MENU
TH EN

นครวัด: ยลพระบรมวิษณุโลก ก่อนสิ้นลมปราณ ตอนที่ 1

ภาพ: มุขด้านหน้าของนครวัด ภาพวาดลายเส้นโดย กิโอด์ ร่างโดยอ็องรี มูโอต์ (Henri Mouhot) ราวปี ค.ศ.1860, ที่มา: en.wikipedia.org และ บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์: ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่น ๆ, หน้าที่ 232, พิมพ์ครั้งที่ 1, ตุลาคม 2558, สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม.

First revision: Nov.06, 2017
Last change: Oct.02, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย:
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

 

นครวัด: ยลพระบรมวิษณุโลก ก่อนสิ้นลมปราณ ตอนที่ 101,02,06,11


      ผมเดินทางไปนครวัดได้สี่ครั้ง คือเมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ.2552, 13-16 ตุลาคม พ.ศ.2560, 20-23 ตุลาคม พ.ศ.2561, และ 8-10 มิถุนายน 2562 (สามารถดูรายละเอียดภาพรวมการเดินทาง รวมทั้งการชมปราสาทสำคัญอื่น ๆ ได้ที่ "อาณาจักรพระนครโบราณ") ที่ผ่านมา ซึ่งประทับใจตลอดทั้งสี่ช่วงเวลา ผมจะพยายามศึกษาค้นคว้า เดินทาง จากเดิมเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ และคงจะสอดคล้องกับประโยคอมตะของอาโนลด์ ทอยน์บี (Arnold Joseph Toynbee) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ว่า See Angkor Wat and Die -ขอยลอังกอร์(วัด)ก่อนตาย05 -การได้เห็นนครวัดเสมือนได้เห็นสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดในชีวิตแล้ว ก็ตายนอนตาหลับ"06 "ขอยลพระบรมวิษณุโลกก่อนสิ้นลมปราณ" และ "การก่อสร้างศาสนสถาน ก็คือ ความทะเยอทะยานอันสูงสุดของมนุษย์ที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า" ศิลป พีระศรี ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ. 


อาโนลด์ เจ. ทอยน์บี, ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2510 ที่มา: aeon.co, วันที่สืบค้น 12 ธันวาคม 2560.

     จากบันทึกเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2128 (ค.ศ.1585) {ตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช (พระ-น-เรศ-วอ-ระ-รา-ชา-ธิ-ราด) ของไทย พ.ศ.2098-2133} ของนักเดินทางชาวโปรตุเกส ชื่อ ดีโอโก โด โคโตะ (Diogo Do Couto) ได้อธิบายถึงนครวัดว่า "ราว ๆ ครึ่งโยชน์จากเมือง (นครธม) มีวัดชื่อว่าอังการ์ ... วัดนี้เป็นสิ่งก่อสร้างพิเศษเฉพาะซึ่งอธิบายด้วยการจรดปากกาเขียนได้ยากยิ่ง, ไม่มีผู้ใดสามารถเปรียบเปรยเทียบกับสิ่งก่อสร้างอื่นใดในโลกได้เลย". และไม่กี่ศตวรรษต่อมา การพรรณนาของเขาก็ยังคงเป็นเรื่องจริง.


ดีโอโก โด โคโตะ (Diogo Do Couto) (พ.ศ.2085-2159),
ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 9 ธันวาคม 2561


     นครวัด (Angkor Wat) เป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่เมืองพระนคร จังหวัดเสียมราฐ (Siem Reap) ประเทศกัมพูชา เริ่มสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมเทวะที่ 2 ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยเป็นศาสนสถานประจำพระนครของพระองค์ ตัวเทวสถานได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จนเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญเพียงแห่งเดียวที่ยังเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่ก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่เดิมนครวัดเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระวิษณุ (ไวษณพนิกาย) (จากการสำรวจใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการสแกนด้วยเทคนิค LiDAR - Light Detection and Ranging พบว่าบริเวณใต้ปราสาทนครวัด มีซากปราสาทเดิมอยู่ชั้นหินดินด้านในอยู่ถึงหกปราสาท - ข้อมูลจากไกด์ซาง -ไกด์ที่เป็นทางการของกัมพูชา เมื่อคราวไปชมเมืองพระนคร 8-9-10 มิถุนายน 2562) ซึ่งเท่าที่ผมได้ศึกษาเดินสำรวจนั้น ภาพสลักต่าง ๆ ทั่วทั้งนครวัดนั้นเป็นความเชื่อทั้งไวษณพนิกายและไศวนิกาย (นับถือพระศิวะเป็นใหญ่) ภาพสลักเป็นหลาย ๆ เรื่องราว โดยเฉพาะ รามายณะ มหาภารตะยุทธ นารายณ์อวตาร ภพภูมิสวรรค์นรก การยกทัพเกรียงไกรแสดงแสนยานุภาพของกษัตริย์ และการรบพุ่งระหว่างเทวากับอสูร. 
 
สถานที่ตั้ง
     อยู่ห่างจากเขาพนมกุเลน (กุเลน แปลว่า ลิ้นจี่ป่า) ราว 50 กิโลเมตร ผู้สร้างต้องมีความศรัทธาแรงบันดาลใจที่เปี่ยมล้นในการรังสรรค์งานเหล่านี้ (ในมุมมองของจิตร ภูมิศักดิ์ ได้เสนอแนวคิดว่า ทำไปด้วยความกลัว การกดขึ่ กอปรกับความศรัทธา ประเด็นนี้ก็ต้องศึกษาค้นกว่ากันต่อไป) .

     คนกัมพูชาท้องถิ่นเรียกชื่อสถานที่นี้ว่าคือ พระวิษณุโลก หรือ พระพิษณุโลก  (Prasat Paramavishnuloka) ของพวกเขา "นครวัดไม่เคยร้างรามาตลอด 900 กว่าปี" (ศานติ ภักดีคำ, นครวัดทัศนเขมร. (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2545) หน้า 13). ซึ่งคนไทยโบราณจะเรียกนครวัดนี้ว่าพระพิษณุโลก มีภิกษุและพุทธศาสนิกชนไทยเดินมามาชมและสักการะพระพุทธรูปในพระพิษณุโลกนี้เรื่อยมา มิได้ขาด ซึ่งจะแย้งกับตำราฝรั่งที่ว่า อ็องรี มูโอต์ (Henri Mouhot)  เป็นผู้ค้นพบนครวัด.

     ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องรู้จัก สองหน่วยงานที่สำคัญในการศึกษาปราสาทนครวัดและส่วนอื่น ๆ ของศิลปกรรมโบราณของกัมพูชา คือ

     หนึ่ง) สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (École française d'Extrême-Orient - EFEO) (อีโคล์ ฟรองเซส์ ดิทรีเมอ อิยอง) เป็นสถาบันของฝรั่งเศสที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดี ประวัติศาสตร์ รวมทั้งสังคมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะอินโดจีนของฝรั่งเศส) สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2443 โดยในตอนแรกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮานอย และต่อมาได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ปารีส ในประเทศไทย EFEO มีศูนย์อยู่ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ริมถนนบรมราชชนนี กรุงเทพฯ, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 29 เมษายน 2562.


ที่มา: www.efeo.fr, วันที่เข้าถึง 29 เมษายน 2562

     ผู้สนใจทุกท่านสามารถเข้าไปศึกษางาน ภาพถ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ เอกสารสำคัญได้ใน http://collection.efeo.fr


     สอง) พิพิธภัณฑ์กีเมต์ (Musée Guimet) - (มูซีกีเมต์) ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส  www.guimet.fr, พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปะอินโดจีนที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นแหล่งศิลปะจากเอเชียที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีโบราณวัตถุล้ำค่ากว่า 45,000 ชิ้น พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ที่จัตุรัสอิเอนา เขต 16 ซึ่งเดิมเคยตั้งอยู่ที่เมืองลียอง ก่อตั้งโดย อีมิล กีเมต์ (Émile Étienne Guimet ) มหาเศรษฐีนักอุตสาหกรรมชาวลียอง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1879, ที่มา: หนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 79 มิ.ย.2550 โดย จรินทร์ คำชัย, ผ่านทาง https://mgronline.com/dhamma/detail/9500000066463, และ /www.talontiew.com/musee-guimet/, วันที่เข้าถึง 29 เมษายน 2562.

อีมิล อีเตียง กีเมต์ (Émile Étienne Guimet ), 26 มิ.ย. ค.ศ.1836 - 12 สิงหาคม ค.ศ.1918
ชื่อและความหมาย
     ภาษาไทยเรียก นครวัด  {ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (จอร์จะคูอิเดด) บ้างก็เรียก จอช เซแดส - George Cœdès ได้เสนอให้เรียกว่า Funeral Temple (เพราะเป็นทั้งเทวาลัยและหลุมฝังศพ) ซึ่งมีคนคิดคำศัพท์ขึ้นเป็นไทยว่า มฤตกเทวาลัย}
  (ดู 02 หน้าที่ 123).  

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ - George Cœdès บรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอสมุดวชิรญาณ พ.ศ.2461 ชาตะ พ.ศ.2429 - มรณะ พ.ศ.2512, ที่มา: www.sujitwongthes.com และ th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 20 กุมภาพันธ์ 2561.

     ที่มาของชื่อสันนิษฐานว่าเนื่องจากปราสาทนครวัดมีขนาดใหญ่มากเหมือนเป็นนคร เมื่อตอนแรกสร้างถูกใช้งานเป็นปราสาททางศาสนาพราหมณ์ รวมทั้งเป็นอวมงคลสถาน ด้วยเป็นที่บรรจุพระบรมศพกษัตริย์ (เพราะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก) (แต่ก็มีการสันนิษฐานใหม่ว่า นครวัดไม่ได้เป็นอวมงคลสถาน ที่ตัวปราสาทหันไปทางทิศตะวันตกนั้น ก็เป็นการหันตรงไปยังแอ่งเก็บน้ำขนาดใหญ่-บารายตะวันตก ที่มีพระนารายณ์บรรทมสินธุ์สถิตอยู่นั่นเอง)


เทวรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์สัมฤทธิ์ พบที่บารายตะวันตก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานในกรุงพนมเปญ,
ขอบคุณที่มาของภาพ: EJeab Academies ใน facebook


 ต่อมาเมื่อศาสนาพราหมณ์เสื่อมไป พุทธศาสนาเถรวาทได้เผยแผ่เข้ามาแทนที่ (หลังพุทธศตวรรษที่ 19) ได้มีการเข้าไปครอบครองใช้พื้นที่ของปราสาทประธานด้านบน ดัดแปลงให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา (สังเกตได้จากร่องรอยที่มีการดัดแปลงพื้น ผนัง เสา ของปราสาทนครวัด) ต่อมาได้มีการย้ายวัดลงมาด้านล่าง.

แผนแบบปราสาทนครวัด
 


Layout ของนครวัด, ที่มา: angkorguide.net, วันที่สืบค้น 12 ธันวาคม 2560.

 

ติดตามต่อได้ใน "นครวัด: ยลพระบรมวิษณุโลก ก่อนสิ้นลมปราณ ตอนที่ 2


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. Michael Freeman, Claude Jacques, ANCIENT ANGKOR: BOOKS GUIDES, River Books, Bangkok, Thailand, 2009
02จาก. ตำนานแห่งนครวัด, จิตร ภูมิศักดิ์, สำนักพิมพ์อมรินทร์, พิมพ์ครั้งที่ 5, กันยายน 2551.
03 ปรับปรุงจาก. EJeab Academies (วรณัย พงศาชลากร) ใน Facebook, วันที่สืบค้น 12 ธันวาคม 2560.
04.  สูรยวรรมันที่ 2 เอกสารไทยบางทีเรียกว่า สุริยวรมันที่ 2  (Suryavarman II) สิ้นพระชนม์แล้วได้พระนามว่า "บรมวิษณุโลก" เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรขอมโบราณ ทรงสร้างนครวัด ครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ.1113 - ถึงราว ค.ศ.1145-50, สูรยวรรมัน แปลว่า ผู้มีพระอาทิตย์เป็นเกราะ, พระนาม "บรมวิษณุโลก" นี้สื่อว่า ทรงเข้าถึงแล้วซึ่งพิภพอันยิ่งใหญ่ของพระวิษณุ คือ สรวงสวรรค์, ปรับปรุงจาก. th.wikipeida.org, วันที่สืบค้น 12 ธันวาคม 2560.
05จาก. เที่ยวไม่ง้อทัวร์ ตีตั๋วตะลุยกัมพูชา โดย Kittinew สำนักพิมพ์ ทิบ ไทย อินเตอร์ บุ๊ค, พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤษภาคม 2557.
06.  ปราสาทศิลปะขอมส่วนใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเชื่อว่าเป็นทิศแห่งความเป็นมงคลและอำนาจมีปราสาทเพียง 5 แห่ง เท่าที่ทราบที่หันหน้าไปทางทิศอื่น คือ ปราสาทพระวิหาร หันหน้าไปทางทิศเหนือ เนื่องจากความจำกัดของพื้นที่เพราะทางตะวันออกเป็นหน้าผาสูงชัน ปราสาทหินพิมาย หันหน้าไปทางทิศใต้ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงอธิบายว่าหันหน้าให้รับกับเมืองพระนคร (ยโศธรปุระ) ที่อยู่ทางทิศใต้.

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (ท่านชายปาน) (23 พ.ย. 2466 - 6 พ.ย.2546) นักประวัติศาสตร์ศิลปะและ
โบราณคดีชาวไทย ทรงมีคุณูปการและได้วางรากฐานต่อวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์และงานด้านโบราณคดีไว้มาก

     ปราสาทตาเมีอนธม (เพี้ยนมาจาก มวนธม แปลว่า ไก่ใหญ่) ตั้งอยู่ตรงพรมแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ในระหว่างเส้นทางของเมืองพิมายกับเมืองพระนครหันหน้าไปทางทิศใต้ น่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับปราสาทหินพิมาย ปราสาทอัตถเวียร์ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก และ

     ปราสาทนครวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันตก
       ข้อสันนิษฐานหนึ่ง: ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงสันนิษฐานว่าการที่ปราสาทนครวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันตก อาจจะเกี่ยวข้องกับการเป็นปราสาทที่ฝังพระศพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เพราะไม่พบข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ที่ไม่สามารถหันไปทางทิศตะวันออกหรือทิศอื่น ๆ ได้
       ใน
จดหมายเหตุจิวตากวน ได้กล่าวว่าศพพระราชาฝังอยู่ในปราสาทหิน และกล่าวถึงปราสาทหลังหนึ่งที่สร้างโดยเทพเจ้าลูปัน (ศ.พอล เปอลิโอ - Paul Peliot ผู้แปลจดหมายเหตุจิวตากวน สันนิษฐานว่า ลูปัน คือ วิศวกรรมเทพ) อาจหมายถึงปราสาทขนาดใหญ่มโหฬารที่เทพเจ้าเป็นผู้สร้าง อยู่ทางใต้ของประตูเมืองไกลประมาณ 1 ลี้ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัดนี่เอง หรือ
       และข้อสันนิษฐานที่สอง คือ ด้านหน้าของนครวัด ตรงกับบารายตะวันตก อันเป็นที่ตั้งของปราสาทแม่บุญตะวันตก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ (รายละเอียดดูใน 39.ปราสาทแม่บุญและบารายตะวันตก).


07.  นักองค์จัน หรือ นักองค์จันท์ ตามประวัติศาสตร์ มีสองพระองค์ องค์แรกคือ พระองค์จันท์ที่ 1 ผู้สร้างเมืองละแวกเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ.2071 องค์ที่สอง คือ นักองค์จัน บ้างก็เรียก นักองค์จันทร์ (สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี) ครองราชย์แทนนักองค์เอง (สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี) (สมภพ พ.ศ.2334 ที่กรุงเทพฯ สวรรคต พ.ศ.2378 ครองราชย์ พ.ศ.2345-2378 (บ้างก็ว่า พ.ศ.2349-2378). ทรงเป็นกษัตริย์กัมพูชาในระหว่างที่ประเทศเกิดความวุ่นวายจากการขัดแย้งระหว่างสยามกับเวียดนาม. ปรับปรุงจาก: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 1 มิถุนายน 2561.
08 โครงการฟื้นฟูบรรณาลัยส่วนเหนือซึ่งอยู่ภายในบริเวณนครวัด (RESTORATION PROJECT OF THE NORTHERN LIBRARY INSIDE THE OUTERMOST ENCLOSURE OF ANGKOR WAT) เป็นโครงการความร่วมมือของสามหน่วยงานคือ UNESCO, APSARA และ UNESCO Japanese Funds-In-Trust โครงการนี้เริ่มต้นและสิ้นสุด พฤษภาคม พ.ศ.2542 - เมษายน พ.ศ.2548 โดยมีภารกิจ 1) Rebuilding of Collapsed Elements 2) Installation on New Sandstone materials 3) Restoration of Missing Structural Elements with New Sandstone Materials 4) Dismantling, Repair, and Rebuilding of Damaged elements and places structurally in Danger of Collapse 5) Reinforcement of Structural Stability to adjust the Distortion of the Central Part of the Building Caused by Uneven Ground Subsidence. 6) Consolidation of the Surface of Deteriorated Elements 7) Construction of a Database of Restored Elements และ 8) Compilation of a Restoration Work Report.
09 การบูรณะแบบอนัสติโลซิส (Anastylosis) มาจากภาษากรีก ana = อีกครั้ง - again ส่วนที่เหลือหมายถึง การวางให้ตรง = to erect [a stela or building] เป็นศัพท์ทางโบราณคดี สำหรับเทคนิคในการก่อสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้องค์ประกอบหรือวัสดุที่เป็นแบบเดิมให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้., ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 3 สิงหาคม 2561.

10.  จาก. Michel Petrotchenko, Focusing On The Angkor Temples, The Guidebook, 4th Edition, 2017, Printed and Bound in Thailand, Amarin printing and Publish PCL.

 

info@huexonline.com