ด้านบนของทับหลัง "การต่อสู้ระหว่างพญาอากาศพาลีและสุครีพ" ที่กู่พระโกนา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด, ถ่ายไว้เมื่อ 17 มิถุนายน 2565
A01. บทนำ
รามายณะ: นิรันดร์มหากาพย์ แห่งภาระหน้าที่ ความรัก และการไถ่คืน
First revision: Jul.22, 2022
Last change: Oct.17, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรคโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
1.
หน้าที่ 1
รามายณะ (เทวนาครี: रामायण, Rāmāyaṇa) เป็นวรรณคดีประเภทมหากาพย์ของอินเดีย เชื่อว่าเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป แต่ผู้ได้รวบรวมแต่งให้เป็นระเบียบครั้งแรกคือ ฤๅษีวาลมีกิ01. เมื่อกว่า 2,400 ปีมาแล้ว โดยประพันธ์ไว้เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ภาษาสันสกฤต (ด้วยตัวอักษรเทวนาครี) เรียกว่า โศลก จำนวน 24,000 โศลกด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 7 ภาค (กาณฑ์ หรือ กัณฑ์) ดังนี้
มหาฤๅษีวาลมีกิ กำลังเขียนรามายณะเป็นภาษาสันสกฤตด้วยตัวอักษรเทวนาครี, ที่มา: time.astrosage.com, วันที่เข้าถึง 25 กรกฎาคม 2565.
1.
1. พาลกัณฑ์ (Bala Kanda - The Bālakāṇḍa) - การกำเนิดของพระราม ยุทธการครั้งแรก การอภิเษกกับนางสีดา.
2. อโยธยากัณฑ์ (Ayodhya Kanda - The Ayodhyakāṇḍa) - พระรามถูกเนรเทศ.
3. อรัณยกัณฑ์ (Aranya Kanda - The Araṇyakāṇḍa) - ช่วงเวลานับปีที่พระรามถูกเนรเทศและ การลักพาตัวนางสีดา โดยท้าวราพณ์ มหารากษส.
4. กีษกินธกัณฑ์ (Kishkindha Kanda - The Kiṣkindhakāṇḍa) - พระรามพบกับพันธมิตรองค์สำคัญ พญาวานรสุครีพ ซึ่งจะช่วยพระองค์กลับคืนสู่กรุงอโยธยา.
5. สุนทรกัณฑ์ (Sundara Kanda - The Sundarakāṇḍa) - หนุมาน (ชาญสมร) ซึ่งเป็นผู้ให้คำแนะนำพญาสุครีพ ต่อมากำแหงหรือคำแหงหนุมานเป็นผู้ติดตามพระราม และส่งข่าวสารไปยังนางสีดา.
6. ยุทธกัณฑ์ (Yuddha Kanda02. - The Yuddhakāṇḍa) - มหายุทธระหว่างพระรามและท้าวราพณ์ (ทศกัณฐ์-รามกียรติ์)
7. อุตตรกัณฑ์ (Uttara Kanda - The Uttarakāṇḍa) - การถวายให้พระรามกลับมาเป็นกษัตริย์ครองกรุงอโยธยา.
ในมุมมองของชาวตะวันตกนั้นมองว่ามีส่วนคล้ายกับมหากาพย์ของกรีกอย่างอีเลียด (the Iliad) และโอดิสซีย์ (the Odyssey) ที่ประพันธ์โดยโฮเมอร์ (Homer) และอีนีอิด (the Aeneid) ที่ประพันธ์โดยชาวโรมันที่ชื่อเวอร์จิล (Virgil) หลายประการ.
---------------
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ฤๅษีวาลมีกิ (वाल्मीकि - Vālmīki) ในรามเกียรติ์เรียกฤๅษีวาลมีกิว่า วัชมฤคี.
02. ทางตอนเหนือของอินเดีย จะพบคัมภีร์ที่เรียกกัณฑ์ที่หกนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า ลังกากัณฑ์ (Lañkākāṇḍa).
1.
2.
หน้าที่ 2
ซึ่งในแต่ละบทหรือกัณฑ์นั้น มีการแบ่งเป็นบทย่อยที่เรียกว่า sarga "सर्ग - สรรค [สัก] สก สรฺค" แปลว่า การสร้าง (creation) ซึ่งในบล็อกนี้จะใช้คำว่า "สรรค" (สะ-ระ-คะ).
คำว่า "รามายณะ" หมายถึงความรุดหน้า หรือ การผจญภัย หรือ การเดินทางของพระราม รามายณะมีความแตกต่างจากมหาภารตยุทธตรงที่ รามายณะมีศูนย์กลางอยู่ที่พระราม แม้ว่ามีการกล่าวถึงตัวละครท่านอื่น ๆ บ้างก็ตาม รามายณะเป็นเรื่องราวของสุริยวงศ์01. ในขณะที่มหาภารตยุทธเป็นเรื่องราวของจันทรวงศ์02. ซึ่งสุริยวงศ์นั้นเริ่มต้นด้วยอิกษวากุ (इक्ष्वाकु - Ikṣvāku) (เป็นพระนามของพระโอรสหนึ่งในสิบพระองค์ของพระเจ้ามนูไววัสวัต และเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์อิกษวากุกับราชอาณาจักรโกศลในอินเดียโบราณ) จบลงด้วย พฤหัทพละ (Brihadbala) (เป็นฝ่ายเการพ ในมหากาพย์มหาภารตะ การสิ้นชีพของอภิมันยุ บุตรของอรชุน ฝ่ายปาณฑพ ในสงครามทุ่งคุรุเกษตร) แม้ว่าเนื้อเรื่องจะโยงยาวไปถึงสุมิตรา (Sumitrā - เป็นมเหสีองค์ที่สามของพระเจ้าทศรถ ขับลำนำโดยพระเจ้ามหาปัทมนันทะ -Mahapadma Nanda - ปฐมกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์นันทะ ราว 345-321 ก่อนคริสตกาล).
---------------
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. สุริยวงศ์ (सूर्यवंश - Sūryavaṃśa or Suryavamsha) หมายถึง วงศ์พระรามในรามายณะ.
02. จันทรวงศ์ (चन्द्रवंश - Candravaṃśa or Chandra Vamsha) หมายถึง วงศ์ในวรรณะกษัตริย์ของเหล่าพี่น้องในมหาภารตยุทธ.
1.
2.
หน้าที่ 3
ในภาษาสันสกฤตนั้น มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระรามซึ่งพบใน รามายณะของมหาฤๅษีวาลมีกิ, อัธยาทมะ รามายณะ01., โยคะวาสิษฏะรามายณะ, วนบรรพในมหาภารตยุทธ, ราฆุวงศ์ของมหาฤๅษีกาลิทาส, อุตรรามจริตของมหาฤๅษีภวภูติ, และ ภัฏฏิกาพย์.
รามายณะนี้มีการจัดทำเป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาสันสกฤตอีกด้วย ดังเช่น
- ภาษาทมิฬก็มี รามาวตรัม (Rāmavataram) ประพันธ์โดย ฤๅษีกัมภาร์ (Rishi Kambhar) ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 นั้น มักจะเรียกกันทั่วไปว่า กัมบารามยนัม (the Kambaramayanam).
- ในแคว้นอัสสัมก็มี สัปตกัณฑ์ รามายณะ (the Assamese Saptakanda Rāmāyaṇa) ซึ่งประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14.
- ในแคว้นเบงกอล มีการประพันธ์เป็นภาษาเบงกลี ชื่อว่าศรีราม-ปัญชลี {Sri- Rāma-Panchali (or Pā̃cālī)}.
- มีการประพันธ์เป็นภาษาโอริยา (Oriya) หรือภาษาโอเดีย (Odia) ที่ใช้สื่อสารกันมากในรัฐโอริศาหรือรัฐโอฑิศา (Odisha) (เดิมเรียก Orissa) ชื่อ กฤติภาสี รามายณะ {the Kṛittibāsī (or Kṛttivāsī) Rāmāyaṇa} ประพันธ์โดย กฤติภาส อชชะ (ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14-15) และแปลเป็นภาษาโอเดียโดยพลรามทาส (Baḷarāma Dāsa) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 15-16.
- ในภาษามราฐี (Marathi) (มักสื่อสารกันแถบรัฐมหาราษฏระ) ก็มี ภควต-รามายณะ (Bhavartha-Rāmāyaṇa) ซึ่งประพันธ์โดยศรีเอกนาธ {Saint (or Shri) Ekanatha} และ รามจริตมานัส (Rāmacharitmānas - บึงหรือหนองน้ำแห่งกรรมของพระราม) ประพันธ์โดยตุลซิทาส บ้างก็เรียก ตุลสีทาส (Tulsidas) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16.
- ส่วนรามายณะที่เป็นคนไทยรู้จักกันทั่วไปนั้น จะมีชื่อว่ารามเกียรติ์ (Ramakien - หรือเกียรติของพระราม) โดยปราชญ์บางท่านกล่าวว่ามาจากทศรถชาดก (the Daśharatha Jataka) ที่เป็นการพรรณนาถึงรามายณะในพระพุทธศาสนาช่วงแรก ๆ .
---------------
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. อัธยาทมะ รามายณะ (अध्यात्म रामायण - รามายณะทางจิตวิญญาณ - Adhyātma Rāmāyaṇa) นั้นประพันธ์ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13-15 มีแนวคิดเกี่ยวพระศิวะ มหาเทพผู้ทำลาย และนางปารวตี (पार्वती - Pārvatī) พระชายา นางปาวรตีซักไซ้มีคำถามต่อพระศิวะให้เล่าเรื่องของพระราม พระศิวะจึงเล่าเรื่องการสนทนาระหว่างนางสีดา พระราม และหนุมานให้นางฟัง หลังจากพระรามราชาภิเษกแล้ว พญาวานร (หนุมาน หรือ กำแหงหนุมาน) ก็นั่งเฝ้าพระราม เพื่อแสวงหาความรู้ พระรามขอให้นางสีดาสอนพญาวานรนี้ และพระรามก็ได้อธิบายถึงความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างตัวตนและพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด การตระหนักสำนึกที่จะทลายพันธนาการทั้งหมด. ในการนี้ พระรามซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ คำสอนของพระรามได้แสดงหนทางสู่ความหลุดพ้น และในฐานะที่เป็นพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด พระองค์ก็ได้รับอิสรภาพเช่นกัน.
1.
2.
หน้าที่ 4
"งานนิพนธ์ของฉันนั้น ล้วนปราศจากคุณธรรม ทว่ามีคุณธรรมที่มีชื่อเสียงขจรไปทั่วโลกเพียงหนึ่งเดียว...ในนั้นบรรจุชื่ออันยิ่งใหญ่ของพระราฆุ (พระราม)"
ในการกล่าวสรรเสริญพระราม, จากงานนิพนธ์ รามจริตมานัส (रामचरितमानस - Rāmacaritmānas) ของตุลสีทาส (तुलसीदास - Tulsīdās).
ภาพของตุลสีทาสซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ "รามจริตมานัส" โดยสำนักพิมพ์ศรีคงคา, ไก ฆาท, พาราณสี, พ.ศ.2492, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 21 กันยายน 2565.
หน่วยงานสำคัญในการวิจัยเกี่ยวกับมหากาพย์รามายณะ
ในระหว่างปี พ.ศ.2495-2518 นั้น มีสถาบันด้านตะวันออกแห่งเมืองบาโรดา (The Oriental Institute in Baroda (or Vadodara)) แห่งเมืองคุชราช ประเทศอินเดีย ภายใต้การกำกับดูแลของมหาราชาสยจิเรา (Maharaja Sayajirao) แห่งมหาวิทยาลัยบาโรดา ได้มีการศึกษาบันทึกต่าง ๆ ภาพประกอบ โคลงกลอน โศลก เรื่องเล่า ในแต่ละยุค มาจัดเรียงประกอบ ไม่มีความพยายามแยกแยะตัดทอนสิ่งที่มหากูรูในแต่ละยุคได้เรียบเรียงมา ข้อความต่าง ๆ ได้รับการปฏิบัติรวบรวมไว้ ในทำนองเดียวกัน เราได้กล่าวถึง "มหาฤๅษีวาลมีกิ" ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในฐานะผู้ประพันธ์.
ท่านผู้ศึกษาโปรดพิจารณาเถิดว่า มหาฤๅษีวาลมีกิเป็นผู้ประพันธ์ หรือ ท่านเป็นผู้รวบรวมประมวลเรื่องราวจากผู้ประพันธ์ต่าง ๆ มาเป็นมหากาพย์รามายณะ.
1.
2.
การกำหนดวันในการรังสรรค์มหากาพย์ "รามายณะ".
การกำหนดวันในการรังสรรค์มหากาพย์อันเป็นประเพณีนิยมนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเข้าใจเรื่อง "สี่ยุค"01. (การมีอายุของมนุษยชาติ). ได้กำหนดไว้ว่า รามายณะกำเนิดขึ้นในยุคที่สอง ราวหนึ่งแสนปีมาแล้ว (รามาสวามี สาสตรี นักประพันธ์ชาวอินเดีย ได้กำหนดไว้เป็น 867,102 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งนับเป็นความพยายามที่จะกำหนดวันที่แน่นอนในการประพันธ์ รามายณะ โดยพิจารณาจากข้อมูลด้านดาราศาสตร์ที่สามารถพบได้ในตำรา ซึ่งจะช้ากว่าที่ได้กำหนดไว้ในยุคต่าง ๆ .
นักประวัติศาสตร์ไม่เชื่อว่า รามายณะนั้นได้รับการประพันธ์เพียงผู้แต่งท่านเดียว. มีการประพันธ์แต่งเติมเสริมกันเรื่อยมา. นักประวัติศาสตร์มักจะพิจารณาได้ว่าส่วนที่เป็นบทหรือสรรคแรก ๆ นั้น ได้รับการประพันธ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 หรือ คริสต์ศตวรรษที่ 5-6 และบางส่วนได้มีการปรับปรุงเป็นเนื้อหาประมาณแบบในปัจจุบันอย่างช้าราวพุทธศตวรรษที่ 6-8 หรือ คริสต์ศตวรรษที่ 1-3.
แต่จากข้อมูลอ้างอิงของ 02. มีการค้นพบหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับพระราม ทั้งทางตรงและทางอ้อมนับร้อยหรือบ้างก็อาจจะนับพันข้อมูลอ้างอิง มีอายุราวกึ่งสหัสวรรษแรกของก่อนคริสตกาล (BCE.) หมายถึง ราว ๆ ช่วงปลายพระชนม์ชีพหรือสมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ไม่นานนัก เป็นโศลก02. สันสกฤตราว 2,500 โศลก กล่าวอ้างถึงมหาฤๅษีวาลมีกี ในทุก ๆ กถา (tale).
---------------
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ยุค (युग - Yuga Cycle) รายละเอียดแสดงใน หน้าที่ 3 ของปุราณะ.
02. โศลก (śloka) หรือ อนุษฺฏุภฺ (anuṣṭubh) เป็น โคลงกลอน บทละสองบรรทัด
1.
2.
หน้าที่ 5
รามายณะ และ มหาภารตะ
ความสัมพันธ์ระหว่างรามายณะกับมหาภารตยุทธนั้น เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมานานช้าในหมู่นักวิชาการ. ที่น่าสนใจก็คือ มหาภารตยุทธได้บันทึกเรื่องราวของพระรามไว้ในเรื่องเล่าที่เรียกว่า ราโมภาคยัน บ้างก็เรียก ราโมปาขยาน (Rāmopākhyāna - เป็นเรื่องเกล็ดว่าด้วยเรื่องของพระราม) หรือ รามา อิพิโสด (the Rāma episode). เป็นเรื่องราวตอนหนึ่งที่ ยุธิษฐิระ (युधिष्ठिर - Yudhiṣṭhira - ภราดาคนโตของเหล่าพี่น้องปาณฑพ) รู้สึกหดหู่เนื่องนางเทฺราปทีผู้เป็นภรรยา ถูกลักพาตัว ณ จุดนี้เอง พระฤๅษีมารฺคณฺเฑยะ (मार्कण्डेय - Sage Markaṇḍeya) ได้เล่าเรื่องของพระรามให้ท้าวยุธิษฐิระฟัง. นักวิชาบางท่านเชื่อว่าการเล่าเรื่องนี้สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเรื่องพระราม01.
การเล่าขานกันในระยะเริ่มแรกสุด
ในพระพุทธศาสนาและศาสนาเชน ก็มีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับรามายณะที่เก่าแก่ที่สุดในศาสนาพุทธคือ ทศรถชาดก (Daśharatha Jataka)02. ซึ่งมีมาในช่วงยุคแรก ๆ เพียงพอที่นักวิชาการกล่าวว่าองค์ประกอบของเรื่องนี้มีมาก่อนการประพันธ์ของฤๅษีวาลมีกิ. และการเล่าขานที่เก่าแก่ของศาสนาเชนเกี่ยวกับรามายณะก็คือ เภามะจริยา (Paumacariya) ประพันธ์โดยนักพรตวิมาลสูริ (Sage Vimalasūri) ซึ่งมีขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1 มีการเล่าขานในประเพณีทางศาสนาทั้งพุทธและเชน ซึ่งมีการเล่าขานเรื่องรามายณะของชาวพุทธที่อยู่นอกประเทศอินเดียอีกด้วย.
มหากวีกาลิทาส, Kālidāsa, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 19 มกราคม 2566.
1.
การตีความบทกวี
รามายณะนั้น ประพันธ์ไว้ในรูปของกาพย์ (kavya) เป็นคำที่แต่งฉันท์ (ไม่จำเป็นต้องเป็นกลอน) นอกจากนี้ยังหมายความว่ามาจากคำว่ากวี (kavi) ซึ่งหมายผู้แต่งเพลงหรือลำนำ แต่มักมีความหมายแฝงคล้ายผู้ทำนายมากกว่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ข้อความที่จัดรูปแบบเป็นบทร้อยกรองนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งในรูปแบบของบทความวรรณกรรม.
ในช่วงต้นมีนักประพันธ์ภาษาสันสกฤตชื่อ กาลิทาส (कालिदास - Kālidāsa - ทาสผู้รับใช้เจ้าแม่กาลี - มีชีวิตอยู่ราวพุทธศตววรรษที่ 10-11 หรือ คริสต์ศตวรรษที่ 5) ได้ประพันธ์กวีขนาดยาวชื่อ ราฆุวงศ์ (Raghuvamsha หรือ Raghuvaṃśa) โดยบรรยายเริ่มตั้งแต่ก่อนกำเนิดพระราม แล้วสืบทอดต่อไปยังช่วงภายหลังที่พระรามเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว ยังมีงานอื่น ๆ ของท่านบางชิ้น อาจเกี่ยวข้องในบางแง่มุมของรามายณะด้วย. นอกจากนี้ท่านกาลิทาสยังได้ประพันธ์ อภิชญานศากุนตลา (अभिज्ञान शाकुन्तलम् - Abhijñānashākuntala) เกี่ยวข้องกับท้าวภรต (भरत - Bharata) ท้าวทุษยันต์ (दुष्यन्त - Duṣyanta) และนางศกุนตลา (शकुन्तला - Śakuntalā) ที่เป็นบรรพชนของจันทรวงศ์ อันเป็นเรื่องราวต้นสาแหรกของตระกูลสำคัญในมหาภารตยุทธ.
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. รายละเอียดดูในหน้าที่ 127 ของ มหาภารตยุทธ 03. อรัณยกะบรรพ หรือ วนบรรพ ในเว็บไซต์นี้.
02. ดังที่ได้กล่าวมาก่อนแล้วว่า ทศรถชาดกนี่เองได้แปลและดัดแปลงเป็นรามเกียรติ์ในไทย.
1.
2.
หน้าที่ 6
ธรรมะ อรรถะ กามะ และโมกษะ
การแสวงหาของมนุษย์
"พระรามเป็นตัวตนของธรรมะ พระองค์มีคุณธรรม ความจริงคือความกล้าหาญของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นราชาแห่งโลกทั้งปวง ดุจท้าววาสวะ (वासव - Vāsava - อีกชื่อหนึ่งของพระอินทร์) ในหมู่ทวยเทพทั้งหลาย."
มารีศกล่าวแก่ท้าวราพณ์, สรรค (35), อรัณยกัณฑ์.
- มีหลักการสำคัญชื่อ หลักปุรษารถะ (पुरुषार्थ - Puruṣārtha - ประโยชน์สี่) อันเป็นคติธรรมของชาวฮินดู ประกอบด้วย
1. ธรรมะ (Dharma) อันได้แก่ คุณความดีหรือความถูกต้อง (Virtue & Righteousness).
2. อรรถะ (Artha) อันได้แก่ประโยชน์หรือทรัพย์สินเงินทอง.
3. กามะ (Kama) อันได้แก่ ความใคร่ ความปรารถนา หรือความต้องการ.
4. โมกษะ (Moksha) อันได้แก่ ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หรือ นิพพาน.
ซึ่งมีปรากฎอยู่ในมหาภารตยุทธ ตอนท้ายของบรรพที่ 16: เมาสลบรรพ อีกด้วย.
1.
2.
หน้าที่ 7
บทนำ
เรื่องราวของพระราม
รามายณะเป็นหนึ่งในสองมหากาพย์ที่ทรงคุณค่าที่สุดซึ่งประพันธ์ขึ้นในสมัยอินเดียโบราณ. ควบคู่ไปกับมหาภารตะ อันฝังติดตรึงในจิตใจและหัวใจของชาวฮินดูนับล้านคน อันเป็นข้อความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นวิถีเฉพาะซึ่งเกี่ยวข้องกับอดีตและเป็นกวีนิพนธ์ การก่อร่าง (ในทางกลับกัน ก็ถูกหล่อหลอมโดย) ชุมชนด้วยรูปแบบที่สำคัญ. เรื่องราวของพระรามนั้นอยู่เหนือกาลเวลา พรมแดน และวัฒนธรรม. มีหลายรูปแบบ หลายแนว และบทเชียนที่ได้ปรับปรุงแล้ว ซึ่งต่างแต่ละรูปแบบนี้มีความเกี่ยวข้องกันและล้วนก็ได้สร้างแรงบันดาลใจ.
รามายณะที่มหาฤๅษีวาลมีกิได้ประมวลและประพันธ์ขึ้นนี้ ถือเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมของเรื่องพระรามที่ได้จารึกในสื่อต่าง ๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้ และเป็นหนึ่งในเรื่องราวในยุคแรกของอินเดียที่ยังหลงเหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม รามายณะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวีรกรรมของพระราม (และพญาวานรหนุมาน หรือ กำแหงหนุมาน - นับตั้งแต่กีษกินธกัณฑ์ เป็นต้นไปด้วย) ดังปรากฎในวรรณกรรม ภาพ และการแสดงที่ต่อเนื่องไร้ปลายจบทั่วทั้งอนุทวีปอินเดีย และบางส่วนของเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
เรื่องราวรามายณะครอบคลุมกว้างขวางไปกับประเพณีที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ ชุมชน แน่นอนเหลือเกินว่ายากที่จะสำรวจประมวลมาได้ทั้งหมด ก็เนื่องจากชุมชนสังคมนั้นมีการเติบโต เฉกเช่นเดียวกับการเติบโตของรามายณะ กว้างไกลมิรู้ประมาณซึ่งเป็น จักรวาลของรามายณะ นั่นเอง.
มหาฤษี (ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่) วาลมีกิ ผู้หยั่งรู้: หนึ่งในเรื่องราวที่เก่าที่สุด รามายณะของวาลมีกิ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื่องจากผู้เขียนเป็นส่วนสำคัญของเรื่องด้วย, ที่มา: 01.และ sites.com, วันที่เข้าถึง 7 สิงหาคม 2565.
แหล่งอ้างอิง:
01. จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02. จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.
03. จาก. "บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์," พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6, ISBN 978-616-437-150-7, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, มีนาคม 2565, นนทบุรี.
04. จาก. "รามเกียรติ์ ร้อยแก้ว ประกอบคำกลอน," พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ฉบับสมบูรณ์, ถอดความโดย พิกุล ทองน้อย, ISBN 978-616-437-071-5, พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2562, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, นนทบุรี.
05. จาก. "THE VALMIKI RAMAYANA 1-3," แปลโดย Bibek Debroy, ISBN 9780143428053, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์ อินเดีย, พ.ศ.2560, พิมพ์ในภารตะ, www.penguin.co.in.