MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 27: สงครามสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 27: สงครามสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา01
First revision: May 18, 2018
Last change: May 20, 2020
สืบค้น รวบรวมและเรียบเรียงโดย:
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     ในตอนนี้ ใช้แนวจินตนาการเป็นคำตรัส คำปรารภ ทรงปฏิบัติ มีบรมราชโองการ ฯ แก้ไขสถานการณ์ที่กำลังวิกฤตของกรุงศรีฯ ของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ โดยใช้ข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ มาเสริม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สามารถจินตภาพพินิจความเป็นไปในสถานการณ์ที่กำลังคับขันอยู่นั้นได้ไม่มากก็น้อย
  
ยุทธภูมิสุริยาศน์อมรินทร์: สงครามสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา
 
"แม้เลือดหยดสุดท้ายกู ไหลสิ้น....อย่าได้หมิ่น หมายศรีอยุธยาชาติ...เป็นทาสมึง"
ภาพเขียนพระเจ้าเอกทัศน์, กษัตริย์อยุธยา (เดิมเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นภาพสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร)
ในสมุดภาพพม่าชื่อ "นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท" แปลว่า "เอกสารการบันทึกราชสำนัก พร้อมด้วย
ภาพเขียน" ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ British Library กรุงลอนดอน.
ที่มา: www.matichon.co.th, วันที่สืบค้น 20 พฤษภาคม 2561.

     เรื่องเล่าการพระราชสงครามครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา "ยุทธภูมิสุริยาศน์อมรินทร์" ในปี พ.ศ.2310 ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือเจ้าฟ้าเอกทัศน์ (บ้างก็เรียก เอกทัศ) (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) พระโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเชษฐาร่วมมารดาของเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ หรือ เจ้าฟ้าอุทุมพร (กรมขุนพรพินิจ หรือ ขุนหลวงหาวัด) กับการศึกครั้งสุดท้ายของอโยธยา แห่งเมืองพระรามอันยิ่งใหญ่.
     ***"...เมื่อการต่อรบ ย่างเข้าสู่เดือน 4 หลังจากฤดูน้ำหลากผ่านไป มันเป็นเวลานานกว่า 13 เดือนล่วงมาแล้ว ที่ทหารแห่งกรุงอโยธยา มิอาจตั้งแนวรับปะทะทัพพม่าได้ ค่ายระจันและค่ายหัวรอ ค่ายสุดท้ายของแนวตั้งรับด้านนอกพระนคร ใกล้ป้อมมหาไชยและสะพานหัวรอ ถูกทัพหน้าอังวะและทัพสวามิภักดิ์จากลุ่มน้ำปิงเข้าตีกระหนาบจนมิอาจต้านทานได้อีกต่อไป.
     ทหารหาญศรีอยุธยาทัพพระยามหามนตรี แตกทัพกระเจิดกระเจิงข้ามคลองคูเมืองเข้าสู่พระนคร อโยธยาสูญเสียไพร่พลพร้อมศัสตราวุธเป็นจำนวนมาก เหล่าไพร่ทหารอิดโรยและเสียขวัญ บ้างก็หลบหนี บ้างก็ทุรนทุรายจากบาดแผลฉกรรจ์ บ้างก็เหม่อลอยแทบเป็นบ้าเสียสติ.
     เมื่อยุทธศาสตร์และยุทธวิธีสงครามของเหล่าเสนาทหารอโยธยาผิดพลาดจนสิ้นแล้ว พลพม่ามากกว่า 70,000 ก็รุกเข้าตั้งค่ายรายล้อมชิดติดกำแพงพระนคร หมายเผด็จศึกทำลาย "เมืองที่มิอาจต่อรบได้" อย่างกรุงศรีอยุธยาให้ราบคาบ.

ที่มา: Facebook: EJeab Academies, วันที่สืบค้น 19 พฤษภาคม 2561.
 
แผนผัง 27 ค่ายของพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้, ที่มา: Facebook ห้อง "ผู้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ History learning group", วันที่เข้าถึง 20 พฤษภาคม 2563. ภาพประกอบ : แผนผังการตั้ง “ค่ายเมือง” ของพม่าทั้ง ๒๗ แห่งตามที่บรรยายใน Yodayar Naing Mawgun (จากบทความ “ ‘Yodayar Naing Mawgun’, by Letwe Nawrahta : A Contemporary Myanmar Record, Long Lost, of How Ayutthaya Was Conquered,” p. 10.) ตัวอักษรภาษาอังกฤษคือตำแหน่งของ “ค่ายเมือง” พม่าทั้ง ๒๗ แห่งที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนตัวเลขอารบิคคือสถานที่ตั้งค่ายในพงศาวดารไทย
 
ความในมหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า09.
     ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาพระองค์ได้จัดให้ออกมารบครั้งใดก็มิได้ชนะ มีแต่พ่ายแพ้แตกหนีล้มตายไปทุกที ถึงกระนั้นก็ดีพระองค์มิได้ทรงย่อท้อหย่อนพระหัตถ์เลย พระองค์ทรงรับสั่งให้ช่างก่อสร้างทำเรือรบแลเรือกำปั่นเปนอันมาก ครั้นช่างทำเรือเหล่านั้นเสร็จแล้ว พระองค์ทรงรับสั่งให้พลทหารทั้งปวงเอาปืนใหญ่น้อยบรรทุกเรือนั้นทุก ๆ ลำแล้วทรงรับสั่งให้พลทหารถอยเอาเรือรบเหล่านั้นไปรักษาทางน้ำไว้โดยแน่นหนา เมื่อพระองค์จัดทางน้ำเสร็จแล้วพระองค์ทรงรับสั่งให้พลทหารก่อสร้างทำป้อมอิฐสำหรับสู้รบให้ล้อมพระนคร ๕๐ ป้อม แต่ป้อมที่ทำนั้นห่างจากคูเมืองไป ๕๐๐ เส้น รับสั่งให้ทำทั้งกลางวันกลางคืน ครั้นทำเสร็จแล้วรับสั่งให้เอาเสบียงอาหารทั้งปวงเข้าไว้ในป้อมนั้น แล้วรับสั่งให้พลทหารเอาปืนใหญ่น้อยสาตราอาวุธทั้งปวงขึ้นรักษาอยู่ที่ป้อมนั้นโดยกวดขัน แล้วทรงรับสั่งให้ลงขวากช้างขวากม้า ขวากคนแลหนามเสี้ยน แลขุดลวงดักไว้ให้ข้าศึกตกทุกหนทุกแห่ง ฝ่ายทางน้ำเล่าพระองค์ก็ทรงรับสั่งให้ลงขวากหนามแลตอไม้ทั้งปวงไว้มิให้ข้าศึกเข้ามาได้ ครั้นทรงจัดเสร็จแล้วก็ให้รักษาเมืองตั้งมั่นอยู่ ในขณะนั้นพระเจ้าช้างเผือกกรุงอังวะ มีท้องตราเร่งมาว่าให้แม่ทัพแลนายทัพนายกองทั้งปวงจงตั้งใจรีบเร่งตีกรุงศรีอยุทธยาให้แตกโดยเรวอย่าให้ช้า ครั้นแม่ทัพทั้ง ๒ แลนายทัพนายกองทั้งปวงได้ทราบทรงพระกระแสรับสั่งดังนั้น จึงได้ประชุมปฤกษากัน ในเวลานั้นมหานรทาแม่ทัพพูดว่า ด้วยเราได้เอาบุญบารมีพระเดชพระคุณเจ้าของเราทูลเกล้าฯ ยกพยุหโยธาทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยานั้น เราได้เข้าตีหัวเมืองใหญ่น้อยตามรายทางได้แก่เราสิ้นแล้ว บัดนี้เราได้ยกเข้ามาถึงชานเมืองกรุงศรีอยุทธยาแล้วเข้าล้อมไว้ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ได้ทรงจัดให้พลช้างพลม้าแลพลทหารทั้งปวงยกออกมาตีกองทัพเราหลายครั้งหลายหนก็มีแต่พ่ายแพ้แตกหนีล้มตายไปทุกครั้งทุกที เราจับเปนไว้ได้ก็มาก ถึงกระนั้นก็ดีพระเจ้ากรุงอยุทธยามิได้ย่อท้อหย่อนพระหัตถ์เลย บัดนี้พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ทรงสร้างป้อม ๕๐ ป้อมตั้งสู้รบอยู่นอกกำแพงเมืองโดยแน่นหนานั้น พวกท่านทั้งหลายจะทำอย่างไร แต่เรานั้นจะคิดขุดอุโมงค์เช่นพระมโหสถเชื้อหน่อพุทธางกูรเมื่อครั้งทรงขุดอุโมงค์ไปรับพระราชบุตรีบุตราซึ่งพระนามว่าปัญจละจันทีและบริวารนั้น โดยเหตุนี้เราก็จะสร้างเมืองใกล้เคียงกับกรุงอยุทธยาขึ้นเมืองหนึ่ง เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว เราก็จะขุดอุโมงค์เข้าไปในกรุงศรีอยุทธยา ถ้าทลุถึงในเมืองแล้ว เราก็จะจับพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา แลพระเมหษีพระราชโอรสทั้งปวงให้จงได้ เมื่อมหานรทาแม่ทัพพูดดังนั้น สีหะปะเต๊ะแม่ทัพแลนายทัพนายกองทั้งปวงก็เหนชอบพร้อมกันแล้วเนมะโยสีหะปะเต๊ะแม่ทัพ จัดให้พลทหารทั้งปวงสร้างเมืองก่อกำแพงอิฐฝั่งทิศอิสาณของกรุงศรีอยุทธยา ห่างจากกรุงศรีอยุทธยาออกไป ๔๐๐ เส้น กว้างจัตุรัศ ๗๒๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก สีหะปะเต๊ะจัดให้สอยตองสีสูสร้างเมืองทางทิศพายัพกรุงศรีอยุทธยากำแพงสูง ๗ ศอก กว้าง ๒๐๐ เส้น แล้วจัดให้ปุญจอถิงสร้างเมืองทางทิศตวันออกกรุงศรีอยุทธยากว้างรอบ ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก แล้วจัดให้ชองอุโบ่สร้างเมืองที่ริมคลองฝั่งตวันออกกรุงศรีอยุทธยาคือในลำคลองที่น้ำไหลเข้ามาในกรุงศรีอยุทะยานั้นกว้างรอบ ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก แล้วจัดให้จอของจอสูสร้างเมืองทางตวันออกกรุงศรีอยุทธยาที่ตรงเพนียดช้างกว้างรอบ ๓๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก แล้วสีหะปะเต๊ะแม่ทัพสร้างเมืองทางทิศเหนือกรุงศรีอยุทธยาอิก ๕ เมืองเรียงไปเป็นลำดับ จัดให้ศิรนะระสร้างเมืองทางทิศตวันตกเฉียงใต้ของเพนียดช้างออกไปกว้างรอบ ๑๕๐ เส้น กำแพงเมืองสูง ๗ ศอก แล้วจัดให้ตุริงรามจอสร้างเมืองทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุทธยากว้างรอบ ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก แล้วจัดให้ตุริงรันจอสร้างเมืองทางทิศใต้กรุงศรีอยุทธยากว้างรอบ ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก จัดให้ศิริจอชวาสร้างเมืองทางทิศใต้กรุงศรีอยุทธยากว้าง ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก จัดให้ศิริราชสังจันสร้างเมืองทางทิศใต้กรุงศรีอยุทธยากว้างรอบ ๓๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก สร้างเมืองทางตวันออกรวม ๕ เมือง แล้วจัดให้สอยตองจอชวาสร้างเมืองทางตวันออกเฉียงใต้กว้างรอบ ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก จัดให้เตชะพละจอสร้างเมืองทางทิศตวันตกกว้างรอบ ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก จัดให้สิทธิจอสูสร้างเมืองทางทิศตวันตกกว้างรอบ ๒๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก จัดให้มางยีไชยสูสร้างเมืองทางฝั่งตวันตกกว้างรอบ ๒๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก แล้วทำโซ่กั้นที่ลำแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อมิให้เรือรบต่าง ๆ เข้าออกได้ แล้วจัดให้นันทอุทินจอถินสร้างเมืองที่ริมลำแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับมางยีไชยสูกว้างรอบ ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก ที่สร้างเมืองตรงกันข้ามเช่นนี้เพื่อจะได้ช่วยกันโดยทันที จัดให้พละนันทจอถิงสร้างเมืองทางทิศตวันตกของกรุงศรีอยุทธยากว้างรอบ ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก จัดให้แล๊ดแวจอชวาสร้าเมืองทางทิศตวันตกกรุงศรีอยุทธยากว้าง ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก จัดให้รันงูศิริจอถิงสร้างเมืองทางทิศตวันตกกรุงศรีอยุทธยากว้างรอบ ๑๗๐ เส้น กำแพงเมืองสูง ๗ ศอก จัดให้นันทมิตรสร้างเมืองทางทิศตวันตกเฉียงใต้กรุงศรีอยุทธยากว้างรอบ ๓๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก จัดให้สอยตองจอชวาสร้างเมืองทางทิศตวันออกเฉียงใต้กรุงศรีอยุทธยาอิกเมืองหนึ่ง ที่สร้างเมืองทางทิศฝั่งตวันออกริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นรวมทั้งเมืองมางยีไชยสูนั้นสร้างรวมเปน ๔ เมือง ที่นันทอุทินจอสร้างแลนันทมิตรสร้างทางทิศตวันตกเฉียงใต้นั้นรวม ๕ เมือง แล้วจัดให้สอยตองแล๊ดแวนรทาสร้างเมืองตรงทิศเหนือของเมืองนันทมิตรออกไปกว้างรอบ ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก จัดให้แล๊ดยาพละสร้างเมืองทางทิศเหนือของเมืองสอยตองแล๊ดแวนรทาออกไปกว้างรอบ ๗๐ เส้น กำแพงเมืองสูง ๗ ศอก จัดให้ศิรินันทมิตรจอถิงสร้างเมืองทางทิศเหนือของเมืองแล๊ดแวพละออกไปกว้างรอบ ๑๘๐ เส้น กำแพงเมืองสูง ๗ ศอก จัดให้ศิริจอถิงสร้างเมืองทางทิศเหนือของเมืองศิรินันทมิตรจอถิงกว้าง ๑๗๐ เส้น กำแพงเมืองสูง ๗ ศอก จัดให้สีหธรรมรัตนสร้างเมืองทางทิศเหนือของเมืองสิทธิจอถิงกว้างรอบ ๒๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก จัดให้พละปะยันชีสร้างทางทิศเหนือของเมืองสีหะธรรมรัตนกว้างรอบ ๒๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก บรรดาเมืองที่กล่าวมาข้างบนนี้ได้สร้างประชิดติดกับคูเมืองกรุงศรีอยุทธยาทั้งสิ้น เว้นแต่เนมะโยสีหะปะเต๊ะแม่ทัพที่ยกมาทางเมืองเชียงใหม่กองเดียวเท่านั้น ที่ได้สร้างเมืองห่างจากกรุงศรีอยุทธยาออกไป แต่จตุกามณีนั้นจัดให้สร้างเมืองห่างจากกรุงศรีอยุทธยาออกไปประมาณ ๕๐๐ เส้น สร้างทางทิศตวันตกเฉียงเหนือที่ตำบลพระบรมธาตุพระเจ้าช้างเผือกหงษาสร้าง คือได้สร้างอ้อมล้อมรอบพระบรมธาตุนั้นกว้างรอบ ๓๐๐ เส้น กำแพงเมืองสูง ๗ ศอก แล้วมหานรทาแม่ทัพที่ยกมาทางทวายนั้น ได้สร้างเมืองทางทิศตวันตกของเมืองจตุกามณี ห่างออกไป ๑๐๐๐ เส้น กว้างใหญ่รอบ ๕๐๐ เส้น กำแพงเมืองสูง ๙ ศอก ได้สร้างเมืองรอบพระนครทั้ง ๔ ด้าน สร้างด้วยอิฐทั้งสิ้น ๒๗ เมือง ๆ นี้ได้ก่อสร้างป้อมคูประตูหอรบไว้ทั้งสิ้นดุจเทวดาลงมานฤมิตร แล้วจัดให้พลทหารเอาปืนใหญ่น้อยสาตราวุธทั้งปวงขนขึ้นรักษาตามป้อมแลหอรบบนเชีงกำแพงโดยแน่นหนา ครั้นจัดเสร็จแล้วแม่ทัพทั้ง ๒ ก็สั่งให้พลทหารเอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในกำแพงกรุงศรีอยุทธยาดุจฝนแสนห่า มิได้ขาดเสียงปืน ฝ่ายพลทหารพลเมืองกรุงศรีอยุทธยาที่อยู่ในกำแพงเมืองนั้นถูกลูกกระสุนปืนล้มตายเปนอันมาก ถึงกับไม่อาจจะออกเดีนซื้ออาหารแลหาอาหารกิน ต้องซุกซ่อนเร้นหนีลูกกระสุนปืนโดยคับแคบที่สุด

     ในพระราชพงศาวดารพม่าและวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติของพม่าชื่อ Yodayar Naing Mawgun (บันทึกแห่งชัยชนะเหนืออยุทธยา) ที่ประพันธ์โดย ลักไวนรธา (လက်ဝဲနော်ရထာ Letwe Nawrahta) กวีแห่งราชสำนักพม่าซึ่งบรรยายเหตุการณ์สงครามครั้งนั้นอย่างละเอียด ได้ระบุถึงตำแหน่งที่ตั้ง ขนาด และรายชื่อแม่ทัพนายกองผู้รับผิดชอบสร้าง “ค่ายเมือง” ทั้ง ๒๗ แห่งไว้อย่างชัดเจนดังต่อไปนี้

     ๑. ค่ายเนมฺโยสีหปเต๊ะ (နေမျိုး သီဟပတေ့ Nemyo Thihapate) หรือ เนเมียวสีหบดี แม่ทัพใหญ่สายเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมือง ห่างจากกำแพงกรุง ๔๐๐ เส้น (พงศาวดารไทยระบุว่าอยู่ที่ปากน้ำประสบแล้วย้ายมาโพธิ์สามต้น) ความกว้างทั้งหมด ๓๕๐ เส้น (พงศาวดารพม่าว่า ๓๒๐ เส้น) กำแพงสูง ๗ ศอก (A1).

ค่ายทิศเหนือเกาะเมือง ไล่จากตะวันตกไปตะวันออก (น่าจะชิดคูเมืองมากกว่าในภาพ)
     ๒. ค่ายชฺเวตองจีสู (ရွှေတောင်စည်သူ Shwe Taung Sithu) ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะเมือง ความกว้างทั้งหมด ๒๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (B)
     ๓. ค่ายปุญากฺยอถาง (ပုညာကျော်ထင် Ponya Kyawhtin) ความกว้างทั้งหมด ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (C)
     ๔. ค่ายชองอุโบ่ (Chaung U Bo) อยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำที่ไหลเข้าคูพระนคร (สันนิษฐานว่าคือคลองสระบัว) ความกว้างทั้งหมด ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (D)
     ๕. ค่ายกฺยอของกฺยอสู (ကျော်ခေါင်ကျော်သူ Kyaw Gaung Kyaw Thu) ตั้งอยู่ที่เพนียด ความกว้างทั้งหมด ๓๐๐ เส้น กำแพงสูง ๘ ศอก (E).

ค่ายทิศตะวันออก ไล่จากเหนือลงใต้
     ๖. ค่ายคีรีนระ (Giri Nara) ความกว้างทั้งหมด ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (F)
     ๗. ค่ายตุรังรามกฺยอ (တုရင်ရာမကျော် Tuyin Yama Kyaw) ความกว้างทั้งหมด ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (G)
     ๘. ค่ายตุรังรันกฺยอ (Tuyin Yan Kyaw) ความกว้างทั้งหมด ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (H)
     ๙. ค่ายสีริสระกฺยอชวา (Thiri Thara Kyaw Swa) ความกว้างทั้งหมด ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (I)
     ๑๐. ค่ายสีริราชสังกรัน (သီရိရာဇသင်္ကြန် Thiri Yaza Thingyan) ความกว้างทั้งหมด ๓๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (J).

ค่ายทิศตะวันออกเฉียงใต้ฝั่งตะวันออกลงมาจนถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก
     ๑๑. ค่ายชฺเวตองกฺยอชวา (ရွှေတောင်ကျော်စွာ Shwe Taung Kyaw Swa) ตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงใต้ ความกว้าง ทั้งหมด ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (K)
     ๑๒. ค่ายเตชะพละกฺยอ (တေဇဗလကျော် Taza Bala Kyaw) ความกว้างทั้งหมด ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (L)
     ๑๓. ค่ายสิทธิกฺยอสู (သိဒ္ဓိကျော်သူ Thidi Kyaw Thu) ความกว้างทั้งหมด ๒๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (M)
     ๑๔. ค่ายมังกฺรีไชยสู (မင်းကြီးဇေယျသူ Mingyi Zayathu) ความกว้างทั้งหมด ๒๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก อยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ และให้สร้างโซ่เหล็กกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เรือสัญจรได้ (N).

ค่ายทิศใต้ นับตั้งแต่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตะวันตก
     ๑๕. ค่ายนันทอุทินกฺยอถาง (နန္ဒဥဒိန်ကျော်ထင် Nanda Udin Kyaw Htin) ความกว้างทั้งหมด ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก ตั้งอยู่คนละฟากแม่น้ำเจ้าพระยากับค่ายมังกฺรีไชยสู (O)
     ๑๖. ค่ายพลนันทกฺยอถาง (ဗလနန္ဒကျော်ထင် Bala Nanda Kyaw Htin) ความกว้างทั้งหมด ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (P)
     ๑๗. ค่ายลักไวกฺยอชวา (လကွဲးကျော်စွာ Letwe Kyaw Swa) ความกว้างทั้งหมด ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (Q)
๑๘. ค่ายรันงูสีริกฺยอถาง (ရန်ငူသီရိကျော်ထင် Yan Ngu Thiri Kyaw Htin) ความกว้างทั้งหมด ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (R)
     ๑๙. ค่ายนันทมิตรจีสู (နန္ဒမိတ်စည်သူ Nanda Maik Sithu) อยู่มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความกว้างทั้งหมด ๑๕๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (S).

ค่ายทิศตะวันตก จากใต้ขึ้นเหนือ
     ๒๐. ค่ายชฺเวตองลักไวนรธา (ရွှေတောင်လကွဲးနော်ရထာ Shwe Taung Letwe Nawrahta) ความกว้างทั้งหมด ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (T)
     ๒๑. ค่ายลักยาพละ (လက်ျာဗလ Letyar Bala) ความกว้างทั้งหมด ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (U)
     ๒๒. ค่ายสีรินันทมิตรกฺยอถาง (သီရိနန္ဒမိတ်ကျော်ထင် Thiti Yanamaik Kyaw Htin) ความกว้างทั้งหมด ๑๘๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (V)
     ๒๓. ค่ายสิทธิกฺยอถาง (သိဒ္ဓိကျော်ထင် Thidi Kyaw Htin) ความกว้างทั้งหมด ๑๗๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (W)
     ๒๔. ค่ายสีหธรรมรัต (သီဟဓမ္မရတ် Thiha Dhammarat) ความกว้างทั้งหมด ๒๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (X)
     ๒๕. ค่ายพละปฺยันชฺยี (ဗလပျံချီ Bala Pyan Chi) ตั้งอยู่หน้าค่ายสีหธรรมรัตความกว้างทั้งหมด ๒๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (Y).
     ค่ายทั้ง ๒๕ แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณตลิ่งรอบนอกคูพระนคร.

     ๒๖. ค่ายจตุกามณิ (စတုကါမဏိ Satu Kamani) ตั้งล้อมรอบพระมหาเจดีย์ที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงสร้าง (คือเจดีย์วัดภูเขาทอง) ห่างจากพระนครไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ๕๐๐ เส้น ความกว้างทั้งหมด ๓๐๐ เส้น กำแพงสูง ๗ ศอก (A3)
     ๒๗. ค่ายมหานรธา แม่ทัพใหญ่สายทวาย ตั้งอยู่ที่บ้านกานนี ห่างจากค่ายจตุกามณี ๑,๐๐๐ เส้น ความกว้างทั้งหมด ๕๐๐ เส้น กำแพงสูง ๙ ศอก (A2).

     จากรายงานการสำรวจแหล่งโบราณสถานในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาของ น. ณ ปากน้ำ ในบริเวณที่ตั้งค่ายของมหานรธาที่สีกุกนั้น พบว่ามีขนาดไม่ต่างจากเมืองขนาดย่อมเมืองหนึ่ง น. ณ ปากน้ำ ได้อธิบายลักษณะของค่ายว่า
     “เนื่องจากบริเวณแถบนี้ทางแม่น้ำโค้งเป็นรูปเกือกม้า (คือ เป็นบริเวณที่ตรงข้ามกับจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยไหลมาบรรจบกัน) พม่าจึงตั้งค่ายตรงวัดสีกุก  (รายละเอียดดูเพิ่มเติมใน "วัดสีกุก" ) และทำกำแพงตัดปลายเกือกม้าจรดสองข้างแม่น้ำ กำแพงก่ออิฐอย่างแข็งแรง แต่ถูกชาวบ้านรื้ออิฐไปขายเสียเกือบหมดแล้ว ค่ายสีกุกนี้เป็นค่ายที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ภายในค่ายกว้างขวางอาณาบริเวณหลายสิบไร่ มีโคกช้าง โคกม้าพร้อม ดูแล้วไม่ผิดอะไรกับเมือง ๆ หนึ่งทีเดียว”.

     การเลือกสถานที่ตั้ง “ค่ายเมือง” ของพม่า เข้าใจว่าใช้วัดและสถานที่สำคัญรอบพระนครเป็นหลัก ดังที่ปรากฏในพงศาวดารไทยว่า เนเมียวสีหบดีสั่งให้เผาปราสาทที่เพนียดและให้ตั้งค่ายขึ้น (คือค่ายของ กฺยอของกฺยอสู - ค่ายที่ 5 (E)) นอกจากนี้ยังตั้งค่ายสร้างและหอรบที่วัดภูเขาทอง (คือค่ายของจตุกามณี ค่ายที่ 26 (A3)) วัดการ้อง วัดพระเจดีย์แดง วัดสามพิหาร วัดมณฑป วัดกระโจม วัดนางชี วัดแม่นางปลื้ม วัดศรีโพธิ์ ที่อยู่ในบริเวณเดียวกับแนวการตั้งค่ายในหลักฐานของพม่า ทั้งนี้วิเคราะห์ว่าเพราะวัดมีอาคารหลายหลังและมักมีการสร้างกำแพงล้อมรอบ จึงเหมาะสำหรับการใช้เป็นฐานที่มั่น นอกจากนี้ยังสามารถรื้ออิฐจากวัดมาใช้ก่อสร้างกำแพงค่ายได้ง่ายด้วย แล้วก็ค่อย ๆ ขยายแนวรบเข้ามาประชิดกำแพงพระนครมากขึ้น.

     ยุทธศาสตร์ “ค่ายเมือง” นี้ทำให้กองทัพพม่ามีฐานที่มั่นที่มั่นคงและสามารถยึดครองพื้นที่รอบพระนครได้โดยรอบ และสามารถใช้ปืนใหญ่โจมตีเข้าพระนครได้โดยสะดวก ทำให้ยุทธศาสตร์การปิดล้อมของกองทัพพม่ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น จนสามารถขยายแนวปิดล้อมเข้ามาประชิดกำแพงพระนครได้ จนเมื่อเวลาผ่านไปอยุทธยาก็ถูกบีบให้ต้องส่งทูตไปเจรจาสงบศึกยอมเป็นประเทศราชของอังวะ แต่ได้รับการปฏิเสธ.

     หลังจากมหานรธาถึงแก่กรรมแล้ว กองทัพพม่าก็สามารถตีค่ายของอยุทธยารอบพระนครได้ทั้งหมด เนมโยสีหปเต๊ะซึ่งได้กุมอำนาจกองทัพพม่าทั้งหมดเห็นว่าอยุทธยาอ่อนแอเต็มทีก็สานต่อยุทธศาสตร์ของมหานรธา สร้าง “ค่ายเมือง” เพื่อใช้ขุดอุโมงค์จำนวน ๕ สายเข้าไปในกำแพงพระนคร โดยให้แม่ทัพสายเชียงใหม่ในบังคับบัญชา ๓ คนคือ ฉัปปฺยากุงโบ่ (ဆပ္ပျာကုံးဗိုလ်) สิดชิ้นโบ่ (သ‌စ်ဆိန့်ဗိုလ်) และ สะโตมังถาง (သတိုးမင်းထင်)* คุมทหารคนละ ๒,๐๐๐ คน รวมเป็น ๖,๐๐๐ คน ไปสร้าง “ค่ายเมือง” ติดคูพระนครทิศเหนือบริเวณหัวรอริมป้อมมหาชัยเป็นฐานที่มั่น ทั้งหมด ๓ ค่ายเรียงต่อกันไป โดยมีความกว้าง ๒๐๐ เส้น กำแพงสูง ๑๐ ศอก โดยพงศาวดารไทยระบุว่าพม่าทำสะพานเรือกข้ามคูพระนครมาตั้งค่ายที่ศาลาดินติดกำแพง)
(*สะโตมังถาง เป็นนายทัพสายเชียงใหม่ซึ่งควบคุมทัพจากหัวเมืองล้านนาลงมาตีอยุทธยา ภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารไทยเรียกว่า “โปมะยุง่วน” ส่วนล้านนาเรียกว่า “โป่หัวขาว”).

     จุดประสงค์หลักของ “ค่ายเมือง” ทั้ง ๓ แห่งนี้คือประสานงานกับการขุดอุโมงค์ของกองทัพพม่าจำนวน ๕ สายเพื่อจุดไฟเผารากกำแพงกรุงด้วยการช่วยคุ้มกันการโจมตีจากฝั่งอยุทธยาระหว่างการขุด นอกจากนี้ยังใช้เป็นฐานที่มั่นในการโจมตีพระนครในระยะประชิดไปในตัว รวมถึงยิงสนับสนุนทหารพม่าที่บุกเข้าโจมตีด้วยการปีนขึ้นกำแพงและการลอดอุโมงค์เข้าพระนคร

     ด้วยยุทธศาสตร์นี้กองทัพพม่าจึงสามารถเผารากกำแพงตรงหัวรอป้อมมหาชัยจนกำแพงพระนครทรุดจนทำให้กองทัพพม่าสามารถเข้ากรุงได้ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานให้ทุกค่ายระดมยิงปืนใหญ่เพื่อเป็นการโจมตีและเป็นการให้อำพรางกองทัพพม่าไปพร้อ มๆ กัน จนสุดท้ายกรุงศรีอยุทธยาก็เสียแก่พม่าในที่สุด
-----------------------------------------------------


     ค่ายใหญ่ของพม่าตั้งทัพอยู่ที่ ดอนวัดสีกุก ดอนโพธิ์สามต้น ดอนประสบ โดยมี "เนเมียวเสหบดี"02 ชาวล้านนาเชียงแสนเป็นแม่ทัพใหญ่ ส่วนค่ายย่อยหน่วยไพร่ราบ ไพร่ม้า ไพร่ช้างและไพร่ปืนใหญ่ ต่างก็รุกคืบเข้ายืดพื้นที่ดอนวัดหน้าพระเมรุ ตรงข้ามพระราชวังหลวง ตั้งฐานปืนใหญ่ที่วัดท่า วัดการ้อง เผาตำหนักและสร้างค่ายที่เพนียดคล้องช้าง พลจากเมืองสวามิภักดิ์บุกเข้าตีค่ายทหารอยุธยาที่วัดสามพิหาร เกาะวัดมณฑป วัดนางปลื้ม วัดศรีโพธิ์ ทางทิศเหนือและตะวันออกใกล้กับประตูข้าวเปลือก.
     ส่วนทางทิศใต้และตะวันตก ไพร่พลอังวะผู้ฮึกเหิมได้บุกเข้ายึดค่ายของทหารศรีอยุธยาไว้ได้ทั้งหมด ค่ายวัดภูเขาทอง วัดกระชาย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ วัดแดง วัดพลับพลาไชย ค่ายจีนสวนพลูถูกตีแตกในคืนที่ 19. 
     ค่ายวัดไชยวัฒนาราม ถูกตีแตกใน 8 คืนของการศึกตะลุมบอน
     ค่ายเซ็นโยเซฟ บ้านโปรตุเกส บ้านฮอลันดา ต่างล้วนถูกพม่าที่แยกกำลังเป็น 27 กองพล กระจายตัวเข้าโจมตีอย่างโหดเหี้ยม.

     วันสุดท้ายของอโยธยา .....ใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว
...
....
***เพลานี้ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ยืนบัญชาการรบป้องกันพระนคร บริเวณค่ายประตูข้าวเปลือกด้านทิศเหนือ ท่ามกลางเหล่าแม่ทัพนายกองน้อยใหญ่ ที่เหลือรอดจากการสังหารของอังวะในศึกนอกพระนคร ต่างปรึกษาหารือกันว่า จะแก้ไขยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการป้องกันพระนครจากภายในอย่างไร ทรงมีรับสั่งให้นำปืนขนาดต่าง ๆ ที่อยู่บนเชิงเทินรอบกำแพงและบนป้อมรอบพระนคร ยิงสกัดการข้ามน้ำของทหารพม่าในทุก ๆ ทางอย่างแข็งขัน มิให้ข้ามคูน้ำมาได้โดยสำเร็จ.
.
     ทรงมีกระแสรับสั่งให้พระยามหามนตรี และมหาดเล็กหุ้มแพร นำกำลังทหารจำนวนหนึ่งตีหนีออกไปตามทิศใต้ เพื่อไปขอกำลังจากหัวเมืองตะวันออก และกำลังของกรมหมื่นเทพพิพิธ มาขนาบรบค่ายพม่าด้านนอก เพื่อหักทางแนวรบฝั่งตะวันออกให้จงได้ ทั้งยังมีรับสั่งให้เจ้าพระยาท้ายน้ำและพระยาอีก 3-4 คน หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี กรมพระตำรวจนำไพร่ทหารแยกเป็นออกเป็นหลายกลุ่ม ตีหนีออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตรงประตูเกาะแก้ว เพื่อไปขอกำลังจากหัวเมืองนครศรีธรรมราชและปัตตานีทางใต้ ให้มาช่วยกระหนาบศึกพระนคร.
.
ทันใดนั้น ทหารม้าเร็ว นำสารเข้ามากราบทูลว่า ทหารพม่าที่ตั้ง 3 ค่าย อยู่ทางสะพานหัวรอ ป้อมมหาไชย มีการขุดดินจำนวนมาก เป็นที่ผิดปกติ03.
.
พวกพม่าอังวะกำลังทำอะไรอยู่ ?
.
จึงมีรับสั่งให้ปืนใหญ่ระดมยิง พร้อมทั้งรับสั่งให้ส่งทหารออกไปทำลายค่ายที่ข้ามมาในทันที เจ้าพระยากลาโหมจึงรีบกราบทูลว่า กำลังทหารส่วนป้อมมหาไชยนั้น ยังมิเพียงพอที่จะรักษาเชิงเทิน ไม่สามารถรวบรวมไพร่ทหารออกไปตีค่ายพม่าที่เข้ามาประชิดได้อีกในช่วงเพลาอันใกล้นี้ ยังมิทันที่จะได้มีรับสั่งต่อ ทหารม้านำสารอีกนายหนึ่งก็ฝ่าวงล้อมของเหล่าราชองครักษ์ล้อมวัง เข้ามากราบทูลข่าวว่า พระราชวังหลวงถูกปืนใหญ่ถล่มไฟไหม้อย่างหนักในหลาย ๆ จุด จึงมีรับสั่งให้ย้ายเหล่าสนมนางในออกมาไว้ที่พระตำหนักสระแก้วและสวนกระต่าย ที่ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์โดยเร็ว.
.
แล้วยังทรงมีรับสั่งอีกมากมาย......ในการศึก
.
.

อาคารสำคัญในเขตพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยาฯ, ที่มา:twitter.com/Pompeii_2475, วันที่สืบค้น 20 พฤษภาคม 2561.
1. พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์          2. พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท
3. พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์          4. พระที่นั่งวิหารสมเด็จ
5. พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์          6. เขตพระราชฐานชั้นใน
7. วัดพระศรีสรรเพชญ์          8. วิหารพระศรีสรรเพชญ์ดาญาณ
9. ศาลาลูกขุน

***เมื่อการพระราชสงครามของกรุงศรีอยุธยาเสียเปรียบฝ่ายอังวะรัตนปุระจนเห็นได้ชัด พระเจ้าเอกทัศจึงเสด็จกลับมาที่ค่ายวังหลวง พระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์มหาปราสาท ท่ามกลางเปลวเพลิงและเสียงปืนใหญ่ที่กระหน่ำยิงอย่างผิดสังเกต นางสนมกำนัลต่างย้ายเข้าไปพำนักทางตำหนักสระแก้วและสวนกระต่าย พระองค์โปรดให้มีการประชุมปรึกษาเหล่าขุนนางและเสนาทหารองครักษ์ให้เตรียมพร้อมในการตีฝ่าวงล้อมทางทิศใต้ หากหน่วยของพระยามนตรี สามารถตีฝ่าออกไปได้จริง ขุนนางผู้ใหญ่ทูลขอให้ชะลอการเสด็จหนีจนกว่าจะทราบข่าวทัพหัวเมืองตะวันออกและใต้เสียก่อน.
.
อย่างไรก็ดี ขุนนางผู้ใหญ่บางคนก็เสนอให้พระองค์ยอมสวามิภักดิ์กับอังวะในช่วงเวลาที่คับขันนี้ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ จึงมีรับสั่งว่า "หากพม่ามีปีกข้ามคูคลองหอรบที่เป็นดังปราการเหล็กแห่งทวารวดีเข้ามาได้เท่านั้น เราจึงยอม แต่หากในเพลานี้ เราหายอมอ่อนข้อให้ไม่ "ขุนนางในกรมพระสัสดีถวายรายงานแก่พระองค์ว่าไพร่ทหารคงเหลือราว 40,000 คน ภายในกำแพงพระนคร แต่เสบียงอาหารนี้นั้น อาจจะยันอยู่ได้อีกไม่เกินสองเดือน.
     พระเจ้าเอกทัศเสด็จฯ เข้าบรรทมกลางเสียงปืนใหญ่ที่ระดมยิง และเสียงกรีดร้องตกใจของนางสนมกำนัล ทรงโอบกอดพระมเหสีแล้วทรงปลอบใจต่าง ๆ นานา โดยทรงสัญญาว่าจะรีบชนะศึกในครั้งนี้ให้เร็วที่สุด เหล่าพระสนมนางในต่างเข้าเฝ้า  ขอบรรทมอยู่รายรอบด้วยเพราะความหวาดกลัวอย่างที่สุด.
.
คืนนั้นพม่าเกือบจะบรรลุถึงจุดหมาย ขุดรากกำแพงพระนครตรงส่วนของแนวกำแพงสะพานหัวรอแล้ว
.
.
***ราวตี 4 วันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน (7 เมษายน วันเนาสงกรานต์) พม่าอังวะก็สามารถบุกเข้าพระนครได้ เมื่อแผนพระมโหสถบัณฑิต บรรลุสู่ความสำเร็จ ทัพสวามิภักดิ์จากลุ่มแม่น้ำปิง ลอดกำแพงเข้าสู่พระนคร กำแพงส่วนหนึ่งถูกเผารากจนพังทลายลง ทัพหน้าอังวะและไพร่สวามิภักดิ์ต่างกรูกันเข้าในช่องกำแพงที่พังทลายลงนั้นอย่างกับห่าฝน.
.
....การบุกเข้ากำแพงนครด้วยการขุดอุโมงค์นี้ ไม่มีขุนศึกอยุธยาผู้ใดคาดคิดมาก่อน

สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ตกพระทัยเป็นยิ่งนัก เมื่อทหารม้าเร็วควบฝ่าวงล้อมและเหล่าขุนนางทหารมาที่พระที่นั่งในตอนเช้ามืด แจ้งข่าวร้ายว่าทัพพม่าฝ่าแนวป้องกันของค่ายวังหน้าที่ป้อมมหาไชย วัดฝางและจำปาพลได้แล้ว กำลังเข้าประชิดค่ายคลองข้าวเปลือกและกระจายกำลังไปทั่วพระนครทางใต้.
.
เสียงกลองศึกรบกัมปนาทและควันไฟพวยพุ่งอยู่ใกล้ที่ประทัยเข้ามาทุก ๆ ขณะ จึงทรงมีรับสั่งให้เร่งส่งทหารจากฟากตะวันตกและใต้ที่ไม่สามารถมาได้ทัน ให้ไปตั้งรับทหารพม่าที่ค่ายหน้าวัดมหาธาตุ แต่ทุกอย่างก็ดูจะสายเสียสิ้นแล้ว เพราะค่ายด่านวัดมหาธาตุก็เสียทีแก่พม่าไปเมื่อรุ่งสาง และเมื่อมีทหารนำสารจากจุดต่าง ๆ เข้ามารายงานว่า ทหารพม่าและทหารสวามิภักดิ์ต่างบุกฝ่าขวากหนามข้ามคูเมืองเข้าตีประตูพระนครทุกด้านพร้อม ๆ กัน บางแนวกำแพงก็สามารถข้ามเข้ามาภายในพระนครได้แล้ว จึงเกิดเหตุความวุ่นวายโกลาหลภายในพระนคร ประตูหลาย ๆ ด้านถูกเปิดออก โดยเฉพาะด้านตะวันออก.

 
.
ถึงทหารบนเชิงเทินจะต่างเข้าต่อรบดั่งขาดใจ จนซากศพเกลื่อนไปทั่ว ก็มิอาจต้านกำลังทหารพม่าที่ไหลเลื่อนเข้ามาเป็นจำนวนมาก
.
การโอบล้อมตีปลาภายในพระนครเข้ามาถึงช่วงเพลาบ่าย ไพร่ทหารแตกกระจายจากตะวันออกมาสู่ตะวันตก ใกล้พระราชวังหลวง แนวต้านปะทะตอนนี้อยู่ที่หน้าประตูพระราชวัง พระเจ้ากรุงสยามจึงสวมพระองค์ในชุดสงครามเกราะดำ คล้าย ๆ กับชุดขององครักษ์ เพื่อพลางตัว แล้วจึงเสด็จหนีไปทางตะวันตกของพระนครที่ดูจะปลอดภัยมากที่สุดในยามนี้ ขุนทหารองครักษ์กรมล้อมวังร่วมคุ้มกันพระองค์และพระญาติของพระองค์ลงมาจากพระที่นั่ง เสด็จผ่านทางประตูมหาโภคราชของพระบรมมหาราชวัง ผ่านคลองท่อเข้าสู่พระราชวังหลัง ซึ่งในเพลานั้นทัพสวามิภักดิ์ของอังวะ หักเข้าสู่วัดพระศรีสรรเพชญ์ได้เป็นการสำเร็จแล้ว.
.
เมื่อพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จถึงพระราชวังหลัง ทรงรับสั่งให้จัดการรวบรวมไพร่ทหารเพื่อตีฝ่าออกไป ทันใดนั้น ทหารม้าเร็วประตูตะวันตกก็วิ่งเข้ามาแจ้งข่าวว่า ทหารสวามิภักดิ์04 พม่าจากหัวเมืองตะวันตก ได้ยกข้ามคูฝ่าขวากหนามเข้าสู่ประตูใหญ่ท่าวังหลังแล้ว ให้พระองค์เร่งเสด็จหนีไปทางอื่น.
.
.
แต่ก็มิทันจะกล่าวจบสิ้นในกระบวนความ ทหารม้าพม่าพร้อมปืนไฟจำนวนมาก เข้าปะทะกับทหารองครักษ์ ที่พยายามรวบรวมกันตั้งวงล้อมนำพระเจ้าเอกทัศน์เสด็จหนี เกิดการปะทะกันเป็นชุลมุนถึงขั้นตะลุมบอน เสียงดาบและปืนดังสลับกันเป็นโกลาหลใกล้ประตูใหญ่ท่าน้ำ เจ้าสวานโปงนำไพร่ทหารวิ่งฝ่าเข้าสู่พระราชวังหลัง โดยไม่ได้คิดว่ากษัตริย์อยุธยาศรีเทพทวารดีจะประทับเตรียมหนีอยู่ที่ตรงนั้น.
.
ส่วนนายทัพพม่าพละนันทจอถึง มางยีไชยสู เตชะพละจอ และพระราชบุรี ต่างก็เข้ารุมรบกับกลุ่มทหารหลวงองครักษ์
.

การรบที่วุ่นวายโกลาหล ไม่รับรู้ว่าใครเป็นใครที่บริเวณประตูใหญ่ท่าวังหลัง พลันเมื่อสิ้นเสียงปืนเสียงหนึ่ง ร่างของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ก็ล้มลงสวรรคตในทันที05 โดยทหารหมู่ใหญ่ของพม่าอังวะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าได้ปะทะกับทัพองครักษ์ของกษัตริย์แห่งอโยธยาอยู่ ทหารองครักษ์มีจำนวนน้อยกว่าต่างล้มตายและต้องยอมจำนนในที่สุด.
.
.
*** เมื่อทหารพม่าอังวะสามารถเข้ายึดครองและควบคุมส่วนต่าง ๆ ของพระนครจนสิ้นแล้ว จึงได้จำตรวนทหารอโยธยาที่เหลือไว้ตามที่ตั้งค่ายต่าง ๆ รวมทั้งเข้าปล้นยึดทรัพย์ ศัสตราวุธจากพระราชวังหลวง วัดวาอาราม รวมทั้งบ้านเรือนราษฎร หน่วยทหารหลวงพม่าเข้าควบคุมเชลย ไพร่ ทหารขุนนาง พระญาติพระวงศ์และสนมกำนัล
.
เนเมียวเสหบดีแม่ทัพใหญ่พม่าอังวะ ให้สอบสวนพระญาติพระวงศ์รวมทั้งสนมนางในว่าพระเจ้าเอกทัศน์เสด็จไปอยู่ที่ไหน แต่ก็หามีผู้ใดล่วงรู้ว่าเสด็จสวรรคตเสียแล้ว จึงมีคำสั่งให้ไปรับตัวพระเจ้าอุทุมพรมาจากวัดประดู่ทรงธรรม จนรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ทหารม้าเสื้อแพรแดงเขียว สังกัดกรมองครักษ์หลวง ได้นำเจ้าฟ้าสอสาน พระอนุชาของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์พระองค์หนึ่งที่ถูกลงพระอาญาให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง มาสอบสวน ได้ความว่า กลุ่มของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาได้เคลื่อนหนีไปทางตะวันตก จึงสั่งให้จัดทหารออกค้นหาร่วมกับขุนนางอโยธยาและพระญาติพระวงศ์จำนวนหนึ่ง มาพบพระบรมศพนอนสวรรคตอยู่ที่บริเวณประตูตะวันตก.
.

.
ทันทีที่พบพระบรมศพ แม่ทัพใหญ่พม่าและเหล่าทหารอังวะ ต่างคุกเข้าก้มลงเคารพพระบรมศพ กษัตริย์แห่งทวารวดีศรีอยุธยาเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมปรารภว่า
.
"...พระเจ้าเซงพยูเชง06 ไม่ได้มีพระราชประสงค์ให้พระองค์สิ้นชีวิตเช่นนี้ หากแต่ต้องการจับพระองค์แบบขัตติยราชา เฉกเช่นจักรพรรดิราชพึงจะสามารถกระทำได้ ... เพื่อเป็นพระเกียรติยศแห่งอังวะรัตนปุระ" เมื่อเสร็จความพระบรมศพ07 เนเมียวผู้แม่ทัพใหญ่ จึงมีคำสั่งเรียกให้นายทัพหน่วยที่เข้ารบปะทะกับเหล่าองครักษ์และฝ่าวงล้อมของพระเจ้ากรุงสยาม นายทัพพม่า และพระราชบุรีเข้ามารายงานด้วยสำนึก มีคำสั่งให้ประหารชีวิตนายทัพในทันที เหตุเพราะการสังหารกษัตริยราชา เป็นการขัดพระราชโองการศึกของพระเจ้ามังระในพันธะแห่งจักรพรรดิราช ทำให้เสื่อมพระเกียรติยศไปทั่วแว่นแคว้น แต่ได้ปูนบำเหน็จให้กับลูกเมียที่อังวะและราชบุรีในความดีความชอบที่ได้พึงกระทำ.
.
แล้วจึงสั่งให้เชลยศึกศรีอยุธยาที่เหลืออยู่ นำพระบรมศพไปถวายพระเพลิงที่วัดพระศรีสรรเพชญ์08 พร้อมกับจัดการเฉลิมฉลองกองทัพในการพระราชสงครามที่พระเจ้าช้างเผือกทรงมีชัยชนะเหนือเมืองที่มิอาจต่อรบ ลงราบคาบได้ฉะนี้


ที่มาและคำอธิบาย:
01.  ใคร่ขอนำแกนเรื่อง ตอนที่ 25 นี้มาจากบทความของคุณวรณัย พงศาชลากร EJeab Academies เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า ที่แสดงไว้ใน Facebook เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 เป็นหลักในการบรรยาย รจนา ค้นคว้าและเรียบเรียง โดยตอนท้ายบทความระบุว่า ปรับปรุงสำนวนใหม่ จากเอกสารประกอบสัมมนาเรื่อง “ยุทธภูมิสุริยาศน์อมรินทร์ 2302 - 2310” 20 มิถุนายน 2545 มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น
.
*** เขียนขึ้นด้วยระลึกถึง การต่อสู้ของทหารหาญแห่งกรุงศรีอยุธยา 
ที่ไม่เคยอ่อนแอ ไม่เคยยอมแพ้ ต้องตายคาพระนครอันเป็นที่รักนับเรือนหมื่นเรือนแสน
.
แต่กลับไม่เคยมี ...อนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถาน ใด ๆ ของพวกเขา ให้เห็นจนทุกวันนี้ครับ

02.  จากการที่ผมได้ไปทัศนศึกษากับชมรมพิพิธสยาม ระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2560 เมื่อได้ชมค่ายสีกุก จากการบรรยายของ อจ.ปัทพงษ์ ชื่นบุญ ก็ทราบว่า ที่นี่เป็นค่ายที่แม่ทัพมังมหานรธา ยกทัพมาจากทางใต้ ได้มาตั้งทัพที่นี่ และเสียชีวิต ณ ค่ายสีกุกนี้ ในเวลาต่อมา เนเมียวสีหบดี จึงเป็นแม่ทัพนายกองขั้นสูงสุดในการโจมตีกรุงศรีอยุธยา (รายละเอียดดูใน http://huexonline.com/knowledge/24/173/ )
03.  ผมเคยได้รับฟังจากนักวิชาการประวัติศาสตร์ (อาจารย์เทพมนตรี ลิมปะพยอม) ว่า พม่าไม่ได้ขุดดินทางสะพานหัวรอ หรือ ป้อมมหาไชยแต่อย่างใด แต่เป็นการยิงปืนใหญ่เข้ามา ซึ่งนักวิชาการทางประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ก็จะต้องทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป เพื่อหาข้อเท็จจริง.
04.  ทหารสวามิภักดิ์จากพม่านี้ มีทั้งมอญ คนไทยตามรายทางต่าง ๆ ที่ทัพพม่าจากทางทิศตะวันตก นำโดยมังมหานรธาเป็นผู้ชักจูง กวาดต้อน หว่านล้อมมา กล่าวกันว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่หันไปช่วยเหลือพม่า เล็งเห็นว่าพม่าได้เปรียบมีโอกาสตีกรุงศรีฯ แตก จึงเอาตัวรอดเข้ามาฝ่ายพม่ากันเป็นจำนวนมาก.
05.  ประเด็นเรื่องการสวรรคตของพระเจ้าเอกทัศน์ ปัจจุบันยังมีการสันนิษฐานไว้อยู่สามแนวทาง คือ หนึ่ง) หลักฐานส่วนใหญ่ของไทยบันทึกไว้ว่าพระองค์เสด็จสวรรคตจากการอดพระกระยาหารเป็นเวลานานกว่า 10 วัน หลังจากที่เสด็จหนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก ใกล้กับวัดสังฆาวาส ทหารพม่าเชิญเสด็จไปที่ค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อเสด็จสวรรคต นายทองสุกได้นำพระบรมศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุตรงหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพขึ้นถวายพระเพลิงตามโบราชประเพณี (ที่มา: พระเจ้าเอกทัศครองเมืองกรุงศรีอยุธยา...ไม่สามารถ Search ค้นต้นตอใน internet ได้, 7 มิถุนายน 2561) สอง) ฝ่ายพงศาวดารพม่าระบุว่า เกิดความสับสนระหว่างการหลบหนีในเหตุการณ์กรุงแตก จึงถูกปืนยิงสวรรคต (สอดคล้องกับบทความข้างต้น) ที่ประตูท้ายวัง (ที่มา: กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช 1128-1144. พิมพ์ครั้งที่ 4; พระนคร : โรงพิมพ์กรมตำรากระทรวงพระธรรมการ, 2472. หน้า 23. และ สุนทรภู่, นิราศสุนทรภู่ ตอนนิราศพระบาท (พระนคร: คุรุสภา 2519) หน้า 123-124.)) และ สาม) ส่วนคำให้การของแอนโทนี โกยาตัน ตำแหน่ง Head of the foreign Europeans เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2311 มีว่า "กษัตริย์องค์ที่สูงวัย [พระเจ้าเอกทัศ] ถูกลอบปลงพระชนม์โดยชาวสยามเช่นเดียวกัน" หรือไม่พระองค์ก็ทรงวางยาพิษตนเอง(ที่มา: จรรยา ประชิตโรมรัน, การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310, กรุงเทพ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542.). ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 7 มิถุนายน 2561.
06.  เซงพยูเชง หมายถึง พระเจ้ามังระ หรือบ้างก็เรียก ซินพะยูชิน (Hsinbyushin) คำว่า "เซงพยูเชง" นี้ เป็นพระนามที่พระองค์ตั้งเอง อันเป็นพระนามเดียวกับพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งแปลว่า "พระเจ้าช้างเผือก" ก่อนที่จะยกทัพตีอยุธยา พระเจ้ามังระได้ยกความชอบธรรมเหนือดินอยุธยามาแต่ครั้งพระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนอง.
07.  เป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกับ สันนิษฐานในข้อ หนึ่ง) ของ 05. ข้างต้น ซึ่งจะต้องมีการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงต่อไปในเบื้องหน้า.
08.  วัดพระศรีสรรเพชญ์

ภาพวัดพระศรีสรรเพชญ์ปัจจุบัน ถ่ายเมื่อ 26 พ.ย.2560.
 
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: แบบจำลองวัดพระศรีสรรเพชญ์  และเศียรของพระพุทธรูป สันนิษฐานว่า
เป็นพระประธานของวิหารพระศรีสรรเพชญ์ดาญาณ ปัจจุบันแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร ในพระที่นั่งศิวโมกข์

09.  เอกสารอ้างอิง
      - ต่อ, นาย, ผู้แปล. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (พงศาวดารพม่า ฉบับหอแก้ว)
      - พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
      ภาพประกอบ : แผนผังการตั้ง “ค่ายเมือง” ของพม่าทั้ง ๒๗ แห่งตามที่บรรยายใน Yodayar Naing Mawgun (จากบทความ “ ‘Yodayar Naing Mawgun’, by Letwe Nawrahta : A Contemporary Myanmar Record, Long Lost, of How Ayutthaya Was Conquered,” p. 10.)
      ตัวอักษรภาษาอังกฤษคือตำแหน่งของ “ค่ายเมือง” พม่าทั้ง ๒๗ แห่งที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนตัวเลขอารบิคคือสถานที่ตั้งค่ายในพงศาวดารไทย

 
humanexcellence.thailand@gmail.com