MENU
TH EN

เที่ยวชมปราสาทเมืองพระนคร เมืองเสียมราฐ กับคณะทัวร์

Title Thumbanil: ภาพนครวัดที่เป็น icon ของบล็อก เป็นการหล่อจำลองขึ้นในกรุงปารีส เมื่อครั้งงานแสดงของบรรดาเหล่าประเทศอาณานิคม (Colonial Exhibition) ของฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ.1931, Hero Image: (เป็นภาพเก่า) ตรงระเบียงด้านหน้าของปราสาทบายน, เครดิตเจ้าของภาพ, ไม่ทราบปีที่ถ่าย.
เที่ยวชมปราสาทเมืองพระนคร เมืองเสียมราฐ กับคณะทัวร์
First revision: Apr.27, 2019
Last change: Sep.13, 2020

     ผมตัดสินใจไปเสียมราฐอีกครั้ง (ก็นับเป็นครั้งที่ 4) ในระหว่างวันที่ 8-9-10 มิถุนายน 2562 กับทัวร์ที่มี น้องเจี๊ยบ (EJeab Academies) อาจารย์วรณัย พงศาชลากร รุ่นน้องสวนกุหลาบเป็นมัคคุเทศก์หลัก ค่าใช้จ่ายรวมไม่แพงนัก 8,900 บาท หากพักเดี่ยวก็เพิ่มอีก 1,200 บาท รวม สามวันสองคืน (ซื้อตั๋วเข้าชมเมืองพระนครแบบ 3 วัน) วัตถุประสงค์ที่ไปคราวนี้ เพราะต้องการเก็บรายละเอียดที่ศึกษาข้ามไป และชมปราสาทใหม่ ๆ พร้อมฟังคำบรรยายของน้องเจี๊ยบ (OSK104) ซึ่งมีองค์ความรู้ด้านอุษาคเนย์มากมายเจาะลึกผนึกแน่นจริง ๆ. และมีอาจารย์โอภาส (OSK109) เป็นวิทยากรเสริมอีกท่านหนึ่ง มีไกด์ท้องถิ่นชื่อ ซาง ช่วยกันสามคนบรรยายตลอดทริปนี้
     รายละเอียดของทริปมีดังนี้: 
 
นครวัด - นครธม - ตาพรหม - บายน - บันทายศรี - นั่งเรือชมปราสาทแม่บุญตะวันตก เดินทางโดยรถ ใช้ตั๋วนครวัด แบบ 3 วัน
วัน-เวลา กิจกรรม หมายเหตุ
วันแรก: เสาร์ที่ 8 มิ.ย.2562 ปอยเปต - เสียมราฐ - กลุ่มปราสาทนอกเมืองนครธม รวมอาหารเช้า เที่ยง เย็น
04:00 น. พบกันที่จุดนัดพบ บริเวณวัดบวรนิเวศ บางลำภู  
04:30 น. ออกเดินทางจากจุดนัดพบในกรุงเทพฯ โดยรถบัสปรับอากาศ  
08:00 น. รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมสเตชั่น วัน อ.อรัญประเทศ 
ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองกัมพูชาแบบ VIP จากนั้นเดินทางสู่เสียมราฐ
 
12:00 น. ถึง จ.เสียมราฐ เมืองแห่งมรดกโลก
รับประทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคารจีน New Lotus
 
13:00 น. ชมมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกที่นครชัยศรี หรือ ปราสาทพระขรรค์ 
สระอโนดาต หรือโรงพยาบาลในสมัยพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 ที่ปราสาทนาคพัน
ชมพระอาทิตย์ตกดินที่ปราสาทแปรรูป แห่งพระเจ้าราเชนทรวรมเทวะ
 
19:00 น. รับประทานอาหารเย็นแบบบุปเฟท์นานาชาติ พร้อมชมการแสดงพื้นเมืองต่าง ๆ เช่น รำอัปสรา ที่ภัตตาคาร โตนเล แม่โขง  
20:00 น. เข้าพักที่โรงแรม Popular Hotel ระดับ 3 ดาว ติดตลาดเก่า ใจกลางเมืองเสียมราฐ  
 

     ผมมารอที่หน้าวัดบวรนิเวศตอนตีสามกว่า ๆ ไม่เปลี่ยว ไฟสว่าง มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน ดู ๆ จะเป็นเด็กรุ่น ๆ ชายหญิงไทยนี่แหละเพิ่งออกจากบาร์เหล้าผับแถวตรอกข้าวสาร บางลำพู อาการดูมึนเมาหิ้วปีกเดินกลับผ่านจุดที่ผมนั่งรอหลายคน
     ตีสี่นิด ๆ รถบัสสีส้มคันขนาดกลาง (เป็นรถวิ่งสัมปทานจากเสียมเรียบไป-กลับบางลำพู เป็นประจำ) วิ่งเข้ามาจอดข้างวัดบวรฯ ด้านฝั่งตรงข้ามกับธนาคารทหารไทย มีเพื่อน ๆ ในทริปลงแท็กซี่ เอากระเป๋าใส่ใต้ท้องรถรายสองราย ผมก็เอากระเป๋าฝากให้เจ้าหน้าที่ประจำรถใส่ท้องรถบัสด้วย พร้อมกับขึ้นบนรถ เดินไปแถวหลัง ๆ ตามแผนที่ที่นั่งที่อาจารย์โอภาสได้แจ้งทางไลน์ระบุไว้ ผมหลับตานอนเอาแรงทันที เพราะเมื่อคืนแทบไม่ได้นอน ต้องเคลียร์งานที่ออฟฟิสหลายเรื่อง
   สักราว ๆ ก่อนตีห้าเล็กน้อย น้อง ๆ ในทริป (ทราบต่อมาเป็นนิสิตนักศึกษาปีหนึ่ง นิติฯ จุฬาฯ และโบราณคดี ศิลปากร) มาสะกิดถามตำแหน่งที่นั่ง ผมก็แจ้งไป เท่าที่ทราบว่าผมนั่งติดกับ Polpong น้อง ๆ ก็นั่งกันตามที่ระบุ สักพักราว ๆ ตีห้าแทบจะเป๊ะสมาชิกเต็มคันรถ (ต้องไปรับสมาชิกนี้อีกครอบครัวหนึ่งสี่ท่านจะมารอขึ้นรถที่อรัญประเทศ ซึ่งมาจากเมืองอุบลฯ) รวมแล้วเบ็ดเสร็จ ทั้งวิทยากรด้วย 31 ท่าน
     รถวิ่งทำเวลาได้ดี เพราะยังเช้าอยู่ มาขึ้นทางด่วนที่ด่านยมราช มาบนทางด่วนเหนือถนนบางนา-ตราด อาจารย์โอภาสก็ขยับไมโครโฟน แนะนำทริปนี้ โปรแกรมต่าง ๆ กำหนดการระยะต่อไป ผมฟังบ้าง กึ่งหลับกึ่งตื่นบ้าง รถมาทางฉะเชิงเทรา แล้วเข้าอำเภอพนมสารคาม ผมมารู้สึกตัวตื่นตอน 7 โมงเช้า รถบัสแวะจอดที่ปั๊มน้ำมันให้ทำภารกิจส่วนตัว
ถ่ายกับ อ.โอภาส วันแรก 8 มิถุนายน 62 ฉากหลังเป็นรถบัสสีส้ม ได้วิ่งสัมปทานจากบางลำพู - เสียมเรียบ
ถ่ายที่ปัํมน้ำมันแถว ๆ อำเภอพนมสารคาม.

 
     สมาชิกทัวร์ทริปนี้ มีหลากหลายอาชีพมาก อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกร มัคคุเทศก์ ผู้บริหารบริษัทเอกชน นิสิต นักศึกษา เด็กน้อยที่มากับคุณพ่อคุณแม่ ข้าราชการเกษียณ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ต่างก็มีรสนิยมตรงกัน ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์กัมพูชาโบราณเชิงลึกและจากวิทยากรที่มีความรู้
     ผมได้คุยกับอาจารย์วรณัย ท่านอัธยาศัยดีมาก กันเอง และกวน ๆ มีแนวทางการเป็นวิทยากร นักมานุษยวิทยาในแบบของตน สรุปแล้วน่ารักมาก (เช่น พอทราบว่าลูกทัวร์ในชุดนี้มีแพทย์รวม 6 ท่าน และทันตแพทย์อีกหนึ่งท่าน ก็บอกว่า ผมก็เป็นแพทย์เหมือนกัน แต่เป็นแพศยา  ... เท่านั้นแหละ ผมเฮตึงเลย...!!!) จากนั้นทุกคนก็ขึ้นรถพร้อมภายใน 25 นาที ก็ออกเดินทางต่อเข้าอรัญประเทศ อาจารย์วรณัย (อ.เจี๊ยบ) ก็เริ่มแนะนำตัว และบรรยายเกี่ยวกับประวัติศาสต์กัมพูชา ประวัติศาสตร์ศิลปะ ระหว่างทางราว ๆ 150 กิโลฯ ก่อนถึงอรัญประเทศ พอมาถึงก็แวะทานอาหารเช้าในคอฟฟี่ช้อปของโรงแรมสเตชั่นวัน พร้อมรับลูกทัวร์ที่มาจากอุบลฯ อีกครอบครัวหนึ่ง 
     คณะทัวร์ของเราใช้เวลาทานอาหารเช้าราว ๆ 45 นาที ก็ขึ้นรถบัสคันเดิมมาด่านคลองลึก ตรงข้ามกับกรุงปอยเปต ในจังหวัดบันเตียเมียนเจยของกัมพูชา อ.โอภาส (ไกด์โอ) ก็ให้ทุกท่านวางสัมภาระไว้บนรถ (รถจะวิ่งผ่าน ตม.ไทยและกัมพูชา ไปรถรับคณะทัวร์ฝั่งปอยเปต) หิ้วกระเป๋าส่วนตัวพร้อมถือพาสปอร์ต เข้าแถวผ่านกระบวนการ ตม.ต่อไป ถัดจากนั้น ไกด์โอ ก็รวบรวมพาสสปอร์ตของทุกท่านไปประทับตราเข้าเมืองกับทางกัมพูชาให้ ซึ่งจะคืนให้คณะทัวร์ตอนขากลับ (จะบริการปั๊มตราประทับไป-กลับให้ของทางกัมพูชา) ทุกอย่างเรียบร้อย คณะเราใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็เรียบร้อย เดินมาขึ้นรถบัสส้มที่รอรับหน้าคาสิโนฝั่งปอยเปต
    จากนั้นก็มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น (เป็นตามกฎระเบียบของกัมพูชา ทุก ๆ ทริปจะต้องมีไกด์ท้องถิ่นให้บริการ) ชื่อคุณซาง ก็ขึ้นมาบนรถ อาจารย์เจี๊ยบและไกด์โอก็แนะนำให้คณะทัวร์เรารู้จัก รถวิ่งแล่นออกจากปอยเปตตรงเข้าเสียมเรียบ ผ่านศรีโสภณ ไกด์ซางก็ให้บริการขายซิมโทรศัพท์ท้องถิ่นสำหรับใช้สามวันในกัมพูชา ราคาซิมละ US$6.0 หรือ สองร้อยบาท ผมซื้อมาอันหนึ่งเปลี่ยนใช้เลย สัญญาณดีพอ ๆ กับเอไอเอสบ้านเรา ท่องเน็ต ใช้งานไลน์ได้ดี ถือว่าโอเคเลย
     อาจารย์เจี๊ยบ ไกด์โอ และไกด์ซางก็ผลัดกันถือไมค์บรรยายกัน หลายเรื่อง ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ เช่น ทำไมเรียกเสียมเรียบ หรือบ้างก็เรียกเสียมราฐ ประวัติการก่อตั้งกัมพูชา พระนามกษัตริย์ ไม่ควรเป็นคำว่า "วรมัน" (Varman) ตามหลัง นั่นเป็นแบบที่ฝรั่งเขาอ่านเขาเรียก ควรเป็น "วรมเทวะ"  จากการแปลอ่านภาษากัมพูชาโบราณตามที่ได้จารึกไว้ เป็นต้น
     รถบัสสีส้มพาคณะทัวร์เรามาถึงเสียมเรียบราว ๆ เที่ยงตามกำหนด รับประทานอาหารกลางวันกันเป็นโต๊ะจีนโต๊ะละสิบคน ที่ภัตตาคารจีน New Lotus รสชาติใช้ได้ ซี่โครงหมูหมักแล้วทอดอร่อยมาก จากนั้นแต่ละคนก็นำสัมภาระส่วนตัวขึ้นรถชุดใหม่ แบ่งเป็นรถบัสเล็กสองคัน ๆ ละ 16-17 คน เพราะมีขนาดเหมาะที่ลอดประตูเมืองนครธมได้ ผมนั่งคันแรก แล้วคณะทัวร์เราก็เดินทางมาซื้อตั๋วเข้าชมแบบ 3 วัน US$67.-- ต่อคน ต้องถ่ายรูปรายคนเพื่อติดบัตรคล้องคอ ใช้เวลาราว ๆ ครึ่งชั่วโมงแล้วเดินทางเข้าสู่บริเวณเมืองพระนคร ผ่านด่าน มีเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อยูนิฟอร์มสีส้ม เข้ามาตรวจตั๋วในรถบัสรายคนเลย เรียบร้อยแล้ว รถบัสก็แล่นผ่านพระบรมวิษณุโลก นครวัด เข้าตัวเมืองนครธมทางทิศใต้ ตรงผ่านกลางเมืองนครธม ผ่านปราสาทบายน ผ่านลานช้าง ออกประตูพระนครธมทางทิศเหนือ มุ่งไปยังปราสาทพระขรรค์  (รายละเอียดดูได้ใน "04. ปราสาทพระขรรค์"
 ) ที่ตรงไปทางทิศเหนือเยื้อง ๆ ด้านขวาหรือทิศตะวันออกเล็กน้อย
     คณะเราเดินเข้าทางประตูด้านทิศตะวันออก มีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วรายคน เดินผ่านระเบียงทางเข้า มีเสานางเรียง เดิมเป็นภาพสลักพุทธศาสนา แล้วมีการแก้ไขสลักทำลายบ้าง เปลี่ยนรูปพระพุทธเจ้าเป็นพระวิษณุ พระศิวะ พราหมณ์กำลังนั่งทำสมาธิบ้าง หลงเหลือที่เป็นเสานางเรียงต้นเดียวทางด้านซ้ายก่อนข้ามสะพานหินเข้าปราสาทพระขรรค์อยู่ต้นหนึ่ง  เป็นภาพสลักพระพุทธเจ้าชัดเจน

เสานางเรียงด้านขวา ตรงระเบียงทางเข้าของปราสาทพระขรรค์  เป็นภาพสลักของพระพุทธเจ้าชัดเจน ที่หลงเหลืออยู่
ขณะที่เสานางเรียงจุดอื่น ๆ ถูกกลืนโดยการกระเทาะแต่งเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดู

     ผมเดินชมไปถ่ายรูปไป มีไกด์ช่วยบรรยายให้ทราบถึงสามท่าน เห็นการแก้ไข ทำลายสลักทับจากเดิมเป็นพุทธสถานก็ปรับเป็นเทวสถานตามศาสนาฮินดูพราหมณ์ มีการแก้ไขภาพแกะสลักพระพุทธเจ้าในอริยบทต่าง ๆ บ้างก็เป็นปางสมาธิ ให้เป็นฤๅษีกำลังท่องคัมภีร์บ้าง ได้รับความรู้มาก ตรงแนวเสาระเบียงหน้าต่างของปราสาทพระขรรค์นี้ เป็นภาพแกะสลักสวยงามเป็นรูปนกแก้วสองตัวกำลังบินวนในวงกลม Symmetry และสวยงามมาก ซึ่งแสดงถึงความสุขและความรัก ผมเริ่มรู้สึกมึน ๆ เพราะเมื่อคืนนอนน้อย ก็ต้องทนชมรับฟังถ่ายรูปไปพลาง เพราะเราสนใจ และหาโอกาสมาเช่นนี้ยาก คณะเราใช้เวลากับปราสาทพระขรรค์นานกว่ากำหนด ทำให้ต้องรีบไปชมปราสาทแปรรูปกันเร็วขึ้น

เสาระเบียงกรอบหน้าต่างในปราสาทพระขรรค์ทางด้านขวา มีภาพแกะสลักสวยงามเป็นรูปนกแก้วสองตัว
กำลังบินวนในวงกลม Symmetry และสวยงามมาก ซึ่งแสดงถึงความสุขและความรัก

 
 
          
ภายในปราสาทพระขรรค์
 
 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: ปราสาทพระขรรค์ที่มีต้นสะโปงใช้รากชอนไช กลายเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน หากเอาต้นสะโปงออก
ก็จะทำให้กำแพงของปราสาททรุดทลายลง จึงต้องอนุรักษ์ไว้เช่นนี้
และธรรมศาลา หนึ่งในที่พำนักที่กระจายอยู่นับร้อยกว่าแห่ง (121 แห่ง) ในอาณาจักรกัมพูชาโบราณ

     รถบัสเล็กขับผ่านปราสาทนาคพัน  ซึ่งปกติต้องอยู่กลางสระน้ำ แต่แห้งขอดด้วยมีการทำลายป่า และบุกรุกของชาวบ้านในบริเวณ ไม่ได้แวะชมปราสาท ขับผ่าน ๆ ไป สักพักคณะก็มายังปราสาทแปรรูป (รายละเอียดปราสาทแปรรูป ดูได้ใน "05. ปราสาทแปรรูป") ซึ่งใหญ่โต สง่ามาก ผมและเพื่อน ๆ ในคณะทั้งหมดต่างขึ้นไปชมด้านบน อาจารย์วรณัยและไกด์อีกสองท่านช่วยบรรยาย ภาพนางอัปสรา ตรงซุ้มประตูแต่ละปราสาทย่อย ดูเนื้อหินทรายที่นำมาจากพนมกุเลน เป็นหินทรายสีชมพูชั้นดี ตั้งใจว่าจะชมพระอาทิตย์ตกบนปราสาทแปรรูปนี้ แต่ด้วยมีเมฆมาก ไม่เห็นพระอาทิตย์ พวกเราชาวคณะก็ถ่ายรูปเก็บรายละเอียดปราสาท หน้าบัน รูปสลักต่าง ๆ กันไป ฝนเริ่มลงเม็ด ก็รีบขึ้นรถ
          
บริเวณรอบนอกของปราสาทแปรรูป
 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: นางอัปสราตรงขอบปรางค์(หนึ่งในสี่ปรางค์บริวาร) และประตูจำลองแกะสลักด้วยหินทรายสีชมพู
เป็นหินทรายชั้นดี แกะขึ้นในสมัยพระเจ้าราเชนวรมเทวะ (พระเจ้าราเชนทรวรมัน) ครอบราชย์ระหว่าง พ.ศ.1478-1511

     มุ่งหน้ากลับเมืองเสียมเรียบ ท้องฟ้ามืดครึ้ม แต่ฝนก็ไม่ตก เพียงแต่ตกปรอย ๆ คณะของเราก็เข้ามาทานอาหารค่ำกันที่ภัตตาคารโตนเล แม่โขง (ซึ่งผมเคยมาทานหลายครั้งแล้ว) คณะของเราก็ทานกันอิ่มอร่อย อาหารมีหลากหลาย สักพักนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มอื่น ๆ ก็เข้ามาเสริม ทานกันจนเต็มภัตตาคาร ชมรำอัปสรา ระบำนกยูง (วัฒนธรรมชาวไทยใหญ่) รำกะลา (วัฒนธรรมชาวนาพื้นบ้าน) โขนย่อย ๆ ผมนั่งทานไปคุยไปกับอาจารย์วรณัยอย่างออกรสไปเรื่อย จนได้เวลา คณะเราอิ่มเอมแล้วก็ขึ้นรถบัสกลับ 
     มาแวะ Supermarket ชื่อ Angkor Market คณะเราหลายคนลงไปซื้อของกันได้สักครึ่งชั่วโมง ผมไม่ลงไป นั่งในรถเพราะเพลีย จากนั้นก็เข้าเช็คอินที่โรงแรม Popular Hotel อยู่ในตลาดเก่า กลางเมืองเสียมเรียบ ผมได้กุญแจห้องซึ่งอยู่ชั้นสาม ผมยกกระเป๋าขึ้นเอง พักผ่อน อาบน้ำอาบท่า ถ่ายท้อง ห้องพักดูใหม่ สะอาดสะอ้าน เฟอร์นิเจอร์พร้อม ดูทีวีท้องถิ่นเล็กน้อย พอราว ๆ 3 ทุ่มเศษ ก็ปิดไฟหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย พรุ่งนี้ค่อยลุยกันเต็มที่.

 
วัน-เวลา กิจกรรม หมายเหตุ
วันที่สอง: อาทิตย์ที่ 9 มิ.ย.2562 กลุ่มปราสาทเมืองนครธม - ตาพรหม - บันทายศรี รวมอาหารเช้า เที่ยง
06:00 น. ตื่นนอน ทำธุระส่วนตัวให้ร่างกายสดชื่น รับประทานอาหารเช้าที่ ห้องอาหารของโรงแรมที่พัก  
07:30 น. ชมเมืองศรียโสธรปุระ หรือเมืองนครธม ที่มีปราสาทอยู่ภายในมากมาย อาทิ เช่น ปราสาทบายน บาปวน พิมานอากาศ พระราชวังหลวง พระป่าเลไลยก์ พระพิธุ คลังเหนือ คลังใต้ ปราสาทนางสิบสอง (กลุ่มปราสาทซัวปรัต) ฯลฯ.  
12:00 น. รับประทานอาหารกล่องแบบปิกนิก จากร้านอาหารเชียงใหม่ ไทยฟูดส์  
13:00 น. ชมต้นสะปงยักษ์ที่ขึ้นปกคลุมปราสาท ที่ปราสาทตาพรหม จากนั้นเดินทางเข้าชมอัญมณีเม็ดงามแห่งศิลปะเขมร ที่ปราสาทบันทายศรี  
19:00 น. กลับถึงโรงแรมที่พัก รับประทานอาหารเย็นที่ Siem Reap Night Market ตามอัธยาศัย  
 
    ผมตื่นแต่เช้ามืด สดชื่นพร้อมที่สนุกและลุยกับโปรแกรมการท่องเที่ยวในวันอาทิตย์นี้ พอราว 6 โมงเช้านิด ๆ พอล้างหน้าตาแปรงฟันเสร็จก็ลงมาทานอาหารเช้าที่ Coffee Shop ของโรงแรม ๆ มีขนาดกระทัดรัด เก๋ ๆ ทันสมัยอยู่กลางตลาดเก่าเสียมราฐ เมนูอาหารก็ใช้ได้ เป็นไข่ดาว ขนมปังปิ้ง กาแฟ สลัดผัก ทำนองนั้น เมื่อทานเสร็จก็ขึ้นห้องไปทำธุระ แล้วก็ลงมารวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ทันตอน 7:30 น. เพื่อชมเมืองพระนครตามโปรแกรม
อ.โอภาส, ผม และ อาจารย์วรณัย ณ ล้อบบี้โรงแรม Popular เช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2562 

     ผมทักทาย อ.วรณัย และไกด์โอ ร่วมกันถ่ายภาพเล็กน้อยในฐานะศิษย์เก่าสวนกุหลาบด้วยกัน แต่คนละรุ่น
     รถบัสพาคณะขึ้นมาทางเหนือของเมืองเสียมเรียบราว 10 กิโลเมตร ผ่านด่านตรวจตั๋ว เจ้าหน้าที่จะใส่เสื้อเชิร์ตสีส้มแขนยาว กางเกงสแล็ค เป็นชุดฟอร์มของพนักงานการท่องเที่ยวที่เมืองพระนคร ของกัมพูชา เขาตรวจกันละเอียดทุกคน ทุกใบและมีเซ้นส์จำแนกได้ว่าคนไหนคนไทย คนกัมพูชา นักท่องเที่ยวผู้ที่แสร้งว่าเป็นชาวกัมพูชา แล้วเข้าชมเมืองพระนครฟรี ๆ อย่าหวังเลยครับ
     รถบัสผ่านเข้าพระตูเมืองนครธมทางทิศใต้ ตรงไปยังปราสาทบายน แล้วเลยตรงผ่านปราสาทบาปวน พระราชวัง ลานช้าง ตรงมายังประตูเมืองนครธมทางทิศเหนือ เหตุที่เลือกมาชม ณ จุดนี้ เพราะศิลปะลวดลายต่าง ๆ ของประตูเมืองด้านทิศเหนือ สวยงามและละเอียดพอ ๆ กับทิศใต้ แต่ทว่า มีนักท่องเที่ยวน้อยกว่ามาก ทำให้อิสระและมีเวลาทัศนา ศึกษางามศิลปกรรมได้มากขึ้น 

ภาพถ่ายกับคณะทัวร์และวิทยากร เมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2562 หน้าประตูเข้าเมืองนครธมทางทิศเหนือ
 

ตรงด้านขวา ด้านนอกประตูเข้านครธมทิศเหนือ ตรงเชิงราวสะพาน
มีเจ้าหน้าที่และนักโบราณคดีกัมพูชากำลังขุดดูชั้นหินดิน สืบอายุโบราณวัตถุกันอยู่

    
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพจำลองประตูเข้าเมืองนครธมทางทิศใต้ ถ่ายจากในประตูเมืองออกไปด้านนอก ที่มา: Facebook บล็อก Chaktomuk ของกัมพูชา, วันที่เข้าถึง 3 ตุลาคม 2562. และเสาด้านขวาของประตูเข้าเมืองนครธมทางทิศเหนือ ถ่ายจากด้านนอก เป็นศีรษะช้าง โดยช่างแกะสลักมีความเชี่ยวชาญและมีเชิงช่างวิศวกรรม แกะเสาค้ำยันเป็นงวงช้าง กำลังจุ่มในสระบัว เพื่อรองรับน้ำหนักของเสาไว้


          
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านข้างซ้ายของประตูนครธมทางทิศเหนือด้านนอก เป็นราวสะพานแกะสลักเป็นพญามารกำลังยุดนาค ผู้ถือหางนาคไว้ สันนิษฐานว่าเป็นท้าวราพณาสูร หรือ ราวณะ หรือ ทศกัณฐ์, ด้านในของกำแพงเมืองด้านซ้ายของประตูนครธมทิศเหนือ จะเป็นเนินดินถมสูงไว้เพื่อให้ทหารใช้อาวุธขว้างซัดศัตรูได้ถนัด เพื่อป้องกันพระนคร (ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกันกับเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งอยุธยา แต่ปัจจุบันอยุธยาได้ขุดตักออกรื้อถอนไม่เห็นเนินดินแล้ว)

     ถัดจากนั้นคณะฯ เดินทางมาด้านในเมืองพระนคร ตรงด้านหน้าลานพระยม (Yama บ้างก็เรียก พระเจ้าขี้เรื้อน รายละเอียดดูใน ลานพระเจ้าขี้เรื้อน) ตรงข้ามกลุ่มปราสาทพระพิธุ (Preah Pithu Group)
 
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระยม (Yama)  (ผมตั้งเลนซ์หน้ากล้องไม่ค่อยดีนัก ปรับแต่งได้แค่นี้แหละครับ) ถ่ายเมื่อ 9 มิ.ย.62,
และพระยม ถ่ายเมื่อ 21 ต.ต.61 ปัจจุบันเป็นองค์จำลององค์จริงเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ

 
และ หน้าลานพระราชวังที่มีภาพแกะสลักมากมาย แสดงถึงโลกบาดาล ที่มีพญานาคเป็นใหญ่
 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพพญานาคเจ็ดเศียร ตรงด้านล่างของลานพระเจ้าขี้เรื้อน และพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นม้าพลาหะ (ม้าห้าเศียร)01

     คณะเราเดินชม ถ่ายภาพและฟังบรรยายจากอาจารย์ทั้งสามท่าน (อ.วรณัย อ.โอภาส และ ไกด์ซาง) มีความรู้กันมาก ฟังกันไม่ทัน ใช้เวลาที่ลานพระเจ้าขี้เรื้อนร่วมชั่วโมง จากนั้นก็เดินมาจากวัดเทพพระนาม (Tep Pranam) ได้ยินเสียงแม่ค้าร้องเชิญชวนชาวคณะให้แวะทานน้ำมะพร้าวเย็น ๆ กัน ลูกละ US$ 1.0 บ้างก็แวะซื้อบ้างก็เดินกันต่อ
     ที่วัดเทพพระนาม (ก่อสร้างตอนปลายสมัยพระเจ้ายโสวรมเทวะที่ 1 ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 เพื่ออุทิศแด่พุทธศาสนานิกายเถรวาท) ปัจจุบันยังมีพระภิกษุจำพรรษาและประกอบศาสนกิจ เมื่อคราวก่อน และในคราวนี้ เห็นมีชาวบ้านมานั่งตรงระเบียงศาลาวัดนุ่งผ้าข้าวม้าบ้าง กางเกงขายาว/สั้นปรกติบ้าง พนมมือ น้อมให้พระเอาน้ำราด หลายถังอยู่เหมือนกัน พระท่านก็สวดมนต์พลาง ราดน้ำพลาง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้พ้นทุกข์หมดโศก อะไรทำนองนั้น (ผมถามแม่ค้าชาวกัมพูชาที่ขายน้ำมะพร้าวแถว ๆ นั้น เขาเรียกว่า Sroy Taek - สรอยตึก - รดน้ำมนต์)
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระประธานของวัดพระนาม ในศาลา และภาพพระภิกษุกำลังราดน้ำให้ญาติโยม (ผมนำภาพเมื่อ 21 ต.ค.2561 มาแสดง)

     ถัดจากนั้น คณะของเราก็เดินตรงมาด้านหลังของวัดเทพพระนาม ยังวัดพระป่าเลไลยก์ (Preah Palilay) แสดงเห็นถึงหลักฐานว่า พระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ได้ยั่งถึงดินแดนเมืองพระนครแล้ว. (ภาพส่วนใหญ่ที่แสดงไว้ของวัดพระป่าเลไลยก์ ต่อไปนี้ ได้รับการแชร์มาจากเพื่อนร่วมคณะ ด้วยเพราะภาพที่ผมถ่ายไว้ คุณภาพไม่ดีนัก - ขอขอบคุณเพื่อนร่วมคณะ มา ณ ที่นี้) รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ใน "36. ปราสาทพระป่าเลไลยก์"
     วิทยากรได้บรรยายหน้าบัน กรอบประตูต่าง ๆ ของปราสาทนี้ได้ละเอียด น่าสนใจเกี่ยวโยงโดยตรงกับพุทธศาสนิกชน นิกายเถรวาท (Theravada Buddhism) มาก (คิดว่าโอกาสต่อไป จะมาเมืองพระนครอีก และจะลงลึกดูรายละเอียดปราสาทพระป่าเลไลยก์นี้ให้ได้มาก ๆ ) คณะใช้เวลาศึกษา ถ่ายรูป ดูรายละเอียดกับปราสาทนี้ร่วม 40 นาที

 
                 
หน้าบันทางทิศตะวันออก ด้านในของประตูทางเข้าปราสาทบริวาร แสดงภาพทศชาติสุดท้ายของพระบรมศาสดา
"พระเวสสันดร" พร้อมด้วยพระพระนางมัทรี กัญหาและชาลี เสด็จออกจากเมืองสู่พนา
 
          

     จากนั้นก็เดินตรงตัดมาทางทิศใต้ เข้าสู่บริเวณพระราชวัง (Royal Palace) ผ่านประตูวังด้านข้าง ทางทิศเหนือ มายังสระสรง (Sras Srei) มีขนาดใหญ่ สี่เหลี่ยมผืนผ้า ยังมีน้ำขอด ๆ อยู่ในสระขอด ตรงขอบสระเป็นหินทรายแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ปลา ปู กุ้ง หอย นานาชนิด รวมทั้ง โคธา (Small crocodile ด้วย..!!!)
 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: ประตูทางเข้าพระราชวังด้านข้างทางทิศเหนือ และสระสรง (Sras Srei)
 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: หินทรายสลักเป็นเทวดาต่าง ๆ ตรงขอบสระ และ หินทรายสลักเป็นรูปสัตว์น้ำต่าง ๆ รวมทั้งโคธาด้วย

     จากนั้นก็เดินตรงตัดมาทางทิศใต้ มาด้านหน้าปราสาทพิมานอากาศ (Phimeanakas) รายละเอียดแสดงใน "03. ปราสาทพิมานอากาศ" คณะของเราพักกันตรงร่มไม้หน้าปราสาทพิมานอากาศกัน อาจารย์วรณัย ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของปราสาท และมีข้อสังเกตว่า อย่าเชื่อข้อมูลการบันทึกของโจ้วต้ากว้าน หรือ จิวต้ากวาน (Zhou Daguan) มากนัก เพราะบันทึกห่างจากเหตุการณ์จริงร่วมสองร้อยกว่าปี  รายละเอียดดูในหมายเหตุที่ 13 ของ "I. อาณาจักรพระนครโบราณ" ด้านหลังของปราสาทพิมานอากาศซึ่งเป็นบริเวณพระราชวังเดิมนั้น ไม่มีวัตถุหรือสิ่งใดที่สำคัญให้ศึกษากันมากนัก เพราะนักวิชาการสันนิษฐานว่าเรือนหลวงต่าง ๆ ล้วนสร้างด้วยไม้ ก็ผุพังไปตามกาลเวลาไป
 
          

     คณะเราพักได้ราว ๆ ครึ่งชั่วโมง ก็เดินกันออกมาทางประตูพระราชวังด้านทิศตะวันออก


แผนผังนครธมและบริเวณพระราชวังหลวง, ที่มา: www.canbypublications.com, วันที่เข้าถึง 1 มีนาคม 2562.

 
          

     ถ่ายรูปกันบริเวณลานช้าง (Terrace of the Elephants) ได้ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วมาพักกันใต้ร่มไม้ใหญ่ ใกล้ประตูทางเข้าปราสาทบาปวน คุยวิสาสะถกประเด็นกันทางประวัติศาสตร์มี อาจารย์วรณัย และ อาจารย์โอภาสร่วมแจมกัน สนุก ได้ความรู้เพิ่มเติม จากนั้นคณะก็เดินเข้าชมปราสาทบาปวนกัน

ปราสาทบาปวน (Baphuon)
     ปราสาทบาปวนมีขนาดใหญ่ และสูงชันมากด้วย ผมเดินขึ้นบันไดไปช้า ๆ เกาะราวไม้บ้าง ราวเหล็กเชื่อมบ้างก็เกือบจะถึงชั้นบนสุด (ซึ่งมีป้ายบอกไม่ให้ขึ้นแล้ว) เล่นเอาเหนื่อยทีเดียว รายละเอียดปราสาทบาปวน ดูได้ใน "06. ปราสาทบาปวน"
 ตรงมุม ด้านข้างบ้าง ด้านหลังบ้างของกรอบทวารหินทรายทางขึ้นบนชั้นต่าง ๆ ของปราสาทมีภาพสลักที่น่าสนใจมาก ศึกษาพิเคราะห์ไม่ทัน ต้องถ่ายเก็บบันทึกไว้ก่อน แล้วกลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ผมชมได้ประมาณสักชั่วโมง ก็เดินลงกลับทางหลังของปราสาท 
          

     จากนั้นก็ซื้อน้ำดื่มแก้กระหายกับแม่ค้าที่มาขายด้านหลังปราสาท แล้วเดินเกาะ ๆ กันไปกันเป็นกลุ่มกับเพื่อนในคณะ เลียบทางขวาของปราสาทบาปวนมาด้านหน้า คณะวิทยากรทั้งสามท่านบรรยายให้กับเพื่อนกลุ่มย่อยของคณะ แยกออกไปก่อน หาไม่เจอ คาดว่าคงเดินบรรยายล่วงหน้าไปแล้ว ก็เดิน ๆ มาถึงหน้าพระพุทธรูป Preah Ngoc มีญาติโยมอุปัฏฐากกำลังทำบุญกัน
          

     ผมถ่ายรูปได้ครู่หนึ่ง แล้วเดินมาเข้ากลุ่มกับคณะฯ มาทางด้านหลังของปราสาทบายน เห็นเพื่อน ๆ ในคณะฯ รวมทั้งวิทยากร กำลังทานข้าวกล่องปิกนิกกัน ผมก็เข้าไปร่วมแจมด้วย อาหารกล่องก็เป็นอาหารไทย ไก่ทอดกระเทียมราดข้าวจากร้านอาหารเชียงใหม่ ไทยฟูดส์ ที่ตั้งอยู่ในเมืองเสียมเรียบ รสชาติดี ทานกับเพื่อน ๆ และผมทานไอศกรีมที่มีรถมาตั้งเต้นท์จอดขาย รสชาติดีแต่ก็แพงเอาเรื่องเหมือนกัน บริกรขายไอศกรีมก็เปิดเพลง Rock แบบกัมพูชาให้ฟังพร้อมร้องคลอไปด้วย เป็นเสียงนักร้องคนโปรดยอดนิยมของชาวกัมพูชา "ปราบ สุวัต หรือ เปรียบ โสวาธ (Preab Sovath)" ซึ่งมีความดังเทียบได้กับเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ บ้านเราเลยทีเดียว
     

ปราสาทบายน (Bayon) 
     พออิ่มหนำสำราญแล้ว ราว ๆ บ่ายกว่า ๆ คณะก็เดินเข้าปราสาทบายนทางประตูด้านหลังกัน ฝนตั้งเค้าและตกลงมาตอนที่คณะฯ กำลังเข้าชมปราสาท
    รายละเอียดปราสาทบายนดูได้ใน "บายน: วิมานไพชยนต์"  วิทยากร อ.วรณัย เริ่มบรรยายภาพแกะสลักจากกำแพงด้านนอกวนทวนเข็มนาฬิกามาทางทิศใต้ของปราสาท ผมฟังบรรยายพลาง ก็ถ่ายเก็บภาพไปพลาง
          
 

แผนภูมิปราสาทบายน อภินันทนาการจาก อ.วรณัย (Ejeab Academies)
  
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: รูปสลักบุคคลนั่งย่อเข่าที่ทางเข้าปราสาทบายนทางทิศตะวันตก นั่นคือ พราหมณ์วามน ที่มีรูปร่างสั้น เตี้ย แคระ อันเป็น "วามนาวตาร" นารายณ์อวตาร ปางที่ 5 และคณะทริปของเราเข้ามาหลบฝนในวิหารรองที่อยู่ด้านหลังของปราสาทประธานหลังหนึ่ง  
 

     ครู่หนึ่ง ก็มีฝนตกลงมา คณะเราบางส่วนก็หลบฝนในปราสาทรอง ๆ ที่อยู่ด้านทิศตะวันตก ต่างถ่ายรูปกันกับช่องหน้าต่าง หมู่บ้างเดียวบ้าง เซลฟี่บ้างตามอัธยาศัย
 
         
    พอฝนซา คณะะของเราก็เดินทางออกมายังประตูชัย (Victory Gate) ที่อยู่ด้านหน้าลานช้าง (The Terrace of Elephants) เลยปราสาทแกลงเหนือมาเล็กน้อย แล้วเลี้ยวขวามายังวัดพราหมณ์ไปรลอเวง (Vat Prampei Loveng หรือ Vihear Prampli Loveng) เป็นที่ประดิษฐานของ พระชัยพุทธมหานาถ พระพุทธปฏิมากรนาคปรก อันเป็นพระประธานของปราสาทบายน คณะของเราก็เข้ามาสักการะ ถ่ายรูปสักครู่ก็เดินทางต่อไป ถัดจากนั้น คณะของเราก็เดินทางมายังปราสาทตาพรหม
 

ปราสาทตาพรหม
     รายละเอียดปราสาทตาพรหม (ดูได้ใน 10. ปราสาทตาพรหม)
         

 
         

     เมื่อมาถึงบริเวณปราสาท ก็ไม่มีฝนแล้ว คณะของเราก็สามารถชม ทัศนศึกษาและถ่ายรูปเก็บไว้ได้สบายขึ้น คณะเราใช้เวลาที่ปราสาทตาพรหมราว ๆ ชั่วโมงเศษ ก็เดินต่อไปทางทิศเหนือ เยื้องตะวันออกเล็กน้อยราว 30 กิโลเมตร ไปยังปราสาทบันทายสรี

 
ปราสาทบันทายสรี หรือ บันทายศรี (Banteay Srei)
     รายละเอียดปราสาทบันทายสรีดูได้ใน "07. ปราสาทบันทายสรี"  หลังจากชมปราสาทบายนได้พอสมควร คณะก็เดินทางต่อมายังปราสาทบันทายสรี ที่อยู่ไกลออกไปจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากเมืองเสียมเรียบราว 30 กิโลเมตร 

แผนภูมิปราสาทบันทายสรี อภินันทนาการจาก อ.วรณัย (Ejeab Academies)
     สภาพอากาศไม่เป็นใจเลย ฝนตกมาตลอดตั้งแต่เมืองพระนครจนถึงปราสาทบันทายสรี ไกด์โอได้แจกเสื้อพลาสติกกันฝนให้คนละชุด การเก็บถ่ายภาพก็ไม่ดีหนัก ด้วยน้ำฝนละอองฝนกระจายบังเลนซ์กล้องถ่าย ขลุกขลักบ้างเล็กน้อย ปราสาทแห่งนี้ยังคงสงบนิ่ง งดงามเหมือนเคย จากที่ผมเคยมาเมื่อปี 2560 คณะเราใช้เวลากับที่ปราสาทแห่งนี้ จนเย็นถึง 5 โมงกว่า ก็กลับเข้าเมืองเสียมเรียบกัน
 
         
 
         

 
         

     ใช้เวลาร่วมชั่วโมง ก็มามีเมืองเสียมเรียบ เข้าที่พัก ผมมาล้างเนื้อล้างตัวหน่อยหนึ่ง ก็ลงมาร่วมทานอาหารเย็นกับเพื่อน ๆ ในตลาดเมืองเสียมเรียบ เป็นร้านอาหารดัง มีเมนูรวงผึ้งย่าง ข้าวโพดคั่วเนย เนื้อโคขุนย่างเคลือบด้วยน้ำซอสปรุงรสสไตล์เสียมเรียบ อร่อยดี (มีผงชูรสผสมปนอยู่เพียบ) ผมทานกับข้าวสวย ผมนั่งข้าง ๆ อาจารย์วรณัย คุยกันอย่างออกรส ดื่มเบียร์ Angkor ไปขวดเดียว พอมัน ๆ เคลิ้ม ๆ ตอนท้ายก็ช่วยกันแชร์ (เลี้ยงอาจารย์วรณัย ไกด์โอ และไกด์ท้องถิ่นซาง) ตกเฉลี่ยท่านละพันบาท ก็โอเค ผมอยู่ร่วมได้ราวชั่วโมงเศษ ๆ ก็กลับโรงแรมพักผ่อน มีหลายท่านยังเพลินทานดื่มละเลียดกันไป  (ทราบในวันรุ่งขึ้นว่า ทานดื่มกันถึงเกือบเที่ยงคืน) 
 
วัน-เวลา กิจกรรม หมายเหตุ
วันที่สาม: จันทร์ที่ 10 มิ.ย.2562 นครวัด - ล่องเรือชมปราสาทแม่บุญตะวันตก - ปอยเปต - กรุงเทพฯ รวมอาหารเช้า เที่ยง เย็น
06:00 น. ตื่นนอน ทำธุระส่วนตัวให้ร่างกายสดชื่น   
07:00 น. รับประทานอาหารเช้าที่ ห้องอาหารของโรงแรมที่พัก  
08:00 น. อัศจรรย์กับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคปัจจุบัน มหาปราสาทนครวัด ชมรูปแกะสลักนางอัปสรากว่า 1,600 องค์รอบบริเวณปราสาท และชมระเบียงแกะสลักภาพที่เป็นเรื่องราวต่าง ๆ เช่น เรื่องมหาภารตยุทธ รามายณะ กระบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมเทวะที่ 2 การกวนเกษียรสมุทร ฯลฯ  
11:00 น. รับประทานอาหารกลางวัน ณ ภัตตาคารโตนเลจตุมุข  
12:00 น. ชมบารายตะวันตก อ่างเก็บน้ำที่มีความยาวถึง 8 กิโลเมตร กว้าง 2.2 กิโลเมตร 
นั่งเรือชมปราสาท(แม่)บุญตะวันตก ที่เคยเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์สำริด ความยาวกว่า 6 เมตร
 
16:00 น. ถึงด่านปอยเปต ชายแดนไทย-กัมพูชา ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง  
17:00 น. รับประทานอาหารเย็นแบบเวียดนามที่ร้าน เจ๊เยิง อรัญประเทศ  
18:00 น. ออกเดินทางกลับ - ถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 22:00 น. โดยสวัสดิภาพ  

     ผมตื่นขึ้นมาแต่เช้า ลงมาทาน Breakfast ของโรงแรมเป็นคนแรก ราว ๆ 6:00 น. เมนูก็ปกติ ขนมปังทาเนย แยม กาแฟ แฮม ผลไม้ เรียนตรง ๆ ผมไม่ประทับใจอาหารเช้านัก ก็โอเคผ่าน ๆ ไป
     จากนั้นก็เข้าห้องอาบน้ำสระสรง แต่งตัวเก็บข้าวของ เช็คเอ้าท์จากโรงแรมพร้อมเพื่อน ๆ ในคณะราว 07:30 น. คณะก็เดินทางเข้าชมมหาปราสาทนครวัดทันที



ปราสาทนครวัด (Angkor Wat)
     รายละเอียดแสดงใน "01. นครวัด" คณะของเราใช้เวลา ณ ที่มหาปราสาทนี้ตลอดช่วงเช้าเลย โดยมีวิทยากรทั้งสามท่านร่วมกันบรรยาย มีข้อมูลผลการศึกษาใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ด้านหน้า ภาพสลักนางอัปสรา ประตู ภาพนางอัปสราตามกำแพง บรรณาลัย แล้วมารวมตัวกันด้านหน้าก่อนเข้ากำแพงด้านนอก เริ่มตั้งแต่ประตูทางเข้า วนมาทางทิศเหนือก่อนแล้ว ดูภาพ  ชมอาจารย์ทั้งสามท่านอธิบายภาพตามผนังกำแพงชั้นนอกวนทวนเข็มนาฬิกา
     จากนั้นก็เดินเข้าชมด้านในมหาปราสาท มีข้อความแกะสลักสองจุดที่เห็น เป็นคนไทยเขียนจารึกหรือทำโบราณสถานเลอะเทอะไว้
          หนึ่ง) เป็นข้าราชการที่ปราจีนบุรีมาตรวจราชการที่นครวัด 
          สอง) เป็นประชาชนที่เมืองโคราช มาทำบุญที่นครวัด

 
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพมหาปราสาทนครวัดด้านหน้า, และตรงมุมขอบพื้นระเบียงวิหารด้านนอก หลังจากข้ามสระน้ำแล้ว จะเห็นเป็นรอยที่เซาะหินไว้แล้วมีร่องสำหรับวางเหล็กเป็นรูปตัว H ยึดหินทั้งสองก้อนไว้
 
       
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพบรรณาลัยทางขวาหน้าของมหาปราสาท, และตรงเสาทางเข้ามหาปราสาท มีรอยเซาะเขียน (มือบอน) ของข้าราชการที่ปราจีนบุรีมาตรวจราชการที่นครวัด
 
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพเขียนจารึก (ทำโบราณสถานเลอะเทอะ) ของประชาชนที่เมืองโคราช มาทำบุญที่นครวัด ตรงเสาระเบียงชั้นสามด้านซ้ายของระเบียงรูปกากบาท, และถ่ายจากชั้นสี่ของมหาปราสาท ไปยังยอดวิหารศูนย์กลางของนครวัด
 
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพชั้นที่สี่ของมหาปราสาทนครวัด, และตอนขาออกจากนครวัดได้ถ่ายภาพนี้ไว้ จากมุมด้านซ้าย

     ผมชมตาม ๆ กันไปขึ้นไปด้านบน ถ่ายเก็บภาพไว้ แต่ไม่ได้ขึ้นไปชั้นบนสุด เพราะมีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนรอเข้าคิวเตรียมขึ้นเป็นแถวยาวเหยียด ผมเดินลงมาด้านล่างด้านหน้า ถ่ายภาพต่าง ๆ รวมทั้งบรรณาลัย วิวนครวัด และแวะซื้อน้ำตาลโตนดจากชาวบ้านชาวเขมรแถวนั้นทาน อร่อยหอมและเย็นดี มีนักท่องเที่ยวชาวบ้านชาวเขมรสองสามีภรรยาพร้อมบุตรน้อย ก็มาซื้อน้ำตาลโตนดด้วย ได้คุยโอภาปราศรัยกัน ก็ทราบว่าทั้งสองได้ทำมาหากินที่ประเทศไทย แถบจันทบุรี ผมคุยกันเป็นภาษาไทย ผมเลี้ยงน้ำตาลโตนดให้สองสามีภรรยาและบุตรน้อย พวกเขาขอบใจยิ้มหวาน แล้วแยกย้ายจากกัน
    ผมเดินกลับมาที่รถบัสกับเพื่อน ๆ กลุ่มหนึ่ง แต่ก็มีเพื่อนกลุ่มหนึ่งพร้อมอาจารย์วรณัย ไปชมปราสาทตาพรหมเกล (Ta Prohm Kel) กันต่อ ซึ่งผมเคยไปชมมาก่อนแล้ว


     จากนั้น รถบัสก็พาคณะเรามารับประทานอาหารกลางวัน ณ ภัตตาคารโตนเลจตุมุข เป็นแบบบุฟเฟต์
 
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: ผมกับเพื่อน ๆ ระหว่างทานอาหารกลางวัน ณ ภัตตาคารโตนเลจตุมุข, เทวรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์สัมฤทธิ์02. พบที่บารายตะวันตก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานในกรุงพนมเปญ, ขอบคุณที่มาของภาพ: EJeab Academies ใน facebook
 
 
     และต่อด้วยชมบารายตะวันตก (รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ใน ปราสาทแม่บุญ และบารายตะวันตก) นั่งเรือและเดินต่อไปยัง ปราสาท(แม่)บุญตะวันตก ที่เคยเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์สำริด ความยาวกว่า 6 เมตร

         


         

     ที่บายรายตะวันตก ปริมาณน้ำสำรองยังคงมีไม่มากนัก คณะของเราแบ่งออกเป็นสองชุด เพื่อนั่งเรือไปยังเกาะกลางน้ำอันเป็นที่ตั้งของปราสาทแม่บุญกัน ยังไม่ถึงเกาะกลางน้ำ ท้องเรือก็ติดดินพื้นน้ำแล้ว ต้องจอดเรือให้คณะเดินต่อไปราวกิโลเมตรเศษ คณะของเราก็สามารถชมปราสาทได้ห่าง ๆ เพราะกำลังมีโครงการบูรณะกันอยู่ โดยรัฐบาลกัมพูชา หน่วยงานอัปสรา บริษัทน้ำมันโทเทล และสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศกันอยู่
     คณะของเรา ถ่ายรูป ชม และศึกษาข้อมูลภาพที่ติดไว้บนปรำให้พักชมได้ราว ๆ ชั่วโมงเศษ ก็เดินมาขึ้นเรือกลับฝั่ง

     จากนั้นก็ตรงกลับประเทศไทย (ไกด์ซาง ไกด์ท้องถิ่น ก็ขอตัวร่ำลา กลับเข้าเมืองเสียมเเรียบ) รถบัสตรงผ่านมาทางเมืองศรีโสภณ และเข้าปอยเปต พลบค่ำพอดี คณะของเราลากกระเป๋า ผ่านตม.ทั้งฝั่งกัมพูชา และฝั่งไทย จากนั้นก็มาขึ้นรถบัส ที่จอดรออยู่ที่ท่ารถ เข้าตัวเมืองอรัญประเทศ

     แวะทานอาหารเวียดนามที่ร้านเจ๊เยิง อาหารรสชาติใช้ได้ สะอาดอนามัยดี ใช้เวลาละเลียดนานนิดหนึ่ง เพราะถือว่าผ่อนคลาย พักเหนื่อย กลับจากการท่องเที่ยว จากนั้นก็เดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร มีเพื่อนในทริปครอบครัวหนึ่งขอตัวลงก่อน เพราะต้องกลับไปยังเมืองอุบลฯ

     ในระหว่างกลับเข้ากรุงเทพฯ อาจารย์วรณัย ก็บรรยาย ถาม-ตอบด้านประวัติศาสตร์หลากหลาย ได้เยอะมาก ผมฟังบ้าง กึ่งหลับกึ่งตื่นบ้างด้วยความเพลีย รถบัสก็มาถึงบางลำพูราว ๆ เที่ยงคืน ก็ร่ำลาแยกย้าย กลับบ้านพักปลอดภัยโดยสวัสดิภาพทุกคนครับ.



ที่มา คำศัพท์ คำอธิบาย
01. ม้าพลาหะ (พลหะ - Balaha) เป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวร

กลุ่มม้าพลาหะจากปราสาทนาคพัน, ผู้ถ่ายรูป ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล
สไลด์ชุด ศิลปะขอม, ห้องสมุด ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล,
ที่มา: 
http://www.thapra.lib.su.ac.th/, วันที่เข้าถึง 24 พฤศจิกายน 2562

 
02. เทวรูปพระนารายณ์บรทมสิทธุ์สัมฤทธิ์นี้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ มีขนาด: สูง * ยาว * กว้าง * : 122 ซม. * 222 ซม. * 72.5 ซม. สร้างในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 11 พบที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก.
 

เทวรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์สัมฤทธิ์ (Reclining Vishnu), ที่มา: www.cambodiamuseum.info, วันที่เข้าถึง 13 กันยายน 2563.
 
info@huexonline.com