MENU
TH EN

ศรีสัชนาลัย บางขลัง สุโขทัย "ศรีชยเกษมปุรี"

ศรีสัชนาลัย, บางขลัง, สุโขทัย "ศรีชยเกษมปุรี"
ความงามแห่งพุทธศิลป์ และ (ตามเก็บ) ของกินอร่อยในท้องถิ่น
กิจกรรม Edutainment Trip ระหว่าง 15-18 พฤศจิกายน 2562
First revision: Nov.17, 2019
Last change: Jul.12, 2021

     ผมได้ตัดสินใจร่วมทริปการเดินทางชมประวัติศาสตร์กับอาจารย์วรณัย ซึ่งนี่เป็นครั้งที่ 2 ผมมาเดี่ยว ตามกำหนดการพัก 2 คืน มีค่าใช้จ่ายรวม 7,400 บาท ซึ่งกำหนดการแสดงไว้ดังนี้
 
วันแรก: วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2562  กิจกรรม  หมายเหตุ
 22:00 น.  นัดหมายที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. ดินแดง ถนนวิภาวดี ตรงข้าม ม.หอการค้าไทย  
 23:00 น.  เดินทาง  
 


ค่ำวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2562
     ยามค่ำ ผมได้ขึ้นแท็กซี่จากบ้านพักตรงมาปั๊ม ปตท. ดินแดง ซึ่งตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ที่อยู่ตรงข้าม ม.หอการค้า ผมมาถึงราว ๆ สองทุ่ม ก่อนกำหนดการไปเยอะ เหตุที่มาก่อนก็เพราะกลัวรถติด ในปั๊มมีร้านอาหารไทยเทศ Fast food หลากหลาย จึงแวะทานไก่ทอดกับรู้ทเบียร์ที่ร้าน A&W ในปั๊มเป็นมื้อเย็น จากนั้นก็เดินแกร่ว ๆ แล้วมาล้างหน้าแปรงฟันในห้องน้ำของปั๊ม เช็คข้าวของพร้อมที่จะเดินทาง 
     ถัดมาก็รวมตัวกันกับเพื่อนในทริป ตรงลานนั่งรอโดยสารซึ่งอยู่ข้าง ๆ ร้านแม็คโดนัลด์ มีเพื่อน ๆ ที่รู้จักหลายท่านมาในทริปนี้ ที่เคยไปกัมพูชากันมาแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมากับอาจารย์วรณัย ในทริปนี้ มีนักท่องเที่ยวผู้สนใจมาด้วยกัน 23 ท่าน ทั้งที่มาเดี่ยว มากับเพื่อน และมากับครอบครัวบ้าง รวมวิทยากร 2 ท่าน อาจารย์วรณัยและไกด์โบ้ท เบ็ดเสร็จแล้วทริปนี้รวม 25 คน 
    คณะทริปออกเดินทางด้วยรถบัสขนาดใหญ่ โดยออกจากปั๊มตอนสี่ทุ่มครึ่ง ได้แวะรับเพื่อนในทริประหว่างทางแถวเมืองเอกอีกสองท่าน ผมง่วงมากและหลับไปทันทีด้วยความเพลีย เพราะวันนี้ มีภารกิจที่ต้องสะสางก่อนที่จะมาเที่ยวหลายเรื่อง.

 
วันที่สอง: วันเสาร์ที่ 16
พฤศจิกายน 2562
 กิจกรรม  หมายเหตุ
 เช้า  รับประทานอาหารเช้า ท้องถิ่น สวรรคโลก  
   เข้าเมืองโบราณศรีสัชนาลัย  
   ขึ้นวัดเขาสุวรรณคีรี เดินตามสันเขา ระยะทาง 200 เมตร มายัง วัดเขาพนมเพลิง  
   ลงมา ชมวัดช้างล้อม  
   เดินยาว มาวัดเจดีย์เจ็ดแถว  
   วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่  
   วัดหลักเมือง  
   วัดนางพญา  
เที่ยง  รับประทานอาหารกลางวัน ร้านแก่งสัก ในท้องถิ่น  
   วัดเจ้าจันทร์  
   วัดชมชื่น  
   วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง และศาลพระร่วงพระลือ  
   เดินทางมาเมืองเก่าสุโขทัย  
   วัดโบสถ์ เมืองบางขลัง (บางฉลัง)  
   วัดพระพายหลวง (ถ้ามีเวลา)  
   เข้าพัก The Old City Boutique House Sukhothai ใกล้วัดตระพังทอง ในตัวเมืองเก่าสุโขทัย  
 ค่ำ  รับประทานอาหารเย็น ครัวลมฝน  
   เดินเล่นในตัวเมืองยามค่ำ  

วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2562
     รถบัสมาแวะจอดให้เข้าห้องน้ำแถวปั้ม ปตท. ใกล้นครสวรรค์ ตอนก่อนตีสองเล็กน้อย และตอนตีสี่ ก็แวะจอดแถวอำเภอกงไกรลาศ มาเช้ารุ่งสาง แวะจอดเข้าห้องน้ำล้างหน้าแปรงฟันแถวที่ปั๊มท้องถิ่นก่อนเข้าอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
     จากนั้นก็เข้าไปหาอาหารเช้าทานกันในตลาดสด ตัวอำเภอสวรรคโลก บรรยากาศแบบชาวบ้าน เดิม ๆ คึกคัก เหมือนสมัยผมเด็ก ๆ เหมือนย้อนและหยุดเวลากลับไปหาอดีต มีพระมาบิณฑบาต ญาติโยมใส่บาตรรับพร มีขนมครก กะหรี่ปั๊บ ก๊วยจั๊บ ข้าวมันไก่ หมูแดง จิปาถะ ผู้คนพลุกพล่านเหมือนตลาดยามเช้าตามต่างจังหวัดทั่วไป อากาศก็เย็นสบายราว ๆ 23-24 องศาเซลเซียส
          

     ตกลง คณะทริปก็มาแวะทานโจ๊ก เลือดหมู กาแฟร้อนในร้านหัวมุมถนนห่างจากตลาดพอสมควร ทานกันอร่อย อิ่มหนำ ทักทายทำความรู้จักกันกับเพื่อน ๆ ในทริป จากนั้น ก็ขึ้นรถบัสต่อเข้าตรงมายังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย บนรถ อาจารย์วรณัยก็แนะนำตัว แนะนำเพื่อน ๆ ในทริปให้รู้จักกัน สนุกเฮฮา ทะโมน หยอกล้อ แซวกันสนุกสนาน ตามประสาและสไตล์ นักวิชาการนอกกรอบของอาจารย์เจี๊ยบ วรณัย เหมือนเคยครับ

     เท่าที่สังเกตเห็น นักท่องเที่ยวมีน้อย ด้วยเป็นช่วงหลังลอยกระทง และทริปนี้ ตั้งใจจะหลบผู้คนอยู่แล้ว คณะทริปก็เข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีอาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ (จาก ศุโขสโมสร Upper Siamese Sage Club ใน Facebook) นักวิชาการท้องถิ่นศรีสัชนาลัยมาร่วมเป็นวิทยากรด้วย โดยเริ่มจากป้อมป้องกันเมืองที่ยื่นออกมายังริมน้ำที่ขุดรอบไว้ แปลกกว่าเมืองอื่น ๆ จากนั้นก็เข้าประตูเมืองศรีสัชนาลัย "ป้อมหรือประตูรามณรงค์"01. รับฟังบรรยายที่ไม่อาจหาได้จากหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป ด้วยกำแพงเมืองที่เป็นศิลาแลงจำนวนมหาศาลได้ถูกกรุงเทพฯ มีบัญชาให้รื้อและลำเลียงจัดส่งไปเป็นฐานการก่อสร้างวัดราชนัดดา ตอนปลายรัชกาลที่ 3
          
ภาพด้านขวา: เจดีย์ทรงลังกาที่วัดเขาสุวรรณคีรี

     จากนั้นคณะก็ขึ้นรถไฟฟ้าพ่วง มาส่งตรงเชิงเขาสุวรรณคีรี แล้วคณะก็ขึ้นเขาวัดเขาสุวรรณคีรี (รายละเอียดแสดงใน "40. วัดเขาสุวรรณคีรี - ศรีสัชนาลัย") เพื่อชมเจดีย์สมัยสุโขทัยทรงลังกา อาจารย์วรณัยได้อธิบาย โดยมีอาจารย์สมชาย ช่วยกันเสริม ถึงรูปทรงที่ไปที่มา ประวัติของเจดีย์อย่างละเอียด ร่วม 30 นาที แล้วคณะก็เดินลงเขา
 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระประธานในวิหารวัดเขาพนมเพลิง (พระเศียรจัดทำขึ้นใหม่), ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี
 
     และขึ้นเขาอีกลูกหนึ่ง เป็นวัดเขาพนมเพลิง (รายละเอียดแสดงใน "39. วัดเขาพนมเพลิง - ศรีสัชนาลัย") ซึ่งมีศิลปกรรมของล้านนาผสมผสานอยู่ไม่น้อย พระประธานในโบสถ์ทำใหม่หมด แต่ก็ดูสวยงามอยู่บ้าง เป็นศิลปะสุโขทัย เอวบาง อ้อนแอ้น02. ซึ่งก็มีเพื่อนในคณะได้ให้ข้อมูลว่า พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนั้น ด้านหน้าตรงจะดูงดงาม แต่เมื่อเดินวนดูรอบองค์พระแล้ว จะงดงามสู้ศิลปะพระพุทธรูปในยุคต่อมาหลัง ๆ ไม่ได้ ด้วยเพราะ ลักษณะของโบสถ์ ไม่ได้ออกแบบไว้ในเดินสามรอบขวามือสักการะ (ทักษิณาวัตร) ดังนั้นจึงไม่มีข้อมูลคำแนะนำวิสาสะจากญาติโยม ชี้แนะแนะให้ความเห็น ปรับแต่งรูปลักษณ์สันฐานต่าง ๆ โน่นนี่ เพื่อให้องค์พระรอบองค์โดยรวมสวยงาม คณะใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก็ลงจากเขา บันไดลาดลงจากเขาชันพอสมควร ต้องใช้ความระมัดระวังไม่น้อยในการเดินลง.
          

     จากนั้นคณะทริป ก็มาศึกษาทางประวัติศาสตร์กันต่อกัน เมื่อเดินลงจากเขาพนมเพลิงเยื้องมาทางขวามือเล็กน้อย เดินมาราว 500 เมตร ก็ถึงด้านหลังของวัดช้างล้อม (รายละเอียดแสดงใน "38. วัดช้างล้อม - ศรีสัชนาลัย") อาจารย์เจี๊ยบบรรยายได้สนุกสนาน เนื้อหาเพียบ ดูแต่ละมุมของวัดโดยละเอียด ใช้เวลาประมาณ 40 นาที ก็เดินต่อมาด้านหน้ามาวัดเจดีย์เจ็ดแถว (รายละเอียดแสดงใน "37. วัดเจดีย์เจ็ดแถว") 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปปางนาคปรก, ด้านหน้าวัดเจดีย์เจ็ดแถว
 
     ใช้เวลากับวัดนี้ร่วมชั่วโมง ด้วยมีรายละเอียดมาก ศิลปกรรมหลากหลาย ทั้งที่เป็นไท เขมร พม่า และมอญ ด้วยเป็นเจดีย์ทรงหม้อน้ำ ไม่ใช่พุ่มข้าวบิณฑ์ (คำว่าพุ่มข้าวบิณฑ์นั้น ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาในสมัยหลัง ๆ )  ต่อจากนั้นก็เดินมายังวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดหลักเมือง วัดนางพญา (เจอสมาชิกมูลนิธิคนจีนที่มาจากเบตงหลายท่าน ได้ทักทายกัน บอกว่าผมเกิดที่ยะลา ก็คุยกันด้วยมิตรไมตรี) แล้วมาสิ้นสุดที่ประตูรามณรงค์
           
วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่
 
          
วัดนางพญา
 
          
วัดนางพญา


สีมันตริก03.
 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: กำแพงเมืองศรีสัชนาลัยใกล้ประตูรามณรงค์ ตรงข้ามวัดนางพญา, และร้านขายขนมของฝากของศรีสัชนาลัย ด้านหน้าทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์
 
     จากนั้น คณะทริปก็มารวมตัวกันที่ลานจอดรถ บ้างก็นั่งพัก บ้างก็เข้าห้องน้ำห้องท่า ผมแวะซื้อแผ่นแป้งถั่วทอดผสมแห้ว ซึ่งเป็นของทานเล่น Signature ที่นี่ ลองทานดู รสชาติโอเค จากนั้นพอเที่ยง ได้เวลาก็ขึ้นรถบัสไปร้านอาหารกัน ชื่อร้านแก่งสัก เป็นร้านอาหารริมน้ำยม พอคณะเรามาถึง เห็นคนแน่นเต็มร้านเลย เป็นฝรั่งที่มาเที่ยวเกินครึ่ง อาหารรสชาติดี ผมและเพื่อน ๆ ในกรุ๊ปทานกันเต็มที่ด้วยความหิวและเอร็ดอร่อย จนอิ่มแปร้กันทุกถ้วนหน้า
 
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: บรรยากาศในร้านแก่งสัก, ปราสาทวัดเจ้าจันทร์
 
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: วัดชมชื่น, อาคารอนุรักษ์หลุมขุดค้นวัดชมชื่น ซึ่งอยู่ด้านหน้าของวัด

     จากนั้นก็เดินทางต่อมายังวัดเจ้าจันทร์ ต่อด้วยวัดชมชื่น ชมแนวขุดเจาะศึกษาประวัติศาสตร์คนในชุมชนวัดชมชื่น และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ผมตื่นตาตื่นใจมาก ด้วยพื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วยทุนทางวัฒนกรรม ข้อมูล Timeline ทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา การเมือง สังคมวิทยา ฯลฯ  คละเคล้ากับความเหนื่อยปนง่วง ประทับใจมาก ๆ
 
     อาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ ที่มาร่วมบรรยายตั้งแต่เช้า ก็ขอลาแยกตรงนี้ ขอบคุณอาจารย์มาก เวลาก็ล่วงมาเกือบสี่โมงเย็น รถบัสก็นำคณะเราเข้าสู่เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อมาถึง อาจารย์เจี๊ยบจำเป็นต้องตัดรายการเข้าชมวัดโบสถ์ เมืองบางขลัง ออก เพราะเวลาจำกัดใกล้จะค่ำแล้ว คณะเรามุ่งตรงเข้าชมวัดพระพายหลวงกัน 

 

ปรางค์องค์ที่สาม ของวัดพระพายหลวง ซึ่งมีสภาพดีที่สุด

    มาถึงวัดพระพายหลวง ราวห้าโมงเย็น ต้องรีบชมรีบศึกษา อาจารย์วรณัยบรรยายอย่างเต็มที่ ดูจากร่องรอยการก่อสร้างการต่อเติม แสดงให้เห็นว่ามีการทำปรับปรุงกันมาต่อเนื่อง วัดพระพายหลวงนี้ เป็นเมืองเก่าชุมชนแรกของสุโขทัย ก่อนจะย้ายไปทางใต้ตั้งเมืองมีกรอบกำแพงที่เรียกว่าตรีบูร (มีนักวิชาการได้แปลความหมายว่ามี สามกำแพงกั้น แต่ก็มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งมีความเห็นแย้งกันออกไปรายละเอียดดูใน อาณาจักรสุโขทัยตอนที่ 1 ในหมวด ที่มา คำศัพท์และคำอธิบาย 7.1) เป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในปัจจุบัน
 
วันที่สาม: วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2562  กิจกรรม  หมายเหตุ
 เช้า  รับประทานอาหารเช้า ที่พัก  
   ชมกลุ่มตะวันออก (แต่เช้า)  
   วัดเจดีย์สูง  
   วัดตระพังทองหลาง  
   วัดศรีชุม  
   ศาลตาผาแดง  
   เข้าอุทยานประวัติศาสตร์  
   วัดมหาธาตุ  
   วัดสระศรี (อุทกกฺเขปสีมา)  
 เที่ยง  รับประทานอาหารกลางวัน ในตัวเมืองเก่า (ร้านใบตอง)  
   พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ รามคำแหง  
   ชมกลุ่มตะวันตก - วัดมังกร  
   หอเทวาลัยมหาเกษตร  
   วัดป่ามะม่วง  
   วัดสะพานหิน  
   ดูพระอาทิตย์ตกที่ วัดสระศรี  
   วัดตระพังเงิน  
 เย็น  รับประทานอาหารเย็นที่ร้านจันทร์ฉาย  
   เดินเล่นในตัวเมืองยามค่ำ (ไม่มืด ไม่นอน)  

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2562
     เมื่อคืนได้หลับเต็มอิ่ม ห้องพักดีสะอาดสะอ้าน ตื่นมาแต่เช้ามืด อ่านหนังสือ Search internet เล็กน้อย (ผมนำโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์มาด้วย) ดูภาพเก็บภาพที่ถ่ายมาเมื่อวาน อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องและที่ซื้อมาเมื่อวานเพิ่มเติม พอรุ่งเช้าราวก่อน 7 โมงก็ออกมาทาน Breakfast ที่ทางโรงแรมเตรียมไว้ให้ อาหารก็ปานกลาง มีอิ๊วจ๋าก๊วย กาแฟ ไข่ดาว ขนมปัง ข้าวต้มหมู และผลไม้ท้องถิ่น ทานเสร็จก็เข้ามาอาบน้ำแต่งตัว แล้วเตรียมออกเดินทางทัศนศึกษากันต่อ
     ทราบจากเพื่อน ๆ ว่า มีเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ตื่นแต่เช้าไปใส่บาตรกัน และเมื่อคืนอาจารย์วรณัยกับเพื่อน ๆ ในคณะทริปก็ไปชมไฟ การแสดงแสงสีเสียงต่าง ๆ ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยกัน ผมไม่ได้ไป เสียดายเหมือนกัน เพราะเมื่อคืนเพลียมาก
     สถานที่แห่งแรกสำหรับเช้านี้ คือ วัดเจดีย์สูง ตามด้วยวัดตระพังทองหลาง   

วัดเจดีย์สูง
 
วันที่สี่: วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2562 กิจกรรม หมายเหตุ
 เช้า  รับประทานอาหารเช้า ที่พัก  
   ชมกลุ่มทิศใต้ (แต่เช้า)  
   วัดบนป้อมเมือง ประตูมะโน  
   วัดก้อนแลง  
   วัดเชตุพน  
   วัดเจดีย์สี่ห้อง  
   วัดศรีพิจิตร  
   ปรางค์เขาปู่จ่า  
 เที่ยง  รับประทานอาหารกลางวัน ในท้องถิ่นบนเส้นทางกลับ (ทานที่ร้านก๋วยเตี๋ยวในตัวจังหวัดกำแพงเพชร)  
   แวะชมพระบรมธาตุนครชุม กำแพงเพชร  
 ค่ำ  ถึงกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ  

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2562




ที่มา คำศัพท์ คำอธิบาย
01.  ประตูรามณรงค์ (Ramnarong Gate) ประตูรามณรงค์ ตั้งอยู่ระหว่างกำแพงเมืองทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทางทิศใต้ของวัดนางพญา เป็นประตูขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลง ฐานประตูรูปบัวคว่ำ กรอบนอกทั้งสี่มุมเป็นลักษณะไม้สิบสอง ประตูกว้าง 3.50 เมตร สูง 4 เมตร บริเวณเกือบกึ่งกลางของด้านเจาะสกัดช่องประตูทั้งสองข้างเป็นช่องสี่เหลี่ยมกว้าง 1.50 เมตร สำหรับติดโครงไม้ของประตู ถัดออกมาทางด้านหน้ามีทางเดิน กรอบทางเดินก่อด้วยศิลาแลงภายในอัดด้วยดินลูกรัง เป็นแนวยาวไปสู่ป้อมด้านหน้า ป้อมประตูด้านหน้านี้ก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 18 x 22 x 3 เมตร ผนังด้านนอกสุดสกัดลงบนชั้นหินดาน ส่วนด้านอื่น ๆ ก่อด้วยศิลาแลงอย่างไม่เป็นระเบียบ รอบ ๆ ตัวป้อมล้อมด้วยคูเมืองและสระท้องกุลี
     มีปรากฎในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสวรรคโลก ใจความว่ามีสี่ประตู ด้านตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า ประตูรามณรงค์
     หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสู้รบครั้งสำคัญของเมืองศรีสัชนาลัย ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ.2127 (จ.ศ.946) สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช (นะ-เรด-วอ-ระ-รา-ชา-ทิ-ราด) ขณะดำรงพระยศเป็นอุปราชได้ทรงยกทัพมาปราบกบฎพระยาสวรคโลก พระองค์เข้าตีเมืองทางประตูสามเกิด ประตูหม้อ และประตูสะพานจันทร์แต่ไม่สำเร็จ จึงเปลี่ยนมาตีที่ประตูดอนแหลมและเข้าตีเมืองได้ แต่ไม่มีการกล่าวถึงประตูรามณรงค์ ส่วนอายึสมัยของป้อมและประตูนี้ กำหนดไว้ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2017. (ปรับปรุงจากป้ายทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2562). 
02.  "เหมือนสาว (อายุ) สิบเจ็ด (ปี)" เป็น
สำนวนคนโบราณสุโขทัยกล่าวไว้ ตามที่ อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรยายไว้ในการสัมนา "สุโขทัยคดี" ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2563.
03.  
สีมันตริก คือ ระยะของช่องว่างที่จะต้องเว้นไว้ระหว่างมหาเสมา (พัทธเสมาใหญ่) และขัณฑเสมา (พัทธเสมาที่อยู่ภายใน มีความหมาย ถึงเขตที่ย่อยลงไป ซึ่งอยู่ในมหาเสมาอีกต่อหนึ่ง  เมื่อมีเสมาสองชั้นเช่นนี้แล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง สร้างสิ่งซึ่งคั่นเสมาทั้งสองไว้ไม่ให้ปนกันนั่นคือ ‘สีมันตริก’) โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “เพื่อมิให้เขตของสีมาทั้งสองระคน(สังกระ) กัน” ในครั้งพุทธกาล มีเรื่องเกี่ยวกับสีมันตริกนี้ กล่าวคือ เมื่อพระฉัพพัคคีย์ ได้สมมติเขตเสมาทับซ้อนเสมาที่มีอยู่แล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงไปร้องต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึง ได้ห้ามไม่ให้มีเขตเสมาทับกัน และให้เว้นที่(สีมันตริก) ระหว่างเขตพัทธเสมาไว้


 
info@huexonline.com