MENU
TH EN
ทับหลังที่ปราสาทเบ็งเมเลีย (Beng Mealea) แสดงภาพกูรมาวตาร (นารายณ์อวตารครั้งที่ 2: อวตารลงมาเป็นเต่า)
โดยใช้กระดองรองรับแรงกระแทกของเขามัทระ เพื่อมิให้ทะลุและทำให้โลกแตกได้ รายละเอียดดูใน http://huexonline.com/knowledge/20/82/ 
 
First revision: Jun.09, 2017
Last revision: Dec.07 , 2022
เรียบเรียง สืบค้น และปรับปรุงโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา
ออกุนเจริญ ๆ : กัมพูชา01
ผมตัดสินใจไปทริปกับอาจารย์มนตรี ลิมปพยอมและคณะรวม 20 ท่าน ในระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2560 นี้ ค่าใช้จ่ายรวม 28,000 บาท โดยผมพักเดี่ยว เหตุที่ผมตัดสินใจไปกัมพูชาครั้งนี้ ก็เพราะเชื่อในความรอบรู้ด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ของกัมพูชาของอาจารย์ฯ กอปรกับได้ไปชมมรดกโลกที่หลากหลาย ได้ชมนครวัด นครธม ปราสาทเบง เมเลีย และปราสาทเขาพระวิหารโดยขึ้นทางฝั่งกัมพูชาด้วย {อัตรานี้รวม ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถท่องเที่ยวตลอดรายการ ค่าที่พัก 5 ดาว จำนวน 3 คืน ค่าอาหาร ค่าเข้าชมโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ ค่าประกันภัย/ชีวิตวงเงิน 1 ล้านบาท ค่ามัคคุเทศก์ท้องถิ่น (คุณมาไลย) และคู่มือนำชมภาษาไทย "หนังสือนำชมโบราณสถานเขมร: วงพักตร์แห่งหินผา อัปสราแห่งบันเตีย"02} โดยมีกำหนดการและรายละเอียดดังนี้:
 
วันแรก ศุกร์ที่
13 ตุลาคม 2560
กรุงเทพฯ - เสียมราฐ - กลุ่มปราสาทเกาะแกร์ - กลุ่มศิวลึงค์
05:20 น.
  • พร้อมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ อาคารผู้โดยสารขาออกชั้น 4 ประตู 2 เคาน์เตอร์ D สายการบินไทย 
  • ผมตื่นแต่เช้ามืด (เมื่อคืนนอนได้ไม่ค่อยเต็มอิ่ม) นั่งแท๊กซี่มาสนามบินสุวรรณภูมิ หาอาหารรองท้องทั้ง ๆ ที่ยังเช้ามืดอยู่เลย พอได้เวลาต่างก็มารวมตัวกัน ทุก ๆ คนมาพร้อมทันเวลาตามที่นัดหมาย ทยอยกันเช็คอิน ผ่านตม. และขึ้นเครื่อง เครื่องบินออกล่าช้าเล็กน้อย ทราบจากเสียงตามสายของกัปตันว่าสภาพจราจรทางการบินคับคั่ง ต้องขออภัยในความไม่สะดวก
  • เครื่องบินลำนี้ขนาดไม่ใหญ่นัก มีที่นั่งว่างอยู่หลายสิบที่ ใช้เวลาเดินทางราวหนึ่งชั่วโมง 
07:45 น.
  • ออกเดินทางสู่เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เที่ยวบินที่ WE581 ของสายการบินไทย (Thai Smile)
  • สักพักโฮสเตสก็แจกอาหารว่างกล่องให้แก่ผู้โดยสารหลังจากที่เครื่องพ้นจากสนามบินราว ๆ 25 นาที
     
  • เป็นพายสแน็คชีสร้อน ๆ ผลไม้และน้ำผลไม้บรรจุกล่องเก๋ ๆ พร้อมห่อผ้าดูเหมือนเบนโตะอาหารญี่ปุ่นเลย
  • พอเครื่องบินใกล้ถึงสนามบินเสียมราฐ ผมพอมองเห็นแม่น้ำเสียมราฐ สภาพน้ำท่วมเจิง ท้องนากระจายทั่ว เนื่องจากช่วงนี้มีพายุที่อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่นเข้าชื่อแม่ "ขนุน" (ทราบต่อมาภายหลังว่าวันนี้ที่สุขุมวิทและใจกลางเมืองกรุงเทพ มีน้ำท่วมขังมโหฬารหลายแห่ง รวมทั้งปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง) และเห็นไกลลิบ ๆ นั่นเป็นทะเลสาบเขมรหรือโตนเลสาบ (Tonle' Sap) ที่มีพื้นกว้างขวางตามปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอีกด้วย
08:20-12:00 น.
  • คณะถึงสนามบินเสียมราฐ โดยสวัสดิภาพ ผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมือง แล้วรวมกระเป๋า ซึ่งพนักงานทัวร์จะนำไปเก็บไว้ที่โรงแรมโบเร อังกอร์ รีสอร์ทแอนด์สปา
   
  • จากนั้น สมาชิกทุกท่านก็ขึ้นรถบัสขนาดย่อม เต็มพอดี 23 ท่าน {รวมคนขับ (คุณเฮียง) พนักงานจากบริษัท อังกอร์พีเค (คุณหงส์) และมัคคุเทศก์ท้องถิ่น (คุณมาไลย)}
  • เมื่อคณะพร้อมก็ออกเดินทาง ระหว่างนั้น อาจารย์เทพมนตรี ได้บรรยาย ปูพื้นความรู้เรื่องเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์และฮินดู03 ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อไปในการศึกษางานศิลปะและโบราณสถานของกัมพูชา อาจารย์เล่าเรื่องพระกฤษณะ ปูพื้นเบื้องต้น รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ใน http://huexonline.com/knowledge/20/88/ 

ภาพ: พระกฤษณะกับฝูงโค, คนเลี้ยงสัตว์, และนางโคปี (Krishna with cows, herdmen, and Gopis)
วาดขึ้นประมาณ พ.ศ.2333-2343 ในช่วงการปกครองของเหล่าราชบุตร (Rajput)
ที่ปกครองอนุทวีปอินเดียทางตอนเหนือ,
ที่มา: en.wikipeida.org, วันที่สืบค้น 11 ตุลาคม 2560.

กลุ่มปราสาทเกาะแกร์ (Koh ker, "เกาะฮ์เก")
  • รถบัสของคณะมาถึงจุดชำระค่าเข้าชม ก็ต้องเสียค่าเข้าชมท่านละ US$ 10.0 
  • ปราสาทแห่งแรกที่เข้าชมคือ 1. ปราสาทปรำ/ปราม (Prasat Pram)04 เป็นปราสาทรอบนอก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งอยู่ในกลุ่มปราสาทเกาะแกร์อยู่ห่างจากนครวัด-นครธมไปทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ราว ๆ 120 กิโลเมตร     
    
  • ชื่อปราสาทแห่งนี้มาจากคำว่า "ปรำ" ที่แปลว่า "ห้า" ตามจำนวนเทวสถานห้าหลังของชุดปราสาทนี้ ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน และบรรณาลัย (ห้องสมุด-ขณะนี้ขอใช้คำว่าบรรณาลัยไปก่อน ทั้งนี้ด้วยมีนักประวัติศาสตร์ถกเถียงกัน ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน) ที่อยู่ซ้ายขวา ปรางค์บางแห่งของชุดปราสาทนี้มีรากต้นไม้ใหญ่เลื้อยพันอยู่ ขณะที่ "บรรณาลัย" ของปราสาทปรำมีช่องระบายอากาศอยู่ด้านบน ทำให้มีนักประวัติศาสตร์เสนอว่า ปรางค์ดังกล่าวอาจใช้เป็นเมรุเผาศพ หรืออาจเป็น "ธรรมศาลา" (บ้านมีไฟ) ปรางค์ที่ใช้จุดไฟไว้ข้างใน เพื่อใช้เป็นเพลิงศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบศาสนพิธี ก็ได้
  • คณะได้เดินชม ถ่ายภาพ อาจารย์เทพมนตรีและอาจารย์สร้อยนภาได้บรรยาย (โดยใช้อุปกรณ์เหน็บหูซ้าย แล้วส่งคลื่นจากผู้บรรยายได้รับฟังทั่ว ๆ กันในรัศมี 50 เมตร) และถ่ายภาพหมู่ได้ครู่ใหญ่ ๆ ก็เดินทางต่อไปยังปราสาทธม 
2.  ปราสาทธม (Prasat Thom, "ปราสาททุม")
  • พอคณะมาถึงหน้าปราสาท ก็ทานอาหารกล่องวันกล่องกันก่อน เป็นมื้อแรกของทริปนี้ โดยใช้ร้านอาหารหน้าปราสาทเป็นที่แวะทาน อาหารกล่องเป็นผัดกระเพราไก่ราดข้าว พร้อมไข่ดาว คณะของเรานั่งรวม ๆ กัน ทานไปคุยกันไป ผมสั่งน้ำมะพร้าวมาทานลูกโต ๆ ลูกหนึ่งราคาหนึ่งเหรียญสหรัฐ (หากจ่ายเป็นเงินไทยก็สี่สิบบาทไม่มีทอน) อาหารรสชาติดี ทราบว่าปรุงโดยกุ๊กคนไทยที่อยู่โรงแรมเครือธาราอังกอร์ ส่วนน้ำมะพร้าวไม่ค่อยอร่อย ฝาด ออกเปรี้ยวนิด ๆ ไม่ค่อยหอมหวานเหมือนบ้านเรา
  • ถัดจากนั้น คณะก็เริ่มเดินเข้าชมปราสาทธม และขออธิบายภาพต่อไปตามลำดับจากซ้ายไปขวา:
    
บริเวณด้านหน้าปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
สังเกตระเบียงช่องลมบรรณาลัยหน้าทางเข้ามีราวดิ่งหรือลูกกรงลูกมะหวด

    
กลุ่มปราสาทชุดแรกชื่อปราสาทกรอฮอมก่อด้วยอิฐ รักษาสภาพไว้เดิม ๆ
มีการนำไม้กระดานมาทำเป็นบันได ค้ำโครงปราสาทไว้ตามสมควร

    
พอเข้ามาชั้นใน พบสภาพทับหลัง มีร่องรอยการถูกทำลาย
วิหารรายแนวระเบียงเสาหินล้มเป็นแนว บ้างก็ว่าเกิดจากแผ่นดินไหว
แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์บันทึกไว้ และก็น่าแปลกว่าทำไมล้มเฉพาะแนวระเบียงนี้

    
สภาพแนวกำแพงปราสาท ด้วยอากาศร้อนชื้นพบว่ามีมอสปกคลุม และในปราสาท
ประธานของกลุ่มปราสาทบริวาร(ห้องครรภคฤหะ) พบเฉพาะฐานโยนี ส่วนศิวลึงค์นั้นหายไปแล้ว
 
    
ภาพพระพุทธรูปสลักบนหินทรายแตกหัก สันนิษฐานว่าขณะขนย้ายเกิดแตกจึงวางทิ้งไว้ที่นี่
ภาพหินทรายเป็นส่วนหัวพญานาคปรักหักพังอยู่

    
ภาพทับหลังมีความสวยงามและสมบูรณ์ และแนวกำแพงทางเข้าด้านขวาของปราสาท

    
ปราสาทธม ถ่ายทางด้านหน้า จากตะวันตกไปตะวันออก และ
ภาพมุมด้านซ้ายของปราสาท

    
ภาพด้านทิศเหนือของฐานปิรามิดปราสาทธมบนปิรามิดของปราสาทธม
ภาพทางทิศเหนือ ทราบจากไกด์ท้องถิ่นว่าที่ผมถ่ายเฉียง ๆ ออกมาที่เห็นลิบ ๆ นั่นคือแนวเขาพระวิหาร

 
  • ปราสาทธมตั้งอยู่กลางเมืองเกาะแกร์ (โฉกครรคยาร์) มีฐานสูงขึ้นไปเจ็ดชั้น (เป็นปิรามิดที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา มีฐานกว้าง 55 เมตร สูง 40 เมตร ที่สำคัญคือยังเป็นปราสาทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สอง รองจากปราสาทอังกอร์วัดอีกด้วย)  เพื่อแสดงความเป็นเขาไกรลาส (บ้างก็ว่าเป็นพระสุเมรุ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเขาไกรลาสมากกว่า เพราะมีศิวลึงค์และแท่นโยนี ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว อันเป็นตัวแทนของพระศิวะที่ประทับบนยอดเขาไกรลาสนั่นเอง)
  • บนชั้นยอดประดิษฐานไตรภูวเนศวร เรียกว่ากัมรเตงชคตะราชยะ
  • ปราสาทธมนี้ มีนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานเพิ่มเติมว่า เป็นเพื่อเป็นตัวแทนของภูเขาสัตตบริภัณฑ์คีรี (Sattabariphan Khiri)05 บนสวรรค์
  • มีบันไดไม้สภาพแข็งแรงทอดขึ้นไปบนยอดปราสาท ผมกับเพื่อน ๆ กลุ่มหนึ่งและอาจารย์เทพมนตรี ก็ขึ้นไปบนปราสาทธมนี้ เหนื่อยแฮกเอาเรื่อง พบฐานโยนี และหัวสิงห์แกะสลักด้วยหินทราย และศิวลึงค์หายไปแล้ว เมื่อมองจากยอดปราสาทไปรอบ ๆ เห็นอาณาบริเวณของกัมพูชาทางเหนือสุดลูกหูลูกตา คณะฯ ถ่ายภาพได้ครู่หนึ่งก็เดินลงกลับ 
  • จากนั้นก็ขึ้นรถบัส เดินทางไปยังปราสาทจุดต่อไป.

กลุ่มศิวลึงค์
(ไม่ได้ไปปราสาทกระจับ หรือ เกราะจับ- Prasat Krachap, ปราสาทบันทายปีจวน หรือ ปราสาทบ็อนเตียะปีจวน- Prasat Bantaey Pichean, ปราสาทอันดงกุก-Prasat Andong Kuk, ปราสาทชรับ-Prasat Chrap, ปราสาททะเนิง, ปราสาทบาแลง)
3.  ปราสาทลึงค์ (Prasat Linga) เป็นกลุ่มปราสาทขนาดเล็ก 3 หลัง โดยตัวปราสาทที่มีศิวลึงค์ขนาดใหญ่นั้น เส้นรอบวงประมาณสอง-สามคนโอบ ตั้งอยู่บนฐานโยนี เมื่อพราหมณ์ทำพิธีอภิเษกองค์ศิวลึงค์ ก็จะรดน้ำไปยังศิวลึงค์ น้ำจะไหลไปตามร่องตรงฐานโยนี ร่องและท่อที่ให้น้ำที่ผ่านพิธีนี้ไปภายนอกเรียกว่า "ท่อโสมสูตร" น้ำดังกล่าวจะเป็นสิริมงคลในการอาบ หรือชำระล้างต่อไป
 
    
ภาพด้านซ้าย: ผมเป็นผู้ถ่ายเอง เมื่อ 13 ตุลาคม 2560 ส่วนภาพด้านขวา: แสดงให้เห็นศิวลึงค์
ขนาดใหญ่บนฐานโยนี ในปราสาทลึงค์ ซึ่งได้ถ่ายไว้เมื่อ 11 กรกฏาคม พ.ศ.2556,
ที่มา: http://nhoomthonburi.blogspot.com/2016/10/economical-traveler.html, วันที่สืบค้น 26 ตุลาคม 2560
  • คณะเดินทางมายังปราสาทลึงค์ ก็ตรงกับช่วงเวลาที่เมื่อปีก่อน (พ.ศ.2559) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต อาจารย์เทพมนตรี ได้นำคณะยืนไว้อาลัยร่วม 5 นาที ณ หน้าปราสาทลึงค์แห่งนี้

4.  ปราสาทเนียงเขมา (Prasat Neang Khmau)
  • บ้างก็เรียกปราสาทนางเขม่า หรือ เนียงคเมา หรือ ปราสาทนางดำ 
    
โดยปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานในชุมชน ตามคติพราหมณ์ไศวนิกายของเกาะแกร์
  • ในแง่การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีนั้น ต้องถือว่าปราสาทเนียงเขมามีชื่อเสียงมาก เพราะในอดีตมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้เข้ามาสำรวจเป็นครั้งแรก ภายในปราสาทมีหลักฐานพัฒนาการของภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง รูปของพระนารายณ์ตรีวิกรม (พระวิษณุย่างสามขุม อันเป็นนารายณ์อวตาร ปางที่ 5 วามนาวตาร รายละเอียดดูใน http://huexonline.com/knowledge/20/85/ ) และพระศิวะ ฯลฯ ที่สวยงามเป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ภาพเหล่านั้นได้หลุดร่อนหายไปจนหมด เมื่อครั้งสงครามกลางเมือง
  • จุดเด่นอีกประการหนึ่งของปราสาทเนียงเขมาคือ การที่ตัวปราสาทเป็นสีดำต่างจากปราสาทอื่น ๆ ซึ่งในเรื่องนี้นั้นยังหาคำอธิบายที่ชัดเจนไม่ได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร บ้างก็สันนิษฐานว่าในสมัยก่อนตัวปราสาทมีลายปูนปั้นและปิดทองทาสีในส่วนต่าง ๆ ต่อมาสีได้หลุดหายไป อีกทั้งยังถูกเขม่าสีดำจากไฟไหม้ด้านนอกเข้ามาติดสะสม
  • บ้างก็ว่าตัวปราสาทถูกทาสีให้เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ต้น ฯลฯ เดิมปราสาทนี้มีศิวลึงค์ประดิษฐานอยู่ ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ฐานเท่านั้น.
16:30 น.
  • จากนั้นคณะก็เดินทางต่อไปถึงปราสาทเบงเมเลีย (Prasat Beng Mealea)  คณะต้องเสียค่าเข้าชมท่านละ US$ 5.0 ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเสียมราฐราว 60 กิโลเมตร แต่ฝนฟ้าไม่เป็นใจ ฝนตกพรำ ๆ ชื่นแฉะ ได้แต่มองตรงพญานาคเจ็ดเศียรทางเข้า อาจารย์เทพมนตรี จึงตัดสินใจไม่เข้าชม ทั้ง ๆ ที่ได้ชำระค่าเข้าชมแล้ว จะเข้าชมในวันพรุ่งนี้แทน ซึ่งต้องซื้อตั๋วค่าเข้าชมใหม่ (ซื้อตั๋ววันไหนเข้าชมได้เฉพาะวันนั้น)
  • ต้องรีบกลับเข้าเสียมราฐ ในทันกำหนดการที่จะต้องรับประทานอาหารค่ำที่ภัตตาคารโตนเลแม่โขง
  • ระหว่างเดินทางเข้าเมืองเสียมราฐนั้น อาจารย์เทพมนตรีได้บรรยายเรื่องนารายณ์อวตารปางต่าง ๆ พร้อมอาจารย์สร้อยนภาก็กล่าวเสริม เป็นการปูพื้นความรู้เพื่อจะได้ซึมซับกับศิลปะตามโบราณสถานของกัมพูชาได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นต่อไป.
19:00-20:30 น.
  • คณะได้เข้ารับประทานอาหารค่ำ บุฟเฟต์โตนเลแม่โขง พร้อมชมการแสดงนาฎศิลป์
  • ผมจำได้ทันทีว่าเคยมาทานอาหารและชมนาฎศิลป์ที่ภัตตาคารนี้มาก่อนแล้ว เมื่อครั้งเป็นนักวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยบูรพา ในโครงการเมืองคู่แฝด (ตราด-เกาะกง) ให้กับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย-สกว. เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2552
    
  • การแสดงนาฎศิลป์มีคละเคล้ากันในย่านอุษาคเนย์ มีทั้งรำอัปสรา รำกะลา ฟ้อนหางนกยูงเหมือนทางเหนือของประเทศไทย สวยงามดี น่าตื่นตาตื่นใจกับนักท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวจีนที่มาทานอาหารที่นี่กันมาก
  • ได้คุยกับอาจารย์เทพมนตรี จะว่ารำไทย ดนตรี การร้องทำนองต่าง ๆ นั้นไทยเรายืมมาจากกัมพูชาเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่ง สงครามและวิกฤตการณ์ทางการเมือง การเป็นเมืองขึ้นของไทยบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง เวียดนามบ้าง การแก่งแย่งราชสมบัติกันเองบ้าง ทำให้วัฒนธรรมของกัมพูชาขาดตอนหรือสูญหายไปเลย กัมพูชาต้องมาศึกษาเรียนรู้จากไทย นำไปปรับใช้เป็นแนววัฒนธรรมให้เหมาะสมกับของตน มีการ Cross culture กันตลอด สิ่งปรากฎในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ย่านนี้ ไม่ได้เป็นของชนชาติหนึ่งชนชาติใดเฉพาะ หากแต่เป็นการแลกเปลี่ยนผสมผสานกันเช่นนี้มาช้านานแล้ว.
  • อาหารที่นี่มีหลากหลาย เหมือนบุฟเฟ่ต์ในเมืองไทย แต่รสชาติไม่เข้มข้นเหมือนบ้านเรา รสชาติออกหวาน ๆ  
    
  • เมื่อทานเสร็จเรียบร้อย ก็กลับเข้าที่พักเช็คอินกัน โดยแบ่งออกเป็นสองชุด ชุดแรกพักกันที่โรงแรมโซฟิเทลอังกอร์โภคีธรา กอล์ฟแอนด์สปา อีกชุด(รวมทั้งผม) พักที่โรงแรมโบเรอังกอร์ รีสอร์ทแอนด์สปา ทั้งสองโรงแรมเป็นระดับ 5 ดาว
20:50 น.
     
  • ระหว่างรอเช็คอิน ผมก็สำรวจบริเวณโรงแรม ถ่ายภาพการรำกัมพูชาโบราณ และบริเวณภายในโรงแรมไว้ด้วย สังเกตว่าในล้อบบี้ของโรงแรมแอร์ไม่ค่อยเย็นเท่าใดนัก เพราะต้องซื้อกระแสไฟฟ้ามาจากเมืองไทย ได้ดื่มเวลคัมดริ๊ฟ (น้ำตะไคร้ และขนมเทียนแก้ว) คุยกับเพื่อน ๆ ที่คณะได้ครู่หนึ่ง.
  • แล้วแยกย้ายเข้าห้องพัก ห้องพักสะอาดสะอ้าน สวยงามดี อาบน้ำอาบท่าพักผ่อน เข้านอนราวสี่ทุ่ม หลับเต็มอิ่มเพราะพรุ่งนี้ต้องเดินทางไปอีกหลายแห่ง.

 
วันที่สอง เสาร์ที่
14 ตุลาคม 2560
เสียมราฐ - ปราสาทเบงเมเลีย - ปราสาทพระวิหาร - อัลลองเวง
06:00-07:30 น.
  • ผมตื่นขึ้นมาแต่เช้ามืด อ่านหนังสือดูทีวี พอราว ๆ 6 โมงเข้าก็มารับประทานอาหารเช้าที่ค้อฟฟี่ช้อปโรงแรม สภาพบริกรและอาหาร เป็นตามภาพที่แสดงไว้ข้างล่าง ผมทานเช่นนี้ทุกเช้ารวมสามวันเต็ม
    
 
    
  • ทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว ก็มาถ่ายรูปบริเวณด้านในและนอกโรงแรม ถนนหน้าโรงแรม เริ่มคลาคล่ำไปด้วยรถบัสนักท่องเที่ยวและผู้คนที่ไปทำงานกัน ผมสังเกตเปรียบเทียบกับที่เคยมาเสียมราฐเมื่อ 8 ปีก่อน เมืองเสียมราฐคึกคักขึ้นมาก แต่ตึกรามบ้านช่องยังไม่เพิ่มมากมายนัก คราว 8 ปีก่อนนั้นหน้าโรงแรมจะสังเกตเห็น ชาวเสียมราฐจำนวนมากปั่นจักรยานญี่ปุ่นมือสองไปทำงานกัน แต่บรรยากาศเช่นนั้นได้หายไป.
    
 
08:30-12:00 น.
  • รถบัสนำโดยไกด์ท้องถิ่น (คุณมาไลย) และคุณหงส์ไปรับคณะที่พักที่โรงแรมโซฟิเทลฯ ก่อนแล้วมารับคณะที่เหลือที่โรงแรมโบเรฯ
  • เริ่มออกเดินทางไปชม 5. ปราสาทเบงเมเลีย (Prasat Beng Mealea) ผู้จัดทัวร์โดยทีมงานของอาจารย์เทพมนตรี ก็แวะซื้อตั๋วเข้าชมปราสาท อัตราท่านละ US$ 5.0 

แผนภูมิ: ปราสาทเบงเมเลีย, ที่มา: http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai
วันที่สืบค้น 1 พฤศจิกายน 2560.
  • ปราสาทเบ็งเมเลีย หรือ บึงมาลานี้ อยู่ห่างจากเมืองเสียมราฐ ไปทางทิศตะวันออกราว 63 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงครึ่ง หรือห่างจากเมืองยโศธรปุระ (นครวัด-นครธม) ราว 40 กิโลเมตร เส้นทางที่ไปเป็นถนนลาดยาง ปราสาทแห่งนี้มีอีกฉายาหนึ่งว่า "นครวัดตะวันออก" หรือ "อังกอร์วัดแห่งบูรพาทิศ".
  • ต่อมามีนักโบราณคดีชาวกัมพูชาชื่อว่า "พลอง พิสิท (Phlong Pisith)" ได้ศึกษาลักษณะศิลปะและการก่อสร้างโดยละเอียด พบว่า ปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 2 (พ.ศ.1703-1709)
  • วัสดุหลักในการก่อสร้างโบราณสถานแห่งนี้เป็นหินทราย ที่อาจมาจากเขาพนมกุเลนที่ห่างจากปราสาทเบ็งเมเลีย ไปราว 7 กิโลเมตร ปราสาทมีขนาดใหญ่ หากพิจารณาจากระเบียงคดชั้นนอกว่าเป็นขอบเขตของปราสาทจะมีขนาด 181*152 เมตรปราสาทบึงมาลายังเป็นศูนย์กลางของเมืองโบราณที่ล้อมรอบด้วยคูเมือง ขนาด 1,025*875 เมตร
  • ว่ากันว่า พนมเทียน นักเขียนเรื่อง "เพชรพระอุมา" ได้นำตัวแบบโครงปราสาทเบ็งเมเลียนี้ ผนึกอยู่ในท้องเรื่องของนวนิยายนี้ ตอน "อาถรรพ์นิทรานคร" เลยทีเดียว
 
    
จากซ้ายไปขวา: ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Map แสดงร่องรอยคูเมืองและบารายบริเวณปราสาทบึงมาลาที่ตื้นเขินไปหมดแล้ว ซึ่งขอบเขตของบารายสังเกตได้จากคันดินที่เคยใช้เป็นผนังบาราย,
แผนที่ปราสาทบึงมาลา ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ด้านล่างของภาพ) ประกอบด้วย: 1) ระเบียงคตสามชั้น 2) ปราสาทประธานตรงกลาง 3) บรรณาลัยซ้าย-ขวาของปราสาทประธาน 4) หอคัมภีร์ซ้าย-ขวา ระหว่างระเบียงคดชั้นกลางและชั้นนอก, ทางเดินซ้ายในแผนที่ 5) ระหว่างระเบียงคดชั้นกลางกับชั้นนอก มีอาคารคลังทางด้านบน ใช้เก็บสิ่งของประกอบศาสนพิธี ของมีค่าที่ศาสนิกชนนำมาถวาย ที่ปฏิบัติงานและที่พักของพราหมณ์ 6) วิหารหรือหอพิธีกรรมทางด้านล่าง 
ต้นฉบับแผนที่วาดโดย Le'on de Beylie' นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ที่มาสำรวจปราสาทบึงมาลาในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 ส่วนเส้นสีแดง แสดงทางเดินไม้ที่ทำขึ้นใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวในการเยี่ยมชม
ที่มา: https://www.siemreap.net/visit/angkor/remote-temples/beng-mealea, โดยผ่านทาง http://nhoomthonburi.blogspot.com/search?updated-max=2017-04-06T06:49:00-07:00&max-results=7, วันที่สืบค้น 1 พฤศจิกายน 2560.



ภาพวาด: จินตนาการของปราสาทบึงมาลา ขณะยังมีสภาพสมบูรณ์ โดย Louis Delaporte นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1860 ทิศตะวันออกอยู่ด้านล่างของภาพนี้, ที่มา: http://nhoomthonburi.blogspot.com/search?updated-max=2017-04-06T06:49:00-07:00&max-results=7, วันที่สืบค้น 2 พฤศจิกายน 2560. 
 
  • คณะเรา เดินเข้าปราสาททางทิศใต้ แล้วเลี้ยวมาทางทิศตะวันออก คณะใช้เวลาไม่มากนัก ราวครึ่งชั่วโมง เดินไปแค่กลางปราสาทเพื่อชมทับหลังที่แสดงกุมารวตารตอนกวนเกษียรสมุทร พร้อมกับได้ชมหน้าบันพระอัคนีทรงระมาด ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หน้าบันนางสีดาลุยไฟ โดยมีอาจารย์เทพมนตรี และอาจารย์สร้อยนภา บรรยายให้ทราบเรื่องราวโดยตลอด.
    
ภาพแรก: จุดซื้อตั๋วเข้าชมปราสาทเบงเมเลีย มีอาคารอเนกประสงค์หน้าห้องน้ำชาย-หญิง
เป็นที่ช้อปปิ้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคณะ และนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น (แทบจะเป็นจีนทั้งหมด) 
ภาพที่สอง: เป็นหินทรายแกะสลักพญานาคราชเจ็ดเศียรทางเข้าปราสาทเบงเมเลีย ซึ่งเป็นศิลปะแบบนครวัด


    
ภาพซ้าย: บนสะพานนาคทางเขาตัวปราสาท ภาพขวา: แสดงเศียรพญานาคห้าเศียรที่มีความสมบูรณ์ที่สุด

    
ภาพซ้าย-ขวา: ซากหินกำแพงร่วงลงมา ทิศใต้ และตะวันออกของปราสาท รอการบูรณะ  

    
ภาพจากซ้ายไปขวา: หน้าบันพระอัคนีทรงระมาด (เทพประจำทิศอาคเนย์),
บริเวณกองหินด้านในปราสาทด้านทิศตะวันออก


    
ภาพจากซ้ายไปขวา: หน้าบันพระอัคนีทรงระมาด, ภาพทับหลังพระอินทร์ มีภาพไกด์ท้องถิ่น"มาไลย" ติดมาด้วย

    
ภาพจากซ้ายไปขวา: ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ, ทับหลังแสดงภาพนางสีดากำลังลุยไฟ

    
ภาพด้านขวา: เป็นภาพในกูรมาวตาร (พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นเต่า) โดยใช้กระดองรองรับแรงกระแทกของเขามัทระ เมื่อมิให้ทะลุและทำให้โลกแตกได้


แนวปราสาทด้านตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาท เป็นมุมไฮไลต์
  • คณะเดินชมได้ตามสมควรก็เดินทางต่อไป มุ่งตรงไปยังเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในจังหวัดเปรี๊ยะวิเฮียร์ (Preah Vihear) หรือจังหวัดพระวิหาร ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของกัมพูชา และมีชายแดนติดกับจังหวัดศรีสะเกษของไทย มีเมืองพนมตะแบงเมียนเจย (Phnom Tbeng Meanchey) เป็นเมืองหลวง.
  • ระหว่างทางท่านอาจารย์เทพมนตรี ก็บรรยายหลายเรื่อง ทั้งรามายณะ มหาภารตะ ไศวนิกาย (นิกายที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่) เทพต่าง ๆ.
  • คณะได้เห็นสองข้างทาง ภูมิประเทศของกัมพูชาทางทิศเหนือ ท้องทุ่งทำการเกษตรพืชไร่ต่าง ๆ เห็นบ้านและบริเวณที่สร้างเหมือน ๆ กันเป็นบ้านเดี่ยวสองชั้นยกสูง เป็นสวัสดิการสำหรับทหารกัมพูชาที่ผ่านศึกมา ผู้คนค่อนข้างบางเบา เงียบ ๆ มีรถแล่นสวนผ่านไม่มากนัก.
12:01-13:00 น.
  • ได้เวลาเที่ยงก่อนที่คณะจะขึ้นเขาพระวิหาร ก็แวะบูติกโฮเต็ลใกล้ ๆ ชื่อ Preah Vihear Boutique Hotel รับประทานอาหารกลางวัน (ปิกนิก) กันดังภาพข้างล่าง เป็นกระเพราะไก่ราดข้าวพร้อมไข่ดาว จากภัตตาคารธาราในเมืองเสียมราฐ สั่งเครื่องดื่มมาทานกัน คนละ US$1.0 - 1.50 
  
 
13:01-18:00 น. เดินทางไปชม 6. ปราสาทพระวิหาร อันยิ่งใหญ่
  • ปราสาทพระวิหาร (เทวสถานศรีศิขรีศวร) ทีมงานผู้จัดทัวร์ได้ไปชำระค่าเข้าชม ท่านละ US$ 10.0 ณ จุดตรวจก่อนขึ้นเขาพระวิหารกัน ระหว่างรอ สมาชิกในคณะบางท่านก็เกรง ๆ เหมือนกันว่าจะขึ้นไปชมได้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะเขาพระวิหารเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนระหว่างไทย-กัมพูชามาช้านาน คณะรอได้ครู่หนึ่งก็ได้รับพาสปอร์ตคืนและได้ตั๋วเข้าชมเขาพระวิหาร.
  • คณะต้องแบ่งกันขึ้นรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อกันคันละ 4-5 คน แบ่งออกเป็นสี่คัน ขับทะยอยตาม ๆ กันขึ้นเขาพระวิหาร เส้นทางค่อนข้างลาดชัน แต่ไม่มากนัก ไม่เกินยี่สิบห้านาที คณะของเราก็ขึ้นมาบนยอดเขาพระวิหารกันเรียบร้อย.
    
ภาพผมถ่าย Selfie โดยมียอดเขาพระวิหารข้างหลังเป็นแบ็คกราวน์ และ ภาพเมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาพระวิหารแล้ว เดินไปอีกราว 1.5 กิโลเมตร ก็เห็นกลุ่มปราสาทเขาพระวิหาร มีธงชาติกัมพูชาและธงสถานที่ตั้งมรดกโลกยูเนสโก (UNESCO World Heritage Site) โบกสะบัดอยู่ ในฐานะคนไทยก็รู้ร้าวใจอยู่ไม่น้อย
  • ปราสาทเขาพระวิหารนี้ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2551 เป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของกัมพูชา (ซึ่งก่อนหน้านี้ ปราสาทนครวัด ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งแรกไว้ก่อนแล้วเมื่อปี พ.ศ.2547) โดย องค์การทางวัฒนธรรมของสหประชาชาติ ยูเนสโก (UNESCO)
    
ภาพซ้าย: ภาพหินทรายแกะสลักเป็นพญานาคเจ็ดเศียร (เป็นนาคทอดตัว มีหัวหางอย่างรูปงูธรรมดา - ชาวพื้นเมืองเรียก "งูซวง") ที่ลานนาคราช ตรงทางเดินไปมณเฑียรชั้นที่ 1
ภาพขวา: ภาพถ่ายสูงจากจุดที่วางเศียรพญานาคเจ็ดเศียร ถ่ายลงไปด้านล่าง ซึ่งเป็นบันไดสูง 162 ขั้น
 
    
ปราสาทบนมณเฑียรชั้นที่ 1 (เป็นอาคารจัตรมุขทรงโถง ไม่มีผนัง) และทางเดินไปมณเฑียรชั้น 2 ราว 275 เมตร
 
    
ระหว่างทางเดินไปมณเฑียรชั้นที่ 2 ด้านซ้ายมือเป็นสระสรง (สำหรับทำความสะอาดร่างกายก่อนขึ้นสักการะเทวสถาน) ขนาดกว้าง 18.30 * 36.50 ม., ภาพขวาที่อยู่ตรงขวากับสระนั้น จะสังเกตเห็นจุดสะกัดหินมาสร้างเทวสถาน
 
    
ภาพหน้ามณเฑียรชั้นที่ 2
 
    
ภาพห้องมุขทิศตะวันออกของมณเฑียรชั้นที่ 2 แสดงลายจำหลักทับหลังพระกฤษณะกำลังสังหารนาคกาลียะ และหน้าบันรูปเทพนั่งเหนือศีรษะหน้ากาลหรือเกียรติมุข เป็นภาพจำหลักซึ่งพบมากที่ปราสาทแห่งนี้.
 
    
 
    
ภาพซ้าย: ผมกับมุขทิศใต้ของมณเฑียรชั้นที่ 2 มีภาพจำหลักเด่น คือ หน้าบันกวนเกษียรสมุทร

    

    
ภาพ "เป้ยตาดี" มีเนื้อที่กว้าง 44 เมตร ยาว 50 เมตร "เป้ย" เป็นภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า ชะง่อนผา หรือ โพงผา ตามคำบอกเล่าว่านานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ "ดี" จาริกมาปลูกเพิงพำนักอยู่ที่นี่จนมรณภาพไป ชาวบ้านจึงเรียกลานหินนี้ว่า "เป้ยตาดี" ตรงยอดเป้ยตาดีสูงกว่าระดับน้ำทะเล 657 เมตร หากวัดจากพื้นที่เชิงเขาพื้นราบฝั่งประเทศกัมพูชาสูงประมาณ 447 เมตร. (ข้อมูลจาก: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 7 พ.ย.2560).

    
ภาพหินบนเป้ยตาดีที่กรมหลวงสรรพสิทธิ์สิทธิประสงค์ ที่ได้สลักข้อความไว้ "๑๑๘-สรรพสิทธิ" (ต่อมามีกระเทาะลบออกไป) เสด็จเมื่อ พ.ศ.2443 ขณะเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาวตะวันออก และภาพฐานเสาธงที่เคยมีธงไตรรงค์โบกสะบัดในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี.
 
  • ระหว่างทางขากลับจากเข้าพระวิหารมุ่งสู่เสียมราฐนั้น  สารถีพลขับ (Heng) ได้มาอีกเส้นทางหนึ่งผ่านเมืองอัลลองเวง (Anlong Veng) นั้น ระหว่างทางท่านอาจารย์เทพมนตรีได้เล่าเรื่อง "มหากาพย์มหาภารตะ" ให้พวกเราชาวคณะได้ฟังกันตั้งแรก โดยมีอาจารย์สร้อยนภาคอยเสริม (และมีผมคอยสอดแทรก น่าจะเป็นการถามทะลุกลางปล้อง ระหว่างที่อาจารย์บรรยายมากกว่า ฮิ ๆ ๆ)
18:00-19:30 น. รับประทานอาหารค่ำที่ร้านในเมืองอัลลองเวง (Anlong Veng)
    
 เมืองอัลลองเวง อยู่ในจังหวัดอุดรมีชัย (หรือ อุดดอร์เมียนเจ็ย-Oddar Meanchey Province) อยู่ติดชายแดนไทย (แถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ) โดยมีเทือกเขาพนมดงรักเป็นพรมแดนธรรมชาติขั้นแบ่งไว้ เดิมเมืองอัลลองเวงนี้ เป็นเมืองหลวงของเขมรแดง (Khmer Rough) เลยทีเดียว 
21:30 น.
  • จากนั้นคณะก็เดินทางกลับเข้าเมืองเสียมราฐ ระหว่างทางท่านอาจารย์เทพมนตรีก็เล่าเรื่องมหาภารตะให้ฟัง ผมฟังไปบ้างง่วงหลับไปบ้าง ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงก็มาถึงที่พัก จากนั้นต่างก็แยกย้ายกันเข้าห้องพัก อาบน้ำอาบท่าพักผ่อน ผมนั้นหลับสนิท พร้อมที่จะทัศนศึกษาในวันรุ่งขึ้นต่อไป


 
วันที่สาม อาทิตย์ที่
15 ตุลาคม 2560
เสียมราฐ - กำปงกะได - สมโบร์ไพรกุก
06:30-08:00 น. รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม
08:01-12:00 น. เดินทางไปชม
7. สะพานโบราณกำปงกะได (บ้างก็เรียก "กำปงเกดย") 
        เช้าวันนี้ คณะได้เดินทางออกจากเมืองเสียมราฐ บนเส้นทางหมายเลข 6 ประมาณ 60 กิโลเมตร ก็มาชมสะพานหินศิลาแลง (ส่วนที่เป็นฐาน เป็นคอสะพาน) สะพานนี้อยู่ระหว่างทางจากเสียมราฐไปพนมเปญ เป็นสะพานที่อยู่ในจังหวัดเสียมราฐ เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1762)
    
จากภาพ: หัวและท้ายสะพานมีนาคราชเก้าเศียร ขนาดใหญ่แผ่พังพาน ส่วนลำตัวของนาคเป็นหินทราย ยาวตลอดสะพานทั้งสองด้าน รวมหัวท้ายเป็นพญานาคสี่ตัว ตัวสะพานและเสาที่ทำเป็นช่องถี่ ๆ เพื่อรองรับน้ำหนัก ใช้หินศิลาแลงก้อนสี่เหลี่ยมขนาดหนึ่งเมตร หนาราวหนึ่งฟุต เรียงซ้อนกันเป็นเสาแผง ทำเป็นช่อง ๆ แบบซุ้มประตุปลายแหลม แต่ละช่องลึก 15 เมตร กว้าง 2-3 เมตร เป็นช่องให้น้ำไหลผ่าน ตัวสะพานกว้าง 15 เมตร ยาว 80 เมตร และสูงประมาณ 6-8 เมตร, ปรับปรุงจาก: oknation.nationtv.tv, วันที่สืบค้น 20 พฤศจิกายน 2560.
 
    
ภาพจากซ้ายไปขวา: ราวสะพานเป็นหินทรายจัดวางต่อ ๆ กันไป, ตรงเสาหลักเขตเชิงสะพาน มีหินทรายสลักเป็นใบเสมารูปทวารบาล
  • สะพานนี้ผมจำได้ว่าเคยมาแล้วหนหนึ่ง คราวมาทำวิจัยเมืองคู่แฝดให้กับ สกว. เมื่อปี พ.ศ.2552 สะพานโบราณกำปงกะไดนี้มีความแข็งแรง ยืนหยัดมาจนสามารถใช้งานได้ในปัจจุบันอย่างเหลือเชื่อ ทราบว่า ช่วงสมัยเขมรแดง (Khmer Rough) เรืองอำนาจปกครองกัมพูชาอยู่นั้น สามารถนำรถถัง ยานเกราะหนัก ๆ แล่นผ่านสะพานนี้ได้อย่างสบาย ๆ . (ทราบต่อมาว่า ราว ๆ ปลายปี 2552 ทางการกัมพูชาได้ห้ามไม่ให้รถบรรทุกและรถโดยสารวิ่งผ่านแล้ว ทั้งนี้ทางยูเนสโก ประสงค์ให้อนุรักษ์ไว้)
12:01-13:00 น.
  • คณะเดินทางมายังกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk) ซึ่งตั้งอยู่บนจังหวัดกำปงธม (ทางทิศตะวันออก เยื้องไปทางใต้นิด ๆ ของจังหวัดเสียมราฐ) โดยรถบัสนำคณะเรามาบนเส้นทางหมายเลข 6 แล้วแยกเข้าหมายเลข 62 เข้าถนนสายย่อย 219
  • ก่อนถึงกลุ่มปราสาท ก็แวะร้านอาหารข้างทาง รับประทานอาหารกลางวันกัน เป็นอาหารกล่อง เมนูเดิมคือ กระเพราไก่ไข่ดาวราดข้าว มีผลไม้ท้องถิ่นเสริม และช่วยกันซื้อเครื่องดื่มที่ร้าน ถือว่าเป็นค่าใช้สถานที่นั่นเอง ทานเสร็จ คณะก็ช้อปปิ้งดูสินค้าพื้นบ้านพวกมวก ผ้าขาวม้าแบบเขมรกัน
 
13:01-18:00 น. 8. กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก
        เป็นกลุ่มปราสาทที่อยู่กลางป่าในจังหวัดกำปงธม (กลุ่มปราสาทนี้ตั้งทางเหนือของจังหวัดกำปงธมราว 30 กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงพนมเปญไปทางเหนือราว 206 กิโลเมตร) อุดมไปด้วยต้นไม้คลุมเต็มพื้นที่ ทางทิศตะวันออกของกลุ่มปราสาทจะมีบารายขนาดใหญ่อยู่. 
        ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ (9 กรกฎาคม 2560) องค์การทางวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกนี้ เป็นมรดกโลกแห่งที่ 3 ของประเทศกัมพูชา.

 
    
 
  • ยูเนสโกระบุว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นเมืองอิศานปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเจนละ 
  • ด้วยพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 (ค.ศ.616-635) ทรงย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรกัมพูชาโบราณมาแถบสมโบร์ไพรกุกในปัจจุบัน และสถาปนาเมืองอีศานปุระเป็นเมืองหลวง และพระองค์ได้โปรดให้สร้างเทวาลัยหมู่เหนือและหมู่ใต้ขึ้น ในเมืองเพื่ออุทิศแด่พระศิวะ
  • กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก (แปลว่า ป่าอันอุดมไปด้วยปราสาท ความหมายตามชาวบ้านเขมรแปลเป็นภาษาไทยว่าสมบูรณ์ไพรโคก แต่ศาสตราจารย์ ดร. ฬุง เซียม ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกภาษาเขมร เชื่อว่าคำว่า กุก น่าจะมีความหมายในภาษาไทยว่าคุก ถ้าเป็นเช่นนี้ชาวบ้านคงเปรียบเทียบโบราณสถานที่พบว่ามีลักษณะเหมือนคุกที่คุมขังนักโทษ)11 (หน้าที่ 17-18)  นี้ มีอายุราว 1,300 ปี ก่อนกว่า 500 ปีในการถือกำเนิดการสร้างนครวัด (ค.ศ.1150) อาณาจักรกัมพูชาโบราณแห่งนี้ มีปราสาทขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่ว อาณาบริเวณในป่าโปร่ง (ปัจจุบันมีต้นไม้กระจายครึ้มไปทั่ว)

    
  • กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกนี้ ก็สร้างด้วยอิฐเผา มีการจำหลัก ลวดลายลงบนเนื้ออิฐ และทับหลังบางส่วน มีการสลักบนหินทราย แล้วยกมาประกอบ ลวดลายจำหลัก ทับหลัง หน้าบันต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ปฐม ที่มีการต่อยอดจนเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ลงตัวด้วยการแกะสลักลงบนหินทราย ถือเป็นวิจิตรศิลป์ขั้นสุดยอดปรากฎในนครวัดในอีก 500 ปีต่อมา
  • ปัจจุบันมีหน่วยงานในระดับนานาชาติ ทั้ง Jetro, Sumitomo ฯ ได้เข้ามาช่วยเหลือในการสำรวจ และบูรณะ ประมาณกันไว้ว่าอาจจะมีจำนวนปราสาททั้งสิ้นราว ๆ 300 แห่ง ใหญ่น้อยแตกต่างกันไป
  • เทวรูป และศิวะลึงค์ที่ปรากฎในกลางปราสาทแสดงให้เห็นถึงศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไศวนิกาย (นับถือพระศิวะ) อย่างชัดเจน

    

    
  • กลุ่มปราสาทในปัจจุบันเท่าที่สำรวจพบ มีเหลืออยู่ราว 160 แห่ง.
  • กลุ่มปราสาทที่สามารถเข้าชมได้สะดวกมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ
  1. กลุ่มปราสาทสมโบร์ (Sambor) ด้านทิศเหนือ
  2. กลุ่มปราสาทตาว (Tor) หรือกลุ่มปราสาทสิงห์ (สิงโต) (Lion) ในส่วนกลาง
  3. กลุ่มปราสาท เยียปวน (Yeah Puon) ด้านทิศใต้
  • นอกจากนี้ยังมีกลุ่มปราสาทในบริเวณใกล้เคียง เช่น กลุ่มปราสาทกูฏฤๅษี ปราสาทสันดาล เป็นต้น ซึ่งสามารถเดินเข้าชมได้สะดวก.

    

    
ปราสาทสมโบร์ไพรกุก หลังที่ N 7 เมืองกำปงธม ศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร
อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 สร้างจากอิฐ มีผังเป็นรูปแปดเหลี่ยม
  • ระหว่างที่ผมและคณะหลบฝนอยู่นั้น ครั้งแรกบนศาลาไม้ ก็ได้คุยกับสตรีชาวกัมพูชาท่านหนึ่ง ซึ่งเคยมาทำงานเป็นยามรักษาการณ์ที่ห้างบิ๊กซี บางบัวทองและทำงานอื่น ๆ ราวสามปี เก็บหอมรอมริบได้พอสมควรก็กลับบ้าน พูดไทยได้ค่อนข้างชัด ก็ทราบว่าเด็ก ๆ ที่มาขายผ้าขาวม้าผืนละ US$1.0 นี้ บางวันหรือล่วงไปถึงสามวันก็ขายไม่ได้เลย มีเด็ก ๆ เหล่านี้อ้อนให้ซื้อเต็มไปหมดร่วม 20 คน ผมถามผ่านหญิงคนนั้นว่า เด็กคนไหนที่ยังขายไม่ได้เลยในวันนี้ ผมก็อุดหนุนไปผืนหนึ่ง. 
  • ครั้งที่สอง บนเพิงผ้าใบหลบฝนงานซ่อมแซม เห็นคนกัมพูชามาหลบฝนกันเยอะ ด้วยวันนี้เป็นวันหยุด (โบราณสถานแห่งนี้ และแทบทุกแห่ง สำหรับคนกัมพูชาแล้ว จะไม่เก็บค่าเข้าชม) สังเกตการคุย อากัปกิริยาต่าง ๆ ดูเอื้ออารีกันดี ผู้ชายมักใส่เสื้อเชิร์ตแขนยาว เน้นสีขาว ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุงแบบเขมร มีกำไลเงินทอง สเตนเลสตามฐานะ. 

    
 
  • คณะของเราเดินชมไป หยุดหลบฝนเข้าที่กำบังไป ท้ายที่สุด ราว ๆ 2 ชั่วโมงต่อมา ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้การทัศนศึกษาในวันนี้ ต้องหยุดลง ตั้งแต่ช่วงบ่าย ๆ
  • คณะก็เดินทางกลับเข้าเมืองเสียมราฐ ในรถโค้ช มาไลยไกด์ท้องถิ่น ก็เล่าเรื่องราวแนวสังคมวิทยาของคนกัมพูชาเรื่องการสู่ขอ การหมั้น การแต่งงาน ก้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจ ระหว่างทางสังเกตถนนหนทางท้องไร่ท้องนา เหมือน ๆ กับบ้านเราเมือง 20-30 ปีที่แล้ว ถนนแคบ สองเลน มีรถแล่นผ่านไม่มากนัก
  • เดินทางกลับถึงโรงแรมที่พัก พักผ่อน สระสรงเล็กน้อย แล้วมารวมตัวกันหน้าล้อบบี้โรงแรม เพื่อไปรับประทานอาหารค่ำต่อไป
18:00-19:30 น.
  • รับประทานอาหารค่ำที่ร้าน Tell และเดินเล่น Pub Street: พอราว ๆ ทุ่มหนึ่ง คณะก็มาทานอาหารค่ำกัน ซึ่งเป็นร้านอาหารยุโรป เสิร์ฟขนมปังพร้อมเนยเป็นออร์เดิร์ฟ มีไส้กรอก สะเต็ก ข้างผัดอเมริกัน ฯ รสชาติดีทีเดียว
     
  • จากนั้น ผมกับเพื่อน ๆ กลุ่มย่อยก็มาร้านหนังสือในแถบ Pub street กัน ผมกะว่าจะหาหนังสือพร้อมภาพดี ๆ เกี่ยวกับนครวัด-นครธมสักหน่อย แต่ก็ค่อนข้างผิดหวัง หนังสือมีน้อย และเป็นเวอร์ชั่นเก่า ๆ สู้มาเลือกซื้อที่ Asia Books ที่เมืองไทยจะดีกว่า
     
  • เดินชม Pub street กับเพื่อน ๆ ของเหมือนจตุจักรบ้านเราเลย (มีเพื่อนท่านหนึ่งกล่าวแซว ของที่ระลึกต่าง ๆ ที่วางขายกันดารดาษย่าน Pub street ว่า เป็นงานศิลปะสมัยจตุจักร  ผมนี้ ฮาตึงเลย....) ก็ได้แต่ดู ๆ สักครู่ใหญ่ คณะก็ทะยอยกลับที่พักกัน (ผมกับเพื่อนท่านหนึ่งนั่งรถมอเตอร์ไซค์ ต่อท้ายเป็นสองที่นั่ง นั่งไปลงที่หน้าโรงแรม ไม่ไกลนัก หลงจ้งก็ร้อยบาท) คณะบางส่วนก็ยังลัลลา ทานไวน์ละเลียดกันในร้าน Tell stakehouse อยู่
21:00 น. เข้าที่พัก อาบน้ำอาบท่า พักผ่อนจัดเต็ม


 
วันที่สี่ จันทร์ที่
16 ตุลาคม 2560
เสียมราฐ - บันทายสรี - ปราสาทบายน - นครวัด
06:30-08:00 น. รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม
08:01-12:00 น.
เดินทางไปชม
9. ปราสาทปักษีจำกรง09
  • คณะของเราขึ้นรถโค้ชเดินทาง ผ่านวงเวียนนางอัปสรา มาอาคารจำหน่ายตั๋ว อัตราน่าสนใจมาก หากมาชมหลายวัน ราคาจะถูกลงมาก มีแบบวันเดียว ราคา US$37, แบบสามวัน ราคา US$62 (มาวันไหนก็ได้ ภายในเสียมราฐ รอบระยะเวลาสิบวัน) และแบบเจ็ดวัน ราคา US$72 (มาวันไหนก็ได้ ภายในเสียมราฐ รอบระยะเวลาหนึ่งเดือน) (ผมวางแผนในสมองทันทีว่า จะต้องหาเวลาสัก 3-7 วันในปีหน้าให้ได้ เพื่อมาเดินท่อง ๆ สำรวจเมืองพระนคร แบบเจาะลึกทุกมุมกำแพงสำคัญ ๆ ที่ได้แกะสลักบนหินทราย ละเลียดศึกษาดื่มด่ำ กินนอนที่เสียมราฐ นี่แหละ)
 
    

    
  • จากนั้น รถโค้ชก็พาคณะของเราข้ึนไปทางเหนือเมืองเสียมราฐ บนถนนชาร์ลส์ เดอ โกล์ (Charles De Gaulle Avenue) ราวเจ็ดกิโลเมตรก็มาถึงบริเวณพระนคร (นครธม-นครวัด).
  • ก็มาถึงปราสาทปักษีจำกรง หัวหน้าคณะแนะนำว่า ให้ดูรอบ ๆ บริเวณก็พอ เพราะเวลามีจำกัดจะได้จัดเวลาไปดูส่วนอื่นของนครธม-นครวัด แต่คณะเกือบทั้งหมด อดไม่ได้ที่จะไต่ขึ้นไปชมข้างบน (ผมไม่ขึ้นไป ได้แต่ถ่ายเก็บภาพรอบ ๆ ปราสาทไว้) บันได้หน้าแคบและสูงชัน ต้องไต่ดูคล้ายจะคลานขึ้นไป (ทั้งนี้ที่ยากเพราะ "สวรรค์มิได้มีไว้สำหรับทุกคน" ตามวลีที่อาจารย์สร้อยนภากล่าวไว้) 
    
ภาพจากซ้ายไปขวา: ปราสาทปักษีจำกรง มองจากด้านตะวันออก (ที่มา:th.wikipedia.org,
วันที่สืบค้น 09 มิถุนายน 2560) และ ปราสาทปักษีจำกรง ทับหลังบนประตูทางเข้าบนยอดปราสาท (ที่มา:www.thailandsworld.com, วันที่สืบค้น 09 มิถุนายน 2560)
 
  • คณะของเรา ทัศนศึกษาที่ปราสาทปักษีจำกรง และถ่ายรูปหมู่กันที่หน้าปราสาท ใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง ก็เดินทางไปใกล้ ๆ นั่นคือ สะพานหินทรายประตูทางเข้านครธมทางทิศใต้.
 
10.  ปราสาทบายน
        หลังรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ราชอาณาจักรกัมพูชาตกอยู่ในความวุ่นวายอีกครั้ง โดยมิใช่แค่ความวุ่นวายภายในเท่านั้น แต่มีศัตรูจากภายนอกคืออาณาจักรจามได้แอบยกกองทัพเรือผ่านทะเลสาบเข้ายึดและทำลายเมืองพระนครใน พ.ศ.1720 ราชอาณาจักรกัมพูชาโบราณต้องรอคอยถึง 4 ปี จนกระทั่ง พ.ศ.1724 (มาดแลน จีโต, ประวัติเมืองพระนครของขอม, พิมพ์ครั้งที่ 3, ทรงแปลโดย ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล, กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2546, หน้า 91-98)  จึงได้มีแม่ทัพผู้หนึ่งที่ต่อมาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นำกองทัพเข้าขับไล่จามออกไปจากราชอาณาจักร และบูรณะฟื้นฟูเมืองราชธานีขึ้นมาใหม่ทับซ้อนบางส่วนของเมืองพระนครเดิม รู้จักกันในนาม เมืองพระนครธม พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงปกครองราชอาณาจักรต่อมาอีกยาวนานและทำสงครามขยายอาณาเขตไปกว้างไกลกว่ากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์เขมรโบราณ โดยทิศเหนือขึ้นไปถึงลุ่มแม่น้ำโขงบริเวณเวียงจันทน์ ด้านตะวันออกเข้าครอบครองดินแดนที่เคยเป็นอาณาจักรจามทั้งหมดจรดชายทะเลลงไปถึงภาคใต้ ทางตะวันตกมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า พระราชอำนาจแผ่ไปถึงลุ่มน้ำแม่กลองและแม่น้ำแควน้อย (เป็นความเห็นของ ภภพพล จันทร์วัฒนกุล จากการสำรวจข้อมูลหลักฐานทางด้านศิลปกรรม) (บริเวณปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี) โปรดให้สร้างปราสาทขนาดใหญ่มากมาย เช่น ปราสาทตาพรหม พระขรรค์ บายน บันทายกุฎี ตาโสม และนาคพันในเมืองพระนครธม ให้สร้างปราสาทบันทายฉมาร์และปราสาทพระขรรค์ที่กำปงสวาย นอกเมืองพระนครธม รวมถึงการตัดถนนไปยังเมืองสำคัญต่าง ๆ ภายในราชอาณาจักร เช่น เมืองวิชัยในจาม เมืองพิมายในประเทศไทย และสร้างที่พักคนเดินทาง โรงพยาบาลอีกนับร้อยแห่ง. (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ใน วรรณวิภา สุเนตรตา, ชัยวรมันที่ 7: มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา, กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2548).
        ศิลปะแบบบายนเป็นศิลปะแบบสุดท้ายของศิลปะขอม กำหนดอายุราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ชื่อศิลปะมาจากปราสาทบายน ซึ่งคำนี้ชาวเขมรเชื่อว่ามาจากคำว่า บา+ยน ที่หมายถึง ยันต์ เนื่องจากผังของปราสาทมีลักษณะคล้ายเลขยันต์ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในนิราศนครวัดว่า อาจจะมาจากวิมานบรรยงก์ของพระอินทร์11 
    
หน้าประตูเมืองพระนครธมด้านใต้มองเห็นขบวนของเทวดาและอสูรกำลังยุดนาค
ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงกล่าวไว้ว่าเปรียบเสมือนการกวนเกษียรสมุทรให้ได้น้ำอมฤต
เมืองจะได้มีความเป็นอมตะ
10
 
    
ซุ้มประตูเมืองพระนครธมทางด้านทิศใต้
 
    
ภาพซ้ายเป็นซุ้มประตูเมืองพระนครธม ถ่ายจากเหนือมาใต้ เมื่อเดินลอดประตูเข้ามาแล้ว, ภาพขวาคือหน้าปราสาทบายน

        เมื่อคณะของเราเดินผ่านซุ้มประตูเมืองพระนคร ก็เห็นมอเตอร์ไซต์ต่อเป็นพ่วงโดยสารจอดรถให้บริการสองสามคัน ข้างในเมืองนครธม ดูเป็นสัดเป็นส่วน มีป่าต้นไม้อุดมสมบูรณ์ กว้างขวาง น่าเดินศึกษา
         ด้วยความอลังการของปราสาทบายน ผมใคร่ขอยกแสดงรายละเอียดไว้ต่างหากใน http://huexonline.com/knowledge/26/180/
        ผมถ่ายภาพปราสาทบายน ไว้มาก โดยเฉพาะระเบียงคตด้านขวาของปราสาท ไล่ไปตามลำดับ มีงานแกะสลักหินที่วิจิตรมาก ละเอียดน่าทึ่ง เล่าเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การสงครามกับพวกจาม การทำคลอด การหุงหาอาหาร การเคารพผู้ที่มีลำดับชั้นทางสังคมสูงกว่า มีนักท่องเที่ยวทั้งคนเอเซีย ผิวขาว ผิวดำ มากันเยอะ 
        ผมชื่นชมปราสาทได้สักชั่วโมง แล้วเดินออกทางด้านหลังปราสาท เดินข้ามถนนมายังจุดนัดพบที่มีรถโค้ชของเราจอดรออยู่ อากาศร้อนอบอ้าว ผมหาผลไม้ทาน ดื่มน้ำแก้กระหาย จากพ่อค้าแม่ค้าแถบนั้น พอสมาชิกครบ รถโค้ชก็พาคณะของเรา เดินทางต่อไปยังปราสาทบันทายสรี
 

11. ปราสาทบันทายสรี

        ไม่ไกลจากตัวเมืองพระนครนัก คณะของเราก็มาถึงปราสาทบันทายสรี อาจารย์หัวหน้าไกด์ก็ซื้อตั๋วเข้าชม เดินผ่านช่องตรวจ การจัดการระบบการท่องเที่ยวที่ปราสาทแห่งนี้จัดได้ดี
 
 
12:01-13:00 น. รับประทานอาหารกลางวันที่ร้าน Khmer Village สระสรง 

    
ร้านอาหารนี้ มีคนเข้ารับประทานกันมาก อยู่ข้างริมสระสรง

    
จัดแบ่งทานกันไปโต๊ะละหก-เจ็ดท่าน เมนูอาหารรสชาติเหมือนบ้านเรา ที่ผมชอบมากคือปลาเนื้ออ่อนตัวเล็ก ๆ ทอดกรอบ (เข้าใจว่าจับมาจากโตนเลสาบ) 
13:01-18:30 น. พออิ่มหน่ำสำราญก็เข้าชม

12. ปราสาทนครวัด


 และด้วยความมหัศจรรย์ของปราสาทนครวัด ผมใคร่ขอยกแสดงรายละเอียดไว้ใน http://huexonline.com/knowledge/26/181/ และ http://huexonline.com/knowledge/24/222/ 
  
ภาพผมที่ด้านหน้าของนครวัด และชั้นบนสุดของนครวัด "พระบรมวิษณุโลก"

ไม่ได้ชมปราสาทแปรรูป และปราสาทตาพรหม

เดินทางกลับเสียมราฐ จิบชา/กาแฟที่ ราฟเฟิล แกรนด์ โฮเทล อังกอร์ โรงแรมเก่าแก่ 100 ปี โรงแรมนี้อยู่ในตัวเมืองเสียมราฐ หน้าโรงแรมจะเป็นสวนสาธารณะลานกว้าง ไกลออกไปสัก 200 เมตรที่มีศาลเจ้าเจกเจ้าเจ้าจอมอยู่
โรงแรมราฟเฟิลนี้ เสด็จในกรมฯ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จมาประทับ และจิตร ภูมิศักดิ์ นักประวัติศาสตร์อัจฉริยะก็เคยมาพักที่นี่

    
ล้อบบี้ในโรงแรมราฟเฟิล ออกสไตล์โคโลเนียล (French Colony อาณานิคมฝรั่งเศส) ผ่อนคลาย พวกฝรั่งศักดินาฝรั่งเศสมาสันทนาการกัน เจรจาความเมืองกัน เมื่อครั้งกัมพูชาเป็นอาณานิคม
ทีมคณะท่องเที่ยวเราก็สั่งเครื่องดื่มซอฟท์ดริ๊งส์ มาจิบกันครึกครื้น เพราะจบทริปแล้ว และเมื่อมองไปด้านหลังของล้อบบี้ จะมีสระว่ายน้ำขนาดย่อมของโรงแรมอยู่

 
     ผมมานั่งเก้าอี้แถวหลัง ๆ บนล๊อบบี้ อาจารย์เทพมนตรี หันขวับถามผมว่าทำไมไม่มานั่งด้านหน้าคุยกับอาจารย์ ผมบอกว่าจะขอผ่อนคลายพักเหนื่อยครับ อาจารย์ก็แซวผมสนุก ๆ ว่าเป็นไพร่หรือ? (คล้าย ๆ อนุมานว่าเป็นบ่าวนั่งข้างหลังข้าหลวงไทยที่มาตรวจงานที่เมืองเขมรทำนองนั้น) ผมก็ตอบกลับว่า ปล่าวครับ ผมแสร้งว่าเป็นสายลับฝรั่งเศส เตรียมหาวิธีเอากัมพูชาทั้งประเทศเป็นเมืองขึ้น (ยื้อแย่งจากสยาม) ครับ....อาจารย์ท่านหันขวับอีกครั้ง มองหน้าผมตามเขม็งเชียว...ฮิ ๆ ๆ .
    ระหว่างนั้น ก็มีนักเล่นเปียโนชาวฟิลิปปินส์บรรเลงดนตรี ไพเราะเพราะพริ้ง ผมขอเพลงไปสามสี่เพลง อาทิ Summer place, spanish eyes, can't help falling in love. เป็นต้น

 
    
ภาพผม บนล้อบบี้ของโรงแรมราฟเฟิล และตรา (Badge) ทองเหลืองโบราณบนฝาของราฟเฟิล แกรนด์ โฮเทล อังกอร์

     พอพลบค่ำ เหล่าสมาชิกก็เดินทางสู่สนามบินเสียมราฐ ระหว่างอยู่บนรถกำลังไปสนามบิน อาจารย์เทพมนตรี ก็อารมณ์ครึ้ม ๆ ลำนำกาพย์เจ้าฟ้ากุ้งให้ฟัง เพราะมากครับ (ผมนี่ทึ้งในการศึกษาลึกซึ้ง จำได้แม่นของอาจารย์จริง ๆ เกี่ยวกับงานของสมเด็จเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ และประวัติศาสตร์กรุงศรีฯ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)
21:25-22:30 น.      บินกลับสู่สนามบินสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพด้วยเที่ยวบิน WE591
ของสายการบินไทย (Thai Smile) และด้วยความประทับใจ
    
ภาพชุดอาคารค่ำที่เสิร์ฟบนเครื่องบิน ซึ่งขากลับไม่ค่อยมีผู้โดยสารมากนัก
 
หมายเหตุและคำอธิบาย:

01  จากการได้เที่ยวชมโบราณสถานในประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ผมได้รับความประทับใจ รู้ถึงมิตรภาพที่ชาวกัมพูชามีต่อนักท่องเที่ยว วลีที่กล่าวว่า "ออกุนเจริญ ๆ กัมพูชา" ซึ่งแปลว่า "ขอบคุณมาก ๆ กัมพูชา" นี้นั้น ผมขอสะท้อนถึงความประทับใจที่ได้รับ และจะนำเรื่องราวข้อมูลที่ได้ประสบมาและจะค้นคว้าต่อไป ซึ่งจะแสดงในบล็อกนี้นั่นเอง. และข้อมูลอ้างอิงหลักจะมีหลาย ๆ ส่วน ประกอบด้วย
     1) การบรรยายของอาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม และอาจารย์สร้อยนภา พันธุ์คง
     2) หนังสือสำหรับนำชมโบราณสถานเขมร ในช่วง 13-16 ตุลาคม 2560 "วงพักตร์แห่งหินผา อัปสราแห่งบันเตีย"
     3) หนังสือเที่ยวไม่ง้อทัวร์ ตีตั๋วตะลุยกัมพูชา เขียนโดย Kittinew สำนักพิมพ์ ทิบ ไทย อินเตอร์ บุ๊ค พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤษภาคม 2557
     4) ประวัติศาสตร์และศิลปะแห่งอาณาจักรขอมโบราณ เล่ม 1 โดย สรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ 2, ตุลาคม 2552
     5) ปราสาท(เขา)พระวิหาร โดย ดร.ธิดา สาระยา, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4, มีนาคม 2552.
     6) Ancient Angkor: Book Guides เขียนโดย Michael Freeman และ Claude Jacques, สำนักพิมพ์ River Book กรุงเทพ, ค.ศ.2009.
02  เท่าที่ศึกษามา คำว่า บันเตีย แปลเป็นภาษาไทยว่า บ้านใต้ เช่น จังหวัดบันเตียเมียนเจย หมายถึง บ้านใต้มีชัย, อุดรเมียนเจย หมายถึง อุดรมีชัย. เป็นไปตามที่หัวหน้าคณะทัวร์ "อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม" ได้เขียนและตั้งชื่อหนังสือสำหรับนำชมโบราณสถานเขมร ในช่วง 13-16 ตุลาคม 2560 ไว้นั่นเอง. แต่จากการได้สนทนากับคุณมาไลย มัคคุเทศก์ท้องถิ่น ซึ่งให้ความเห็นว่า บันเตียไม่ได้หมายความว่าบ้านใต้ แต่เป็นระดับความสำคัญ มากน้อย ใหญ่กลางเล็กมากกว่า เช่น ระดับปฐม ระดับบันเตีย เป็นต้น (ซึ่งจะใคร่ขอค้นคว้าต่อไป
03  อาจารย์เทพมนตรีได้บรรยายถึงครอบครัวเทพเจ้าสามครอบครัว ประกอบด้วย :
     หนึ่ง) ครอบครัวพระศิวะ
 
ภาพ: พระศิวะ พระแม่อุมาเทวี (หรือพระแม่ปารวตี) พระขันทกุมาร พระคเณศ (พระพิฆเนศ)
และ โคอุศภราช (โคนันทิ) บนยอดเขาไกรลาส
ที่มา: youmeandtrends.com, วันที่สืบค้น 19 ตุลาคม 2560.
     สอง) ครอบครัวพระวิษณุ
 
ภาพ: พระวิษณุ (หรือพระนารายณ์) พระแม่ลักษมีมหาเทวี พระพรหม และพญาอนันตนาคราช บนไวกูณฐ์สวรรค์
ที่มา: www.ruchiskitchen.com, วันที่สืบค้น 19 ตุลาคม 2560.
      สาม) ครอบครัวพระพรหม
 
ภาพ: พระหม และสัตว์พาหนะคือหงส์
ที่มา: www.siamganesh.com, วันที่สืบค้น 19 ตุลาคม 2560.
  • พระพรหมมีสี่พักตร์ พระศอสวมลูกประคำ พระหัตถ์แต่ละข้างถือดอกบัว, คัมภีร์, และหม้อน้ำ มีพาหนะเป็นหงส์ หรือ ห่าน พระชายา คือ พระสุรัสวดี เทพีแห่งศิลปะวิทยาการและความรอบรู้.
  • ซึ่งเทพทั้งสามข้างต้นนี้ (พระศิวะหรือพระอิศวร-ผู้ทำลาย, พระนารายณ์หรือพระวิษณุ-ผู้ปกป้องรักษา, และพระพรหม-ผู้สร้าง)  ได้อวตารรวมของพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด เป็น พระตรีมูรติ (Trimurti)
 
พระตรีมูรติ (Trimurti), ที่มา: thecminds.wordpress.com, วันที่สืบค้น 21 ตุลาคม 2560.
     เทพเจ้าประจำทิศต่าง ๆ :
     สี่ทิศแรก (เหนือ ตะวันออก ใต้ ตะวันตก) รวมเรียกว่าท้าวจาตุโลกบาลหรือท้าวจตุมหาราช หมายถึง หัวหน้าเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช มีหน้าที่รักษาโลกทั้งสี่ทิศ
     ทิศเหนือหรืออุดร: 
        กุเวร จอมยักษ์ หรือ ท้าวเวสสวัน บ้างก็เรียก ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณ (บ้างก็กล่าวว่าเป็นองค์เดียวกันกับพระไพศรพณ์ - พระ-ไพ-สบ) เป็นผู้ปกครองเหล่ายักษ์ มีพระวรกายสีทอง พระภูษาแดง พระหัตถ์ขวาถือกระบอง พระหัตถ์ซ้ายให้อภัย ทรงมนุษย์เป็นบริวารหรือพาหนะ มีหน้าที่รักษาความเรียบร้อยยุติธรรมในสวรรค์ เป็นเทวดา สัญลักษณ์ของอัยการ.
 
ท้าวกุเวรทรงมนุษย์เป็นพาหนะ, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 19 ตุลาคม 2560.
     ทิศตะวันออกหรือบูรพา:
        ท้าวธตรฐ จอมภูตหรือจอมคนธรรพ์ หรือพระอินทร์ ทรงช้าง(เอราวัณ) เป็นพาหนะ พระวรกายผิวคล้ำ ภูษาแดง พระหัตถ์ขวาทรงถือวัชระ(ตรี) บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงขอช้าง คู่ครองคือพระแม่ศจี.
 
พระอินทร์ ทรงช้างเอราวัณ, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 19 ตุลาคม 2560.
ทิศใต้หรือทักษิณ:     
        พระยม (ท้าวพญายมราช) หรือ ท้าววิรุฬหก จอมเทวดา หรือ จอมกุมภัณฑ์ พระวรกายสีดำ ภูษาแดง พระหัตถ์ขวาทรง คฑา เชือกหรือบ่วงบาศก์ บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ ทรงควายเป็นพาหนะ
 
พระยม หรือ Yama ทรงควายเป็นพาหนะ,
ที่มา:
 en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 19 ตุลาคม 2560.
     ทิศตะวันตกหรือประจิม:
        วิรูปักษ์ จอมนาค หรือ พระวรุณ (พระพิรุณ) เทพแห่งฝน พระวรกายสีขาว พระภูษาสีเหลือง พระหัตถ์ขวาทรงถือเชือกบ่วงบาศก์ เมื่อมีผู้ทำบาปพระพิรุณจักใช้บ่วงคล้องผู้นั้นไปหาพญายมราช เพื่อนำไปลงทัณฑ์ พระหัตถ์ซ้ายทรงประทานพร ทรงม้าเป็นพาหนะ บ้างก็ว่าทรงจระเข้ ในความเชื่อของคนไทยแล้ว ทรงเป็นผู้ให้ฝน ให้น้ำ ถือพระขรรค์ ทรงพญานาคหรือมกรเป็นพาหนะ เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานด้านการเกษตร เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
 
ภาพ: พระวรุณ (Varuna) พบในรัฐราชสถาน (Rajasthan) ประเทศอินเดีย
ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 19 ตุลาคม 2560.
     ทิศตะวันออกเฉียงใต้หรืออาคเนย์:
        พระอัคนีหรืออัคคีหรือพระเพลิง พระวรกายสีแเดง ภูษาสีแดง บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงช้อน พระหัตถ์ขวาทรงหอก บ้างก็มีขวาน คบไฟ สายประคำ พาหนะคือแกะตัวผู้ หรือ แรด พระอัคนีเป็นบุตรของพระแม่ธรณี คู่ครองคือพระนางสวาหา.
 
ภาพ: พระอัคนี (Agni), ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 19 ตุลาคม 2560.
     ทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือเนรดี:
        พระนิรฤดีหรือหรดี หรือพระไนรฤติ (พระนิรฤติ) เป็นเจ้าแห่งอสูร พระวรกายสีขาว ภูษาสีเหลือง พระหัตถ์ขวาทรงถือดาบ บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงโล่ พาหนะคือม้า(รากษก) 
 
    
พระไนรฤติ ที่มา: group.wunjun.com, และ arts-108.blogspot.com, วันที่สืบค้น 19 -20 ตุลาคม 2560.
     ทิศตะวันตกเฉียงเหนือหรือพายัพ:
        พระพายหรือพายุ วายุ เป็นกษัตริย์แห่งคนธรรพ์ พระวรกายสีดำ พระภูษาสีขาว พระหัตถ์ขวาทรงถือธง บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ บ้างก็ว่า อาวุธคือ ธงสีขาว แขนง แตร มีกวางเป็นพาหนะ มีบุตรคือ หนุมาน และ ภีมะ
    
พระพาย หรือ วายุ ที่มา th.wikipedia.org และ en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 20 ตุลาคม 2560.
     ทิศตะวันออกเฉียงเหนือหรืออิศาน:
        พระอีศานหรืออิศานหรืออิศาณ พระวรกายสีขาว พระภูษาสีขาว พระหัตถ์ขวาทรงถือตรีศูล บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงถือสังวาลย์นาค ทรงวัวเป็นพาหนะ
 
พระอิศาณ, ที่มา: arts-108.blogspot.com, วันที่สืบค้น 20 ตุลาคม 2560.

04  อ้างอิง ทบทวน และปรับเสริมจากการบรรยายของอาจารย์เทพมนตรี อาจารย์สร้อยนภา และ nhoomthonburi.blogspot.com/2016/10/economical-traveler.html, วันที่สืบค้น 18 ตุลาคม 2560. กลุ่มปราสาทเกาะแกร์ (Koh Ker, เกาะฮ์เก) เป็นแหล่งโบราณสถานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพระนคร ห่างออกไปราว 100 กิโลเมตร อยู่กลางป่าและมีผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง การที่เกาะแกร์อยู่กลางป่าห่างไกลจากเมืองพระนคร ("ยโศธรปุระ"-Yasodharapura หรือ นครวัด-นครธม") ทำให้การดูแลในช่วงที่เมืองพระนครเริ่มเป็นที่รู้จักสู่โลกภายนอกนั้น มีความยากลำบาก และได้รับความเสียหายจากการขุดค้นหาโบราณวัตถุอยู่บ่อยครั้ง (เท่าที่สังเกตเห็น ศิวลึงค์ เศียรเทพหรือทั้งองค์เทพหายไปมาก หรือเกือบทั้งหมด ด้วยมีการลักลอบค้าวัตถุโบราณกันต่อเนื่อง) 
 
แผนที่แสดงพื้นที่บริเวณเกาะแกร์ ซึ่งมีบาราย(สระน้ำขนาดใหญ่) ราฮาล บ้างก็เรียก ระหาล (Rahal Baray) ยาว 1.2 กิโลเมตร
กว้าง 560 เมตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่สำคัญของเมือง ซึ่งปัจจุบันนี้ บารายราฮาลได้ตื้นเขินไปเกือบหมดแล้ว
 
 
ภาพจำลองจากมุมเฉียงแสดงพื้นที่เกาะแกร์ มีทั้งบารายราฮาลหรือระหาล และศาสนสถานโดยรอบ ลูกศรสีแดงแสดงทิศที่
แต่ละปราสาทหน้าหน้าไป ส่วนปราสาทธม รวมทั้งปิรามิดขนาดใหญ่ของปราสาท จะอยู่ทางขวาล่างของภาพ
ที่มาของสองภาพข้างต้น: http://nhoomthonburi.blogspot.com/2016/10/economical-traveler.html, ซึ่งอ้างอิงจาก
Archaeology & Development Foundation – Phnom Kulen Program, วันที่สืบค้น 18 ตุลาคม 2560.
 
        พื้นที่อนุรักษ์ของเกาะแกร์รวม 81 ตารางกิโลเมตร มีโบราณสถานที่ถูกค้นพบแล้ว 108 แห่ง แต่มีเพียงโบราณสถานเพียง 20 กว่าแห่งที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้ เนื่องจากโบราณสถานส่วนใหญ่อยู่ในป่าลึก และพื้นที่ส่วนหนึ่งยังไม่ได้เข้าไปกอบกู้ระเบิดสมัยเขมรแดง (Khmer Rough) 
        "เกาะแกร์" ยังเป็นชื่อของเมืองในอดีตที่สำคัญของอาณาจักรกัมพูชายุคโบราณเมืองหนึ่ง โดยในศิลาจารึกกล่าวถึง "ลึงคปุระ" (เมืองแห่งศิวลึงค์) หรือ "โฉกครรคยาร์-Chok Garyar" (บ้างก็ว่า "เมืองแห่งแร่เหล็กแดง" หรือ "ป่าต้นตะเคียน")
        เกาะแกร์เคยเป็นเมือง(หลวง ที่มีพระญาติหลังรัชกาลพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ตั้งตนเป็นกษัตริย์มีพระนามว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ตั้งเมืองหลวงที่โฉกครรคยาร์) ของอาณาจักรกัมพูชาโบราณได้ไม่นานนัก ช่วงปี ค.ศ.928-944 ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 และพระเจ้าหรรษวรมันที่ 2 (ตรงกับสมัยอาณาจักรหริภุญชัย-ละโว้-ตามพรลิงก์ ที่เคยตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน) โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โปรดให้มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในเมืองนี้ขึ้น ประกอบด้วย บารายขนาดใหญ่ และศาสนสถานพราหมณ์ฮินดูราว 40 แห่งในรัชสมัยของพระองค์ โดยมีปราสาทธม (บ้างก็เรียก "ปราสาทธม-ปราสาทปรางค์") ซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญของเมือง.
        ข้อมูลที่แสดงบทบาทของกลุ่มปราสาทเกาะแกร์นั้น มีไม่มากนัก ซึ่งเชื่อมโยงกับกษัตริย์กัมพูชาโบราณสองพระองค์ระหว่างรัชสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 (พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 และพระเจ้าอิสาณวรมันที่ 2) ที่มีอยู่น้อยมาก.
        อีกทั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 นั้น แต่เดิมเป็นพระญาติที่สมรสเข้าราชวงศ์ นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 อาจทรงครองราชย์ด้วยการปราบดาภิเษกหรือครองราชย์โดยการสนับสนุนของขุนนางอำมาตย์ แก้และผ่านกฎมณเฑียรขึ้นมา.
        ในปี ค.ศ.921 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 นั้น พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ที่อยู่ในฐานะผู้นำท้องถิ่นบริเวณเกาะแกร์ (โฉกครรคยาร์/ลึงคปุระ) ได้ดำริให้สร้างวัดพราหมณ์-ฮินดูขนาดใหญ่ขึ้น (ปราสาทธม) ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระองค์เป็นใหญ่ในแผ่นดินอาณาจักรกัมพูชาโบราณ และเป็นการเปิดโฉมหน้าสร้างเมืองเกาะแกร์ที่เทียบเทียมรัศมีกับเมืองยโศธรปุระ.
        เมื่อพระองค์ได้เตรียมความพร้อม แสวงหาการสนับสนุนทางการเมือง-การทหาร กำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมจนได้ขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 มิได้ทรงประทับที่ยโศธรปุระ แต่ทรงประทับที่เกาะแกร์ตลอดรัชกาล ทำให้ประวัติศาสตร์กัมพูชาโบราณถือเอาว่า พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงจากยโศธรปุระมายังเกาะแกร์.
        ยังมีสมมติฐานของนักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า การย้ายเมืองหลวงมายังภูมิลำเนาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 นั้น ก็เพื่อความมั่นคง และหลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มอำนาจอีกฝ่ายที่ยโศธรปุระ.
        และเหตุใดที่พื้นที่เกาะแกร์ซึ่งไม่ค่อยมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์มากเท่าไร เหมือนเช่นเมืองหริหราลัย (กลุ่มปราสาทโรลัวะ) จึงสามารถพัฒนาศักยภาพเป็นเมืองหลวงได้.
        เกาะแกร์มีข้อด้อยตรงที่ว่าพื้นที่บริเวณนั้นค่อนข้างแห้งแล้ง ถึงพอจะทำนาข้าวได้ แต่ก็ได้ผลผลิตไม่มากเทียบเท่ากับบริเวณเมืองพระนคร (ยโศธรปุระ) ผลผลิตทางการเกษตรของเกาะแกร์ไม่น่าจะมีปริมาณเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงประชากรที่มีจำนวนมากได้ (หลักศิลาจารึกกล่าวถึงประชากรของเกาะแกร์ช่วงที่เป็นเมืองหลวงนั้นว่ามีเกิน 10,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ หากเทียบตามเกณฑ์ในสมัยนั้น).

        เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกาะแกร์ธำรงความเป็นเมืองหลวงเอาไว้ได้คือ:
        หนึ่ง) เกาะแกร์มีวิทยาการและแร่เหล็กสำหรับทำยุทธภัณฑ์ ยุทธปัจจัย สามารถนำไปแลกเปลี่ยน ค้าขายหรือเก็บภาษีได้ (แต่คำอธิบายนี้ก็มีช่องโหว่ คือ โรงตีหรือถลุงเหล็กในสมัยนั้นอยู่ห่างจากเกาะแกร์ไปนับร้อยกิโลเมตร)
        สอง) เกาะแกร์เป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยเป็นชุมทางของ "ถนนสายราชมรรคา" (Royal road) โดยตั้งอยู่บนถนนสายราชมรรคาเส้นตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เชื่อมระหว่างเมืองยโศธรปุระ (เมืองพระนคร) - ปราสาทเบ็งเมเลีย - เกาะแกร์ - เมืองเศรษฐปุระ (ปราสาทวัดพู แขวงจำปาสัก ลาวใต้) และทางคมนาคมอีกเส้นหนึ่งหนึ่ง จากเกาะแกร์ไปยังศรีสิขเรศวร (ประสาทเขาพระวิหาร).
        นอกจากนี้ยังพบสิ่งก่อสร้างสำคัญสนับสนุนการเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่สำคัญของเกาะแกร์คือ "ธรรมศาลา" (เรือนพักหรือป้อมตรวจการที่ตั้งอยู่บนเแนวถนนสายราชมรรคา) และ "อโรคยศาลา" (โรงพยาบาลเล็ก ๆ สร้างตามแหล่งชุมชนโบราณ) อีกด้วย.
 
แผนที่แสดงเครือข่าย "ถนนสายราชมรรคา" ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ยโศธรปุระ (นครวัด-นครธม)
ที่มา :  http://nhoomthonburi.blogspot.com/2016/10/economical-traveler.html, วันที่สืบค้น 31 ตุลาคม 2560.

05  สัตตบริภัณฑ์คีรี (Satabariphan Khiri) บ้างก็เรียก สัตบริภัณฑ์คีรี เป็นชื่อของกลุ่มภูเขาในตำนานพระพุทธศาสนา ที่ปรากฎในไตรภูมิพระร่วง มีความเชื่อว่า นอกจากเขาพระสุเมรุจะมีตรงกลางเป็นที่ตั้งของดาวดึงส์สวรรค์อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้าแล้ว  ยังเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ชั้น ทั้งยังมีเทือกเขาล้อมรอบอีก 7 ชั้น ได้แก่ 1) เขายุคนธร (Yugandhara) 2) เขาอิสินธร (Isadhara) 3) เขากรวิก (Karavika) 4) เขาสุทัส (Sudassana) 5) เขาเนมินทร (Nemindhara) 6) เขาวินันตกะ (Vinataka) และ 7) เขาอัสสกรรณ (Assakanna) ที่สำคัญคือแต่ละภูเขายังถูกคั่นกลางด้วยมหานทีสีทันดร (Srithundornsamut) ไปจนถึงชั้นนอกสุดคือกำแพงจักรวาล โดยที่เทือกเขาทั้งเจ็ดนั้นมีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า สัตตบริภัณฑ์คีรีนั่นเอง. 
 
สัตตบริภัณฑ์คีรี, ที่มา: kingkarnk288.wordpress.com, วันที่สืบค้น 26 ตุลาคม 2560.
 
09  ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org, (อ้างอิง. เทปสนทนา เรื่อง คุยเฟื่องเรื่องเขมร: วีระ ธีรภัทร - ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์) และ www.thailandsworld.com, วันที่สืบค้น 09 มิถุนายน 2560, ปราสาทปักษีจำกรง (Baksei Chamkrong) (เขมร: ปักเส็ยจำกรง) เป็นปราสาทหินขนาดเล็กสร้างด้วยอิฐ สร้างขึ้นเป็นเทวาลัย ถวายแด่พระศิวะ ตั้งอยู่ทางซ้ายของถนนที่มุ่งหน้าเข้าสู่ประตูทางทิศใต้ของนครธม ปราสาทแห่งนี้เคยมีเทวรูปพระศิวะทองคำประดิษฐานอยู่ด้วย ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านซ้ายของนครธม เมื่อเข้าทางประตูด้านใต้ สร้างโดยพระเจ้าหสวรรมัน เพื่ออุทิศถวายพระเจ้ายโศวรมัน ผู้เป็นพระบิดา การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 (ค.ศ.944-968) หรือ ประมาณ พ.ศ.1487-1511 นับว่าสร้างก่อนปราสาทแปรรูป.
คำว่า "ปักษีจำกรง" หมายถึง ปักษีหรือนกอยู่ภายใต้ปีกที่กางออก ด้วยมีตำนานว่า พระราชาทรงพยายามจะหนีข้าศึกที่เข้ามาโจมตีพระนคร แต่พลันมีพญานกตัวมหึมา ร่อนลงมาสยายปีกคุ้มครองพระองค์ไว้.
ปราสาทแห่งนี้นับเป็นปราสาทสมัยแรกที่สร้างด้วยวัสดุทนทาน เช่นอิฐและศิลาแลง และมีการประดับตกแต่งด้วยหินทราย ปูนที่ฉาบผิวด้านนอกส่วนใหญ่ชำรุดเสียหายไป และลวดลายที่สลักส่วนใหญ่ก็ชำรุดไปมาก นับเป็นปราสาทแห่งแรก ๆ ที่สร้างเป็นชั้นและสร้างบนเนินเขา แล้วสร้างปรางค์ครอบไว้.
ทับหลังที่อยู่ด้านบนประตู เป็นรูปพระอินทร์ประทับอยู่บนช้างสามเศียรนามว่าช้างอัยรา (เอราวัณ) ตามเทวตำนานของฮินดู.
info@huexonline.com