MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 1

ภาพถ่ายเก่าแก่ที่สุดของพระมงคลบพิตร ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2451 ก่อนการบูรณะ สังเกตว่าพระกรขวายังขาดอยู่ ที่มา: Facebook เพจ "ประวัติศาสตร์วิจักษ์ (ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ปรัชญา นอกตำรา), " วันที่เข้าถึง 17 กรกฎาคม 2562.

 
First Revision: July 18, 2015
Last Change: Oct.01, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

 
อาณาจักรอยุธยา ตอนที่ 1

นิราศนรินทร์

     อยุธยายศล่มแล้ว          ลอยสวรรค์ ลงฤๅ
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร-     เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์        ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บุญเพรงพระหากสรรค์        ฝึกฟื้นใจเมือง
เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น          พันแสง
รินรสพระธรรมแสดง           ค่ำเช้า
เจดีย์ระดะแซง                   เสียดยอด
ยลยิ่งแสงแก้วเก้า              แก่นหล้าหลากสวรรค์
เอียงอกเทออกอ้าง            อวดองค์ อรเอย
เมรุชุบสมุทรดินลง             เลยแต้ม
อากาศจักจารผจง              จารึก พอฤๅ
โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม          อยู่ร้อนฤๅเห็น

              นิราศนรินทร์ (แต่งโดย นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) แต่งขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น, นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) แต่งขึ้นเมื่อครั้งตามเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ * เสด็จยกทัพไปปราบพม่า ซึ่งยกลงมาที่เมืองถลางและชุมพร** โดยเริ่มเรื่องด้วยการร่ายสุภาพยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แล้วกล่าวถึง ความเจริญของบ้านเมือง จากนั้นจึงรำพันถึงการจากนางอันเป็นที่รักและพรรณนาถึงสถานที่ที่ผ่านไป)


หมายเหตุ
* เสด็จในกรมฯ (29 มีนาคม 2316 - 16 กรกฎาคม  2360) เป็นราชโอรสลำดับที่ 7 ของ รัชกาลที่ 1 กับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เสด็จในกรมฯ เป็นพระมหาอุปราช ในสมัยรัชกาลที่ 2 ประทับ ณ วังหน้า (พระราชวังบวรสถานมงคล).
** เป็นการรบกับพม่าในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงผลัดแผ่นดินของไทย พระเจ้าปดุง (Bodawpaya (แปลว่าเสด็จปู่)- กษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์อลองพญา) ของพม่าจึงส่ง "อะเติงหวุ่น" มาตีเอาเมืองชุมพร ไชยา ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง สรุปไทยชนะได้เมืองถลางและเมืองอื่น ๆ คืน แต่เมืองถลางย่อยยับมากเพราะถูกพม่าเผา นับเป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างไทยกับพม่าในสมัยพระเจ้าปดุง.


 

ภาพวาดแผนที่ "ราชอาณาจักรสยาม" เขียนโดย
บาทหลวงปลาชิด เดอ แซ็งค์ เอแลน นักบวชชาวฝรั่งเศส
พิมพ์ที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2229 (ค.ศ.1686) ในสมัยพระนารายณ์ฯ1

 
        กรุงศรีอยุธยา7 มีพัฒนาการมาจากบ้านเล็กเมืองน้อยบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำในภาคกลาง นับตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ราวพุทธศตวรรษที่ 12 (หลัง พ.ศ.1100) หรือกล่าวอย่างกว้าง ๆ ว่าตั้งแต่ยุค "ทวารวดี" ลงมา.

        ศูนย์กลางของกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นชุมทางแม่น้ำหลายสาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ซึ่งล้วนเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกับบ้านเมืองภายใน ทั้งทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทางเหนือ และทางอีสาน.

        ลำน้ำเหล่านี้ไหลมารวมกับลำน้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ตั้งพระนครศรีอยุธยา แล้วกลายเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลลงไปออกอ่าวไทย จึงเป็นเส้นทางน้ำใหญ่ที่เรือสินค้าต่างประเทศแล่นเข้าถึงพระนครศรีอยุธยาได้.

        เหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นเมืองท่าสำคัญ มีเส้นทางคมนาคมติดต่อค้าขายได้ทั้งภายในและภายนอก ฉะนั้นจึงมีสภาพเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมได้ดีกว่าบรรดาเมืองอื่น ๆ ในขณะนั้น.

 
ภาพแผนที่กรุงศรีอยุธยา (ที่มา: เมืองโบราณ)

        โดยเฉพาะ วัดพนัญเชิง เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่แบบอู่ทอง ที่พงศาวดารระบุว่าสร้างขึ้นก่อนการสถาปนาพระนครศรีอยุธยา (ใหม่) ถึง 26 ปี แสดงว่าบริเวณนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นนครใหญ่มาช้านานแล้ว ก่อนพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) จะเสด็จขึ้นครองราชย์.

        และยังมีหลักฐานด้านกฎหมายอีกหลายลักษณะที่ตราใช้ขึ้นก่อนสมัยพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) คือ:
  • กฎหมายลักษณะกู้หนี้ ตราขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา 2 ปี
  • กฎหมายลักษณะทาส ตราขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา 2 ปี
  • กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ตราขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา 7 ปี
  • กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จตอนท้าย นักปราชญ์หลายท่านได้ตรวจสอบศักราช พร้อมทั้งตรวจสำนวนโวหารและร่องรอยอื่น ๆ แล้ว ยืนยันตรงกันว่า ตราขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่น้อยกว่า 115 ปี.
         อาณาจักรอยุธยา เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วง พ.ศ.1893 ถึง พ.ศ.2310 มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจหรือราชธานี อาณาจักรอยุธยานับว่าเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคสุวรรณภูมิ ทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายชาติ จนถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนานาชาติ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น เปอร์เซีย รวมทั้งชาติตะวันตก เช่น โปรตุเกส สเปน ดัตช์ (ฮอลันดา) และฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเคยสามารถขยายอาณาเขตประเทศราชถึง รัฐฉานของพม่า อาณาจักรล้านนา มณฑลยูนนาน อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม และคาบสมุทรมลายูในปัจจุบัน.
 

 
        อโยธยาศรีรามเทพนคร7
           
          บริเวณอยุธยา เดิมทีเดียวเป็นชุมชนชาวประมงเล็ก ๆ ตรงน้ำวนบางกะจะถึงปากแม่น้ำแม่เบี้ย เป็นที่แวะพักแรมของพ่อค้าสำเภาและสลุบกำปั่น ขึ้นล่องระหว่างรัฐทวารวดีที่ลพบุรีกับทะเลสมุทรทางอ่าวไทย นานเข้าก็หนาแน่นแล้วเติบโตขึ้น เป็นชุมชนสถานีการค้าบนเส้นทางการค้าหลายทิศทาง.

          ศูนย์กลางแห่งใหม่ขนานนามว่า "อโยธยาศรีรามเทพนคร" หมายถึงพระนครแห่งชัยชนะของพระราม ความหมายนี้สืบเนื่องจากทวารดีที่เป็นเมืองต้นวงศ์พระนารายณ์ ผู้ทรงอวตารเป็นพระรามมาปราบยุคเข็ญตามคัมภีร์รามายณะของชมพูทวีป (อินเดีย).
 
          เมื่อขนานนามเมืองใหม่แล้ว ก็เรียกเมืองเดิม ตามชื่อดั้งเดิมว่า "ละโว้" (น่าเชื่อว่าเป็นคำพื้นเมือง หมายถึง ภูเขา).

          บริเวณศูนย์กลางของรัฐอโยธยา (หรืออโยธยาศรีรามเทพนคร) อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยาปัจจุบัน โดยมีหลักหมายสำคัญคือ วัดพนัญเชิง วัดใหญ่ชัยมงคล ฯลฯ ที่มีสืบมาแต่ครั้งนั้น.

          ครั้นราวหลัง พ.ศ.1850 เกิดกาฬโรคระบาด (ในนิทานตำนานเรียกโรคห่า) แพร่จากเมืองจีนผ่านหมัดหนูที่มากับสำเภา มีผู้คนล้มหายตายกว่าด้วยกาฬโรคจำนวนมาก โดยเฉพาะคนชั้นปกครองที่เป็นเจ้านาย ขุนนางสืบเชื้อวงศ์จากทวารวดี-ละโว้ น่าจะล้มตายเกือบหมดสำรับ ครั้งนั้นพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีเชื้อสายทวารวดีละโว้) เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงอโยธยา เลยต้องสร้างเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันตก เพื่อแก้เคล็ดแล้วล้างอุบาทว์.

 

แผนที่อโยธยาศรีรามเทพนคร, ที่มา: พระมหาฤทธิชัย อุทัยฉาย, เครดิตภาพ: Facebook เพจผู้ใช้นามว่า Danupol Suthipibul, วันที่เข้าถึง: 1 ตุลาคม 2566.

          พระเจ้าอู่ทอง สถาปนาเมืองขึ้นใหม่ขนานนามตามเก่าว่า "กรุงศรีอยุธยา" มีพระนามเต็มว่า "กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา" เพื่อยืนยันรากเหง้าความเป็นมาจากรัฐทวารวดี.

          โดยที่ก่อนหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินกรุงละโว้ จะเข้ามาสถาปนาเมืองใหม่ "กรุงศรีอยุธยา" นั้น มีลำดับพระเจ้าแผ่นดินครองกรุงละโว้ดังนี้:-
  1. พระนารายณ์  ราว พ.ศ.1625 - 1630
  2. พระเจ้าหลวง ราว พ.ศ.1632 - 1654
  3. พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ราว 1654 - 1708
  4. พระเจ้าธรรมิกราชา ราว พ.ศ.1708 - 1748
  5. พระเจ้าอู่ทอง ราว พ.ศ.1748 - 1796
  6. พระเจ้าชัยเสน ราว พ.ศ.1796 - 1832
  7. พระเจ้าสุวรรณราชา ราว พ.ศ.1823 - 1844
  8. พระเจ้าธรรมราชา ราว พ.ศ.1844 - 1853
  9. พระบรมราชา ราว พ.ศ.1853 - 1887
  10. พระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ราว พ.ศ.1887 - 1912 (สถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.1893)
          

 

ภาพจาก มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
  • กรุงศรีอยุธยา
        กรุงศรีอยุธยาเป็นเกาะซึ่งมีแม่น้ำสามสายล้อมรอบ ได้แก่ แม่น้ำป่าสักทางทิศเหนือ, แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และแม่น้ำลพบุรีทางทิศตะวันออก เดิมทีบริเวณนี้ไม่ได้เป็นเกาะ แต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงดำริให้ขุดคูเชื่อมแม่น้ำทั้งสามสาย เพื่อให้เป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึก ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยายังอยู่ห่างจากอ่าวไทยไม่มากนัก ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และอาจถือว่าเป็น "เมืองท่าตอนใน" เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค มีสินค้ากว่า 40 ชนิดจากสงครามและบรรณาการ แม้ว่าตัวเมืองจะไม่ติดทะเลก็ตาม.

        มีการประเมินว่า ราว พ.ศ.2143 กรุงศรีอยุธยามีประชากรประมาณ 300,000 คน หรือมากกว่า (นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าสูงถึง 1 ล้านคน3 ซึ่งน่าจะมากเกินประมาณ ) ราว พ.ศ.2243 ทำให้เป็นหนึ่งในนครใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนั้น3 บางครั้งมีผู้เรียกกรุงศรีอยุธยาว่า "เวนิสแห่งตะวันออก"4,5.

        ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ที่เคยเป็นเมืองหลวงของไทยนััน คือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตัวนครปัจจุบันถูกตั้งขึ้นใหม่ห่างจากกรุงเก่าไปไม่กี่กิโลเมตร.
  • การกำเนิด09
        การกำเนิดอาณาจักรอยุธยาที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางที่สุดนั้น อธิบายว่า รัฐไทยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เจริญขึ้นมาจากราชอาณาจักรละโว้ (ซึ่งขณะอยู่ใต้การควบคุมของขอม) และอาณาจักรสุพรรณภูมิ แหล่งข้อมูลหนึ่งระบุว่า กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 เพราะภัยโรคระบาดคุกคาม สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง จึงทรงย้ายราชสำนักลงไปทางใต้ ยังที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยา บนเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ ซึ่งในอดีตเคยเป็นนครท่าเรือเดินทะเล ชื่อ อโยธยา (Ayothaya) หรือ อโยธยาศรีรามเทพนคร นครใหม่นี้ถูกขนานนามว่า กรุงเทพทวารดีศรีอยุธยา ซึ่งภายหลังมักเรียกว่า กรุงศรีอยุธยา แปลว่า นครที่ไม่อาจทำลายได้.
 

เรือนไม้ไผ่ของราษฎรชาวสยาม

 
 

ฝีพายชาวสยาม (ลายเส้นจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับภาษาอังกฤษ
พิมพ์ครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.2236 ตรงกับต้นรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา)


        พระบริหารเทพธานี อธิบายว่า ชาวไทยเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลาง และตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 แล้ว ทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของเมืองสังขบุรี อโยธยา เสนาราชนครและกัมโพชนคร ต่อมาราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรขอมและสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง พระเจ้าอู่ทองทรงดำริจะย้ายเมืองและก่อสร้างเมืองขึ้นใหม่ โดยส่งคณะช่างก่อสร้างไปยังอินเดียและได้ลอกเลียนแบบผังเมืองอโยธยามาสร้างและสถาปนาให้มีชื่อว่า กรุงศรีอยุธยา.

        แหล่งข้อมูลอื่นระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอู่ทองเป็นพ่อค้าเชื้อสายจีนที่ร่ำรวยจากเพชรบุรี นครชายฝั่งทางใต้ ผู้ซึ่งย้ายมาแสวงหาโชคลาภในนครอโยธยา ชื่อของนครชี้ถึงอิทธิพลของศาสนาฮินดูในภูมิภาค มีการเชื่อว่า นครแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับมหากาพย์รามเกียรติ์ ซึ่งดัดแปลงมาจากมหากาพย์รามายณะของฮินดู.

        อีกแหล่งข้อมูล8 กล่าวว่า โรคระบาด เป็นเหตุให้พระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ต้องทรงย้ายพระราชฐานไปสร้างที่ประทับชั่วคราวที่เวียงเหล็ก คือ บริเวณที่ต่อมาได้สร้างเป็น วัดพุทไธศวรรย์ ขึ้น จากนั้นก็ทรงเลือกบริเวณหนองโสน (หรือบึงชีขัน) ซึ่งเป็นที่ดอน อันเกิดจากการทับถมของตะกอนโคลนตม จากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำลพบุรี เป็นที่สร้างพระนครใหม่.

        อันที่จริงบริเวณนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวของเมืองอโยธยามาแต่เดิมแล้ว เพราะถ้าขยายหรือย้ายไปทางด้านตะวันออก จะติดลำน้ำและที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง แต่ทางด้านตะวันตก นอกจากจะเป็นที่ดอนแล้ว ยังมีแม่น้ำลพบุรีและเจ้าพระยาไหลโอบทางด้านเหนือ ด้านตะวันตกและด้านใต้ ทำหน้าที่เป็นคูเมืองธรรมชาติและเป็นเส้นทางคมนาคมด้วย.

        หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการขยายเขตชุมชนไปทางด้านตะวันตก ก็คือร่องรอยวัดเก่าสมัยก่อนการสถาปนาพระนครศรีอยุธยาหลายวัด เช่น วัดธรรมิกราช วัดขุนเมืองใจ และ วัดมหาธาตุ เป็นต้น นอกจากนั้น ในบริเวณที่จะสร้างพระราชวัง ยังขุดพบหอยสังข์ทักษิณาวรรต15 ซึ่งเป็นของที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาของชุมชนในบริเวณนี้มาก่อนอีกด้วย.


         การสร้างพระนครศรีอยุธยาในระยะแรก ให้ความสำคัญกับการใช้ที่ดินบริเวณรอบ ๆ หนองโสน หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า "บึงพระราม" มากกว่าบริเวณอื่น เพราะมีการสร้างพระราชวังขึ้นบริเวณตอนเหนือของหนองน้ำและบูรณะวัดเก่าที่ริมหนองโสนขึ้น เป็นวัดมหาธาตุ ให้เป็นวัดสำคัญของเมือง แล้วอาศัยแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูพระนครด้านเหนือ ด้านตะวันตก และด้านใต้  ส่วนด้านตะวันออกนั้น ขุดคูน้ำขึ้นโดยใช้คูเมืองอโยธยาเก่าที่เรียกว่า คูขื่อหน้า เป็นคูเมืองด้านนอก.

       เมื่อสร้างพระนครเสร็จแล้ว จึงสร้างและบูรณะวัดสำคัญ ๆ หลายวัด ได้แก่ วัดพระราม วัดพุทไธศวรรย์ วัดธรรมิกราช วัดสามปลื้ม วัดขุนเมืองใจ เป็นต้น.

        ช่วงเวลา 417 ปีของกรุงศรีอยุธยาที่ปกครองผ่าน 5 ราชวงศ์ การแก่งแย่งชิงซึ่งอำนาจแห่งราชบัลลังก์มีมากกว่า 24 ครั้ง ซึ่งในทุก ๆ ครั้ง ก็บั่นทอนซึ่งกำลังพลและบั่นทอนขุนนางที่มีฝีมือไปอย่างมากมาย ความเสียหายในการแก่งแย่งซึ่งอำนาจ ถูกสั่งสมมารุ่นต่อรุ่นเรื่อยมา จนทำให้พม่ารามัญเข้ายึดครองกรุงศรีฯ ได้ถึงสองครั้งสองครา จึงนับได้ว่าอำนาจแห่งราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาเป็นปฐมเหตุที่ทำให้เมืองพระรามแห่งนี้ต้องล่มจมดิน ต่อไปจะแสดงรายละเอียดการแย่งชิงอำนาจกันภายในยุคราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ดังนี้2

 
  ครั้งที่ 1  พ.ศ.1913 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เจ้าเมืองสุพรรณบุรี ได้ยึดอำนาจจากพระราเมศวร
  ครั้งที่ 2  พ.ศ.1931 สมเด็จพระราเมศวร เจ้าเมืองลพบุรี แย่งพระราชอำนาจคืนจากพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
  ครั้งที่ 3  พ.ศ.1952
สมเด็จพระมหาเสนายึดอำนาจจากสมเด็จพระรามราชา แล้วไปถวายราชสมบัติแก่เจ้านครอินทร์ หรือ
สมเด็จพระนครินราชาธิราช เจ้าเมืองสุพรรณบุรี
  ครั้งที่ 4  พ.ศ.1967 สมเด็จเจ้าอ้ายและเจ้ายี่พระยา ทรงทำยุทธหัตถีแย่งราชสมบัติจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ ราชสมบัติตกเป็นของเจ้าสามพระยา (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2)
  ครั้งที่ 5  พ.ศ.2077 สมเด็จพระไชยราชาธิราช สำเร็จโทษพระรัษฐาธิราช
  ครั้งที่ 6  พ.ศ.2091 ท้าวศรีสุดาจันทร์ ร่วมกับขุนวรวงศาธิราช แย่งราชสมบัติจากพระยอดฟ้า พระราชโอรสตัวเองกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช
  ครั้งที่ 7  พ.ศ.2091 กลุ่มขุนนาง แย่งราชสมบัติคืนถวายแด่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
  ครั้งที่ 8  พ.ศ.2104 พระศรีศิลป์ ราชโอรสสมเด็จพระไชยราชาธิราช เตรียมแย่งราชสมบัติจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่ถูกปราบลงได้
  ครั้งที่ 9  พ.ศ.2106 สุลต่านเจ้าเมืองปัตตานี เข้าปล้นพระราชวังสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่สุดท้ายก็ถูกปราบลงได้
  ครั้งที่ 10  พ.ศ.2124 กบฎไพร่ญาณพิเชียร
  ครั้งที่ 11  พ.ศ.2153 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมยึดอำนาจจากพระศรีเสาวภาคย์
  ครั้งที่ 12  พ.ศ.2155 ญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาเข้ายึดวังหลวง ก่อนถูกปราบปรามลงได้
  ครั้งที่ 13  พ.ศ.2173 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองแย่งอำนาจจากสมเด็จพระเชษฐาธิราชกุมาร
  ครั้งที่ 14  พ.ศ.2173-2174 เกิดกบฏเมืองนครศรีธรรมราช ปัตตานี สงขลา
  ครั้งที่ 15  พ.ศ.2199 (1) สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาพระอนุชาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แย่งราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย
  ครั้งที่ 16  พ.ศ.2199 (2) สมเด็จพระนารายณ์ ราชโอรสสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแย่งราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
  ครั้งที่ 17  พ.ศ.2199 (3) เจ้าฟ้าพระไตรยภูวนาทิตย์และขุนนางเก่า ราชโอรสต่างพระมารดาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเตรียมการกบฎ แต่ถูกปราบลงได้
  ครั้งที่ 18  พ.ศ.2229 กบฏแขกมักกะสัน
  ครั้งที่ 19  พ.ศ.2231 สมเด็จพระเพทราชายึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ
  ครั้งที่ 20  พ.ศ.2232-2241 เกิดกบฏเมืองนครราชสีมา และ นครศรีธรรมราช
  ครั้งที่ 21  พ.ศ.2237 เกิดกบฏธรรมเสถียร
  ครั้งที่ 22  พ.ศ.2241 เกิดกบฏบุญกว้าง
  ครั้งที่ 23  พ.ศ.2276 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศยึดอำนาจสมเด็จเจ้าฟ้าอภัย
  ครั้งที่ 24  พ.ศ.2301 เกิดกบฏเจ้าสามกรม ซึ่งสมเด็จกรมหลวงอุทุมพรปราบลงได้
  • การขยายอาณาเขต
        เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 อยุธยาก็ถูกพิจารณาว่าเป็น ชาติมหาอำนาจแข็งแกร่งที่สุดในอุษาคเนย์แผ่นดินใหญ่ อยุธยาเริ่มครองความเป็นใหญ่ โดยเริ่มจากการพิชิตราชอาณาจักรและนครรัฐทางเหนืออย่างสุโขทัย กำแพงเพชรและพิษณุโลก ก่อนสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 15 อยุธยาโจมตีเมืองพระนคร (นครวัด-Angor Wat) (รายละเอียดดูใน นครวัด: ยลพระบรมวิษณุโลก ก่อนสิ้นลมปราณ) ของอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคในอดีต อิทธิพลของอาณาจักรกัมพูชาก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา และอยุธยาก็กลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่แทน.

 

แผนที่อุษาคเนย์ประมาณ พ.ศ.1953 สีม่วงน้ำเงิน:อยุธยา สีเขียวเข้ม: ล้านช้าง
สีม่วง: ล้านนา ส้ม: สุโขทัย สีแดง: จักรวรรดิกัมพูชา สีเหลือง: จามปา สีน้ำเงิน: ไดเวียด6

        อย่างไรก็ตาม ราชอาณาจักรอยุธยามิได้เป็นรัฐที่รวมเป็นหน่วยเดียวกัน หากเป็นการปะติดปะต่อกันเองของอาณาเขต (principality) ที่ปกครองตนเอง และประเทศราชที่สวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจ (Circle of Power) หรือระบบมณฑล (Mandala) ดังที่นักวิชาการบางฝ่ายเสนอ อาณาเขตเหล่านี้ อาจปกครองโดยพระบรมวงศานุวงศ์กรุงศรีอยุธยา หรือผู้ปกครองท้องถิ่นที่มีกองทัพอิสระของตนเอง อันมีหน้าที่ให้การสนับสนุนแก่เมืองหลวงยามศึกสงคราม ทั้งนี้ได้มีหลักฐานว่าบางครั้งเมื่อเกิดการกบฎในท้องถิ่นที่นำโดยเจ้าหรือกษัตริย์ที่ท้องถิ่นแต่งตั้งขึ้นแข็งเมืองเป็นเอกราช อยุธยาก็จะต้องนำทัพเข้าไปปราบปรามเป็นระยะ.

        ด้วยไร้ซึ่งกฎการสืบราชสันตติวงศ์และมโนทัศน์ด้านคุณธรรมนิยม (Meritocracy) ทำให้เมื่อใดก็ตามที่การสืบราชสันตติวงศ์มีข้อพิพาทขึ้น เจ้าปกครองหัวเมืองที่มีศักดินาสูง (Dignitary) ที่ทรงอำนาจจะอ้างคุณความดีหรือความมีบุญญาธิการของตน รวมรวมไพร่พลและยกทัพมาพระนคร เพื่อกดดันมีข้อเรียกร้อง จนลงเอยด้วยการรัฐประหาร มีการนองเลือดกันหลายครั้ง.

        ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ราชอาณาจักรอยุธยา แสดงความสนใจที่จะครอบครองผืนแผ่นดินในคาบสมุทรมลายู โดยมีเมืองมะละกาเป็นเมืองท่าที่สำคัญ แข่งขันแสดงความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจ อยุธยาพยายามยกทัพไปตีมะละกาหลายครั้ง แต่ไร้ผล ทั้งนี้มะละกามีความเข้มแข็งทั้งทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ด้วยได้รับการสนับสนุนทางทหารจากราชวงศ์หมิงของจีน ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่ไม่ยอมสูญเสียเมืองสำคัญให้แก่รัฐอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ มะละกาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นหนึ่งในคู่แข่งทางการค้าที่เทียบเคียงกับอยุธยา จนกระทั่งถูกโปรตุเกสเข้าพิชิตเมื่อ พ.ศ.2054.
  • การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1
        เริ่มตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ราชอาณาจักรอยุธยาถูกราชวงศ์ตองอูแห่งพม่าโจมตีหลายครั้ง สงครามครั้งแรกคือ สงครามพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ เมื่อ พ.ศ.2091-92 แต่ล้มเหลว การรุกรานครั้งที่ 2 ของพม่า หรือเรียกว่า "สงครามช้างเผือก" เมื่อ พ.ศ.2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงบังคับให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมจำนน พระบรมวงศานุวงศ์ทรงถูกพาไปยังอังวะ และสมเด็จพระมหิทรา พระราชโอรสองค์โต ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราช เมื่อ พ.ศ.2111 พม่ารุกรานอีกเป็นครั้งที่สาม และสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในปีต่อมา หนนี้พระเจ้าบุเรงนองทรงแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นเจ้าประเทศราช.
  • การฟื้นตัว
        หลังจากที่พระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.2124 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงประกาศเอกราชแก่กรุงศรีอยุธยาในอีกสามปีต่อมา อยุธยาต่อสู้ป้องกันการรุกรานของรัฐหงสาวดี (พม่า) หลายครั้ง จนในครั้งสุดท้าย สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช (พระ-น-เรด-วอ-ระ-รา-ชา-ทิ-ราด) ทรงปลงพระชนม์เมงจีสวา (Mingyi Swa) อุปราชของพม่าได้ในสงครามยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ.2136 จากนั้น อยุธยากลับเป็นฝ่ายบุกบ้าง โดยยึดชายฝั่งตะนาวศรีทั้งหมดขึ้นไปจนถึงเมาะตะมะใน พ.ศ.2138 และล้านนาใน พ.ศ.2145 สมเด็จพระนเรศทรงถึงกับรุกรานเข้าไปในพม่าลึกถึงเมืองตองอู ใน พ.ศ.2143 แต่ทรงถูกขับออกมา หลังสมเด็จพระนเรศเสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ.2148 ตะนาวศรีตอนเหนือและล้านนาก็ตกเป็นของรัฐอังวะ (พม่า) อีกใน พ.ศ.2157 อยุธยาพยายามยึดรัฐล้านนาและตะนาวศรีตอนเหนือกลับคืนระหว่าง พ.ศ.2205-07 แต่ก็ล้มเหลว.

        การค้าขายกับต่างชาติไม่เพียงแต่ให้อยุธยามีสินค้าฟุ่มเฟีอยเท่านั้น แต่ยังได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ด้วย. กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อยุธยาค่อย ๆ สูญเสียการควบคุมเหนือหัวเมืองรอบนอก เจ้าเมืองเอกโทรอบนอกใช้อำนาจของตนอย่างอิสระ และเริ่มแข็งข้อต่ออยุธยา.
  • การล่มสลาย
        หลังจากยุคสมัยอันนองเลือดด้วยการต่อสู้กันเองภายในของราชวงศ์ กรุงศรีอยุธยาเข้าสู่ "ยุคทอง" ในครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงที่กรุงศรีอยุธยาค่อนข้างสงบ ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรมเฟื่องฟู แต่ก็ยังมีศึกสงครามกับชนชาติเวียด โดยกรุงศรีอยุธยาปะทุสงครามกับ "เจ้าเหงียน (Nguyen Lords)" ซึ่งเป็นผู้ปกครองชนชาติเวียดทางตอนใต้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการที่กรุงศรีอยุธยา จะคืบรุกเข้าปกครองและควบคุม "กัมพูชา" ต่อไป. แต่ครั้นเริ่ม พ.ศ.2258 กรุงศรีอยุธยาประสบภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือ การเติบโตของอาณาจักรพม่า ภายใต้่ราชวงศ์ใหม่ "อลองพญา" หรือ "ราชวงศ์คองบอง" โดยราชวงศ์อลองพญาได้ผนวกไทยใหญ่หรือรัฐฉาน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่า.

        ระยะ 50 ปีสุดท้ายของอาณาจักรอยุธยานั้น เกิดการนองเลือดรบราเพื่อชิงราชบัลลังก์กันเองในระหว่าง "เจ้าศักดินา" เกิดการกวาดล้างข้าราชบริพารและแม่ทัพนายกองที่มีความสามารถที่ถือข้างต่างฝ่ายต่างขั้วกัน  พระเจ้าเอกทัศ (สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์) กษัตริย์พระองศ์สุดท้ายของราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้บังคับให้สมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร พระอนุชา ซึ่งเป็นกษัตริย์อยู่ก่อนนั้น สละราชสมบัติและพระเจ้าเอกทัศขึ้นครองราชย์แทน.

        ในปี พ.ศ.2303 พระเจ้าอลองพญา (Alaungpaya) (มีความหมายว่า "พระโพธิสัตว์")  ทรงยกทัพเข้ามารุกรานอาณาจักรอยุธยา หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาว่างเว้นจากศึกภายนอกมาร่วม 150 ปี การใช้ทหารของกรุงศรีฯ ที่ผ่านมาเป็นเพียงการใช้กำลังรบกันเองระหว่าง "เจ้าศักดินา" เพื่อแย่งยิงราชสมบัติกันเองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กองทัพของพระเจ้าอลองพญาก็ไม่สามารถเข้าตีเอาชนะกรุงศรีฯ ได้ ต้องล่าทัพกลับไปยังกรุงอังวะในท้ายที่สุด.

        แต่ในการรุกรานของพม่าครั้งต่อมาในปี พ.ศ.2308 พระเจ้ามังระ (พระเจ้าเซงพยูเชง : Hsinbyushin เป็นพระนามที่พระองค์ตั้งขึ้นเอง อันเป็นพระนามเดียวกันกับพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งแปลว่า "พระเจ้าช้างเผือก")  ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าอลองพญา (ซึ่งพระเจ้ามังระได้เสด็จตามพระราชบิดามาตีกรุงศรีฯ มาเมื่อครั้ง พ.ศ.2303 แล้วด้วย) ทรงแบ่งกองกำลังออกเป็นสองส่วน และเตรียมการกว่าสามปี มุ่งเข้าตีกรุงศรีอยุธยาพร้อมกันสองด้าน ทางเหนือนำโดยเนเมียวสีหบดี (Ne Myo Thihapate) นำไพร่พลกว่า 20,000 นาย  ทางใต้นำโดยมังมหานรธา (Maha Nawrahta) อาญาจักรกรุงศรีอยุธยาได้ยืนหยัดต้านทานการล้อมของพม่าไว้ได้ถึง 14 เดือน ท้ายที่สุดในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 กรุงศรีอยุธยาก็แตก นับเป็นการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2.


 
  • การปกครอง
         ช่วงแรกมีการปกครองคล้ายคลึงกับในสมัยสุโขทัย กษัตริย์มีสิทธิ์ปกครองโดยตรงในราชธานี หากทรงใช้อำนาจผ่านข้าราชการและขุนนางเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีระบบการปกครองภายในราชธานีที่เรียกว่า จตุสดมภ์ ตามการเรียกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชนุภาพ อันได้แก่ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา.

        การปกครองนอกราชธานี ประกอบด้วย
  • เมืองหน้าด่าน
  • เมืองชั้นใน
  • เมืองพระยามหานคร และ
  • เมืองประเทศราช
        โดยมีรูปแบบกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางค่อนข้างมาก เมืองหน้าด่าน ได้แก่ ลพบุรี นครนายก พระประแดง และสุพรรณบุรี ตั้งอยู่รอบราชธานีทั้งสี่ทิศ ระยะเดินทางจากราชธานีสองวัน กษัตริย์จะส่งเชื้อพระวงศ์ที่ไว้วางพระทัยไปปกครอง แต่รูปแบบนี้ก็นำมาซึ่งปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติอยู่บ่อยครั้ง เมืองชั้นในปกครองโดยผู้รั้ง ถัดออกไปเป็นเมืองพระยามหานครหรือหัวเมืองชั้นนอก ปกครองโดยเจ้าเมืองที่สืบเชื้อสายมาแต่เดิม มีหน้าที่จ่ายภาษีและเกณฑ์ผู้คนในราชการสงคราม และสุดท้ายคือเมืองประเทศราช กษัตริย์ปล่อยให้ปกครองกันเอง เพียงแต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการมาให้ราชธานีทุกปี.

        ต่อมา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ.1991-2031) ทรงยกเลิกระบบเมืองหน้าด่าน เพื่อขจัดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติและขยายอำนาจราชธานีโดยการกลืนเมืองรอบข้างเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชธานี สำหรับระบบจตุสดมภ์ ทรงแยกกิจการพลเรือนออกจากกิจการทหารอย่างชัดเจน ให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสมุหนายกและสมุหกลาโหมตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนชื่อกรมและชื่อตำแหน่งเสนาบดี แต่ยังคงไว้ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเดิม.

         ส่วนการปกครองในระดับภูมิภาค ก็มีลักษณะเปลี่ยนไปในทางการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางให้มากที่สุด โดยให้เมืองชั้นนอกเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของราชธานี มีระบอบการปกครองที่ลอกมาจากราชธานี มีการจัดลำดับความสำคัญของหัวเมืองออกเป็นชั้นเอก โท ตรี สำหรับหัวเมืองประเทศราชนั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากนัก หากแต่กษัตริย์จะมีวิธีการควบคุมความจงรักภักดีต่อราชธานีหลายวิธี เช่น การเรียกเจ้าเมืองประเทศราชมาปรึกษาราชการ หรือมาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือถวายพระเพลิงพระบรมศพในราชธานี การอภิเษกสมรสโดยการส่งราชธิดามาเป็นสนม และการส่งข้าราชการไปปกครองเมืองใกล้เคียงกับเมืองประเทศราช เพื่อคอยส่งข่าว ซึ่งเมืองที่มีหน้าที่ดังกล่าว เช่น พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช.

        ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ พ.ศ.2231-2246) ทรงกระจายอำนาจทางทหารซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับสมุหกลาโหมแต่ผู้เดียวออกเป็นสามส่วน โดยให้สมุหกลาโหมเปลี่ยนไปควบคุมกิจการทหารในราชธานี กิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองทางใต้ ให้สมุหนายกควบคุมกิจการพลเรือนในราชธานี กิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองทางเหนือ และพระโกษาธิบดี ให้ดูแลกิจการทหารและพลเรือนของหัวเมืองตะวันออก. ต่อมาสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ พ.ศ.2275-2301) ทรงลดอำนาจของสมุหกลาโหมเหลือเพียงที่ปรึกษาราชการ และให้หัวเมืองทางใต้ไปขึ้นกับพระโกษาธิบดีด้วย.

        นอกจากนี้ ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ.2112-2133) ยังได้จัดกำลังป้องกันราชธานีออกเป็นสามวัง ได้แก่ วังหลวง มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางเหนือ วังหน้า มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางตะวันออก และวังหลัง มีหน้าที่ป้องกันพระนครทางตะวันตก ระบบดังกล่าวใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01.  จาก. สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระเจ้าอู่ทอง สร้าง อยุธยา มาจากไหน?, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2557, หน้า 48-51.
02.  จาก. Facebook เพจ "พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา," วันที่โพสต์ July 18, 2015.
03.  จาก. George Modeski, World Cities:-3000 to 2000, Washington DC: FAROS 2000, 2003. ISBN 978-0-9676230-1-6.
04.  จาก. Ayutthaya, Thailand's historic city. The Times of India. 2008-07-31.
05.  จาก. Derick Garnier (2004). Ayutthaya: Venice of the East. River books. ISBN 974-8225-60-7.
06.  จาก. http://ecaimaps.berkeley.edu/animations/2003_03_khmer_animation.swf.
07.  จาก. สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระเจ้าอู่ทอง สร้าง อยุธยา มาจากไหน?, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2557, หน้า 20-24.
08.  จาก. สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ), พระเจ้าอู่ทอง สร้าง อยุธยา มาจากไหน?, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2557, หน้า 25-27.
09.  ประวัติศาสตร์อยุธยา ต้องทบทวนใหม่ ไม่ใช่ราชธานีแห่งที่สอง  เพราะไม่เคยมีแห่งแรกที่สุโขทัย, สุจิตต์ วงษ์เทศ, มติชนออนไลน์, วันที่สืบค้น 8 กรกฎาคม 2559. "ประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย สร้างอยุธยาให้อยู่โดด ๆ ลอย ๆ ไม่มีเครือญาติชาติพันธุ์ และชาติภาษา มีแต่คนไทยแท้ ๆ ที่อพยพถอนรากถอนโคนมาจากอัลไต น่านเจ้า ซึ่งไม่มีหลักฐานสนับสนุน
ดังนั้น ต้องยกเลิกประวัติศาสตร์ไทยที่วิปลาสคลาดเคลื่อน แล้วทำความเข้าใจใหม่ตามหลักฐานแท้จริงทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ดังนี้

       1) คนไทยไม่ได้อพยพถอนรากถอนโคนมาจากเทือกเขาอัลไต
       2)  สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย เพราะประเทศไทยยังไม่มี
       3) อยุธยาไม่ใช่ราชธานีที่สอง มีขึ้นหลังสุโขทัยล่มสลาย แต่อยุธยามีความเป็นมาก่อนมีสุโขทัย และมีส่วนสนับสนุนให้เกิดรัฐสุโขทัย
       4) คนเชื้อชาติไทยแท้ ๆ ไม่มี เพราะไทยและคนไทยเป็นชื่อทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ
       5) กลุ่มชนเรียกตัวเองว่าไทย, คนไทย เพิ่งพบหลักฐานและร่องรอยแรก ๆ ราวหลัง พ.ศ.1800 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง มีศูนย์กลางอยู่อยุธยา

      ดังนั้นในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม บอกว่ามีคนไทยในยูนนานแล้วอพยพเคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558 หน้า 75) จึงน่าสงสัยอย่างยิ่งว่ามีคนไทยอยู่ส่วนไหนของยูนนาน เพราะที่สิบสองพันนามีแต่ชาวลื้อ (ที่เป็นไต-ไท) เขาไม่เรียกตัวเองว่า คนไทย เว้นเสียแต่ทางการไทยบังคับให้เขาเป็นคนไทย


กำเนิดอยุธยา

     ต้องยกเลิกเรื่องพระเจ้าอู่ทองอพยพไพร่พลหนีโรคห่าจากเมืองสุพรรณ ไปสร้างกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893 เพราะไม่มีหลักบานสนับสนุน เป็นที่รู้ในหมู่นักวิชาการนานแล้ว ตั้งแต่ราว พ.ศ.2509 หรือ 50 ปีมาแล้ว แต่ทางการไม่ป่าวประกาศให้สาธารณชนรับรู้ ครูบาอาจารย์ส่วนมากไม่รู้ การเรียนการสอนตามระบบโรงเรียนจึงยังไม่เปลี่ยน

     กำเนิดอยุธยาตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี กับร่องรอยในตำนานพงศาวดาร ควรเป็นดังนี้

      1. อยุธยาเป็นป่าชายเลนยุคทวารดี ราวหลัง พ.ศ.1000 ฝั่งทะเลอยู่บริเวณที่ปัจจุบันเรียกเขตบางขุนเทียน-เขตคลองเตย กทม. มีแม่น้ำ (เจ้าพระยา) เป็นแกนสำคัญ มีชุมชนหมู่บ้านทำประมงกระจัดกระจายทั่วไป แต่มีชุมชนใหญ่อยู่สามแยกแม่น้ำ บริเวณที่ปัจจุบันเป็นวัดพนัญเชิง ถึงวัดพุทไธศวรรย์ มีรัฐขนาดใหญ่แล้วในภาคกลาง ได้แก่ รัฐจินหลิน (อู่ทอง สุพรรณบุรี) รัฐหลั่งยะสิว (นครปฐม) รัฐโถโลโปตี (น่าจะ Derived มาจาก "ทวารดี") (ลพบุรี) ฯลฯ และรัฐอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคสุวรรณภูมิอุษาคเนย์  ราวหลัง พ.ศ.1500 มีกลุ่มรัฐใหญ่อยู่สองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา คือรัฐละโว้ (ลพบุรี) กับรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี)

     2. อยุธยามีขึ้นจากการรวมตัวอย่างหลวม ๆ ของรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2 กลุ่ม ได้แก่

        (1) รัฐละโว้ (ลพบุรี) อยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และ (2) รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) อยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีการรวมตัวอย่างหลวม ๆ น่าจะมีหลายครั้ง เท่าที่พบหลักฐานขณะนี้มีอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่
        ก่อน พ.ศ.1839 (ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่) พบหลักฐานอยู่ในเอกสารของโจวต้า กวาน ทูตจีนที่เข้าไปรัฐเจนละ สมัยเมืองพระนครหลวง (หรือนครธม)
        หลัง พ.ศ.1893 เป็นที่รับรู้ทั่วไปแล้ว แต่ยังไม่ถาวร เพราะหลังแผ่นดินขุนหลวงพะงั่ว รัฐสุพรรณภูมิก็แยกเป็นเอกเทศ
        หลัง พ.ศ.1950 เจ้านครอินทร์ (โดยการสนับสนุนของจีน) ยึดอยุธยา เนรเทศกษัตริย์อยุธยาวงศ์ละโว้ไปอยู่ปทาคูจาม (ปัจจุบันอยู่ด้านทิศใต้ นอกเกาะเมืองอยุธยา)



ร้อยพ่อพันแม่

     อยุธยามีคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ผสมผสานอยู่ด้วยกัน เหมือนร้อยพ่อพันแม่ ด้วยเหตุอย่างน้อย 2 ประการ คือ:
     1. อยุธยาเป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์อย่างแยกออกจากกันมิได้ ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อยุธยาจึงมีความหลากหลายด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้ เอกสารของชาวยุโรปสมัยพระนารายณ์ฯ บอกว่ายุคนั้นมีคนกลุ่มต่าง ๆ มากกว่า 20 ชาติภาษา
     2. อุษาคเนย์มีพื้นที่กว้างขวาง แต่มีคนน้อย (ตรงข้ามกับยุโรปพื้นที่น้อยมีคนมาก) จึงให้ความสำคัญต่อการโยกย้ายถ่ายเทกวาดต้อนคนเป็นเชลยเพื่อเพิ่มประชากรในบ้านเมืองของตน (ไม่ยึดครองดินแดนตามที่มีบอกในตำราประวัติศาสตร์ไทย)

     อยุธยาก็เช่นเดียวกัน มีการกวาดต้อนโยกย้ายเชลยศึกบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มเติมประชากร เป็นเหตุให้มีการผสมผสานทางเผ่าพันธุ์ตลอดเวลา จึงไม่มีชาติพันธุ์ใดบริสุทธิ์ มีแต่ประเภทร้อยพ่อพันแม่

 
info@huexonline.com