ผมตัดสินใจไปเที่ยวประเทศกัมพูชาเดี่ยว ๆ แบบแบ็คแพคที่เมืองเสียมราฐอีกครั้งในระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม พ.ศ.2561 รวม 4 วัน 3 คืน โดยออกเดินทางด้วยสายการบินแอร์เอเชีย เสาร์เช้าที่ 20 ตุลาคม จากสนามบินดอนเมืองไปสนามบินเสียมราฐ 10:10-11:10 น. รวมหนึ่งชั่วโมง (เวลาที่กัมพูชาและไทยเหมือนกัน ไม่ต้องปรับเวลา) และขากลับอังคารเย็นที่ 23 ตุลาคม จากสนามบินเสียมราฐมายังสนามบินดอนเมือง 15:20-16:25 น.ไปแบบประหยัด ๆ จองตั๋วทางอินเทอร์เน็ตสะดวกดี ค่าโดยสารไปกลับรวมกระเป๋าไม่เกิน 20 กิโลกรัม รวมเป็นเงิน 8,298.-- บาท (ขนาดจองล่วงหน้าถึง 40 วันนะนี่) พร้อมกับจองที่พักทางอินเทอร์เน็ตไว้ด้วย พัก 3 คืน ณ โรงแรม Naga Angkor อยู่กลางเมืองเสียมราฐ เป็นห้องเตียงคู่มีแอร์ อาหารเช้า พร้อม WIFI 3 คืน รวม US$ 36.72 (ชำระจริง ณ หน้าเคาน์เตอร์ ผมยังหวั่น ๆ เลยว่าราคาที่ตกลงนี้ ก็ราว ๆ 1,200-1,300 กว่าบาทเอง) เป็นการจองผ่าน Agoda Customer Service
ผมมีแผนการท่องเที่ยว ชมปราสาทเมืองพระนคร และเมืองเสียมราฐ ไว้ดังนี้
วัน-เดือน-เวลา |
กิจกรรม |
หมายเหตุ |
วันแรก:
เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 61
10:10-11:10 น. |
เดินทางจากสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินเมืองเสียมราฐ |
ด้วยเที่ยวบินที่ FD610 สายการบินแอร์เอเชีย |
11:11-13:30 น. |
เข้า Check-in ที่ Naga Angkor Hotel หาอาหารเที่ยงทาน (หาทาน Fish Amok-แกงกะทิและห่อหมกปลารวมกัน และ Lok Lak Beef - เนื้อวัวหมักให้เข้าเนื้อ หั่นเป็นรูปลูกเต๋า ผัดกับหัวหอม มะเขือเทศ ทานกับข้าวสวยร้อน ๆ )
ภาพจากซ้ายไปขวา: Fish Amok และ Lok lak Beef, จาก http://www.thecitykitchensf.com/recipe/cambodian-fish-amok และ www.junedarville.com/beef-lok-lak.html, วันที่สืบค้น 11 ตุลาคม 2561.
ติดต่อรถรับจ้าง
พร้อมเดินทางมาจุดซื้อตั๋ว02เข้าชมปราสาทพระนคร (Angkor Pass) |
ผมกะซื้อตั๋วแบบสามวัน รวมเป็นเงิน US$62.- (หากชมหนึ่งวัน สามวัน หรือเจ็ดวัน จะมีค่าตั๋วเป็น US$37, US$ 62, และ US$72 และตั๋วมีอายุหนึ่งวัน, เจ็ดวัน, และหนึ่งเดือนตามลำดับ)
|
13:31-17:30 น. |
ปราสาทตาพรหมเกล (Ta Prohm Kel)
ชมนครวัดรอบนอก และระเบียงคดชั้นที่ 2
- สะพานแกะสลักรูปสิงห์และพญานาคด้านหน้า
- วัด (ที่ย้ายลงมาจากปราสาทประธาน) ทางด้านทิศเหนือของนครวัด
- เก็บรายละเอียดระเบียงคดชั้นที่ 2
- ด้านตะวันตกปีกเหนือ - สงครามกรุงลงกา (Battle of Lanka)
- ด้านตะวันตกปีกใต้ - สงครามทุ่งคุรุเกษตร (Battle of Kurukshetra)
- ด้านใต้ปีกตะวันตก - ยาตราขบวนทัพ (Historic Procession)
- ด้านใต้ปีกตะวันออก - สวรรค์และนรกภูมิ (Heavens and Hells)
- ด้านตะวันออกปีกใต้ - กวนเกษียณสมุทร (Churning of the Sea of Milk)
- ด้านตะวันออกปีกเหนือ - ชัยชนะของพระวิษณุเหนือเหล่าอสูร (Victory of Vishnu over the Asuras)
- ด้านเหนือปีกตะวันออก - ชัยชนะของพระกฤษณะเหนือพนาสูร บ้างก็เรียก ราพนาสูร (Victory of Krishna over Bana (or Banasura))
- ด้านเหนือปีกตะวันตก - สงครามระหว่างเทพกับอสูร (Battle of Devas and Asuras)
|
|
17:30-18:00 น. |
ออกทางประตูทิศตะวันออก หลังนครวัด ให้สารถีมารอรับแล้วกลับที่พัก |
|
18:00-19:00 น. |
เข้าที่พัก ทำธุระส่วนตัว |
|
19:01-21:00 น. |
หาอาหารค่ำทาน ชมเมืองเสียมราฐแถว Old Market แล้วกลับที่พัก พักผ่อน |
|
ผมออกจากบ้านพักนั่งแท็กซี่มาขึ้นเครื่องที่สนามบินดอนเมือง มาถึงตอนแปดโมง มีคนพลุกพล่านทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนจีน ผมแลกเงินบาทเป็นเงินยูเอสดอลล่าร์ พร้อมเช็คอินเข้าไปในสนามบิน ทานอาหารเช้าที่ร้านแมคโดนัลด์ มานั่งรอตรงประตูที่ 4 เครื่องออกราว ๆ 10:10 น.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ขณะขึ้นเครื่องที่สนามบินดอนเมือง และภาพเซลฟี่ขณะจอดที่สนามบินเสียมราฐ
มาถึงเสียมราฐ ราว ๆ 11:10 น. ผู้โดยสารเกือบเต็มลำ มีอากาศแปรปรวนเล็กน้อย ผ่าน ตม. แล้วมารับกระเป๋าที่สายพาน หารถเข้าเมืองเสียมราฐ (ที่มีเจ้าหน้าที่ของสนามบินจัดระเบียบและจัดหาให้ มีทั้งรถแท๊กซี่ เราม๊อก และมอเตอร์ไซค์ ผมเลือกเราม๊อก) มอเตอร์ไซค์ที่ต่อพ่วงเป็นที่นั่งโดยสาร ที่เรียกว่า เราม๊อก (Roumog) ซึ่งต่อไปนี้ผมจะเรียกว่า "ตุ๊ก ๆ" เพื่อเดินทางมายังโรงแรมที่พัก ในย่านตลาดเก่าของเมืองเสียมราฐ ค่าโดยสาร US$ 9.-- สารถีชื่อ พอนล๊ก (Pon Louk) ผมซัก ๆ ดู น่าจะตรงกับภาษาไทยว่า "พูนลาภ" ได้คุยเจรจากันดี ซึ่งต่อไป พูนลาภจะเป็นสารถีพาผมชมเมืองนครวัด นครธม ตลอดทริปนี้
ภาพจากซ้ายไปขวา: พูนลาภเสื้อสีฟ้าขณะเติมน้ำมัน และ ไซเนียง รีเซฟชั่น โรงแรมนาคา อังกอร์
พูนลาภขับรถตุ๊ก ๆ จากสนามบินตรงเข้าเมืองเสียมราฐมาย่านตลาดเก่า ใช้เวลาราว 20 นาทีก็มาถึงโรงแรม Naga Angkor Hotel จัดแจงชำระค่าที่พัก US$ 36.72 รวมทั้งหมดสามคืนทันทีได้กุญแจห้อง 221 ผมฝากกระเป๋ากับรีเซฟชั่นสาว ไซเนียง (Srey Neang แปลว่า Lovely girl - ถามหล่อน ๆ ว่าอย่างนั้น) ไว้ก่อน เพราะห้องยังเตรียมจัดไม่เรียบร้อย ผมฝากกระเป๋าไว้ และจะเข้าที่พักราว ๆ หกโมงเย็น ตอนนี้จะไปหาข้าวเที่ยงทานก่อน และเข้าชมนครวัดเลย.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ล้อบบี้และเป็นร้านอาหารแนวสะเต็คเฮ้าส์ไปในตัว, ห้องที่ผมพักอยู่ชั้นสามใกล้บันได
ผมตกลงราคาค่าตุ๊ก ๆ กับพูนลาภวันต่อวัน ผมบอกโปรแกรมว่าวันนี้จะไปไหนบ้าง สรุปราคาโดยสารรวม US$18.-- พูนลาภพาผมมาซื้อตั๋วเข้าชมกลุ่มปราสาทเมืองพระนครและนครธมที่ Angkor Pass ผมเลือกซื้อตั๋วแบบสามวัน ราคา US$62.-- ซึ่งจะเข้าชมวันไหนก็ได้ไม่เกินสามวัน ระหว่างวันที่ 20-29 ตุลาคมนี้ ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมคนน้อยจัง ช่วงนี้ Low Season หรือ? เธอตอบว่าเปล่าเป็น High Season ตอนนี้ก็เที่ยงวันแล้ว คนไปออกันอยู่ที่นครวัด กันเยอะเลย. พูนลาภกล่าวเตือนผมให้เก็บตั๋วดี ๆ เพราะจะมีพนักงานมาสุ่มตรวจบางระยะ หากสูญหาย จะต้องซื้อตั๋วใหม่ทันทีไม่มีข้อยกเว้น
ภาพจากซ้ายไปขวา: จุดชำระเงินที่ Angkor Pass ก่อนเข้าชมนครวัด และภาพตั๋ว Three days ของผม
จากนั้นสารถีพูนลาภก็ขับตุ๊ก ๆ ขึ้นมาทางเหนือของเมืองเสียมราฐ ถนนหนทางไม่สู้ดีนัก ถนนชื่อชาร์ล เดอ โกล (Charles de gaulle) เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีท่านหนึ่งของฝรั่งเศส ที่มีบทบาทสำคัญมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2.
ชาร์ล เดอ โกล (Charles de gaulle) (ชาตะ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2433 - มรณะ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2513)
เป็นถนนลาดยางมะตอยสองเลน เป็นหลุมเป็นบ่อบางระยะ ถนนมีความยาวราว ๆ 10 กิโลเมตร อากาศเย็นสบาย ครึ้ม ๆ ฝน ดูท่าวันนี้น่าจะเข้าชมเก็บภาพรายละเอียดต่าง ๆ ได้เยอะ พอใกล้ถึงนครวัดทางทิศใต้ ก็ให้เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วเข้าชม แล้วถามผมว่ามาจากไหน ผมตอบว่า Bangkok Thailand เด็กหรือเจ้าหน้าที่ที่ตรวจก็พูดภาษาไทย "สวัสดีครับพี่" ผมก็ตอบกลับ "คร้าาาบผม" แบบคุ้นเคย มีเสียงเฮ้ยยวแบบวัยรุ่น ตามหลังมาขณะที่พูนลาภขับตุ๊ก ๆ ออกไป
ผมมาถึงด้านหน้าของนครวัด สัมผัสถึงความอลังการของเมืองพระนคร ผมพนมมือไหว้ (เป็นการคารวะ ขออนุญาตเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าเยี่ยมชมพระบรมวิษณุโลกเมืองพระนคร) ขณะรถแล่นผ่าน รถตุ๊ก ๆ ก็มาจอดหน้าร้านอาหาร ผมก็ตกลงกับพูนลาภให้มารับกลับราว ๆ ห้าโมงครึ่งตอนเย็นที่ประตูทิศตะวันออกของนครวัด ร้านอาหารที่ทานในเที่ยงวันนี้ชื่อร้าน "นารีเขมรเมืองพระนคร - Neary Khmer Angkor Restaurant" ผมสั่งห่อหมกปลา (ปลาสวายหรือปลาต่าง ๆ ในโตนเลสาบ) (Fish Amok) และผัดเนื้อกับเครื่องปรุงแบบเขมรท้องถิ่น (Lok lak Beef) พร้อมข้าวสวย น้ำเปล่ามาทาน ด้วยอยากลิ้มลอง
ภาพจากซ้ายไปขวา: เมนูร้านอาหาร และอาหารเที่ยงวันนี้
ผมจุกจิกนิดหน่อย ไม่เอาหลอดพลาสติก (โดยเฉพาะ Single-Used Plastic) นะจ๊ะ และอาหารที่สั่งไม่ใส่ผงชูรสนะคร้าาาบ (No bechaeng) อาหารเสร็จเร็วพร้อมเสิร์ฟ รสชาติดี ไม่มีน้ำปลาพริกขี้หนูเครื่องปรุงเหมือนบ้านเรา ก็ผ่านอร่อยดี อิ่มแปร้ สนนราคาก็ค่อนข้างแพง ต้องชำระเป็น US$ หากทอนเป็น US$ 0.50 จะจ่ายทอนเป็นเงินเรียล (4,000 รีลเท่า US$ 1.0) ที่นี่ใช้เงินสามสกุล คือ US$ รีล และบาทไทย
ถัดจากนั้น ผมกางแผนที่ถามทางไปปราสาทตาพรหมเกล (Ta Prohm Kel) กับบริกร (ชาวกัมพูชาเรียกคำว่า "แผนที่" เหมือนกับภาษาไทยเลย) ปราสาทนี้อยู่ทางเหนือก่อนข้ามสะพานนาคเข้านครวัดเล็กน้อย เป็นปราสาทเล็ก ๆ
ปราสาทไม่ค่อยสดุดตา หลบอยู่ให้สวนที่บริกรทำความสะอาดกำลังกวาดบริเวณอยู่ มีชาวบ้านรุกพื้นที่เข้ามาใกล้ ๆ มีบริการห้องน้ำแก่นักท่องเที่ยวใกล้ ๆ บ้านเรือนชาวบ้านอยู่ใกล้ปราสาทมากราว ๆ สิบกว่าเมตรเท่านั้น.
ถัดจากนั้นผมเดินเลียบถนนจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมายังสะพานนาคที่เป็นทางเข้านครวัด อากาศร้อน แดดแรง มีนักท่องเที่ยวทั่วไปบ้างก็เดิน ขี่มอเตอร์ไซต์ ปั่นจักรยาน มีทัวร์ชาวจีน เดินลงมาจากรถทัวร์เข้าชมนครวัดเป็นระยะ ๆ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ถ่ายจากมุมตะวันตกเฉียงเหนือมายังนครวัด ทางเดินเลียบมายังประตูพญานาค และป้ายแสดงการสนับสนุน
Reconstruction จากองค์กรอัปราและ I-Ge-S จากอิตาลี สะพานข้ามสระน้ำด้านตะวันตกเฉียงเหลือ ซึ่งแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558
ภาพจากซ้ายไปขวา: หัวสะพานเป็นพญานาคเจ็ดเศียร และสิงห์ รายละเอียดด้านหลังของพญานาคเจ็ดเศียร
หากผู้สนใจต้องการทราบรายละเอียดลึก ๆ เจาะจงเฉพาะนครวัดหรือพระบรมวิษณุโลกนี้ สามารถเข้าดูได้ใน "นครวัด: ยลพระบรมวิษณุโลก ก่อนสิ้นลมปราณ" ผมเดินผ่านมาด้านหน้าสะพานพญานาค มีเครนและคนงานกำลังบูรณะสะพานทางด้านเหนืออยู่ ชื่อว่า Angkor Wat Western Causeway Restruction Project เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรอัปสรา (Apsara) กับมหาวิทยาลัยโซเฟีย ประเทศญี่ปุ่น (Sophia University) ร่วมห้าปี (ค.ศ.2016-2020) และโครงการอื่น ๆ ด้วยนครวัดมีขนาดใหญ่ องค์กรอัปสราได้ประสานกับสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกในการบูรณะเป็นบริเวณ ๆ เป็นโครงการ ๆ ไป ผมถ่ายเก็บภาพสะพานพญานาคไว้ หลายจุด สะพานพญานาคด้านหน้านี้มีการบูรณะตามหลักวิชาการที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว (การบูรณะแบบอนัสติโลซิส - Anastylosis เป็นเทคนิคในการก่อสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้องค์ประกอบหรือวัสดุที่เป็นแบบเดิมมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ สีเฉดของวัสดุจะแตกต่างจากของเดิมอาจจะมีสีที่จางกว่า ทำรหัสช่วงปีที่บูรณะ ทำให้ผู้ศึกษาต่อ ๆ มาทราบว่าวัสดุชิ้นนี้ทำขึ้นมาใหม่ จำแนกวิเคราะห์ศึกษาต่อไปได้) ตรงประตูด้านหน้ามีป้ายบอกไม่ให้เข้า ผมเดินมาทางซ้ายของด้านหน้านครวัด
มีไกด์ท้องถิ่นเข้ามาถาม เห็นว่าผมเป็นคนไทย ก็เตรียมจะมาเป็นไกด์พูดภาษาไทยแนะนำนครวัด ภาพแกะสลักต่าง ๆ ทั้งรามายณะและมหาภารตะ ฯ ให้ คิดค่าบริการ 300 บาท ผมบอกขอบคุณ ด้วยผมศึกษาและวางแผนมาพอสมควร และรวมครั้งนี้ผมมานครวัดเป็นครั้งที่สาม โดยมาเก็บรายละเอียดเพิ่มเติม ไม่เป็นไร ขอบคุณครับ แล้วเดินฉากออกมา ผมสังเกตเห็นป้ายของ UNESCO แสดงให้เห็นว่านครวัดนี้เป็นมรดกโลก
ผมเดินข้ามสะพานพลาสติกที่เป็นทุ่น มีตราเขียนว่า "Cardock" (เท่าที่ทราบญี่ปุ่นเป็นผู้จัดเตรียมสะพานนี้ไว้ให้ สำรองไว้ให้ใช้ระหว่างที่กำลังบูรณะสะพานหลัก) เดินแล้วหยวบ ๆ ผมเดินข้ามสะพานแล้วเดินไปด้านซ้าย ก่อนเข้าชั้นกลางของนครวัด เห็นแนวสันหินทรายที่เป็นพนังกั้นเป็นขอบของสระน้ำยาว ดูแข็งแรง ผมสังเกตดูผนังด้านนอกอันเป็นกำแพงชั้นของนครวัด มีภาพเขียนมีภาพแกะสลักตื้น ๆ เต็มผนังตันเต็มไปหมดเป็นรูปเทพต่าง ๆ กำลังร่ายรำ เมื่อมองไปยังหลังคาด้านในมีการจัดวางหินหลังงานกันเรียบร้อยแข็งแรง ซึ่งมีการบูรณะกันมาก่อนบ้างแล้ว ตรงมุขต่าง ๆ ของเชิงผนังมีการแกะสลักฐานอย่างวิจิตร รายละเอียดเยอะ ทั้งที่เป็นส่วนปลีกย่อย ก็ยังมีรายละเอียด
จากนั้นผมเดินเข้ามาภายในห้องคูหาของซุ้มประตูกำแพงชั้นแรก ปีกใต้ มีประติมากรรมขนาดใหญ่เป็นเทพมีแปดกรถือดอกบัว (จากความเห็นของคุณภภพพล จันทร์วัฒนกุล หน้าที่ 344 ของ 01) ไม่ใช่เป็นพระวิษณุ อาจจะทำขึ้นในสมัยหลัง (พุทธศตวรรษที่ 24 สมัยนักองค์จัน) โดยช่างขาดความเข้าใจในระเบียบ แต่พยายามทำเลียนแบบพระพักตร์แบบบายน (อมยิ้ม)
ตรงแนวระเบียงมีแท่งลูกมะหวด สวยงาม เหนือขึ้นไปก็มีลวดลายแกะสลักนูนต่ำสวยงาม มีภาพสลักนูนต่ำนางอัปสราเป็นระยะ ๆ ตามที่หักมุมกำแพง ตามเสามีลวดลายมีเทพอยู่ตรงกลางอ่อนช้อย ผมเดินมาทางขวาของนครวัดเป็นซุ้มประตูกำแพงชั้นแรก
มีประติมากรรมเป็นเทพมีแปดกร ตามระเบียงมีพระพุทธชำรุดวางอยู่บางองค์ มีภาพเขียนตามแนวกำแพงเป็นเทพกำลังร่ายรำ เมื่อเดินไปจนสุดจะเห็นประตูหินเสมือนทึบ (หรือประตูหลอก) ขวางอยู่
ผมเดินถ่ายรูปเรื่อย ๆ จนสุดด้านขวากำแพงชั้นแรกของนครวัด เป็นบริเวณรกร้าง มีแนวกำแพงสูงอยู่ จึงเดินกลับมาเข้าประตูกำแพงชั้นแรกตรงกลาง
มีนักท่องเที่ยว และมัคคุเทศก์ทางการของกัมพูชา (ใส่การเกงสแล็คสีดำหรือเข้ม เสื้อเชิร์ตแขนยาวสีส้มอ่อน มีป้ายแสดงตน จำแนกตามความถนัดของภาษาเช่น ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส สเปน) กระจายอยู่ทั่วไป มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาชมเป็นหมู่คณะเป็นระยะ ภายในประตูกำแพงชั้นแรกตรงกลาง จะพบประติมากรรม เป็นพระวิษณุมีสี่กร ชำรุด สังเกตช่วงล่างและเท้าจะมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับน้ำหนักของพระวิษณุหินทรายนี้นั่นเอง
จากนั้นผมเดินเลียบมาทางทิศเหนือของนครวัด ไม่ได้เดินตรงเข้ามา เก็บภาพตามแนวกำแพงชั้นนอก เดินมาจนสุดกำแพงทิศเหนือเยื้องตะวันตก เห็นบริเวณโรงเรือนซ่อมแซมประติมากรรม วัตถุโบราณ มีเศียรเทพ (Deva) และอสูร (Asura) วางเป็นระยะ ๆ ผมเดินถัดไป เดินเลี้ยวไปต่อทางทิศเหนือ มีอุโบสถศาสนาพุทธเปิดโล่ง สังเกตดูมีร่องรอยธูปเทียนการทำพิธีสวดมนตร์อยู่ เข้าใจว่าเป็นบริเวณป่าช้า เห็นหลุมศพหลายหลุม จากนั้นผมเดินเลียบทิศเหนือขึ้นมา มายังวัดพุทธที่ย้ายลงมาจากบนนครวัด (อ้างถึงข้อเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ ในตำนานแห่งนครวัด) ชื่อ Angkor Paok (ถามจากไซเนียง รีเซฟชั่นที่โรงแรม ซึ่งไซเนียงแย้งว่าจากข้อเขียนแผ่นป้ายแสดงว่าน่าจะเป็นเพียงเจดีย์ยังไม่ถึงกับเป็นวัด) มีภิกษุจำพรรษา ตลอดจนมีการดำเนินศาสนกิจต่าง ๆ อยู่
ภาพจากซ้ายไปขวา: รอบศาลาการเปรียญของวัด มีภาพเขียนรามายณะ และป้ายด้านหน้าของวัด Angkor Paok
ภาพจากซ้ายไปขวา: แผ่นป้ายด้านตะวันตกเฉียงเหนือของนครวัด ใกล้กับวัด Angkor Paok เป็นโครงการของสหพันธรัฐเยอรมนี ร่วมกับองค์กรอัปสราในการบูรณะ บริเวณแถบนี้ และเชิงบันไดพญานาคก่อนขึ้นระเบียงคดชั้นที่ 2 ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของนครวัด
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านนอกของนครวัดด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ภาพแกะสลักด้านนอก
เมื่อผมชมวัด Angkor Paok เสร็จแล้ว ก็เดินขึ้นนครวัดที่มุมระเบียงคดชั้นที่ 2 จากด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือนี้ จะมีภาพนูนต่ำเต็มไปหมด ผมขอแสดงและอธิบายภาพโดยหันหน้าไปทางทิศเหนือเริ่มถ่ายตั้งแต่มุมหกนาฬิกาตามเข็มนาฬิกาไปเรื่อยจากภาพด้านล่างถึงด้านบน
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพเหล่าเทวดานั่งถืออาวุธและโล่ และภาพหนุมานถวายแหวน
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพเหล่าวานร และภาพพระรามพระลักษมณ์ นางสีดา พิเภก และหนุมาน นั่งบนบุษบกกลับอโยธยา
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพเหล่าทหารวานรกำลังนั่งประชุม เตรียมการสงคราม และภาพพระรามและพระลักษณ์กำลังปรึกษากับหนุมาน เพื่อชวนสุครีพมาเป็นพวก
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพเหล่านางอัปสรา
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพพระจันทร์ และภาพเทวดาประจำทิศต่าง ๆ ได้แก่ ท้าวกุเวรทรงสิงห์ เทวดาทรงละมั่ง พระอิศานทรงโค พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระพายทรงม้า สกันทะทรงนกยูง พระวรุณทรงหงส์ พระไนรฤตะทรงรากษส พระอาทิตย์ทรงรถม้าและพระจันทร์ทรงรถม้า เหนือขึ้นไปเป็นภาพพระวิษณุบรรทมอยู่บนพญาอนันตนาคราชในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) ที่ปลายพระบาทมีพระลักษมีชายากำลังปรนนิบัติพัดวีหรือ ภาพพระวิษณุอนันตศายิน (นารายณ์บรรทมสินธุ์)
ภาพด้านขวา: พระวิษณุทรงครุฑ (บางท่านว่าเป็นพระกฤษณะทรงครุฑ)
ภาพด้านขวา: ภาพพระรามกำลังยกศรเล็งไปที่ตาปลา ถ่ายเมื่อ 22 ตุลาคม 2561
ผมเดินตรงต่อมายังด้านตะวันตกปีกเหนือ มีภาพสลักนูนต่ำยาวร่วม 70 เมตร ว่าด้วย "สงครามกรุงลงกา (Battle of Lanka)" ตรงกลางของด้าน (ระหว่างตะวันตกปีกเหนือและใต้) จะมีช่องประตู เห็นลูกมะหวดแสดงลวยลายไว้สวยงาม เมื่อสังเกตตรงพื้นหินประตูทางเข้าตรงกลางของระเบียงคดชั้น 2 จะเห็นว่าเป็นแผ่นหินทรายเรียบขนาดใหญ่ คัดพิเศษเพื่อรองรับเป็นราชมรรคาให้แก่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เสด็จสู่ไวกูณฐ์สรวงสวรรค์
ด้านตะวันตกปีกใต้ เป็นภาพแกะสลักว่าด้วย "สงครามทุ่งคุรุเกษตร (Battle of Kurukshetra)" ผมหาภาพเทียมรถม้าที่อรชุนนั่งขณะที่พระกฤษณะเป็นสารถี ซึ่งมีการสนทนาระหว่างพระกฤษณะกับพระอรชุน (อรชุนรู้สึกหดหู่และท้อถอยต้องมาสังหารบรรดาเหล่าเครือญาติ พระกฤษณะได้กล่าวให้ระลึกถึงภาระหน้าที่ หลักจริยศาสตร์ว่าด้วยหน้าที่ของกษัตริย์ คือรบเพื่อทำลายล้างอธรรม และผดุงศีลธรรมโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ) เสมือนเป็นพูดคุยระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า แสดงออกมาเป็นลำนำอันลือโลกที่เรียกว่า "ภควัทคีตา- Bhagavadgītā" ไม่เจอ. (ท่านผู้สนใจสามารถศึกษาได้โดยเริ่มจาก "ก. บทนำ: ภควัทคีตา")
ภาพตรงมุขด้านตะวันตกปีกใต้ เหนือจุดที่ผมงีบหลับไปนั้น เป็นภาพสลักทศกัณฐ์ (ท้าวราวณะ) กำลังเขย่าเขาไกรลาส
อันเป็นที่สถิตของพระศิวะมหาเทพ (ภาพถ่ายขาวดำ เมื่อ 22 ตุลาคม 2561)
ผมเก็บภาพรามายณะและมหาภารตะได้พอสมควร อากาศร้อนอบอ้าวก็มานั่งพักตรงช่องหน้าต่างลูกมะหวดด้านตะวันตกปีกใต้ นักท่องเที่ยวเดินเข้าชมนครวัดเรื่อย ๆ ผมนั่งหลับไปงีบหนึ่ง แล้วดื่มน้ำอึกใหญ่แล้วเดินต่อยังด้านใต้ปีกตะวันตกและตะวันออก ถ่ายรูปไปพลาง ๆ ด้านใต้ปีกตะวันตก - ยาตราขบวนทัพ (Historic Procession) ต่อด้วยด้านใต้ปีกตะวันออก - สวรรค์และนรกภูมิ (Heavens and Hells)
ตอนช่วงที่เป็นภาพสลักยาตราขบวนทัพ มีประเด็นที่น่าสนใจ คือเป็นขบวนกองทัพของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 - บรมวิษณุโลก พร้อมทัพจากเจ้าเมืองต่าง ๆ บนช้าง 20 กองทัพ ขบวนแห่พระเพลิง (กลาโหม) และทัพม้านำ รวม 22 กลุ่มภาพ ที่เป็นเมืองขึ้น เมืองในอาณัติ ประเทศราช มีทั้งเมืองพิมาย ลเทา จันลัตไต ละโว้ และเมืองอื่น ๆ เป็นต้น รวมทั้ง "เนะ สฺยำกุกฺ" (ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในบรรดานักวิชาการว่าเป็นทัพของชาวสยามหรือไทย กันหรือไม่?) อันเกี่ยวข้องกับเหล่าความเป็น "วฺร กมฺเตง อัญ" พระญาติวงศ์ ผู้ภักดี และพระนามของผู้ปกครองบ้านเมืองที่อยู่ภายในจักรวรรดิกัมพุชะเทศะอันรุ่งเรือง
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 ทรงช้างศึก มีร่มฉัตรหลายใบแสดงถึงความสูงศักดิ์กว่าแม่ทัพหรือเจ้าเมืองอื่น ๆ และภาพที่มีนักวิชาการต่าง ๆ จำนวนหนึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกองทัพชาวสยาม
ผมเดินต่อมาด้านใต้ปีกตะวันออก (ป้ายเขียนว่า The eastern section of the southern gallery) ระเบียงคดเป็นภาพสลักว่าด้วยสวรรค์และนรกภูมิ (Heaven and Hells) ประกอบด้วย 37 สวรรค์ และ 32 นรก ตามคติภูมิของศาสนาฮินดู (จากป้ายบรรยาย: นรกใช้คำว่า Avici หรือ อเวจี และ Raurava หมายถึง Naraka หรือ นรก) มีการจัดวางภาพเป็นสามชั้น ชั้นบนหมายถึงสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรกภูมิตามลำดับลดลั่นลงมา
มีภาพสำคัญและภาพสลักพญายม พญายมราช หรือ Yama หรือ Yamarāja ทรงกระบือเป็นพาหนะ และพญายมกำลังพิพากษามนุษย์ถึงกรรมที่ได้กระทำมา ให้ขึ้นสวรรค์หรือลงนรก.
มีภาพการทรมานมนุษย์ที่ตกนรก ซึ่งเคยกระทำความชั่วไว้ ตอนปลาย ๆ ของภาพสลักระเบียงคตนี้ มีการชำรุด บางส่วนไม่สามารถมาเห็นรายละเอียดได้มากนัก
ผมเดินต่อมาทางด้านตะวันออกปีกใต้ เป็นภาพแกะสลักการกวนเกษียณสมุทร (Churning of the Sea of Milk)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพแรก ค่อนข้างแปลก เป็นเทพกำลังแผลงศรอยู่บนเทียมกวางที่มีเขาสวยงาม ภาพที่สอง พญาอสูรขี่ช้างเป็นพาหนะ ซึ่งกองทัพของอสูรเข้ามาทั้งสองด้าน
ได้ต่อมาทางด้านตะวันออกปีกเหนือ เป็นภาพแกะสลักเกี่ยวกับชัยชนะของพระวิษณุเหนือเหล่าอสูร (Victory of Vishnu over the Asuras)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพแรกเป็นพระกฤษณะทรงครุฑ บนปีกด้านหนึ่งของครุฑพยุง ปราธญัมน์??? (Pradyumna)04 และอีกด้านถือพยุง พลราม (Balarama) ไว้ และภาพที่สองเป็นภาพพระอัคนี (เทพเจ้าแห่งพระเพลิง) ทรงแรด.
จากนั้นก็เดินต่อมาทางด้านทิศเหนือปีกตะวันออก เป็นภาพแกะสลักเกี่ยวกับชัยชนะของพระกฤษณะเหนือพนาสูร บ้างก็เรียกราพนาสูร (Victory of Krisna over Bana (or Banasura))
ผมเดินต่อมาทางด้านทิศเหนือปีกตะวันตก เป็นภาพแกะสลักสงครามระหว่างเทพกับอสูร (Battle of Devas and Asuras)
จากนั้นผมก็เดินย้อนมาลงทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหลังของนครวัด ลงจากระเบียงคตชั้นสอง เดินออกมาผ่านถนนลูกรังข้ามคูน้ำมารอสารถีพูนลาภ ก่อนเวลานัดสัก 20 นาที (นัดไว้ 17:30 น.) ซื้อน้ำมะพร้าวเย็น ๆ ลูกหนึ่งมาทานแก้กระหาย ราคา US$1.0 มีแม่ค้าเด็ก ๆ รบเร้าให้ซื้อภาพบ้าง แม็กเน็ตติดตู้เย็นบ้าง พัดไม้ไผ่บ้าง ก็อุดหนุนไปนิดหน่อย พูนลาภมาตามนัด ขับเราม๊อกผ่านเมืองเสียมราฐมาส่งผมที่โรงแรม
ผมชำระค่ารถตุ๊ก ๆ วันต่อวันกับพูนลาภ (US$ 20.--) ดูท่าเขาพอใจมา นัดว่าจะมารับที่หน้าโรงแรมพรุ่งนี้ตอนแปดโมงเช้า ผมเข้าที่พักอาบน้ำอาบท่าเปิดแอร์เย็น ๆ หลับไปงีบหนึ่ง พอราว ๆ เกือบทุ่มก็เดินชมเมืองแถวตลาดเก่าเสียมราฐ เป็นไนท์บาร์ซ่า ผมเดินดูโดยรอบไม่มีอะไรน่าสนใจ แวะทานร้านข้าวต้มกุ๊ย มีไข่เค็ม เกี๊ยมฉ่าย ถั่วลิสงและกุนเชียงทอด รสชาติพอไปได้ แต่กุนเชียงเหม็นหืนนิด ๆ (US$ 6.50) ทานเสร็จก็กลับที่พักผ่อน เอาแรงสำหรับเตรียมเที่ยวพรุ่งนี้ต่อไป
วัน-เดือน-เวลา |
กิจกรรม |
หมายเหตุ |
วันที่สอง:
อาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 61
07:30-08:00 น. |
ทานอาหารเช้าที่โรงแรม พร้อมเตรียมเดินทางเข้าชมกลุ่มปราสาท |
|
08:01-12:00 น. |
- ปราสาทพนมบาเคง (Phnom Bakheng) บ้างก็เรียกปราสาทบาแคง **** - เป็น Temple Mountain ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุด
- ประตูเมืองพระนครธม (Angkor Thom Gate - ประตูทิศใต้ - South Gate) ****
- ปราสาทกรอลดัมเรย (Prasat Krol Damrei)
- ปราสาทพระขรรค์หรือเปรี๊ยะคัน ***
- หาข้าวเที่ยงทานหน้าประตูด้านหน้าปราสาทพระขรรค์
|
|
12:01-17:00 น. |
- ปราสาทบายน *****
- ปราสาทบาปวน (Baphuon) **** มีลักษณะสิ่งก่อสร้างเป็น Temple-mountain ด้านหลังของปราสาท รูปสลักจากหิน หากสังเกตดี ๆ จะเห็นเป็นรูปพระนอน
- ปราสาทพิมานอากาศ (Phimeanakas)*** มีลักษณะเป็น Sandstone pyramid
- ลานช้าง (Terrace of Elephants)
- ลานพระเจ้าขี้เรื้อน (Terrace of Leper King) {จากข้อมูลที่สืบค้น หมายถึง พระเจ้ายโสวรมันที่ 1 (King Yasovarman I) เป็นโรคเรื้อน}
- ปราสาทพระป่าเลไลย์ ***
- ประสาทคลังใต้ ปราสาทคลังเหนือ ***
- ปราสาทซัวปรัต (หรือกลุ่มปราสาทนางสิบสอง) *
- ปราสาทพระพิธุ (Preah Pithu Group)
- ฯ
|
เกณฑ์การให้ดาว (*) อ้างจากหนังสือ01
* ตัดออกได้ถ้าไม่มีเวลา
** พลาดได้ไม่ต้องเสียใจ
*** น่าสนใจ
**** พลาดไปเสียดายแย่
***** ห้ามพลาดอย่างที่สุด (ต้องดูให้ได้) |
17:01-17:30 น. |
สารถีมารับกลับที่ด้านหน้าลานพระเจ้าขี้เรื้อน |
|
18:00-19:00 น. |
เข้าที่พัก ทำธุระส่วนตัว |
|
19:01-21:00 น. |
หาอาหารค่ำทาน แล้วกลับที่พัก พักผ่อน |
|
ผมตื่นแต่เช้าอาบน้ำอาบท่าออกจากห้องพักแล้ว มาทานอาหารเช้าตรงโถงด้านล่างของโรงแรม สั่งขนมปังแบบฝรั่งเศส เนย แยม เบคอนและกาแฟ (Continental Breakfast) ผมสั่งออมเล็ตมาทานเพิ่ม (US$0.5) รสชาติดี ปริมาณเต็มอิ่ม สารถีพูนลาภมารอรับตั้งแต่ 07:30 น. ผมพร้อมเดินทางต่อ เช้านี้อากาศเย็นสบาย สองข้างทางระหว่างเดินทางไปชมเมืองพระนคร เป็นธรรมชาติมาก ผ่านด่านตรวจตั๋ว รถตุ๊ก ๆ ก็ขับเลยนครวัดมาทางทิศเหนือ สักครู่ก็มาถึงเชิงเขาเป็นที่ตั้งของปราสาทพนมบาเคง (Phnom Bakheng)07 บ้างก็เรียกปราสาทบาแคง รายละเอียดดูเพิ่มเติมใน "08. ปราสาทพนมบาแคง"
บาแคง แปลว่า แข็งแรง ปราสาทนี้สร้างโดยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (Yasovarman A.D.889-910) เมื่อ พ.ศ.1436 ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมบาแคง มีความสูง 79 เมตร ในจารึกเรียกเขานี้ว่า "วนัมกันตาล" (แปลว่า ภูเขากลางเมือง) พนมบางแคงตั้งอยู่กลางเมืองยโศธรปุระ (เป็นเมืองที่พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 เป็นผู้สร้าง ปัจจุบันเรียกว่า เมืองพระนคร หรือ โนโก หรือ Angkor) เมื่อครั้งที่พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ทรงหาที่ตั้งราชธานีใหม่ ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้มีภูเขาตั้งอยู่ตรงกลางราชธานีของพระองค์ เพื่อประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะปกป้องราชอาณาจักรเขาพนมบาแคงมีความเหมาะสมกว่าเขาพนมบกที่สูงใหญ่เกินไป และเขาพนมกรอมที่อยู่ใกล้ทะเลสาบมากจนน้ำท่วมเป็นเวลายาวนาน เขาพนมบาแคงจึงถูกเลือกเป็นเขากลางเมือง และทรงให้สร้างปราสาทบนยอดเขาแห่งนี้.
แผนผัง ปราสาทพนมบาเคง, ที่มา: www.overseasattractions.com, วันที่เข้าถึง 15 กุมภาพันธ์ 2562
แผนผังปราสาทบาแคง เป็นแบบกระจายความสำคัญออกจากจุดศูนย์กลาง ทำเป็นฐานซ้อนกัน 5 ชั้น ตรงกลางสมมติเป็นเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาส เป็นที่ประทับของพระศิวะและเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักร (เหมือนปราสาทบากอง) ฐานแต่ละชั้นหมายถึงป่าที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ เขาไกรลาสอยู่ชั้นบนสุดมีปราสาท 5 หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปราสาทหลังใหญ่เป็นประธานตั้งอยู่ตรงกลาง อีก 4 หลังอยู่ที่มุมทั้งสี่ มีปราสาทบริวารรายรอบอีกด้านละ 33 หลัง
ภาพจากซ้ายไปขวา: เส้นทางที่ออกจากตัวเมืองเสียมราฐ ตรงขึ้นเหนือมาทางถนนชาร์ล เดอ โกล มุ่งตรงปราสาทพนมบาแคง, เชิงเขามีป้ายให้รายละเอียดนักท่องเที่ยว แล้วมีซุ้มทหารและผู้พิการจากสงครามกลางเมืองที่ผ่านมา เป็นวงดนตรีพื้นบ้าน เล่นเพลงลอยกระทงได้ กำลังรอนักท่องเที่ยวที่เมตตาช่วยบริจาค
ภาพจากซ้ายไปขวา: ผมเดินวนขึ้นเขาพนมบาแคง สักพักก็มีป้ายแสดงจุดถ่ายภาพบารายตะวันตก, บารายตะวันตก
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพตรงฐานพนมบาแคง ถ่ายจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือตรงมายังปราสาท, ภาพถ่ายบนปราสาทพนมบาแคง เห็นเมืองเสียมเรียบอยู่ลิบ ๆ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ปราสาทประธานของพนมบาแคง ช่วงหลังทรุดโทรมเนื่องจากสงครามกลางเมืองที่ผ่านมา ต้องใช้คานไม่รองทับหลังตัวปราสาทไว้, บนลานบนตัวปราสาท เหมาะที่จะชมทิวทัศน์และชมพระอาทิตย์อัสดง ก่อนจะลับขอบฟ้า.
ภาพจากซ้ายไปขวา: อีกมุมหนึ่งของปราสาทประธานของพนมบาแคง, โคนนทิ (วัวเพศผู้สีขาวล้วน) เป็นพาหนะของพระศิวะ อยู่ตรงฐานปราสาทด้านล่าง หมายถึงว่า พระศิวะกำลังประทับอยู่บนปราสาทพนมบาแคง
ปราสาทพนมบาแคง เป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย {Hindu (Shiva)} เป็นศิลปะกัมพูชาสมัยบาแคง (สมัยที่ 7) กำหนดอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15 (ประมาณ 1,100 กว่าปีมาแล้ว)
เป็นปราสาทประจำรัชกาลพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 รูปแบบทางศิลปกรรมของปราสาทแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการ โดยปราสาทประธานหลังกลางสามารถทำประตูทะลุเข้า-ออกได้ทั้งสี่ด้าน แล้วลวดลายของทับหลังมีท่อนพวงมาลัยโค้งแอ่นลงตรงมากกว่าศิลปะแบบพระโคเล็กน้อย และพบว่าวัสดุที่ใช้เป็นหินทรายแทนที่วัสดุอื่นทั้งหมด (อาจถูกใช้ตั้งแต่ปราสาทบากองหลังเดิมก่อนการบูรณะแล้ว) รูปบุคคลนิยมสลักผ้านุ่งเป็นกลีบริ้วทับซ้อน (กระโปรงพลีต) ทั้งบุรุษและสตรี
ปราสาทประธานนั้น หมายถึงแกนกลางของจักรวาล มีปราสาทย่อย ๆ ลดลั่นลงมาห้าชั้นอีก 108 ประสาท ซึ่งเท่ากับจำนวนเทวาและอสูร (ฝ่ายละ 54 องค์และตน) ที่กำลังยุดนาคพญาวาสุกรีในพิธีกวนเกษียรสมุทร รายละเอียดปรากฎในนารายณ์อวตาร - กูรมาวตาร
ผมเดินขึ้นและลงเขาพนมบาแคง ทำเอาเหนื่อยโฮกเหมือนกัน ผมใช้เวลากับที่นี่ราวชั่วโมงเศษ ๆ ซึ่งยามเช้าไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากนัก มีเจ้าหน้าที่ประจำราว ๆ 10 คน และมีคนงานกำลังขึ้นเขามาบำรุงรักษาโบราณสถาน 4-5 คน ผมทักทาย "ซัวสะได" ตอนขาลงจากเขา ด้านซ้ายมือขณะเดินลงมาก็จะเป็นที่ตั้งของปราสาทปักษีจำกรง (รายละเอียดดูในวันที่สี่ http://huexonline.com/knowledge/24/176/) ซึ่งผมได้มาชมเมื่อ 16 ตุลาคม 2560.
จากนั้นพูนลาภ ก็มาส่งผมตรงหน้าประตูเมืองพระนครธม (Angkor Thom Gate) ด้านนอกของทิศใต้ ผมให้พูนลาภไปรอรับผมด้านในของประตู ผมก็เดินละเลียดถ่ายภาพ ดูรายละเอียดต่าง ๆ ของสะพานและประตูไปเรื่อย ๆ นักท่องเที่ยวมากหนาตา ประตูเมืองพระนครธมหรือนครหลวง (ธม แปลว่า ใหญ่หรือหลวง) อยู่ทางทิศเหนือของเมืองเสียมราฐราว 12 กิโลเมตร
สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หลังจากขับไล่กองทัพจามออกไปจากราชอาณาจักรกัมพูชาโบราณ เมื่อ พ.ศ.1724 เดิมนักวิชาการฝรั่งเศสที่เข้ามาศึกษาเมืองพระนครเข้าใจว่าเมืองนี้คือเมืองยโศธรปุระที่พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 เป็นผู้สร้าง ด้วยพบว่ามีการพังทลายมากกว่าที่อื่น ๆ ต่อมาศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ได้ค้นพบหลักฐานใหม่ เป็นจารึกที่ปราสาทจรุง ตั้งอยู่ที่มุมเมืองพระนครธมทั้งสี่มุม เมื่ออ่านจารึกจึงได้ทราบว่าเมืองนี้สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทฤษฎีเกี่ยวกับเมืองพระนครธม ศิลปกรรม การกำหนดอายุ และการตีความใหม่ ตามที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านหน้าก่อนเข้าประตูด้านทิศใต้ มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน มีช้างบริการนักท่องเที่ยวชมบริเวณ พ่อค้าแม่ค้าคึกคัก, ผมถ่ายเซลฟี่ (หน้ามัน ด้วยอากาศร้อนอบอ้าว) โดยมีฉากหลังเป็นประตูเมืองนครธมทิศใต้ สะพานข้ามคูน้ำล้อมรอบตัวเมือง (คูน้ำเปรียบเหมือนชัยสินธุ) มีหินทรายสลักเป็นเทพ (อยู่ด้านซ้าย หากมองไปยังประตูเมือง) 54 องค์ และอสูร อยู่ด้านขวา 54 ตนเช่นกัน {รวม 108 องค์และตนที่ยุดนาค (พญานาควาสุกรี) ในพิธีกวนเกษียรสมุทร - นารายณ์อวตารตอนที่ 2 - กูรมาวตาร} กำลังยุดนาคเป็นราวสะพาน
ภาพจากซ้ายไปขวา: จากราวสะพานก่อนข้ามคูเมืองถึงกำแพงเมือง มีความยาวราว 90 เมตร, บนยอดซุ้มประตูทำเป็นรูปหน้าบุคคลมี 4 หน้า แต่ในจดหมายเหตุจิวตากวน (Zhou Daguan, จากการแปลโดย Michael Smithes, The Customs of Zhenla, สยามสมาคม ค.ศ.2001) กล่าวว่ามี 5 หน้า สวมศิราภรณ์ทรงใบไม้ ช่องซุ้มประตูมีความกว้างประมาณ 3 เมตร และมีความสูงพอดีให้กับช้างหนึ่งเชือกเดินลอดผ่านได้
ภาพจากซ้ายไปขวา: กำแพงเมืองเปรียบเสมือนชัยคีรี สูงราว 7 เมตร, ภาพถ่ายโครงสร้างด้านในของยอดซุ้มประตูด้านทิศใต้
เป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนา นิกายมหายาน เป็นศิลปะขอมสมัยบายน (สมัยที่ 14) กำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 (ประมาณ 800 กว่าปี)
ศิลปะและสถาปัตยกรรม: การตีความใบหน้าบุคคลที่ประตูเมืองพระนครธมมีนักวิชาการให้ความเห็นแตกต่าง สอดคล้อง และหลากหลายกันหลายท่าน แผนผังของเมืองพระนครธมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 3 กิโลเมตร มีกำแพงสูงประมาณ 7 เมตร ล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีคูน้ำกว้างประมาณ 100 เมตร ล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง พ้องกับหลักฐานที่จารึกไว้ (ปราสาทจรุง) ที่กล่าวว่า เมืองมีชัยสินธุกว้างและลึกถึงเมืองพญานาค (คูน้ำ) มัภูเขาชัยคีรีสูงเสียดฟ้าล้อมรอบอยู่ (กำแพงเมือง) ประตูเมืองมี 5 ประตู ตามทิศ 4 ประตู ด้านทิศตะวันออกเพิ่มเป็น 2 ประตู สำหรับขนคนตายออกจากเมืองเรียกประตูผี แต่ละประตูมีสะพานทอดข้ามคูน้ำออกไป ทำเป็นรูปบุคคลยุดนาค ด้านหนึ่งเป็นเทวดา อีกด้านหนึ่งเป็นอสูร ศจ.หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงตีความหมายว่ากำลังกวนน้ำอมฤต เพื่อทำให้เมืองมีความเป็นอมตะ ไม่มีใครทำลายได้ ซุ่มประตูมีรูปบุคคลมีใบหน้า 4 หน้า.
แผนผังนครธมและนครวัด, ที่มา: www.aboutasiatravel.com, วันที่เข้าถึง 1 มีนาคม 2562.
แผนผังนครธมและบริเวณพระราชวังหลวง, ที่มา: www.canbypublications.com, วันที่เข้าถึง 1 มีนาคม 2562.
พูนลาภมารับผมด้านในกำแพงเมืองนครธม ขับรถตรงมาถึงปราสาทบายน แล้วตัดออกด้านขวา มีนักท่องเที่ยวมากพอควรเตรียมเข้าชมปราสาทบายนกัน ผ่านมาทางลานช้าง ลานพระเจ้าขี้เรื้อน ออกมาทางประตูด้านทิศเหนือ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านหน้าประตูทิศใต้ของปราสาทบายน, ลานช้าง (Elephant terrace) ด้านหน้าของพระราชวัง
ภาพจากซ้ายไปขวา: กำแพงเมืองประตูด้านทิศเหนือ (ถ่ายจากด้านในก่อนออกจากกำแพง), ภาพด้านนอกฝั่งซ้ายของประตูด้านทิศเหนือเป็นรูปสลักหินทรายเทวากำลังยุดนาคส่วนหาง
ออกมาได้พักก็มาถึงแนวปราสาทกรอลดัมเรย (Prasat Krol Damrei) ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออก มีเศษซากปรักหักพังผุกร่อนหายไปมาก ไม่เหลือตัวปราสาท มีแต่ฐานและแนวปราสาทเท่านั้น ผมใช้เวลาราวยี่สิบนาทีถ่ายเก็บภาพ แล้วเดินทางต่อไปยังประสาทพระขรรค์
ปราสาทพระขรรค์ (Preah Khan)
ปราสาทนี้อยู่ทางเหนือของเมืองเสียมราฐ ประมาณ 17 กิโลเมตร ปราสาทพระขรรค์นี้เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเช่นเดียวกับปราสาทหลังอื่น ๆ (ภาษากัมพูชาเรียก ปราสาทเปรี๊ยะขรรค์) กล่าวกันว่าชาวบ้านเห็นอาคารหลังที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท เป็นอาคารที่สร้างจากหินทราย มี 2 ชั้น ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในศิลปะขอมสมัยบายน จินตนาการว่าเป็นที่เก็บพระแสงขรรค์ชัยศรีของพระเจ้าแผ่นดินจึงเรียกว่า ปราสาทพระขรรค์. รายละเอียดปราสาทพระขรรค์ แสดงใน "04. ปราสาทพระขรรค์"
จากจารึกหลักฐาน ปราสาทพระขรรค์นี้ สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อ พ.ศ.1734 อุทิศถวายพระบิดาของพระองค์คือพระเจ้าธรณินทรวรมัน05 แล้วสถาปนาพระบิดาเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Bodhisattva) หนึ่งในรัตนตรัยมหายาน พระบิดาแห่งพระพุทธเจ้าทั้งมวล เรียกปราสาทหลังนี้ว่า ราชัยศรี (โชคลาภแห่งชัยชนะ) มีลักษณะเป็นเมืองอีกเมืองหนึ่ง
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ กล่าวไว้ในหนังสือ The Angkor ว่า ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นบนสถานที่ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงรบชนะและรองรับโลหิตศัตรูของพระองค์.
ปราสาทพระขรรค์เป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนา นิกายมหายาน เป็นศิลปะขอมสมัยบายน กำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 (ประมาณ 800 กว่าปีมาแล้ว)
ที่มา: angkorguide.net, วันที่เข้าถึง 18 มีนาคม 2562
จากผังข้างต้น แถบสีเหลือง: เป็นวิหารกลาง อุทิศแด่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Bodhisattva) และเป็นท้องพระโรงแห่งนางรำ (the Hall of Dancers) ด้านทิศตะวันออก
พื้นที่แถบสีแดง: เป็นด้านตะวันตก อุทิศแด่พระวิษณุ (dedicate to Vishnu)
พื้นที่แถบสีเขียว: แกนทิศเหนือและใต้ ทิศเหนืออุทิศแด่พระศิวะ (dedicate to Shiva) ทิศใต้อุทิศแด่พระปิตุลาของกษัตริย์.
ที่มา: www.researchgate.net, วันที่เข้าถึง 18 มีนาคม 2562
ปราสาทพระขรรค์นี้ มีขนาดกว้าง x ยาว เป็น 700 x 800 เมตร มีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบอย่างมั่นคงแข็งแรง มีประตูทางเข้า-ออกทั้งสี่ทิศ มีเสานางเรียง (ไนจุมมวล) ปักบอกขอบเขตทางทางเดิน ถัดมาเป็นสะพานข้ามคูน้ำที่ล้อมรอบปราสาท ราวสะพานมีหินทรายแกะสลักเป็นเทวาด้านหนึ่ง เป็นอสูรอีกด้านหนึ่งซึ่งกำลังยุดนาค (ดังปรากฎรายละเอียดในนารายณ์อวตาร: กุรมาวตาร) เหมือนประตูเมืองนครธม (ทิศใต้ ทิศเหนือ...ทิศอื่น ยังไม่ได้ศึกษาครับ) ข้าง ๆ ซุ้มประตูประดับด้วยหินทรายสลักเป็นครุฑขนาดใหญ่ทั้งสองข้าง (ศจ.ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่าแสดงความเป็นพระอารามของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นวิมานของเทวดา) ตัวซุ้มประตูหรือโคปุระทำเป็นหลังคาชั้นซ้อนแบบดั้งเดิม ไม่เป็นรูปใบหน้าบุคคลสี่หน้าเหมือนอย่างซุ้มประตูศิลปะสมัยบายนในที่อื่น ๆ บริเวณด้านในมีปราสาทตั้งเรียงรายอยู่หลายหลัง ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่าปราสาทเหล่านี้อาจเปรียบเหมือนเป็นสุสานของพระราชวงศ์.
ด้านทิศตะวันออกที่เป็นทางเข้าหลักอยู่ติดกับสระชัยตฏากะ (บารายพระขรรค์) ที่ขุดขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นเดียวกัน (ปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว) บริเวณด้านในปราสาทมีอาคารที่เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา ที่พักนักเดินทางหรือผู้แสวงบุญ.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ทางเข้าด้านทิศตะวันออก จะพบเสานางเรียงปักบอกเขตทางเดินไว้, ขอบสะพานข้ามคูด้านขวา มีหินทรายแกะสลักเป็นอสูรกำลังยุดนาค พร้อมทั้งมีเสานางเรียงวางไว้เป็นแนวกั้นคูน้ำ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพสลักบนหินทรายเป็นภาพครุฑ ด้านข้างกำแพงของซุ้มประตูด้านหน้าทางทิศตะวันออก, ซุ้มประตูทางเข้าปราสาทพระขรรค์ทางทิศตะวันออก
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภายในวิหารกลาง ด้านทิศเหนือ มีรูปแกะสลักนางอัปสรตามเสา, ประตูย่อยมีการแกะสลักเสาเป็นลูกกรงลูกมะหวด นางอัปสร สลักลวยลายไม้
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพสลักบนหินทรายเป็นภาพเป็นเทพหกตนเหนือคานประตูด้านในของวิหารกลาง, บริเวณภายในวิหารกลาง มีภาพแกะสลักเทพสตรี (นางอัปสร) บางจุดจะพบร่องรอยคนร้ายสกัดเอาใบหน้าไป
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภายในวิหารกลางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ, ตรงกลางปราสาทประธานเป็นที่ซึ่งแกนทิศตะวันออกและตะวันตกตัดกันกับแกนทิศเหนือและใต้ ตรงจุดตัดกันนี้คือกึ่งกลางของปราสาทพระขรรค์นั่นเอง ปัจจุบันมีสถูปทรงระฆังขนาดเล็กตั้งอยู่ ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนในศิลปะกัมพูชาโบราณ (ที่พบสถูปทรงระฆังอยู่กลางปราสาท) เชื่อว่าสถูปนี้คงสร้างขึ้นในสมัยหลัง โดยน่าที่จะเป็นช่วงเวลาที่นักองค์จันพยายามเข้ามาฟื้นฟูเมืองพระนครให้เป็นเมืองหลวงใหม่ของชาวกัมพูชาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 รูปแบบสถูปมีชุดฐาน องค์ระฆัง บัลลังก์ มีปล้องไฉนที่สูงชะลูด สถูปเป็นแบบศิลปะศรีลังกา (สถูปแบบนี้พบมากในไทยและกัมพูชา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19-20 เป็นต้นมา คงได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่เจริญอยู่ในอินเดียใต้ โดยเฉพาะในลังกา)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ทางเข้าด้านทิศตะวันออกหลังซุ้มปราสาทหลังแรก ชาวบ้านเรียกห้องนี้ว่าห้องนางรำ เพราะว่ามีรูปสตรีกำลังเข้าแถวยืนรำฟ้อน (Nataraj) ในกิริยายกเท้าขวาขึ้นมือจีบทั้งสองข้าง อยู่บนส่วนคานส่วนที่รองรับหลังคาด้านบน ยังมีสภาพสมบูรณ์, เป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นชั้นที่ 2 เป็นไม้ผุพังไปหมดแล้ว เป็นอาคารที่น่าใช้งานได้จริงหลังแรก ๆ สันนิษฐานว่าเป็นบรรณาลัย ใช้เก็บหนังสือหรือคัมภีร์ของปราสาทพระขรรค์ สังเกตเสาชั้นล่างเป็นเสากลม (เสากลมแบบนี้เหมือนกับบรรณาลัยที่ปราสาทบายนซึ่งไม่พบในศิลปะขอมสมัยก่อนหน้านี้ เชื่อว่าคงได้รับอิทธิพลจากชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร (จิวตากวน กล่าวว่าสมัยนี้มีคนจีนเข้ามาค้าขายในกัมพูชามาก) ชั้นบนเป็นเสาเหลี่ยม (พบเสากลมในสมัยบาปวน และนครวัดรองรับสะพานทางเดินเข้าปราสาท) อาคารหลังนี้ชาวบ้านจินตนาการว่าเป็นที่เก็บพระขรรค์ของพระเจ้าแผ่นดิน จึงเป็นที่มาของชื่อปราสาท
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพสลักบนกรอบประตูหินทรายด้านทิศใต้ของวิหารกลาง ลวดลายเป็นนกแก้วสองตัว สวยงามมาก ซึ่งแสดงถึงความสุขและความรัก ซุ้มประตูทางเข้าปราสาทพระขรรค์ทางทิศตะวันเหนือด้านนอก หน้าบันเป็นราชรถเทียมม้า แสดงถึงเหล่าเทพกำลังออกศึก
ภาพจากซ้ายไปขวา: หน้าบันรูปเรือมีโขลนเป็นหงส์ บนเรือมีบุคคลนั่งแสดงกิริยารื่นเริงฟ้อนรำ เหมือนกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลหรืองานสำคัญ ภาพนี้ประดับอยู่หน้าบันของซุ้มประตูชั้นรองสุดท้าย ก่อนออกนอกปราสาทพระขรรค์ทางทิศตะวันตก, ...
ผมเดินชมภายในปราสาทพระขรรค์นี้นานร่วมสองชั่วโมงเศษ ตัวปราสาทไม่ใหญ่นัก ไม่มีบันไดขั้นสูง เป็นระนาบเดียวกันทั่วทั้งพื้นที่ปราสาท การเข้าชมลำบากนิดหนึ่ง เพราะมีนักท่องเที่ยวมาก ทั้งคนจีนและฝรั่งเป็นส่วนใหญ่ ผมเดินหลงระหว่างปราสาทด้านทิศเหนือกับใต้อยู่นาน ภาพแกะสลักสวยงามมีลายวิจิตรเต็มไปหมด พยายามถ่ายภาพให้ได้มาก ๆ แล้วมาศึกษาวิเคราะห์ในภายหลัง ผมเดินออกมาทางประตูด้านทิศตะวันตก ซึ่งห่างจากด้านทิศตรงข้าม ที่พูนลาภจอดรถรออยู่ ผมเหมารถตุ๊ก ๆ ให้มาส่งด้านทิศตะวันออก พอมาถึงก็มอง ๆ หาพูนลาภ แต่ก็ไม่เจอ ซึ่งเป็นเวลาเที่ยงพอดี ผมแวะร้านอาหารด้านหน้าปราสาทพระขรรค์ทางทิศตะวันออก ทานสะเต็กเนื้อกับสลัดไปก่อน รสชาติใช้ได้ สักครู่พูนลาภก็โผล่มา ชวนผมทานอาหารเที่ยงอีกร้านหนึ่ง ผมบอกว่าทานเรียบร้อยแล้ว พูนลาภและเจ้าของร้านที่พูนลาภแนะนำ ทำท่าฉงน เสียดายอดได้ตังค์ค่าอาหารมื้อนี้จากผม
พูนลาภขับตุ๊ก ๆ ตรงเข้าประตูเมืองนครธมทางทิศตะวันออก (ประตูแห่งชัยชนะ - Victory Gate) แล้วเลี้ยวมาทางด้านข้างขวาซึ่งทิศเหนือของปราสาทบายน ผมบอกว่าราว ๆ 5 โมงเย็นให้มารับผมแถว ๆ บริเวณร้านอาหารหน้ากลุ่มปราสาทพระพิธุ (Preah Pithu) เยื้อง ๆ หน้าพระราชวัง.
ปราสาทบายน (Prasart Bayon)
สำหรับผู้ที่สนใจเฉพาะปราสาทบายนนี้ ผมได้แสดงรายละเอียดไว้แล้วใน "บายน: วิมานไพชยนต์" ซึ่งข้อมูลที่แสดงต่อไปนี้เป็นข้อมูลกว้าง ๆ แสดงให้เห็นลำดับการเที่ยวเยี่ยมชมปราสาทนี้เท่านั้น
ช่างโชคเสียนี่กระไร ด้วยเป็นเวลาราวเกือบบ่ายสอง นักท่องเที่ยวน้อยมาก สะดวกสำหรับผมที่เยี่ยมชม ถ่ายรูปเข้าดูปราสาทบายนนี้ ผมค่อย ๆ ละเลียดถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ จากรอบนอกทางทิศเหนือของปราสาท แล้วเดินเข้ามาหน้าทางปราสาททางทิศตะวันออก.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ปราสาทบายนจากมุมด้านทิศเหนือ, ด้านหน้าทางทิศตะวันออกของปราสาท มีป้ายแสดงการร่วมบูรณะปราสาทบายน
ระหว่างยูเนสโก กับกองทุนแห่งประเทศญี่ปุ่นด้านการอนุรักษ์มรดกโลก
ภาพจากซ้ายไปขวา: ปราสาทบายนจากมุมด้านด้านหน้าเฉียง ๆ ทิศเหนือกับตะวันออก,
ป้ายอธิบายปราสาทบายนโดยสังเขป 4 ภาษา (กัมพูชา, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และญี่ปุ่น)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ป้ายแสดงการบูรณะปราสาทบายน, ด้านหน้าทางทิศตะวันออกของปราสาท มีป้ายแสดงการร่วมบูรณะปราสาทบายน
ระหว่างยูเนสโก, หน่วยงานอัปสรา และทีมงานของญี่ปุ่นในการปกปักรักษาอังกอร์ และ ภาพด้านหน้าปราสาทบายน ช่วงบ่าย ๆ
ผมเดินชมจากระเบียงคดด้านนอกฝั่งซ้ายของปราสาทก่อน (มีการบูรณะซ่อมแซมขนานใหญ่อยู่ตรงระเบียงคดด้านซ้ายนี้) แล้วค่อย ๆ ถ่ายภาพเก็บรายละเอียดมาทางด้านขวา วนมาด้านข้างขวา หลังและข้างซ้าย จากนั้นก็เดินวนเข้าไประเบียงด้านใน รายละเอียดเยอะมาก ผมเห็นนักท่องเที่ยวท่านหนึ่ง (เข้าใจว่าเป็นคนไทย ลักษณะเหมือนเป็นอาจารย์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กำลังจดบันทึก เอาตำราในมือมาเทียบเคียงกับผนังอยู่ ผมพยายามจะทัก แต่ดูท่านเฉย ๆ ) ผมเดินและนั่งพักได้ครู่หนึ่ง แล้วออกมาทางด้านซ้ายของปราสาท (ผมใช้เวลากับปราสาทบายนนี้ ประมาณหนึ่งชั่วโมง)
ผมเดินข้ามถนนมายังพระพุทธรูป (Preah Ngoc หรือ Preah Ngok Pagoda)06 ซึ่งประดิษฐานภายในศาลาโปร่งซึ่งสร้างใหม่บังแดดและฝนพระพุทธรูปไว้
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูป Preah Ngoc (ที่มา: www.alamy.com, วันที่เข้าถึง: 30 เมษายน 2562), ด้านข้างซ้าย เป็นลานหินทราย (ที่เหลือจากการก่อสร้าง) ภายใต้ต้นไม้ใหญ่ มีกลุ่มลิงย่อย ๆ ไม่กลัวคน คอยรับเศษอาหารจากนักท่องเที่ยวแบ่งและแย่งชิงกัน หาเหาหาเห็บทำความสะอาดให้กันบ้าง
ผมนั่งพักที่ลานหินทรายใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ครู่ ดูกลุ่มลิงไปเพลิน ๆ พอหายเหนื่อยก็เดินมายังปราสาทบาปวน (Baphuon)
ปราสาทบาปวน (Baphuon)
ปราสาทบาปวนอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเสียมราฐ (ห่างขึ้นไปประมาณ 10 กิโลเมตร) อยู่ภายในเมืองพระนครธม ที่ตั้งปราสาทเยื้องมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทบายนและติดกำแพงของพระราชวังหลวงทางด้านทิศใต้ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเกือบจุดกึ่งกลางเมืองพระนครธมพอดี รายละเอียดปราสาทบาปวน แสดงใน "06. ปราสาทบาปวน"
บาปวน แปลว่า หลบหรือหนี ซึ่งเกี่ยวข้องกับนิทานพื้นบ้านเรื่องตาพรหมเกล08 และเรื่องของปราสาทปักษีจำกรง09
ปราสาทบาปวนนี้ สร้างในสมัยพระเจ้าอุทัยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1593-1609) ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 (มีข้อมูลว่าท่านเสด็จมาจากทางทิศเหนือของเมืองพระนคร สันนิษฐานว่าคือดินแดนทางภาคอีสานของประเทศไทย ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในเมืองพระนครระหว่าง พ.ศ.1545-1593 รัชกาลของพระองค์ค่อนข้างยาวนาน) เมื่อบัลลังก์ตกมาถึงสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 พระราชโอรส ทำให้ช่างมีเวลาผลิตงานศิลปกรรมต่อเนื่องจากสมัยของพระบิดา จนศิลปกรรมในยุคนี้ตกผลึกและมีรูปแบบชัดเจน เรียกศิลปะสมัยนี้ว่า ศิลปะแบบบาปวน.
การกำหนดอายุ: ศิลปะกัมพูชาแบบบาปวน (สมัยที่ 12) กำหนดอายุอยู่ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 17 (ประมาณ 950 ปีมาแล้ว)
ศาสนาและความเชื่อ: ปราสาทแห่งนี้เป็นศาสนสถานทางศาสนาพราหมณ์ พบภาพสลักนูนต่ำเกี่ยวข้องกับพระวิษณุ พระศิวะ เทพในศาสนาพราหมณ์ มหากาพย์สองเรื่องคือ รามายณะและมหาภารตะ แต่ไม่พบเรื่องเกี่ยวกับศาสนาความเชื่ออื่น (ยกเว้นพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของปราสาท ที่มีหลักฐานว่ามาสร้างในสมัยหลังประมาณ 400 ปี)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ถ่ายจากด้านหน้า ตะวันออกเฉียงใต้, ภาพถ่ายด้านหน้าปราสาทบาปวน
ภาพด้านหลังปราสาทบาปวน สังเกตดูจะเห็นได้ว่ามีภาพสลักนูนเด่นเห็นเป็นพระพุทธไสยาสน์ หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ
แล้วเดินไปทางด้านหลังปราสาท เดินลงจากบันไดไม้สภาพแข็งแรง แต่สูงชัน ต้องระวังเกาะราวไว้แน่น ๆ ขณะเดินลงมา จากนั้นก็เดินเลาะไปทางทิศเหนือ เข้าสู่บริเวณพระราชวัง ประตูเข้าพระราชวังด้านทิศใต้
บริเวณประตูทางเข้าพระราชวังทางทิศใต้ ติดกับบริเวณปราสาทบาปวน
ปราสาทพิมานอากาศ
ผมเดินผ่านประตูเข้าพระราชวัง มาสู่ชั้นในของพระราชฐาน ก็ถึงปราสาทพิมานอากาศ มีเจ้าหน้าที่ของกัมพูชาเฝ้าตรงบันไดทางขึ้นปราสาททางทิศตะวันตกอยู่ โดยแจ้งบอกไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชม รายละเอียด ปราสาทพิมานอากาศ แสดงใน "03. ปราสาทพิมานอากาศ"
ลานช้าง (Elephant terrace)
จากนั้น ผมก็เดินมาแวะทานน้ำมะพร้าวเย็น ๆ ลูกละ US$ 1.0 ที่ตรงเพิงขายน้ำและของที่ระลึกทั่วไป ตรงข้ามเยื้อง ๆ ลานพระเจ้าขี้เรื้อน (The Terrace of Leper King) ผมนั่งพักให้หายเหนื่อยครู่หนึ่ง แล้วเดินมาทางวัดเทพพระนาม (Tep Pranam)
ที่วัดเทพพระนาม (ก่อสร้างตอนปลายสมัยพระเจ้ายโสวรมันที่ 1 ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 เพื่ออุทิศแด่พุทธศาสนานิกายเถรวาท) ปัจจุบันยังมีพระภิกษุจำพรรษาและประกอบศาสนกิจ เมื่อคราวก่อน และในคราวนี้ เห็นมีชาวบ้านมานั่งตรงระเบียงศาลาวัดนุ่งผ้าข้าวม้าบ้าง กางเกงขายาว/สั้นปรกติบ้าง พนมมือ น้อมให้พระเอาน้ำราด หลายถังอยู่เหมือนกัน พระท่านก็สวดมนต์พลาง ราดน้ำพลาง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้พ้นทุกข์หมดโศก อะไรทำนองนั้น (ผมถามแม่ค้าชาวกัมพูชาที่ขายน้ำมะพร้าวแถว ๆ นั้น เขาเรียกว่า Sroy Taek - สรอยตึก - รดน้ำมนต์)
จากนั้นก็เดินตรงมาด้านหลังวัดเทพพระนาม ซึ่งเป็นทิศเหนือเยื้องไปทางตะวันตกในขอบบริเวณตัวเมืองพระนคร มายังวัดพระป่าเลไลยก์ (Preah Palilay) รายละเอียดแสดงใน "02. ปราสาทพระป่าเลไลย์"
แล้วเดินมาชมลานพระเจ้าขี้เรื้อน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นรูปแกะสลักพระยม (Yama) อยู่ด้านบน เป็นรูปแกะสลักจำลอง ของจริงทางการกัมพูชาได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์กรุงพนมเปญไว้แล้ว
ผมเดินชมตรงร่องทางเดินใต้ฐานที่ตั้งของพระยม มีภาพแกะสลักโลกบาดาลจำนวนมาก มีทั้งพญานาคเจ็ดเศียร เก้าเศียร พระโพธิสัตว์ในชาติที่เสวยพระชาติเป็นม้าห้าเศียร ทางเดินข้างในคดเคี้ยวพอสมควรและเปลี่ยว หากนักท่องเที่ยวมาคนเดียว ดูไม่ค่อยปลอดภัยเท่าใดนัก มีเด็กน้อยชาวกัมพูชานั่งแกร่ว ๆ คุยกันอยู่ในซอกทางเดินนั้น สาม-สี่คน เมื่อผมเดินผ่าน ก็ร้องขอสะตังค์ ผมทำเป็นไม่สนใจรีบเดินออกมา ผมถ่ายเก็บภาพรายละเอียดต่าง ๆ ได้มาก ซึ่งรายละเอียดลานพระเจ้าขี้เรื้อน แสดงใน "09. ลานพระเจ้าขี้เรื้อน"
จากนั้นก็เป็นช่วงเย็นแล้ว ราว ๆ ใกล้ห้าโมงเย็น ผมก็มารอสารถีพูนลาภ ที่ร้านขายน้ำเครื่องดื่มต่าง ๆ ฝั่งตรงข้าม ถ่ายภาพปราสาทพระพิธู (Preah Pithu) (รายละเอียดแสดงใน "18. ปราสาทพระพิธู") ที่ศาลาไม้ (ไม่สามารถเข้าไปถ่ายภาพรายละเอียดปราสาทพระพิธูได้สะดวกนัก เพราะมีสแลมเป็นแนวกั้น กำลังบูรณะอยู่ ภายใต้หน่วยงานด้านสาธารณกุศลและภาครัฐของเกาหลีใต้ ชื่อ KOICA - Korea International Cooperation Agency)
จากนั้นผมก็ดื่มน้ำมะพร้าวไปสองลูกด้วยความกระหาย ระหว่างรอก็คุยกับเจ้าของร้านไปสักพัก พูนลาภก็มา ขับรถตุ๊ก ๆ คันเก่งนำผมส่งกลับอพาร์ทเม้นต์ ผมอาบน้ำอาบท่าพักผ่อน หลับไปงีบหนึ่ง พอค่ำ ๆ ก็เดินมาไนท์ บาซ่า แกร่ว ๆ เดินดูข้าวของ ผู้คนนิดหน่อย ก็แวะทานข้าวต้มกุ๊ย รสชาติใช้ได้ ใกล้เคียงกับที่เมืองไทย แต่พวกไข่เค็ม กุนเชียง ออกจะมีกลิ่นหื้น ๆ หน่อย แต่โดยรวมแล้วโอเค ทานเสร็จก็ไม่รู้ไปไหนต่อ กลับอพาร์ทเม้น แปรงฟัน แล้ว Search Internet ครู่หนึ่งก็พักผ่อนเอาแรงไว้ลุยต่อในวันพรุ่งนี้
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ที่มา: หนังสือ 30 ปราสาทขอมในเมืองพระนคร โดย ภภพพล จันทร์วัฒนกุล สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ 2 ตุลาคม 2560.
02. https://www.viator.com/tours/Angkor-Wat/Angkor-Wat-Tickets-1-Day-2-Days-3-Days-and-7-Days-Temples-Passes/d751-39527P96, วันที่สืบค้น 11 กันยายน 2561.
ราคาตั๋วนี้ ครอบคลุมการเข้าชมปราสาทต่าง ๆ ในเมืองพระนคร (Angkor Archaeological Park) ดังนี้
- นครวัด (Angkor Wat) *****
- ปราสาทพนมบาเคง บ้างก็เรียกปราสาทบาแคง (Phnom Bakheng) ****
- ปราสาทกระวาน (Prasat Kravan) ****
- ปราสาทปักษีจำกรง (Baksei Chamkrong) ***
- ปราสาทเบย (Prasat Bei)
- ปราสาทแม่บุญตะวันออก (Prasat East Mebon)
- ปราสาทแปรรูป (Pre Rup) ****
- ปราสาทบันทายสรี (Banteay Srei) *****
- ปราสาทตาแก้ว (Takeo) ***
- กะบาล สะเปียน (Kbal Spean)
- ปราสาทบันทายสำเหร่ (Banteay Samre) ****
- ปราสาทพระขรรค์ (Preah Khan) ****
- สระสรง (Srah Srang) **
- ปราสาทตาพรหม (Ta Prohm) *****
- ปราสาทตาสม (Ta Som) ***
- ปราสาทนาคพัน (Neak Pean) ****
- ปราสาทพนมบก (Phnom Bok)
- ปราสาทพนมกรอม (Phnom Krom) ***
- ปราสาทเจ้าสายเทวดา (Chao Saytevoda) **
- ปราสาทธมมานนท์ (Thomanon Temple) ***
กลุ่มปราสาทเรอลั้วะ (Roluos Group) ที่ตั้งของเมืองหริหราลัย ซึ่งเป็นเมืองเก่าก่อนจะย้ายมาเมืองพระนคร ปัจจุบันอยู่ในตำบลเรอลั้วะ {บ้างก็เรียก "โรลั้วะ (ในไทยออกเสียง ร่อลวย) หมายถึง ต้นทองหลางพันธุ์หนึ่งซึ่งไม่ใช่พันธุ์ที่คนไทยรู้จัก}01
- ปราสาทบากอง (Bakong) ****
- ปราสาทโลเลย (Lolei) ****
- ปราสาทพระโค (Preah Ko) ****
กลุ่มปราสาทนครธม (Angkor Thom)
- ประตูเมืองพระนครธม (Angkor Thom) ****
- พระราชวังหลวง (Royal Palace) ****
- พระลานหลวง (Royal Terraces)
- ลานช้าง (Elephant Terrace)
- ลานพระเจ้าขี้เรื้อน (Terrace of Leper King)
- ปราสาทบายน (Bayon - endless smiling temple) *****
- ปราสาทพิมานอากาศ (Phimeanakas) ***
- ปราสาทบาปวน (Baphuon) ****
- ปราสาทซัวปรัต (Prasat Suor Prat) *
- ปราสาทพระป่าเลไลย์ (Preah Palilay) ***
- ประสาทคลังใต้ ปราสาทคลังเหนือ ฯ (South Gate, Victory Gate etc) ***
03. ANCIENT ANGKOR: BOOKS GUIDES, Michael Freeman, Claude Jacques, River Books, Bangkok, Thailand, 2013.
04. Pradyumma ยังค้นหาคำอ่านเป็นภาษาไทยไม่ได้ ซึ่ง Pradyumma เป็นโอรสของพระกฤษณะกับนางราธา (Radha) เป็นหนึ่ง
ในสี่พยุหเสนา (Vyuha) ที่อวตารมาจากพระวิษณุ.
05. อ่านเพิ่มเติมเรื่องของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในมาดแลน จีโต, ประวัติเมืองพระนครของขอม, ทรงแปลโดย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2556) บทที่ 5-6.
06. พระพุทธรูป Preah Ngoc หรือ Preah Ngok เป็นพระพุทธรูปหินทรายประทับนั่ง สูงประมาณ 5 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 ปัจจุบันมักจะพบพระภิกษุมาสวดมนต์และมีญาติโยมมาถวายปัจจัย ฟังเทศน์ฟังธรรมกันภายในศาลาอันเป็นที่ตั้งพระพุทธรูป Preah Ngoc นี้กันอยู่เนือง ๆ .
07. จากการบรรยายสดของ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ของศิลปวัฒนธรรมเสวนา เมื่อ 27 กันยายน พ.ศ.2561, https://www.youtube.com/watch?v=2AM2pG5LSrA, ช่วง 11:56 กล่าวว่า "เมื่อสมเด็จพระราชมุนีไปเมืองนครหลวง" จารึกของสมเด็จพระราชมุนีพระสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยา (ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) ไปบูรณะพระพุทธรูปที่เขาพนมบาแค็ง และ พนมกุเลน (ซึ่งในจารึกเรียกว่า พระขพุล) ในปี พ.ศ.2123. (พระราชมุนี อาจหมายถึงสมเด็จพะโคะ หรือ หลวงปู่ทวดก็ได้ ซึ่งจะต้องมีการศึกษากันต่อไป)
จารึกพนมกุเลน (K 1006) กล่าวถึงนครวัดโดยเรียกว่า "เชตพล" และ "เมืองเชตไพร" ดังความในจารึกที่ว่า "...แล้วก็มาเห็นพระเจ้าในพระเชตพล คอหัก แขนหักก็มาทารักชาดปิดทองสรรพแล้วออกมาสร้างพระกพง (พระขพุง)..." และ "...มาไหว้พระเจ้าในเมืองเชตพรย (ไพร) เราเห็นพระเจ้า..."
08. ปราสาทตาพรหมเกล สร้างในต้นพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นศิลปะแบบบายน พุทธนิกายมหายาน ปราสาทตาพรหมเกล ตั้งอยู่ตรงข้ามกับมหาปราสาทนครวัด เป็นปราสาทปรางค์เดียวสร้างด้วยหินทราย สูงประมาณ 12 เมตร เป็นอโรคยศาลา หรือ ศาลาแห่งความไร้โรคหรือโรงพยาบาลในสมัยโบราณ เป็นหนึ่งในจำนวนแโรคศาลาทั้ง 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเล็งเห็นความทุกข์ยากของประชาชนที่มีความเจ็บป่วย ดังที่เคยตรัสไว้ว่าความเจ็บป่วยของประชาชนก็เหมือนความเจ็บป่วยของพระองค์. ที่มา: www.oceansmile.com, วันที่เข้าถึง 10 พฤษภาคม 2562.
ปราสาทตาพรหมเกล, ถ่ายเมื่อ 20 ตุลาคม 2561
09. ปราสาทปักษีจำกรง สร้างในปลายพุทธศตวรรษที่ 15 (พ.ศ.1471) สมัยพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 และบูรณะในรัชสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 เป็นศิลปะแบบบาแคงและเกาะแกร์ ศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ปราสาทปักษีจำกรง มีรูปทรงปิรามิด ความเป็นมา: มีนิทานพื้นบ้านเล่าขานเรื่องพญานกได้นำเอาโอรสของพระราชา ซึ่งตกอยู่ในอันตรายระหว่างการแย่งชิงราชสมบัติ มาเลี้ยงจนเติบใหญ่และได้กลับมาชิงราชบัลลังก์คืนได้ในภายหลัง และเมื่อปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์จึงได้ทรงสร้างปราสาทนี้เป็นการทดแทนบุญคุณของพญานก
ส่วนศิลาในปราสาทได้จารึกไว้ว่า สร้างในสมัยพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 และมีการบูรณะในรัชสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 เมื่อพระองค์เสด็จมาจากเมืองเกาะแกร์ มาสร้างและบูรณะเมืองพระนครขึ้นเป็นราชธานี
ตัวปราสาทปักษีจำกรงมีฐานเป็นศิลาแลงสี่เหลี่ยมย่อมุม ศิลาแลงมีลักษณะดีไม่มีรูพรุน สูงจากพื้น 27 เมตร มีฐานสี่ชั้น ชั้นแรกสูง 15 เมตร มีบันไดทางขึ้นปราสาททั้งสี่ทิศ บันไดค่อนข้างสูงชัน ตัวปรางค์ประธานมีทางขึ้นทางเดียวคือทิศตะวันออก อีกสามประตู สามทิศนั้นเป็นประตูหลอก
เสาประดับกรอบประตูและทับหลังทั้งสี่ด้าน ทำให้หินทราย สลักภาพลวดลายสวยงาม ลวดลายที่กรอบประตูและทับหลัง เป็นเทพพนมบนกลีบดอกบัว ทับหลังสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ บริเวณผนังปราสาทสลักเป็นรูปนางอัปสร และที่กรอบประตูด้านข้างมีอักษรภาษาสันสกฤตจารึกเรื่องราวประวัติการสร้างปราสาท. ที่มา: www.oceansmile.com, วันที่เข้าถึง 10 พฤษภาคม 2562.
ปราสาทปักษีจำกรง ถ่ายเมื่อ 16 ตุลาคม 2560