MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 11: พระยอดฟ้า, ขุนวรวงศาธิราช และ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

Title Thumbnail & Hero Image: วัดหัสดาวาส, ถ่ายไว้เมื่อ 30 มิถุนายน 2561.

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 11: พระยอดฟ้า, ขุนวรวงศาธิราช และ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
 
First revision: May 19, 2018
Last change: Dec.01, 2020
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียงและปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา
 
สมเด็จพระยอดฟ้า01,02
กษัตริย์ลำดับที่ 14 แห่งกรุงศรีอยุธยา

     สมเด็จพระยอดฟ้า หรือ สมเด็จพระแก้วฟ้า (ประมาณ พ.ศ.2079 - 10 มิถุนายน พ.ศ.2091) เป็นกษัตริย์ไทยลำดับที่ 14 แห่งกรุงศรีอยุธยา จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ
     พระองค์ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราชกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ.2089 จนถูกสำเร็จโทษ.

พระกำเนิด
     สมเด็จพระยอดฟ้าประสูติประมาณปี พ.ศ.2079 เป็นพระโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ หรือ แม่ศรีสุดาเจ้า (Mee-Soo-Seda t' Siau) มีพระอนุชาอีกหนึ่งพระองค์คือพระศรีศิลป์ พระชันษาอ่อนกว่าหกปี.

การครองราชย์
     ครั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตในปี พ.ศ.2089 พระยอดฟ้าจึงสืบราชสมบัติต่อ เวลานั้นมีพระชนมายุ 11 พรรษา ในพระราชพงศาวดาร (หน้าที่ 63-67)02 บันทึกว่า "นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นสมเด็จพระชนนีช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน" การเมืองยามนั้นยังวุ่นวาย พระเฑียรราชา เชื้อพระวงศ์ฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราช น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการประคับประคองราชการแผ่นดินได้ แต่กลับเกรงราชภัย หนีไปผนวชที่วัดราชประดิษฐาน ตำบลท่าทราย ในกรุงศรีอยุธยา ตลอดรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้า.
เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (ค.ศ.1602-1663), ที่มา: https://it.paperblog.com/jeremias-van-vliet-1602-c-1663-mercante-viaggiatore-olandese-1238972/, วันที่สืบค้น 19 ตุลาคม 2561

     เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van vliet) หรือคนไทยเรียกว่า "วัน วลิต" ได้กล่าวว่า (ตามบันทึกของ ฟาน ฟลีต ซึ่งอยู่ห่างจากเหตุการณ์พระยอดฟ้า เกือบ 100 ปี แต่ก็ใกล้เคียงกว่าพงศาวดารไทยในยุคหลัง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์) สมเด็จพระยอดฟ้า (Prae Joodt Jaeu) ทรงโปรด "ทรงม้าไปตามป่าตามทุ่งและไร่นา ชนช้าง ทรงพระแสง ฝึกหัดขัตติยวิชา" และ "ในรัชกาลของพระองค์บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ทุกแห่งหน มิได้อดอยากแห้งแล้ง" ขณะที่พงศาวดารหลายฉบับของไทยบันทึกเกี่ยวกับนิมิตร้ายหลายประการซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่สมเด็จพระยอดฟ้าเสด็จสู่ราชสมบัติได้ไม่นาน เช่น คราวที่เสด็จออกสนามชนช้าง งาช้างที่ชื่อ "พระยาไฟ" ก็หักออกเป็นสามท่อน พอเวลาค่ำ ช้างต้นชื่อ "พระฉัททันต์" ร้องเหมือนเสียงคนร้องไห้ ทั้งได้ยินเสียงร้องออกมาจากประตูไพชยนต์. 


 
ขุนวรวงศาธิราช (พันบุตรศรีเทพ)03, 04
กษัตริย์ลำดับที่ 15 แห่งกรุงศรีอยุธยา
 

ที่มา: facebook, วันที่เข้าถึง 16 พฤษภาคม 2562.

     ราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ.2091 และถูกสำเร็จโทษเมื่อ พ.ศ.2091 พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศว่าทรงครองราชย์ได้ 5 เดือน บางแหล่งก็ว่า 42 วัน แต่คำให้การชาวกรุงเก่าว่า 2 ปี สวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 22 พรรษา

     ทรงเป็นกษัตริย์ในสมัยอาณาจักรอยุธยา นักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านไม่นับว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ เพราะถือว่าเป็นกบฎสมคบกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ แย่งชิงราชบัลลังก์จากสมเด็จพระยอดฟ้า อย่างไรก็ตามในพงศาวดารได้ระบุว่า พระองค์ได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว
     เมื่อพิจารณาความเห็นต่าง ๆ จากที่ปรากฎใน Social network มีประเด็นที่น่าสนใจคือ:
  • ไทยสมัยก่อนนั้น ไม่ให้หญิงเป็นใหญ่ จึงต้องเอาขุนวรวงศาธิราชมาอ้าง ความจริงคืออำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของท้าวศรีสุดาจันทร์
  • เมื่อพิจารณาถึงการเป็นกษัตริย์โบราณราชประเพณีที่ถูกต้องแล้วนั้น ขุนวรวงศาธิราชผ่านพิธีราชาภิเษก มีศักดิ์ชอบธรรมมากกว่าพระเจ้าทองลัน (ที่มีเพียง 15 พรรษา) เสียด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ได้ผ่านพิธีบรมราชาภิเษก และอำนาจก็ยังไม่อยู่ในมือพระเจ้าทองลัน.
  • ประเด็นที่น่าสนใจในกรณีรัฐประหารท้าวศรีสุดาจันทร์
          1. ท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงลอบปลงพระชนม์พระสวามีและพระราชโอรสเพราะความมักมากในกามจริงหรือ??? : ในภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท ฉากที่สมเด็จพระไชยราชาทรงสวรรคตนั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้กล่าวให้ร้ายสมเด็จพระเทียรราชาและได้กล่าวถึงการกลับคืนสู่อำนาจของราชวงศ์อู่ทอง นี่จึงน่าจะเป็นสาเหตุหลักของการกบฏครั้งนี้ เพราะท้าวศรีสุดาจันทร์คือผู้สืบสายอู่ทองมาโดยตรง เลือดขัตติยะนารีในตัวนางย่อมเข้มข้นยิ่ง และการกล่าวให้ร้ายพระเทียรราชาก็เพื่อการกำจัดเชื้อพระวงศ์คนสำคัญของราชวงศ์สุพรรณภูมิ เนื่องจากพระเทียรราชาทรงมีสิทธิ์อันชอบธรรมในราชสมบัติ
          2. ทำไมท้าวศรีสุดาจันทร์จึงเจาะจงเลือกขุนวรวงศาธิราช(พันบุตรศรีเทพ)เป็นผู้สืบราชสมบัติแห่งราชวงศ์อู่ทอง : เนื่องจากพันบุตรศรีเทพผู้นี้เป็นผู้สืบเชื้อสายฝ่ายอู่ทองมาเช่นกัน คาดว่าน่าจะเป็นบุตรชายของเจ้าเมืองศรีเทพ และยังมีบางแห่งกล่าวว่าพันบุตรศรีเทพในอดีตก็เป็นคนรักเก่าของท้าวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งทำให้ท้าวศรีสุดาจันทร์ไว้ใจก่อให้ถ่านไฟเก่าเกิดคุกรุ่นขึ้น และพันบุตรศรีเทพก็นับว่าเป็นขุนนางชั้นผู้น้อยแต่โดดเด่นคนหนึ่งของราชวงศ์อู่ทองอีกด้วย ส่วนการที่ชายจากราชวงศ์อู่ทองไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โต ส่วนใหญ่ได้เป็นเพียงผู้เฝ้าหอพระหรือผู้ทำพิธีต่างๆเท่านั้น น่าจะมีสาเหตุ เนื่องมาจากการที่เชื้อพระวงศ์สุพรรณภูมิมักจะกีดกันเชื้อพระวงศ์อู่ทองไม่ให้มีอำนาจใกล้ชิดกิจการทหาร เพื่อป้องกันการล้างแค้นระหว่างราชวงศ์ แต่สุดท้ายก็เกิดช่องโหว่ขึ้นจนได้
ที่มา: http://pantip.com/topic/32369817 ซึ่งอ้างต่อไปยัง www.thaisamkok.com/article-1802 (ซึ่งสืบค้นไม่พบ), วันที่เข้าถึง 18 พฤษภาคม 2562.

     พระราชประวัติ
     ขุนวรวงศาธิราชสมภพเมื่อวันจันทร์ ในตระกูลอำมาตย์ (หรือพราหมณ์) พระนามเดิมว่า บุญศรี เดิมมีตำแหน่งเป็น พันบุตรศรีเทพ ผู้เฝ้าหอพระข้างหน้า มีหน้าที่เป็นผู้กระทำพิธีการต่าง ๆ (ในบันทึกของเ
ยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือ วันวลิต อธิบายในลักษณะว่าเหมือนหมอผี) รวมถึงขับเสภากล่อม สมเด็จพระไชยราชาธิราช ให้บรรทมด้วย จึงสามารถเข้านอกออกในเขตพระราชฐานได้.
     บางทฤษฎีเชื่อว่าพระองค์เป็นบุตรหรือมีเชื้อสายสืบทอดมาจากเจ้าเมืองศรีเทพ อันเป็นเมืองลูกหลวงสมัยราชวงศ์อู่ทองครองกรุงศรีอยุธยา หรือสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง.

     การพบกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
     วันหนึ่งในรัชสมัยพระยอดฟ้า นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งเป็นพระราชชนนีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เสด็จไปพระที่นั่งพิมานรัถยาหอพระข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพก็เกิดมีความรักใคร่ จึงสั่งให้สาวใช้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าไปพระราชทานให้ พันบุตรศรีเทพก็เข้าใจว่าพระนางมีใจรักจึงเอาดอกจำปาให้สาวใช้นำไปถวาย ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ยิ่งมีความกำหนัดในตัวพันบุตรศรีเทพ.

 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: ขุนวรวงศาธิราช (จอนนี่ แอนโฟเน่) จากภาพยนตร์เรื่อง "สุริโยไท", ที่มา: www.bloggang.com,
วันที่เข้าถึง 17 พฤษภาคม 2562, และ ใหม่ เจริญปุระ ในบท "ท้าวศรีสุดาจันทร์" จากภาพยนตร์เรื่อง "สุริโยไท",
ที่มา: mgronline.com, วันที่เข้าถึง 17 พฤษภาคม 2562.

     การเลื่อนบรรดาศักดิ์
     ต่อมานางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ได้ให้พระยาราชภักดีเลื่อนพันบุตรศรีเทพเป็น ขุนชินราช (ในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า ขุนเชียรราช) ผู้รักษาหอพระข้างใน ส่วนขุนชินราชคนเดิมให้ไปเป็นพันบุตรศรีเทพ จากนั้นขุนชินราชก็ลักลอบเป็นชู้กับท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นเวลานาน.
     ท้าวศรีสุดาจันทร์คิดจะแย่งชิงราชบัลลังก์ให้กับขุนชินราช จึงให้พระยาราชภักดีเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนชินราชเป็น ขุนวรวงศาธิราช เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจ นอกจากนั้นยังให้ปลูกจวนอยู่ริมศาลาสารบัญชีกับจวนสำหรับขุนวรวงศาธิราชว่าราชการอยู่ที่ประตูดินริมต้นหมัน ให้พิจารณาเลขสังกัดสมพรรค์ แล้วให้เตียงอันเป็นพระราชอาสน์ให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งเพื่อให้ขุนนางทั้งหลายมีความยำเกรง
     เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ พระยามหาเสนาได้พูดกับพระยาราชภักดีว่า "เมื่อแผ่นดินเป็นทุรยศฉะนี้ เราจะคิดประการใด" แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ทรงทราบจึงให้พระยามหาเสนามาเข้าเฝ้าที่ประตูดิน จนเวลาค่ำพระยามหาเสนากลับออกไป มีผู้มาแทงพระยามหาเสนาตาย ก่อนตายพระยามหาเสนากล่าวว่า "เมื่อเราเป็นดั่งนี้แล้ว ผู้อยู่ภายหลังจะเป็นประการใดเล่า"

     การขึ้นครองราชย์
     ในปี พ.ศ.2091 นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ทรงอ้างว่าพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ หัวเมืองฝ่ายเหนือก็ไม่เป็นปกติจึงปรึกษากับขุนนางว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินจนกว่าพระยอดฟ้าจะทรงเจริญพระชนมายุ จึงทำพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและสถาปนานายจัน น้องชายขุนวรวงศาธิราชอยู่บ้านมหาโลก ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช (ผ่านพิธีอุปราชาภิเษกด้วย)
     เมื่อขุนวรวงศาธิราชได้ครองราชบัลลังก์ก็สมคบกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ นำพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำเดือน 8 ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2091 ปีจอ จ.ศ.910 (พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาสว่าตรงกับปีฉลู พ.ศ.2072) ส่วนพระศรีศิลป์ พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่ประสูติแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์นั้น ไม่ได้นำไปสำเร็จโทษแต่ให้เลี้ยงไว้

     การล้มราชบัลลังก์
     การครองราชบัลลังก์ของขุนวรวงศาธิราชนั้น ไม่เป็นที่ห็นชอบของขุนนางในราชสำนักและพระญาติวงศ์บางส่วน เพราะขุนวรวงศาธิราชทรงขึ้นครองบัลลังก์โดยไม่ชอบธรรม มีขุนนางบางคนรวมตัวกันเพื่อล้มล้างราชบัลลังก์ ได้แก่ ขุนพิเรนทรเทพ เจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง (ต่อมาคือพระมหาธรรมราชา) ขุนอินทรเทพ  (ต่อมาคือเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช) หมื่นราชเสน่หา (บ้างก็ว่า ในราชการ บ้างก็ว่า นอกราชการ..!!!??) (ต่อมาคือพระยาภักดีนุชิต) และหลวงศรียศ (ต่อมาคือเจ้าพระยามหาเสนา) บ้านลานตากฟ้า
     ทั้งสี่ร่วมกันวางแผนลอบปลงพระชนม์ จนโอกาสมาถึงเมื่อกรมการเมืองลพบุรีกราบทูลขุนวรวงศาธิราชว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งที่ลพบุรี ขุนวรวงศาธิราชรับสั่งว่าจะไปจับ แต่ต่อมาเปลี่ยนพระทัยให้กรมการเมืองลพบุรีไปจับแทน หลังจากนั้น 7 วันช้างเผือกเข้ามาทางวัดแม่นางปลื้มเข้าเพนียดวัดซอง พระองค์จึงรับสั่งว่าหนนี้จะเสด็จไปจับเอง.
     ขุนพิเรนทรเทพสั่งให้หมื่นราชเสน่หา (นอกราชการ) ไปดักยิงอุปราชจันน้องขุนวรวงศาธิราชตาย ที่ท่าเสื่อระหว่างขี่ช้างไปเพนียด จากนั้นขุนพิเรนทรเทพได้เรียกพระยาพิชัยกับพระยาสวรรคโลก ข้าราชการเมืองเหนือลงมาร่วมมือในการก่อการครั้งนี้ด้วย
     ขุนวรวงศาธิราชประทับนั่งเรือพระที่นั่งไปกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และพระธิดา (บางตำราว่าถูกสำเร็จโทษ) ที่เกิดด้วยกันและพระศรีศิลป์ ดังนั้นขุนวรวงศาธิราชจึงทรงถูกลอบปลงพระชนม์ (บ้างก็ว่าถูกสำเร็จโทษ) ที่คลองสระบัว ข้างคลองปลาหมอ โดยขุนพิเรนทรเทพกับสมัครพรรคพวก (ในบันทึกของวัน วลิต บอกว่าถูกลอบยิงด้วยปืนที่ข้างประตูวัง) พร้อมท้าวศรีสุดาจันทร์และพระธิดา พระบรมศพนั้นถูกนำไปเสียบประสานไว้ที่วัดแร้ง พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศว่าทรงครองราชย์ได้ 5 เดือน บางแหล่งก็ว่า 42 วัน แต่คำให้การชาวกรุงเก่าว่า 2 ปี สวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 22 พรรษา.

 
     
แผนที่โคกวัดแร้งและบริเวณในวัดแร้ง, ที่มา: faiththaihistory.com, วันที่เข้าถึง 23 พฤษภาคม 2562.

     พระราชกิจ
  • ข้าราชการหัวเมืองเหนือทั้ง 7 มีความกระด้างกระเดื่องต่อขุนวรวงศาธิราช จึงให้สมุหนายกมีหมายเรียกข้าราชการหัวเมืองเหนือลงมาที่กรุงศรีอยุธยา
  • เมื่อขุนวรวงศาธิราชได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ให้เอาพงศาวดารเก่า ๆ เผาไฟเสียบ้าง ด้วยเหตุนี้พงศาวดารเก่า ๆ จึงขาดเป็นตอน ๆ 


 
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ05
กษัตริย์ลำดับที่ 16 แห่งกรุงศรีอยุธยา

ที่มา: wissanu11.wordpress.com, วันที่เข้าถึง 18 พฤษภาคม 2562.

   สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า (พระนามเดิม พระเทียรราชา) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 16 (บ้างก็ว่า 15 แต่ในบล็อกนี้ ถือเป็นลำดับที่ 16 ด้วยนับรวมขุนวรวงศาธิราชไว้ด้วย) แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่ามีบุญญาธิการมาก เพราะทรงมีช้างเผือกในครอบครองถึง 7 ช้าง หรือเชือก จนได้รับการขนานพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือก ในรัชกาลนี้ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากคราวขุนวรวงศาธิราช สภาพบ้านเมืองไม่ได้สงบสุขเท่าที่ควร มีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะสงครามกับกรุงหงสาวดี.
  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
  พ.ศ.2019 - 2108 (ครั้งที่ 1)
  ราชาภิเษก พ.ศ.2091
  ก่อนหน้า ขุนวรวงศาธิราช
  ถัดไป สมเด็จพระมหินทราธิราช
  พ.ศ.2110/2111-2111 (ครั้งที่ 2)
  ก่อนหน้า สมเด็จพระมหินทราธิราช
  ถัดไป สมเด็จพระมหินทราธิราช
  พระอัครมเหสี พระสุริโยทัย
  พระราชบุตร/พระธิดา พระราเมศวร
สมเด็จพระมหินทราธิราช
พระวิสุทธิกษัตริย์
พระบรมดิลก
พระเทพกษัตรี
พระแก้วฟ้า
พระศรีเสาวราช
  ราชวงศ์ สุพรรณภูมิ
  พระราชบิดา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
  พระราชสมภพ พ.ศ.2055
  สวรรคต พ.ศ.2111

พระราชประวัติ
     สมเด็จพระมหาจักรวรรดิ มีพระนามเดิมว่า พระเทียรราชา สันนิษฐานว่าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 อันประสูติจากสนม และเป็นพระอนุชาพระราชมารดากับสมเด็จพระไชยราชาธิราช
     ด้านชีวิตครอบครัว ได้อภิเษกสมรสกับพระสุริโยทัย และมีพระราชโอรสธิดา 5 พระองค์คือ พระราเมศวร สมเด็จพระมหินทราธิราช พระวิสุทธิกษัตริย์ พระบรมดิลก และพระเทพกษัตรี นอกจากนี้ยังอาจจะมีพระสนมอีก เพราะปรากฎพระนาม พระศรีเสาวราช พระแก้วฟ้า เป็นพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระองค์ด้วยในชั้นหลัง

วัดราชประดิษฐาน (วัดท่าทราย), ที่มา: www.qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 20 พฤษภาคม 2562.

     ปี พ.ศ.2089 หลังถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระไชยราชาธิราชแล้ว พระเทียรราชาทรงลี้ภัยออกผนวชอยู่วัดราชประดิษฐาน (วัดท่าทราย) ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระยอดฟ้า และขุนวรวงศาธิราช ครั้งนั้นขุนพิเรนทรเทพได้ร่วมกับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา (ในราชการ) และหลวงศรียศ ปรึกษากันว่าแผ่นดินเป็นทุรยศ ควรจับขุนวรวงศาธิราชไปประหารชีวิตเสีย แล้วให้พระเทียรราชาซึ่งทรงผนวชอยู่เป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน จึงพากันไปเฝ้าพระเทียรราชา กราบทูลแผนการให้ทรงทราบ ก็ทรงเห็นด้วย ฝ่ายขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา และหลวงศรียศ เห็นว่าควรเสี่ยงเทียนว่าพระเทียรราชามีพระบารมีมากกว่าขุนวรวงศาธิราชหรือไม่ ขุนพิเรนทรเทพไม่เห็นชอบ แต่พระเทียรราชาทรงเห็นด้วย ค่ำวันนั้นทั้งหมดจึงไปยังพระอุโบสถวัดป่าแก้ว06 เพื่อทำพิธีเสี่ยงทาย เมื่อจุดเทียนแล้วปรากฎว่าเทียนของขุนวรวงศาธิราชยาวกว่า ขุนพิเรนทรเทพจึงโกรธว่าห้ามแล้ว ยังขืนทำอีก แล้วคายชานหมากทิ้ง บังเอิญไปถูกเทียนขุนวรวงศาธิราชดับลง ทั้ง 5 คนจึงยินดียิ่ง ขณะนั้นมีพระภิกษุลึกลับเข้ามาในอุโบสถ ให้พรว่าที่ปรารถนานั้นจะสำเร็จแน่ ออกจากอุโบสถก็หายตัวไป
     เมื่อขุนวรวงศาธิราชเสด็จฯ ทางชลมารคไปทรงคล้องช้างเผือก ขุนพิเรนทรเทพกับพวกได้จัดกองเรือออกสกัด เข้าจับขุนวรวงศาธิราช นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และพระราชโอรส ฆ่าเสียทั้งหมด เอาศพไปเสียบประจานไว้ ณ วัดแร้ง เว้นชีวิตไว้แต่พระศรีสิน (พระศรีศิลป์) แล้วเข้ายึดพระราชวัง ให้ส่งเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ไปรับพระเทียรราชาซึ่งลาสิกขาบทแล้วมาราชาภิเษกเป็น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ครองกรุงศรีอยุธยาแทน.

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
     ในระหว่างปี พ.ศ.2092-2106 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ปรับปรุงกิจการทหาร และเสริมสร้างบ้านเมืองให้มั่นคงแข็งแรงกว่าเดิม ยุทธศาสตร์ในการป้องกันคือ ใช้พระนครเป็นที่มั่น
  • เมื่อ พ.ศ.2092 ทรงให้ก่อกำแพงพระนครศรีอยุธยาก่ออิฐถือปูนตามแบบฝรั่งเป็นครั้งแรก จากเดิมที่ถมดินเป็นเชิงเทินแล้วปักเสาไม้ระเนียดด้านบน
  • โปรดให้รื้อกำแพงเมืองด้านหน้าด่านชั้นนอกออก 3 เมืองคือ สุพรรณบุรี ลพบุรี และนครนายก เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกอาศัยเป็นที่ตั้งมั่น
  • โปรดให้ขุดคลองมหานาค เป็นคูเมืองออกไปถึงชายทุ่งภูเขาทอง คาดว่าเริ่มขุดตั้งแต่ศึกพระสุริโยทัยขาดคอช้างแต่เพิ่งมาเสร็จ
  • โปรดให้สำรวจบัญชีสำมะโนครัวใหม่ ตามหัวเมืองชั้นในทุกหัวเมือง ทำให้ทราบจำนานชายฉกรรจ์ที่สามารถทำการรบได้
  • ทรงตั้งเมืองใหม่ขึ้น 3 เมือง เพื่อให้เป็นที่รวมพลและง่ายต่อการเกณฑ์เข้าพระนคร
    • ยกตลาดขวัญเป็น เมืองนนทบุรี
    • ยกบ้านท่าจีนเป็น เมืองสาครบุรี
    • แบ่งเอาเขตเมืองราชบุรีกับเมืองสุพรรณบุรี เป็นเมืองนครชัยศรี
  • พ.ศ.2095 โปรดให้แปลงเรือแซ (เรือยาวตีกรรเชียง ใช้คนพายประมาณ 20 คน) เป็นเรือชัย (เรือที่มีปืนใหญ่ยิงได้ที่หัวเรือ) และหัวสัตว์ คือการพัฒนาเรือรบนั่นเอง ซึ่งก็คือเรือที่ใช้ในพระราชพิธีปัจจุบัน
  • โปรดให้จับช้างเข้ามาในราชการ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสามารถจับช้างเผือกได้ถึงเจ็ดเชือก จึงได้รับขนานพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือก อีกพระนามหนึ่ง (เท่าที่ศึกษามาในเอกสารของพม่ามักจะเรียกกษัตริย์ไทยพระองค์ต่อ ๆ มาว่า พระเจ้าช้างเผือก อยู่เสมอ และจะเรียกกษัตริย์ของพม่าเองว่า พระเจ้ามณเฑียรทอง (ดังปรากฎในหนังสือเรื่อง ราชาธิราช) และบางรัชกาลถัดจากสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พม่าก็จะเรียกกษัตริย์ของพม่าเองว่าพระเจ้าช้างเผือกเหมือนกัน เช่น พระเจ้าเซงพะยูเชง (Hsinbyushin) หมายถึง พระเจ้าบุเรงนอง และ พระเจ้ามังระ)
     พ.ศ.2106 สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง มีพระราชประสงค์เป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา จึงส่งทูตมาขอพระเทพกษัตรี พระราชธิดาพระองค์เล็กไปเป็นพระชายา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงรับไมตรี แต่ตอนนั้นพระเทพกษัตรีทรงพระประชวร พระองค์จึงส่งพระแก้วฟ้าไปถวายแทน
 
สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง : พระราชสมภพ (หลวงพระบาง) พ.ศ.2077; สวรรคต (อัตตะปือ) พ.ศ.2114,
ที่มา: www.photoontour.com, วันที่เข้าถึง: 24 พฤษภาคม 2562.

     เมื่อพระไชยเชษฐาทรงทราบว่าไม่ใช่พระเทพกษัตรีจึงถวายพระแก้วฟ้าคืนใน พ.ศ.2107 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงส่งพระเทพกษัตรีไปยังล้านช้าง แต่พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบเข้าจึงส่งทหารไปชิงตัวพระเทพกษัตรีมา
     สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบก็ทรงเสียพระทัย จึงเสด็จไปประทับที่วังหลัง ให้พระมหินทร์พระโอรสว่าราชการแทน เมื่อพระชนมายุประมาณ 59 พรรษา ต่อมาได้เสด็จออกผนวช ในปี พ.ศ.2109 โดยมีข้าราชการออกบวชด้วยจำนวนมาก
     พระมหินทร์ ทรงได้ว่าราชการแทนในช่วงหนึ่ง ต่อมาทรงกินแหนงแคลงใจกับพระมหาธรรมราชา จนเกิดความร้าวฉานระหว่างพิษณุโลกกับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพระองค์สมคบพระไชยราชาธิราชไปตีเมืองพิษณุโลก จนพระองค์มิอาจรั้งราชการแผ่นดินจึงทูลเชิญให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวช หลังจากที่ผนวชได้ไม่นาน แล้วกลับมาว่าราชการตามเดิม
     พระองค์กับพระมหินทร์เสด็จขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ขณะที่พระมหาธรรมราชาเสด็จไปหงสาวดี แล้วนำพระวิสุทธิกษัตรีพร้อมด้วยพระเอกาทศรถมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบเรื่อง จึงให้ไปเข้ากับหงสาวดีอย่างเปิดเผย
     เมื่อ พ.ศ.2111 ระหว่างสงครามกับอาณาจักรตองอู สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงประชวรหนักประมาณ 25 วัน และเสด็จสวรรคตในขณะที่ทัพพม่าตีปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ รวมพระชนมายุ 57 พรรษา ครองสิริราชสมบัติได้ 20 ปี08.

การสงคราม
ศึกพระสุริโยทัยขาดคอช้าง
07
     ในปี พ.ศ.2091 หลังจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้เพียงเจ็ดเดือน การเปลี่ยนแปลงสำคัญครั้งนี้เป็นที่เลื่องลือไปทั่วภูมิภาค ความทราบไปยังพระกรรณของพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าทรงพระราชดำริว่า ทางกรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่อำนาจมายังกรุงศรีอยุธยา จึงได้ยกกองทัพใหญ่มาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี (บางพวศาวดารบอกว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้เสด็จมาทอดพระเนตรกำแพงเมืองอยุธยาก่อนหน้านี้มาครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อประเมินกำลังศึก) โดยตั้งค่ายหลวงที่ตำบลกุ่มดอง ทัพพระมหาอุปราชาบุเรงนอง ตั้งที่เพนียด ทัพพระเจ้าแปรตั้งที่บ้านใหม่มะขามหย่อง ทัพพระยาพะสิม ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งวรเชษฐ์
พระสุริโยทัยชนช้างกับพระเจ้าแปร และสิ้นพระชนม์บนคอช้าง (ภาพจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์)

     ในวันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 พ.ศ.2092 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จออกไปดูลาดเลากำลังศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง พร้อมกับพระสุริโยทัย พระราเมศวร และพระมหินทร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้กระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร ช้างพระที่นั่งเสียที พระสุริโยทัยจึงทรงไสช้างเข้าขวางช้างข้าศึก เพื่อป้องกันสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าแปรได้ทีจึงฟันพระสุริโยทัยด้วยของ้าว สิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวรและพระมหินทร์ ได้ขับช้างเข้ากันพระศพกลับเข้าพระนคร.
     ในการศึกขั้นต่อไป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้นำปืนใหญ่นารายณ์สังหาร ลงเรือสำเภาแล่นไปตามลำน้ำโจมตีข้าศึกที่ตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ อำนาจการยิงของปืนใหญ่ทำให้ฝ่ายพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นเวลาใกล้ฤดูฝน และเสบียงอาหารร่อยหรอลง อีกทั้งฝ่ายพม่าได้ข่าว มีกองทัพไทยจากหัวเมืองเหนือยกมาสนับสนุน เกรงว่าจะถูกตีกระหนาบ จึงปรึกษากับแม่ทัพนายกองจะยกทัพกลับ แม่ทัพทั้งหลายเห็นควรจะยกทัพกลับทางด่านเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี) แต่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เห็นว่าทางที่ยกมานั้น ทรงทำลายเสบียงอาหารเสียหมดแล้ว ถ้ายกไปทางนี้จะประสบปัญหาขาดแคลน และจะถูกทหารไทยยกมาซ้ำเติมลำบากอยู่ จึงทรงให้ยกทัพขึ้นไปทางด่านแม่ละเมา (ตาก) เพื่อตีทัพของพระมหาธรรมราชาด้วยไพร่พลนั้นน้อยนัก และจะได้แย่งเสบียงมา เมื่อปะทะกับกองทัพของพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวร ไล่ติดตามไปจนเกือบถึงเมืองกำแพงเพชร ฝ่ายพม่าได้ทำอุบายซุ่มกำลังไว้ทั้งสองข้างทาง พอกองทัพกรุงศรีอยุธยาถลำเข้าไป จึงได้เข้าล้อมไว้ จับได้ทั้งพระมหาธรรมราชา และพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องทรงขอหย่าศึกและไถ่ตัวคืนโดยแลกกับช้างชนะงาสองเชือก คือ พลายศรีมงคล กับ พลายมงคลทวีป จากนั้นกองทัพพม่าก็ถอยกลับไปยังหงสาวดี
     ส่วนการพระศพพระสุริโยทัยนั้น เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีพระราชทานเพลิง ณ สวนหลวง และให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงเป็นพระอารามเพื่ออุทิศ พระราชกุศลพระราชทาน แด่สมเด็จพระอัครมเหสี ประกอบด้วยพระเจดีย์ พระวิหาร แล้วพระราชทานนามพระอารามเป็นพระราชานุสรณ์แห่งพระสุริโยทัยแห่งนี้ว่า วัดสบสวรรค์ ในปัจจุบันชื่อ วัดสวนหลวงสบสวรรค์.

สงครามกับเขมร
     พ.ศ.2009 ในเดือน 12 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้แต่งทัพไปตีเมืองละแวก พระยาองค์ (โอง) สวรรคโลก (เชื่อว่าเป็นคนเดียวกับพระยาสวรรคโลกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช) เป็นทัพหลวง ยกทัพ 30,000 ให้พระมหามนตรีถืออาญาสิทธิ์ พระมหาเทพถือวัวเกวียน ให้พระยาเยาวเป็นแม่ทัพเรือ แต่ลมพัดไม่เป็นใจทัพเรือจึงตามทัพบกไม่ทัน พระยารามลักษณ์แม่ทัพบกได้เข้าตีเขมรในตอนกลางคืน แต่เสียทีถอยหนีมาถึงทัพใหญ่ ในศึกนี้เสียพระยาองค์(โอง) สวรรคโลกกับไพร่พลอีกจำนวนมาก.

สงครามช้างเผือก (รายละเอียดแสดงใน http://huexonline.com/knowledge/19/201/)
     พระเจ้าบุเรงนองผู้ครองราชย์เป็นพระเจ้าหงสาวดีต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทราบเรื่องช้างเผือก จึงส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาขอพระราชทานช้างเผือกสองช้าง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้เหตุผลเชิงปฏิเสธเพราะทรงเห็นด้วยกับพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงคราม พระเจ้าบุเรงนองจึงถือสาเหตุนั้น ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ.2106 ด้วยกำลังพลสองแสนคน จัดเป็นทัพกษัตริย์หกทัพ ได้เตรียมทัพเรือพร้อมปืนใหญ่กับจ้างชาวโปรตุเกสอาสาสมัคร 400 คน เป็นทหารปืนใหญ่ ให้เมืองเชียงใหม่สนับสนุนเสบียงอาหาร โดยลำเลียงมาทางเรือ เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพมาทางด่านแม่ละเมา เข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยมาตามลำดับ เพื่อตัดกำลังที่จะยกมาช่วยกรุงศรีอยุธยา.
     ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเตรียมตัวป้องกันพระนคร โดยคาดว่าพม่าจะยกกำลังมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทำให้พระเจ้าบุเรงนองตีเมืองกำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย พิชัย และพิษณุโลกได้ ครั้นลงมาถึงเมืองชัยนาท กองทัพพม่าก็ได้ปะทะกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาของพระราเมศวร แต่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาต้านทานไม่ได้ต้องถอยกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ แล้วระดมยิงปืนใหญ่เข้าพระนครทุกวัน จนราษฎรได้รับความเดือดร้อนและเสียขวัญ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต้องเสด็จไปเจรจากับพระเจ้าบุเรงนอง ที่พลับพลาบริเวณตำบลวัดหน้าพระเมรุ กับวัดหัสดาวาส ยอมเป็นไมตรี โดยได้มอบช้างเผือก 4 ช้าง พร้อมกับพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงครามให้แก่พม่า โดยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงต่อรองขอดินแดนของอยุธยาทั้งหมดที่พระเจ้าบุเรงนองยึดไว้คืน พระเจ้าบุเรงนองก็ถวายคืนแต่โดยดี จากนั้นพม่าก็ถอยกลับไปหงสาวดี.

สงครามเสียกรุงครั้งที่ 1 (รายละเอียดแสดงใน อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 12: สงครามเสียกรุงครั้งที่ 1)
     ในปี พ.ศ.2111 พม่าได้ยกกองทัพใหญ่เจ็ดกองทัพโดยมีทัพเมืองพิษณุโลกอยู่ด้วย มีกำลังห้าแสนคน เดินทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทั้งสี่ด้าน โดยมุ่งตีหักเข้ามาทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นด้านที่คูเมืองแคบสุดและใช้กำลังทางเรือปิดกั้นลำน้ำทางตอนใต้ เพื่อไม่ให้ฝ่ายไทยติดต่อกับหัวเมืองทางใต้และต่างประเทศ.


ความไม่สงบภายใน
กบฎพระศรีศิลป์
     ประมาณปี พ.ศ.2098 พระศรีศิลป์ พระราชโอรสของสมเด็จพระไชยราชาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์มีอายุได้ 14 ปี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้บวชเป็นสามเณรที่วัดราชประดิษฐาน แต่พระศรีศิลป์กลับวางแผนก่อกบฎและถูกจับได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงไม่ประหารแต่ให้คุมตัวไว้ที่วัดธรรมิกราช 
     จนถึง พ.ศ.2104 พระศรีศิลปืมีอายุครบ 20 พระชันษา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ (พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐฯ กล่าวว่าตอนนั้นบวชอยู่ที่วัดมหาธาตุ) แต่พระศรีศิลป์หนีไปซุ่มพลอยู่ตำบลม่วงมดแดง จึงรับสั่งให้เจ้าพระยามหาเสนาบดีไปตาม
     ฝ่ายพระศรีศิลป์จึงยกกองทัพมาก่อกบฎ เข้ากรุงศรีอยุธยามาในวันพฤหัสบดี แรม 14 ค่ำ เดือน 8 วันรุ่งขึ้นพระศรีศิลปืเข้าพระราชวังครั้งนั้นได้ แต่พระศรีศิลป์ต้องพระแสงปืนสิ้นพระชนม์ในพระราชวัง ผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อการทั้งหมดถูกนำไปประหารชีวิตเหตุการณ์จึงเข้าสู่ภาวะปกติ

กบฎปัตตานี
     หลังสงครามช้างเผือก มุซาฟาร์ ชาฮฺ สุลต่านแห่งปัตตานี ยกทัพมาช่วยกรุงศรีอยุธยา เมื่อกองทัพปัตตานีมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฎว่ากองทัพพม่าได้ล่าถอยออกไปแล้ว สุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮฺได้นำกองทัพชาวมลายูเข้าไปพักในกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างที่พักอยู่ในกรุงศรีอยุธยานั้นได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกองทัพมลายูปัตตานีกับกองทัพกรุงศรีอยุธยา เรื่องกินหมู จึงได้เกิดการสู้รบกันขึ้น สุลต่านมุซาฟาร์ ชาฮฺ นำกองทัพเข้ายึดพระราชวังได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงต้องเสด็จหนีไปที่เกาะมหาพราหมณ์แล้วจึงรวบรวมกำลังเข้าตีตอบโต้ กองทัพปัตตานีต้องถอยร่นออกมาถึงปากอ่าว สุลต่ายมุซาฟาร์ ชาฮฺ สิ้นพระชนม์ขณะยกทัพกลับ พระศพถูกฝังไว้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากอ่าว  

 
 
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01.  ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 22 กันยายน 2561.
02.  ที่มา: พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553, 800 หน้า.
03.  ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 16-17 พฤษภาคม 2562.
04.  ที่มา: นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 5 ธันวาคม 2554.
05.  ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 18, 20-21 พฤษภาคม 2562.
06.  วัดป่าแก้ว เดิมเข้าใจกันว่าคือ วัดใหญ่ชัยมงคล ด้วยธรรมเนียมการสร้างวัดป่าแก้วที่อยู่ในเขตอรัญญิกนั้น ล้วนอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองใหญ่ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น 
  • กรุงสุโขทัย แถบอรัญญิกของอาณาบริเวณ วัดป่าแก้ว จะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก
  • เมืองสวรรคบุรี วัดป่าแก้วเขตอรัญญิก คือ วัดแก้ว อยู่ทางทิศตะวันตก
  • เมืองเชียงใหม่ วัดป่าแก้ว เรียกว่า วัดป่าแดง อยู่ในแถบอรัญญิก ทางทิศตะวันตกนอกกำแพงเมือง
  • เมืองราชบุรี วัดป่าแก้วอรัญญิกของราชบุรี
  • เมืองสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์ ก็คือ วัดอรัญญิกของสุพรรณภูมิ
                                       ที่มา: www.madchina.org, วันที่เข้าถึง 21 พฤษภาคม 2562. 
 
     
วัดวรเชษฐ (นอกเกาะ) ถ่ายเมื่อ 9 เมษายน 2560.

     ความเห็นของผม ยังเชื่อว่าวัดป่าแก้ว คือ วัดใหญ่ชัยมงคล เพราะ วัดป่าแก้วเขตอรัญญิกของอยุธยา ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างคือ วัดประเชด หรือชื่อ วัดวรเชษฐ (นอกเกาะ) นั้น มีการกล่าวถึง ในช่วงสมัยพระนเรศ ซึ่งเป็นยุคหลังของพระมหาจักรพรรดิ จึงไม่น่าจะใช่ เพราะข้อมูลใหม่เกินไป.
07.  มีข้อมูลที่แตกต่างออกไปให้ผู้ศึกษาได้ใช้วิเคราะห์เพิ่มเติม คือ หลักฐาน "โยธยา ยาสะเวง" หรือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" เอกสารพม่าที่เรียบเรียงขึ้นจากปากคำของเชลยศึกชาวอยุธยา ได้ให้รายละเอียดของเหตุการณ์ครั้งนี้ต่างออกไป โดยระบุให้ "มหาบรมดิลก" พระราชธิดาของพระมหาจักรวรรดิ (ซึ่งน่าจะเป็นบุคคลเดียวกันกับพระมหาจักรพรรดิ) เป็นผู้ออกรบกับกษัตริย์พม่าแทนพระราชบิดาที่ประชวร โดยพระราชมารดาของพระองค์มิได้ออกรบด้วย ดังความกล่าวว่า
     "ครั้งนั้นพระมหาจักรวรรดิกษัตริย์อยุธยาทรงประชวรหนัก ขณะที่กรุงทวารวดีทั้งสิ้นเกิดการโกลาหลอลหม่าน กษัตริย์อยุธยากับพระมเหสี (แลว่า) พระโอรสเราก็ยังเยาว์พระชันษา พระธิดาก็มีพระชนม์เพียง 13 ขวบปี มหาบรมดิลก จึงกราบทูลว่า (พระบิดา) ทรงมีนัดหมายสำคัญกับกษัตริย์พม่า แต่กลับมาทรงประชวรเสีย หากจะยั้งอยู่มิทรงคชาธารออกไปก็จะเสียการ และจะต้องตกเป็นเชลย ข้าผู้พระธิดาจะยอมสละชีวิตออกทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์พม่า แม้ต้องตายไปตามวิบากกรรมก็ได้ชื่อว่าได้ทดแทนพระคุณ ย่อมเข้าสู่สุคติภพ หากถูกเขาเอาชัยไปโดย (เรา) มิได้ออกสัประยุทธ์ ก็จะ (พากัน) ตายโดยไร้เกียรติในบัดดล กษัตริย์อยุธยาตรัสห้ามครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าการนี้มิใช่ธุระของเจ้าเหล่าอิสตรี แต่ครั้นพระธิดากราบทูลซ้ำเป็นหลายคำรบจึงทรงอนุญาต ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พระราชธิดาก็ทรงเครื่องทหารของเหล่าขุนทหาร แล้วเสร็จเข้าถวายบังคมลาพระราชบิดา พระราชมารดา ข้างพระราชบิดาและพระราชมารดาก็ทรงอำนวยพรว่า (เจ้า) เป็นพระธิดาผู้ทำประโยชน์แก่เหล่าอาณาประชาราษฎร์ สัตว์ทั้งหลาย แลบิดรมารดา ขอให้จงมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ขอให้เจริญด้วยอายุขัย ขอให้มีชัยเหนือกษัตริย์หงสาวดี แลเหล่าข้าศึกที่กรีธาทัพมาในครั้งนี้ด้วยเทอญ ครั้นแล้วพระธิดาก็ทรงช้างบรมฉัททันต์ซึ่งเมาด้วยฤทธิ์สุราอยู่ ทรงออกขอ (ช้างทรง) แวดล้อมด้วยฝูงไพร่พล เสด็จออกไปยังทุ่งมโนรมย์ ครั้งกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ตกทุ่งเสมอกัน ก็เอาผ้าหน้าร่าห์บังตาช้างทรงไว้ ครั้นได้เพลาก็ชักผ้าออก แลทำยุทธหัตถีแก่กัน ด้วย (พระบรมดิลก) ทรงเป็นอิสตรี จึงมิอาจบังคับช้างได้ ช้างที่ทรงอยู่ก็เบนท้าย กษัตริย์หงสาวดีก็ฟาดเอาด้วยขอ พระบรมดิลกก็ตกจากช้างทรง เสียงร้องปรากฎเป็นเสียงอิสตรี พระเจ้าช้างเผือกมหาธรรมราชาจึงทรงรวมพลเสด็จกลับคืนสู่หงสาวดี ด้วยละอายพระทัย เกรงเหล่ากษัตริย์สืบไปเบื้องหน้าจะลือว่าต่อรบด้วยอิสตรี นับเป็นชัยอันควรอัปยศ", ที่มา: บทความ "ขัตตินารี แห่งราชาอาณาจักรสยาม", สุเนตร ชุตินธรานนท์. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มกราคม, 2546.
08. จาก "บันทึกรับสั่งฯ, 2550:69-70" ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ประทานแก่ มรว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ใน พ.ศ.2486 ว่าพระนิพนธ์เล่มนี้ (พงศาวดารไทยรบพม่า: หนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 6) ว่าพระนิพนธ์เล่มนี้ของพระองค์มีข้อบกพร่อง สมควรได้รับการแก้ไขทรงใช้ถ้อยคำอย่างชัดแจ้งในเรื่องที่ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ความว่า
       "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าช้างเผือกนั้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ดีจริง ๆ สู้ศึกรักษาบ้านเมืองทำอย่างดีที่สุด สุดฝีมือ ที่จะกระทำได้ไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์บ้านเมืองเป็นใหญ่ แต่เป็นคนเคราะห์ร้าย ตรงข้ามกับพระเจ้าบรมโกศ ด้วยเหตุที่พะม่าครั้งนั้นเข้มแข็งเหลือเกิน ได้สู้พะม่าจนสุดฝีมือ เสียลูก เสียเมีย เสียเมืองและในที่สุดก็ถูกจับไปเป็นชะเลยพะม่า และกลับมาสู้ศึกอีก สู้จนตัวตายในระหว่างศึก เรื่องพระมหาจักรพรรดินี้ในพงศาวดารของเราผิดอยู่มาก เพราะหลังจากสงครามช้างเผือกแล้ว พะม่าเอาตัวพระมหาจักรพรรดิไปไว้ที่เมืองพะม่าด้วย ได้สร้างพระราชมณเฑียรให้ประทับที่เมืองหงสาวดี เมื่อเสร็จศึกเรียบร้อยแล้ว จึงปรากฎว่าอยากจะบวช พะม่าก็ยอมให้บวช บวชแล้วก็อนุญาตให้กลับเมืองไทย ตอนนี้คือที่เปลี่ยนแผ่นดินอีกครั้ง เรื่องพระมหาจักรพรรดิเป็นเรื่องน่ารู้ น่าเขียน เพราะคนเข้าใจผิดกันมากในพงศาวดารพะม่า เรื่องราวทางพะม่าต้องกันทั้งสิ้น แย้งกับพงศาวดารของเรา ของเราตอนนี้ฟังดูขัด ๆ อยู่ ไทยเราพลาดถนัดในเรื่องนี้ที่เขียนเป็นหนังสือเรารบพะม่าตอนนี้ก็ผิด ทำให้คนเข้าใจผิดไปเป็นอันมาก จะแก้ไขก็ไม่มีเวลาเสียแล้ว ขอยกให้เป็นมรดกตกทอดถึงเธอต่อไป", ที่มา: สมเด็จพระนเรศ หลักฐาน ความจริง และภาพลวงตา บทวิเคราะห์พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศ, เทพมนตรี ลิมปพยอม, กุมภาพันธ์ 2561, หน้า 11.

 
info@huexonline.com