MENU
TH EN

07. อุตตรกัณฑ์

ฤๅษีวัชมฤคหรือฤๅษีวาลมีกิ กำลังสอนพระมงกุฎ และพระลบ01., ที่มา: bookfact.com, วันที่เข้าถึง 24 กรกฎาคม 2565.
07. อุตตรกัณฑ์01, 02.
First revision: Jul. 23, 2022
Last change: Oct.12, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรคโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 

หน้าที่ 1
       กัณฑ์สุดท้ายซึ่งเป็นกัณฑ์ที่เจ็ดของมหาฤๅษีวาลมีกินี้ มีชื่อเรียกง่าย ๆ ว่าอุตตรกัณฑ์ ซึ่งแปลตรงตัวว่า "หนังสือหรือกัณฑ์สุดท้าย - The Last Book" มีเนื้อหาที่แตกต่างกันในแต่ละสรรค หรือบท และมีการโต้แย้งเป็นที่รับรู้กันมากกว่ากัณฑ์อื่น ๆ อีกหกเล่ม. จากลักษณะของบทส่งท้ายที่เปิดกว้าง ประกอบด้วยเนื้อหาการเล่าเรื่องทั่วไปแบ่งเป็นสามหมวด ประกอบด้วย หนึ่ง) ตำนานที่ให้ภูมิหลัง แหล่งกำเนิดหรือที่มา สอง) บทบาทภารกิจแรก ๆ ตัวละครหลัก และ สาม) คุณลักษณะที่โดดเด่นและน่าหลงใหล อันมิอาจกล่าวให้จบสิ้นได้ของมหากาพย์รามายณะ ซึ่งเรื่องราวก่อนหน้านี้นั้น มิได้อธิบายไว้ครบถ้วนในหกกัณฑ์แรก. ที่น่าสนใจคือเกือบกึ่งหนึ่งของกัณฑ์ได้อุทิศแก่เรื่องราวประวัติศาสตร์เก่ากาลและลำดับวงศ์ตระกูลของเหล่าอสูรรากษส และบทบาทภารกิจในระยะแรกของท้าวราวณะ และกิจกรรมการโลดแล่นต่าง ๆ ในวัยเยาว์ของกำแหงหนุมาน ที่ได้พรรณนาไว้ไม่มากเท่าในส่วนของท้าวราวณะ. ในกัณฑ์นี้ได้สาธกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายในตอนกลางของมหากาพย์รามายณะ ที่มีการอธิบายว่ามีรากฐานมาจากการเผชิญหน้าและการสาปแช่งในอดีตกาลไกลโพ้นเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการฉุดคร่าข่มขืน การพิชิต และการสังหารอย่างดุเดือดของจอมรากษสท้าวราพณ์.
      
       หมวดแรก??: ในสรรคและคำพรรณนาส่วนใหญ่นั้น เกี่ยวข้องกับกำเนิดท้าวราพณ์ทศกัณฐ์ และในช่วงระยะแรกที่จอมรากษสผยองเข้าหักหาญต่าง ๆ มากมายในการพิชิตโลก ซึ่งเป็นช่วงที่จอมรากษสได้เอาชนะและโจมตีเหล่าราชา บรรดาเทพเจ้า ปราชญ์ และปีศาจ การฉุดคร่าข่มขืน และการลักพาสตรี. มีบางคำสาปที่ได้สาปแช่งจอมอสูรรากษสในระหว่างที่เขาอาละวาดอย่างดุเดือดและโหดร้ายในสามโลก มีคำอธิบายเกี่ยวกับเงื่อนไขหลายประการที่ท้าวราพณ์ต้องเผชิญและต้องชำระสะสางกับพระราม. ประการแรก: ท้าวราพณ์ได้ถูกพราหมณ์ปราชญ์นามว่า วิศรวา (ดูในหน้าที่ 2 ของ A03.บทนำ) ผู้เป็นบิดาได้สาปแช่งก่อนคลอดว่าเป็นผู้กระทำความผิด (นางไกกาสีมารดาได้เข้ามาหาพราหมณ์วิศรวาในขณะทำพิธีอัคนิโหตระ). ประการที่สอง: พราหมณ์หญิงเวทาวตี (Vedavatī) ดูในหน้าที่ 2 ของ A02.บทนำ) ได้ถูกท้าวราพณ์ลวนลาม นางพราหมณ์จึงได้เผาตัวเอง โดยปฏิญาณว่าจะเกิดใหม่ (เป็นนางสีดา) เพื่อความพินาศของจอมรากษสราวณะ. หลังจากที่ท้าวราพณ์ข่มขืนสตรีกึ่งเทพ คนรักของนางก็สาปแช่งให้เขาตายหากเขาได้ใช้กำลังบังคับสตรีอีกครั้ง. ความมัวเมาในกามกิเลสนำพาให้เขาก่อกรรมถลำลึกลงไปอีก ท้าวราพณ์ถูกสาปแช่งจากสตรีมากมายที่เขาฉุดคร่าและข่มขืน และก็ถูกคำสาปจากผู้ที่เขาได้สังหารอันเป็นเชื้อสายของกษัตริย์สายอิกษวากุ (इक्ष्वाकु - the Ikṣvākus) ซึ่งเป็นเชื้อสายเริ่มต้นของสุริยวงศ์ว่า ต่อไปในภายหน้า ทศกัณฐ์ท้าวราพณ์จะต้องถูกสังหารโดยกษัตริย์ที่มีเชื้อสายอิกษวากุนี้ ซึ่งนั่นก็คือพระราม. แม้แต่การที่เหล่าไพร่พลรากษสของท้าวราวณะถูกทำลายล้างอย่างย่อยยับด้วย กำแหงหนุมานวานรกึ่งเทพผู้มีอิทธิฤทธิ์ทรงพลังนั้น ก็อธิบายได้ด้วยคำสาปที่นนทก (भस्मासुर, Nandin หรือ Bhasmāsura Praveen) ผู้รับใช้พระศิวะเจ้า ได้หัวเราะเยาะหนุมานในอดีตชาติในท่าทางแบบลิง นนทกจึงได้ถูกสาปแช่งกลับ.

รูปปั้น "ทศกัณฐ์" หรือ "ท้าวราวณะ" ตั้งอยู่ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ, ถ่ายไว้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2566.

       แม้ว่าท้าวราพณ์จะได้รับพรจากพระพรหมและการพิชิตไปทั่วทุกเขตแคว้นมาอย่างยาวนาน แต่เรื่องราวก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครที่แกร่งกล้าคงกระพันได้ตลอดไป ชัยชนะโดยตลอดของท้าวราพณ์ก็จบลงด้วยสองการต่อสู้  การต่อสู้แรก: ท้าวราวณะพ่ายแพ้ในการแข่งขันมวยปล้ำต่อราชามนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่พันกร อรชุน การตวีรยะ (कार्तवीर्य अर्जुन - Arjuna Kārtavīrya) และการต่อสู้ครั้งที่สอง: ได้พ่ายแพ้ต่อพญาอากาศพาลีพญาวานรผู้ทรงอิทธิฤทธิ์. เรื่องราวทั้งหมดนี้พรรณนาโดยฤๅษีจอมปราชญ์อคัสตยะ02. แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดก็จะต้องเผชิญคู่ต่อสู้ที่ทัดเทียมกับเขาได้ และเป็นการบอกล่วงหน้าถึงความพ่ายแพ้ครั้งสุดท้ายของทศกัณฐ์ด้วยน้ำมือของพระรามผู้เป็น "มนุษย์เดินดินธรรมดา". ทั้งหมดนี้สอดรับกับการที่ฤๅษีวาลมีกิยึดมั่นในคุณประโยชน์ของพระพรหม ตามที่ราชารากษสจะแกล้วกล้าคงกระพันต่อสิ่งมีชีวิตที่เหนือธรรมชาติทั้งปวงได้ก็ตาม แต่ไม่ใช่ต่อมนุษย์หรือสัตว์ธรรมดา.
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. เป็น Version รามเกียรติ์ของประเทศไทย ซึ่งต่างจากรามายณะ นางสีดาได้บุตรแฝด ชื่อ พระกุศะ (Kuśa) และ พระลวะ หรือ พระลพ (Lav or Lava) ลี้ภัยพำนักในอาศรมของมหาฤๅษีวาลมีกิ.
02. ฤๅษีอคัสตยะ (अगस्त्य - Agastya) เป็นหนึ่งในเจ็ดหรือแปดฤๅษีสำคัญดังที่ปรากฎในคัมภีร์พระเวท อาศรมของท่านตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโคทาวรี (Godāvarī) และในรามเกียรติ์ระบุว่า ท่านพำนักในป่าทัณฑกะ
บนเนินเขาทางใต้ของเทือกเขาวินธัย ท่านมีส่วนสำคัญในการชี้แนะในคำปรึกษาฝ่ายพระรามพระลักษมณ์และพันธมิตร หลักการจัดการบริหารบ้านเมือง และความเป็นราชธรรมของกษัตริย์ รูปพรรณสันฐานของฤาษีตนนี้นั้นไม่สูงนักและมีน้ำหนักมาก.


 
หน้าที่ 2
      หมวดที่สอง??: ของเนื้อหาในการเล่าเรื่องของอุตตรกัณฑ์ประกอบด้วยปกรณัมและตำนานที่ดีเยี่ยม ซึ่ง (จังหวะจะโคนของ) เนื้อหาสอดรับกับเรื่องราวหลักของมหากาพย์และตัวละครในเนื้อเรื่อง. เนื้อหาส่วนใหญ่ประกอบด้วยนิทานเตือนใจที่ถูกเล่าขึ้น หรือเป็นการเล่าโดยพระราม เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลร้ายที่เกิดขึ้นกับกษัตริย์ที่ไม่เคร่งครัดไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม. มีการระบุไว้ในคำพรรณนาของกัณฑ์นี้ มีประเด็นเกี่ยวกับความหดหู่ใจหลังจากทราบถึงความผูกพันกับหน้าที่ในการเป็นกษัตริย์ที่จะต้องเนรเทศนางสีดาชายาอันเป็นที่รักของพระองค์ เมื่อพระรามดำเนินได้ไปยังอาศรมของปราชญ์ฤๅษีอคัสตยะ พระองค์ได้ใคร่ครวญถึงการบูชายัญ. โดยทั่วไปแล้วในกัณฑ์นี้จะมีเนื้อเสริมในด้านการศึกษาเกี่ยวกับราชธรรม (rājadharma) อันเป็น "หน้าที่ของกษัตริย์ - Royal duty" ซึ่งเป็นกระจกเงาสะท้อนแก่กษัตริย์ที่ควรเป็นวีรบุรุษ เป็นแบบอย่างที่ดีและการเป็นกษัตริย์ในอุดมคติ.

     หมวดที่สาม?? อันเป็นหมวดสุดท้าย: มีเนื้อหาหลาย ๆ ด้านในกัณฑ์นี้เกี่ยวกับในช่วงปีสุดท้าย (สามหน่อเชื้อกษัตริย์กษัตริยาถูกเนรเทศ 14 ปี) เกี่ยวกับพระพรตและพระศัตรุฆน์. อันเป็นตอนที่เป็นนิทานเล่าขานกระจายไปทั่วในหมู่ชนชาวภารตะทั้งมวล อันเป็นนิทานสอนใจ ซึ่งอยู่ในหมวดที่สองข้างต้น. ด้วยการต่อสู้ดิ้นรน ความทุกข์ยาก และความโศกเศร้า (ในช่วงที่ถูกเนรเทศ) ที่ดูเหมือนจะอยู่เบื้องหลังของพระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา พระรามได้ตกลงกับนางสีดาที่จะต้องปกครองกรุงอโยธยา เพื่อให้เกิดความสงบ ความเจริญรุ่งเรือง และความสุข. ดูเหมือนเราได้เห็นตอนจบที่สมบูรณ์แบบเหมือนเทพนิยายหรือเรื่องราวที่โรแมนติก เมื่อพระรามและนางสีดาได้ปกครองอาณาจักรอโยธยาที่ดูเหมือนเป็นนครในอุดมคติ (Utopia) ที่เนิ่นนาน - ในตำนานระบุว่ารามราชย์ (Rāmarājya) นี้ยาวถึงหนึ่งหมื่นหนึ่งพันปี - พัฒนาการต่าง ๆ ได้ดำเนินไป แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้นในสวรรค์ และความสุขของพระรามและนางสีดาก็จบลงอย่างน่าเศร้าใจ.

       หลังจากได้จัดวางพันธมิตรในสงครามกรุงลงกาให้อยู่ในฐานะตำแหน่งที่เหมาะสมด้วยเกียรติและพรสวรรค์อันสมควรแล้ว พระรามเกิดความปิติยินดียิ่งที่ทราบว่านางสีดากำลังตั้งครรภ์. แต่ทว่าจู่ ๆ พระองค์สังเกตเห็นว่าแม้นางสีดาจะต้องทนทุกข์ทรมานในเปลวเพลิงที่กรุงลงกาก็ตาม แต่ชาวกรุงอโยธยาก็บ่นว่ากษัตริย์ของเขาคิดไม่ซื่อทุจริตและพานางสีดากลับเข้าพระราชวังเพียงด้วยความปรารถนาราชินีผู้งดงามเท่านั้น ชายาองค์นี้เคยอาศัยอยู่ในวังของท้าวราพณ์จอมเจ้าเล่ห์. เหล่าชาวเมืองเกรงว่าเนื่องจากกษัตริย์ทรงกำหนดมาตรฐานด้านศีลธรรมให้กับอาณาจักรของพระองค์ สะท้อนว่าพวกเขาจะต้องทนกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบรรดาภริยาของพวกเขาได้ด้วยหรือ.

       ด้วยความกลัวในเรื่องอื้อฉาว และจำต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดต่อสิ่งที่พระรามเห็นว่าเป็นหน้าที่อันเข้มงวดของกษัตริย์ พระรามจึงเนรเทศพระชายาสีดาทั้ง ๆ ที่ยังทรงพระครรภ์ โดยแสร้งว่าให้เสด็จไปท่องเที่ยว. อย่างไรก็ตาม พระรามก็ตระหนักดีว่า ข่าวลือที่แพร่สะพัดเกี่ยวกับนางสีดานั้นไม่เป็นความจริง. พระลักษมณ์เป็นผู้นำนางสีดาไปทิ้งไว้ในถิ่นทุรกันดาร นางสีดาราชินีจึงถูกรับตัวไปพักพิงในอาศรมโดยไม่มีใครอื่น นอกจากฤๅษีวาลมีกิปราชญ์นักกวี. ณ ที่อาศรมนั้น นางสีดาก็ให้กำเนิดบุตรชายฝาแฝดสองคน คือ พระลพและพระกุศะ ซึ่งต่อมาฝาแฝดทั้งสองจะกลายเป็นสาวกของปราชญ์วาลมีกิท่านนี้ และจะเป็นกวีที่ลำนำผลงานกวีนิพนธ์ของฤๅษีจอมปราชญ์ที่รังสรรค์ขึ้นให้แพร่กระจายยังชาวภารตะต่อไปในเบื้องหน้า, นั่นคือรามายณะ. การพลัดพรากจากชายาอันเป็นที่รักของพระรามนั้น ทำให้พระองค์เศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้ง ซึ่งบรรเทาทุเลาลงได้ก็เพียงแต่สดับฟังการเล่านิทานเตือนใจถึงชะตากรรมอันน่าสะพึงกลัวของกษัตริย์ที่ละเลยหน้าที่ของตนเท่านั้น.

       ในรัชสมัยอุดมคติของพระรามนั้น มีเหตุการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นสองเหตุการณ์. อันเป็นเรื่องซ้ำสั้น ๆ ในตอนกลางของกัณฑ์นี้ เหตุการณ์แรกคือ พระรามได้เชื้อเชิญเหล่าปราชญ์จากแว่นแคว้นในลุ่มแม่น้ำยมุนา พวกเขาได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการปล้นสะดมของปีศาจที่น่ากลัวและชั่วร้ายอันมีนามว่าลวณะ (Lavaṇa) หรือ ลวณาสูร (लवणासुर - Lavaṇāsura). โดยใช้หลัก "ความชอบธรรม" พระรามจึงได้มอบหมายให้พระอนุชาคนสุดท้องคือ พระศัตรุฆน์ ซึ่งแทบจะไม่มีบทบาทในมหากาพย์รามายณะนี้เลย เข้าจัดการกับอสูรตนนี้เสีย. พระศัตรุฆน์ได้ออกเดินทางและพักค้างแรมคืนหนึ่ง ณ อาศรมแห่งฤๅษีวาลมีกิ ซึ่งเป็นคืนเดียวกับที่นางสีดาได้ให้กำเนิดพระลพและพระกุศะ. จากนั้นพระองค์ก็ออกเดินทางต่อไปยังแม่น้ำยมุนา ณ ริมน้ำนั้น พระองค์ก็ได้ต่อสู้กับอสูรลวณะอย่างดุเดือด และสามารถปลิดชีพอสูรตนนี้ลงได้ จากนั้นพระศัตรุฆน์ได้เดินทางต่อไปและพบเมืองมธุรา (Madhurā หรือ Mathurā) ที่มีความเจริญรุ่งเรืองอันตั้งอยู่ในดินแดนแถบแคว้นสุราษฎร์ (Saurāṣṭra)01. ซึ่งพระศัตรุฆน์ก็ได้ทรงปกครองเมืองมธุรานี้ในฐานะกษัตริย์อันทรงคุณธรรม. หลังจากที่พระองค์ได้จากราชวงศ์พระประยูรญาติมาร่วม 12 ปี ก็อยากจะกลับมาเยี่ยมพระเชษฐาพระราม พระศัตรุฆน์จึงเสด็จกลับมากรุงอโยธยาพร้อมกองทัพ และพำนักค้างคืนที่อาศรมของฤๅษีวาลมีกิอีกครั้ง ในระหว่างที่ได้พักช่วงสั้น ๆ นั้น พระองค์และกองทหารก็ได้ยินเสียงการขับลำนำรามายณะอันไพเราะจากกวีแฝด. แม้ว่าพระศัตรุฆน์กระตือรือร้นที่จะอยู่เคียงข้างพระเชษฐา เพื่อเป็นการสอดคล้องกับหลักการของกัณฑ์นี้อันเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการเป็นกษัตริย์ที่ดี พระรามได้มีพระบัญชาให้พระศัตรุฆน์กลับไปยังเมืองมธุราโดยพลัน เพื่อปกครองเหล่าประชาราษฎร์อย่างชอบธรรมต่อไป.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. จากการสืบค้นดูในแผนที่ เมืองมธุรานั้นตั้งอยู่ในอุตตรประเทศ ซึ่งอยู่ทางเหนือของอินเดีย แต่แคว้นสุราษฎร์นั้น ปัจจุบันอยู่ในรัฐคุชราตซึ่งเป็นรัฐอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย ซึ่งข้อมูลยังมีความขัดแย้งกันอยู่.
 

พระรามสังหารฤๅษีสัมพูกะ ผู้อยู่ในวรรณะศูทร, ที่มา: sanskritreadingroom.wordpress.com, วันที่เข้าถึง: 8 กุมภาพันธ์ 2566.
 
หน้าที่ 3
       หลังจากการเสด็จกลับของพระศัตรุฆน์ได้ไม่นานนัก ก็มีเหตุการณ์ที่น่าหนักใจขึ้นอีกครั้ง. คราวนี้เหตุเกิดที่กรุงอโยธยาอันเป็นเมืองหลวง ด้วยพราหมณ์บิดาผู้โศกเศร้าได้มายังท้องพระโรงในวังของพระราม ได้อุ้มร่างบุตรคนเล็กของตนไว้ในอ้อมแขน. (ร้องเรียนทำนองว่าบุตรของตนนั้นป่วยเพราะผู้ปกครองคือพระรามนั้น ไม่มีความเป็นธรรมราชา ทำให้ประชาราษฎร์พบภัยพิบัติเจ็บไข้). นี่เป็นสิ่งที่น่าหนักใจยิ่ง เนื่องจากตามจารีตประเพณีได้กล่าวแสดงไว้หลายครั้งในมหากาพย์และยังคงเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของมรดกแห่งรามายณะ - ระยะเวลาอันยาวนานของการครองราชย์เป็นพันปีของพระรามนั้น ถือเป็นรัฐในอุดมคติหรือยูโทเปียอย่างแท้จริง. ดังนั้นทุกคนทุกชนชั้นวรรณะจึงปฏิบัติตามหน้าที่ทางสังคมของตนอย่างเคร่งครัด ภรรยาเชื่อฟังสามี และไม่มีอาชญากรรม โรคภัยไข้เจ็บ หรือภัยธรรมชาติใด ๆ . และมีประเด็นหนึ่งที่เน้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ ในอาณาจักรสวรรค์แห่งนี้ไม่มีเด็กคนไหนที่จะตายก่อนพ่อแม่. ในโลกแห่งความเป็นจริงเช่นนี้ ก็มีสิ่งที่เหลือเชื่ออย่างการตายของบุตรพราหมณ์ที่ได้เกิดขึ้นนั้น ย่อมหมายความว่ามีการละเมิดระเบียบสังคมและพิธีกรรมบางอย่างเกิดขึ้น และเป็นความรับผิดชอบของกษัตริย์ที่จะต้องแก้ไขมัน. พระรามจึงต้องตามหาและลงโทษผู้ฝ่าฝืน. ในเรื่องนี้นั้นพระรามได้รับคำแนะนำจากฤๅษีนารถมุนี (รายละเอียดดูในหมายเหตุ การขยายความหน้าที่ 1 ของพาลกัณฑ์) ซึ่งเป็นผู้พยากรณ์คนเดียวกับที่เล่าเรื่องพระรามให้ฤๅษีวาลมีกิฟังเป็นคนแรก. ฤๅษีนารถมุนีได้ทูลแก่ราชาพระรามว่า ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งในอาณาจักรของพระองค์ มีบุคคลวรรณะศูทร (a śūdra) - ซึ่งเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดตามแนวคติสังคมพราหมณ์ กำลังปฏิบัติศาสนกิจที่เข้มงวด (หรือกำลังท่องบทสวดพระเวท) ที่สงวนไว้แต่เพียงวรรณะเดียว (พราหมณ์) (อันเกิดขึ้นในจักรวาล เตรตายุค - Tretā Yuga) สำหรับสมาชิกของชนชั้นทางสังคมที่สูงกว่าทั้งสาม (พราหมณ์ กษัตริย์ และไวศยะ หรือ แพศย์) ที่เรียกว่า เหล่าทวิชะ01. "การกำเนิดขึ้นสองครั้ง - twice-born".

       พระรามได้เสด็จขึ้นประทับบนบุษบก (Puṣpaka) อันเป็นวิมานเหาะได้ ที่พระองค์ได้รับมาจากพิเภก และได้เหาะเหินตรวจตราอาณาจักรอโยธยา. เมื่อบุษบกได้เหาะถลามาทางใต้อันเป็นชายแดนของอาณาจักรของพระองค์ พระรามได้พบชายคนหนึ่งได้ผูกขากับต้นไปแล้วห้อยตัวลงมา. ชายผู้นั้นกล่าวกับพระรามว่า ตนกำลังฝึกฝนอย่างเข้มงวดเพื่อเข้าสู่ภพภูมิสวรรค์ด้วยร่างกาย (หยาบ) ทางโลก. ชายผู้นั้นแนะนำตนว่าตนชื่อ สัมพูกะ (Śambūka) เป็นคน (และฤๅษี) ในวรรณะศูทร พระรามจึงตัดศีรษะฤๅษีสัมพูกะทันที. เมื่อชายในวรรณะศูทรสิ้นใจแล้ว บุตรชายของพราหมณ์ที่ตายได้ก็ฟื้นคืนชีพขึ้นได้ใช้ชีวิตในกรุงอโยธยาต่อไปอย่างปาฏิหาริย์. เหล่าเทพยดาได้สรรเสริญพระรามและโปรยดอกไม้จากสวรรค์แก่พระองค์.

       จากนั้นพระรามก็เสด็จไปอาศรมของฤๅษีอคัสตยะเพื่อเยี่ยมเยียนปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ปราชญ์ผู้ซึ่งพรรณนาถึงประวัติของจอมรากษสราวณะ และกำแหงหนุมานไว้ก่อนหน้าในกัณฑ์นี้นั้น. พระรามได้ยินนิทานเตือนใจเรื่องกษัตริย์และอาณาจักรที่ได้รับการลงทัณฑ์อย่างน่าสยดสยองจากการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของกษัตริย์ (The code of royal conduct). พระรามได้เสด็จกลับกรุงอโยธยา. พระรามได้ให้ช่างหล่อรูปเคารพนางสีดาผู้เป็นมเหสีผู้ถูกเนรเทศไปด้วยทองคำ โดยหล่อขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวแทนในการถวายเครื่องสักการะ ต่อมาพระรามได้ทรงแสดงพิธีอัศวเมธ02. อันยิ่งใหญ่.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. เหล่าทวิชะ บ้างก็เรียก ทวิช (द्विज - Dvija) แปลว่า ผู้เกิดสองหน อันหมายถึงคนวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และไวศยะ ซึ่งสามวรรณะนี้สามารถบวชเรียนได้ และจะมีครูผู้สอนเปรียบเหมือนบิดาอีกท่านหนึ่ง จึงถือว่าเกิดสองหน ซึ่งส่วนใหญ่มักถูกนำไปใช้เรียกผู้ที่เป็นพราหมณ์ (อ้างถึง Facebook  เพจ “ครุฑเฒ่าเล่ามหาภารตะ&รามายณะ,” วันที่เข้าถึง 11 ตุลาคม 2566).    
02. พิธีอัศวเมธ (अश्वमेध - aśvamedha) ซึ่งเป็นพิธีบูชายัญด้วยม้า อันเป็นพิธีประกาศเดชานุภาพของพระราชาธิราชในอินเดียสมัยโบราณ (รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ใน 14. อัศวเมธิกบรรพ มหาภารตยุทธ).


 
หน้าที่ 4
      ในระหว่างพิธี ก็มีกวีหนุ่มวัยแรกรุ่นสองคนปรากฎตัวขึ้น ซึ่งได้ท่องเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ. ซึ่งทั้งสองก็คือฝาแฝดพระกุศะและพระลพ ผู้เป็นโอรสของพระรามและนางสีดา โดยได้อาศัยกับพระมารดาในอาศรมของฤๅษีวาลมีกิเป็นเวลาสิบสองปี. พระรามได้ส่งให้ฝาแฝดทั้งสองไปตามหาราชินีอันเป็นที่รักโดยตั้งใจจะรับนางกลับมา. ถึงแม้ว่าฤๅษีวาลมิกิจะกล่าวให้ทราบและพิสูจน์ถึงความจงรักภักดีอย่างแท้จริงของนางสีดาที่มีต่อพระรามแล้ว พระรามก็ยังเรียกร้องให้นางสีดาสาบานต่อหน้าประชาชนในที่สาธารณะที่มาชุมนุมกัน นางก็ยินดีปฏิบัติตาม แต่ประกาศว่าหากเธอซื่อสัตย์ต่อสามีทั้งคำพูด ความคิด และการกระทำ มาธวี (माधवी - Mādhavī) พระแม่ธรณีผู้เป็นมารดาก็ควรต้อนรับเธอ เมื่อพื้นดินเปิดออก เทพธิดามาธวีก็ปรากฏตัวขึ้นบนบัลลังก์ที่ประดับด้วยเพชรพลอย วางบุตรีที่ทุกข์ทรมานมานานไว้ข้างเธอ และหายตัวไปในโลก.

       พระรามถูกกลืนกินด้วยความเศร้าโศกอันไม่อาจปลอบใจได้ ทรงเสียสละและปกครองอาณาประราษฎร์ได้นานหลายปี และส่งพระอนุชาออกไปพิชิตอาณาจักรใกล้เคียงเพื่อลูกหลานเหล่าราชวงศ์แห่งสุริยะ โดยมีพระเจ้าอิกษวากุเป็นปฐมวงศ์. ในที่สุด ด้วยแรงกระตุ้นจากผู้ส่งสารของเหล่าทวยเทพ ที่เรียกร้องให้พระรามกลับคืนสู่สวรรค์ที่แท้จริงของพระองค์ในฐานะมหาเทพพระวิษณุ พระองค์จึงถูกบังคับให้เนรเทศพระลักษมณ์ซึ่งได้ละทิ้งร่างอันเป็นกายหยาบทางโลกของเขาในแม่น้ำสรายุ (the Sarayū River) จากนั้นพระรามก็แบ่งอาณาจักรของพระองค์ให้แก่โอรสทั้งสอง และตามด้วยการจัดสรรแผ่นดินให้แก่ชาวเมืองอโยธยาและพันธมิตรส่วนใหญ่ในที่ผ่านมาของพระองค์. พระรามเสด็จเข้าไปในน่านน้ำแห่งสรายุและกลับไปยังที่ประทับยังไวกูณฐ์สวรรค์ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ทั้งในอุตตรกัณฑ์และมหากาพย์รามายณะได้จบลงโดยบริบูรณ์.

 
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02. จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.

 
info@huexonline.com