MENU
TH EN

นารายณ์อวตาร ตอนที่ 2 "กูรมาวตาร"

นารายณ์อวตาร ตอนที่ 2
กูรมาวตาร01, 02
 
First revision: Nov.08, 2015
Last change: May 03, 2020

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

ปางทวิราชอวตารมหาเทพ        ทรงเสด็จแปลงเป็นเต่าเจ้าชลสิทธิ์
แบกรองรับกันโลกรั่วด้วยพิธี       กวนเกษียรณธาราอมฤต
เพลานั้น ปรากฎอสุรามัจฉา        มากวนก่อทำลายบั่นเสาหิน
ทรงฤทธานุภาพชัยนรรินทร์        ชำระสิ้นซึ่งอาธรรม์มรรคาลัย

 

        ในอวตารปางที่สองของพระนารายณ์นั้น มีชื่อว่า "กูรมาวตาร" เป็นปางที่ปรากฎในสมัยสัตยยุค หรือ กฤตยุค (KRITA YUGA) อันเป็นยุคแรกตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู โดยทรงอวตารลงมาเป็นเต่า.

        เรื่องของปางนี้มีอยู่ว่า ครั้งนั้นสรวงสวรรค์นั้นมีเหล่านางฟ้าที่งดงามอยู่เกินกว่าจะคณานับได้ แต่นางฟ้าที่ได้ชื่อว่างามที่สุดมีนามว่า "อุรวศี" รองลงมาคือนาง "เมนะกา" วันหนึ่งนางเมนะกา นำพวงมาลัยไปถวายให้แก่มหาฤๅษีทุรวาส (Durvasa) ซึ่งเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระศิวะ ในขณะที่พระอินทร์ผู้เป็นจอมราชันแห่งสรวงสวรรค์ได้เสด็จออกประพาสมาพักผ่อนบนโลกมนุษย์ หลังจากจัดการสะสางภารกิจเสร็จ (ก่อนหน้านี้พระอินทร์ได้ทำสงครามกับเหล่าอสูรและแทตย์3 โดยได้ทำการสังหารวฤตาสูรซึ่งเป็นอสูรวรรณะพราหมณ์ แล้วเกิดมีบาปติดตัวจนหาทางกลับสวรรค์ไม่เจอมาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็ได้รับพระเมตตาจากพระศิวะ จนสามารถกลับมาปกครองสวรรค์ดังเดิม).

        ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ฝ่ายมหาฤๅษีทุรวาสได้รับถวายพวงมาลัยมาจากนางเมนะกา แล้วนำพวงมาลัยมาสวมที่คอแล้ว มหาฤๅษีก็เกิดอาการประหลาด เปลี่ยนจากฤๅษีที่มีโทสะร้ายอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นฤๅษีที่อารมณ์ดีร่าเริง กระโดด เต้นแร้งเต้นกาไปทั่ว แล้วฤๅษีทุรวาสมาเจอกับพระอินทร์ที่กำลังทรงช้างเอราวัณอยู่ ก็เกิดมีสติกับคืนมา แล้วคิดว่าพวงมาลัยนี้ไม่เหมาะกับตนซึ่งอยู่ในเพศพราหมณ์ จึงได้นำพวงมาลัยนั้นถวายให้แด่พระอินทร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าวรรณะกษัตริย์.

        ฝ่ายพระอินทร์ เมื่อมหาฤๅษีทุรวาสถวายพวงมาลัยให้ ครั้นจะไม่รับก็กระไรอยู่ ด้วยเป็นที่ทราบกันดีทั้งสามโลกว่ามหาฤๅษีตนนี้เป็นมหาฤๅษีที่ดุร้าย ถ้าผู้ใดทำอะไรให้ไม่เป็นที่พอใจ เขาผู้นั้นก็มักจะถูกฤๅษีตนนี้สาปเอาได้ง่าย ๆ จึงทรงยอมรับการถวายพวงมาลัยไว้ แล้วนำไปวางไว้บนตะพองช้าง พลันช้างทรงนั้นก็เกิดอาการประหลาดคลุ้มคลั่งขึ้น เอางวงยกขึ้นจับพวงมาลัยนั้นทิ้งลงพื้นแล้วกระทืบ จนพวงมาลัยนั้นแหลกเละไปต่อหน้าต่อตา ฤๅษีทุรวาสเห็นเช่นนั้นก็เกิดบันดาลโทสะ หาว่าพระอินทร์นั้นทรงดูหมิ่นไม่ให้เกียรติตน จึงถึงกับเอ่ยปากสาปพระอินทร์ว่า ให้พระอินทร์และเหล่าเทวดาผู้เป็นบริวารนั้นเสื่อมฤทธิ์ลง แม้ต้องรณรงค์กับอสูรครั้งใดก็ขอให้พ่ายแพ้ตลอด.

 
         เมื่อข่าวเรื่องพระอินทร์ ถูกมหาฤๅษีทุรวาสสาปล่วงรู้ไปถึงฝ่ายพวกแทตย์และอสูร พวกเหล่านี้ก็ไม่รอช้า รีบรวบรวมทัพบุกขึ้นโจมตียึดสวรรค์มาครอบครองในทันที โดยมีสุรินทร์ราหูเป็นแม่ทัพหัวหอกคนสำคัญ รบกันได้ไม่นานด้วยพวกเทวดาต่างต้องคำสาปจึงพ่ายแพ้แก่เหล่าอสูรโดยง่าย บ้างก็ต้องเผ่นหนีแปลงร่างเป็นสัตว์ไปหลบซ่อน บ้างก็ถูกจับเป็นเชลยมาใช้งาน บ้างก็ถูกสังหาร.

        พระอินทร์และเหล่าเทวดาที่หนีรอดมาได้จึงรีบตรงไปยังไวกูณฐ์โลก4 เพื่อขอความช่วยเหลือจากพระนารายณ์ ด้วยเมตตาของพระนารายณ์ จึงออกอุบายว่าจะช่วยล้างคำสาปของมหาฤๅษีทุรวาสให้ โดยจะทำพิธีกวนน้ำอมฤตเพื่อเพิ่มพลังของเหล่าเทวดาให้กลับคืนมา อีกทั้งยังจะทำให้เหล่าเทวดานั้น เมื่อดื่มกินน้ำอมฤตแล้ว จะมีความเป็นอมตะอีกด้วย. แต่ต้องให้เหล่าเทวดานั้นแสร้งทำเป็นอ่อนน้อมถ่อมตนยอมรับว่าต้อยต่ำกว่าพวกเหล่าอสูรก่อน แล้วให้ชักชวนพวกอสูรมาร่วมกวนน้ำอมฤตกัน เพื่อความเป็นอมตะของทั้งสองฝ่าย โดยให้พักเรื่องสงครามกันไว้ชั่วคราวก่อน ให้หันมาปรองดองชั่วขณะ แล้วช่วยกันรีบออกจัดหาสมุนไพรโอสถมาเพื่อใช้ในการทำน้ำอมฤตกันโดยเร็ว.

        เหล่าพวกอสูรก็หลงกลด้วยอยากมีความเป็นอมตะเช่นกัน และมองว่าตนนั้นก็เป็นต่อเหล่าเทวดาอยู่ แม้กวนน้ำอมฤตเสร็จพวกตนนั้นก็จะต้องได้ดื่มกินน้ำอมฤตในจำนวนมากก่อน เศษที่เหลือเพียงน้อยนิดค่อยแบ่งให้เหล่าเทวดาได้ดื่มกินทีหลัง. เมื่อมองเห็นดังนั้นจึงยินยอมตกลงที่จะร่วมกวนน้ำอมฤตกับเหล่าเทวดา แล้วต่างฝ่ายต่างออกระดมเก็บสมุนไพรโอสถที่จะนำมาใช้กวนน้ำอมฤตในทันที ครั้นได้ฤกษ์กวนน้ำอมฤต ณ กลางเกษียรสมุทร มหาเทพทั้งสาม อันได้แก่ พระพรหม พระนารายณ์ และพระศิวะ ได้มาปรากฎองค์เป็นประธานในพิธี ฝ่ายเหล่าเทวดาและอสูร ต่างก็ทยอยขนเอาสมุนไพรโอสถที่จัดหามาทั้งหมด เทลงในเกษียรสมุทรในทันที อันเกษียรสมุทรนี้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจักรวาล มีน้ำสีขาว กล่าวคือ เกษียรแปลว่าน้ำนมที่ไหลเต็มอยู่ตลอดปี.

        จากนั้นพระนารายณ์จึงมีเทวบัญชาให้เหล่าเทวดา และอสูรไปถอนเอาภูเขา "มันทระ (Mandara)" ซึ่งมีความสูงพ้นพื้นดิน 11,000 โยชน์ และหยั่งฐานรากอยู่ใต้ดินอีก 11,000 โยชน์ มาปักกลางเกษียรสมุทร เพื่อใช้เป็นไม้กวน แล้วทรงมีเทวบัญชาให้ "พญานาควาสุกรี" ผู้เป็นพี่ของพญาเศษะ (พญาอนันตนาคราชหรือพญานาคพันเศียรที่เป็นแท่นบรรทมของพระนารายณ์ เวลาประทับอยู่เหนือเกษียรสมุทรหรือนารายณ์บรรทมสินธุ์) มาพันวนรอบภูเขานี้ เพื่อใช้เป็นดั่งเชือกปั่นให้แกนภูเขาหมุนกวนตัวยาสมุนไพรและน้ำในเกษียรสมุทรให้เข้ากัน. แล้วออกอุบายว่า ให้เทวดาฉุดด้านหางและอสูรฉุดด้านหัว เพราะด้านหัวของพญานาคต้องใช้กำลังมากจึงต้องอาศัยผู้มีฤทธิ์เดช.

        เวลานั้นพวกอสูรก็ทะนงตัวว่ามีอานุภาพเกรงไกร ฝ่ายเทวดาเองก็ทำตามอุบายของพระนารายณ์ที่โอนอ่อนตามพวกอสูร จึงหลงกลพากันไปฉุดทางหัว ซึ่งลำบากกว่า เพราะการกวนใช้เวลานานมาก พญานาคต้องเหนื่อยล้าเพราะถูกฉุดอยู่ตลอดเวลา เมื่อทนไม่ไหว ก็จะคายพิษออกมาทีหนึ่ง ไปถูกอสูรตายไปเป็นจำนวนมาก บ้างก็ปวดแสบปวดร้อน จึงเป็นเหตุให้เหล่าอสูรมีหน้าตาผิวพรรณตะปุ่มตะป่ำ นับแต่นั้นเป็นต้นมา.

 

        เวลานั้นเอง เขามันทระที่เป็นไม้กวน ถูกใช้กดลงแรงเกินไป ซึ่งอาจทำให้พื้นทะลุลงไปยังโลกมนุษย์ พระนารายณ์จึงแบ่งอวตารมาเป็นเต่า ใช้กระดองของตนรองรับแรงกระแทกของเขามัทระ มิให้ทะลุและทำให้โลกแตกได้ ปางนี้มีชื่อว่า กูรมาวตาร (Kurma Avatara) ในระหว่างการกวนน้ำอมฤต มีอสูรปลาตนหนึ่ง คิดร้ายหวังจะทำลายโลก จึงคอยตอดทำลายเขาให้พังลงมา พระนารายณ์ในร่างเต่าจึงเข้าสังหารอสูรปลามิให้มาขวางการกวนน้ำอมฤต.

        ในระหว่างการกวนน้ำอมฤต ซึ่งใช้เวลานานมาก ได้เกิดของวิเศษ 14 อย่างผุดขึ้นมาคือ:

        1.   พิษ "หะลาหละ" (Halahal) ลอยออกมาเป็นลำดับแรก อัน "หะลาหละ" นี้นั้น เป็นพิษร้ายแรง หากตกลงยังมนุษยโลก ก็จะบังเกิดเป็นเพลิงกรดเผาโลกให้เป็นจุลไปได้ พระศิวะมหาเทพ ทรงทราบด้วยทิพยญาณว่าพิษร้ายนี้ ไม่มีใครจะกำจัดลงได้ เว้นแต่พระองค์เอง เมื่อดำริดังนั้นแล้ว จึงทรงดื่มพิษ "หะลาหละ" นั้น ฝ่ายพระแม่ปรวาตี เห็นพระสวามีกลืนพิษร้าย จึงได้กดพระศอพระศิวะไว้ เพื่อไม่ให้พิษไหลลงสู่พระอุทรได้

 

 
             ด้วยความร้ายกาจแห่งพิษนั้น ยังมีผลให้พระศอพระศิวะเป็นสีดำ พระองค์จึงมีอีกพระนามหนึ่งว่า นิลกัณฐ์ (Neelakanta) หรือผู้มีคอสีนิล นับแต่นั้นเป็นต้นมา และสีดำได้กลายเป็นสีของความรักอันบริสุทธิ์ของชาวฮินดู.

        2.   พระจันทร์ (Chandra) ซึ่งพระศิวะได้ฉวยเอามาทำเป็นปิ่นประดับพระเกศา โดยทั้งฝ่ายเทวดา และอสูรต่างพร้อมใจกันถวายให้พระองค์ เพื่อตอบแทนที่พระองค์นั้นทรงเสียสละดื่มกินพิษหะลาหละ ให้จนหมด.

        3.   เพชรเกาสุภตะ (Kaustubh) ซึ่งเปนเพชรล้ำค่าในสามโลก ต่อมาพระนารายณ์ได้นำไปประดับพระอุระ.

        4.   ดอกบัวที่ภายในมีพระศรีลักษมี (Lakshmi) ประทับอยู่ เมื่อเสด็จออกมาจากดอกบัวก็ตรงไปเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นพระมเหสีของพระนารายณ์ในทันที.

        5.   วารุณี (Varuni) เทพีแห่งสุรา ต่อมาได้เป็นชายาของพระพิรุณ.

        6.   ช้างไอราวัต (Airavata) หรือช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นช้างเผือกสามเศียรอันเป็นเทพพาหนะของพระอินทร์.

        7.   ม้าอุจฉัยศรพ (Uchchaihshravas) ม้าเจ็ดเศียร พระอาทิตย์รับไปเป็นม้าทรงราชรถ และเป็นต้นเหตุของการพนันระหว่างนางวินตาและนางกัทรุในตำนานการเกิดของครุฑ.

        8.   ต้นปาริชาติ (Parijat) เป็นต้นไม้ทิพย์ สามารถอำนวยความสำเร็จให้แก่ผู้ขอพรได้.

        9.   กามเธนุ (Kamadhenu) แปลว่าแม่โคอันพึงปรารถนา รู้จักกันอีกในนามหนึ่งว่า "โคสุรภี" (Surabhi) ซึ่งต่อมาให้กำเนิดวัวอุสุภราชหรือนันทิเกศวร (Nandi) อันเป็นเทพพาหนะทรงของพระอิศวร โดยมีเทวดานามเวตาลเป็นพ่อ (บางตำนานว่ากัศยปมุนี ปรารถนาจะนำโคกามเธนุไปเป็นพาหนะ แต่ติดว่าเป็นโคเพศเมีย จึงเนรมิตตนเป็นพ่อโคเข้าผสมด้วยโคกามเธนุจนเกิดลูกโคสีขาวบริสุทธิ์ ตั้งชื่อให้ว่า อุศุภราช มีลักษณะงดงามตามตำราจึงได้นำไปถวายพระอิศวร เพื่อเป็นเทพพาหนะบางตำรากล่าวว่านนทิเกศวรแท้จริงแล้วคือเทพบุตรนามว่า นนทิ เป็นผู้เฝ้าสัตว์ในเขาไกรลาสและหัวหน้าแห่งปวงศิวะสาวก เมื่อพระศิวะปรารถนาจะไปยังที่ใด นนทิก็จะแปลงกายให้เป็นโคเผือก เพื่อเป็นเทพพาหนะ) อันแม่วัวกามเธนุนั้น เป็นโควิเศษ สามารถเนรมิตสิ่งต่าง ๆ ตามที่เจ้าของปรารถนาได้.

       10.   หริธนู.

       11.   สังข์ (Shankha)

       12.   ปวงเทพีอัปสรสวรรค์ เหล่านางอัปสร (Apsara) หลายล้านตน แต่ไม่มีใครยอมรับเอาไปครอบครอง จึงตกเป็นสมบัติส่วนกลาง มีหน้าที่คอยบำรุงบำเรอความสุขให้แก่เหล่าเทวดาและอสูรในเวลาต่อมา.

       13.   ธันวันตรี (Dhanvantari) แพทย์สวรรค์อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ ทูน (วางของไว้บนศีรษะ) เอาของชิ้นที่ 14 ขึ้นมา คือ...

       14.   หม้อน้ำทิพย์อมฤต (Amrita)

         พอหม้อน้ำอมฤตได้รับการทูนออกมา พวกอสูรและเทวดาก็แย่งกัน แต่เทวดาสู้ไม่ได้ พระนารายณ์จึงแปลงกายเป็นนางอัปสรชื่อ "โมหิณี (Mohini)" ไปล่อลวงอสูรให้หลงใหลในความงามของนาง พระอินทร์ได้โอกาสก็แอบขโมยน้ำอมฤตกลับมาแบ่งในหมู่เทวดา มีเพียงอสูรตนหนึ่ง ซึ่งมีปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าอสูรตนอื่นนามว่า "ราหู (Rahu)" ที่ไม่หลงกล ได้แปลงกายเป็นเทวดามาดื่มด้วย แต่พระอาทิตย์กับพระจันทร์รู้เข้าจึงไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ขว้างจักรสุทรรศน์ไปตัดอสูรราหูขาดออกเป็นสองท่อน ท่อนบนคืออสูรราหูที่รับรู้ในปัจจุบัน ส่วนท่อนล่างเป็นงู ต่อมาเรียกกันว่า "พระเกตุ (Ketu)".

        แม้จะถูกจักรพระวิษณุตัด แต่ราหูไม่ตายเพราะได้ดื่มน้ำอมฤตแล้ว ทั้งราหูก็โกรธแค้นพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก กาลต่อมาราหูจึงเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์และพระจันทร์ เมื่อพบเจอที่ใดจะจับกินทุกครั้ง แต่ก็จะกลืนพระอาทิตย์และพระจันทร์ไว้ได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง ก็จะหลุดออกมา เพราะตัวของราหูมีเพียงท่อนบน เป็นที่มาของปรากฎการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคานั่นเอง.

        ฝ่ายอสูรกว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอก เหล่าเทวดาก็ดื่มน้ำอมฤตกันหมดแล้ว และได้ยกพลขับไล่พวกอสูรออกไป พระนารายณ์ประทานหม้อน้ำอมฤตให้พระอินทร์เก็บรักษา เป็นของหวงห้ามของสวรรค์ ฝ่ายพวกนาค พวกงูที่หวังจะมีส่วนร่วมบ้างก็พลอยอดไปด้วย แต่ก็มาเลียกินหญ้าคา ซึ่งรองรับหม้อน้ำที่ยังพอมีน้ำอมฤตหลงเหลือบ้าง หญ้าคาบาดลิ้น ทำให้ลิ้นแตกเป็นสองแฉกนับแต่นั้นมา.

        หมู่ยักษ์ เมื่อได้พบบทเรียนเช่นนี้แล้ว จึงปวารณาตนไม่ดื่มเครื่องดองของเมาอีก จึงเป็นที่มาของคำว่า "อสูร" (อ + สูร) หมายถึงผู้ไม่ดื่มสุรา ต่างกับเหล่าเทวะที่ยังดื่มสุรา ดังเช่นคำเรียกที่อยู่ของเทวดาที่ว่า "ฟากฟ้าสุราลัย" (สุระ คือ เหล้า สนธิกับคำว่า อาลัย ซึ่งแปลว่าที่อยู่) หมายถึง ที่อยู่ของผู้ดื่มสุรา คือ "สวรรค์" นั่นเอง.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01.   จาก. www.facebook.com/AsianStudiesTH/posts/916620735079509:0, วันที่สืบค้น 09 พฤศจิกายน 2558.
02.   จาก. icenattapachara.blogspot.com, วันที่สืบค้น 09 พฤศจิกายน 2558.
03.   แทตย์ ไทตยะ (Daitya) หมายถึง ยักษ์ อสูรจำพวกหนึ่ง ผี เป็นอสูรที่สืบเชื้อสายมาจากพระกัศยปกับนางทิติ ไทตยะนั้นเป็นอสูรที่มีร่างกายใหญ่โต เหมือนพวกยักษ์ไตตันของชาวกรีกโบราณ หน้าตาก็เหมือนพวกเทวดา รวมทั้งมีฤทธิ์เดชพอ ๆ กับเทวดา.
04.   ไวกูณฐ์ หมายถึง ที่ประทับของพระนารายณ์
info@huexonline.com