MENU
TH EN

B01. โลกของมหาฤๅษีวาลมีกิ: ภูมิหลังและจักรวาลของรามายณะ รวมทั้งการแปล

ภาพจากกำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพ, ห้องที่ 21: ทศกัณฐ์ขว้างจักร, ถ่ายไว้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2566.
B01. โลกของมหาฤๅษีวาลมีกิ: ภูมิหลังและจักรวาลของรามายณะ รวมทั้งการแปล
First revision: Jul.6, 2023
Last change: Oct.17, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
1.
หน้าที่ 1
ฤๅษีวาลมีกิได้วางแนวการประพันธ์เรื่องรามายณะไว้อย่างไร สภาพชีวิตสภาพสังคมที่ตัวเอกคือพระรามของมหากวีวาลมีกินั้น มีชีวิตโลดแล่นในมหากาพย์รามายณะนั้นเป็นเช่นไร นี่อาจเป็นคำถามที่ผู้ศึกษาอยากจะถามผู้ประพันธ์ขึ้นมา การตอบคำถามสองข้อนี้ได้ เราก็จะต้องนึกถึงแนวคิดภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันสองประการ ซึ่งเราอาจเรียกว่า "etic" และ "emic" กล่าวคือ แนวคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จากมุมมองภายนอก เช่นโดยทั่วไปแล้ว จะนำมาใช้โดยนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ นักโบราณคดี และนักภาษาศาสตร์; และแนวคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิมและสอดคล้องกับแนวคิดที่พัฒนาขึ้นภายในวัฒนธรรมแวดล้อมของตัวเนื้อหาที่ประพันธ์ขึ้นมา.

       ในชั้นแรกนี้ เมื่อเราได้ตรวจสอบจากมุมมองภายนอก (etic) แล้วนั้น โดยทั่วไปแล้ว นักวิชาการร่วมสมัยต่างเห็นพ้องว่ารามายณะมีการเปลี่ยนแปลงบางประการจากรูปแบบแรก ๆ (ที่ไม่สามารถสืบค้น หรือกู้คืนได้) ซึ่งรามายณะของฤๅษีวาลมีกินั้น เป็นผลงานในช่วงสองในสี่ส่วนถึงสามในสี่ส่วนของพันปีแรกก่อนคริสตกาล. (750-250 ปี BCE.). ซึ่งเป็นในยุคก่อนจักรวรรดิของประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ อันนับเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจยิ่ง. เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นและรุดหน้าของการเขียนข้อความ บทกวี นิพนธ์ โศลกของสำนักความคิด ระบบ และการเคลื่อนไหวทางศาสนาและปรัชญาเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายสำนักแนวคิดปรัชญายังคงเป็นกองกำลังที่ทรงพลังในอารยธรรมอินเดีย เอเชีย และโลกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน. เป็นที่น่าสังเกตว่าคัมภีร์พระเวทในยุคปลาย โดยเฉพาะคัมภีร์อุปนิษัท และคัมภีร์ที่ไม่ใช่พระเวท อาทิ มหากาพย์ภาษาสันสกฤตต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญของสำนักศาสนาและปรัชญาพราหมณ์-ฮินดูที่เกิดขึ้นใหม่ ช่วงเวลานี้ยังได้เห็นรุ่งอรุณและพัฒนาการของขบวนการทางพระพุทธศาสนาและศาสนาเชน และองค์ประกอบที่เป็นพระบัญญัติในยุคเริ่มแรกของทั้งสองพระศาสนา.

       ในระดับของประวัติศาสตร์ทางศาสนาแล้วนั้น มหากาพย์รามายณะนี้จะคร่อมทั้งสองขบวนการหลักในการพัฒนาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักและขบวนการที่เรียกตนเองว่าเป็นไวษณพ (หรือพวกที่นับถือศาสนาฮินดู ไวษณพนิกาย). สำนักปรัชญาเหล่านี้ได้ปฏิบัติบูชาในรูปแบบต่าง ๆ ต่อองค์เทพพระวิษณุ. ซึ่งในช่วงนี้เองที่พระวิษณุเริ่มพัฒนาเป็นหนึ่งในสามมหาเทพหลักของเทพเจ้าพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งต่อมาได้ถูกกล่าวขานรวมว่า "ตรีมูรติ - Trimūrti" ซึ่งมีผู้นับถือกันกว้างขวางทั่วโลก กลุ่มสามมหาเทพนี้ มีบทบาทเฉพาะในประวัติศาสตร์ของจักรวาล (ตามแนวคิดพราหมณ์-ฮินดู). เหล่านี้คือพระพรหมเป็นผู้สร้าง พระวิษณุเป็นผู้ปกปักรักษา และพระศิวะเป็นผู้ทำลายล้าง. อันที่จริงแล้ว แม้ว่ามหากาพย์ภาษาสันสกฤตในยุคนี้คือ รามายณะและมหาภารตะ ซึ่งก็รวมถึงตอนที่ได้รับการกล่าวขานอ้างอิงให้ความเคารพกันอย่างสูงที่เรียกว่า "ภควัทคีตา" (อันเป็นลำนำ หรืออนุศาสน์ หรือคำสอนในรูปแบบของการสนทนาระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่ามีองค์ประกอบเป็นปรัชญาสางขยะและคัมภีร์อุปนิษัทเป็นส่วนใหญ่) รายละเอียดดูใน ภควัทคีตา. ซึ่งเนื้อหาหลักปรัชญาอยู่ในการสนทนาระหว่างอรชุนกับพระกฤษณะ ก่อนเริ่มมหาสงครามมหาภารตะที่ทุ่งกุรุเกษตร ดูเพิ่มเติมได้ในหน้าที่ 167 ภีษมบรรพ มหาภารตยุทธ. โดยพื้นฐานแล้วเป็นงานนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักกัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่การกระทำของอวตารผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง อันเป็นอวตารของพระวิษณุ ได้ พระรามและพระกฤษณะ (เรื่องราวของพระกฤษณะนั้นติดตามได้ใน หริวงศ์) ตามลำดับ.

       จากมุมมองด้านประวัติศาสตร์การเมือง ในช่วงเวลาอันวิกฤตของการเกิดขึ้นของคัมภีร์เหล่านี้ ทั้งที่เป็นแบบพระเวทและที่ไม่ใช่แบบพระเวท บางครั้งนักประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ ยุคชนบท01. หากแปลตามตัวอักษร ชนบท แปลว่า "สถานที่ของผู้คน" หมายถึงชุดของการก่อตัวของรัฐในยุคแรก ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะในช่วงกลางของสหัสวรรษแรกก่อนคริสตศักราช ซึ่งหัวหน้ากลุ่มต่าง ๆ ของเผ่าอารยันในยุคพระเวท ซึ่งเดิมเป็นคนเร่ร่อนบ้างก็มีการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บ้างก็ค้นหาสิ่งที่เหนือธรรมชาติคอยปกปัก เริ่มตั้งถิ่นฐานในดินแดนภูมิภาคแถบหุบเขาแม่น้ำด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย.
หมายเหตุ คำอธิบาย

01. ยุคชนบท (Janapada period) ราว 1500-600 ปีก่อนคริสตกาล หรือในราวช่วงที่พระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เป็นยุคเริ่มต้นที่นำไปสู่การกำเนิดของยุคมหาชนบท (महाजनपदा - Mahājanapadas) ซึ่งมีหลายรัฐผนึกรวมตัวกันกับรัฐใกล้เคียงที่แข็งแกร่งกว่า บางรัฐก็ยังแยกเป็นรัฐอิสระ ประกอบด้วย 16 รัฐ ตามที่ปรากฎในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาดังนี้: ที่มา: www.dhammathai.org วันที่สืบค้น 16 มีนาคม 2561. รายละเอียดดูในภารตะ ปกิณกะ ภารตวรรษ ยุคชนบทและมหาชนบท หน้าที่ 2
 
ภาพแสดง: ภารตวรรษ (भारतवर्ष - Bhāratavarṣa) สมัย "สิบหกมหาชนบท" สมัยพุทธกาล, ที่มา: globalsecurity.org, วันที่เข้าถึง 22 มกราคม 2564.
1.
2.
หน้าที่ 2
ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐที่เป็นต้นแบบเหล่านี้ มีการก่อตัวกันคลุมเครือ มีการแข่งขันกันกับรัฐเพื่อนบ้านในเรื่องที่ดิน การเข้าถึงแหล่งน้ำ และความมั่งคั่ง ต่อมาในระยะหลัง ๆ ก็มีการแข่งกันในเรื่องปศุสัตว์ มีการจู่โจมรบกัน อันเป็นภารกิจหลักของหัวหน้าเผ่าหรือผู้ปกครองในแต่ละรัฐ.

       เมื่อหัวหน้าเผ่าอารยันและกลุ่มชนผู้ติดตามเริ่มลงหลักปักฐาน ตัดถางรกพงปรับพื้นที่ทำการเกษตรบนแผ่นดินมากขึ้น ไม่โยกย้ายไปไหนแล้ว ความมั่งคั่งและอำนาจการจัดการ การตั้งรัฐ เริ่มแบ่งปันไปแต่ละกลุ่ม การปันประโยชน์มีได้มีเสีย. ในช่วงเวลานี้มีการสืบตระกูลตั้งกษัตริย์วงศ์ใหม่ขึ้น มีการยกย่องด้วยพระอิสริยยศต่างๆ เช่น มหาราชา (Mahārāja) "กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ - Great King." ราชาธิราช (Rājādhirāja) "ราชาแห่งเหล่าราชันย์ - King of Kings" และแม้กระทั่งเหล่ากษัตริย์ผู้ปกครองได้พิชิตเผ่าเพื่อนบ้านอื่น ๆ พร้อมทั้งผนวกดูดซับเข้ารวมกับเผ่าตนหรืออาณาจักรของตน เป็นผู้ปกครองแห่งจักรวาล (The Universal Ruler - พระเวทเรียก "Saṃrāṭ") และจักรวาทิน (ภาษาสันสกฤต - Chakravartin - จักรพรรดิแห่งจักรวาล - ประกอบด้วยสี่ทวีป). นอกเหนือจากการมีอำนาจทางการทหารแล้ว เหล่ากษัตริย์ยังต้องพึ่งอำนาจทางจิตวิญญาณที่ได้รับจากเหล่ารัฐมนตรีพราหมณ์ ที่ปรึกษา และนักบวชผู้ประกอบพิธีกรรม ที่เรียกว่า "ปุโรหิต" (पुरोहित - Purohitas) อันเป็นนักบวชประจำราชสำนัก. ผู้แนะนำหรือเป็นสื่อกลางทางจิตวิญญาณ ซึ่งดำเนินการภายใต้การอุปถัมภ์หรือราชานุเคราะห์ของกษัตริย์ ในการบวงสรวงของราชวงศ์ (यज्ञ - yajñas - ยัญพิธี หรือบูชายัญ) ต่อสาธารณชนอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่เพียงแต่สนองการสอบทานในการดำรงสถานะเป็นกษัตริย์เท่านั้น แต่เหล่ากษัตริย์ผู้ปกครองก็ยังต้องผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ อาทิ อัศวเมธ01. และราชสูยะ02. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจให้เป็นที่ครั่นคร้ามแก่เหล่าอาณาจักรคู่แข่งโดยรอบอีกด้วย. บางทีสิ่งที่สำคัญพอ ๆ กันต่อการบรรลุและรักษาความยิ่งใหญ่และอำนาจของกษัตริย์ก็คือพระสูตรมนต์พิธีในราชสำนัก กวี และบัณฑิตที่ทำหน้าที่กล่าวสดุดีสรรเสริญพระเกียรติยศ ผู้ประพันธ์กาพย์กลอนของราชวงศ์ที่มีหน้าที่ปลุกกษัตริย์ให้ตื่นจากพระบรรทมทุกเช้าด้วยเสียงเพลงสรรเสริญเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และเกี่ยวกับความสูงส่งและวีรกรรมของบูรพกษัตริย์. กาพย์กลอนที่ประพันธ์ขึ้นนี้ได้ก่อร่างสร้างสายเลือดสายโลหิตของราชวงศ์ (वंशम् - vaṃśas) ซึ่งสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนของกษัตริย์นักรบผู้สูงศักดิ์และแม้แต่ทวยเทพบนสรวงสวรรค์อีกด้วย.

       ในบรรดาชนบทต่าง ๆ (และ "สาธารณรัฐ" ร่วมสมัยไม่กี่แห่ง) ในช่วงเวลานั้นได้มีการกล่าวถึงในมหากาพย์ต่าง ๆ และในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนคัมภีร์ในศาสนาเชน ซึ่งทั้งสองศาสนาได้นำไปหล่อหลอมผ่านการก่อตัว การแพร่กระจาย และความสำเร็จของบทกวี บทประพันธ์กาพย์กลอนที่ขยายออกไป ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าล้วนมาจากตำนาน เพลงสดุดีสรรเสริญบูรพกษัตริย์และวีรกรรมที่กล้าแกร่งของพวกเขา. หนึ่งในนั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในทุ่งกุรุเกษตร (Kurukṣetra) อยู่ในภูมิภาคใกล้แม่น้ำยมุนา ซึ่งมีเมืองหลวงคือกรุงหัสตินาปุระ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับเมืองหลวงของอินเดียปัจจุบันคือกรุงนิวเดลลี. ณ ที่นี่เป็นหลักแหล่งของกษัตริย์อันเป็นเผ่าพันธุ์ในยุคพระเวทที่เรียกว่า กุรุ (The Kurus) เปารวะ (The Pauravas) หรือ ภารตะ (The Bhāratas). เช่นเดียวกับเชื้อสายอื่น ๆ กษัตริย์เหล่านี้ยังคงรักษาเกียรติของบรรพบุรุษของพวกเขาไว้ได้โดยใช้ชื่อตระกูลที่หลากหลาย ซึ่งได้มาจากบรรพบุรุษที่โดดเด่นหลายท่าน. สามารถสืบย้อนไปยังเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ โสม (Soma) หรือพระจันทร์ (Chandra) หรือเรียกโดยรวมว่า โสมวงศ์ (Somavaṃśa) หรือจันทรวงศ์ (Chandravaṃśa) อันเป็น "ราชวงศ์จันทรคติ" ("Lunar Dynasty.") ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนชาวอารยันยุคพระเวทกลุ่มนี้ได้ถูกรวบรวม ปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอดต่อเนื่องมาหลายศตวรรษ ซึ่งกลายเป็นภารตะ "เรื่องเล่าขานของเหล่าชนภารตะ - The Tale of the Bhāratas" และต่อมาได้ขยายให้มีความยาวเป็นพิเศษและมีเนื้อหาแทบจะเป็นสารานุกรมในชื่อมหาภารตะ (ภารตะอันยิ่งใหญ่ - The Great Bhārata) อันเป็นมหากาพย์ที่มีเนื้อหากว้างขวางมาก ซึ่งผู้ประพันธ์และผู้เรียบเรียงได้นำเรื่องเล่าเรื่องที่เป็นตำนานมาไว้ในมหาภารตะนี้เกือบทั้งหมด ตลอดจนมีเนื้อหาทางจิตวิญญาณและปรัชญาแนวคิดต่าง ๆ มากมาย. ในมหาภารตยุทธ บรรพที่ 3 อรัณยกะบรรพ หน้าที่ 123 นั้น ยุธิษฐิระได้รำพึงถึงความอาภัพอับโชคของตนและน้อง ๆ อีกทั้งภรรยาให้ฤๅษีพฺฤหทัศวะ ฟัง (หรือใน ราโมภาคยัน บ้างก็เรียก ราโมปาขยาน (Rāmopākhyāna - เป็นเรื่องเกล็ดว่าด้วยเรื่องของพระราม)) เรียกนามพระฤๅษีท่านนี้ว่า พระฤๅษีมารฺคณฺเฑยะ (मार्कण्‍डेय - Sage Markaṇḍeya) พระฤๅษีจึงได้เล่าเรื่องของพระรามให้ท้าวยุธิษฐิระฟัง นักวิชาบางท่านเชื่อว่าการเล่าเรื่องนี้สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเรื่องพระราม.

       ราว 531 กิโลเมตรไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงหัสตินาปุระ คือที่ตั้งของเมืองอโยธยาอันเป็นเมืองแห่งการแสวงบุญที่ทันสมัย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองหลวงของกลุ่มชนบทนั่นคือแคว้นโกศล (कोसल राज्य - Kosala)  ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอำนาจในภูมิภาค ต่อมาพ่ายแพ้และถูกผนวกเข้ากับแคว้นมคธ (मगध - Magadha) อันเป็นรัฐที่เกิดใหม่โดยพระเจ้าอชาตศัตรู (अजातशत्रु - King Ajātaśatru) ราวช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดายังพระทรงชนม์ชีพ. เมืองและรัฐที่ปกครองในสมัยอินเดียโบราณโดยกษัตริย์ผู้สืบสันตติวงศ์ ดั่งเช่น ภารตะ การสืบสายเลือดของพวกเขาได้ย้อนไปถึงกษัตริย์ที่เป็นปราชญ์ อาทิ อิกษวากุ (इक्ष्वाकु - Ikṣvāku) และราฆุ03. (रघु - Raghu) ซึ่งสืบสายไปยังทวยเทพองค์สำคัญของแนวคิดด้านพระเวทคือพระสูริยะ. ดังนั้นในราชวงศ์ของแคว้นโกศล จะมีชื่อเรียกราชวงศ์แตกออกมาอีกว่า ราฆุ ราฆพ อิกษวากุ และไอกษวากะ หรือรวมเรียกว่าสุริยวงศ์ [รามายณะเป็นเรื่องราวของสุริยวงศ์ ส่วนมหาภารตยุทธเป็นเรื่องราวของจันทรวงศ์ นั่นเอง]. เห็นได้ว่าพระรามและพระอนุชาอีกสามพระองค์นั้น ได้สืบเชื้อสายที่สูงส่ง. และตามประเพณีของพระพุทธศาสนาถือว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดิมพระองค์เป็นเจ้าชายมีพระนามว่า สิทธัตถะโคตมะ แห่งศากยวงศ์อันเป็นสาขาย่อยของอิกษวากุ ในขณะที่ผู้ประพันธ์ในศาสนาเชนก็ได้แต่งเรื่องราวมหากาพย์รามายณะในรูปแบบของเชน ชุดหนึ่งซึ่งถือว่าพระรามนั้น เป็นหนึ่งในวาสุเทพ (the Vāsudevas) - ซึ่งเป็นวีรบุรุษที่เวียนว่ายกำเนิดขึ้นซ้ำ ๆ ในแต่ละยุค อันต้องเผชิญหน้ากับศัตรูตัวฉกาจ คือ ประติวาสุเทพ (the Prativāsudeva) "ผู้โต้กลับวาสุเทพ" เมื่อพิจารณาในเชิงรามกถา (ma tale) แล้ว ก็คือท้าวราพณ์นั่นเอง.
หมายเหตุ คำอธิบาย

01. อัศวเมธ (अश्वमेध - aśvamedha) รายละเอียดดูในมหาภารตยุทธ บรรพที่ 14 อัศวเมธิกบรรพ หน้าที่ 242-243 มีบันทึกว่าราชาอินเดียโบราณหลายพระองค์ประกอบพิธีนี้ โดยราชาองค์แรกที่ประกอบพิธีอัศวเมธคือปุรุกุตสะในสมัยพระเวทช่วงต้น ในสหัสวรรษที่ผ่านมามีพิธีอัศวเมธเพียงแค่ 2 ครั้ง ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1741 หรือ พ.ศ.2284 โดยมหาราชาชัยสิงห์ที่ 2 แห่งชัยปุระ, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 11 กรกฎาคม 2566.
02. ราชสูยะ (राजसूय - rājasūya) เกี่ยวข้องกับการถวายของถวายปัจจัยของกษัตริย์ ระบุไว้ว่าเป็นวิธีการสร้างอำนาจอธิปไตยของกษัตริย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกดหรือคั้นโสม การขับรถม้าศึก การทรงธนู และการจู่โจมฝูงวัว  เป็นต้น, คล้ายคลึงกับพิธีบรมราชาภิเษกของไทย ซึ่งถือตามคติของพิธีพราหมณ์ มีขั้นตอนสำคัญคือ การถวายน้ำอภิเษก การกระทำสัตย์ และการถวายราชสมบัติ.
03. ราฆุ (रघु - Raghu) ตามความเชื่อของศาสนาพราหณ์-ฮินดู เป็นผู้ปกครองที่สืบสายมาจากสุริยวงศ์ซึ่งมหากวีกาลิทาส (कालिदास - Kālidāsa) ได้ประพันธ์ไว้ในราฆุวงศ์ (Raghuvamśa) กล่าวว่าพระเจ้าราฆุ ทรงเป็นทวด (สายบิดา) ของพระราม อันเป็นอวตารของพระวิษณุ.

1.
2.
หน้าที่ 3
       แต่เมื่อพิจารณาถึงเครื่องมือในการสืบค้นของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในการเข้าถึงอินเดียยุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็นโบราณคดี บรรพชีวินวิทยา โองการบันทึกต่าง ๆ ของกษัตริย์โบราณ บันทึกของนักเดินทางและอื่น ๆ นั้น ไม่ได้ย้อนเวลากลับไปมากไปกว่าสมัยชนบทตอนปลาย ในขณะที่ตำนานการครองราชย์ ผู้ปกครอง อย่างเช่น ท้าวยุธิษฐิระในมหากาพย์มหาภารตะ และพระรามในรามายณะนั้น หากว่าทั้งสองท่านเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์จริง ๆ แล้ว ก็คงจะเกิดขึ้นในยุคก่อนหน้าชนบทนี้มาก ซึ่งเกินกว่าเครื่องมือสืบค้นทางประวัติศาสตร์เท่าที่มีอยู่ขณะนี้จะเข้าถึงได้.

       ดังนั้น หลักฐานการมีอยู่ การเคลื่อนไหวโลดแล่น การต่อสู้เพื่อสืบทอดตำแหน่ง และการสงครามของบุคคลเหล่านี้ในประวัติศาสตร์ ได้ปรากฎเป็นสาระสำคัญบางตอนในวรรณกรรมพระเวทโบราณดึกดำบรรพ์ อาทิ เรื่องราวปุราณะ วงศาวลิส (vaṃśāvalis - ประวัติสาแหรกครอบครัวหรือราชวงศ์) "ลำดับรายชื่อราชวงศ์" และแน่นอนว่าปรากฎในมหากาพย์เองอีกด้วย. สำหรับนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่พิจารณาจากมุมมองภายนอก (etic) ประเด็นปัญหาด้านความเป็นมา ภูมิหลัง ข้อมูล ลำดับเหตุการณ์ที่บรรยายในรามายณะนั้น คือการพิจารณาว่าเรื่องเล่าในมหากาพย์มีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด. ปัญหาอันใหญ่หลวงก็คือการขาดเอกสารที่เชื่อถือได้ และการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก และแนวโน้มที่เหล่ากวีผู้ประพันธ์มหากาพย์จะนำเสนอเรื่องของพวกเขาเป็นตอน ๆ ในจักรวาลที่มีความขัดแย้งอันไม่รู้จบรู้สิ้นสุดระหว่างทวยเทพกับเหล่าอสูร (the asuras) ซึ่งบางฉากบางตอนก็สาดฉาย จากสวรรค์ลงไปยังโลกมนุษย์ ที่เกิดขึ้นจริงตามเวลาจริงในประวัติศาสตร์. บางครั้งประเด็นปัญหาก็มาตกอยู่ที่ความพยายามที่จะมองว่าว่าข้อความอันเป็นเรื่องราวของบุคคลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนั้น มีการสอดแทรกเรื่องราวที่น่าทึ่งและน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น ผ่านการสอดแทรกบุคคล ตัวละครและปรากฎการณ์ที่ไม่ธรรมดา เหนือธรรมชาติและผ่านกรอบเรื่องเล่าว่าเป็นศาสนสถานหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บ้างก็มี [อาทิ เรื่อง ทรพาทรพี ในรามเกียรติ์ของไทย {ในรามายณะคือ ทุนทุภิ (दुन्दुभि - Dundubhi - ทรพี)}] เรื่องศกุนตลา และ นางหิฑิมพา ในอาทิบรรพ มหาภารตยุทธ เรื่องสาวิตรี ในอรัณยกะบรรพ มหาภารตยุทธ เป็นต้น}

       นั่นเป็นความพยายามในการแก้ไขและการวางกรอบที่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการเผยแพร่ศาสนาความศรัทธาและจรรโลงผู้ชม ผู้ฟัง และผู้อ่านมหากาพย์ โดยการคัดเลือกผลงานที่เป็นเรื่องราวการต่อสู้ในช่วงที่เทพเจ้าสูงสุดมีชัยชนะเหนือพลังอธรรม "ความชั่วร้ายหรืออธรรม" และเป็นข้อความ ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นตัวอย่างและปลูกฝังรูปแบบเชิงบรรทัดฐานบางประการสำหรับผู้ชม ผู้ฟัง และผู้อ่านมหากาพย์. สำหรับนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่นั้น มันขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะแยกองค์ประกอบเหนือธรรมชาติ เกินความจริง และองค์ประกอบเชิงตำนานที่ตรงไปตรงมาของเรื่องเล่านิทานเหล่านี้ออกจากแกนกลางประวัติศาสตร์ใดก็ตามที่พวกเขาอาจมี. ด้วยวิธีนี้ การอ่านรามายณะและมหาภารตะในฐานะประวัติศาสตร์จึงเหมือนกับการอ่านพันธสัญญาเดิมในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ของชาวยิวในสมัยโบราณ.

       สิ่งนี้นำเราไปสู่คำถามเกี่ยวกับการอ่านมหากาพย์ในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์. ผู้อ่านมหากาพย์แบบดั้งเดิมและเคร่งศาสนาจะเข้าใจประวัติศาสตร์ของพวกเขาได้อย่างไร. เพื่อตอบคำถามนี้และเข้าใจคำตอบในบริบทที่เหมาะสม เราจำเป็นต้องรู้บางอย่างเกี่ยวกับแนวคิดพราหมณ์-ฮินดูดั้งเดิมเกี่ยวกับเวลาและสิ่งที่ถือเป็นพื้นฐานที่แท้จริงสำหรับการเขียนประวัติศาสตร์.

       ไม่เหมือนกับนักประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และศิษยานุศิษย์ของศาสนายูดาย (หรือจูดิโอ - Judeo) - คริสเตียน - ลัทธิทะเลทรายสมัยใหม่ ซึ่งดำเนินการโดยปราศจากข้อสันนิษฐานที่ว่าเวลาเป็นเส้นตรง วิ่งจากการสร้างรังสรรค์ (หรือ Big Bang) ไปจนถึงวันสิ้นโลก (หรือ Big Crunch) ระบบศาสนาของชนพื้นเมืองอินเดียโบราณหลักสามระบบ คือ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระพุทธศาสนา และศาสนาเชน ต่างสอนตามระบบเฉพาะของตนเองว่าเวลาสากลเป็นวัฏจักรและไม่มีจุดเริ่มต้นที่แน่นอนหรือจุดสิ้นสุดสุดท้าย. ด้วยความเชื่อในแนวคิดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูถือได้ว่าเวลานั้นไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดและวัดออกมาเป็นวัฏจักรจักรวาลขนาดใหญ่ที่หมุนวนซ้ำเรียกว่า กัล์ป (Kalpas) ซึ่งแบ่งออกเป็นช่วงยาวที่เรียกว่า มหายุค (Mahāyugas)01. หรือยุคแห่งมหาจักรวาล (Great Cosmic Eras). ในแต่ละมหายุคจะแบ่งออกเป็นสี่ยุคตามลำดับ มีความยาวสั้นแตกต่างกัน เมื่อยุคไหนมีธรรมน้อย จะมีช่วงระยะเวลาที่ลดลง ยุคนั้น "ความชอบธรรม - Righteousness" และคุณภาพชีวิตก็จะหดสั้นลงด้วย.

       ดังนั้นสำหรับประเพณีของชาวฮินดู เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ดังเช่นตามที่บรรยายในรามายณะและมหาภารตะ จึงเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปในยุคที่เป็นกาลเฉพาะ เนื่องจากช่วงเวลาเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำกับวัฏจักรที่โคจรกลับมาอีกของมหายุค. แหล่งข้อมูลของชาวฮินดูแทบทั้งหมดถือว่ายุคปัจจุบันของเรานั้น เป็นยุคที่เลวร้ายที่สุดของสี่ยุค ซึ่งเรียกว่ากลียุค (Kali Yuga). ข้อความและกูรู (ครู) ที่แตกต่างกันได้กำหนดความยาวที่แตกต่างกันให้กับแต่ละยุค แต่การคำนวณทั่วไปที่พบในคัมภีร์ปุราณะ (purāṇas) นั้น กล่าวว่าตามสุริยคติแล้ว กลียุคมีอายุ 432,000 ปี ในขณะที่แต่ละยุคสามยุคก่อนหน้าในมหายุคนั้น มีอายุมากกว่ากลียุค โดยรวมแล้วมหายุคจะมีอายุเป็น 4,320,000 ปี ซึ่งเป็นวัฏจักรที่ยาวนานมาก.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ยุค (युग - Yuga Cycle) รายละเอียดแสดงใน หน้าที่ 3 ของ ปุราณะ.
1.
2.
หน้าที่ 4
      ลำดับเหตุการณ์นี้มีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจว่าผู้ชม ผู้อ่าน ผู้ฟังมหากาพย์ดั้งเดิมนั้น ได้เห็นตำแหน่งของนิทานเรื่องเล่าและตัวละครของพวกเขาว่าเป็นอย่างไรอยู่ตำแหน่งไหนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ตลอดจนความแตกต่างบางประการระหว่างพวกเขาเอง. แม้ว่าเราอาจคิดไปว่าเหตุการณ์ของมหากาพย์ทั้งสองนั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายยุคพระเวท จนถึงยุคต้นของชนบท ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างอะไร ประเพณีของชาวฮินดูกำหนดให้พวกเขาอยู่ในจักรวาลที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วีรบุรุษและเหตุการณ์ต่าง ๆ ของเหล่าวีรชน ได้วนอยู่ในจำนวนปีทางดาราศาสตร์และมิติทางศีลธรรมทั้งหมดได้แยกออกจากกัน. ตามแนวคิดนี้ เหตุการณ์ที่ได้สาธกในรามายณะนั้นกล่าวกันว่าเกิดขึ้นในเตรตยุค ซึ่งเป็นรอบที่สองของวงจรที่เกิดซ้ำของสี่ยุค ในขณะที่เหตุการณ์ในมหาภารตะ ตามการคำนวณส่วนใหญ่แล้วได้เกิดขึ้นที่ส่วนท้ายสุดแห่งยุคที่สาม คือ ทวาปรยุค และด้วยเหตุนี้ ยุคของเราก็คือกลียุค อันเป็นยุคที่เสื่อมทราม. ดังนั้นการคำนวณอายุของมหากาพย์ วิถีชีวิตการโลดแล่นของพระราม เหตุการณ์ที่บรรยายในรามายณะ และการประพันธ์บทกวีของฤๅษีวาลมีกิ ผู้ร่วมสมัยกับวีรบุรุษในมหากาพย์ และตัวละครต่าง ๆ อย่างน้อยเมื่อประมาณ 850,000 ปีมาแล้ว (เตรตยุค ลบ กลียุค : 1,296,000 - 432,000) ซึ่งเป็นจุดที่ห่างไกลจากเราเป็นอย่างมาก และยาวนานกว่าเหตุการณ์ในมหาภารตะมาก (ไม่น้อยกว่า 432,000 ปี: เตรตยุค ลบ ทวาปรยุค).

       การวางลำดับเหตุการณ์ของเรื่องราวในมหากาพย์ทั้งสองเรื่องนี้และผู้ประพันธ์ร่วมสมัยได้รวมเข้ากับทฤษฎีแนวคิดด้านไวษณพอันเป็นอวตารของพระวิษณุไว้ด้วย. มีปรากฎในทั้งบทกวี พระราม และพระกฤษณะตามลำดับ ซึ่งได้รับการสักการะบูชาในฐานะที่เป็นอวตารองค์ที่เจ็ดและแปดตามลำดับ (ศึกษารายละเอียดได้ใน ทศวตาร)  และตามแนวคิดของอนุศาสน์หรือลำนำภควัทคีตา (ศึกษารายละเอียดได้ใน ภควัทคีตา) - การอวตารของพระวิษณุเป็นไปตามความจำเป็น เพื่อปกป้อง สร้างธำรงคุณธรรม ทำลายผู้ทำความชั่วที่กดขี่เหล่ามนุษย์ทั้งหลาย. นอกจากนี้ก็ยังทำหน้าที่อธิบายถึงศีลธรรมในระดับที่สูงกว่าทั่วไปได้ระดับหนึ่ง นั่นคือจริยศาสตร์เชิงเทววิทยา (Deontological ethics) โดยพื้นฐานของพระรามและวีรบุรุษต่าง ๆ ที่เป็นศูนย์กลางของรามายณะ เมื่อเปรียบเทียบกับพฤติกรรมที่สืบเนื่องมากกว่าและแม้กระทั่งพฤติกรรมที่ไม่ดีนักของพระกฤษณะ เหล่าพี่น้องปาณฑพและเการพในมหาภารตะ. บางทีมหากาพย์ได้อธิบายถึงตัวละครและเหตุการณ์ที่เหนือความจริงมาก เช่น ศัตรูที่มีสิบหัว ยี่สิบอาวุธ การเหาะบินได้ การแปลงกาย ลิง/หมี/และสัตว์อื่น ๆ พูดได้ และอสูรรากษสยักษ์ขนาดมหึมา. มีกรอบเวลาที่แตกต่างกันระหว่างสองมหากาพย์คือ พระกฤษณะและเหล่าพี่น้องปาณฑพจากโลกนี้ไปอยู่ภพบนสวรรค์ เพียงสามสิบหกปีหลังจากมหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ในขณะที่พระรามครองราชย์ปกครองอโยธยาสืบมาอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นหนึ่งพันปี ก่อนที่พระรามจะยอมตามคำขอของทวยเทพให้กลับคืนสู่ไวกูณฐ์สวรรค์ดังเดิม.

       นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ยังไม่มีเครื่องมือที่ระบุได้ว่ามหากาพย์ทั้งสองเรื่องนี้ อยู่ในยุคสมัยใด อยู่ในห้วงมหายุคจริงหรือไม่. การแสดงว่าบทกวีในมหากาพย์ทั้งสองเป็นเรื่องราวที่ถูกต้องในอดีตนั้น ขึ้นอยู่กับการอ้างสิทธิ์สองประการ. ประการแรกคือผู้บรรยายสาธกผลงานระดับตำนานแต่ละท่านนี้ (ฤๅษีวาลมีกิและฤๅษีวยาส) เป็นบุคคลร่วมสมัยกับวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ และประการที่สอง ในความเป็นจริงแล้วมีผู้เห็นผู้สังเกตการณ์ร่วมมากมายในการบรรยายเรื่องที่เป็นหัวใจของมหากาพย์แต่ละชิ้น. ทั้งสองท่านเป็นพราหมณ์และรักษาความสอดคล้องกับวัฒนธรรมที่มั่นคง ทั้งสองท่านต่างเข้าใจดีในฐานะที่เป็นสมาชิกของชนชั้นทางสังคมซึ่งเป็นตัวแทนของความจริงที่ไม่มีข้อผิดพลาด. ดังนั้นผู้ชม ผู้อ่าน ผู้รับฟังพึงวางใจอย่าได้คลางแคลงกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พราหมณ์ทั้งสองท่านได้รจนาสาธก อย่างไรก็ตามก็มีปัญหาที่ตามมา. ท้ายที่สุดแล้ว ฤๅษีวาลมีกิก็ถูกมองว่าไม่รู้ถึงลักษณะนิสัย หน้าที่และฐานะของพระราม จนกระทั่งท่านได้ทราบเรื่องจากพระฤๅษีนารทมุนี01. ดังนั้นอันที่จริงแล้ว ท่านก็ไม่มีข้อมูลส่วนตัวโดยตรงเกี่ยวกับเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่บรรยายไว้ในมหากาพย์ จนกระทั่งนางสีดาถูกทอดทิ้งใกล้กับอาศรมของท่าน.
หมายเหตุ คำอธิบาย.

01. พระฤๅษีนารทมุนี ดูรายละเอียดได้ใน หมายเหตุ การขยายความ หน้าที่ 1 ของพาลกัณฑ์.

 

พระพรหม, ที่มา: dhamma.mthai.com, วันที่เข้าถึง 24 สิงหาคม 2565.
1.
หน้าที่ 5
       คำยืนยันประการที่สองเกี่ยวกับการสับเปลี่ยนหมุนวนที่มีลักษณะเฉพาะ เช่นเดียวกับที่ประเพณีของอินเดียวางอยู่บนหัวข้อที่พบในวัฒนธรรมทางศาสนาและลัทธิอื่น ๆ เช่น ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ พระพุทธศาสนา และลัทธิทะเลทราย. นี่คือการอ้างว่าข้อความพื้นฐานนั้นไร้ความหมาย เพราะคำกล่าวที่แท้จริงนั้นเป็นวจนะของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสัพพัญญู หรือมนุษย์ที่เคร่งครัดมีวินัยสำรวมทั้งด้านกาย วาจาและจิตใจ สามารถพัฒนาสติปัญญาญาณขั้นดีเลิศจนถึงการรู้แจ้งอย่างสมบูรณ์. เมื่อได้มีการหยิบยืมมาจากประเพณีที่สืบทอดกันมาของแนวคิดด้านพระเวทว่าตำราหรือคัมภีร์เหล่านั้น เป็นคลังข้อมูลที่เรียกว่า ศรุติ (śruti) "สิ่งที่ได้ยินมา - what was heard," เป็นสิ่งเก่ากาลและไม่ถูกต้องนัก และได้ถูกเปิดเผยโดยตรงต่อผู้พยากรณ์โบราณที่เรียกรวมกันว่า เหล่าฤษี (ṛṣis) และเหล่ากวี (kavis) เป็นอิติหาส หรือ อิติหะสะ (itihāsas), "ประวัติศาสตร์มหากาพย์ - เรื่องราวแบบดั้งเดิมของเหตุการณ์ที่ผ่านมา หรือ จึงเกิดขึ้น - so it happened." อ้างสถานะอันสูงส่งเช่นเดียวกับผู้ประพันธ์. หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ฤๅษีวาลมีกิและฤๅษีวยาส กวีแห่งรามายณะและมหาภารตะตามลำดับนั้น ไม่ใช่แค่เป็นเพียงผู้รายงานเหตุการณ์ที่ทั้งสองท่านเห็นด้วยตาตนเองอย่างแม่นยำเท่านั้น. ทั่้งสองท่านเป็นเหมือนดั่งนักพรตพระเวทที่มองเห็นตนเอง มีพรสวรรค์ในการมองเห็นเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นหรือมีตาทิพย์หรือ ทิพยจักษุ (บาฬี: divyacakṣus - divine eye) หรือ "การมองเห็นอันศักดิ์สิทธิ์ - divine vision," ที่ทำให้ฤๅษีทั้งสองได้รับรู้และระลึกถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวละครที่โลดแล่นในมหากาพย์ทั้งหมด ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต - รวมถึงความนึกคิดภายในและการสนทนาส่วนตัว. ด้วยวิธีนี้ ผู้ประพันธ์อิติหาสจึงทำหน้าที่เป็นดั่งผู้สาธกที่รอบรู้ของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคใหม่. ตัวอย่างเช่น ต่อไปนี้คือสิ่งที่พระพรหมเทพผู้สร้างได้กล่าวแก่ฤๅษีวามีกิ เมื่อได้ประทานญาณทิพย์แก่ฤๅษี ดังแสดงไว้ในบทนำของรามายณะ:
 
  เจ้าต้องบอกโลกถึงเรื่องราวของพระรามผู้ทรงธรรม เปี่ยมด้วยคุณธรรม ทรงภูมิปัญญา และแน่วแน่ เช่นเดียวกับที่เจ้าได้ยินจากพระฤๅษีนารทมุนี เรื่องราวทั้งปวงทั้งที่สาธารณะเปิดกว้างและที่ส่วนตัวจากปราชญ์ท่านนี้. สำหรับสิ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับพระรามผู้ฉลาดหลักแหลม เทรามิตริ01. เหล่ารากษส และไวเดหิ02. ไม่ว่าจะในที่แจ้งหรือที่ส่วนตัว จะได้ถูกเปิดเผยแก่เจ้า แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่เจ้าไม่รู้มาก่อนก็ตาม คำกล่าวของเจ้าในบทกวีนี้จะไม่เป็นเท็จ บัดนี้เจ้าจงประพันธ์รจนาเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ของพระรามนี้ เป็นโศลกให้ชื่นฤทัยเถิด.  

       ใบบางคราว กวีมหากาพย์เองก็จะแนะนำรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงและรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเรื่องเล่าของพวกเขา ซึ่งดูเหมือนจะให้กลิ่นอายของข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เหล่ากวีกำลังรายงาน ตัวอย่างที่น่าสนใจนี้สามารถพบได้ในศานติบรรพ ของมหาภารตยุทธ (หน้าที่ 227) ที่ซึ่งธรรมบุตรยุธิษฐิระเกิดความโศกเศร้าต่อการเข่มฆ่าหมู่นักรบแทบทั้งหมดในมหาสงครามภารตะ มีการแจกแจงนับจำนวนผู้เสียชีวิตและสูญหายทั้งหมดอย่างแม่นยำผิดปกติโดยฤๅษีวฺยาส. รวมถึงการเสียชีวิตของนักรบชั้นยอดคนสำคัญจากทั้งสองฝ่าย ฤๅษีวฺยาสได้นับการสูญเสียโดยรวมผู้เสียชีวิตที่ 1,660,020,000 นาย และมี 24,165 นายที่สูญหาย ซึ่งอาจจะมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของโลกในขณะที่มหากาพย์ได้รจนาขึ้น ซึ่งฤๅษีวาลมีกิก็ให้ข้อมูลและการแจกแจงรายละเอียดในบทกวีของท่านในลักษณะเดียวกัน.

       หากเป็นเช่นนี้แล้ว ดังนั้นผู้ประพันธ์ หรือเหล่ากวีนักประวัติศาสตร์ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาทั้งหมดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานนักวิชาการประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้ นั่นคือ ตำแหน่งที่ตั้ง การนำมาใช้งาน และการรับรองความถูกต้องของแหล่งที่มา. ในทางกลับกัน การรับรู้เรื่องราวที่เหนือธรรมชาติ การเข้าถึงเหตุการณ์ที่ซับซ้อนทั้งหมดที่เหล่าปราชญ์ฤๅษีได้รายงานโดยตรงและไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และแรงบันดาลใจจากสวรรค์ ปราชญ์ฤๅษีเหล่านี้ได้รับการมองว่าสามารถถ่ายทอดความรู้เป็นบทกวีหรือโศลกกึ่งดนตรีเพื่อดึงดูด สร้างความบันเทิงเริงรื่น และให้ความกระจ่างในวงกว้างแก่ผู้เสพ ผู้ชม ผู้อ่าน และผู้สดับ. จากนั้นผลงานเหล่าปราชญ์ก็สามารถถ่ายทอดให้บรรดาผู้เสพงานประพันธ์ได้รับรู้ถึงการผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์ของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการ การศึกษาทางสังคม การเมือง และธรรมะทางด้านจิตวิญญาณ. โดยไม่จำต้องคำนึงถึงความผันแปรของบทกวีที่สำคัญที่ปรากฎในผลงานอันยอดเยี่ยมเหล่านี้ และความผันแปรที่เปิดโล่งในการเล่าขานมากมายสืบมา บทกวีเหล่านี้ได้ปลูกฝังลงยังบทกวีที่มีกลิ่นเฉพาะของอำนาจที่ไม่มีใครเทียบได้และเป็นผลให้การบันทึกเจียรจานนั้นเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการเข้าแทรกแซงโดยตรงขององค์พระวิษณุผู้เป็นเทพอันสูงสุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติด้วยการอวตาร "การกลับชาติมาเกิด" ดั่งเช่นพระรามและพระกฤษณะ. และไม่ต้องสงสัยเลยว่าการผสมผสานที่ไม่ธรรมดาของรูปแบบประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงความรู้สึกชาตินิยมกับเรื่องที่เล่าขานกันมาซึ่งกระตุ้นอารมณ์ด้านความรักและสงคราม วาทกรรมเกี่ยวกับความคิดทางศีลธรรมและปรัชญาบทกวีที่มีเสน่ห์ การทำให้เกิดโครงสร้างทางสังคมเชิงปทัสถานในอุดมคติ ทำงานเก่ากาลเหล่านี้ยังคงกระตุ้นความหลงใหลอย่างแรงกล้าได้จวบจนถึงปรัตยุบัน.

หมายเหตุ คำอธิบาย.
01. เทรามิตริ (सौमित्रि - Saumitri) หมายถึง พระลักษมณ์ อนุชาของพระราม ผู้เป็นบุตรของท้าวทศรถและนางสุมิตรา.
02. ไวเดหิ (वैदेही - vaidehī) เป็นอีกชื่อหนึ่งของนางสีดา อ้างตามรามายณะในแง่มุมของศาสนาเชน.

1.
2.
หน้าที่ 6
       ซึ่งในเรื่องนี้ เราควรสังเกตได้ว่าทั้งรามายณะและมหาภารตยุทธนั้น ทั้งสองมีจุดเชื่อมต่อที่น่าสนใจและสำคัญในทางประวัติศาสตร์ทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู. แม้ว่าทั้งสองมหากาพย์จะเป็นผลงานชุดแรก ที่เฝ้ามองรูปแบบความเชื่อและวัตรปฏิบัติของชาวฮินดูที่เกิดขึ้นใหม่และในท้ายที่สุดก็มีความโดดเด่นท้าทาย นั่นคือ การอุทิศตนเพื่อบูชาในวิหารของทวยเทพที่ได้เลือกไว้แล้วหรือเป็นอิษเทวดา (इष्ट देवता - iṣṭadevatā - เทพเจ้าอันควรแก่ความชอบของแต่ละบุคคล) - อันเป็นโลกที่กวีได้แสดงตน และเหล่านักแสดงของตัวละครเกือบทั้งหมดได้ปฏิบัติในลัทธิหรือพิธีกรรมการสังเวย (ยัญพิธี - yajña) อันเก่าแก่ต่อบรรดาสมาชิกในวิหารแห่งพระเวท. ดังนั้น แม้ว่าอวตารของมหากาพย์หลัก ทั้งพระราม และพระกฤษณะ จะได้รับการยกย่องหลายครั้งว่าเป็นการปรากฎตัวขององค์ภควาน ทว่าบางครั้งความเป็นพระผู้เป็นเจ้าของเทพทั้งสองก็ถูกบดบัง และไม่ได้รับการยอมรับจากตัวละครในทั้งสองมหากาพย์.

       ตามที่ได้บรรยายไว้แล้วก่อนนั้น โดยเฉพาะความเป็นเทพของพระรามในวรรณกรรมที่ฤๅษีวาลมีกิได้รจนาไว้นั้น สำหรับทุกท่านแล้ว เรื่องนี้ก็ควรจะต้องบดบัง. เพื่อที่ว่าในที่สุดเมื่อพระรามบรรลุภารกิจในการเป็นอวตารมาปราบยุคเข็ญด้วยการสังหารท้าวราพณ์ที่ชั่วร้าย และในที่สุดเหล่าเทพยดาได้ลงมาจากสวรรค์เพื่อสรรเสริญองค์ราม ตัวพระองค์รามเองก็แสดงให้เห็นว่าพระองค์มิได้รู้ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง โดยสังเกตได้ว่าพระรามจะแสดงตนว่าทรงเป็นวีรบุรุษมาตลอด. เป็นเพราะเนื่องในบริบทนี้ โลกแห่งมหากาพย์จึงถูกครอบงำโดยนักพรตพระเวทและเหล่าผู้ศรัทธาในพิธีกรรม เช่นเดียวกับกลุ่มฤๅษีป่าและโยคีที่มีแนวคิดทับซ้อนกัน. นับเป็นโลก (แห่งเวทมนตร์) ที่เชื่อในระดับสากลว่านักบวชนักพรตฤๅษีชีไพรกษัตริย์หรือเทพ ไม่ว่าจะผ่านการปฏิบัติพิธีกรรม (yajña - ยัญพิธี หรือ การบูชายัญ) หรือการปฏิบัติอย่างเข้มงวดเป็นเวลานาน (तपस् - ตบะ - tapas)01 จักได้รับพลังเหนือธรรมชาติอันมหาศาล ที่ทำให้พวกเขาเป็นที่เคารพและน่าเกรงขาม ในส่วนของกษัตริย์และแม้แต่ทวยเทพเองก็จะปลดปล่อยพลังงานเหล่านี้ในลักษณะของพรอันวิเศษและคำสาปที่น่ากลัว. ในรามายณะนั้นมีตัวอย่างมากมาย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของบทกวี เมื่อท้าวทศรถได้ตอบอย่างไม่เต็มใจนักที่จะให้พระรามกับพระฤๅษีวิศวามิตรไปยังอาศรมของพระองค์ต่อเมื่อได้รับการคุมคามโดยปราชญ์ด้วยคำสาปร้ายแรง จนกระทั่งตอนท้ายของรามายณะ เมื่อพระลักษมณ์ฝืนคำสั่งของพระราม ที่จะต้องเสียทรัพย์เงินทองจำนวนมากเพื่อหลีกเลี่ยงคำสาปหายนะที่คล้ายคลึงกัน ในส่วนของทุรวาส (दुर्वासा - Durvāsas) ปราชญ์ฤๅษีผู้มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายอีกท่านหนึ่ง.

 
1.
       ในสังคมของชาวอารยันก็ได้รับแนวคิดตามระบบในสองมหากาพย์ เริ่มแรกระบบพระเวทได้กล่าวถึงชนชั้น (वर्ण - วรรณะ - varṇa) ทางสังคมทั้งสี่ (รายละเอียดดูในที่มาและคำอธิบาย 01 ดร.อัมเบดก้าร์) โดยมีชนชั้นปุโรหิต (วรรณะพราหมณ์ - ब्राह्मण- brāhmaṇa) อยู่ด้านบนสุด ตามมาด้วยชนชั้นนักรบผู้ปกครอง (วรรณะกษัตริย์ - क्षत्रिय - kṣatriya) ตามมาด้วยชนชั้นทำการค้าพาณิชย์และเกษตรกรรม (วรรณะแพศย์ - वैश्य - vaiśya) และท้ายสุดชนชั้นที่ใช้แรงงาน (วรรณะศูทร - शूद्र - śūdra) ซึ่งต้องอุทิศตนรับใช้สังคมชั้นสูงทั้งสามชนชั้น. ยกเว้นเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น สัตว์ เทพเจ้า ปีศาจ และสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติอื่น ๆ และกลุ่มชนหนึ่งหรือสองกลุ่มที่มีลักษณะเด่นชัดในการเล่าเรื่อง คือชนชั้นสูง (ผู้ปกครอง) และบรรดานักบวช. ซึ่งกลุ่มหลังนี้ทำหน้าที่รับใช้กษัตริย์ด้วยการชี้นำทางจิตวิญญาณและพิธีกรรม มีอำนาจในการข่มขู่และบังคับผู้อุปถัมภ์กษัตริย์ (หรือชนชั้นปกครอง) ดังนั้นนิทานเตือนใจกษัตริย์หลายเรื่องที่เหล่าขานในรามายณะ โดยเฉพาะกัณฑ์สุดท้าย แสดงให้เห็นถึงชะตากรรมอันเลวร้ายที่รอคอยแม้แต่กษัตริย์ที่ทรงอำนาจสูงสุด หากพวกเขารุกรานหรือละเลยเหล่าปราชญ์พราหมณ์. ตามบรรทัดฐานในประเพณีโบราณของภารตะ การเป็นสมาชิกในชนชั้นทางสังคมที่ระบุเฉพาะนั้น ได้มาจากการถือกำเนิด และโดยทั่วไปแล้วถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงภายในช่วงชีวิตที่กำหนด แต่ก็อาจมีข้อยกเว้นได้ไม่กี่กรณี. มีตัวอย่างหนึ่งพบในพาลกัณฑ์ ที่เล่าถีงอาชีพเดิมของฤๅษีวิศวามิตร (विश्वामित्र  - Viśvāmitra) ซึ่งเป็นเรื่องราวเพียงเรื่องเดียวในวรรณกรรมเกี่ยวกับกษัตริย์ที่สถาปนาตนเองขึ้นสู่สถานะอันสูงส่งเป็นฤๅษีพราหมณ์ผ่านความเพียรอันพิเศษในเส้นทางการบำเพ็ญตบะที่เข้มงวดที่สุดเป็นเวลานานหลายศตวรรษ. แต่ก็มีเรื่องราวทำนองเดียวกันนี้ที่ให้ตัวอย่างของวิถีสังคมที่ตรงข้ามกันออกไปกับเราคือ: กษัตริย์พระองค์หนึ่งพระนามว่า ตริศาญกุ (त्रिशं̄कु - Triśan̄ku) ถูกคำสาปของมหาคุรุของพระองค์ให้สูญเสียสถานะกษัตริย์แปลงสู่วรรณะจัณฑาล (चण्डाल - caṇḍāla) ซึ่งเป็นบุคคลนอกสังคมที่ต่ำต้อยที่สุด.

       บรรดามนุษย์ที่ตกอยู่นอกระบบวรรณะจะถูกกล่าวถึงเป็นครั้งคราวเท่านั้น นอกจากพระเจ้าตริศาญกุแล้ว ก็ยังมี นางมันธรา (मन्थरा -
Mantharā) ข้ารับใช้ของนางไกยเกษี (कैकेयी - Kaikeyī) ราชินีองค์รองของท้าวทศรถ ที่วางแผนร้าย ใช้เล่ห์เหลี่ยมกับนายหญิงของตนเพื่อเนรเทศพระราม. โดยทั่วไปแล้วบุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการยกย่องมากนัก. แม้แต่ประชาราษฎร์ที่ภักดีต่อพระราม ที่ปรากฎในอโยธยากัณฑ์ต่างเต็มใจที่จะติดตามการลี้ภัยของวีรบุรุษของพวกตนไปด้วย ส่วนในอุตตรกัณฑ์ก็ระบุว่าพวกเขาพร้อมที่จะไปสู่สวรรคโลกด้วย ซึ่งพวกมนุษย์นอกวรรณะข้างต้นนี้ได้รับการพรรณนาเป็นพวกหลอกลวงและวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ที่เพิ่งได้รับการสถาปนาว่าเป็นคนมีกิเลสตัณหาและทุจริต. ข้อยกเว้นที่สำคัญเพียงอย่างเดียวสำหรับการดูถูกเหยียดหยามคนธรรมดาสามัญนี้พบได้ในรูปของพรานกุขัน หรือหัวหน้าเผ่าคุหะ (गुह  - Guha) ซึ่งเป็นเพื่อนและพันธมิตรของราชวงศ์โกศลัญ (Kosalan) ผู้ซึ่งให้ที่พักพิงแก่พระรามพร้อมกับชาวเผ่าในป่าขณะที่พระองค์ถูกเนรเทศ และต่อมายังช่วยเหลือท้าวพรตในภารกิจเพื่อนำพระเชษฐากลับมาปกครองราชอาณาจักร และนางชบารี02 หญิงรับใช้ที่มีสถานะทางสังคมคลุมเครือซึ่งต้อนรับพระรามและพระลักษมณ์อย่างเต็มใจสู่อาศรมร้างของเจ้านายพราหมณ์ผู้ล่วงลับของเธอ สมาชิกคนหนึ่งของชนชั้นศูทรที่ต่ำต้อยซึ่งระบุอย่างชัดเจนในงานนี้ คือฤๅษีศัมพูกะ03 นักพรตผู้โชคร้าย ถูกประหารชีวิตโดยด่วนเนื่องจากความกล้าในการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาที่สงวนไว้สำหรับชนชั้นทางสังคมที่สูงกว่าสามชนชั้น (วรรณะ).
พระรามสังหารฤๅษีศัมพูกะ ผู้อยู่ในวรรณะศูทร, ที่มา: sanskritreadingroom.wordpress.com, วันที่เข้าถึง: 8 กุมภาพันธ์ 2566.
1.
หมายเหตุ คำอธิบาย.
01. ตบะ (तपस् - Tapas) แปลว่า ความเพียรอันเป็นเครื่องเผาผลาญกิเลส แผลงเป็น ดาบส ผู้บำเพ็ญเพียร เผากิเลสด้วยวินัยยิ่ง.
02. นางชบารี หรือ ศบารี (शबरी - Śabarī) หรือ ตปสินีชบารี (ตปสินี หรือ ดาบสินี -หญิงผู้บำเพ็ญตบะ เผากิเลส) หมายถึง สตรีชาวเผ่าที่อาศัยอยู่ในป่า พระรามทรงให้การช่วยเหลือเธอในช่วงที่ทรงอยู่ในป่า ชีวิตในอดีต ในอดีตนางชบารีทรงมีนามว่านางมลินี เป็นพระธิดาเพียงคนเดียวของพระเจ้าจิตรกะวาจาแห่งคนธรรพ์ วิติโหตรเป็นปราชญ์ผู้รอบรู้และได้แต่งงานกับพระนาง เมื่อวิติโหตรกำลังจดจ่ออยู่กับการพิจารณาพระพรหม พระมลินี (ต่อมาคือนางชบารี) ได้มีชู้กับพรานป่าชื่อกัลมาศ ซึ่งวิติโหตรสามีของนางก็สาปแช่งนางชบารีว่า “เมื่อท่านกลายเป็นผู้รักชอบพรานป่าแล้วไซร้ ท่านก็กลายเป็นพรานป่าไปเถิด” (ดูบทความฉบับสมบูรณ์ใน เรื่องของชบารี จากสารานุกรมปุราณะ โดยเวตตัม มณี).
03. ฤๅษีศัมพูกะ บ้างก็เรียก ศัมพูก (शम्बूक - Śambūka) เป็นมุนีในวรรณะศูทร (Śūdra muni) ในรัชสมัยของพระรามนั้น เด็ก ๆ จำนวนมากเสียชีวิตในชนบท และพ่อแม่หลายคนร้องไห้ต่อหน้ากษัตริย์เกี่ยวกับการสูญเสียลูก ๆ ของพวกเขา ตามคำแนะนำของฤๅษีวสิษฐ์ (वशिष्ठ - Vasiṣṭha) พระรามทรงซักถามว่ามีใครทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับสถานะในชีวิตของพระองค์หรือไม่ พระรามทรงสำรวจพื้นที่จากทางอากาศด้วยบุษบกวิมาน และระหว่างการสำรวจ พระองค์ทรงพบฤๅษีศัมพูกะ. ซึ่งเป็นฤๅษีในวรรณะศูทรที่ห้อยหัวลงและสูดดมควันจากไฟที่จุดไว้ใต้ร่างของตน ดังนั้น เมื่อทรงทราบว่าตบะของศัมพูกะมุนีเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็ก ๆ เสียชีวิต พระรามจึงทรงสังหารฤๅษีศัมพูกะทันที (อ้างถึง กัมพะ รามายณะ อุตตรกัณฑ์).

1.
2.
หน้าที่ 7

มรดกของมหากาพย์รามายณะของฤๅษีวาลมีกิ

       ป็นการยากที่จะประเมินการแพร่หลายและอิทธิพลของมหากาพย์รามายณะของมหาฤๅษีวาลมีกิ และมีการนำมาใช้แสดง นำเสนอในภายหลังนับไม่ถ้วนในวรรณกรรม ศาสนา ศิลปะ และภาพยนตร์ และชีวิตพื้นบ้านของวัฒนธรรมและอารยธรรมในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ครอบคลุมถึงประเทศ ภาษา ศาสนา และสื่อเท่านั้น แต่ยังได้เข้ามาเติมเต็มจินตนาการทางวัฒนธรรมของภูมิภาคนี้ด้วย ตั้งแต่ผลงานปรัชญาที่หายากที่สุด เช่น ตำราเวทลึกลับ โยคะวสิษฐ์ - มหารามายณะ (योगवासिष्ठमहारामायण - Yogavasiṣṭha-mahārāmāyaṇa) และบทกวีมหากาพย์ที่ผสมผสานไวยากรณ์อย่างราวณวธะ (रावणवध - Rāvaṇavadha) หรือที่เรียกว่า ภัฏฏิกาพย์ (भट्टिकव्या - Bhaṭṭikavya) ไปจนถึงระดับวัฒนธรรมยอดนิยมบางส่วนที่ใคร ๆ ก็จินตนาการได้. ตัวอย่างเช่น โฆษณาของโดมิโน พิซซ่า (Domino's Pizza) ในระหว่างการแสดงละครรามายณะ เมื่อนักแสดงที่แทนตัวเป็นท้าวราพณ์กำลังอุ้มนางสีดาเพื่อกลับกรุงลงกาอยู่นั้น พนักงานส่งพิซซ่าก็เข้ามาในโรงละคร ราชารากษสท้าวราพณ์ก็ปล่อยนางสีดา แล้วตรงไปรับพิซซ่า. หรือมองจากการ์ตูนที่ปรากฏในฉบับมุมไบเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาของ Times of India ที่มีชื่อเสียง ซึ่งล้อเลียนคดีของผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจแห่งหนึ่ง ที่ภรรยาปฏิเสธที่จะไปกับเขาเมื่อเขาถูกย้ายไปยังตำแหน่งในหมู่เกาะอันดามันที่ห่างไกล สามียืนอยู่ต่อหน้าผู้พิพากษาเพื่อบังคับให้ภรรยาทำตามแบบอย่างของสีดา แล้วพูดกับผู้พิพากษาว่า “ท่านผู้พิพากษา โปรดติดตามผมทาง Twitter หน่อยไม่ได้หรือ.”

       ในหลาย ๆ ด้าน อิทธิพลของงานวรรณกรรมภารตะโบราณอันเป็นต้นแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป จนกระทั่งในยุคสมัยใหม่ งานวรรณกรรมนี้มีอิทธิพลอย่างไม่มีใครทัดเทียมกับงานวรรณกรรมอื่น ๆ อีกหลายฉบับที่ตามมาต่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและการเมืองของภารตะที่ขับเคลื่อนด้วยศาสน.า ผลกระทบนี้เกิดจากองค์ประกอบหลายอย่างในเรื่องเล่ามหากาพย์ ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นพิเศษอยู่สองประการ. ประการหนึ่งคือการกล่าวถึงช่วงเวลาแห่งอุดมคติในตำนานที่ยาวนานนับพันปีในรัชสมัยของพระราม หรือที่เรียกว่า รามราชย์ (रामराज्य - Rāmarājya) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า. ในสังคมจำนวนมากที่เผชิญกับความเครียดของโลกสมัยใหม่ การอ้างอิงเหล่านี้ก่อให้เกิดความคิดถึงทางวัฒนธรรม ความปรารถนา และการหวนคิดถึงสวรรค์ที่สูญหายไปซึ่งจินตนาการว่าสามารถกอบกู้กลับคืนมาได้ และเรียกสังคมที่สมบูรณ์แบบซึ่งชาวฮินดูหลายคนเชื่อว่ามีอยู่ก่อนความเครียดและความอัปยศอดสูจากการรุกราน การปกครองของลัทธิทะเลทราย การล่าอาณานิคมของอังกฤษ และโลกาภิวัตน์.

       แม้จะมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความเป็นสากลของคานธี แต่องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งของมหากาพย์พระรามคือการสร้างวีรบุรุษนักรบผู้ทรงพลังและเป็นชายชาตรี ซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผู้มีภารกิจปกป้องศาสนา วัฒนธรรม และสังคมของศาสนาพระเวท-ฮินดู โดยกำจัดกองกำลังต่างด้าวและปีศาจออกไปจากโลก ด้วยการเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยมฮินดูสมัยใหม่ ในช่วงเวลาเดียวกับที่คานธีกำลังเขียนเกี่ยวกับการเมืองระหว่างชุมชนในภารตะที่เป็นอุดมคติและกลมกลืน นักการเมืองบางคนเริ่มมุ่งเน้นไปที่แนวคิดที่ว่าชาวลัทธิทะเลทรายในภารตะ (รวมถึงนักล่าอาณานิคมและผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ในเวลาต่อมา) เป็นศัตรูและรุกรานผู้อื่นในสังคมฮินดูที่โดยพื้นฐานแล้วมีแต่ธรรมะ ในมุมมองนี้ รามราชย์ จึงถูกมองว่าเป็นการฟื้นฟูราษฎระ (राष्ट्र - Rāṣṭra) ดั้งเดิมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือ “รัฐ” ที่จัดตั้งขึ้นโดยกษัตริย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทำภารกิจในการกวาดล้างกองกำลังชั่วร้ายและอสูรจากภายนอกให้หมดสิ้นไป. ในวารสาร Young India รายสัปดาห์ของคานธี เมื่อ พ.ศ.2472 (ค.ศ.1929) ได้เขียนไว้ว่า:
ที่มา: popgazine.com, วันที่สืบค้น 24 กุมภาพันธ์ 2560.

       ด้วยคำว่ารามราชย์นั้น ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงฮินดูราช. ข้าฯ หมายถึงรามราชย์ราษฎร์อันศักดิ์สิทธิ์ (Rāmarājya Dive Raj) หรืออาณาจักรแห่งพระเจ้า. สำหรับข้าฯ พระราม และ ราฮิม (คำเรียกของลัทธิทะเลทราย) นั้น คือเทพองค์เดียวกัน. ข้าฯ ไม่ยอมรับพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระเจ้าองค์เดียวที่มีความสัตย์จริงและชอบธรรมเท่านั้น. ไม่ว่าพระรามในจินตนาการของข้าฯ จะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้หรือไม่ ซึ่งอุดมคติโบราณของรามราชย์ที่เป็นประชาธิปไตยอันแท้จริงอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งพลเมืองในระดับต่ำล่างสุดนั้นก็สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง. แม้แต่สุนัขก็ยังถูกกวีบรรยายว่าได้รับความยุติธรรมภายใต้รามราชย์นี้01.
---------------

01. คานธี พ.ศ.2472: หน้าที่ 305.
1.
2.
หน้าที่ 8
       ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวโน้มดังกล่าวมักจะมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงชุมชนขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่ฮินดูของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวลัทธิทะเลทราย กับรากษสของเรื่องราวมหากาพย์. ตามคำกล่าวของชาตินิยมฮินดูหัวรุนแรง การเปรียบเทียบนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ พ.ศ.2533 หรือ ค.ศ.1990 เมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างชุมชนที่ยังคงคุกรุ่นมานานเกี่ยวกับมัสยิดในกรุงอโยธยาในปัจจุบัน ซึ่งชาวฮินดูหลายคนเชื่อว่ามัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นบนซากปรักหักพังของวัดที่ตั้งอยู่บนสถานที่ประสูติของพระราม. การรื้อถอนมัสยิดแห่งนี้ซึ่งเรียกว่ามัสยิดบาห์รีโดยกิจกรรมของชาวฮินดูในปี พ.ศ.2535 หรือ ค.ศ.1992 ส่งผลให้เกิดการจลาจลรุนแรงทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวลัทธิทะเลทราย.

       ความต้องการที่จะสร้าง – หรือในมุมมองของชาวฮินดูคือสร้างใหม่ – วัดพระรามบนพื้นที่ดังกล่าวได้สร้างความปั่นป่วนให้กับชีวิตทางศาสนาและการเมืองของภารตะมาโดยตลอดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา. ความต้องการดังกล่าวได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนการขึ้นสู่อำนาจ ทั้งในระดับรัฐและระดับกลาง ของพรรคภารติยาชนตะ (भारतीय जनता - Bhāratiyā Janāta Party - BJP) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมฮินดูที่เข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันปกครองภารตะอยู่. แนวโน้มนี้เดิมทีมีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษในรัฐที่พูดภาษาฮินดีทางตอนเหนือ ซึ่งความศรัทธาต่อพระราม – ตามที่ปรากฏในรามายณะฉบับภาษาฮินดีโบราณ (अवधि - อวัธ - Avadhī) ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเมื่อ 16 ศตวรรษที่ผ่านมา หรือรามจริตมานัส (रामचरितमानस - Rāmacaritmānas) ของตุลสีทาส (तुलसीदास - Tulsīdās) กวีและนักบุญ. อย่างไรก็ตาม จากการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2561 (ค.ศ.2018) แสดงให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศ. เมื่อไม่นานนี้ ในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) ศาลฎีกาของอินเดียได้ตัดสินว่าการก่อสร้างวัดพระรามซึ่งปรารถนามานานสามารถดำเนินการต่อไปได้. ในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) นายกรัฐมนตรีได้วางอิฐเงินสำหรับฐานรากของอาคารวิหารตามพิธีกรรม.

       ความเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการเมืองของรามายณะของวาลมีกีและรามายณะอีกหลายฉบับในเวลาต่อมาในอินเดียและทั่วเอเชียใต้ เป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องราวอันยิ่งใหญ่นี้ยังคงดำรงอยู่ในใจและความคิดของผู้คนกว่าพันล้านคนทั่วโลกในปัจจุบัน. เมื่ออ่าน ดู และฟังเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของฤๅษี เราจะพบกับเรื่องราวที่สร้างกำลังใจและความบันเทิง และได้รับข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับอารยธรรมที่เก่าแก่และน่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งของโลก.




แหล่งอ้างอิง:
01จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.
03จาก. "บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์," พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6, ISBN 978-616-437-150-7, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, มีนาคม 2565, นนทบุรี.
04จาก. "รามเกียรติ์ ร้อยแก้ว ประกอบคำกลอน," พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ฉบับสมบูรณ์, ถอดความโดย พิกุล ทองน้อย, ISBN 978-616-437-071-5, พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2562, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, นนทบุรี.



 
info@huexonline.com