MENU
TH EN

A02. บทนำ - บุคลิกลักษณะ รายละเอียดตัวละครสำคัญในรามายณะ

พระราม, ที่มา: openthemagazine.com, วันที่เข้าถึง 7 กุมภาพันธ์ 2566.
A02. บทนำ - บุคลิกลักษณะ รายละเอียดตัวละครสำคัญในรามายณะ01, 02.
First revision: Feb.07, 2023
Last change: Jul.09, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรคโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       รามายณะแตกต่างจากมหาภารตะที่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้าง มีตัวละครมากมายที่คลุมเครือและเกี่ยวข้องกันใกล้ชิด แก่นเรื่องคือสงครามกลางเมืองในครอบครัวใหญ่ที่น่าชัง และกรอบที่ซับซ้อนของความคลุมเครือทางศีลธรรมและจริยธรรม ความดีและความชั่ว พฤติกรรมมีให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ควรเลียนแบบหรือหลีกเลี่ยง. ส่วนในรามายณะนั้นมีการกล่าวถึงชนชั้นทางสังคม คุณสมบัติ พฤติกรรมทางจริยธรรม ศีลธรรมและคุณธรรมอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมในด้านความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในครอบครัว ระเบียบวินัย มีตัวละครสามสายพันธุ์ที่โลดแล่นในมหากาพย์รามายณะ ได้แก่ มนุษย์ สัตว์ และเหล่ารากษสยักษ์ปีศาจ ตลอดจนเหล่าเทพเจ้า เราอาจถือว่าเรื่องราวของรามายณะเป็นเหมือนนิทานสามเมือง คือ อโยธยา ขีดขินธ์ (กิษกินธ์) และ ลังกา (ลงกา).
 
มนุษย์
พระราม03.
       พระราม เป็นโอรสองค์แรกแห่งท้าวทศรถ กษัตริย์สุริยวงศ์ผู้ครองนครอโยธยา แคว้นโกศล เหล่าพราหมณ์มักนิยมเรียกพระรามเป็นพระนารายณ์อวตารปางที่ 7 (รามาวตาร) และได้ถือกำเนิดในไตรดายุค คือยุคที่ 2 แห่งโลกนี้ พระมารดามีนามว่านางเกาศัลยา (อ้างถึงรามเกียรติ์: "เกาสุริยา") มีอนุชา 3 พระองค์ คือ พระภรต โอรสนางไกเกยี (อ้างถึงรามเกียรติ์: "ไกยเกษี") พระลักษมณ์และพระศัตรุฆน์เป็นโอรสนางสุมิตรา (อ้างถึงรามเกียรติ์: "สมุทร หรือ นางสมุทรชา") พระรามได้มเหสีคือ นางสีดา เป็นบุตรีท้าวศีระธวัช ซึ่งมักเรียกว่าท้าวชนก ผู้เป็นกษัตริย์สุริยวงศ์ ครองนครมิถิลา แคว้นวิเทห พระรามมีโอรส 2 พระองค์ คือ พระกุศ (หรือ กุศะ) กับพระลพ พระรามได้ปราบท้าวราพณาสูรผู้ครองนครลงกาแล้วกลับครองราชย์ในพระนครศรีอโยธยา ครั้นเมื่อพระรามสิ้นพระชนม์ ได้แบ่งแคว้นโกศลออกเป็น 2 ส่วน ให้พระกุศโอรสองค์ใหญ่ครองโกศล ตั้งนครหลวงชื่อกุศะสถลีหรือกุศาวดี ส่วนพระลพครองอุตตรโกศล ตั้งนครหลวงชื่อศราวัสตี (สาวัตถี) หรืออีกนัยหนึ่ง เรียกว่า ลพปุระ.

       พระราม02. เป็นตัวละครหลักในรามายณะในทุก ๆ กัณฑ์ ยกเว้นสุนทรกัณฑ์ (Sundarakāṇḍa) วาทกรรมส่วนใหญ่ของมหากาพย์จะเน้นที่พระราม งานประพันธ์ทั้งหมดจะยกย่องคุณสมบัติทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ การยึดมั่นอย่างสมบูรณ์แท้ต่อบรรทัดฐานของความกตัญญู จรรยาบรรณของนักรบ (กษัตริยธรรม - Kṣatriyadharma) และหน้าที่ของกษัตริย์ (ราชาธรรม - rājadharma) ความเมตตากรุณานบนอบต่อพราหมณ์และผู้อาวุโส.

พระรามสังหารฤๅษีสัมพูกะ ผู้อยู่ในวรรณะศูทร, ที่มา: sanskritreadingroom.wordpress.com, วันที่เข้าถึง: 8 กุมภาพันธ์ 2566.

       ยกเว้นบางตอนที่เป็นความขัดแย้งทางจริยธรรม อาทิ การปฏิบัติต่อมเหสี "นางสีดา" การสังหารราชาวานรพาลี และการสังหารฤๅษีศัมพูก หรือ สัมพูกะ (Śambūka) ในอุตตรกัณฑ์ (Uttarakāṇḍa). พระรามถูกยกย่องให้เป็นยอดมณีแห่งคุณธรรม แน่นอนว่าพระองค์คือหนึ่งในร่างอวตารที่สำคัญของพระวิษณุ ผู้ทรงฤทธานุภาพ ได้เสด็จลงมายังโลกครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อปราบยุคเข็ญ หากมองพระองค์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนแล้ว เราก็ควรเอาอย่างพระองค์ ด้วยเสียสละสิทธิ์ในราชสมบัติเพื่อรักษาคำพูดของพระบิดา ความอดกลั้นและการยึดมั่นในกฎของนักรบ ยึดมั่นกับกฎกติกาการต่อสู้อย่างเคร่งครัด แม้ความจะต้องเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้และความตายก็ตาม เต็มใจที่จะไว้ชีวิตแม้ศัตรูตัวฉกาจ (ท้าวราพณ์ ราวณะ ท้าวราพณาสูร หรือ ทศกัณฐ์) หากศัตรูได้ทิ้งวิถีทางอันชั่วร้ายของตนเองเสีย.

       อย่างไรก็ตาม เรื่องของพระรามนั้นแตกต่าง เมื่อเปรียบเทียบกับอวตารหลัก ๆ ของพระวิษณุ ซึ่งส่วนใหญ่จะปรากฎตนบนโลกเพียงชั่วครู่เพื่อที่จะบรรลุภารกิจสำคัญ เช่น การช่วยเหลือเหล่าทวยเทพ การกอบกู้โลก หรือให้ผู้มีคุณธรรมรอดจากการทำลายล้างของทรราชที่ชั่วร้าย เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็จะเสด็จกลับสู่สวรรค์เป็นร่างเทพดังเดิม ดังเช่น นารายณ์อวตาร หรือ ทศวตาร ซึ่งมีเพียงพระกฤษณะ สมณโคดมแห่งศากยวงศ์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า01. และพระราม (2 องค์) (พระรามในรามายณะ และ ราม จามาธัญญะ หรือ ปรศุราม) ที่ยังคงอยู่ในโลกเป็นเวลานานมาก ในบรรดาศาสนิกพราหมณ์-ฮินดูนั้น นิยมบูชาพระราม และพระกฤษณะกันอย่างกว้างขวาง. โดยพระกฤษณะนั้นได้บรรลุภารกิจอวตารสองครั้งคือ การสังหารพญากังสะ (Kaṁsa) และปลดเปลื้องภาระแห่งโลกจากบรรดาปีศาจและราชาอสูร - ดังที่อธิบายไว้ในมหาภารตะ หริวงศ์ และปุราณะต่าง ๆ มากมาย - ถัดจากนั้นไม่กี่ทศวรรษก็เสด็จกลับสู่สวรรค์02. ในอีกด้านหนึ่ง พระรามได้สกัดเอาโลกากัณฏกะ (lokakaṇṭaka) "เรื่องของโลกที่ยุ่งเหยิง" ท้าวราพณ์ (ราพณาสูร) จากนั้นจึงเถลิงถวัลย์ปกครองอาณาจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้าบนโลกยาวนานนับพันปี.   

หมายเหตุ การขยายความ
01. ด้วยความแยบคาย เป็นการปรับตัวของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในยุคหลัง ที่สั่นสะเทือนจากคำสอนของพระพุทธศาสนาและศาสนาเชน จึงได้ผนวกเอาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหนึ่งในอวตาร - พุทธาวตาร ซึ่งแท้จริงแล้วแนวคิดพราหมณ์-ฮินดู ต่างจากพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง พราหมณ์-ฮินดู เน้นความมีตัวตนของพระผู้เป็นเจ้า มีสิ่งสูงสุดอาตมัน ปรมาตมัน แต่พระพุทธศาสนาเน้น อนัตตา ความไม่มีตัวตน การไม่ยึดมั่นถือมั่น โปร่งโล่ง จิตใจเบิกบาน ทำความดี ให้เพื่อให้ สละลดกิเลส เน้นทางสายกลาง-มัชชิมาปฏิปทา.
02. ในมหากาพย์มหาภารตะนั้น หลังจากมหาสงครามสิ้นสุดลง 36 ปี พระกฤษณะก็ละสังขารอันหยาบกลับสู่สวรรค์ หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจที่สองคือสังหารชาวเผ่าวริชนี หรือ วฤษณี (
Vṛṣṇi หรือ Vrishni - เป็นชนเผ่าอินเดียโบราณในยุคพระเวท) และ อันธากสูร (Andhaka) ดูในบรรพที่ 16 เมาสลบรรพ มหาภารตะ.

นางสีดากับสองพระโอรส พระลพและพระกุศะ, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 16 กุมภาพันธ์ 2566.
(ภาพโปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์รามายณะในอินเดีย ช่วงก่อนที่อินเดียจะประกาศเอกราชจากอังกฤษ)
หน้าที่ 2
นางสีดา01.
       ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า นางสีดา นางเอกของรามายณะเป็นตัวละครที่เจ็บปวดและอดกลั้นอย่างที่สุด เนื่องจากเป็นเวลาหลายปีที่ท้าวเธอต้องทนกับความยากลำบาก การถูกจองจำ ความทุกข์ทรมาน และความปวดรวดร้าวจิตใจ. การออกเดินทางของนางสีดานั้น ดึงดูดใจผู้ชมผู้อ่าน นับตั้งแต่วินาทีแรกที่มหากาพย์ออกฉาย (ภาพยนตร์และซีรี่ในโทรทัศน์) ครั้งแรก ในอันที่จริงแล้วนางสีดาไม่ใช่เป็นศูนย์กลางแห่งการพรรณนาเรื่อง แม้ว่านางมิใช่ความสนใจโดยตรงของเหล่ากวีนักประพันธ์ผู้รจนา แต่การพลิกผันของโชคชะตาและความอดทนอันยิ่งใหญ่ของนาง ภายใต้การบีบบังคับอันน่าสะพึงกลัว ทำให้นางสีดาเป็นตัวละครที่น่าสนใจท่านหนึ่งในวรรณกรรมนี้ ก่อนหน้านี้มีผู้ประพันธ์ได้เสนอเรื่องชื่อ "เรื่องเล่าเรื่องอันยิ่งใหญ่ของนางสีดา - sitayas caritam mahat" ไว้อีกด้วย.

       ครั้นเมื่อนางสีดาเป็นทารกได้ถูกฝังไว้ในดินที่เป็นร่องไถ (a ploughed or plowed furrow) ใต้ต้นไทรใหญ่มีเทวดาอารักษ์คอยเลี้ยงดู ต่อมาท้าวชนกได้เปิดผอบก็พบเป็นสาวรุ่นประมาณอายุ 16 ปี จึงพาเข้าเมืองวิเทหะ และตั้งชื่อว่านางสีดา (ซึ่งคำว่า "สีดา - sīta ในภาษาสันกฤตแปลว่าร่องหรือร่องไถ-furrow") นางสีดาเจริญวัยขึ้นเป็นเจ้าหญิงที่มีความงดงามที่สุดในแผ่นดิน ผู้ที่จะมาสู่ขอนางสีดาได้จะต้องเป็นเจ้าชายที่ทรงพลัง แข็งแกร่งและกล้าหาญเท่านั้น. มีข้อสังเกตว่าประวัติความเป็นมาของนางสีดานั้นมีปรากฎเฉพาะในอุตตรกัณฑ์ เป็นพราหมณ์หญิงชื่อ เวทาวตี (Vedavatī) ในชาติก่อนกฤตยุค หรือ สัตยยุค (Kṛta or Satya Yuga อยู่ในช่วง 4,000 ปี มียามรุ่งและพลบค่ำ 400 ปี รวมเป็น 4,800 ปี) พราหมณีเวทาวตีได้ถูกท้าวราพณ์ลวนลาม จึงได้เผาตัวเองเพื่อรักษาเกียรตินาง ซึ่งนางได้ปฏิญาณว่าจะเกิดใหม่เป็นบุตรีของผู้มีคุณธรรมแต่จากครรภ์มนุษย์ เพื่อทำลายล้างท้าวราพณ์ผู้ล่วงละเมิดนาง.

       นางสีดาตามบทการประพันธ์ของฤๅษีวาลมีกินั้น มิได้เมินเฉยหรือยอมจำนนต่อโชคชะตา เธออยู่ในใจเป็นที่นิยมของผู้ชมผู้อ่านที่ติดตามเรื่องราวของนาง. นางกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เมื่อท้าวทศรถพระบิดาได้เนรเทศพระรามไปอยู่ป่า พระรามเกลี้ยกล่อมให้นางยังคงพำนักอยู่ในเมืองอโยธยา แต่นางสีดายืนกรานที่จะติดตามไปด้วยและวิพากษ์พระรามตรง ๆ และเมื่อนางสีดาถูกปฏิบัติอย่างรุนแรงจากพระรามและท้าวราพณ์. อย่างไรก็ตาม ผลจากความอดทนต่อความยากลำบากอันยาวนานและมากมาย นางสีดาก็ได้รับความชื่นชมอย่างแพร่หลาย นางยังคงยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งที่จะร่วมทางกับสามีที่ถูกเนรเทศไปอยู่ในพนาพงไพรอันแร้นแค้นและโหดร้ายเป็นเวลาสิบสี่ปี แม้ว่าในช่วงแรกนั้น พระรามจะต่อต้านนางก็ตาม - นางสีดาได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของการเป็นภรรยาที่ดีในอุดมคติของชาวอินเดีย "ปติวรตา"02. (पतिव्रता - Pativratā ในไทยอาจแผลงว่า ปริตตา) สตรีผู้อุทิศตนอย่างเต็มกำลังเพื่อติดตามสามี ไม่ว่าชะตากรรมจะเป็นเช่นไร.

หมายเหตุ การขยายความ
01. อ้างถึงรามเกียรติ์: นางสีดาคือ พระลักษมีเทวีมเหสีเอกของพระนารายณ์ และได้อวตารเป็นนางสีดาเพื่อเป็นคู่ครองของพระรามซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์ในโลกมนุษย์ นางสีดาเกิดจากทศกัณฐ์ (ท้าวราพณ์) กับนางมณโฑ เมื่อนางสีดาประสูติ นางร้องว่า "ผลาญราพณ์ถึง 3 ครั้ง" พิเภกมหาโหราธิบดีซึ่งเป็นน้องชายของทศกัณฐ์ ก็ทูลว่านางสีดาจะนำภัยพิบัติใหญ่หลวงมาสู่วงศ์ยักษ์ ทศกัณฐ์จึงบรรจุนางสีดาใส่ผอบลอยน้ำ ผอบลอยมาถึงอาศรมของฤๅษีชนก (ผู้ครองกรุงวิเทหะ ได้ละเพศคฤหัสถ์มาบวช) ฤๅษีชนกไม่สะดวกที่จะเลี้ยงดูเพราะครองเพศบรรพชิต จึงได้ฝังผอบในดินและฝากแม่พระธรณีเลี้ยงนางสีดาไว้. บ้างก็ว่านางสีดาเป็นบุตรีแห่งพระภูมิ (Bhūmi หรือพระแม่ธรณี).
02. ปติวรตา - โดยทั่วไปชาวฮินดูเชื่อว่าเมื่อภรรยาอุทิศตนเพื่อสามีและตอบสนองความต้องการของสามี เธอจะนำความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นอยู่ที่ดีมายังครอบครัวของเธอ.


 
หน้าที่ 3
พระลักษมณ์
       พระลักษมณ์ (อวตารของพญาอนันตนาคราช) เป็นหนึ่งในโอรสฝาแฝดของนางสุมิตรา ซึ่งเป็นมเหสีองค์ที่สาม องค์สุดท้ายของท้าวทศรถ พระลักษมณ์เป็นแบบอย่างที่ดีมาช้านานของพฤติกรรมที่บรรดาพี่ชายคาดหวังได้จากน้องชาย ตั้งแต่เยาว์วัยพระลักษมณ์ทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่แยกกันไม่ออกจากพระราม ฤๅษีวาลมีกิบรรยายพระลักษมณ์ว่าเป็น "ลมหายใจแห่งชีวิตที่สอง" นอกกายของพระราม และสังเกตว่าหากไม่มีพระลักษมณ์อยู่เคียงข้าง พระรามไม่สามารถบรรทมหรือเสวยกระยาหารใด ๆ ได้.

       แน่นอนว่าพระลักษมณ์ได้ติดตามคอยให้การช่วยเหลือพระรามในช่วงการเนรเทศอันยาวนาน และในการต่อสู้กับบรรดารากษสยักษา ในหมู่ศัตรูแล้ว พระลักษมณ์เป็นนักรบที่น่าเกรงขาม ได้สังหารอินทรชิต (Rāvaṇi Indrajit) โอรสองค์สำคัญของท้าวราพณ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าการอุทิศตนเพื่อพระรามและนางสีดา เป็นการเน้นย้ำถึงประเพณีของอินเดียทางใต้ พระลักษมณ์ปฏิเสธที่จะจ้องมองร่างของพี่สะใภ้นางสีดา มีให้เห็นในหลายครั้งในหลายปีที่พเนจรในอรัญอยู่นั้น พระลักษมณ์ไม่เคยยกพระเนตรขึ้นเหนือพระบาทของนางสีดาเลย.

       ความผูกพันระหว่างพระรามและพระลักษมณ์มีแสดงให้เห็นเด่นชัดในมหากาพย์รามายณะนี้ เมื่อพระเชษฐาได้รับบาดเจ็บสาหัสในสนามรบ พระลักษมณ์ก็ยอมสละชีพตนเพื่อพระรามและความรอดของครอบครัววงศา พระลักษมณ์เป็นน้องชายองค์เดียวที่พระรามนำกลับขึ้นสู่ไวกูณฐ์สวรรค์ อันเป็นแหล่งกำเนิดอันศักดิ์ร่วมกันของพระวิษณุ. นอกจากนี้พระลักษมณ์ยังเป็นเกราะทางอารมณ์ ป้องกันพระรามยามมีอารมณ์เดือดพล่าน เป็นกำลังใจให้ยามมีสติ และอารมณ์สงบลง หรือในยามเศร้าหดหู่ท้อแท้.


พระพรต (พะ-ระ-ตะ)
      พระพรต (อวตารของจักร -อาวุธสำคัญของพระวิษณุ) พระโอรสองค์โปรดของท้าวทศรถ ประสูติจากนางไกยเกษี ซึ่งพระพรตได้เสนอในอีกแง่มุมหนึ่งของน้องชายในอุดมคติ เป็นคู่แข่งตามธรรมชาตของพระราม และเป็นผู้รับประโยชน์จากแผนการของนางไกยเกษีและนางค่อมมันธราสาวใช้ ที่ผลักดันให้พระพรตเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระราม ซึ่งพระพรตปฏิเสธ พระพรตขอร้องให้พระรามกับมาปกครองกรุงศรีอโยธยาตามครรลองราชประเพณี แม้ว่าพระบิดาท้าวทศรถจะไม่พึงพอใจก็ตาม เมื่อพระรามยืนกรานที่จะรับการเนรเทศไปอยู่ป่า พระพรตก็สาบานตนว่าจะทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการในนามของพระรามพระเชษฐาเท่านั้น พระพรตได้วางรองเท้าของพระรามไว้บนบัลลังก์เพื่อแสดงถึงพระราชอำนาจของพระเชษฐา และได้ใช้ชีวิตแบบนักพรตนอกเมืองศรีอโยธยาในช่วงสิบสี่ปีของการถูกเนรเทศของพระราม การกระทำเช่นนี้ของพระองค์ทรงสนองต่อการเป็นแบบอย่างในการสละตนเองของพระรามและพระลักษมณ์.

 
พระศัตรุฆน์
      พระศัตรุฆน์ (แปลว่า ผู้สังหารศัตรู - เป็นอวตารของคทา -อาวุธสำคัญของพระวิษณุ ในรามเกียรติ์เขียนว่า พระสัตรุต) เป็นโอรสองค์สุดท้องในบรรดาโอรสทั้งสี่ พระศัตรุฆน์มีบทบาทไม่มากนักในมหากาพย์รามายณะ การอุทิศตนและทำหน้าที่เป็นที่รองรับอารมณ์ให้กับพระเชษฐาพระพรต พระศัตรุฆน์ได้สะท้อนให้พระรามเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพระลักษมณ์ซึ่งเป็นฝาแฝดกัน เห็นได้ชัดเจนเมื่อพระศัตรุฆน์เสด็จกลับไปอโยธยาพร้อมพระพรต เมื่อพบว่าพระบิดาสวรรคตและพระรามถูกเนรเทศอันมาจากแผนร้ายของนางไกษเกษีและสาวใช้นางค่อมมันธรา พระศัตรุฆน์ปรี่ตรงเข้าทำร้ายนางค่อมซึ่งพระพรตตรัสห้ามให้หยุด พร้อมกล่าวเตือนว่าพระรามจะไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมเช่นนี้. วีรกรรมที่โดดเด่นประการเดียวของพระศัตรุฆน์คือการสังหารปีศาลลวณะ (the demon Lavaṇa) และการสร้างเมืองมธุรา (Madhurā) ตามที่ได้บรรยายไว้ในตอนท้ายของอุตตรกัณฑ์.
 
ท้าวทศรถ
      แม้ว่าท้าวทศรถ (Daśaratha - พระราชโอรสของท้าวอัชบาลกับนางเทพอัปสร) - ทรงเป็นกษัตริย์ครองกรุงอโยธยาได้หกหมื่นปี ได้รับการสรรเสริญเบื้องต้นว่าเป็นกษัตริย์ที่ทรงธรรมและยิ่งใหญ่ก็ตาม แต่ในอโยธยากัณฑ์นั้นได้แสดงให้เห็นข้อบกพร่องอย่างร้ายแรงของกษัตริย์ชราท้าวทศรถ. เราได้เห็นถึงความหลงไหลกิเลสตัณหาที่พระองค์มีต่อมเหสีรอง นางไกยเกษีผู้งดงาม ทำให้พระองค์ไม่ทันต่อเล่ห์เหลี่ยมของนาง. นางได้ทวงถามคำสัญญาที่ให้ไว้01. ในอโยธยากัณฑ์นั้นท้าวทศรถจึงมอบบัลลังก์ให้พระพรตสืบราชสันตติวงศ์ ตามคำขอของนางไกยเกษี ในขณะที่พระพรตอยู่นอกเมืองอโยธยา. ท้าวทศรถจึงทรงเป็นเกราะกำบังให้พระราม โอรสองค์โตผู้มีความชอบธรรมยิ่งในการสืบสันตติวงศ์ ท้าวทศรถพยายามรักษาชื่อเสียงของพระองค์ไว้ ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแข็งกร้าวต่อนางสีดาตามที่ปรากฎในยุทธกัณฑ์และอุตตรกัณฑ์.
หมายเหตุ การขยายความ
01. อ้างถึงรามเกียรติ์: ครั้งหนึ่งท้าวทศรถได้รบกับยักษ์ตนหนึ่งชื่อ ปทูตทันต์ ในการศึกนั้นปทูตทันต์แผลงศรทำให้เพลารถของท้าวทศรถหัก นางไกยเกษีที่ตามเสด็จมาด้วยเห็นดังนั้นจึงนำแขนมาเทียมรถ ท้าวทศรถขว้างพระขรรค์ไปใหม่ ปทูตทันต์จึงกระเด็นตกยังพื้นพสุธาคอหักตายคาที่ ท้าวทศรถจึงได้ให้รางวัลแก่พระนางไกยเกษีว่าในวันข้างหน้า หากนางขออะไรก็จะให้ตามที่นางขอ.

 
หน้าที่ 4
นางเกาสุริยา
       นางเกาสุริยา01. (Kausalyā - บุตรีของพระเจ้าสุโกศล กับนางอมฤตประภา) เป็นมเหสีองค์ใหญ่ของท้าวทศรถและเป็นพระมารดาของพระราม ทรงเป็นมารดาในอุดมคติ นักพรต ผูัเคร่งครัดในศาสนา และอุทิศตนอย่างเต็มกำลังต่อบุตรและสามีของนาง ซึ่งสามีมิได้หลงไหลในตัวนางนัก กลับไปสิเน่หานางไกยเกษีมเหสีองค์รองมากกว่า อันนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่หายนะ เมื่อนางทราบถึงเรื่องที่พระรามมีโชคชะตาที่พลิกผันอย่างกระทันหัน นางจึงปฏิญาณต่อบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมของภริยาผู้อุทิศตน ปติวรตา (Pativratā) นางจะติดตามพระรามที่ได้รับการเนรเทศไปด้วย แต่ก็ต้องละทิ้งแผนการนี้เสีย เพราะพระรามกล่าวเตือนถึงหน้าที่การเป็นภรรยาของนาง.

นางไกยเกษี
       นางไกยเกษี หรือ นางไกเกยี (Kaikeyī - ธิดาของท้าวไกยเกษ กับพระมหาเทวีเจ้าประไภวดีหรือเกศินี) เรื่องราวของความลุ่มหลงของท้าวทศรถ ซึ่งลงท้ายด้วยมเหสีรองผู้ทรยศก็เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าเตือนใจแก่ผู้ปกครองอินเดียแบบดั้งเดิมที่เกี่ยวกับความเย้ายวนใจที่มีอิทธิพลและความเสื่อมเสียที่มาจากสตรี. โดยเริ่มแรกนางได้รับความไว้วางใจ ยินดีที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอุทิศตัวของพระโอรสของพระเมหสีเอก "นางเกาสุริยา". ทว่านางไกยเกษีก็ถูกชักจูงอย่างง่ายดายจากนางค่อมกุจจี02. มันธราสาวใช้เจ้าเล่ห์ ที่มักจะเป่าหูนางว่าหากพระรามได้ครองราชสมบัติ อันตรายจะมีต่อเธอและพระพรตบุตรชายนาง จากนั้นนางก็คล้อยตามนางค่อมมันธราโดยใช้เล่ห์เหลี่ยมของสตรีและทวงคำสัตย์สาบานที่พระสวามีท้าวทศรถได้เคยกล่าวไว้ เพื่อบีบบังคับให้พระรามถูกเนรเทศ แล้วให้พระพรตสำเร็จราชการแทน นางไกยเกษียังอยู่ในจินตนาการอันยอดนิยมของผู้อ่านผู้เสพงานมหากาพย์รามายณะนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญของภรรยาปากร้ายผู้ทรยศและทำให้สามีต้องเสียชีวิตในที่สุด.
หมายเหตุ การขยายความ
01. อ้างถึงรามเกียรติ์: พระราชินีเกาสุริยาเป็นอวตารของธารา (พราหมณี) ภริยาของโทรณาวสุ โดยนางได้รับพรจากพระวิษณุว่า "ข้าจะเกิดเป็นลูกชายของเจ้าใน "เตรตายุค"".
02. "กุจจี" มาจากคำ "กุพชี" ซึ่งแปลว่า "นางค่อม" เท่านั้น ไม่มีชื่อ, ที่มา: vajirayana.org, วันที่เข้าถึง: 6 กุมภาพันธ์ 2566.
 
หน้าที่ 5
เหล่าวานร และสรรพสัตว์

       ผู้ศึกษาคงจะจำกันได้ถึงคุณสมบัติของจอมอหังการ "ท้าวราพณ์ (Rāvaṇa)" แห่งมหากาพย์รามายณะนั้น ก็ยังได้รับผลแห่งความคงกระพันจากเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ที่สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ ท้าวราพณ์ยังคงอ่อนแอ "แพ้ทาง" ต่อสิ่งมีชีวิต มนุษย์ และสัตว์ที่ "ต่ำกว่า". ด้วยเหตุผลด้วยเนื่องมาจากคำสาปที่นนทก (Nandin) ได้รับ ในขณะเดียวกันก็มีการต่อต้านจากน้องชาย "พิเภก" (Vibhīṣaṇa) รวมทั้งการประจัญหน้ากับเหล่ามนุษย์กึ่งเทพ และเหล่าวานรที่ชาญฉลาด.

       บางครั้งก็มีเรื่องที่คล้ายเทพนิยาย มีนกสองสามตัวอยู่ในโครงเรื่องเข้าช่วยพระราม รวมถึงพญาแร้งพระยาสดายุ (Jaṭāyus) สหายเก่าของท้าวทศรถและพันธมิตรของราชสำนักโกศล ซึ่งปรากฎในอรัณยกัณฑ์ ยอมสละชีพไปเปล่า ๆ เพื่อช่วยนางสีดาให้พ้นจากเงื้อมมือของท้าวราพณ์ และเป็นผู้ให้ข้อมูลบางอย่างแก่พระรามเกี่ยวกับการลักพาตัว และพระยาสัมพาที (Saṃpāti) (พี่ชายพระยาสดายุ) ก็ช่วยเหลือให้ข้อมูลกับกลุ่มผู้ค้นหานางสีดา. ตามที่แสดงในยุทธกัณฑ์นั้น พระรามและพระลักษมณ์ต้องต่อสู้กับอินทรชิต (Indrajit - บุตรผู้เก่งกล้าของท้าวราพณ์) ที่มีอาวุธอสรพิษที่ร้ายกาจ ซึ่งมีพญาครุฑ (the divine bird Garuḍa) ได้เข้ามาช่วยเหลือ.

       แต่นอกเหนือจากประโยชน์ (ในการแสดง) ของท้าวราพณ์และคุณค่าทางความบันเทิงในบางครั้งของการมีลิงที่น่าเกรงขาม บางคราวก็ดูออกจะเป็นเรื่องตลกขบขัน (ที่หนุมาน) เป็นคู่หูที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของพระรามแล้ว ดูเหมือนว่าคุณค่าเฉพาะเรื่อง (เนื้อหาในตอนนั้น ๆ ) จะสูงกว่าในการแนะนำลิงที่กล้าหาญและขลาดกลัวสลับกันไป. อาณาจักรของเหล่าวานรที่เมืองกีษกินธ์นั้นเป็นตัวแทนของความแตกต่างกับโลกส่วนใหญ่ที่ทรงธรรมของกรุงอโยธยา โดยมีเหล่าวีรบุรุษอันเป็นที่ยำเกรง เช่น พระราม พระภรต และพระลักษมณ์ ซึ่งมักมุ่งสนใจและความปรารถนาของตนไปยังการสำนึกในหน้าที่ ความชอบธรรม และความสมานฉันท์ภายในพระราชวงศ์. ในทางตรงข้าม อาณาจักรของเหล่าวานร เราจะพบกับรูปแบบที่เสมือนจริงมากกว่า เป็นการแข่งขันกันระหว่างพี่น้อง ความรุนแรงกันระหว่างพี่น้องร่วมอุธร ความรู้สึกอ่อนไหวที่มากล้น ซึ่งกวีผู้ประพันธ์พยายามหลีกเลี่ยง อันเป็นเรื่องของหน่อเชื้อแห่งสุริยวงศ์. เหล่าวานรยังแสดงความขลาดกลัวทางสังคมให้เห็นในระหว่างที่มีการประยุทธ์ มีการหลบหนีทัพจากเหล่ารากษส อันเป็นศัตรูที่น่ากลัว.

สุครีพ, ภาพเขียนบนกำแพงภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร, ถ่ายไว้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2566.
สุครีพ
       พญาวานรสุครีพ เป็น ลิงสีแดง เพราะเป็นโอรสของพระอาทิตย์กับนางกาลอัจนา (सुग्रीव - sugrīva) สุครีพเป็นตัวละครที่สำคัญในมหากาพย์นี้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากพญาวานรตนนี้ พระรามจะประสบความยากลำบากในการตามหานางสีดาที่ถูกลักพาตัวไป และก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกณฑ์กองกำลังที่สามารถเผชิญหน้าท้าศึกกับกองกำลังติดอาวุธหนักที่ทรงพลังเหนือธรรมชาติของท้าวราพณ์. อย่างไรก็ตาม ในฐานะวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ พญาวานรสุครีพก็ได้รับการพรรณนาว่ามีความโหดร้าย หุนหันพลันแล่น ตกอยู่ใต้อารมณ์ของตน ค่อนข้างขลาดกลัวและบางครั้งก็ดูจะรักเสรีความสะดวกสบาย. ต่อมาราชาวานรพาลีพี่ชายผู้มีอำนาจมากกว่า ได้ขับไล่สุครีพออกจากอาณาจักร สุครีพพร้อมสมุนวานรผู้ภักดีไม่กี่ตัวต้องไปหลบภัยบนยอดเขาเพื่อให้ปลอดภัย. ขณะที่พระรามพระลักษมณ์กำลังค้นหานางสีดาที่ถูกลักพาตัวอยู่นั้น เมื่อพระองค์พบเห็นสุครีพเข้าก็ตกใจกลัว จึงได้ส่งหนุมานซึ่งเป็นผู้ให้คำแนะนำพระองค์ ได้ปลอมตัวมาเพื่อดูว่าสุครีพและเหล่าสมุนนั้นเป็นใครและต้องการอะไร. หลังจากสุครีพทราบเรื่องราวของพระราม สุครีพก็เห็นโอกาสที่จะกำจัดพี่ชายที่น่าหวาดหวั่นนี้เสีย และยึดอาณาจักรของพี่ชายพญาวานรพาลี และภรรยาของตนกลับคืน สุครีพได้เล่าเรื่องราวของตนให้พระรามทราบว่าได้ถูกเนรเทศออกจากอาณาจักรของพญาวานรพาลีได้อย่างไร หลังจากที่เข้าใจผิดว่าพี่ชายพญาวานรพาลีนั้นเสียชีวิตแล้ว. สุครีพก็ได้ยึดบัลลังก์และฮาเร็มของพาลีแทน แต่ก็ถูกจัดการ เมื่อขุนกระบี่พาลีกลับมา. สุครีพได้ให้สัญญา (หลอก ๆ ) แก่พระรามว่า หากพระองค์ได้สังหารพญาวารพาลีพี่ชายผู้เกรียงไกรลงเสียได้ และให้ตนคือสุครีพนั้นขึ้นบัลลังก์แทนแล้วไซร้ ตนจะมอบไพร่พลฝูงลิงจำนวนมหาศาลให้รับใช้พระรามในการสงครามต่อไป. จากนั้นสุครีพก็สั่งให้เหล่าพลพรรควานรออกไปค้นหานางสีดาที่ถูกลักพาตัวทั่วทั้งโลก และช่วยในการสงครามเพื่อเอาชนะท้าวราพณ์ที่ลักพาตัวนางสีดาไป และช่วยนำนางกลับมา. พระรามได้สั่งให้สุครีพไปท้าทายพี่ชายพญาวานรพาลีออกมารบ ในระหว่างนั้นพระรามก็ซุ่มโจมตีจะใช้ศรยิงพาลีเพื่อให้สิ้นชีพตักษัย. วานรสองพี่น้องทะเลาะกัน และสุครีพก็ถูกตี แต่พระรามก็อ้างว่าแยกทั้งสองออกจากกันไม่ได้ จึงละเว้นที่จะใช้ศรสังหาร. จากนั้นพระรามก็สวมพวงมาลัยดอกไม้ให้กับสุครีพ เพื่อแยกการต่อสู้กับพญาวานรพาลี ขณะที่ขุนกระบี่สองศรีทะเลาะกันอีกเป็นครั้งที่สอง พระรามจึงใช้ศรยิงพาลีจนบาดเจ็บสาหัส จากนั้นพระรามก็โต้เถียงกับพาลีที่กำลังใกล้จะตาย เพื่อพยายามพิสูจน์การกระทำของพระรามเอง ในที่สุดพญาพาลีก็สิ้นใจ ท่ามกลางความอาดูรของเหล่าพลวานร ทหารกล้าทั้งหลาย รวมทั้งสุครีพ (ในช่วงจึงมีคำกลอนอีกบรรพหนึ่งชื่อว่า พาลีสอนน้อง).

 
หน้าที่ 6
       ด้วยในช่วงฤดูฝน กองกำลังวานรของสุครีพไม่สามารถเคลื่อนพลได้อย่างอิสระ สุครีพจึงไม่สามารถดำเนินการตามที่ให้สัตย์ไว้กับพระรามได้จนกว่าจะเข้าหน้าแล้ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝนจะหยุดตกแล้วและถนนหนทางก็ผ่านไปได้ พญาวานรสุครีพก็อ้อยอิ่ง ไม่พยายามทำตามที่ได้ให้สัตย์คำมั่นไว้กับพระราม ได้แก่หมกมุ่นอยู่กับอาหารและสุรานารี. ในที่สุดพระรามและพระลักษมณ์ก็หมดความอดทน ก็เข้าเตือนและใช้กำลังเพื่อให้สุครีพ ตื่นจากภวังค์กิเลสตัณหา เพื่อดำเนินการตามที่สาบานไว้. สุครีพจึงส่งไพร่พลวานรออกค้นหานางสีดา และเมื่อพบนางสีดาแล้ว ก็รวบรวมไพร่พลวานรเข้าต่อสู้กับท้าวราพณ์และไพร่พลรากษส จากการศึกษายุทธการรบนี้เราก็ทราบได้ว่าพวกลิงวานรค่อนข้างไม่มีระเบียบวินัยและโหดร้าย. เมื่อกลุ่มไพร่พลวานรกลุ่มหนึ่งที่ออกค้นหานางสีดาทางทิศใต้เกิดความล้มเหลว จึงตัดสินใจที่จะไม่กลับไปยังเมืองขีดขิน เหตุที่เลือกเช่นนี้ก็เพราะเกรงว่าพญาวานรสุครีพจะฆ่าพวกตน. อย่างไรก็ตาม ในการสงครามที่กรุงลงกานั้น พญาวานรสุครีพก็ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญ สร้างวีรกรรมไว้มากมาย.


ภาพสลักนูนต่ำหินทราย "พญาพาลีกำลังสิ้นใจ เหล่าพลวานรร้องไห้คร่ำครวญ ด้านซ้ายของภาพมีพระรามถือคันศรยืนอยู่" มุมระเบียงคดทิศใต้ปีกตะวันตก ปราสาทนครวัด เสียมราฐ กัมพูชา ถ่ายไว้เมื่อ 20 ตุลาคม 2561


พาลี
       พญาพาลี หรือ พญาอากาศ เป็น ลิงสีเขียว เพราะเป็นโอรสวานรของพระอินทร์กับนางกาลอัจนา (वाली หรือ वालिन् วาลิ หรือ วาลิน - Vālin หรือ Vālin) เป็นพี่ชายของสุครีพ มีโอรสชื่อ องคต ที่เกิดจากนางมณโฑ (ลักพานางมณโฑมาจากท้าวราพณ์ หรือทศกัณฐ์ ขณะที่ท้าวราพณ์พานางมณโฑบินเหาะผ่านเมืองขีดขิน). เรื่องราวของพญาพาลีนั้น เป็นเรื่องที่น่าทึ่งซึ่งไม่สามารถอธิบายได้อย่างสมบูรณ์หากปราศจากน้องชายและศัตรูคู่อาฆาตของเขา 'สุครีพ' การที่พระรามได้สังหารพญาพาลีลงนั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงและมีความขัดแย้งกันมาก ตลอดจนการที่พญาสุครีพจะรักษาคำสัญญากับพระรามไว้ในอันที่จะสามารถใช้กองกำลังไพร่พลของเขา เมื่อเขาได้ขึ้นครองบัลลังก์นครขีดขินแทนภราดาพญาพาลีได้แล้ว การเสาะหานางสีดาซึ่งถูกลักพาตัวไปทั่วทั้งโลก.

พญาพาลี, ภาพเขียนบนกำแพงภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร, ถ่ายไว้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2566.

       หากเราได้ศึกษาประวัติของพญาพาลี ก็พอจะเข้าใจเหตุผลในการตัดสินใจของพระราม. เราพบว่าในบรรดาไพร่พลของพญาพาลีนั้นรักใคร่กลมเกลียวกันดี. เรื่องราวดังกล่าวนี้นับเป็นหัวข้อของความขัดแย้งระหว่างพี่น้องที่รุนแรง มีความเปราะบาง และความไม่ลงรอยกันในการอ้างสิทธิ์เหนือบัลลังก์กรุงขีดขิน ซึ่งดำเนินไปราวกับเส้นด้ายผ่าน รามายณะ และ มหาภารตะ. เรื่องนี้นั้น ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อสืบทอดตำแหน่งที่เบี่ยงเบนไประหว่างพระรามและพระพรตเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งคู่ขนานกันในวงศ์ยักษารากษสระหว่างท้าวราพณ์กับพิเภก ซึ่งเช่นเดียวกันกับความขัดแย้งในกรุงขีดขิน ซึ่งได้สิ้นสุดลงเมื่อพระรามสังหารพญาวานรอาวุโสพญาพาลี แล้วแต่งตั้งสุครีพอนุชาขึ้นนั่งบนบัลลังก์แทน.

       พญาพาลีมิได้เป็นแต่เพียงพี่ชายของสุครีพเท่านั้น และตามจารีตประเพณีแล้ว เขามีสิทธิธรรมในการเป็นราชาของเหล่าวานรขุนกระบี่อีกด้วย นอกจากนี้พญาพาลียังเป็นโอรสของราชาแห่งทวยเทพคือพระอินทร์ ซึ่งมีพลังอำนาจมากกว่าสุครีพ ซึ่งเป็นโอรสแห่งพระสูริยะ อันที่จริงแล้วในมหากาพย์นี้เขาถูกนำเสนอในฐานะหนึ่งในสองคนที่มีอำนาจมากพอที่จะเอาชนะท้าวราพณ์ และผลักดันตนเองให้ฮึดสู้ได้. ในตอนท้ายของอุตตรกัณฑ์ในการรณรงค์ของกษัตริย์มนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่เหนือธรรมชาติ และแม้แต่เหล่าทวยเทพเอง เพื่อเอาชัยชนะอันยิ่งใหญ่ต่อบรรดาเหล่ายักษารากษสนั้น พระรามได้สอบถามจอมปราชญ์อากัสทยะ (अगस्त्य - Agastya) ซึ่งเป็นผู้สาธกเรื่องราวในส่วนนี้ หากไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่ทรงพลังพอที่จะเอาชนะพญาสิบเศียรแห่งเหล่ารากษสเล่า. (เหตุการณ์ และผลของการรบจะเป็นอย่างไร) ปราชญ์อากัสทยะตอบกลับ: บอกพระรามเกี่ยวกับบุคคลทั้งสองได้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้สำเร็จ. คนแรกคือท้าวพันมือในตำนานแห่งมหิชมาติ01.นามว่า อรชุน การตวีรยะ02. ผู้ชนะท้าวราพณ์พญารากษสในการแข่งขันมวยปล้ำ แล้วนำมาเป็นเชลย. คนที่สองคือพญาพาลี จับท้าวราพณ์ด้วยการเหาะหมุนไปรอบ ๆ แล้วจับไว้ใต้รักแร้ จากนั้นจึงเหาะไปยังมหาสมุทรทั้งสี่เพื่อทำพิธีกรรมสรงน้ำ. เรื่องของทั้งสองคนนี้ ผู้พิชิตท้าวราพณ์ลงเอยด้วยการผูกมิตรกับเขา. ซึ่งในกรณีหลังนี้ อาจสามารถอธิบายได้ว่าทำไมพระรามจึงเลือกเป็นพันธมิตรกับพญาสุครีพแทนที่จะเป็นพญาพาลีที่มีอำนาจมากกว่า.

       เมื่อพระรามเข้ามาแทรกในระหว่างการต่อสู้ของภราดาลิงทั้งสอง และทำให้พญาพาลีบาดเจ็บสาหัสจากการซุ่มโจมตีนั้น พญาพาลีที่กำลังใกล้ตายก็ตำหนิพระรามที่ใช้ศรยิงใส่ในลักษณะนี้ และทั้งสองก็ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเหมาะสมในการซุ่มยิง. การโต้แย้งกลับไปกลับมาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน จนกระทั่งพญาพาลียอมรับในอำนาจของพระรามในฐานะตัวแทนในอิทธิพลของราชวงศ์โกศล และเสียชีวิตลงอย่างไม่ติดค้างอะไร เป็นมิตรสมานฉันท์ไม่โกรธเคืองในการสิ้นชีพของตน. ความไม่สบายใจบางประการกับการดำเนินการทั้งหมดอาจถูกหักล้างจากข้อเท็จจริงที่ว่าแม้เมื่อพญาพาลีสิ้นชีพไปแล้ว พระรามก็เห็นว่าทายาทที่แท้จริงแห่งเมืองขีดขินก็คือ องคต โอรสของพญาพาลีเท่านั้น.

หมายเหตุ การขยายความ
01. มหิชมาติ (माहिष्मती -
Māhiṣmatī) เป็นอาณาจักรโบราณในอินเดียตอนกลาง - ปัจจุบันอยู่ในมัธยประเทศ.

ท้าวการตวีรยะ อรชุน เอาชนะท้าวราพณ์ (ขวา) ในการแข่งขันมวยปล้ำ, ภาพวาดในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16, ที่มา: www.wikiwand.com, วันที่เข้าถึง: 29 พฤษภาคม 2566. 
02. อรชุน การตวีรยะ (कार्तवीर्य अर्जुन - Arjuna Kārtavīrya) อ้างถึงคัมภีร์ปุราณะ เขาสามารถพิชิตเจ็ดทวีปและจักรวาล ปกครองอยู่ราว 85,000 ปี เขามีชื่อเสียงมากในการเอาชนะท้าวราพณ์ได้อย่างง่ายดายและจับเขาเป็นเชลยเหมือนลิง.

 
หน้าที่ 7
หนุมาน
       หนุมาน (हनुमान् - Hanumān บ้างก็เรียก กำแหงหนุมาน หรือ คำแหงหนุมาน) เป็น ลิงเผือก มีสีขาวเป็นสีประจำกาย เป็นลิงที่มีฤทธิ์มาก เป็นโอรสผู้ว่องไวและทรงพลังของเทพเจ้าแห่งสายลม (พระพาย) เป็นบุคคลที่สูงส่งซึ่งมหากาพย์รามายณะได้อธิบายไว้อย่างนั้น หนุมานเป็นเทพองค์สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และในประเพณีทางศาสนาอื่น ๆ รวมทั้งในเอเชีย รวมทั้งเมืองไทย และประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนอีกด้วย. สำหรับฤๅษีวาลมีกิผู้ประพันธ์และผู้ประพันธ์ท่านอื่นที่ต่อยอดในภายหลังนั้น ได้พรรณนาว่า หนุมานนับถือและอุทิศตนต่อพระรามและนางสีดาขั้นสูงสุด และเป็นแบบอย่างของสิ่งที่รู้จักกันในไวษณพนิกายว่าเป็น ทาสยภาวะ (दास्यभाव - dāsyabhāva) อันเป็นท่าทีเชิงอารมณ์ของการอุทิศตนเสียสละแด่เทพที่ได้เลือกไว้แล้ว.

จากซ้ายไปขวา: หนุมาน และท้าวราพณ์, ภาพเขียนบนกำแพงภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร, ถ่ายไว้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2566.

       มีการเปิดตัวหนุมานเป็นครั้งแรกในกีษกินธกัณฑ์ ในฐานะที่ปรึกษาผู้ชาญฉลาดของพญาสุครีพ หนุมานได้รับความไว้วางใจจากพระรามเป็นพิเศษโดยได้รับแหวนตราจากพระราม อันเป็นเครื่องหมายรับรองเมื่อเขาได้รวมอยู่ในกลุ่มค้นหานางสีดาทางใต้ของอนุทวีปอินเดีย ภายใต้การนำขององคตซึ่งเป็นโอรสของพญาพลี. ในฐานะที่เป็นบุตรแห่งพระพาย หนุมานเป็นวานรตัวเดียวที่มีพลังมากพอที่จะกระโดดข้ามมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ข้ามไปยังกรุงลงกาเพื่อค้นหานางสีดาที่ถูกลักพาตัวไป. เมื่อไปถึงยังกรุงลงกาแล้ว หนุมานได้ปลอบโยนนางสีดา แล้วก่อความวุ่นวายภายในกรุง และเอาชนะนักรบรากษสของท้าวราพณ์ได้หลายตน. ในที่สุดก็แสร้งยอมจำนนต่ออินทรชิตโอรสของท้าวราพณ์ทศกัณฐ์ เมื่อหนุมานถูกจับลากมายังท้องพระโรงกรุงลงกา หนุมานจึงมีโอกาสได้ตำหนิด่าทอท้าวราพณ์. จึงมีการลงโทษโดยจุดไฟที่หางของหนุมาน เขาจึงใช้ไฟที่หางนั้นเผากรุงลงกาให้วอดวายแทน ก่อนที่จะเหาะกลับไปยังชมพูทวีปแผ่นดินใหญ่เพื่อถวายรายงานต่อพญาสุครีพและพระราม.

       ในสมรภูมิรบนั้น กำแหงหนุมานได้แสดงความเป็นทแกล้วกล้าทหารหาญไว้มาก และเป็นพันธมิตรที่โดดเด่น ได้เหาะสองครั้งไป-กลับจากกรุงลงกา-เทือกเขาหิมาลัยเพื่อนำภูเขาแห่งสมุนไพรมารักษาและเยี่ยวยาฟื้นฟูพระราม พระลักษมณ์ (ไม่รู้ว่ามีสมุนไพรไหนเป็นยาบ้าง เลยยกภูเขามาทั้งลูก) ตลอดจนเหล่าไพร่พลวานร ในช่วงที่กำลังโดนรุมล้อมกระหน่ำโดยรากษสอินทรชิตผู้น่าเกรงขาม. หลังจากมหาสงครามเสร็จสิ้นลง ด้วยการถวายตัวรับใช้พระรามด้วยศรัทธาและอย่างเต็มกำลัง กำแหงหนุมานได้พิสูจน์ให้ประจักษ์ว่าเขาเป็นสาวกที่ได้อุทิศตนให้แก่พระรามมากที่สุด แต่เขาก็ได้รับการปฏิเสธถึงสิทธิพิเศษในการติดตามพระรามไปยังดินแดนสวรรค์ไวกูณฐ์อันเป็นที่สถิตของพระวิษณุซึ่งอวตารมาเป็นพระราม หนุมานได้รับคำบัญชาให้อยู่ในโลก และเขายังคงร้องสวดเทิดเกียรติพระรามต่อไปท่ามกลางผู้คน. เนื่องจากเรื่องราวอันโด่งดังของมหากาพย์รามายณะที่เล่าขานและบันทึกในปัจจุบันนี้มีหลายคำแปลหลายเรื่องราว หนุมานได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มจิรชีวินเจ็ดตน01. ตามคติแนวคิดธรรมเนียมของอินเดีย ผู้มีชีวิตอยู่จากจักรวาลหนึ่งไปสู่อีกจักรวาลหนึ่ง. นอกจากเรื่องราวความสำเร็จในการเป็นทาสยภาวะแก่พระรามแล้ว ในอุตตรกัณฑ์ยังแสดงเรื่องราวที่มีเสน่ห์น่าติดตามของหนุมานขณะที่ยังเยาว์วัยอีกด้วย.

หมายเหตุ การขยายความ)
01. กลุ่มจิรชีวินเจ็ดตน (seven cirajīvins - चिरञ्जीवी - ผู้ที่ไม่ตาย หรือ จิรันชีวิต - Chiranjeevi - ผู้ทรงความเป็นอมตะ) ประกอบด้วย หนุมาน (Hanumān) พิเภก (Vibhīṣaṇa) อัศวัตถามา (Aśvatthāman
- ดูในมหาภารตะ) ฤๅษีวยาส (vyāsa) เจ้ากรุงพาลี (หรือมหาพาลี - Mahābalī หรือ King Bali) กฤปา (kṛpā - เกี่ยวกับการอวตารของพระกฤษณะ) และ ปรศุราม (parśurāma).

 
หน้าที่ 8
บรรดาเหล่าวานรน้อยใหญ่
       ในบรรดาฝูงลิงนับร้อยล้านและมากมายถึงพันล้านตัวที่ปรากฎในรามายณะนั้น ซึ่งไม่รวมพญาสุครีพและหนุมาน ล้วนมีบทบาทสำคัญในช่วงมหาสงคราม. ในจำนวนนี้ได้แก่ เจ้าชายองคต โอรสของพญาพาลีและเป็นหัวหน้าในการค้นหานางสีดาทางตอนใต้ ซึ่งได้เปิดการโจมตีพระราชวังของท้าวราพณ์ วานรนละ01. เป็นสถาปนิกและวิศวกรและผู้ออกแบบและก่อสร้างสะพานข้ามมหาสมุทร (ระหว่างราเมศวาราม (Rameswaram) - รัฐทมิฬนาดูไปยังเกาะลังกา) อันโด่งดังของมหากาพย์ ทำให้กองทัพของเหล่าวานรสามารถข้ามไปยังกรุงลงกาได้. จามบวาน02. กษัตริย์ชราแห่งอาณาจักรแห่งหมี (ฤกษะ - ṛkṣas) (ในเรื่องราวยุคหลังได้กำหนดให้จามบวานเป็นพญาหมี) เป็นผู้นำหนุมานไปยังเทือกเขาหิมาลัยเพื่อค้นหาสมุนไพร และสุเษณะ (सुषेन - Suṣeṇa) เป็นแพทย์คราวจำเป็นครั้งเมื่อแนะนำให้หนุมานเหาะไปยังเขาหิมาลัยครั้งที่สอง และเป็นผู้ปรุงยาเพื่อช่วยชีวิตพระลักษมณ์ให้หายจากการอาการบาดเจ็บสาหัส.

หมายเหตุ การขยายความ
01. วานรนละ (नल - Nala) มีน้องแฝดชื่อ นิละ (Nila) หรือ นิลพัทในรามเกียรติ์ นละเป็นบุตรของพระวิศวกรรม เทพแห่งสถาปนิกและการก่อสร้าง.
02. จามบวาน (जाम्‍बवान -
Jāmbavān) ในรามเกียรติ์เรียก ชมพูพาน เป็นลิงกายสีหงส์ชาด (สีแดง) (ในตำราฮินดูว่า จามบวานเป็นราชาแห่งหมี) เป็นลูกเลี้ยงของพญาพาลีแห่งเมืองขีดขิน ถือกำเนิดมาจากเหงื่อไคลพระอิศวร (บ้างกว่ากำเนิดมาจากการหาวของพระพรหม) มีความรู้ในเรื่องยา สุครีพจึงพาไปถวายตัวต่อพระราม จึงมีหน้าที่เป็นแพทย์ประจำกองทัพพระราม เคยติดตามหนุมานและองคต ในตอนหนุมานไปถวายแหวนแก่นางสีดา ที่กรุงลงกา เมื่อครั้งศึกทศพิน ชมพูพานก็ได้รับมอบหมายให้เป็นทูตถือพระราชสารประกาศสงคราม เมื่อสิ้นศึกกรุงลงกา พระรามทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้ไปเป็นเจ้ากรุงปางตาล, ที่มา: th.wikipedia.org และ en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 4 มิถุนายน 2566.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.
03ปรับเสริมจาก. https://vajirayana.org/บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์/ประวัติพระราม, วันที่เข้าถึง 7 กุมภาพันธ์ 2566.
04จาก. "บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์," พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6, ISBN 978-616-437-150-7, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, มีนาคม 2565, นนทบุรี.
05จาก. "รามเกียรติ์ ร้อยแก้ว ประกอบคำกลอน," พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ฉบับสมบูรณ์, ถอดความโดย พิกุล ทองน้อย, ISBN 978-616-437-071-5, พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2562, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, นนทบุรี.



 
info@huexonline.com