MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 12: การเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 และสมเด็จพระมหินทราธิราช

Title Thumbnail: กองทัพสยามเทศะ, ที่มา: Facebook ห้อง "กลุ่ม..ผู้ใฝ่เรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ทั่วไป", วันที่เข้าถึง 22 พฤษภาคม 2564.
Hero Image: วิหารพระมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา ก่อนการบูรณะ (ประมาณปี พ.ศ.2500)

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 12: การเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 และสมเด็จพระมหินทราธิราช04
First revision: May 19, 2018
Last change: May 22, 2021

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
 
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง
เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งพม่า-อยุธยา
 ช่วงเวลา   พ.ศ.2111-2112
 สถานที่   อยุธยา, พิษณุโลก, ล้านช้าง และกำแพงเพชร
 ผลลัพธ์  อาณาจักรตองอูได้รับชัยชนะ กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอู พระบรมวงศานุวงศ์ส่วนหนึ่งถูกนำไปยังพม่า
คู่ขัดแย้ง
 อาณาจักรอยุธยา  อาณาจักรตองอู
 อาณาจักรล้านช้าง  รวมถึงพื้นที่ควบคุม:
 
  •  อาณาจักรล้านนา
  • สุโขทัย
 ผู้บัญชาการหรือผู้นำ
 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  พระเจ้าบุเรงนอง
 สมเด็จพระมหินทราธิราช (ยอมแพ้)  สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
 สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช  ตะโตเมงสอ
   พญาทะละ
กองทัพ
 กองทัพสยาม  กองทัพอาณาจักรพม่า
 ทหารล้านช้าง  
 กำลัง
 ไม่ทราบ  กองทัพพม่า
54,600 นาย, ทหารม้า 5,300 นาย และทหารช้าง 530 นาย
ร่วมกับกองทัพพิษณุโลก 70,000+
 
     การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรตองอูและอาณาจักรอยุธยา อันเป็นผลมาจากความต้องการของพระเจ้าบุเรงนองซึ่งต้องการผนวกเอากรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราช และอาจถือได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามช้างเผือก ในปี พ.ศ.2106 ที่ทรงตีกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ
     ความขัดแย้งภายในกรุงศรีอยุธยาระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับเจ้าเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชา ซึ่งฝักใฝ่กับทางพม่าอยู่แล้ว ได้นำไปสู่เหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาแตกในที่สุด จนกระทั่งพระนเรศได้กู้เอกราชกลับคืนมาได้ ในอีก 15 ปีต่อมา และการประกาศอิสรภาพ01.



เบื้องหลัง
พระเทียรราชาขึ้นครองราชย์
     หลังจากพระเทียรราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์ได้ทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งเป็นราชนิกูลข้างพระราชมารดาแต่เดิมขึ้นเป็นเจ้า ทรงนามว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช กรุงหงสาวดีเห็นว่าเป็นช่วงผลัดแผ่นดินจึงบุกโจมตีกรุงศรีอยุธยา เรียกว่าสงครามพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

เส้นทางการเดินทัพของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (King Tabinshwehti of Pegu's invasion of Siam in 1548-1549),
ที่มา th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 10 กรกฎาคม 2562.

     เมื่อพระมหาจักรพรรดิทรงทราบจึงทรงนำทัพออกต้านศึก และในขณะที่พระมหาจักรพรรดิทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรอยู่ ช้างพระที่นั่งของพระมหาจักรพรรดิเสียที ทำให้พระเจ้าแปรไล่ชน แต่สมเด็จพระสุริโยทัยได้นำช้างมาขวาง ทำให้พระศรีสุริโยทัยเสด็จสวรรคต02 หลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็ส่งเรือรบไปยิงค่ายพม่า ทำให้พม่าต้องถอยทัพกลับหงสาวดี เมื่อกลับถึงเมืองพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นั้นยึดติดกับการตีกรุงศรีอยุธยา จึงทรงติดสุราอย่างหนักจนออกว่าราชการไม่ได้ ต้องให้บุเรงนองผู้เป็นพระญาติเป็นผู้สำเร็จราชการแทน.
     
ภาพจากซ้ายไปขวา: , พระเจ้าลิ้นดำตะเบ็งชะเวตี้ (Tabinshwehti- แปลว่า สุวรรณเอกฉัตร), ที่มา: madmonarchist.blogspot.com, วันที่เข้าถึง 3 กรกฎาคม 2562, และ พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา (Bayinnaung Kyawhtin Nawratha), ถ่ายจากหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเมียนมาร์, ที่มา: th.wikipedig.org, วันที่เข้าถึง 3 กรกฎาคม 2562.

     หลังจากนั้น พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ถูกลอบปลงพระชนม์ พระเจ้าบุเรงนองก็ได้ครองกรุงหงสาวดี และได้นำกองทัพเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยาหมายจะตีกรุงศรีฯ ให้แตก (โดยทัพหลวงของพระเจ้าบุเรงนองตั้งกำลังไว้แถบบริเวณวัดมเหยงคณ์03 ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมือง) ซึ่งเรียกว่า สงครามช้างเผือก โดยในช่วงแรกพระเจ้าบุเรงนองได้ส่งสาส์นมาขอช้างเผือก (จำนวน 2 ช้าง เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นมีช้างเผือกอยู่ทั้งหมด 7 ช้าง)07,08  ฝ่ายขุนนางได้มีความเห็นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ส่งช้างเผือกไปถวายแก่พระเจ้าบุเรงนอง เพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ส่วนอีกฝ่าย อันได้แก่พระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ไม่เห็นด้วยกับการส่งช้างเผือกไป เนื่องจากจะเป็นการอ่อนข้อให้หงสาวดี
     สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ส่งพระราชสาส์นตอบกล่าวไปว่า "ถ้าประสงค์จะได้ช้างเผือก ก็ให้เสด็จมาเอาโดยพระองค์เองเถิด" ในบางหลักฐานเนื้อหาในสาส์นจะเป็นว่า "ช้างเผือกย่อมเกิดสำหรับบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นเจ้าของ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีได้บำเพ็ญธรรมให้ไพบูรณ์คงจะได้ช้างเผือกมาสู่บารมีเป็นมั่นคงอย่าได้ทรงวิตกเลย" ทำให้พระเจ้าบุเรงนองถือเอาสาส์นนี้เป็นเหตุยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา.
     แต่อีกหลักฐานหนึ่ง (
ที่มา: www.thairath.co.th/content/332077, วันที่เข้าถึง 27 กรกฎาคม 2562.) กล่าวว่า "พระเจ้าบุเรงนองส่งพระราชสาส์น ไปถึงพระเจ้าช้างเผือก (พระมหาจักรพรรดิ) ว่า
     .....บัดนี้เราทราบว่าพระมหาจักรพรรดิ มีเศวตกุญชรชาติพลายพังถึงสี่ช้าง เราขอสักช้างหนึ่ง มิให้พลทหารของเราได้รับความลำบาก แม้พระมหาจักรพรรดิจะถวายแก่เรา ในระหว่างไปขอนี้ สักช้างหนึ่ง บัวก็ไม่ช้ำ น้ำก็จะไม่ขุ่นเป็นแน่
     พงศาวฉบับหอแก้วของพม่า ฉบับแปลโดยนายต่อ เขียนว่า  ...พระมหาจักรพรรดิ...ทรงดำริว่า พระมหากษัตริย์โบราณ ผู้ให้กับผู้ขอเขามีบุญญาธิการมาก เขาให้กันและกันง่าย
     เราไม่แจ้งว่าพระเจ้าบุเรงนองจะอยู่ในทศพิธราชธรรมหรือไม่ ถ้าอยู่ เราจะให้ช้างเชือกหนึ่ง
     พระราชสาส์นจากอยุธยา ไปถึงพระเจ้าหงสาวดี ท้ายพระราชสาส์นนั้น มีเลขหนึ่งอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า เอก
     พระเจ้าบุเรงนอง ทอดพระเนตรเลขหนึ่งแล้ว ก็ทรงปรึกษากับพระยาทะละ ได้ความว่าเลขหนึ่ง นี้ บาลีว่าเอกา โหราศาสตร์ว่าเอก ภาษาพม่าว่าติด ภาษารามัญว่า ไอ้ (อ้าย)
     การที่พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ทำเลขไอ้มาเช่นนี้ พวกข้าพุทธเจ้ารามัญหมายความว่า "กูไม่กลัว"
     พระยาทะละกราบทูลให้พระเจ้าบุเรงนอง มีพระราชสาส์นตอบ เขียนท้ายพระราชสาส์นเป็นเลขสอง
     เลขสองนี้บาลีว่า ทวา โหราศาสตร์ว่า จันทร์ ภาษาพม่าว่า ติด ภาษารามัญว่า ทวี ซึ่งมีความหมายเป็นภาษารามัญว่า ทวิตะแล้ดทวีตะเลข ซึ่งหมายถึงว่า ถ้าไม่กลัวจะเอาเชือกผูก
     พงศาวดารหอแก้วของพม่า เขียนว่า เมื่อพระราชสาส์น มีเลขสองกำกับท้ายจากพม่าไปถึงกรุงศรีอยุธยา พระมหาจักรพรรดิ ทรงเห็นว่า พระเจ้าหงสาวดีรู้เท่าทัน ก็ตกพระทัย ตรัสตอบด้วยถ้อยคำอันไม่ไพเราะ

     เมื่อทูตกลับไปรายงาน พระเจ้าหงสาวดี ก็ถือเป็นเหตุผล ที่จะทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา...
 

ช้างเผือก, ที่มา: www.himmapan.com, วันที่เข้าถืง 27 กรกฎาคม 2562.


สงครามช้างเผือก
     ในปี พ.ศ.2106 พระเจ้าบุเรงนองยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ได้ยกทัพรวบรวมพลที่เมืองเมาะตะมะ จัดทัพใหญ่ออกเป็น 5 ทัพ มีเจ้าเมืองเชียงใหม่ควบคุมกองเรือเสบียง ล่องมาถึงเมืองตาก พร้อมกองกำลังประมาณ 500,000 นาย09 พร้อมด้วยช้าง ม้า และอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก เข้ามาทางด่านแม่ละเมา โดยยกเข้ามาทางเมืองตาก (ส่วนทางกรุงศรีฯ ได้เตรียมพลพร้อมรบและเรือรบจำนวนมาก เพื่อป้องกันการโจมตีจากทัพหลวงของหงสาวดีทางด่านเจดีย์สามองค์ แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด ด้วยพม่ายกทัพมาทางด่านแม่ละเมา) ด้วยกำลังที่มากกว่าของพม่าจึงสามารถยึดหัวเมืองเหนือได้เกือบทั้งหมด โดยเริ่มตีจากเมืองกำแพงเพชรก่อน แล้วแยกทัพไปตีสุโขทัย สุโขทัยมีกำลังน้อยกว่ามาได้สู้รบเต็มความสามารถ แต่ท้ายที่สุดก็ถูกพม่ายึดเมืองจนสำเร็จ จากนั้นก็สะดวกมาล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ (อันเป็นที่ราบ สามารถรวบรวมเสบียงอาหาร สันนิษฐานว่าให้ชาวบ้านทำนา เก็บผลผลิตเป็นเสบียงแก่กองทัพพม่าที่เมืองพิษณุโลก) พระมหาธรรมราชาได้เข้าต่อสู้เป็นสามารถ ป้องกันเมืองไว้ได้ดี พระเจ้าบุเรงนองจึงขอเจรจา พระมหาธรรมราชาจึงส่งพระสงฆ์จำนวน 4 รูป เพื่อทำการเจรจา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ อีกทั้งในเมืองยังขาดเสบียง และเกิดไข้ทรพิษระบาด สมเด็จพระมหาธรรมราชาเกรงว่าหากขืนสู้รบต่อไปด้วยกำลังพลที่น้อยกว่า อาจทำให้เมืองพิษณุโลกถูกทำลายได้เหมือนกับหัวเมืองเหนืออื่น ๆ ก็เป็นได้ พระมหาธรรมราชา จึงยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนอง
     พระเจ้าบุเรงนอง ทรงบัญชาให้พระมหาธรรมราชาและเจ้าเมืองอื่น ๆ ถือน้ำกระทำสัตย์ให้อยู่ใต้บังคับของพม่า ทำให้พิษณุโลกต้องแปรสภาพเป็นเมืองประเทศราชของหงสาวดีและไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา แล้วให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลกดังเดิม แต่อยู่ในฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองขอพระนเรศ (ขณะทรงพระชนมายุเพียง 9 พรรษา) ไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีในปี พ.ศ.2107 พร้อมยังสั่งให้ยกทัพตามลงมาเพื่อตีกรุงศรีฯ ด้วย.
     พระเจ้าบุเรงนองรบชนะทัพอยุธยาที่ชัยนาท และลงมาตั้งค่ายล้อมพระนครทั้งสี่ทิศ กองทัพพม่ายกมาประชิดเขตเมืองใกล้ทุ่งลุมพลี พระมหาจักรพรรดิทรงให้กองทัพบก ระดมยิงใส่พม่าเป็นสามารถ แต่สู้ไม่ได้จึงล่าถอยไป ทางพม่าจึงยึดได้ป้อมพระยาจักรี (ทุ่มลุมพลี) ป้อมจำปา ป้อมพระยามหาเสนา (ทุ่งหันตรา) แล้วล้อมกรุงศรีฯ อยู่นาน พระมหาจักรพรรดิทรงเห็นว่าพม่ามีกองกำลังมาก การที่จะออกไปรบเพื่อเอาชัยคงกระทำได้ยากนัก จึงทรงสั่งให้เรือรบนำปืนใหญ่ล่องไปยิงทหารพม่าเป็นการถ่วงเวลาให้เสบียงอาหารหมดหรือเข้าฤดูน้ำหลาก พม่าคงจะถอยทัพไปเอง แต่ทว่าพม่าได้เตรียมเรือรบและปืนใหญ่จำนวนมากยิงใส่เรือรบไทยพังเสียหายหมด แล้วตั้งปืนใหญ่ยิงเข้ามาในพระนครทุกวัน ถูกชาวบ้านล้มตาย บ้านเรือน วัดเสียหายเป็นอย่างมาก แม้ว่าพม่าจะยิงปืนใหญ่เข้าสู่พระนครเป็นระยะ ๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าสู่ตัวเมืองได้.
     พระเจ้าบุเรงนองจึงมีพระราชสาส์นให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเลือกจะรบให้รู้แพ้รู้ชนะหรือเลือกยอมสงบศึก โดยที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเลือกสงบศึก อยุธยาจึงต้องยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพม่า โดยมอบช้างเผือก 4 ช้างให้แก่พม่า มอบตัวบุคคลที่คัดค้านไม่ให้ส่งช้างเผือกแก่พม่าเมื่อครั้งก่อนสงครามช้างเผือก อาทิ พระราเมศวร (พระราชบุตรในพระมหาจักรพรรดิ) เจ้าพระยาจักรีมหาเสนา และ พระสมุทรสงคราม ไปเป็นตัวประกัน ส่งช้างให้แก่พม่าปีละ 30 เชือก ส่งเงินให้แก่พม่าปีละ 300 ชั่ง และให้พม่ามีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองมะริด โดยมีการเจรจาขึ้นบริเวณสถานที่ประทับชั่วคราวระหว่างวัดพระเมรุสาธิการราม (ปัจจุบันเรียก วัดพระเมรุราชิการรามวรวิหาร) กับ วัดหัสดาวาส (หรือวัดช้าง) โดยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงต่อรองขอดินแดนของอยุธยาทั้งหมดที่พระเจ้าบุเรงนองยึดไว้คืน พระเจ้าบุเรงนองก็ถวายคืนแต่โดยดี จากนั้นพม่าก็ถอยกลับไปหงสาวดี

 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระประธานวัดพระเมรุสาธิการราม หรือ วัดหน้าพระเมรุ (ถ่ายเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560)
และ
วั
ดหัสดาวาส (ถ่ายเมื่อ 30 มิถุนายน 2561)

     ถึงแม้ว่าพม่าจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงดังนี้ แต่พระเจ้าบุเรงนองยังไม่ทรงประสบความสำเร็จในการได้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองประเทศราช ดังนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงทรงพยายามดำริหาวิธีในการเอาชนะกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมารบอีกครั้งหนึ่ง.


พระมหาธรรมราชาเอาพระทัยออกห่าง
     พระมหาธรรมราชาทรงแสดงท่าทีฝักใฝ่พม่าตั้งแต่ระยะหลังสงครามช้างเผือกแล้ว โดยทรงยินยอมส่งกำลังทหารไปช่วยพระเจ้าบุเรงนองล้อมเมืองเชียงใหม่ตามที่ติดต่อมา การเอาพระทัยออกห่างเช่นนี้เป็นการบั่นทอนความมั่นคงของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ.2108 พระมหาธรรมราชาทรงส่งข่าวเรื่องการพระราชทานพระธิดา พระเทพกษัตรีแก่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 แห่งอาณาจักรล้านช้าง แต่ถูกพม่าดักชิงตัวไปกลางทาง ทำให้การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับล้านช้างล้มเหลวลง

แผนที่อาณาจักรล้านช้าง, ที่มา: www.aseanthau.net, วันที่เข้าถึง 19 กรกฎาคม 2562

     สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบก็ทรงเสียพระทัย จึงเสด็จไปประทับที่วังหลัง ให้พระมหินทร์พระโอรสว่าราชการแทน เมื่อพระชนมายุประมาณ 59 พรรษา ต่อมาได้เสด็จออกผนวชใน ปี พ.ศ.2109 โดยมีข้าราชการออกบวชด้วยจำนวนมาก ซึ่งพระมหินทร์ พระราชโอรสทรงได้ว่าราชการแทน ต่อมาทรงมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกับพระมหาธรรมราชาจนเกิดความร้าวฉานระหว่างพิษณุโลกกับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพระองค์สมคบกับพระไชยเชษฐา กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างยกทัพไปตีเมืองพิษณุโลก เพื่อกำจัดพระมหาธรรมราชา จนพระองค์มิอาจรั้งราชการแผ่นดิน จึงทูลเชิญให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวช หลังจากที่ผนวชได้ไม่นาน แล้วกลับมาว่าราชการดังเดิม.


ก่อนเสียกรุง
     ต่อมา พระมหาธรรมราชาเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนอง ในปี พ.ศ.2108 โดยทรงกล่าวโทษว่าอยุธยาวางแผนกำจัดพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองจึงให้พระมหาธรรมราชาเป็นเจ้าเมืองประเทศราช ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ เจ้าฟ้าพิษณุโลก หรือ เจ้าฟ้าสองแคว อันอยู่ในฐานะเป็นอริต่ออาณาจักรกรุงศรีอยุธยา (ในหนังสือแหล่งอ้างอิง 04. ใช้คำว่า "กบฏ").
     พระมหาจักรพรรดิกับพระมหินทร์เสด็จขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ในขณะที่พระมหาธรรมราชาเสด็จไปหงสาวดีแล้วนำพระวิสุทธิกษัตรีพร้อมด้วยพระเอกาทศรถมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบเรื่องจึงเข้ากับกรุงหงสาวดีอย่างเปิดเผย แม้ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะทรงนำพระชายา พระโอรสและพระธิดาของพระมหาธรรมราชาลงมายังกรุงศรีอยุธยา โดยหวังว่าพระมหาธรรมราชาจะไม่ทรงกล้าดำเนินการใด ๆ ต่อกรุงศรีอยุธยา แต่การณ์ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบว่าพระอัครชายาและโอรสธิดา ถูกจับเป็นองค์ประกันก็ทรงวิตก ได้ส่งสาส์นไปยังพระเจ้าบุเรงนองให้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา.
     ก่อนการเสียกรุง พ.ศ.2112 พระมหาธรรมราชาได้ทรงส่งกองทัพมาร่วมล้อมกรุงศรีอยุธยาร่วมกับทัพใหญ่ของพระเจ้าบุเรงนองด้วย รวมทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในกองทัพพม่า และในปี พ.ศ.2112 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 แห่งล้านช้างทรงส่งกองทัพเข้าช่วยเหลือกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาก็ทรงปลอมเอกสารลวงให้กองทัพล้านช้างนำทัพผ่านบริเวณที่ทหารพม่าคอยดักอยู่ กองทัพล้านช้างจึงแตกพ่ายไป.



การเตรียมการของฝ่ายอยุธยา
     สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้เตรียมการป้องกันบ้านเมืองเพิ่มเติม ดังนี้
       1.  สร้างป้อมและหอรบเพิ่มเติม โดยหอรบอยู่ห่างกันหอละ 40 เมตร รวมทั้งเสริมกำแพงให้แข็งแกร่งขึ้น
       2.  จัดปืนใหญ่ไว้ตามกำแพงเมืองเป็นจำนวนมาก โดยห่างกันเพียงกระบอกละ 10 เมตร
       3.  โปรดให้สร้างแนวกำแพงขึ้นใหม่โดยให้ชิดกับคูเมืองทุกด้าน
       4.  ให้สร้างหอรบไว้กลางลำน้ำที่เป็นคูเมืองแล้วเอาปืนใหญ่ติดตั้งไว้บนนั้น



ลำดับเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา06
     พระเจ้าบุเรงนองทรงนำทัพเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาในเดือนตุลาคม พ.ศ.2111 ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก รวมทั้งหมด 7 ทัพ ประกอบด้วยพระมหาอุปราชา เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู เจ้าเมืองอังวะ เจ้าเมืองเชียงใหม่ และเชียงตุง เข้ามาทางเมืองกำแพงเพชร โดยได้เกณฑ์หัวเมืองทางเหนือรวมทั้งเมืองพิษณุโลกมาร่วมสงครามด้วย รวมจำนวนได้กว่า 500,000 นาย ยกทัพลงมาถึงพระนครในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โดยให้พระมหาธรรมราชาเป็นกองหลังดูแลคลังเสบียง ทัพพระเจ้าบุเรงนองก็ตั้งค่ายรายล้อมพระนครอยู่ไม่ห่าง การตั้งรับภายในพระนครส่งผลให้มีการระดมยิงปืนใหญ่ของข้าศึกทำลายอาคารบ้านเรือนอยู่ตลอด ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก.

ตัวอย่างปืนใหญ่กรุงศรีฯ กระบอกหนึ่ง (พม่าขนไปจากอยุธยา และอังกฤษก็ขนจากพม่าไปไว้ที่อินเดียอีกทอดหนึ่ง) ลวดลายสวยงามมาก,
ที่มา: https://pantip.com, ซึ่งได้อ้างต่อไปยัง 
https://www.facebook.com/thailandcoup/photos/a.300125233487991.1073741875.298177807016067/326814554152392/?type=1&theater, ค้นหาไม่พบแล้ว, วันที่สืบค้น 22 กรกฎาคม 2562.
 
     ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบว่าหัวเมืองทางเหนือเป็นของพม่าแล้ว จึงเตรียมรบอยู่ที่พระนคร นำปืนนารายณ์สังหาร05 ยิงไปยังกองทัพพระเจ้าหงสาวดีที่ตั้งอยู่บริเวณทุ่งลุมพลี ถูกทหาร ช้าง ม้าล้มตายไปไม่น้อย พม่าจึงถอยทัพมาตั้งที่บ้านพราหมณ์ให้พ้นทางปืน แล้วพระเจ้าหงสาวดีจึงเรียกประชุมการศึก พระมหาอุปราชเห็นสมควรให้ยกทัพเข้าตีกรุงศรีฯ ทุกด้านเพราะมีกำลังมากกว่า แต่พระเจ้าหงสาวดีไม่เห็นด้วยเพราะกรุงศรีอยุธยามีทำเลดี มีน้ำล้อมรอบ จึงสั่งให้ตีเฉพาะด้านตะวันออก เพราะคูเมืองแคบที่สุด พม่าพยายามจะทำสะพานข้ามคูเมืองโดยนำดินมาถมเป็นสะพาน พระมหาเทพนายกองรักษาด่านอย่างเต็มสามารถ โดยให้ทหารไทยใช้ปืนยิงทหารพม่าที่ขนดินถมเป็นสะพานเข้ามา ทำให้พม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงถอยข้ามคูกลับไป
     พระเจ้าบุเรงนองทรงพยายามโจมตีอยู่นานจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2112 ก็ยังตีกรุงศรีฯ ไม่แตก อีกทั้งสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงพยายามเปลี่ยนที่ตั้งค่ายอยู่หลายระยะ โดยในภายหลังทรงย้ายค่ายเข้าไปใกล้กำแพงเมืองจนทำให้สูญเสียไพร่พลไปไม่น้อย ระหว่างการสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระประชวรและสวรรคตในเวลาต่อมา สมเด็จพระมหินทร์ขึ้นครองราชย์และทรงบัญชาการรบแทน.
     พระเจ้าบุเรงนองจึงตรัสถามพระมหาธรรมราชาว่าจะทำอย่างไรให้ชนะศึกโดยเร็ว พระมหาธรรมราชาทรงแนะว่าพระยารามเป็นแม่ทัพสำคัญ หากได้ตัวมา การยึดพระนครจักสำเร็จ จึงมีสาส์นมาถึงพระอัครชายา (พระวิสุทธิกษัตริย์) ว่า "...การศึกเกิดจากพระยารามที่ยุยงให้พี่น้องทะเลาะกัน ถ้าส่งตัวพระยารามมา ให้พระเจ้าหงสาวดีจะยอมเป็นไมตรี..." สมเด็จพระมหินทร์ฯ ทรงอ่านสาส์นแล้ว ปรึกษากับข้าราชการต่าง ๆ จึงเห็นสมควรสงบศึกเพราะผู้คนล้มตายกันมากแล้ว สมเด็จพระมหินทร์ฯ มีรับสั่งให้ส่งพระสังฆราชออกไปเจรจาและส่งตัวพระยารามให้พระเจ้าบุเรงนองเพื่อเป็นไมตรี แต่พระเจ้าบุเรงนองตระบัดสัตย์ไม่ยอมเป็นไมตรี ทำให้สมเด็จพระมหินทร์ฯ ทรงพิโรธพระเจ้าบุเรงนองมาก มีรับสั่งให้ขุนศึกทหารทั้งปวงรักษาพระนครอย่างเข้มแข็ง พระเจ้าบุเรงนองเห็นว่ายังไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงส่งพระมหาธรรมราชามาเกลี่ยกล่อมให้ยอมแพ้แต่ถูกทหารไทยเอาปืนไล่ยิงจนต้องหนีกลับไป.
     พระเจ้าหงสาวดีจึงคิดอุบายจะใช้พระยาจักรีที่จับตัวได้เป็นประกัน เมื่อครั้งสงครามช้างเผือกเป็นไส้ศึก จึงให้พระมหาธรรมราชาทรงเกลี้ยกล่อมพระยาจักรีให้เป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา โดยแสร้งปล่อยตัวออกมา รุ่งเช้าพม่าทำทีเป็นตามหาแต่ไม่พบ เลยตัวผู้คุมมาตัดหัวเสียบประจานไว้ริมแม่น้ำเพื่อให้ไทยหลงกล
     สมเด็จพระมหินทร์ฯ ทรงดีพระทัยที่พระยาจักรีหนีมาได้ จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาการรบแทนที่พระยาราม ครั้นพระยาจักรีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาพระนครแล้ว จึงดำเนินการสับเปลี่ยนหน้าที่ของฝ่ายต่าง ๆ จนกระทั่งการป้องกันพระนครอ่อนแอลง พระยาจักรีได้ใส่ร้ายให้พระศรีสาวราชว่าเป็นกบฎจึงถูกสำเร็จโทษ เมื่อเห็นว่าได้เวลาอันสมควร พระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทุกด้าน และทำให้กองทัพพม่าเข้าสู่พระนครสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือน.
     ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2112 (เดือนเก้าของไทย) พระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่า เข้าตีกรุงศรีอยุธยาและเปิดประตูเมือง ทำให้พม่าเข้ายึดพระนครสำเร็จ กรุงศรีอยุธยาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอู



หลังสงคราม
     พระเจ้าบุเรงนองทรงประทับที่กรุงศรีฯ จนกระทั่งวันศุกร์ที่ขึ้นหกค่ำ เดือนสิบสอง ปีมะเส็ง พ.ศ.2112 ได้อภิเษกให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ในฐานะประเทศราช ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญที่ 1 บ้างก็เรียก "พระสุธรรมราชา"
     สมเด็จพระมหินทราธิราช พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางน้อยใหญ่ ได้ถูกนำไปกรุงหงสาวดี แต่ด้วยสมเด็จพระมหินทร์ทรงประชวร ได้เสด็จสวรรคตระหว่างทางไปกรุงหงสาวดี.
     พม่าเข้ายึดทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คนกลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก โดยเหลือให้รักษาเมืองเพียง 1,000 คน คนที่เหลือก็หนีไปหลบอาศัยอยู่ที่อื่น บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายได้รับความเสียหายเป็นอันมาก อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอูเป็นเวลานาน 15 ปี



สาเหตุ
     1.  เกิดความแตกสามัคคีกันระหว่างสมเด็จพระมหินทราธิราชกับพระมหาธรรมราชา เนื่องมาจากการยุยงของข้าศึก
     2.  ไทยขาดกำลังใจต่อสู้ เนื่องจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จสวรรคตในขณะทรงบัญชาการรบ
     3.  พระยาจักรีซึ่งเป็นแม่ทัพไทย เป็นไส้ศึกให้แก่พม่า




 
สมเด็จพระมหินทราธิราช10
กษัตริย์ลำดับที่ 17 แห่งกรุงศรีอยุธยา


ภาพจากภาพยนตร์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" สมเด็จพระมหินทราธิราช รับบทโดย "สันติสุข พรหมศิริ"
 
   ครองราชย์  (ครั้งที่ 1) พ.ศ.2106 - 2111
     (ครั้งที่ 2) พ.ศ.2111 - 2112
   ก่อนหน้า  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
   ถัดไป  สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
   ราชวงศ์  สุพรรณภูมิ
   พระราชบิดา  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
   พระราชมารดา  สมเด็จพระศรีสุริโยทัย
   พระราชสมภพ  พ.ศ. 2078
   สวรรคต  พ.ศ.2112  ณ เมืองแครง11

      สมเด็จพระมหินทราธิราช มีพระนามเดิมว่า พระมหินทราธิราช หรือเรียกสั้น ๆ อีกชื่อหนึ่งว่า พระมหินทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 17 (ในบล็อกนี้ได้รวม ขุนวรวงศาธิราช เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาไว้ด้วย) ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่าพระองค์ไม่เอาพระทัยใส่การศึก ทำให้การรักษาพระนครอ่อนแอลงจนเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่หนึ่ง12.

พระราชประวัติและราชการสงคราม
     สมเด็จพระมหินทราธิราช มีพระนามเดิมว่า พระมหินทราธิราช ทรงพระราชสมภพราว พ.ศ.2078 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระสุริโยทัย มีพระเชษฐาคือ พระราเมศวรผู้เป็นพระมหาอุปราช และมีพระขนิษฐาคือพระวิสุทธกษัตริย์ พระบรมดิลก พระเทพกษัตรีย์ และยังมีพระอนุชาและขนิษฐาต่างพระชนนี คือ พระศรีเสาวราช กับ พระแก้วฟ้า.
     ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าพระมหินทราธิราชได้ตามเสด็จฯ ออกรบในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ด้วย แต่ถูกทหารมอญล้อมจับพร้อมกับพระราเมศวร ไปถวายพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ซึ่งประทับที่เมืองชัยนาท สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบจึงส่งพระราชสาส์นไปขอให้ปล่อยพระราชโอรสทั้งสองพระองค์คืนกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงตกลงโดยขอแลกกับช้างพลายมงคลทวีปและช้างพลายศรีมงคลไปไว้ยังกรุงหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงปรึกษามุขมนตรีแล้วก็ตกลงถวาย กองทัพพระเจ้าหงสาวดีจึงยกทัพกลับไป.
     หลังสงครามช้างเผือก ที่ทำให้กรุงศรีฯ ต้องเสียพระราเมศวรไปเป็นองค์ประกัน ณ กรุงหงสาวดีในปี พ.ศ.2106 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสละราชสมบัติให้พระมหินทราธิราช ซึ่งขณะนั้นพระชนมายุได้ 25 พรรษา สมเด็จพระมหินทราธิราช ทรงขัดเคืองพระทัยที่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเมืองพิษณุโลก ทรงปรึกษากับพระยารามแล้ว จึงชักชวนพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชให้มาตีเมืองพิษณุโลก เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายประชิดเมืองพิษณุโลกได้แล้วก็ยังตีเมืองไม่สำเร็จ เพราะมีทัพจากพระเจ้าบุเรงนองมาช่วยเมืองพิษณุโลก.
     เมื่อแผนการไม่สำเร็จ สมเด็จพระมหินทราธิราชก็เลิกทัพกลับคืนกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชากับหัวเมืองเหนืออยู่ข้างกรุงหงสาวดีและไม่ใยดีกัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงอัญเชิญพระราชบิดาลาผนวชมาครองราชสมบัติดังเดิมในปี พ.ศ.2111 และใช้โอกาสที่สมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระนเรศ ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่กรุงหงสาวดี ก็ยกทัพไปชิงพระวิสุทธิกษัตริย์ พระเอกาทศรถ และครอบครัวของพวกข้าหลวงเดิมมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา ขากลับสมเด็จพระมหินทราธิราชพยายามตีเมืองกำแพงเพชร เพราะทรงเห็นว่าเป็นกำลังฝ่ายข้าศึก แต่ตีไม่สำเร็จ สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงทราบข่าวทั้งหมด จึงทูลฟ้องพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าบุเรงนองจึงยกทัพใหญ่มาอีกครั้งในเดือนสิบสอง สามารถปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ แต่ตีพระนครได้ไม่สำเร็จ ระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประชวรได้ 25 วันก็เสด็จสวรรคต.

ภาพรูปปั้นจากซ้ายไปขวา: พระสุพรรณกัลยา พระนเรศ และพระเอกาทศรถ จัดประทับวางไว้ด้านขวาของพระพุทธชินราช
ภายในวิหารของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร จ.พิษณุโลก,
ที่มา: www.tripadvisor.ca, วันที่เข้าถึง 31 กรกฎาคม 2562. 

     สมเด็จพระมหินทราธิราชสืบราชสมบัติอีกครั้ง แล้วทรงมอบหมายให้พระยารามบัญชาการรบแทน ส่วนพระองค์ประทับแต่ในพระราชวัง ไม่เอาพระทัยใส่ในการศึก12. ฝ่ายพระเจ้าบุเรงนองมีพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระมหินทราธิราชว่า ถ้าส่งตัวพระยารามมาให้จะยอมเป็นพระราชไมตรี สมเด็จพระมหินทราธิราชก็ยอมทำตาม พระเจ้าบุเรงนองก็ให้กองทัพพักรบไว้ ต่อมามีรับสั่งให้พระสังฆราชกรุงศรีอยุธยาไปแจ้งแก่กรุงศรีอยุธยาว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางทั้งปวงออกมาถวายบังคมแก่พระองค์ ก็จะรับพระราชไมตรี ทรงรออยู่เจ็ดวันยังไม่ได้คำตอบ สมเด็จพระมหาธรรมราชาออกไปเจรจาก็ไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองจึงรับสั่งโจมตีกรุงศรีอยุธยาต่อ ระหว่างนั้นพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวราชนำกองพล 15,000 นาย มาช่วยป้องกันพระนครโดยไม่ได้ปรึกษาพระราชบิดา สมเด็จพระมหินทราธิราชเห็นว่าพระราชโอรสกระทำตามอำเภอใจ จึงรับสั่งให้พระยาธรรมาคุมตัวพระศรีเสาวราชไปสำเร็จโทษ ณ วัดพระราม บรรดาทหารก็เสียใจ แต่เห็นสวัสดิภาพของครอบครัว จึงมุ่งรักษาพระนครต่อ.
วัดพระราม (ตั้งอยู่นอกเขตพระราชวัง ทางทิศตะวันออก ตรงข้ามกับวิหารพระมงคลบพิตร),
ที่มา: www.paiduaykan.com, วันที่เข้าถึง 31 กรกฎาคม 2562.

     ฝ่ายสมเด็จพระมหาธรรมราชาคิดอุบายให้พระยาจักรีเป็นไส้ศึก พระเจ้าบุเรงนองก็ยินดีตามแผน สมเด็จพระมหินทราธิราชหลงเชื่อว่าพระยาจักรีหนีมาจริง ก็พระราชทานรางวัลและมอบหมายให้บัญชาการรักษาพระนคร พระยาจักรีทำหน้าที่เข้มแข็งอยู่เดือนหนึ่ง จึงเริ่มทำให้กองกำลังกรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังลง พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบก็รับสั่งให้นายทัพนายกองเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา จึงเสียกรุงฯ ในวันแรม 11 ค่ำ เดือน 9 ปี ( 7 สิงหาคม พ.ศ.2112) หลังจากล้อมพระนครไว้ถึงเก้าเดือน พระมหาอุปราชากรุงหงสาวดี13 และสมเด็จพระมหาธรรมราชา พาสมเด็จพระมหินทราธิราชไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่พลับพลาวัดมเหยงคณ์03. พระเจ้าบุเรงนองตบพระหัตถ์ที่พระราชอาสน์ทูลเชิญสมเด็จพระมหินทราธิราชให้เข้ามานั่ง สมเด็จพระมหินทราธิราชก็คลานเข้าไปแต่ไม่ถึงที่พระราชอาสน์ พระเจ้าบุเรงนองยื่นพานพระศรี (พานใส่หมากพลู) ให้ สมเด็จพระมหินทราธิราชไม่ทรงรับ พระเจ้าบุเรงนองหยิบพระศรีให้ ทรงรับมาไว้ครู่หนึ่งจึงเสวย พระเจ้าบุเรงนองเชิญสมเด็จพระมหินทราธิราชไปอยู่หงสาวดี โดยระหว่างรอเสด็จให้อยู่ในความดูแลของสมเด็จพระมหาธรรมราชา และให้พระมหาอุปราชาก็เข้าไปกวาดต้อนครัวเรือนชาวกรุงศรีฯ และรูปหล่อส่งไปกรุงหงสาวดีทั้งหมด.
     เมื่อสมเด็จพระมหินทราธิราชตามเสด็จฯ ถึงเมืองแครงก็ประชวรหนัก แม้พระเจ้าบุเรงนองจะคาดโทษแพทย์ หากรักษาไม่หายและได้เสด็จมาเยี่ยมให้กำลังใจ ไม่นานก็สวรรคต สิริพระชนมายุ 34 พรรษา14 พระราชทานเพลิงแล้วให้ทหารนำพระอัฐิ พระสนม และเครื่องราชูปโภคมาส่งกรุงศรีอยุธยา.



 
ที่มาของข้อมูลและคำอธิบายเพิ่มเติม
01.  มีนักประวัติศาสตร์ นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความเห็นว่า เมื่อก่อนนั้นความเป็นรัฐชาติ ไม่เหมือนแนวความคิดปัจจุบัน ว่านี่เป็นประเทศพม่า นี่เป็นประเทศไทย นี่เป็นสปป.ลาว แต่จะมองเป็นเมืองเป็นแคว้น เขตแดนจะกำหนดขึ้นหยาบ ๆ เชื้อชาติ ภาษาวัฒนธรรม ความหนาแน่นของประชากร ภูมิประเทศมากกว่า ความเป็นรัฐไทยนั้นเกิดขึ้นภายหลัง โดยเฉพาะสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการประกาศเอกราชด้วยการหลั่งน้ำทักษิโณทกเพื่อประกาศเอกราชนั้น มิได้เป็นประเพณีของผู้คนโบราณในยุคนั้นในแถบถิ่นฐานอุษาคเนย์แต่อย่างใด สันนิษฐานว่าน่าจะนำมาจากการประสมประสาน รวบรวมความคิดของนักวิชาการในยุคต่อมามากกว่า ซึ่งล้อกับการประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีคนที่ 3 แห่งสหรัฐอเมริกา "ทอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson)" (4 มีนาคม พ.ศ.2344 - 4 มีนาคม พ.ศ.2352)  ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ "คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา (Declaration of Independence)" นั่นเอง  ซึ่งประเด็นนี้ ใคร่ขอให้ผู้สนใจศึกษา ได้ค้นคว้าสืบเสาะหาข้อเท็จจริงต่อไป โดยลดทิฏฐิมานะ ลดความเป็นอัตตาลง เอาความรู้ ความจริงและความก้าวหน้าทางวิชาประวัติศาสตร์เป็นที่ตั้งด้วยเถิด.
02. ขอให้ดูในหมายเหตุและคำอธิบาย ข้อ 07. ใน http://huexonline.com/knowledge/19/200/
ซึ่งมีหลักฐาน "โยธยา ยาสะเวง" หรือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" แตกต่างกันออกไป.
03. ภาพวัดมเหยงคณ์ อ้างอิง www.mryoudesign.com, วันที่เข้าถึง 10 กรกฎาคม 2562

 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพจำลองวัดมเหยงคณ์ และ "ฉนวน" ทางเข้าออกเป็นทางเดินยาวมีกำแพงสองข้างยาว เป็นทางเดินสำหรับพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงเสด็จเข้าออก (ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2558) ขอขอบคุณ Mr.You Design, ใน Facebook โพสต์และแก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2562. 

 
04.  ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม 1. โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
05.  พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้บันทึกไว้ว่า "ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดี ยกทัพมาถึงกรุงพระนครศรีอยุธยา ณ วันพุธ เดือนอ้ายขึ้น 1 ค่ำ ตั้งทัพมั่น ณ ตำบลลุมพลี จึงพระยารามก็ให้เอาปืนนารายณ์สังหาร ยาว 3 วาศอก กระสุน 12 นิ้ว ลากไป ในช่องมุมศพสวรรค์ ให้จังกายิงเอากลางทัพพระเจ้าหงสาวดี ต้องช้างม้ารี้พลตายมาก และกระสุนนั้นไปตกใกล้พลับพลาพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็ให้เอากระสุนขึ้นสรวงพลี แล้วก็เสด็จ เลิกกองทัพมาตั้ง ณ มหาพราหมณ์"
06.  ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ จากข้อมูลที่มีเบื้องต้น มีความเป็น Drama ค่อนข้างมาก กระผมผู้รวบรวมจะพยายามค้นคว้า และเทียบเคียงกับข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกันของประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า) และเอกสารจากฝรั่งต่างประเทศ มาเพิ่มเสริม เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่เอนเอียงต่อไป หากไม่มีหลักฐานใดอ้างอิง ก็จะเว้นไว้เช่นนั้น และจะไม่จินตนาการแต่งเติมอีก จักขอให้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการต่อยอดของผู้ศึกษา ผู้สนใจต่อไป.
07.  ในรัชกาลพระเทียรราชา (สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) นั้น ทรงมีช้างเผือกมากกว่ารัชกาลใด ๆ คือมีถึง 7 ช้าง (ด้วยหน่วยนับช้างเผือกเป็น "ช้าง" มิใช่ "เชือก") ดังนี้
       1)  พระคเชนทโรดม ช้างเผือกพลาย ได้มาแต่เมืองกาญจนบุรี
       2)  พระรัตนกาศ ช้างเผือกพลาย ได้มาจากตำบลไทรย้อย
       3)  พระแก้วทรงบาศ  ช้างเผือกพลาย ได้มาจากป่าเพชรบูรณ์
       4)  พระบรมไกรสร (ไม่มีบันทึกว่าเป็นเพศใด) ได้จากป่าทะเลชุบศร 
       5)  พระสุริยกุญชร (ไม่มีบันทึกว่าเป็นเพศใด) ได้จากป่าน้ำทรง
       6)  และ 7) ช้างเผือก 2 เชือก (ไม่ปรากฎนาม) แม่ช้างเผือกพัง กับลูกช้างเผือกพลาย  ด้วยในปีที่ได้นั้น พระแก้วทรงบาศ ได้เสด็จไปที่ป่ามหาโพธิ์ จึงได้ช้างเผือกสองช้างนี้มา.
                                                      (ที่มา: www.thairath.co.th/content/332077, วันที่เข้าถึง 27 กรกฎาคม 2562.)
08.  ด้วยกษัตริย์เมืองม่าน (พม่า) พระเจ้าบุเรงนองกะยอดินนรธา ทรงมีช้างเผือกอยู่แล้ว 4 ช้าง ทรงอยากจะได้ช้างเผือกเพิ่ม ทรงทราบว่าสมัยพระเจ้าอายุมางจอ (?) ก็ได้ไปจากสยามช้างหนึ่ง สมัยพระเจ้าราชาธิราช (Razadarit หรือ Yazadarit) ก็ได้ช้างชื่อคันธโย ไปช้างหนึ่ง พระเจ้าตะบิงสอยตี (พระเจ้าตะเบงชะเวตี้?) ก็ได้ถึงสองช้าง ไชยานุภาพกับปลาบ (ปราบ?) ใหญ่...สยามจึงน่าจะทำตามธรรมเนียมเดิม
                                                     (ที่มา: www.thairath.co.th/content/332077, วันที่เข้าถึง 27 กรกฎาคม 2562.)
09.  จาก: ที่มา: www.thairath.co.th/content/332077, วันที่เข้าถึง 27 กรกฎาคม 2562. ได้อธิบายว่ามีกำลังพลกว่าแสนคน
10.  ที่มา: th.wikipedia.org, ซึ่งมีมาหลักมาจาก พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), วันที่เข้าถึง 29 กรกฎาคม 2562.
11.  ที่มา: พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, หน้าที่ 172 
12.  ตามความเห็นของ กระผมผู้เรียบเรียงประมวลรวบรวมแล้ว ปัจจัยหลักที่ทำให้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งมีหลายประการ เป็นปัจจัยหนุนเนื่องกัน ท่านผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดในสิ่งที่กระผมได้รวบรวมไว้ก่อนหน้า ในบล็อกนี้ประกอบด้วยครับ.
13.  พระมหาอุปราชา กรุงหงสาวดี เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าบุเรงนอง "อุปราชมังไชยสิงห์ หรือ ชัยสิงห์ (Zeya Thiha)"  (ตามพงศาวดารมหาราชวงศ์ ฉบับอูกะลา (Maha Yazawin) ได้กล่าวว่าและได้รับพระราชบรรดาศักดิ์จากพระมาตุลาว่า "เมงเยกะยอชวา - Minye Kyawswa" - ซึ่งแย้งกับข้อมูลส่วนอื่นว่า มังกะยอชวา หรือ มังสามเกียด คือพระโอรสหรือ พระมหาอุปราชาของพระเจ้านันทบุเรง) หรือ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง (Nanda Bayin) ในกาลต่อมา.
14.  บางพงศาวดาร (คำให้การชาวกรุงเก่า และคำให้การขุนหลวงหาวัด) กล่าวว่า ทรงกระทำการขุ่นเคืองแก่พระเจ้าบุเรงนอง จึงถูกสำเร็จโทษด้วยการถ่วงน้ำที่เมืองสระถุง (เมืองสถุง หรือ สถัง - เมืองสะเทิม - Thaton).


 
info@huexonline.com