MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 16: สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 4) และสมเด็จพระทรงธรรม (บรมราชาที่ 1)

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 16: สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 4) และสมเด็จพระทรงธรรม (บรมราชาที่ 1)
First revision: May 19, 2018
Last change: Feb.21, 2021
ภาพลงสี พระมงคลบพิตร จังหวัดอยุธยา ภาพถ่ายเก่า สมัยรัชกาลที่ 5,
ที่มา: Facebook ห้อง "ตามรอยวัดเก่า ลุ่มน้ำลพบุรี", วันที่เข้าถึง 10 สิงหาคม 2562

     พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และสำคัญในประเทศไทยซึ่งมีประชาชนมาสักการบูชาขอพรกันมาก และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาหลายครั้งทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาและหลังเสียกรุง
     พระมงคลบพิตร ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น สังเกตดูจากพระพักตร์แม้จะมีพุทธลักษณะค่อนข้างเป็นวงรีแล้ว แต่ก็ยังคงเห็นเค้าพระพักตร์เป็นเหลี่ยมอยู่ ซึ่งเป็นพุทธลักษณะแบบอยุธยาตอนต้น 
     เมื่อพิจารณาถึงเส้นพระขนงที่โค้ง ก็จะพบว่าเป็นศิลปะที่ผสมผสานกับศิลปะสุโขทัยอีกด้วย องค์พระก่อด้วยอิฐบุทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๑๐ เมตร สูง ๑๒ เมตร 
     มีหลักฐานว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๔๖ พระเจ้าทรงธรรม ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอหลวงพ่อวัดมงคลบพิตร จากด้านตะวันออกของวัดหลวงมาไว้ทางด้านตะวันตก ณ ที่ประดิษฐานในปัจจุบัน และยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปครอบไว้ ต่อมาในรัชสมัย พระพุทธเจ้าเสือ เกิดอสุนีบาตต้องยอดพระมณฑปเกิดไฟไหม้พังลงมาต้องพระศอของพระมงคลบพิตรหัก พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อเครื่องนอกออกแล้วสร้างใหม่เป็นพระวิหาร แต่คงทำเครื่องยอดอย่างมณฑปของเดิม ต่อมาในสมัยพระเจ้าบรมโกศได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรเป็นแม่กองบูรณะปฏิสังขรณ์และรื้อยอดมณฑปเดิมแปลงเป็นพระวิหาร ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๓๑๐ ได้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ วิหารพระมงคลบพิตรได้ถูกทิ้งร้างมานานนับร้อยปีทำให้เครื่องบนของพระวิหารพังลงมา ถูกพระเมาฬีและพระกรขวาขององค์พระเสียหาย
     ครั้นถึงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๐ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ดำรงตำแหน่งที่สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้เริ่มปฏิสังขรณ์หลวงพ่อมงคลบพิตรเป็นครั้งแรก โดยได้ซ่อมพระเมาฬีและพระกรขวาด้วยปูนปั้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ คุณหญิงอมเรศร สมบัติ ได้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์เพื่อบูรณะฐานพระมงคลบพิตร ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเห็นว่าพระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้ตั้งงบประมาณเพื่อบูรณะให้มีสภาพเดิม ตลอดจนได้สร้างพระมหาวิหารเพื่อประดิษฐานพระมงคลบพิตรดังที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
ภาพเก่า จากเพจ ซื้อขาย ภาพเก่า ลงสีโดย แอดมิน Non Thawung,
จาก Facebook ในห้อง "ตามรอยวัดเก่า ลุ่มแม่น้ำลพบุรี, วันที่เข้าถึง 10 สิงหาคม 2562.

 

สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 4)
พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 20 แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

     สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ พระราชสมภพ พ.ศ. 2100 มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 20 แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และเป็นรัชกาลที่ 4 ในราชวงศ์สุโขทัย เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเอกาทศรถ และมีพระเชษฐาที่ประสูติร่วมพระราชมารดา ได้แก่ เจ้าฟ้าสุทัศน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช พระองค์ประชวรพระยอดจนเสียพระเนตรไปข้างหนึ่ง และมีพระบุคลิกค่อนข้างอ่อนแอและไม่สนพระทัยเกี่ยวกับราชการบ้านเมือง หลังจากที่สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคตลง พระองค์ได้รับทูลเชิญให้ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2153 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 4.
       ในรัชสมัยของพระองค์ ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นในแผ่นดิน โดยเรือของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาค้าขาย ได้ปล้นราษฎร ได้บุกเขาไปในพระนคร และเข้าไปในพระราชวังหลวง จับสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์และบังคับให้ทรงปฏิญาณสัญญาว่ามิให้ผู้ใดทำร้ายพวกญี่ปุ่น แล้วได้ลงเรือแล่นหนีออกทะเล โดยนำตัวสมเด็จพระสังฆราชไปเป็นตัวประกันจนถึงปากน้ำ.
       เมื่อครองราชย์อยู่ได้ 1 ปี 2 เดือน พระศรีศิลป์และจมื่นศรีเสารักษ์ก็ร่วมกันนำกองกำลังเข้ายึดพระราชวังหลวง เมื่อทรงทราบก็ตกพระทัยอยู่ครู่หนึ่ง จึงตรัสว่า "เวราเราแล้วก็ตามเถิด แต่อย่าให้ลำบากเลย" พระองค์ถูกพันธนาการอย่างแน่นหนา จนรุ่งเช้าจึงให้ภิกษุ 100 รูปมาบังสุกุล ถวายธูปเทียนขมา แล้วนำพระองค์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ตรงกับปี พ.ศ.2154 พระบรมศพถูกนำไปฝังที่วัดโคกพระยา.


 
 
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐ)
พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 21 แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา


       สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หรือ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐ 01 เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 21 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัย.
       จากเอกสาร 01 ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระนามเดิมว่าพระศรีสิน เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถกับพระสนมชาวบางปะอิน02 เดิมบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดระฆัง มีความรอบรู้ทางด้านพระไตรปิฎกมาก จนได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชา มีผู้นิยมท่านมาก รวมทั้งจมื่นเสารักษ์ (ซึ่งต่อมาได้เป็นอุปราช ร่วมรัฐประหารสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์กับพระเจ้าทรงธรรม โดยนำสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ พระศพถูกฝังไว้ที่วัดโคกพระยา) ยังได้ฝากตัวเป็นบุตรบุญธรรมของท่านด้วย.
       ในแผ่นดินของสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ จมื่นศรีเสารักษ์และบรรดาลูกศิษย์ของท่านได็ซ่องสุมกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงบุกเข้าไปยังพระราชวังหลวงและจับสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์นำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ แล้วอัญเชิญพระพิมลธรรมอนันตปรีชาให้ลาสิกขาบท ขึ้นเสวยราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีขาล จุลศักราช 973 (พ.ศ.2154) ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และทรงแต่งตั้งจมื่นศรีเสารักษ์เป็นพระมหาอุปราช.






ที่มา คำศัพท์และคำอธิบาย: 

01.  จาก. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า, หน้า 261-4, ISBN 978-616-7146-08-9.
02.  จาก. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า 132-5. ISBN 978-616-7308-25-8.
 

 
info@huexonline.com