของผู้หนึ่งผู้ใดจะทนทานได้.
       ยุธิษฐิระจึงตรัสถามเทวทูตผู้นำทางว่า.
---------------

01. สฺวรฺคาโรหณ (ะ) เกิดจากศัพท์สฺวรฺค (ะ) (สวรรค์) + อาโรหณ (ะ) (การขึ้นไปการไต่บันได) แปลเอาความว่า การขึ้นไปสู่สวรรค์ ในที่นี้หมายถึง การขึ้นสวรรค์ของยุธิษฐิระและอนุชาทั้ง 4 พร้อมทั้งมเหสี เพราะฉะนั้น บรรพนี้จึงมีชื่อว่า สฺวรฺคาโรหณบรรพ.

274
       "สภาพเช่นนี้ยังจะมีอยู่ต่อไปอีกสักเพียงไรหรือ ไหนท่านว่าจะพาข้าไปยังที่ที่อนุชาและชายาของข้าอยู่อย่างไรเล่า".
       เทวทูตตอบว่า.
       "ก็...ข้าพเจ้าได้รับเทวโองการจากองค์อินทราธิราชผู้เป็นใหญ่ ให้พาท่านมายังแดนนี้ก่อน หากท่านไม่ประสงค์ จะกลับจากที่นี้เสียก็ได้".
       พูดเสร็จ เทวทูตก็ทำท่าจะเดินหันหลังกลับ ยุธิษฐิระเองก็ทำท่าจะหันหลังเดินกลับเช่นเดียวกัน...
       แต่...ทันใดนั้น จากขุมนรก ก็มีเสียงโหวกเหวกโวยวายดังขึ้นมาหลายเสียงว่า.
       "เสด็จพี่! เจ้าพี่! ทูลกระหม่อมของน้อง! อย่าเพิ่งทิ้งพวกเราไปเลย! การปรากฎองค์ของท่าน ณ ที่นี่ในยามนี้ ทำให้ความทุกข์ทรมานซึ่งพวกเราได้รับบรรเทาเบาบางลงไปได้ อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาที่ท่านประทับอยู่ ณ ที่นี่".
       ยุธิษฐิระรู้สึกฉงนพระทัย จึงตรัสถามไปทันทีว่า.
       "พวกท่านเป็นใคร เหตุไฉนจึงต้องมาทนทุกข์ทรมานอยู่ ณ ที่นี้".
       "เสด็จพี่ทรงจำเสียงพวกเราไม่ได้ดอกหรือ พวกเราคือ ภีมเสน อรชุน นกุล สหเทพ และนางเทฺราปที อย่างไรเล่า".
       ทันใดนั้น พระพักตร์ของยุธิษฐิระก็ซีดเผือดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะท้าวเธอมิได้ทรงคิดเลยว่า บรรดาอนุชาและชายาจะต้องมาได้รับทุกข์ทรมานอยู่ในนรกเช่นนั้น พระองค์จึงหันไปรับสั่งกับเทวทูตว่า.
       "ท่านเทวทูต! ท่านจงกลับไปกราบทูลให้องค์อินทราธิราช เจ้านายของท่านได้ทราบเถิดว่า ข้าขออยู่กับน้อง ๆ และภรรยาของข้าในนรกขุมนี้แหละ! จะไม่ขอไปอยู่ในสวรรค์หรือที่อื่นอีกแล้ว! ข้าจะทิ้งน้องและภรรยาไว้ในความทุกข์ แล้วตนเองไปแสวงหาความสุข ณ ที่อื่นไม่ได้เป็นอันขาด".
       เทวทูตอันตรธานไปในชั่วพริบตา แล้วก็กลับมาพร้อมกับท้าวสักกะเทวราชและพระธรรมเทพ ทันใดนั้น นรกที่เห็นอยู่เมื่อชั่วครู่ก็กลับกลายเป็นสวรรค์ไปในทันที บรรดาภาพและสรรพสิ่งอันน่าสะอิดสะเอียน ตลอดจนการทรมานทรกรรมอันน่าทุเรศทุราการไปปลาสนาการไปโดยสิ้นเชิง ทุกสิ่งทุกอย่างได้-

 
275
แปรสภาพเป็นรื่นร่มรมณียะสมกับที่ได้ชื่อว่า เป็นเมืองสวรรค์.
       "ดูกรราชัน! เราได้สั่งให้เทวทูตพาท่านมายังเมืองนรกหรือนรกาลัยนี้ ก็เพื่อท่านจะได้เห็นทั้งด้านที่มืดและด้านสว่างของชีวิต เพราะความมืดและความสว่างอันได้แก่ทุกข์และสุขนั้น เป็นของคู่กันไปในชีวิต ไม่มีผู้ใดจะหลีกเลี่ยงเสียได้ ท่านและน้อง ๆ ตลอดจนเทวีเทฺราปทีผู้ที่เป็นศรีชายา ได้บำเพ็ญกุศลบุญราศีไว้มาก จึงไม่ต้องทนทุกข์ในนรกาลัยเป็นเวลานานนัก บัดนี้ เขาเหล่านั้นก็ได้มาอยู่ในสรวงสวรรค์พร้อมหน้ากันแล้ว แม่น้ำคงคาแห่งสวรรค์ไหลผ่าน ณ จุดที่เรายืนกันอยู่นี้แหละ ขอให้ท่านจงลงไปชำระล้างร่างกายในแม่น้ำคงคาสวรรค์นี้เสียเถิด อกุศลมูลทุกประการในร่างของมนุษย์จะได้หมดสิ้นไป แล้วท่านก็จะได้บรรลุทิพยภาวะ ปราศจากทุกข์ โศก โรคภัยไข้เจ็บและมลทินโทษทุก ๆ ประการ" ท้าวโกสีย์สหัสนัยน์เทวราชรับสั่งกับธรรมบุตรยุธิษฐิระในที่สุด.
       ยุธิษฐิระจึงเสร็จลงสรงสนานในแม่น้ำคงคาสวรรค์ตามคำแนะนำขององค์อินทร์แล้วก็ทรงทิ้งร่างมนุษย์ บรรลุทิพยภาวะไปโดยสมบูรณ์.
       ต่อจากนั้น พระธรรมเทพหรือท้าวธรรมราชจึงรับสั่งกับยุธิษฐิระว่า.
       "ยุธิษฐิระลูกรัก!01. พ่อได้เฝ้าดูพฤติการณ์ของเจ้ามาโดยตลอดแล้ว ความหนักแน่นในธรรมะของเจ้าเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจแก่พ่อมาก พ่อได้ปลอมตนทดลองจิตใจของเจ้ามาแล้วถึงสามครั้งสามครา ครั้งแรกเป็นเสียงประหลาดในป่าไทฺวตะซึ่งเจ้าคงยังจำได้ ครั้งที่สองเป็นสุนัขติดตามเจ้ามาจากมนุษยโลกตลอดทาง และครั้งที่สามนี้องค์อินทราธิราชได้ช่วยพ่อทดสอบความหนักแน่นในธรรมะของเจ้าด้วย การที่เจ้าไม่ยอมทิ้งน้อง ๆ และภรรยาให้ทนทุกข์ทรมานอยู่ในขุมนรกแล้วปลีกตัวไปแสวงหาความสุขในเมืองสวรรค์แต่ลำพังผู้เดียวนั้น เป็นการแสดงออกซึ่งความเลิศล้ำในธรรมะของเจ้าอย่างแท้จริง พ่อมีความอิ่มเอิบและภาคภูมิใจในตัวเจ้าเป็นที่ยิ่ง นับตั้งแต่นี้ต่อไป ทิพยภาวะทุกประการเป็นของเจ้าแล้วโดยสมบูรณ์ ขอเจ้าจงใช้ชีวิตอยู่ในเมืองสวรรค์อันเป็นอนุสนธิจากุศลกรรม ที่เจ้าได้สั่งสมไว้ตามควรแก่กรณีเถิด!".
---------------

01. โปรดดูในอาทิบรรพเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างยุธิษฐิระและพระธรรมเทพ ตอนท้าวปาณฑุกับนางกุนตีผู้ปรารถนาจะได้โอรส.

276
       ครั้นแล้ว พระอินทร์ พระธรรมเทพ และทวยเทพยดาก็เชิญองค์ยุธิษฐิระไปยังทิพยสถานชั้นในของเวียงสวรรค์ อันเป็นที่ประทับของวีรชนเหล่ากุรุ ซึ่งหลังจากมรณกรรมในสนามรบกุรุเกษตรแล้ว ก็ได้มาเกิดในสรวงสวรรค์ทั้งหมด.
       ณ ที่นั้น ยุธิษฐิระได้เข้าเฝ้าพระกฤษณะ ซึ่งได้ทรงกลับคืนสู่สภาวะเดิมแล้ว กล่าวคือ ทรงสภาพเป็นพระพรหมประทับอยู่ท่ามกลางเทวสันนิบาตของเหล่าเทพยดา คนธรรพ์และคณานางอัปสรทั้งหลาย นอกจากนั้น ยุธิษฐิระยังได้มีโอกาสพบกับญาติสนิทมิตรสหายทุกคน ที่ได้พลัดพรากจากกันมาตั้งแต่ครั้งมหาสงคราม เช่น ทุรโยธน์ ทุหศาสัน ศกุนิ กรรณะ ภีษมะ โทฺรณาจารย์ ท้าวธฤตราษฎร์ นางคานธารี และลูก ๆ ทั้งหมด มหามติวิทูร ท้าวปาณฑุ นางกุนตี นางมาทรี อรชุน ภีมเสน นกุล สหเทพ เทวีเทฺราปที อภิมันยุ ฯลฯ ...ฯลฯ ทั้งหมดต่างมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความสมัครสมานฉันท์ และเป็นอิสระเสรีจากกิเลศและความเศร้าหมองทุกประการ อันธรรมดามีให้เห็นในมนุษยโลก.
       ทั้งหมดที่ได้พร่ำพรรณนามาข้างต้นนี้ เป็นเรื่องราวของเหล่าเการพและปาณฑพ พระฤๅษีวฺยาส หรือกฤษณะ ไทฺวปายนะ วฺยาส ผู้ประกาศความจริงเป็นผู้รจนามหากาพย์ชิ้นนี้ขึ้น เพื่อให้โลกได้ทราบประจักษ์ในคุณงามความดีของเหล่าปาณฑพผู้มีจิตใจสูงส่ง และเพื่อให้กฤษฎาภินิหารของพระวาสุเทพหรือพระกฤษณะ ผู้เป็นเทวะแห่งเทพทั้งปวง ได้ขจรขจายไปทั่วพิภพจบสกลจักรวาล.
       "ในเรื่องอันเกี่ยวด้วย ธรรมะ อรรถะ กามะ และโมกษะ แล้ว สิ่งใดที่มีปรากฎในมหากาพย์ชิ้นนี้ อาจจะมีปรากฎในที่อื่น แต่สิ่งใดที่ไม่มีปรากฎ ณ ที่นี้ สิ่งนั้นย่อมจะไม่มีปรากฎในที่อื่นอีก".

 
ธรฺเม จารฺเถ จ กาเม จ โมกฺเษ จ ภรตรฺษภ
ยทิหาสฺติ ตทนฺยตฺร ยนฺเนหาสฺติ น กุตฺรจิตฺ


อิติ มหาภารตํ สมาปฺตํ
มหากาพย์มหาภารตะจบบริบูรณ์


จบบรรพที่ 18: สฺวรฺคาโหณบรรพ

มหากาพย์ภารตะชั้น       บรรยาย มาแฮ
มีมโนมยิทธิหมาย       มุ่งเต้า
เพียรพากย์เพิ่มพจน์ขยาย       คำอรรถ อีกนอ
เรื่อยร้อยเรื่องเนื่องเค้า       บ่งชี้กวีวรรณน์

รังสรรค์สำเร็จถ้วน       ทุกสาร สำคัญแล
ใช่จักคิดคำแหงหาญ       อวดโอ้
เพียงสื่อส่งสำนาร       บรรณพิภพ ไทยนอ
เฉกเรือเลื่อนเตือนโล้       เร่งให้หฤหรรษ์

อภิวันท์ปวงปราชญ์เอื้อ       เอ็นดู อุภัยแล
ใดผิดพลาดพลั้งผลู       โปรดให้
นำแนะและถือดนู       ดังหนึ่ง มิตรนา
พร่ำฝากวากย์หวังไว้       แว่วเวทวิเศษวิศาล

โอม       อ่านศานติสุขด้วย       บุณยสมัย โสตถิ์แล
มหากาพย์       เสร็จสมใจ       สฤษฎ์แล้ว
มหา       มงคลใน       กษณะ นี้นอ
ภารตะ       เพียรพากย์แพร้ว       สอดคล้องคลองธรรม-ศานติ์เทอญ ฯ

 
กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย.

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.


 
info@huexonline.com