MENU
TH EN

คัมภีร์ปุราณะ 1

Title Thumbnail & Hero Image: วราห์ปกป้องโลก, ที่มา: pinterest.com (ช่วงเวลาที่วาด: ราว พ.ศ.2342 ในแถบรัฐหิมาจัลประเทศ Court: Guler School: Pahari Media & Support: สีน้ำมัว (Opaque watercolor) แสดงลงรักติดทอง ขนาด 6 27/32 นิ้ว. x 7 29/32 นิ้ว. (17.4 ซม. x 20.1 ซม.) เครดิต: การสะสมของ เอดวิน บินนีย์ที่ 3  Accession Number: 1990.1243 Collection: พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมืองซานดิอาโก้ สหรัฐอเมริกา), วันที่เข้าถึง: 29 กุมภาพันธ์ 2567.
 
คัมภีร์ปุราณะ 101, 02, 03.
First revision: Feb.29, 2024
Last change: Jul.7, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
หน้าที่ 1
       ปุราณะ (पुराण - purāṇa, เก่าแก่, โบราณ, สำเร็จสมบูรณ์, รังสรรค์พระเวทให้สมบูรณ์ - ancient, old, complete, completing, completes the Vedas) หมายความถึงวรรณคดีอินเดียที่ครอบคลุมเนื้อหาจำนวนมาก โดยเฉพาะตำนานต่าง ๆ และตำนานพื้นถิ่นอื่น ๆ คัมภีร์ปุราณะในแต่ละเรื่องนั้นว่ามีความซับซ้อนเชิงสัญลักษณ์ในหลากหลาย คัมภีร์ปุราณะเขียนด้วยภาษาสันสกฤตเป็นส่วนใหญ่ ตามมาด้วยภาษาทมิฬ และภาษาท้องถิ่นอินเดียอื่น ๆ ซึ่งบทประพันธ์เหล่านี้มักจะได้รับการตั้งชื่อตามเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่สำคัญ ๆ เช่น พระวิษณุ พระศิวะ พระพรหม และศักติ วรรณกรรมประเภทปุราณะนั้นไม่ได้มีเพียงเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเท่านั้น หากแต่ปรากฏมีในศาสนาเชน เช่นเดียวกัน.

ประเภทของคัมภีร์ปุราณะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

1.     มหาปุราณะ
       คัมภีร์มหาปุราณะประกอบด้วย 18 ฉบับ01. แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ฉบับ ได้แก่
 
   ที่ ปุราณะ  จำนวนโศลก เนื้อหาคร่าว ๆ
    1  อคฺนิ ปุราณะ
(अग्नि पुराण - Agni Purāṇa)
 15,400  ประกอบด้วยข้อมูลเชิงสารานุกรม เป็นภาษาสันสกฤต ตัวอักษรเทวนาครี ได้แก่ ภูมิศาสตร์และคู่มือการเดินทางไปของเมืองมิถิลา (พิหาร และรัฐต่าง ๆ โดยรอบ) จักรวาลวิทยา, ตำนาน, ลำดับวงศ์ตระกูล, ประวัติวัฒนธรรม, รัฐศาสตร์, ระบบการศึกษา, ประติมานวิทยา, ทฤษฎีการจัดเก็บภาษี, กลาโหม, ตำราพิชัยสงคราม, การทูต, กฎหมายท้องถิ่น, การสร้างสาธารณูปโภค, การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ, พฤกษศาสตร์, การแพทย์, วัสดุศาสตร์เชิงสถาปัตยกรรม, อัญมณีศาสตร์, ไวยากรณ์, ฉันทลักษณ์, กวีนิพนธ์, อาหาร, พิธีกรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย.
   2   ภาควตะ ปุราณะ
 (भागवतपुराण - Bhāgavata Purāṇa)
 18,000  บ้างก็เรียก ศรีมัด ภาควตัม (Śrīmad Bhāgavatam) หรือ ศรีมัด ภาควตะ มหาปุราณะ (Śrīmad Bhāgavata Mahāpurāṇa) (ภาควตะ แปลว่า สาวก ผู้นับถือบูชาพระวิษณุ) ถือว่าเป็นปุราณะที่สำคัญและได้รับการศึกษาค้นคว้าวิจัยมาก เป็นปุราณะที่เล่าถึงการอวตารของพระวิษณุ และไวษณพนิกาย ผสมผสานแนวคิดจากปรัชญาอไทวตะ เวทานตะของ อาทิ ศังกราจารย์ และวิศิษฏาไทวตะ เวทานตะของรามานูชาจารย์ และไทวตะ เวทานตะของมาธวจารย์ (ดูเพิ่มเติมใน ค.บทนำ: ภควัทคีตา) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับวงศาสาแหรกของราชวงศ์ต่าง ๆ ที่ยังเป็นข้อถกเถียง เพราะมีความไม่สอดคล้องกับหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบ ปรากฏว่ามีหลากหลายฉบับและหลากหลายภาษา และถือว่าเป็นปุราณะที่ส่งอิทธิพลต่อกระบวนการผู้ยึดมั่นในภักติ (Bhakti Movement).
     พฺรหฺม ปุราณะ
(ब्रह्म पुराण - Brahma Purāṇa)
 10,000  ด้วยมีเอกสารหลายแหล่งระบุว่าเป็นมหาปุราณะฉบับแรก จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า อธิ ปุราณะ หรือ อาทิ ปุราณะ (Adi Purāṇa) นอกจากนี้บ้างหลักฐานระบุเรียกว่า เซาราปุราณะ (Saura Purāṇa) เนื่องจากมีหลายบทเกี่ยวข้องกับสุริยเทพ. พฺรหฺม ปุราณะ ประกอบด้วย 245 บท อีกทั้งยังสามารถเจอโศลกที่อยู่ในพฺรหฺม ปุราณะ ในปุราณะฉบับอื่น ๆ เช่น วิษฺณุ ปุราณะ วายุ ปุราณะ มารกณฺเฑยะ ปุราณะ และ มหาภารตะ เนื้อหาที่ปรากฏในพฺรหฺม ปุราณะ ได้แก่ เทพปกรณัม, พิชัยสงคราม งานศิลปะที่พบในวิหารต่าง ๆ วัฒนธรรมทั่วไป สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในแคว้นโอดิสสา และแถบแม่น้ำโคดาวารี การถอผ้าโดยนำแนวความคิดมาจากพระวิษณุและพระศิวะ แต่ไม่ค่อยปรากฏการเอ่ยถึงพระพรหมในปุราณะนี้. มีการบรรยายถึงเจ็ดทวีป (สัปตะ-ทวิปะ - Sapta-Dvipa) และอนุทวีปของโลก
   4  พฺรหฺมาณฺฑ ปุราณะ
 (ब्रह्माण्ड पुराण - Brahmāṇḍa-purāṇa)
 12,000  ถือว่าเป็นหนึ่งในคัมภีร์ปุราณะที่เก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่ง ประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับจักรวาลวิทยา ลำดับวงศ์ตระกูล จริยธรรม ภูมิศาสตร์ และโยคะ นอกจากยังได้สำเนาอัธยาทมะ รามายณะ (अध्यात्म रामायण - รามายณะทางจิตวิญญาณ - Adhyātma Rāmāyaṇa) รายละเอียดดูในหมายเหตุ การขยายความ หน้าที่ 3 ของ A01. บทนำ - รามายณะ. และ ลาลิตาสหัสรนามะ (ललितासहस्रनाम - Lalitāsahasranāma) ซึ่งเรียงรายชื่อมารดาเทพฮินดูร่วมพันกว่ารายชื่อ.
   5  พฺรหฺมไววรฺต ปุราณะ
 (ब्रह्मवैवर्त पुराण - Brahmavaivarta Purāṇa)
 18,000

ภาพวาดพระกฤษณะกับนางรธา, วาดเมื่อราว พ.ศ.2318 (ค.ศ.1775), สีน้ำ สีน้ำทึบแสง สีทอง และหมึกบนกระดาษ, พบที่ รัฐราชสถาน ชัยปุระ ภารตะ, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 3 กรกฎาคม 2567.
 ในพฺรหฺมไววรฺต ปุราณะ จะเน้นไปที่เรื่องราวของพระกฤษณะและนางรธา อีกทั้งบรรยายสภาพภูมิศาสตร์และแม่น้ำต่าง ๆ เช่น แม่น้ำคงคา และคาเวรี เป็นต้น.
   6  ครุฑะ ปุราณะ
(गरुड पुराण - Garuḍa Purāṇa)
 19,000  รวบรวมเนื้อหาเชิงสารานุกรมที่มีหัวข้อหลากหลาย แต่ข้อมูลหลักได้แก่ พระวิษณุและเทพเจ้าทั้งหลาย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม และบทสนทนาระหว่างครุฑกับพระวิษณุที่ปรากฏอยู่ในหลายบท นอกจากนั้นยังประกอบด้วยเนื้อหาด้านจักรวาลวิทยา และความสัมพันธ์ระหว่างจักรวาลและเทพเจ้า  จริยศาสตร์, ปรัชญาพราหมณ์-ฮินดูสำนักต่าง ๆ ทฤษฎีโยคะ, ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างสวรรค์และนรก กรรมและการกำเนิดใหม่ การถกเถียงทางปรัชญาในประเด็นความรู้ที่รู้แจ้งด้วยตนเอง อันเป็นวิถีแห่งการบรรลุโมกษะ, รวมถึงภูมิศาสตร์และแม่น้ำต่าง ๆ ในดินแดนภารตะ และประเทศต่าง ๆ ประเภทของหินและอัญมณี การตรวจสอบอัญมณี โรคภัยต่าง ๆ และอาการ สมุนไพรต่าง ๆ  ยากระตุ้นอารมณ์ทางเพศ การป้องกันโรคต่าง ๆ ปฏิทินตามคติพราหมณ์-ฮินดู และพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรม พิธีกรรม คุณธรรมต่าง ๆ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ วรรณคดี ไวยากรณ์ เป็นต้น. ในบทหลัง ๆ ของครุฑะ ปุราณะ จะเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักโยคะ ทั้งสางขยะและอไทวตะ การพัฒนาตนเอง และประโยชน์ของการรู้แจ้งด้วยตนเอง.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. หลังจากที่มหาฤๅษีกฤษณะ ทไวปายนะใช้เวลาร่วมสามปีในการประพันธ์มหาภารตยุทธ ราว 90,000 โศลก ท่านไม่ได้พักแต่ก็ได้เรียบเรียง (composed) 18 มหาปุราณะต่อ ร่วม 400,000 โศลก. อ้างถึง หน้าที่ xx ของ 01.

 
หน้าที่ 2
   ที่ ปุราณะ  จำนวนโศลก เนื้อหาคร่าว ๆ
   7  กูรฺม ปุราณะ
 (कूर्म पुराण - Kūrma Purāṇa)
 17,000  เนื้อหาประกอบด้วยตำนานความสัมพันธ์กันระหว่างพระวิษณุและพระศิวะ ปกรณัมปรัมปรา การจาริกแสวงบุญ และเทววิทยา.
   8  ลิงฺค ปุราณะ
 (लिंग पुराण - Linga Purāṇa)
 11,000  เนื้อหาประกอบด้วยจักรวาลวิทยา ปกรณัม ตำนาน ฤดูกาล เทศกาล ภูมิศาสตร์ ข้อแนะนำในการเดินทางจาริกแสวงบุญ คู่มือการออกแบบลิงฺค์ และโคนนทิ คำอธิบายเกี่ยวกับโยคะ และประโยชน์ต่าง ๆ .
   9  มารกณฺเฑยะ ปุราณะ
(मार्कण्डेय पुराण - Mārkaṇḍeya Purāṇa)
 9,000  มารกณฺเฑยะ หมายถึงปราชญ์ในตำนานพราหมณ์-ฮินดู เกี่ยวโยงกับสองคัมภีร์ เล่มแรกเชื่อมโยงกับพระศิวะ เล่มที่สองเกี่ยวกับพระวิษณุ ซึ่งเนื้อหาขาดการนำเสนอแนวคิดแบบแบ่งแยกนิกายเพื่อสนับสนุนเทพองค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ มีการบรรยายลักษณะของเทือกเขาวินธัยและดินแดนทางภาคตะวันตกของอินเดีย สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในหุบเขานรรมทาและแม่น้ำตาปที ในแคว้นมหาราษฏระและคุชราต มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ มหาภารตะ และเทวีมหาตมยา (Devi Mahatmyam Shaktism).
   10  มสฺย ปุราณะ
 (मत्स्य पुराण - Matsya Purāṇa)
 14,000  เป็นปุราณะของไวษณพนิกาย โดยเฉพาะมัสยอวตาร (ครึ่งคนครึ่งปลา) อวตารแรกของพระวิษณุ, เรื่องราวเกี่ยวกับพระพรหมและพระสรัสวตี และวงศาสาแหรกของกษัตริย์ต่าง ๆ สันนิษฐานว่าถูกเขียนขึ้นทางภาคตะวันตกของอินเดีย เนื้อหามีลักษณะเป็นสารานุกรมที่รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ อาทิ เทพปกรณัม คำแนะนำสำหรับการสร้างงานศิลปะ เช่น ภาพวาดและประติมากรรม ลักษณะและแนวทางการออกแบบสำหรับวัด วัตถุ และสถาปัตยกรรมบ้าน (วัสดุศาสตร์) โยคะประเภทต่าง ๆ หน้าที่และจริยธรรม (ธรรม) มีหลายบทเกี่ยวกับคุณค่าของทาน (การกุศล) ทั้งเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับพระศิวะและพระวิษณุ ภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำนรรมทา (Narmada river) การแสวงบุญ หน้าที่ของกษัตริย์และรัฐที่ดี และหัวข้ออื่น ๆ .
   11  นารท ปุราณะ
 (नारद पुराण - Nārada Purāṇa)
 25,000  นารท ปุราณะ หรือ นารทิยา ปุราณะ (नारदीय पुराण - Naradīya Purāṇa) จะมีเนื้อหาข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระเวททั้ง 4 (the four Vedas) และเวทางคะทั้ง 6 (The Six Vedangas) รวมทั้งข้อถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญาต่าง ๆ การหลุดพ้น ดาราศาสตร์ ตำนานต่าง ๆ และคุณลักษณะของเทพต่าง ๆ นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะแม่น้ำคงคา อันเป็นแม่น้ำสายสำคัญของอินเดีย สถานที่จาริกแสวงบุญ และข้อมูลนำเที่ยวในแต่ละสถานที่.
   12   ปทฺม ปุราณะ
 (पद्म-पुराण - Padma Purāṇa)
 55,000  ถือว่าเป็นปุราณะขนาดใหญ่ประกอบด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย (ชื่อปทฺม ก็มาจากปทุม หรือดอกบัว ซึ่งพระพรหมพระผู้สร้างปรากฎกายขึ้นในดอกบัว) อาทิ จักรวาลวิทยา โลกและธรรมชาติของชีวิตในมุมมองของพระวิษณุ เทศกาลและตำนานต่าง ๆ สภาพภูมิศาสตร์และแม่น้ำต่าง ๆ และพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย จนถึงอาณาจักรตรีปุระ ที่ตั้งอยู่ในเขตเบงกอล มหาฤษีต่าง ๆ อวตารของพระวิษณุ และบทบาทของพระศิวะ เรื่องราวของพระรามและนางสีดาที่ไม่เหมือนในคัมภีร์อิติหาสะ ปทฺม ปุราณะ จะมีความแตกต่างกันแบ่งเป็นฉบับอินเดียใต้ และ อินเดียเหนือ รวมทั้งภาษาที่ใช้ ทำให้เนื้อหาใน 2 ฉบับนี้มีความแตกต่างและไม่ตรงกัน.
   13  ศิวะ ปุราณะ
 (शिव पुराण - Śiva Purāṇa)
 24,000

องค์ภควาน พระศิวะ, 25 พฤษภาคม 2567.
 ประกอบด้วยเรื่องราวของพระศิวะ และพระนางปารวตีเป็นหลัก. นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับโยคะ สถานที่จาริกแสวงบุญ ภูมิศาสตร์ พระแม่อุมา คัมภีร์พระเวท และอื่น ๆ .
   14  สกันทะ ปุราณะ
 (स्कन्द पुराण - Skanda Purāṇa)
 81,000  เล่าเรื่องการกำเนิดพระขันธกุมาร (บ้างก็เรียก พระขันทกุมาร), พระมุรุกัน (Tamil: முருகன் - Murugan), พระการติเกยะ (कार्तिकेय - Kārtikeya) หรือ พระสกันทกุมาร (स्कंदकुमार - Skanda) เป็นบุตรของพระศิวะกับพระแม่ปารวตี เป็นพระเชษฐาของพระคเณศ เป็นเทพเจ้าแห่งการสงคราม เป็นเทพเจ้าแห่งชาวทมิฬทั้งปวง เป็นปุราณะของไศวนิกาย ถือว่าเป็นปุราณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งรวมรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้อแนะนำการจาริกแสวงบุญในสถานที่ต่าง ๆ (Tirtha Mahatmya - คู่มือการนำแสวงบุญในภารตะ เนปาล และทิเบต อุปมา เพลงสวด) ข้อมูลเชิงตำนาน ภูมิศาสตร์ของแต่ละสถานที่จาริกแสวงบุญต่าง ๆ นิยายเปรียบเทียบ บทสวดต่าง ๆ จักรวาลวิทยา เทพปกรณัม ลำดับวงศ์ตระกูล คุณธรรมและความชั่ว เทศกาล อัญมณีวิทยา วัด โบสถ์ วิหาร ต่าง ๆ ธรรมชาติ และคุณสมบัติของพระศิวะในฐานะองค์สัมบูรณ์และแหล่งความรู้ที่แท้จริง เป็นต้น.
   15  วามนะ ปุราณะ
 (वामन पुराण - Vāmana Purāṇa)
 10,000  ชื่อปุราณะนี้อาจจะตั้งตามชื่อ วามนวตาร อันเป็นอวตารของพระวิษณุองค์ที่ 5 ในไวษณพนิกายก็ตาม แต่เนื้อหาในวามนะ ปุราณะกลับมีศูนย์กลางอยู่ที่พระศิวะมากกว่า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอินเดียทางภาคเหนือ โดยเฉพาะอาณาเขตเชิงเขาหิมาลัย ส่วนใหญ่เนื้อหาจะเป็นการนำจาริกแสวงบุญตามที่ต่าง ๆ (Mahatmya - มหาตมยา).
   16  วราหะ ปุราณะ
 (वराह पुराण - Varāha Purāṇa)
 24,000  เรื่องราวหลักในปุราณะนี้จะเกี่ยวกับการปฏิบัติบูชาพระวิษณุ รวมทั้งอวตารของพระวิษณุในรูปแบบของวราหะ และภาพประกอบเกี่ยวกับพระศิวะและพระแม่ทุรคา นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการท่องเที่ยวการจาริกแสวงบุญ (Mahatmya - มหาตมยา) จากเมืองมธุราไปยังเนปาลที่จำนวนบทขนาดใหญ่.
  17  วายุ ปุราณะ
 (वायु पुराण -
Vāyu Purāṇa)01.
24,000  แต่เดิมจะบรรยายโดยพระพรหม หรือ ปาศุปตะโยคะ (Pāśupata Yoga) ต้นกำเนิดของศิวะลึงก์ มีการยกย่องนีลกัณฏ์ (नीलकण्ठ - Nīlakaṇṭh - หนึ่งในสิบเอ็ดฉายาของพระรุทร หรือพระศิวะ) เป็นปุราณะที่ควรศึกษายิ่ง กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของพระอิศวร หรือ พระมเหศวร (Maheśvara)
   18  วิษฺณุ ปุราณะ
 (विष्णु पुराण - Viṣṇu Purāṇa)
 23,000  เป็นปุราณะที่ถือว่ามีผู้ศึกษามากที่สุดฉบับหนึ่ง เนื้อหา ฉบับที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดคือฉบับในพุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือ คริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งมีความแตกต่างจากเนื้อหาในฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะบทที่กล่าวถึงข้อถกเถียงในพุทธศาสนาและศาสนาเชน และบางบทก็กล่าวถึงดินแดนแคชเมียร์และปัญจาบ วิษณุ ปุราณะถูกเก็บรักษาอย่างดีหลังจากพุทธศตวรรษที่ 11-12 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ก็มีความไม่สอดคล้องกันส่วนของเนื้อหาเนื้อหาเรื่องเล่าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ไวษณพนิกาย และข้อมูลวงศาสาแหรกของกษัตริย์ที่ยังเป็นข้อถกเถียง.

ในส่วนของหริวงศ์ (हरिवंश - Harivamsha or Harivamśa) เหล่าปราชญ์พราหมณ์-ฮินดูได้สรุปว่า หริวงศ์ไม่ถือว่าเป็นปุราณะ แต่เป็น ขิละ (Khila Kāṇda - ภาคผนวก หรือส่วนเสริม) ในมหากาพย์มหาภารตยุทธ รายละเอียดดูใน หริวงศ์: บทนำเรื่องราวของพระกฤษณะ 1.
หมายเหตุ คำอธิบาย

01. บางเอกสารกล่าวอ้างว่าเป็น ภวิษยะ ปุราณะ (भविष्य पुराण - Bhaviṣya Purāṇa) ซึ่งมี 14,500 โศลก กล่าวถึง สฤษฏิ (การสร้าง) กาลมานะ (เวลา) กรภาธานะ (ปฏิสนธิ) โคทาน (ของขวัญจากวัว) อาศรมธรรม (หน้าที่ของฤๅษี) ลิงคะ ศาสตร์ (ศาสตร์แห่งเพศ) วิษิจิตสา (การรักษาพิษ) และอายุรเวท (วิทยาศาสตร์การแพทย์) แต่ทว่าวายุ ปุราณะนั้นมีคุณลักษณะความเป็นปุราณะมากกว่า


 
หน้าที่ 3
ฤๅษีกฤษณะ ไทวปายนะ วยาส (ท่านเป็นโอรสของนางสัตยวดี กับ ฤๅษีปราศร และคลอดตรงบริเวณเกาะกลางแม่น้ำยมุนามีชื่อเต็มว่า กฤษณะ ทไวปายณะ เวทวยาส (कृष्ण द्वैपायन वेदव्यास - Kṛṣṇa Dvaipāyana Vedavyāsa) แปลว่าผู้มีผิวคล้ำ (कृष्ण - Kṛṣṇa - ดำ) เกิดบนเกาะ (द्वीप - Dvīpa - ทวีป) ต่อมาเปลี่ยนเป็น วยาส แล้วออกบวชตามบิดาอยู่ในป่าหิมาลัย ต่อมานางสัตยวดีผู้เป็นมารดาได้ให้ไปทำนิโยคกับมเหสีม่ายของวิจิตรวีรยะ น้องชายต่างบิดา จึงต้องหลับนอนกับมเหสี ทั้งสองและนางกำนัลอีก 1 คน จนมีโอรสคือท้าวธฤตราษฎร์ ท้าวปาณฑุ และท้าววิทูร ต่อมาโอรสของท้าวธฤตราษฎร์ และท้าวปาณฑุแย่งบัลลังก์กันและล้มตายจำนวนนับล้าน ท่านฤๅษีเกิดความรันทด จึงต้องการบอกเล่าเรื่องราวของลูกหลาน ที่ฆ่าฟันกันเอง จึงเชิญพระคเณศมาเขียน เป็นที่มาของมหาภารตยุทธ, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2560, ภาพ: www.mygodpictures.com, วันที่เข้าถึง 18 ธันวาคม 2565.
 
 
       การเรียบเรียงของท่านฤๅษีวยาสดังกล่าว ก็บ่งบอกได้ทันทีว่า อิติหาส01.-ปุราณะ (Itihāsa-Purāṇa) หรือคัมภีร์มหาปุราณะข้างต้นนี้ เป็นคัมภีร์สมฤติ (smṛti) ที่มีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์. ไม่ใช่คัมภีร์ศรุติ (śruti) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากพระผู้เป็นเจ้า.
---------------
หมายเหตุ คำอธิบาย

01. อิติหาส หรือ อิติหะสะ (इतिहास - Itihāsas - แปลตามศัพท์ว่า "ประวัติศาสตร์" หรือ "เรื่องราวแบบดั้งเดิมของเหตุการณ์ที่ผ่านมา" หรือ แปลว่า "จึงเกิดขึ้น-so it happened") ซึ่งมหาภารตะและรามายณะถือเป็นส่วนหนึ่งของอิติหาสนี้ สองมหากาพย์นี้ถูกมองว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัย.
 
 
หน้าที่ 4
        ในขณะเดียวกัน คัมภีร์มหาปุราณะสามารถแบ่งแยกประเภทตามเทพเจ้าต่าง ๆ เนื่องจากในคัมภีร์มหาปุราณะทั้ง 18 คัมภีร์นี้จะมีเนื้อหาที่คละกัน ได้แก่

       1.  พรหมเทพ      ปรากฏใน พฺรหฺม ปุราณะ และ ปทฺม ปุราณะ
       2.  สุริยเทพ         ปรากฏใน พฺรหฺมไววรฺต ปุราณะ
       3.  อัคนีเทพ        ปรากฏใน อคฺนิ ปุราณะ
       4.  ไศวเทพ         ปรากฏใน ศิวะ ปุราณะ, ลิงฺค ปุราณะ, สกันทะ ปุราณะ, วราหะ ปุราณะ,วามนะ ปุราณะ, กูรฺม ปุราณะ, มารกณฺเฑยะ ปุราณะ และ พฺรหฺมาณฺฑ ปุราณะ
       5.  ไวษณพเทพ    ปรากฏใน วิษฺณุ ปุราณะ, ภาควตะ ปุราณะ, นารท ปุราณะ, ครุฑะ ปุราณะ, วายุ ปุราณะ, วราหะ ปุราณะ และ มสฺย ปุราณะ เป็นต้น

       คัมภีร์มหาปุราณะที่ระบุถึงไตรคุณะ หรือ สามคุณธรรม (three qualities or Guṇa) ได้แก่ สัตตวะ หรือ สตฺตฺว (Sattva - The Quality of light or purity), รชสฺ (Rajas -  passion) และ ตมัส หรือ ตมฺส (Ramas - darkness or inertia) นั้น (ดูเพิ่มเติมในหมายเหตุ คำอธิบาย 01 หน้าที่ 36 ของ จ. บทนำ: ภควัทคีตา) สามารถพบเจอได้ในคัมภีร์มหาปุราณะได้อีก ดังนี้

       1. สัตตวะ - ปรากฏใน วิษฺณุ ปุราณะ, ภควตะ ปุราณะ, นารท ปุราณะ, ครุฑะ ปุราณะ, ปทฺม ปุราณะ และ วราหะ ปุราณะ,
       2. รชสฺ - ปรากฏใน พฺรหฺมาณฺฑ ปุราณะ, พฺรหฺมไววรฺต ปุราณะ มารกณฺเฑยะ ปุราณะ, ภวิษยะ ปุราณะ, วามนะ ปุราณะ, และ พฺรหฺม ปุราณะ เป็นต้น
       3. ตมัส - ปรากฏใน ศิวะ ปุราณะ, ลิงฺค ปุราณะ,มสฺย ปุราณะ, กูรฺม ปุราณะ, สกันทะ ปุราณะ และ อคฺนิ ปุราณะ

       คัมภีร์ปุราณะนั้น ประกอบด้วย 5 คุณลักษณะ หรือที่เรียกว่า ปัญจลักษมณะ บ้างก็เรียก ปัญจลักษณะ04 หน้าที่ 13 . (पञ्च लक्ष्मण - Pancha Lakshmana) ดังนี้

       1. สรคะ บ้างก็เรียก สรฺค (सर्ग - Sarga) - การกำเนิดการสร้างจักรวาลในเบื้องต้น (The original creation) หรือ เรื่องการสร้างโลก.
       2. ปรติสรคะ บ้างก็เรียก ปฺรติสรฺค (प्रतिसर्ग - Pratisarga) - การทำลายล้างและการสร้างครั้งที่สองหรือการฟื้นฟูโลก (The period cycles of secondary creation and destruction) หรือ การสร้างโลกขึ้นใหม่ หลังจากโลกถูกทำลายสิ้นแล้ว.
       3. วงศ์ บ้างก็เรียก วํศ (वंश - Vaṃśa or Vamsha) - ลำดับวงศ์ตระกูลของเทพเทวีและฤๅษี (The genealogies of the Gods and Ṛṣis) หรือ เรื่องวงศ์ของเทพและฤๅษีทั้งหลาย.
       4. มันวันทระ บ้างก็เรียก มนฺวนฺตร (मन्वन्तर - Manvantara) - ยุคแต่ละสมัย มีพระมนูเป็นประธาน (The eras, each presided over by a Manu) ซึ่งเป็นกัล์ป มีช่วงของเวลา ประกอบด้วย 71 ครั้งในหนึ่งจตุรยุค (चतुर्युग - Caturyuga - เป็นสี่เท่าในช่วงเวลาของกลียุค) หรือ เรื่องสมัยของพระมนุ มนุษย์คนแรกของโลก.
       5. วงศานุจริต บ้างก็เรียก วํศานุจริต (वंशानुचरित - Vamshanucharita or Vaṃśānucarita) – ปูมแสดงสาแหรกของราชวงศ์ต่าง ๆ ว่าเป็นสุริยวงศ์และ/หรือจันทรวงศ์ (The Solar and Lunar Dynasty) หรือ เรื่องประวัติสุริยวงศ์ และจันทรวงศ์ของภารตะ.

 

 
หน้าที่ 5
ยุค (युग - Yuga Cycle)
มหายุค (महायुग - Mahāyuga), วาดไว้เมื่อ 10 ตุลาคม 2566.
 
       ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าในกัปหนึ่ง ๆ  (หรือ กัล์ป - कल्प - Kalpa - ช่วงเวลาอันยาวนานของโลกจนไม่สามารถกำหนดวันเดือนปีได้ พบในความเชื่อของหลายศาสนา - หรือหนึ่งวันในโลกของพระพรหม) ซึ่งมหายุค (รวม 4,320,000 ปี) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ยุค ได้แก่ สัตยยุค หรือ กฤตยุค (सत्ययुग - Satya Yuga or कृतयुग - Kṛta Yuga) เตรตยุค (त्रेतायुग - Tretā Yuga) ทวาปรยุค (द्वापरयुग - Dvāpara Yuga) และกลียุค (कलियुग - Kali Yuga) แต่ละยุคกินเวลาต่างกัน และพระวิษณุได้อวตารลงมาในแต่ละยุคดังนี้:
 
   สัตยยุค หรือ กฤตยุค  सत्ययुग - Satya Yuga or कृतयुग - Kṛta Yuga  1,728,000 ปีมนุษย์  4,000 ปีเทพ  มี 4 อวตารของพระวิษณุ
 1. มัตสยาวตาร
 2. กูรมาวตาร
 3. วราหาวตาร
 4. นรสิงหาวตาร
   เตรตยุค บ้างก็เรียก
ไตรดายุค
 रेतायुग - Tretā Yuga  1,296,000 ปีมนุษย์  3,000 ปีเทพ  มี 3 อวตารของพระวิษณุ
 5. วามนาวตาร
 6. ปรศุรามาวตาร
 7. รามาวตาร
   ทวาปรยุค บ้างก็เรียก ทวาบรยุค  द्वापरयुग - Dvāpara Yuga  864,000 ปีมนุษย์  2,000 ปีเทพ  มีอวตารเดียวของพระวิษณุ
 8. กฤษณาวตาร
   กลียุค  कलियुग - Kali Yuga  432,000 ปีมนุษย์  1,000 ปีเทพ  มี 2 อวตารของพระวิษณุ
 9. พุทธาวตาร
 10. กัลกิยาวตาร
  รวม  4,320,000 ปีมนุษย์ ***รวมปีเทพ  

***รวมปีเทพ ทั้งหมดนั้น ไม่เท่ากับ 10,000 ปีเทพ ด้วยเพราะมันมีเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้น จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด (มียามรุ่งและพลบค่ำ) ของแต่ละยุคจะมีช่วงปีเทพเพิ่มเติมทั้งต้นและปลายยุค
       - สำหรับสัตยยุค 4,000 ปีเทพ บวกต้นยุค 400 ปีเทพ บวกปลายยุคอีก 400 ปีเทพ = 4,800 ปีเทพ.
       - สำหรับเตรตยุค 3,000 ปีเทพ บวกต้นยุค 300 ปีเทพ บวกปลายยุคอีก 300 ปีเทพ = 3,600 ปีเทพ.
       - สำหรับทวาปรยุค 2,000 ปีเทพ บวกต้นยุค 200 ปีเทพ บวกปลายยุคอีก 200 ปีเทพ = 2,400 ปีเทพ และ.
       - สำหรับกลียุค 1,000 ปีเทพ บวกต้นยุค 100 ปีเทพ บวกปลายยุคอีก 100 ปีเทพ = 1,200 ปีเทพ.

       ดังนั้นในแต่ละมหายุคหนึ่ง ๆ จะเท่ากับ 12,000 ปีเทพ หรือ 4,320,000 ปีมนุษย์


       ซึ่งหนึ่งพันมหายุค จะเท่ากับ หนึ่งกัล์ป ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งวันของพระพรหม. ในแต่ละกัล์ปจะแบ่งออกเป็น 14 มันวันตระ01. ซึ่งในแต่ละมันวันตระนั้น เป็นช่วงเวลาที่พระมนู02. เป็นประธานและควบคุมการสร้าง.
---------------
หมายเหตุ คำอธิบาย

01. มันวันตระ (मन्वन्तर - Manvantara) ในแต่กัล์ปจะมี 14 มันวันตระ ประกอบด้วย
       1). มันวันตระแรก - ช่วงเวลาของพระสวยัมภูมนู หรือ พระสฺวายมฺภุว (Svāyambhuva Manu)
       2). มันวันตระที่สอง - ช่วงเวลาของพระสฺวาโรจิษ (स्वारोचिष - Svārociṣa)
       3). มันวันตระที่สาม - ช่วงเวลาของพระอุตฺตมิ (Uttama บ้างก็เรียก Uttami)
       4). มันวันตระที่สี่ - ช่วงเวลาของพระตามส (Tāmasa)
       5). มันวันตระที่ห้า - ช่วงเวลาของพระไรวต (Rāivata)
       6). มันวันตระที่หก - ช่วงเวลาของพระจากฺษุส (Cākṣusa)
       7). มันวันตระที่เจ็ด - ช่วงเวลาของพระมนูไววัสวัต หรือ พระไววสฺวต (वैवस्वत मनु  - Vaivasvata Manu)
       8). มันวันตระที่แปด - ช่วงเวลาของพระมนูสวารณิ (Savarṇi)
       9). มันวันตระที่เก้า - ช่วงเวลาของพระมนูทักษสาวรณิ (Dakṣasāvarṇi)
      10). มันวันตระที่สิบ - ช่วงเวลาของพระมนูพรหมสาวรณิ (Brahmasāvarṇi)
      11). มันวันตระที่สิบเอ็ด - ช่วงเวลาของพระมนูธรรมสาวรณิ (Dharmasāvarṇi)
      12). มันวันตระที่สิบสอง - ช่วงเวลาของพระมนูรุทรสาวรณิ (Rudrasāvarṇi)
      13). มันวันตระที่สิบสาม - ช่วงเวลาของพระมนูเทวสาวรณิ (Devasāvarni)
      14). มันวันตระที่สิบสี่ - ช่วงเวลาของพระมนูอินทรสาวรณิ (Indrasāvarṇi)

02. พระมนู (मनु - Manu) - เป็นหนึ่งในสิบฉายาของพระรุทร ตามที่ปรากฎในภาควตะ ปุราณะ (3.12.12), เป็นชื่อทั่วไปของผู้ปกครองจักรวาลทั้ง 14 ในแต่ละวันของพระพรหม พระมนูในยุคปัจจุบันคือ พระมนูลำดับที่ 7 พระมนูไววัสวัต หรือ พระสัตยพรต (वैवस्वत मनु  - Vaivasvata Manu).

พระพรหม, พัฒนาไว้เมื่อ 24 มิถุนายน 2567.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Mahābhārata Volume 1, แปลโดย Bibek Debroy, ISBN 9780143425144, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนซัม เฮ้าส์ อินเดีย, ตีพิมพ์ในภารตะ พ.ศ.2558.
02. จาก. SHIVA PURANA Volume 1-3, แปลโดย Bibek Debroy, ISBN 9780143459705, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนซัม เฮ้าส์ อินเดีย, ตีพิมพ์ในภารตะ พ.ศ.2566.
03. จาก. Harivamsha, แปลโดย Bibek Debroy, ISBN 9780143425984, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนซัม เฮ้าส์ อินเดีย, ตีพิมพ์ในภารตะ พ.ศ.2559.
04. จาก. "การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องจักรวาลวิทยาในคัมภีร์วิษณุปุราณะและไตรภูมิพระร่วง" โดย นางสาวสุภาพร พลายเล็ก, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2557.



 
info@huexonline.com