MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 3: พระเจ้าอู่ทอง, พระราเมศวร และ ขุนหลวงพะงั่ว

First Revision: July 21, 2015
Last Change: May 10, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา
อาณาจักรอยุธยา ตอนที่ 3
พระมหากษัตริย์

         ตลอดระยะเวลาการเป็นกรุงศรีอยุธยารวม 417 ปีนั้น กรุงศรีฯ มีพระมหากษัตริย์รวม 5 ราชวงศ์ คือ

1.  ราชวงศ์อู่ทอง มีกษัตริย์ 3 พระองค์  ปกครองร่วม 41 ปี  สองช่วง คือ พ.ศ.1893-1913 และ พ.ศ.1952-1931
2.  ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีกษัตริย์ 13 พระองค์ ปกครองร่วม 178 ปี สองช่วง คือ พ.ศ.1913-1931 และ พ.ศ.2112-1952
3.  ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ 7 พระองค์ ปกครองร่วม 61 ปี  คือ พ.ศ.2112-2173
4.  ราชวงศ์ปราสาททอง มีกษัตริย์ 4 พระองค์ ปกครองร่วม 58 ปี คือ พ.ศ.2231-2173 และ
5.  ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ 6 พระองค์ ปกครองร่วม 79 ปี  คือ พ.ศ.2231-2310

       ซึ่งแต่เดิมนั้นทุกราชวงศ์ล้วนอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากสุริยวงศ์ (ปทุมสุริยวงศ์) ทั้งสิ้น แต่ต่อมาภายหลังได้จำแนกเป็น 5 ราชวงศ์ข้างต้น (ซึ่งอิงจากสาแหรกที่มาราชวงศ์ต้นตระกูลเดิม) โดยนักประวัติศาสตร์ในสมัยรัตนโกสินทร์ (ดูใน
อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 20: สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (รามาธิบดีที่ 3))

         รวมมีพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 33 พระองค์.

 
ลำดับ พระนาม พระราชสมภพ ขึ้นครองราชย์ สิ้นรัชกาล สวรรคต รวมปีครองราชย์
ราชวงศ์อู่ทอง (ครั้งที่ 1) 20 ปี (พ.ศ.1893-1913)
1  พระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) พ.ศ.1855 พ.ศ.1893 พ.ศ.1912 20 ปี
2 (1)  สมเด็จพระราเมศวร พ.ศ.1885 พ.ศ.1912 พ.ศ.1913 พ.ศ.1938 ไม่ถึง 1 ปี
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ครั้งที่ 1) 18 ปี (พ.ศ.1913-1931)   
3  ขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1) พ.ศ.1853 พ.ศ.1913  พ.ศ.1931 18 ปี
4  สมเด็จพระเจ้าทองลัน (เจ้าทองจันทร์) พ.ศ.1917 พ.ศ.1931   7 วัน
ราชวงศ์อู่ทอง (ครั้งที่ 2) 21 ปี (พ.ศ.1931-1952)   
2 (2)  สมเด็จพระราเมศวร พ.ศ.1885 พ.ศ.1931 พ.ศ.1938  7 ปี
5  สมเด็จพระรามราชาธิราช พ.ศ.1899 พ.ศ.1938 พ.ศ.1952 ? 15 ปี
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ครั้งที่ 2) 160 ปี (พ.ศ.1952-2112)         
6  สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) พ.ศ.1902 พ.ศ.1952 พ.ศ.1967  15 ปี
7  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พ.ศ.1929 พ.ศ.1967 พ.ศ.1991  24 ปี
8  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.1974 พ.ศ.1991 พ.ศ.2031  40 ปี
9  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พ.ศ.2005 พ.ศ.2031 พ.ศ.2034  3 ปี
10  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ.2015 พ.ศ.2034 พ.ศ.2072  38 ปี
11  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) พ.ศ.2040 พ.ศ.2072 พ.ศ.2076 4 ปี
12  สมเด็จพระรัษฎาธิราช พ.ศ.2072 พ.ศ.2077   5 เดือน
13  สมเด็จพระไชยราชาธิราช พ.ศ.2045 พ.ศ.2077 พ.ศ.2089  12 ปี
14  สมเด็จพระยอดฟ้า (พระแก้วฟ้า) พ.ศ.2078 พ.ศ.2089 พ.ศ.2091  2 ปี
 -  ขุนวรวงศาธิราช พ.ศ.2049 พ.ศ.2091  (ไม่ได้รับการยกย่องแต่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) 42 วัน
15  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พระเจ้าช้างเผือก) พ.ศ.2048 พ.ศ.2091 พ.ศ.2111  20 ปี
16  สมเด็จพระมหินทราธิราช พ.ศ.2082 พ.ศ.2111 7 สิงหาคม 2112  1 ปี
 เสียกรุงฯ ครั้งที่ 1     
ราชวงศ์สุโขทัย 61 ปี (พ.ศ.2112-2173)     
17  สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1) พ.ศ.2059 พ.ศ.2112 พ.ศ.2133  21 ปี
18  สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2) พ.ศ.2098 29 กรกฎาคม 2133 25 เมษายน พ.ศ.2148 15 ปี
19  สมเด็จพระเอกาทศรถ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 3) พ.ศ.2104 25 เมษายน 2148 พ.ศ.2153 5 ปี
20  พระศรีเสาวภาคย์ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 4) ? พ.ศ.2153 2 เดือน
21  สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (สมเด็จพระบรมราชาที่ 1) พ.ศ.2125 พ.ศ.2154 12 ธันวาคม พ.ศ.2171 17 ปี
22  สมเด็จพระเชษฐาธิราช พ.ศ.2156 พ.ศ.2171 พ.ศ.2173  1 ปี 8 เดือน
23  พระอาทิตยวงศ์ พ.ศ.2161 พ.ศ.2173 พ.ศ.2173 พ.ศ.2178 36 วัน
ราชวงศ์ปราสาททอง 58 ปี (พ.ศ.2173-2231)      
24  สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (สมเด็จพระสรรเพชญที่ 5) พ.ศ.2143 พ.ศ.2173   พ.ศ.2199 25 ปี
25  สมเด็จเจ้าฟ้าไชย (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 6) ? พ.ศ.2199 9 เดือน
26  สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 7) ? พ.ศ.2199 2 เดือน 17 วัน
27  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3) พ.ศ.2175 พ.ศ.2199 พ.ศ.2231 11กรกฎาคม2231 32 ปี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง 79 ปี (พ.ศ.2231-2310)
28  สมเด็จพระเพทราชา พ.ศ.2175 พ.ศ.2231 พ.ศ.2246 15 ปี
29  สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี - พระเจ้าเสือ
(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8)
พ.ศ.2204 พ.ศ.2246 พ.ศ.2251  5 ปี
30  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
(สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9)
พ.ศ.2221 พ.ศ.2251 พ.ศ.2275 24 ปี
31  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ.2223 พ.ศ.2275 พ.ศ.2301 26 ปี
32  สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) พ.ศ.2265 พ.ศ.2301 พ.ศ.2339 2 เดือน
33  สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พ.ศ.2252 พ.ศ.2301 7เมษายน2310 26 เมษายน 2310 9 ปี
เสียกรุงฯ ครั้งที่ 2

        จะกล่าวพระราชประวัติและผลงานของกษัตริย์แต่ละพระองค์ดังนี้:

1. พระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1)1
 

พระนามเต็ม: สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว รามาธิบดีที่ 1 อู่ทอง
สมภพเมื่อ พ.ศ.1855 ครองราชย์เมื่อ พ.ศ.1893 สวรรคตเมื่อ พ.ศ.1912
ระยะเวลาการครองราชย์รวม 19 ปี   ราชวงศ์อู่ทอง

        เป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรอยุธยา ทรงตั้งอาณาจักรอยุธยาเมื่อ จุลศักราช 712 ปีขาล โทศก วันศุกร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ เวลา 3 นาฬิกา (ตรงกับวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.1893) เสด็จสวรรคตเมื่อ ปีระกา เอกศก จุลศักราช 731 (ตรงกับ พ.ศ.1912) ครองราชสมบัติ 20 ปี ผู้สืบพระราชบัลลังก์คือ สมเด็จพระราเมศวร. พ.ศ.1894 (ค.ศ.1351) วันที่ 2 กุมภ์ -- รามาธิบดีสถาปนากรุงศรีอโยธยา11.
  • พระนาม สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
  1.  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (หลังจากขึ้นครองราชย์)
  2.  พระเจ้าอู่ทอง (กษัตริย์ผู้ครองเมืองอู่ทองแคว้นสุพรรณภูมิ)
  3.  สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสุนทร บรมมหาจักรพรรดิศรราชาธิราช (ในโองการแช่งน้ำ)
  4.  สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสุนทรบรมจักรพัตราธิราช (ในกฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์)
  5.  สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทร บรมจักรพรรดิศร บวรมหาธรรมิกราชาธิราช (ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง)
  • ที่มาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มีแนวคิดดังนี้
  1. พระเจ้าอู่ทองมาจากอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแนวความคิดของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ในปัจจุบันแนวความคิดนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เนื้่องจากการสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีของ อ.มานิต วัลลิโภดม ที่เมืองอู่ทองแล้วพบว่า เป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดีตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ทั้งสิ้น ได้ประมาณอายุเมืองนี้ว่าต้องร้างไปก่อนสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี ผู้สร้างพระนครศรีอยุธยาราว 200 ปี ศาสตราจารย์ ชอง บวสเซอลิเย่ แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส มาร่วมขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อเมื่อ พ.ศ.2511 สรุปว่าเมืองอู่ทองโบราณนี้ร้างไปแล้วเป็นเวลาถึง 300 ปี ก่อนยุคของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1.
  2. สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มผู้ปกครองทางเหนือ ใน "ตำนานสิงหนวัติ" กล่าวว่า พระเจ้าอู่ทองสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าพรหมกุมาร มีต้นวงศ์อยู่ที่เมืองเชียงแสนหรือแคว้นโยนกนคร ต่อมาพระเจ้าพรหมได้อพยพมาสร้างเมืองเชียงรายหรือเวียงไชยปราการ กษัตริย์ที่เวียงไชยปราการที่ปกครองสืบต่อมา ถูกเมืองสุธรรมวดีรุกราน จึงอพยพมาอยู่แถบบริเวณเมืองไตรตรึงส์ สืบต่ออายุมาหลายชั่วคน จนถึงพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี.
  3. แนวความคิดที่ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นชาวจีน เป็นเพียงการอ้างอิงจากพงศาวดารฉบับวันวลิ อีกทั้งก็ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีมาสนับสนุน ข้อสันนิษฐานนี้ จึงไม่มีน้ำหนักมากพอเช่นกัน.
  4. พระเจ้าอู่ทองมาจากเมืองเพชรบุรี (พริบพรี) ที่กล่าวถึงในจดหมายเหตุลาลูแบร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ รวมถึงยังมีตำนานที่กล่าวอ้างอิงถึงอยู่บ้าง โดยกล่าวอ้างว่า สมเด็จพระบรมราชาสถาปนาพระพุทธไตรรัตนนายกได้ 1 ปี ก็เสด็จออกผนวช แล้วสถาปนาเจ้าชายวรเชษฐ์ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ครั้งลาสิกขาแล้ว ก็โปรดให้เจ้าชายวรเชษฐ์ไปครองเมืองเพชรบุรี ซึ่งตำนานระบุว่าต่อมาคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1.
  5. พระเจ้าอู่ทองอยู่บริเวณอยุธยานี้เดิมแล้ว โดยตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของเกาะเมืองในปัจจุบัน เดิมเป็นเจ้าเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ต่อมาเมื่อมีโรคระบาดดังกล่าวก็ได้เสด็จมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณที่เป็นกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบัน (บริเวณเกาะเมือง).
  6. พระเจ้าอู่ทองสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองลพบุรี โดยอ้างหลักฐานทางลายลักษณ์อักษรจาก "ชินกาลมาลีปกรณ์" ที่กล่าวถึงกษัตริย์จากเมืองอโยธยาปุระเสด็จมาจากเมืองกัมโพชหรือลพบุรีในปัจจุบัน มายึดเมืองชัยนาท ("ชัยนาท" เดิมคือชื่อของเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ภายหลังสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีพระบรมราชโองการให้ย้ายชื่อดังกล่าว มาเป็นนามเมืองปากแพรกหรือเมืองชัยนาทในปัจจุบันแทน) หรือเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน แล้วตั้งขุนนางชื่อวัฏเดชหรือขุนหลวงพะงั่ว ครองเมืองสุพรรณภูมิ ญาติของวัฏเดชได้อภิเษกกับพระเจ้าอู่ทอง แล้วพระองค์ก็ได้เสด็จกลับไปที่เมืองอโยธยาปุระ.
          ตามหลักฐานและโบราณคดี
             ทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในแนวคิด 4 5 และ 6 สามารถผนวกรวมกันได้ กล่าวคือ เมื่อพิจารณาตำนานทั้งหลายแล้ว เจ้าชายวรเชษฐ์ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมราชากษัตริย์แห่งอาณาจักรละโว้ (แนวความคิดที่ 6) ต่อมาพระราชชนกโปรดให้ไปครองเมืองพริบพรี (แนวความคิดที่ 4) และหลังจากพระราชชนกเสด็จสวรรคตแล้ว ทรงกลับมาเมืองอโยธยา (แนวความคิดที่ 5) จากนั้นจึงเกิดโรคระบาด จึงทรงย้ายที่ตั้งเมืองมายังตำแหน่งปัจจุบัน.

 
  • พระราชกรณียกิจ
        การสงครามกับเขมร
          ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระองค์ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับแว่นแคว้นต่าง ๆ มากมาย แม้กระทั่ง อาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเจริญสัมพันธไมตรีมาด้วยดี ตราบจนกษัตริย์กัมพูชาเสด็จสวรรคต พระราชโอรสพระนาม "พระบรมลำพงศ์" ทรงขึ้นครองราชย์ ซึ่งพระบรมลำพงศ์ ได้แปรพักตร์ไม่เป็นไมตรีดังแต่ก่อน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงมีบัญชาให้ สมเด็จพระราเมศวร ยกทัพไปตีกัมพูชา และให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว ทรงยกทัพไปช่วย จึงสามารถตีเมืองนครธมแตก พระบรมลำพงศ์สวรรคตในศึกครั้งนี้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงแต่งตั้ง ปาสัต พระราชโอรสของพระบรมลำพงศ์เป็นกษัตริย์กรุงกัมพูชาสืบไป.

ภาพมหาปราสาทนครวัด ถ่ายขาวดำ เมื่อ 22 ตุลาคม 2561.

        ตรากฎหมาย
          สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงประกาศใช้กฎหมายถึง 10 ฉบับ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่ :-
  • พระราชบัญญัติลักษณะพยาน
  • พระราชบัญญัติลักษณะอาญาหลวง
  • พระราชบัญญัติลักษณะรับฟ้อง
  • พระราชบัญญัติลักษณะลักพา
  • พระราชบัญญัติลักษณะอาญาราษฎร์
  • พระราชบัญญัติลักษณะโจร
  • พระราชบัญญัติเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน
  • พระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย
  • พระราชบัญญัติลักษณะโจรว่าด้วยโจร
         บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่ามีการประกาศใช้กฎหมายมากกว่านี้ แต่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนมากพอ.

       การศาสนา
         ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดต่าง ๆ เช่น
  • วัดพุทไธศวรรย์ เมื่อปี พ.ศ.1876
  • สร้างวัดป่าแก้ว เมื่อปี พ.ศ.1900
  • วัดพระราม เมื่อปี พ.ศ.1912
       พระอัยกา
         พระเจ้าศิริธรรมราช เจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าไชยสิริ กษัตริย์แคว้นโยนกเชียงแสน.

       พระราชบิดา
         มีหลายพระนาม - พระเจ้าศิริชัย หรือ พระเจ้าชัยศิริเชียงแสน หรือ ท้าวแสนปม ผู้สร้างเมืองศรีรามเทพนคร เป็นพระโอรสของพระเจ้าศิริธรรมราช.

       พระโอรส
         พระราเมศวร พระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา

 
          
 
ภาพวัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา สภาพเดิม ก่อนการขุดแต่งบูรณะซ่อมแซม วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อ "วัดป่าแก้ว"
หรือ "วัดเจ้าไท" ตั้งอยู่ภายนอกเกาะเมืองพระนคร​ศรี​อยุธยา​ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900
เป็นที่พำนักของพระภิกษุคณะป่าแก้ว ซึ่งมี สมเด็จพระวันรัตน์เป็นประธานสงฆ์ จึงได้ชื่อว่า วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว
ที่มา: Facebook ห้องพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ มนุษย์ สังคม วัฒนธรรม และ การเมือง วันที่เข้าถึง: 2 ตุลาคม 2562.



2.  สมเด็จพระราเมศวร2
 
พระนามเต็ม: สมเด็จพระราเมศวร
สมภพเมื่อ พ.ศ.1875 ครองราชย์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.1912 เมื่อพระชนม์ 37 พรรษา
ครองราชย์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.1931 เมื่อพระชนม์ 63 พรรษา
สวรรคตเมื่อ พ.ศ.1938
ระยะเวลาการครองราชย์รวม 8 ปี  (ครั้งแรก: 1 ปี ครั้งที่ 2: 7 ปี)  ราชวงศ์อู่ทอง

        สมเด็จพระราเมศวร (นักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านเขียนว่า พระรามเมศวร (Prae Rhaem Mijsoon)6 กษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) กับพระขนิษฐาของขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาที่ 1 ) ผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี พระราชสมภพเมื่อใน พ.ศ.1875 พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเดียวก็สละราชสมบัติให้ขุนหลวงพะงั่ว ผู้เป็นลุง (มาตุลา) และเสด็จขึ้นครองราชย์อีกครั้ง ภายหลังการสำเร็จโทษพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสของขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1) ที่เสด็จครองราชย์ได้เพียง 7 วัน.

        เป็นเรื่องที่แพร่หลายรู้กันดีในราชสำนักอยุธยา6 จึงมีคำบอกเล่าตกทอดมาถึงสมัยหลัง ๆ ดังมีบันทึกเป็นหลักฐานอยู่ใน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ.21827 ดังนี้: "พระรามเมศวร (Prae Rhaem Mijsoon) กษัตริย์องค์ที่ 2 ของสยาม เสวยราชย์ได้ 3 ปีก็ถูกถอดออกจากตำแหน่ง.

        พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้าอู่ทอง ขึ้นเสวยราชย์อย่างสงบสุข เมื่อพระชนมายุ 30 พรรษา ทรงพระนามว่า พระรามเมศวร.

        พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ไม่ค่อยจะฉลาดนัก มีอุปนิสัยไม่ดี โหดร้ายและกระหายเลือด โกรธง่าย ตระหนี่ ตะกละ โลภ และตัณหาจัด พระองค์ไม่ลังเลที่จะใช้พระราชอำนาจฉุดคร่าภรรยาของผู้อื่นมาเป็นของตน.

        พระองค์ไม่ค่อยสนพระทัยในสวัสดิภาพของบ้านเมือง และความสงบสุขของชุมนุมชน พระองค์ไม่ได้เป็นนักรบโดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่ทรงรักทหารเลย สนพระทัยศาสนาแต่เพียงเล็กน้อย และไม่สนพระทัยคนยากจนเลย.

        นี่เป็นเหตุผลเมื่อพระองค์ครองราชย์ได้ 3 ปี ก็ถูกถอดออกจากตำแหน่งโดยพระปิตุลา พระองค์ถูกตามล่าทุกหนแห่ง จนไม่มีใครล่วงรู้ว่าพระองค์ได้ไปหลบซ่อนอยู่ ณ ที่ใดเป็นเวลาช้านาน
".

        แม้พระองค์จะเป็นกษัตริย์ที่ทรงประหารหลานของพระองค์เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ แต่พระองค์ก็ทรงสร้างคุณูปการต่อกรุงศรีอยุธยาไว้หลายประการ ไม่ว่าจะด้านพระศาสนาหรือการสงคราม ซึ่งพระราเมศวรได้ขยายอาณาจักรอยุธยาให้ยิ่งใหญ่ ทำนุบำรุงพระศาสนา แต่จะใช้เวลาส่วนมากในการทำสงคราม

พระราชประวัติ
        พระราเมศวรเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอู่ทอง ที่ประสูติแต่พระขนิษฐาของขุนหลวงพะงั่ว เมื่อพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทองโปรดเกล้าฯ ให้พระราเมศวรไปปกครองเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงและเป็นเมืองด่านหน้าทางด้านตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา.

        ครั้นพระเจ้าอู่ทองสวรรคต ในปี พ.ศ.1912 พระราเมศวรครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ต่อเมื่อพระชนมายุได้ 37 ปี ซึ่งทรงครองราชย์ได้เพียงปีเดียว ขุนหลวงพะงั่วซึ่งเป็นพระมาตุลา (ลุง) ก็ยกทัพมาจากสุพรรณบุรี เข้าประชิดกรุงศรีฯ ไว้ พระราเมศวรจึงถวายราชสมบัติให้ขุนหลวงพะงั่วเป็นกษัตริย์แทน.

       ภายหลังขุนหลวงพะงั่วเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.1931 พระเจ้าทองลันโอรสของขุนหลวงพะงั่ว เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้เพียง 7 วัน สมเด็จพระราเมศวรได้ยกพลมาแต่เมืองลพบุรี ได้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าทองลันเสีย และขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อมีพระชนมายุได้ 56 พรรษา.

       พระราเมศวรเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.1938 เมื่อมีพระชนม์ 63 พรรษา ได้ครองราชสมบัติรวม 2 ครั้ง เป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 8 ปี โดยสมเด็จพระรามราชาธิราช พระโอรสของพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ในลำดับถัดมา.

 
  • พระราชกรณียกิจ
  • ราชการสงคราม
        เมื่อปี พ.ศ.1895 ขณะที่พระองค์ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) อยู่นั้น พระบิดาโปรดให้อัญเชิญพระองค์ลงมาจากเมืองลพบุรีและตรัสว่าขอมแปรพักตร์ต้องปราบปรามเสีย จึงโปรดให้พระองค์ยกพลร่วม 5,000 นาย ไปยังเมืองนครธมแห่งอาณาจักรกัมพูชา พระยาอุปราชพระโอรสในพระบรมลำพงษ์ราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา ได้เข้าโจมตีทัพหน้าของกรุงศรีฯ จนแตกพ่าย แล้วจึงเข้าปะทะกับทัพหลวงต่อ เมื่อพระเจ้าอู่ทองทราบเรื่อง จึงได้มีพระราชโองการให้ขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราช) ที่ประทับอยู่ ณ เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นไปทำศึกช่วยพระราเมศวร การศึกดำเนินไปเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยประมาณ จึงสามารถเอาชนะทัพของกรุงกัมพูชาได้ และได้กวาดต้อนครัวชาวกัมพูชาเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก.

        หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในครั้งที่ 2 แล้วนั้น พระองค์ทรงทำสงครามแผ่ขยายราชอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา ออกไปยังหัวเมืองทางตอนเหนือและแถบเมืองกัมพูชา ดังนี้:-

        สงครามกับเมืองเชียงใหม่
        เมื่อปี พ.ศ.1933 พระองค์ทรงยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ ในชั้นแรกนั้น พระเจ้าเชียงใหม่ได้ขอสงบศึก โดยขอเวลา 7 วันแล้วจะนำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย เพื่อเจริญไมตรี ในการนี้มุขมนตรีนายทัพนายกองได้ปรึกษาหารือว่า อาจจะเป็นกลอุบายของพระเจ้าเชียงใหม่ เพื่อจะได้เตรียมการรับมือกองทัพของกรุงศรีอยุธยา แต่พระองค์ทรงดำริว่าเมื่อเขาไม่รบแล้ว เราจะรบนั้นดูมิบังควร และถึงแม้ว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะไม่รักษาสัตย์ก็ใช่ว่า จะสามารถรอดพ้นจากทหารของกรุงศรีอยุธยาไปได้.

        เมื่อผ่านไป 7 วัน พระเจ้าเชียงใหม่ก็ไม่ได้นำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย พระองค์จึงยกกำลังเข้าตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้านไม่ไหวจึงหลบหนีไป แต่ก็สามารถจับนักสร้างพระโอรสพระเจ้าเชียงใหม่ได้ พระองค์ทรงกรุณาให้นักสร้างครองราชย์อยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ และได้กวาดต้อนผู้คนลงมาทางใต้ โดยให้ไปอยู่ที่จันทบูร นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ทำให้ชาวเหนือและชาวใต้มีวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่ใกล้เคียงกัน.         

        สงครามกับเมืองกัมพูชา       
         หลังจากที่เสด็จกลับจากการศึก ณ เมืองเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้ทรงทำศึกกับอาณาจักรกัมพูชาอีกครั้ง เนื่องจากพระยากัมพูชาได้ยกทัพมายังเมืองชลบุรีและกวาดต้อนผู้คนชาวเมืองจันทบุรี และเมืองชลบุรีไปยังอาณาจักรกัมพูชาประมาณ 6,000-7,000 คน ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงต้องเสด็จยกทัพไปปราบอาณาจักรกัมพูชาอีกครั้ง โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยณรงค์เป็นแม่ทัพหน้า เมื่อตีเมืองพระนคร (Angor Wat) ได้แล้ว พระยากัมพูชาได้ลงเรือหลบหนีไป แต่สามารถจับพระยาอุปราชพระราชโอรสของพระยากัมพูชาไว้ได้ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยณรงค์อยู่รั้งอาณาจักรกัมพูชา พร้อมกำลังพล 5,000 นาย ต่อมาญวนยกกำลังมารบ พระองค์จึงโปรดให้พระยาไชยณรงค์กวาดต้อนผู้คนมายังกรุงศรีฯ.

 
  • การพระศาสนา
         หลังจากเสร็จศึก ณ เมืองเชียงใหม่ พระองค์เสด็จยังเมืองพิษณุโลก ในการนี้ พระองค์เสด็จนมัสการพระพุทธชินราชและเปลื้องเครื่องต้นทำสักการะบูชาสมโภช 7 วัน แล้วจึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา สำหรับการพระพุทธศาสนาภายในกรุงศรีฯ นั้น พระองค์โปรดให้สถาปนาพระมหาธาตุสูง 17 วา ยอดสูง 3 วา ณ บริเวณที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุ แสดงปาฏิหารย์ โดยพระราชทานชื่อว่า วัดพระมหาธาตุ นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้สถาปนาวัดภูเขาทอง ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1930.
  


3.  ขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1)3,4,5
 
พระนามเต็ม: สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
สมภพเมื่อ พ.ศ.1853 ครองราชย์เมื่อ พ.ศ.1913 เมื่อพระชนม์  60 พรรษา
สวรรคตเมื่อ พ.ศ.1931 ระยะเวลาการครองราชย์รวม 18 ปี  ราชวงศ์สุพรรณภูมิ

         เอกสารของจีนสมัยราชวงศ์หมิง หลายฉบับ นับตั้งแต่ พ.ศ.1913-1920 นักประวัติศาสตร์ตีความว่า "สมเด็จเจ้าพญา" "สมเด็จพ่อพญาศรีอินทรราช" หมายถึง ขุนหลวงพะงั่ว (คำว่า "งั่ว" นั้นมีความหมายว่า "ห้า" ตามการนับแบบโบราณของไทย หนึ่ง...สิบ มาจาก... อ้าย, ยี่, สาม, ไส, งั่ว, ลก, เจ็ด, แปด, เอ้า และ ซิบ)10 (ราชบุตรองค์ที่ 5)

         ขุนหลวงพะงั่ว  (บ้างก็เรียก ขุนหลวงพ่องั่ว บ้างก็เรียก ขุนหลวงพระงั่ว) กษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ (ที่สุพรรณบุรี) มีอำนาจเหนือดินแดนฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีร่องรอยหลายระบุว่าเป็นเชื้อวงศ์ลาวสองฝั่งโขง (ขึ้นเสวยราชย์ในพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราช ..สืบนามขุนบรม หรือ ขุนบูลม ในตำนานหลวงพระบาง สองฝั่งโขง).

         ยกกองทัพสุพรรณภูมิ ไปยึดอำนาจอยุธยาจากพระราเมศวร เชื้อวงศ์รัฐละโว้-อโยธยา ที่เกี่ยวดองเป็นเครือญาติขอมที่นครวัด-นครธม ครองราชย์กรุงศรีอยุธยาสืบจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่สวรรคต แล้วลดฐานะให้พระราเมศวรไปเป็นเจ้าเมืองละโว้ที่ลพบุรีตามเดิม. ทรงไม่ประหารชีวิตพระราเมศวร เพราะเป็นเชื้อวงศ์อู่ทอง อันมีเชื้อสายเป็นพราหมณ์ การสังหารพราหมณ์นั้นมีบาปอย่างมหันต์ (เทียบได้กับการสังหารพระสงฆ์) (ตามความเชื่อและกฎมณเฑียรบาลว่า โทษสูงสุดของพราหมณ์คือการเนรเทศ-ห้ามประหารชีวิต)8 .

        สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว ครองราชย์ต่อจาก สมเด็จพระราเมศวร ในปี พ.ศ.1913-1931 ระยะเวลา 18 ปี เป็นกษัตริย์ในราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระองค์แรกจากราชวงศ์พระร่วงครองกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นพระเชษฐาของมเหสีในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) และเป็นพระมาตุลา (ลุง) ของสมเด็จพระราเมศวร.

 
  • พระราชประวัติ
        สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง ลำดับที่ 5 ตามการนับเลขไทย/เลขแบบไทย โดยมีความหมายว่า พระองค์เป็นราชบุตรองค์ที่ 5 พระองค์เป็นพระเชษฐาของพระมเหสีในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ตรัสเรียกพระองค์ว่าพระเชษฐา.

        เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 1893 ในการนั้นพระองค์ทรงสถาปนาขุนหลวงพะงั่วขึ้นเป็น "สมเด็จพระบรมราชาธิราช" พร้อมทั้งโปรดให้ขึ้นไปครองราชสมบัติ ณ เมืองสุพรรณบุรี ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1  สมเด็จพระราเมศวรพระโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1  เสด็จมาแต่เมืองลพบุรีและขึ้นเสวยราชย์สืบต่อมา โดย ขุนหลวงพะงั่ว ยังคงครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรีเช่นเดิม.

        จนกระทั่งในปี พ.ศ. 1913 ขุนหลวงพะงั่ว ได้เสด็จจากเมืองสุพรรณบุรีมายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระราเมศวร จึงเสด็จไปอัญเชิญ ขุนหลวงพะงั่ว หรือ พระมาลุตา (ลุง) เข้าสู่พระนคร และได้ถวายราชสมบัติแก่ขุนหลวงพะงั่ว และพระราเมศวรก็ขอกลับไปครองเมืองลพบุรีเช่นเดม ขุนหลวงพะงั่วได้สวรรคตในปี พ.ศ.1931 รวมระยะเวลาในการครองราชย์ได้ 18 ปี โดยมีพระเจ้าทองลัน (บ้างก็เรียก ทองจันทร์ ) โอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์สืบต่อไป.

 
  • พระราชกรณียกิจ
  • การสงคราม
            ด้วยทรงเป็นจอมทัพที่เข้มแข็ง พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ตลอดรัชกาล เป็นการศึกปกป้องและแผ่ราชอาณาจักร ดังนี้:            

           ศึกเขมรแปรพักตร์     
            เมื่อ พ.ศ.1895 ขุนหลวงพะงั่ว ได้ยกทัพไปยังเมืองนครธม9 แห่งกัมพูชา เพื่อช่วยทัพของพระราเมศวรที่ได้เข้าโจมตีกรุงกัมพูชาอยู่นั้น การศึกนี้มีเหตุมาจากที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาแปรพักตร์ พระเจ้าอู่ทอง จึงบัญชาให้ พระราเมศวร ยกทัพไปปราบปราม. แต่ไม่สามารถเอาชนะทัพกัมพูชาได้ตามที่คาดการณ์ไว้ ทัพของพระเจ้ากรุงกัมพูชาได้โจมตีทัพหน้าของพระราเมศวรแตกพ่ายไป แล้วรุดเข้าโจมตีทัพหลวงของพระราเมศวรต่อ พระเจ้าอู่ทองทราบความเข้า จึงมีโองการให้ขุนตำรวจ ออกเชิญขุนหลวงพะงั่วซึ่งประทับ ณ เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นช่วยไปทำศึกที่กรุงกัมพูชา

ประตูทางเข้านครธม ด้านทิศเหนือ ถ่ายไว้เมื่อ 21 ตุลาคม 2561.

           การศึกดำเนินไปร่วมปีเศษ ทัพไทยภายใต้การนำของ ขุนหลวงพะงั่ว ก็สามารถเอาชนะทัพของพระเจ้ากรุงกัมพูชาได้ และพระองค์ได้กวาดต้อนครอบครัวชาวกัมพูชาเข้ามายังกรุงศรีฯ เป็นจำนวนมาก.

          หลังจากที่ ขุนหลวงพะงั่ว ขึ้นครองราชย์ในกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว ในปี พ.ศ.1914 พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปทำสงครามกับเมืองฝ่ายเหนือ อันประกอบด้วย เมืองชากังราว (กำแพงเพชรในปัจจุบัน) เมืองพิษณุโลก เมืองเชียงใหม่ และ เมืองนครลำปาง สงครามยืดเยื้อเป็นเวลานาน จนพระองค์เสด็จสวรรคต.

           สงครามกับเมืองชากังราว (กำแพงเพชร)
         ขุนหลวงพะงั่ว ทรงยกทัพไปตีเมืองชากังราว 4 ครั้ง ขณะนั้นเกิดการแย่งความเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรของคนไทยกันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัย โดยเมืองชากังราวนั้น ถือเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัย

          ครั้งที่ 1: ขุนหลวงพะงั่วยกกองทัพมาตีในปี พ.ศ.1916 พระยาไสแก้ว และพระยาคำแหง เจ้าเมืองชากังราวออกรบเข้าต่อตีกับขุนหลวงพะงั่ว การศึกครั้งนี้ พระยาไสแก้วเสียชีวิต แต่พระยาคำแหงนั้น สามารถหลบหนีเข้าเมืองได้ แล้วขุนหลวงพะงั่วก็ทรงยกทัพกลับกรุงศรีฯ.

          ครั้งที่ 2: เมื่อปี พ.ศ.1919 พระยาคำแหงและท้าวผ่าคอง คิดว่าขุนหลวงพะงั่วคงไม่สามารถนำรี้พลแต่งทัพยกมาตีถึงทัพหลวงของชากังราวได้ แต่การเป็นเช่นนั้นไม่, ท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี ขุนหลวงพะงั่วทรงยกทัพตามและสามารถตีทัพท้าวผ่าคองแตก ขุนหลวงพะงั่วสามารถรวบรวมขุนทหาร เสนาอำมาตย์จำนวนมาก แล้วนำทัพกลับกรุงศรีฯ.

          ครั้งที่ 3: เมื่อปี พ.ศ.1921 ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชา (ที่ 2) กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ได้ออกรบเป็นสามารถ แต่ก็สู้ทัพของกรุงศรีฯ ไม่ไหว พระมหาธรรมราชาจึงอ่อนน้อม ขุนหลวงพะงั่วให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองสุโขทัยต่อไป ในฐานเป็นเจ้าเมืองประเทศราชของกรุงศรีฯ แล้วจึงยกทัพกลับพระนคร.

          ครั้งที่ 4: เมื่อปี พ.ศ.1931 ไม่มีหลักฐานปรากฎว่าทรงยกทัพไปชากังราวด้วยสาเหตุใด ขุนหลวงพะงั่วทรงประชวรและสวรรคตระหว่างเดินทางกลับกรุงศรีฯ.

 
  • การพระศาสนา
          เมื่อ พ.ศ.1917 ขุนหลวงพะงั่วและพระมหาเถรธรรมากัลญาณได้ปรึกษากันและทรงสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ ฝ่ายบูรพาทิศ (วัดมหาธาตุ) หน้าพระบัญชรสิงห์สูง 19 วา ยอดนพศูลสูง 3 วา.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:

01   จาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1, วันที่สืบค้น 21 กรกฎาคม 2558.
02.  จาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระราเมศวร, วันที่สืบค้น 7 สิงหาคม 2558.
03.  จาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่_1, วันที่สืบค้น 6 กันยายน 2558.
04.  จาก. www.suphan.biz/historicsuphan01.htm, วันที่สืบค้น 6 กันยายน 2558.
05.  จาก. board.palungjit.org/f76/ตามรอยขุนหลวงพะงั่วพระมหากษัตริย์แห่งแคว้นสุพรรณภูมิ-28292, วันที่สืบค้น 6 กันยายน 2558.
06.  จาก. สุจิตต์ วงษ์เทศ, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม 2556 หรือ www.sujitwongthes.com/2014/weekly24012557/, วันที่สืบค้น 6 กันยายน 2558.
07.  จาก. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ.2182, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2548 หน้าที่ 19-20.
08.  จาก. กระทู้ใน topicstock.pantip.com.topicstock/2011/05/K10512782/K10512782.html., วันที่สืบค้น 6 กันยายน 2558.
09.  จาก. www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/2708-00/, นครธม เป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรกัมพูชา สถาปนาขึ้นในปลายคริสตศวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 9 ตร.กิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของ นครวัด กล่าวได้ว่าเป็นอาณาจักรขอมหรืออาณาจักรเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 11-19) มีศูนย์กลางที่เมืองพระนคร (Angor Wat) ได้ขยายอำนาจมายังบริเวณปากแม่น้ำโขง กัมพูชา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของไทย และสืบอำนาจต่อจากอาณาจักรเจนละ อาณาจักรขอมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก รับวัฒนธรรมจากอินเดีย มีการปกครองแบบเทวราช และใช้ระบบจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู และพระพุทธศาสนานิกายมหายาน มีการสร้างเทวรูปและปราสาทหิน ที่สำคัญคือ นครวัด นครธม ส่วนในดินแดนไทยมีศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลเขมรอยู่ทั่วไป เช่น ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ และพระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี เป็นต้น, วันที่สืบค้น 6 กันยายน 2558.
10.  จาก. เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, "ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย: ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ" สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2559, หน้าที่ 35
11.  จาก. เอกสารการบรรยาย "สุโขทัยคดี" ของ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีอาวุโส สกว. บรรยายไว้ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2563 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งท่านได้นำมาจากการถอดข้อความในจารึกต่าง ๆ ของกรุงสุโขทัย
humanexcellence.thailand@gmail.com