MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 15: สมเด็จพระเอกาทศรถ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 3)

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 15:
สมเด็จพระเอกาทศรถ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 3)
First revision: May 19, 2018
Last change: May 20, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา


            สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือ พระศรีสรรเพชญ์ที่ 3 เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 19 แห่งกรุงศรีอยุธยา หรือที่ชาวตะวันตกเรียกขานพระองค์ว่า พระองค์ขาว ตามสีพระวรกาย เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ.2103 เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชกับพระวิสุทธิกษัตริย์ เป็นพระอนุชาของพระสุพรรณกัลยาและสมเด็จพระนเรศ.
 
   ครองราชย์  25 เมษายน พ.ศ.2148 - พ.ศ.2153 (รวม 5-6 ปี)
   ก่อนหน้า  สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช (สม-เด็จ-พระ-นเรศ-วอ-ระ--ราชาธิราช)
   ถัดไป  สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
   พระราชบุตร  เจ้าฟ้าสุทัศน์
 สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
   ราชวงศ์  สุโขทัย
   พระราชบิดา  สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
    พระราชมารดา  พระวิสุทธิกษัตริย์
   พระราชสมภพ  พ.ศ.2103 ณ เมืองพิษณุโลกสองแคว

       ในจดหมายเหตุของวัน วลิต หรือ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) ที่เรียบเรียงเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้นได้ระบุว่า สมเด็จพระนเรศทรงตั้งพระทัยจะขยายอำนาจไปถึงเมืองตองอูซึ่งอยู่ในดินแดนพม่าตอนกลาง ก่อนสวรรคตทรงรับสั่งให้สมเด็จพระเอกาทศรถสาบานว่าจะต้องพิชิตเมืองตองอูให้ได้. ครั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศประชวรสวรรคตในระหว่างทางเสด็จไปอังวะ สมเด็จพระเอกาทศรถทรงยุติสงคราม รับสั่งให้เรียกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ปล่อยให้อังวะยึดครองแสนหวีและดินแดนในไทยใหญ่ไป

       จุดนี้เป็นจุดพลิกผันประวัติศาสตร์ไทยหรือสยามเทศะ จากเดิมนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศขึ้นไป การทำสงครามถือเป็นระบบเศรษฐกิจหนึ่ง ได้ช่วงชิง ปล้นทรัพย์สิน ไพร่พล เทครัวจากอาณาจักรหรือรัฐที่พ่ายแพ้รอบ ๆ มาไว้ในส่วนกลาง กองทัพไปที่ไหน ชาวบ้านจะหลบหนีเข้าป่าเพราะเกรงกลัว การรุกริบยึดทรัพย์ผลผลิต อาจจะลามถึงการฉุดคร่าอนาจารด้วย (ข้อมูลจากคริส เบเคอร์ นักเขียน บรรณาธิการวารสารสยามสมาคม คู่สมรส ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร) แต่สยามเทศะตั้งแต่ยุคสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นต้นไป จะตั้งรับไม่ไปรุกราน เน้นเศรษฐกิจการค้าขาย มีเมืองท่าสำคัญทั้งสองน่านน้ำทะเล (อ่าวเบงกอลและอ่าวไทย).


       กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระองค์ไม่มีข้าศึกประชิดพระนคร แต่มีต่างชาติเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมากยิ่งกว่าแต่ก่อน เช่น พระเจ้าเชียงใหม่นรธามังสอ พญาตองอู พญาล้านช้าง นอกจากนี้ยังมีพระราชสาส์นติดต่อกับอุปราชโปรตุเกสประจำเมืองกัวอีกด้วย.

       สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ส่งเอกอัครราชทูตพร้อมด้วยทูตานุทูตไปยังฮอลันดาจำนวน 20 คน ไปในเรือลำเดียวกันกับพ่อค้าชาวฮอลันดา ถือเป็นการส่งคณะทูตครั้งแรกไปเจริญทางสัมพันธไมตรีกับประเทศในยุโรป.

       อย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุของฮอลันดาไม่ได้ระบุชื่อราชทูตหรือบุคคลใด ๆ ในคณะทูต ทราบเพียงแต่จำนวนว่ามีหัวหน้าสองท่าน (ราชทูตและอุปทูต) พนักงานรักษาเครื่องราชบรรณาการ เจ้าพนักงานพระราชสาส์น และอื่น ๆ ซึ่งได้เข้าเฝ้าเจ้าชายมอร์ริส เจ้าชายแห่งออเรนจ์ในวันถัดจากที่เดินทางมาถึง.

พระราชโอรส
1.  เจ้าฟ้าสุทัศน์  ได้เป็นพระมหาอุปราช แล้วดื่มยาพิษสิ้นพระชนม์
2.  สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ ครองราชย์เพียง 1 ปี 2 เดือน ก็ถูกพระอนุชารัฐประหาร แล้วสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์.
3.  สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม รัฐประหารพระเชษฐา และขึ้นครองราชย์.





 
info@huexonline.com