MENU
TH EN

04. กีษกินธกัณฑ์

ภาพวาดกีษกินธกัณฑ์, ที่มา: www.allposters.com, วันที่เข้าถึง 23 กรกฎาคม 2565.
04. กีษกินธกัณฑ์01, 02.
First revision: Jul.23, 2022
Last change: Sep.23, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
หน้าที่ 1
      ในกัณฑที่สี่นี้กล่าวถึงเรื่องราวที่อยู่ในเขตแดนของฝูงลิงเหล่าวานร (वानर - vānara) ของเมืองขีดขิน (किष्किन्ध - กีษกินธ์ - Kiṣhkindhā) เป็นหลัก และยังคงพรรณนาให้เห็นบรรยากาศดุจเทพนิยายของบทความก่อนหน้า. การพยายามสืบค้นหานางสีดาของพระรามพระลักษมณ์ ทำให้ทั้งสองเจ้าชายพบหนุมาน (हनुमान् - Hanumān) บุตรเทพเจ้าแห่งลม (วายุ) กำแหงหนุมานนี้เป็นจอมวานรผู้อาจหาญที่สุด และนับถือพญาสุครีพ (सुग्रीव - Sugrīva) ในกีษกินธกัณฑ์นี้มีการเล่าเรื่องราวที่ชวนสงสัยเกี่ยวกับการแข่งขันการขัดแย้งกันระหว่างพญาสุครีพและพญาอากาศพาลี (वालिन् - The monkey king Vālin) ราชวานรผู้เป็นพี่ชาย และได้มีการเนรเทศสุครีพออกจากกรุงขีดขิน. ต่อมาพญาสุครีพได้ทำข้อตกลงกับพระรามพระลักษมณ์ โดยที่พระรามพระลักษมณ์จะช่วยพญาสุครีพสังหารพญาอากาศพาลีที่มีอิทธิฤทธิ์มากกว่าและมีตำแหน่งบรรดาศักดิ์สูงกว่า (กษัตริย์กรุงขีดขิน) และยึดครองบัลลังก์และชายาของพญาอากาศพาลีเอาไว้ด้วย. เพื่อเป็นการตอบแทนพญาสุครีพตกลงที่จะช่วยพระรามในการตามหานางสีดาที่ถูกลักพาตัวไป.


หินทรายแกะสลักเป็นรูปการต่อสู้ระหว่างสุครีพกับพญาพาลี พบที่ปราสาทเชน เมืองเกาะแกร์ คริสต์ศตวรรษที่ 10 สูง 287 ซม. พบเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2495 ปัจจุบันจัดวางไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชา กรุงพนมเปญ (รหัส Ka.1664), ถ่ายไว้เมื่อ 5 ธันวาคม 2565.

       ด้วยเหตุนี้พระรามจึงแผลงศรใส่พญาอากาศพาลี จากการซุ่มโจมตีในขณะที่พญาวานรพาลีกำลังต่อสู้แบบประชิดตัวกับพญาสุครีพ. ต่อมาด้วยความไร้วินัย เฉื่อยแฉะ การผัดวันประกันพรุ่งของสุครีพและเหล่าพลพรรควานร ไม่คิดจะเร่งทำการใด ๆ จนพระรามพระลักษมณ์อดรนทนไม่ไหว ต้องกระทุ้งให้พญาสุครีพเร่งดำเนินการ. พญาสุครีพจึงรวบรวมนักรบวานรของตน และส่งเหล่าวานรนักรบกล้านี้ออกไปสำรวจค้นหานางสีดาในสี่ทิศทาง. ภายใต้การนำของเจ้าชาย องคต (अङ्गद - Añgada) บุตรชายของพญาอากาศพาลี ซึ่งกำแหงหนุมานก็ร่วมคณะสำรวจไปทางทิศใต้ด้วย ซึ่งได้ผจญภัยประสบเหตุการณ์แปลกประหลาดมากมาย รวมถึงการพักอาศัยในอาณาจักรใต้ดินอันน่าหลงใหล. ในที่สุดภารกิจการสืบหานางสีดาก็ล้มเหลว คณะสำรวจด้านทิศใต้ก็รู้สึกละอายใจและกลัวที่จะกลับไปรายงานพญาสุครีพมือเปล่า. พวกเขาจึงตั้งปณิธานว่าจะอดอาหารจนตาย แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากชะตากรรมที่พลิกผัน โดยการปรากฎตัวของพญาแร้งชรา พระยาสัมพาที (संपाती - Sampāti) ซึ่งเป็นพี่ชายของพระยาชดายุ ที่ถูกท้าวราวณะสังหาร (รายละเอียดแสดงไว้ในอรัณยกัณฑ์) ซึ่งพระยาสัมพาทีได้เล่าถึงการที่ท้าวราวณะนำนางสีดา เหาะข้ามทะเลไปไว้ที่กรุงลงกา. เหล่าวานรได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกันดี และท้ายที่สุด กำแหงหนุมาน พญาวานรตัวเดียวที่มีพลานุภาพและอิทธิฤทธิ์มากพอที่จะเหาะข้ามมหาสมุทร ได้อาสาที่จะค้นหานางสีดาให้.

 
ภาพสลักหินทราย: พญาอากาศ (พาลี) กำลังสู้กับสุครีพ โดยด้านขวาจะเห็นพระรามกำลังใช้ศรยิงพญาพาลีอยู่ด้วย, หน้าบันตรงประตูทางออกข้างหลัง ด้านในของปราสาทบันทายสรี เสียมราฐ กัมพูชา, ถ่ายไว้เมื่อ 9 มิถุนายน 2562
 
 
หน้าที่ 2
       ในกัณฑ์นี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องที่เปิดกว้างในบรรดาผู้ศึกษามหากาพย์รามายณะ โดยจารึตและโดยหลักคุณธรรมแล้ว ก่อให้เกิดความรู้สึกที่สับสนเกี่ยววิธีการที่พระรามได้สังหารพญาอากาศพาลีจากการซุ่มโจมตี. ขณะเดียวกันพญาอากาศพาลีก็ประจันหน้าปะทะกับสุครีพผู้เป็นน้องชายตน. ประเด็นนี้มีการโต้เถียงกันครั้งแรก ได้ปรากฎเป็นโคลงเป็นโศลกในมหากาพย์ระหว่างพระรามกับพญาพาลีผู้กำลังจะสิ้นใจ. มีการสาธกพรรณนาและสนทนากันเป็นข้อความสั้น ในเหล่าผู้ศึกษารามายณะในรูปแบบของคำถามเกี่ยวกับวาทกรรมทางศาสนา ความเชื่อ และคุณธรรมมาโดยตลอด.
 

ภาพพระยาสัมพาที, ภาพด้านข้างเสาของระเบียงแสดงภาพเขียนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ, ถ่ายไว้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2566.

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.



 


 
info@huexonline.com