MENU
TH EN

อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ

First revision: Apr.10, 2017
Last revision: Aug.04, 2018

I. ระหว่างวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 8-9 เมษายน 2560 ผมได้ร่วม "กิจกรรมเคลื่อนพล 250 ปี รฤกการเสียกรุงศรีอยุธยา"01 ของชมรมพิพิธสยาม" วิทยากร, นักวิจัยภาคสนามและเจ้าหน้าที่ของกิจกรรมนี้ประกอบด้วย 1) คุณพุทธิกร วัชรยุคลธร (คุณปู-หัวหน้ากิจกรรม) 2) คุณสุรเจตน์ เนื่องอัมพร (นักประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา) 3) อาจารย์ปัทพงษ์ ชื่นบุญ (สถาบันอยุธยาศึกษาฯ - มรภ.พระนครศรีอยุธยา) และ 4) คุณสลาศัย กันลัยพันธุ์ (คุณยุ้ย) และ

II. 
นอกจากนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 256001 ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมทริปถือเป็นการเรียนครั้งสุดท้ายของคอร์ส ประวัติศาสตร์ - โดยอาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม เป็นวิทยากรหลัก เรียนกันที่สตาร์บักส์ โซโห (แถว รพ.หัวเฉียว) ระหว่าง กรกฎาคม - พฤศจิกายน 2560 ร่วม 12 ครั้ง (สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เรียนกันในวันอาทิตย์ ช่วง 13:30-16:40 น. หรือล่วงเลยกว่านั้น แล้วแต่ประเด็นที่มีการซักถาม ความซับซ้อนของประเด็น
ในคลาสมีสมาชิกที่สนใจเรียนร่วม 32 ท่าน มาจากหลากหลายอาชีพ ที่ล้วนสนใจประวัติศาสตร์กัน
 

III. และวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม 2561 ที่จะถึง เพื่อน ๆ สวนกุหลาบ รุ่น 98 ห้อง 5/7 ให้ผมเป็นวิทยากรในการนำเที่ยวกรุงศรีฯ ทั้งทางบกและทางเรือ ผมก็ต้องศึกษาเตรียมข้อมูลให้พร้อม (ผมมาสำรวจเส้นทางอีกครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 61) วางแผนการเดินทางตามทริป และกำหนดข้อมูลการบรรยายให้ดี พร้อมภาพประกอบ ที่จะส่งเป็น PDF ลงในไลน์กลุ่ม ก่อนการเริ่มบรรยายสักหนึ่งชั่วโมง โดยการเดินทางชมทางเรือ ผมจะอิงแนวทางของกิจกรรม I. และการชมภายในบริเวณมหาราชวัง ผมจะอิงทริปกิจกรรม II.

กำหนดการกิจกรรม I. มีดังนี้:
 
วันเสาร์ที่ 8 เมษายน 2560 กิจกรรม
07:30 น. พบกัน ณ จุดนัดพบ ภายในปั๊ม ปตท.สนามเป้า ถนนพหลโยธิน ติดททบ.5 เยื้องโรงพยาบาลพญาไท 2 ได้รับน้ำดื่มและแม็คโดนัลเบอร์เกอร์
08:00 น. ออกเดินทางจากกรุงเทพมากรุงศรีอยุธยา (มีผู้มาร่วมกิจกรรมรวม 11 ท่าน แบ่งการเดินทางออกเป็นรถตู้ 2 คัน)
09:20-12:00 น.
  • มาถึงอาคารสวนหลวง ในมรภ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษ "การกำเนิด และการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา" โดย อ.อัมรา หันตรา ประธานชมรมเรารักพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา.
 

 
  • ท่านอาจารย์อัมรา ได้ให้ความรู้ปูพื้น แสดงที่มาและความเป็นไปของอยุธยาได้เป็นอย่างดี ได้มีการพูดคุยซักถามประเด็นต่าง ๆ กับวิทยากร จนถึง 12:00 น. พร้อมถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก
  • ผมได้ซักถามเรื่อง "เมืองเชียงกราน อยู่ที่ไหนครับ?" ท่านอ.อัมรา กล่าวว่ามีสันนิษฐานสองประเด็น หนึ่ง) เมืองเชียงไกร หรือเมืองเชียงกราน อยู่แถบเมืองกำแพงเพชร สอง) อยู่แถบเมืองทวาย ตะนาวศรีและมะริด ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ชนชาติมอญอาศัยอยู่ เป็นจุดสำคัญที่เป็นการรบครั้งแรก  (รบกันรวม 24 ครั้ง) ระหว่างไทยกับพม่าในสมัยพระไชยราชาธิราช (พ.ศ.2077-2089) กับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งหงสาวดี (24 พฤศจิกายน พ.ศ.2073 - 30 เมษายน พ.ศ.2093) การรบครั้งแรกนี้ ไทยชนะ.
12:00-13:00 น.
  • คณะมาร่วมรับประทานอาหารกันในตัวเกาะกรุงเก่า ชื่อร้าน "ชายน้ำ" เป็นร้านอาหารพื้น ๆ รสชาติดี อยู่ติดริมแม่น้ำป่าสัก ก่อนจะตรงเข้าไปยังหัวรอ
13:00-16:00 น.
  • จากนั้น คณะก็มาล่องเรือชมรอบเกาะอยุธยา มาลงเรือกันที่ท่าน้ำหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจันทรเกษม (หรือพระราชวังหน้า วังจันทรเกษม เดิม)  ฝั่งตรงข้ามเป็นวัดมณฑป02.
 
 02

 02
  • อากาศร้อนอบอ้าวมาก เรือแล่นมาทางแม่น้ำลพบุรี ผ่านวัดมณฑป วัดแค03 (มีพระรูปหลวงพ่อทวดประดิษฐานอยู่ริมน้ำ) ผ่านวัดช่องลม อ้อมขวาเข้ามาทางแม่น้ำป่าสัก (คลองทราย) ที่ขุดขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 (เพื่อชะลอความเชี่ยวและแรงน้ำวน ที่กัดเซาะฝั่งด้านวัดตองปุและพระราชวังจันทรเกษม ) ผ่านวัดนางชีเข้าแม่น้ำป่าสักเส้นเดิม (ดูแผนที่ข้างต้น) เรือแล่นผ่านวัดพิชัยสงคราม04 ลอดใต้สะพานปรีดี-ธำรง05 วัดเกาะแก้ว06 ผ่านวัดสุวรรณดารามราชวรวิหาร07 วัดกล้วย08 ป้อมเพชร09 วัดพนัญเชิง10 ป้อมสัตกบ11 ปากแม่น้ำลพบุรี12 โรงเรือพระราชพิธี13  วัดเชิงท่า14 เป็นต้น
 

 
  • ตรงหัวรอหรือทำนบรอนี้ มีประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ เป็นจุดที่อริราชศัตรูและกบฎต่าง ๆ มักจะใช้เป็นจุดเริ่มต้นที่เข้าตีกรุงศรีอยุธยา เช่น
    • กองทัพพระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนอง ในคราวเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่หนึ่ง. พ.ศ.211219.
    • พระยาละแวก พ.ศ.211320 พุทธศักราช 2113 พระปรมินทราชา (พระยาละแวกองค์ที่ 2) โจมตีกรุงศรีอยุธยา และหัวเมืองรอบนอก
    • กบฎธรรมเถียร เป็นกบฏไพร่ครั้งแรกในสมัยพระเพทราชา (พ.ศ.2227) 

ภาพ "กบฏธรรมเถียร" กบฏไพร่ครั้งแรกในสมัยพระเพทราชา เป็นกบฏที่สร้างความปั่นป่วนให้กับทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยาอย่างมาก ภาพนี้เป็นจิตรกรรมจากโครงภาพพระราชพงศาวดาร เขียนสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระคด, ที่มา:www.silpa-mag.com, วันที่สืบค้น 2 กรกฎาคม 2561.
 
  • ทั้งนี้เพราะความกว้างลำน้ำลพบุรีช่วงนี้แคบ
  • ซึ่งแต่สถานที่ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวและความสำคัญในเหตุการณ์วันเสียกรุงฯ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เริ่มตั้งแต่เวลาบ่ายสามโมงเป็นต้นมา ไฟได้เผาไหม้กรุงศรีอยุธยาโชติช่วงสว่างไสวไม่มีดับเป็นระยะเวลา 15 วัน18 นับเป็นการสูญเสียและเสียหายอย่างไม่มีวันที่จะกอบกู้ฟื้นคืนราชธานีแห่งนี้กลับคืนมาได้อีกเลย.
  • น่าเสียดายที่ผมตั้งกล้องถ่ายภาพไว้ไม่ค่อยดี ได้ภาพมืดไปมาก (ค่อยกลับมาถ่ายใหม่ในคราวต่อ ๆ ไป) 
16:00-17:30 น.
  • เข้าชมในเขตพระราชวังโบราณกรุงศรีอยุธยา ชมสถานที่ต่าง ๆ พระที่นั่ง ปราสาทราชมณเฑียร ที่ได้รับความเสียหายจากการเผาทำลาย และบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ภายในพระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งและเป็นที่กล่าวขานถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ถูกพม่าเผาทำลายลอกเอาทองคำที่ห่อหุ้มองค์พระไป (ประเด็นเรื่องพม่าเผาวัดเผาองค์พระเพื่อลอกทองนั้น ปัจจุบันได้รับข้อสังเกตใหม่ ๆ ทำนองว่าพม่าจะเผาทำลาย เฉพาะส่วนที่เป็นปราสาทราชมณเฑียร ศูนย์กลางบัญชาการสั่งการจัดการมากกว่า วัดวาอารามไม่น่าถูกทำลาย เพราะพม่าก็เป็นพุทธศาสนิกชนเหมือนคนไทย-ดังเช่น รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ได้อธิบายว่าพระเศียรพระพุทธรูปที่แสดงในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่เป็นพระเศียรของพระประธานพระวิหารพระศรีสรรเพชญดาญาณ ด้วยรูปแบบศิลปะขนาด ความเก่าแก่ นั้นไม่มีคราบคาร์บอน เขม่าควันจากการเผาแต่อย่างใด)
 
  • จากนั้น คณะก็ได้เข้าชมแบบจำลองพระราชวังโบราณอยุธยาที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ ทำให้เห็นภาพในอดีตของพระที่นั่ง มหาปราสาทราชมณเฑียรต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น. 
  • เดินมาทางหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิไพชยนต์ ฟังอาจารย์บรรยาย ได้ครู่หนึ่งก็กลับ
17:30-18:15 น. เข้าที่พัก พักผ่อนตามอัธยาศัย
18:15-19:45 น. รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน เป็นร้านตามสั่ง นั่งห้อยขาริมน้ำ

 
 
วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2560 กิจกรรม
06:00 น. อรุณสวัสดิ์พระนครศรีอยุธยา / สรีระกิจ
06:30-07:30 น. เดินไปยังร้านอาหารอยู่ตรงหัวมุมถนนร่วมกัน ทานอาหารเช้ากันที่ร้านเกาเหลาเลือดหมู ก๊วยจั๊บ รสชาติดี ไม่เค็มมากนัก
08:15-13:00 น.
  • เริ่มกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ณ สถานที่จริงตามที่บันทึกไว้ในพงศาวดารและคำให้การของชาวกรุงศรีฯ ถึงสถานที่ต่าง ๆ ในวันกรุงแตก ว่าแต่ละสถานที่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อเป็นอนุสติในการเรียนรู้ร่วมกัน ในช่วงเช้ารวมสามสถานที่
  1. วัดเชษฐ์เทพบำรุง เป็นวัดที่อยู่นอกเขตเกาะเมืองอยุธยา เป็นอีกหนึ่งจุดทางยุทธศาสตร์ของพม่าที่รื้ออิฐจากวัดแห่งนี้ เพื่อนำไปทำค่าย และไม่ไกลกันนักก็ปรากฎค่ายเล็กใหญ่อีกประมาณสี่-ห้าค่าย อาทิ ค่ายวัดสุเรนทร์ ค่ายวัดเก่า ค่ายวัดพลับพลาไชย และทุ่งสนามรบในอดีต ซึ่งบริเวณนี้มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์อีกแห่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีผู้ที่ศึกษาและไปเยือนกันมากนัก.
 
  • ค่ายสีกุก ค่ายที่แม่ทัพมังมหานรธา15 ได้ยกทัพขึ้นมาตั้งค่ายเพื่อตีกรุงศรีอยุธยา หลังจากกวาดต้อนเชลยทางภาคใต้ของไทยขึ้นมากว่า 30,000 ชีวิต (อาจหมายรวมถึงชนชาติอื่น ๆ เช่น มอญ คนไทยบริเวณรอบ ๆ กรุงศรีฯ ที่ต้องเลือกข้างเพื่อความอยู่รอด) เพื่อโจมตีกรุงศรีอยุธยา ต่อมามังมหานรธามาเสียชีวิตลง ณ บริเวณค่ายสีกุกนี้ กล่าวกันว่ายังมีสถูปที่เก็บอัฐิของมังมหานรธาอยู่ที่นี่ แต่ปัจจุบันจากการค้นหายังไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าอยู่ส่วนไหนของค่ายสีกุกนี้.

จากการบรรยายของ อจ.ปัทพงษ์ ชื่นบุญ: เจดีย์ขนาดเล็กที่วัดสีกุก ดังภาพ
สันนิษฐานว่าบรรจุอัฐิของมังมหานรธา ซึ่งมักจะมีลูกหลานของแม่ทัพใหญ่พม่าท่านนี้มาเคารพกราบไหว้อยู่เสมอ 
  • ค่ายโพธิ์สามต้น เนเมียวสีหบดี16 ยกทัพไปตั้งที่ค่ายโพธิ์สามต้น เพื่อจะควบคุมเส้นทางน้ำ ซึ่งเป็นสายหลักในขณะนั้น และเป็นแหล่งชุมชนหนาแน่น เมื่อกรุงแตก ปี พ.ศ.2310 เมื่อกองทัพอังวะเข้ากรุงได้ก็จับเอาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายมาไว้ค่ายโพธิ์สามต้น ตั้งสุกี้พระนามกองเป็นผู้รักษากรุง แล้วทัพหลวงยกกลับอังวะ พร้อมกับครอบครัวชาวไทย และพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อเจ้าตากรวมพลได้แล้ว ก็ยกทัพเรือจากเมืองจันทบูร ขึ้นกรุงศรีอยุธยา ตีเมืองธนบุรีที่อังวะให้คนของตนเองรักษาไว้นั้นแตก ยกเข้าอยุธยาตีค่ายโพธิ์สามต้น ฟากตะวันออก.
13:00-13:45 น. ทานอาหารกลางวันกันที่ร้านอาหารไทย จัดเป็นเซ็ต รวมผัก เกี๊ยวทอดกรอบและขนมหวาน ราคาไม่แพง
13:45-18:00 น. เริ่มกิจกรรมการเรียนรู้ในภาคบ่าย
  • วัดแม่นางปลื้ม เป็นอีกวัดหนึ่งที่พม่ายึดเป็นค่าย ได้ตั้งเป็นบานบัญชาการการรบที่ยิงปืนใหญ่โจมตีเข้าไปในกำแพงพระนคร ด้วยเหตุนี้วัดจึงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ไม่ถูกเผาทำลายเช่นวัดอื่น ๆ ในเกาะเมือง
  • วัดสามพิหาร วัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมื่อคราวเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 วัดแห่งนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งค่ายพม่า บัญชาการโดยเนเมียวสีหบดี ที่รุกคืบมาจากค่ายโพธิ์สามต้น ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีฯ ที่ออกไปตั้งป้องกันพระนครอยู่ทางด้านเหนือ แตกกลับเข้ากรุงหมดทุกค่าย แล้วยกมาตั้งค่ายประชิดพระนครข้างด้านทิศเหนือ ที่วัดพระเจดีย์แดง วัดสามพิหาร วัดมณฑป วัดกระโจม วัดนางชี วัดนางปลื้ม วัดศรีโพธิ์ ให้ปลูกหอรบเอาปืนใหญ่น้อยขึ้นยิงเข้ามาในกรุงฯ ทุก ๆ ค่าย เมื่อเห็นว่าไทยอ่อนกำลังลงมาก ก็ให้นายทัพนายกองยกมาตั้งที่วัดสามพิหาร
  • วัดโลกยสุธา ได้ชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา โดยพระนอนองค์นี้ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ซึ่งก่ออิฐปูนยาว 42 เมตร และสูง 8 เมตร พระเศียรเป็นแบบพระพุทธรูปทรงเครื่อง หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ มีความโดดเด่นตรงที่พระเศียรซึ่งทำเป็นดอกบัวซ้อนกันรองรับไว้แทนพระเขนย พระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก นิ้วพระบาทมีความยาวเท่ากัน.

 
  • วัดหน้าพระเมรุราชิการาม (วัดหน้าพระเมรุ) อีกวัดหนึ่งที่พม่าเข้ายึด และตั้งค่ายโจมตีกรุงศรีอยุธยา กล่าวกันว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระประธานภายในพระอุโบสถ เมื่อคราวพระเจ้าอะลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2303 (มีคำกล่าวสนุก ๆ กันทั่วไปว่า...วัดนี้ไม่ถูกเผา เพราะ ...หน้าพระเมรุ ผวนเป็น เณรพม่า เป็นเณรพม่าเสียแล้ว จะเผากันได้อย่างไร) พม่าได้ยกเอาปืนใหญ่มาตั้งที่วัดพระเมรุราชิการาม กับ วัดหัสดาวาส (วัดช้าง) พระเจ้าอะลองพญาทรงบัญชาการและทรงจุดปืนใหญ่เอง แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ เมื่อพระองค์จุดดินระเบิดเกิดระเบิดขึ้น จนทำให้ปากกระบอกปืนแตก สะเก็ดระเบิดลุกเป็นไฟ ต้องพระวรกายบาดเจ็บสาหัสประชวรหนักในวันนั้น พอรุ่งขึ้นพม่าเลิกทัพกลับไปทางเหนือ แต่ยังไม่ทันพ้นเมืองตาก พระเจ้าอะลองพญาก็สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

พระพุทธรูปในวิหารน้อย ข้างอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ17
  • วัดไชยวัฒนาราม ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 วัดไชยวัฒนารามถูกพม่ายึดและตั้งเป็นค่ายบัญชาการรบกับกรุงศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนาราม เป็นพระอารามหลวงสมัยอยุธยา ที่สร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 ซึ่งเป็นยุคที่ศาสนาเจริญรุ่งเรือง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นเมื่อ พ.ศ.2137 ในบริเวณนิวาสสถานของพระราชชนนี เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา วัดตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกของเกาะเมือง ตรงข้ามกับพระตำหนักสิริยาลัย ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา.
 
  • เดิมวัดไชยวนาราม มีชื่อว่า "วัดชัยวัฒนาราม" ซึ่งสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า วัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือกรุงละแวก จึงใช้คำว่า "ชัย" ที่หมายถึงชัยชนะ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "วัดไชยวัฒนาราม" โดยให้ "ไชย" หมายถึง "ไชโย" เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และครอบคลุมรวมทั้งหมด รวมถึงชัยชนะด้วย.
  • สำหรับการสร้างวัดนั้น สมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลาย ทรงแสดงปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด เท่ากับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด เนื่องจากพระองค์ทรงได้เมืองเขมรมาอยู่ใต้อำนาจ จึงได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมขอมเข้ามาใช้ในการสร้างพระปรางค์ของวัดไชยวัฒนารามนี้ด้วย โดยตั้งใจจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัดของกัมพูชา.
  • ความสำคัญของวัดนี้ นอกจากจะเป็นวัดที่มีความสวยงามและมีการก่อสร้างไม่เหมือนวัดอื่น ๆ แล้ว วัดนี้ยังเป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง พระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และกวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลาย และเจ้าฟ้าสังวาลย์ ซึ่งเป็นพระชายาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทั้งสองพระองค์ (เจ้าฟ้ากุ้งและเจ้าฟ้าสังวาลย์) ต้องพระราชอาญาจากการคบกัน ด้วยการโบยจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์.
  วัดที่ไม่ได้ไป ซึ่งมีอยู่ในโปรแกรม เพราะเวลาไม่เอื้ออำนวย
  • วัดกษัตราธิราช ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวออกชื่อวัดกษัตราธิราชเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2303 ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ความว่า: "ครั้น ณ เดือนห้า แรม 14 ค่ำ (ปีมะโรง โทศก จ.ศ.1122 พ.ศ.2303) พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้ง ณ วัดราชพลี วัดกษัตรา ยิงเข้าในกรุงพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงช้างต้นพลายแสนพลพ่ายไปทอดพระเนตรกำชับหน้าที่ ณ วัดสวนหลวงสพสวรรค์ และป้อมมหาชัย ครั้นเพลาเย็นพม่าเลิกทัพข้ามฟากไปข้างวัดภูเขาทอง..."
 
  • สรุปสาระจากการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจจากเหตุการณ์ในอดีตที่อาจหวนคืนจากการเสียกรุงศรีอยุธยา จากวันนั้น 7 เมษายน 2310 มาจนถึงปัจจุบัน (เมษายน 2560) เป็นระยเวลาร่วม 249 ปีแล้ว แต่ซากปรักหักพังของเมืองเก่าในอดีตที่ล่มสลาย ยังคงตระหง่านท้ากาลเวลาให้เราได้เรียนรู้ร่วมกันในปัจจุบัน.
  • สาระความรู้ที่คณะวิทยากรได้ร่วมเติมเต็ม จะเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ทำให้ทุกท่านตระหนัก และรู้รักสามัคคีความมั่นคงภายในชาติมิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นความสมัครสมานสามัคคีกันทั้งแผ่นดิน เพื่อมิให้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นอีก...
18:30 น.

คณะศึกษามอบของที่ระลึกให้กับวิทยากร พร้อมถ่ายรูปหมู่ร่วมกันเป็นที่ระลึก
19:15-20:30 น. เดินทางกลับกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ รถตู้ของคณะศึกษาได้มาส่งผมถึงปั๊มน้ำมันปตท.สนามเป้า พหลโยธิน ราว ๆ 2 ทุ่มครึ่ง


กำหนดการทริป II. เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2560 มีดังนี้
08:30-09:40 น. เดินทางด้วยรถโค้ช ออกจากหน้า โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว มาอยุธยา
ใช้เวลาเดินทางราว ๆ ชั่วโมงเศษ (ผมแทบจะหลับมาตลอดทางเลย เพราะเมื่อเช้าตื่นก่อนไก่ขันจริง ๆ ราว ๆ ตีสอง นอนไม่ค่อยหลับ ออกจากบ้านตีห้า ต่อมอเตอร์ไซค์ ขึ้นรถเมล์มาหน้าปากทาง โชเฟอร์ดันขับแถมให้อีกสองป้าย ต้องเดินเลาะ ๆ มาโรงแรมเซนทารา ผมมาถึงเช้าก่อนใครจริง ๆ พอราวเจ็ดโมงก็หิว หาข้าวเหนียวหนึ่งห่อ ไก่ทอดเจียงฮายอีกห่อหนึ่ง ซื้อที่เพิงรถเข็นหน้าโรงเรียนหอวัง พอบรรเทาไปได้ระดับหนึ่ง
09:40-10:45 น.
  • ผมเคลิ้มหลับมาตลอด พอรถโค้ชมาถึงหน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ อาจารย์ก็พาเราเข้าชมวัดและบริเวณพระราชวังกรุงเก่ากันเลย
  • ได้ข้อสันนิษฐานจากอาจารย์มากถึงการก่อสร้างพระเจดีย์ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เมื่อศึกษาในพงศาวดารและเทียบกับเอกสารอื่น ๆ ดูแล้ว เอกสารของ เยเรเมียส ฟานฟลีต (Jeremias van Vliet) หรือที่นักประวัติศาสตร์ไทยเดิมเรียก วัน วลิต นั้น ดูน่าจะมีความใกล้เคียงน่าเชื่อถือได้มากที่สุด

เยเรเมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias van Vliet)
หัวหน้าสถานีการค้าของ บริษัทอีสต์อินเดียตะวันออก ของดัตช์ (VOC-Niederlandischen Ostindien-Kompanie) 
ประจำอยุธยาใน พ.ศ.๒๑๗๖-๒๑๘๕ , ตรงกับสมัยพระเจ้าปราสาททอง 
ที่มา: www.europeana.eu, วันที่สืบค้น 28 พฤศจิกายน 2560.

 
เดินชมวัดพระศรีสรรเพชญ์ บริเวณพระราชฐานชั้นใน

ผมมายืนเต๊ะตรงหน้าทางเข้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ (ขณะนั้นรู้สึกเพลีย ๆ เพราะตื่นเช้าเกิน...!)
  • มีข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้ว่า การก่อสร้างพระราชวัง โบสถ์วัดวาอารามต่าง ๆ เริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่พระบรมไตรโลกนาถ และมีการก่อสร้างในอัตราเร่ง เติบโตอย่างสุด ๆ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
  • ได้รับฟังการบรรยายจากอาจารย์ ได้สังเกตเห็นความเป็นลูกผสมด้านวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยา รับเอาทั้งของเปอร์เซีย โปรตุเกส มอญ เขมร ด้วยเพราะความเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในภูมิภาคนี้ แม้ว่ากรุงศรีฯ จะอยู่ลึกเข้ามาจากอ่าวไทย แต่ทว่ากรุงศรีฯ มีทรัพยากรป่า แร่ ไม้ หนังเขาสัตว์ ฯ ที่มากมายมหาศาลมาจากทางตอนบนและตะวันออกเฉียงเหนือของสยาม ย่อมเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญอย่างที่ใครจะปฏิเสธไม่ได้.
  • กรุงศรีอยุธยาได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาหลายยุคหลายสมัย บ้างก็กลายเป็นการทำลายอย่างรู้เท่าไม่ถึงการ เริ่มจากการขนอิฐเก่าไปสร้างกรุงเทพฯ การขุดหาสมบัติมาตลอด
  • คณะเราเดินเข้ามายังพระราชฐานชั้นใน มีหลักฐานต่าง ๆ ให้ศึกษาน้อยมาก เหลือแต่ฐาน
  • อาจารย์เทพมนตรี นำคณะเดินเข้ามาภายในพระราชฐานชั้นใน โดยเฉพาะพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ชมส่วนด้านหลัง ที่เป็นบริเวณลาน ห้องสระสรงของพระมหากษัตริย์ มีซากปะการังที่มาประดับ สระที่รับน้ำเติมมาจากอาคารด้านหลัง สันนิษฐานว่ามีทั้งน้ำอุ่นน้ำเย็น บ่อพัก การนำน้ำจากคลองฉะไกรใหญ่ (คลองท่อ) และการนำน้ำออก วึ่งพอจะจินตนาการ เห็นภาพในอดีตได้มากทีเดียว
10:45-11:30 น. วัดหน้าพระเมรุ
11:30-12:40 น. วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร (วัดเสื่อ) วังหน้า
12:40-13:50 น. ทานก๋วยเตี๋ยวร่วมกัน
13:50-15:50 น. ชมวัดมหาธาตุ อยุธยา
15:50-17:45 น. ชมวัดไชยวัฒนาราม
17:45-20:20 น. ทานอาหารค่ำในเรื่อง ล่องแม่น้ำรอบเกาะกรุงเก่า
20:20-21:30 น. เดินทางกลับมายังกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ


 
ที่มาและคำอธิบาย

01.  ปรับปรุงและใช้เป็นแกนหลักในการอธิบายเรื่องราวในบล๊อกนี้. กำหนดการเอกสารแจก และกำหนดการของชมรมพิพิธสยาม ที่แสดงในเฟสบุ๊ค, วันที่สืบค้น 8 เมษายน 2560. และกำหนดการทริปของคลาสประวัติศาสตร์ โซโห ของอาจารย์เทพมนตรี ลิมปะพยอม.
02.  จาก. www.finearts.go.th/fad3/component/smilebook/book/7.html?page=14, วัดมณฑป ตั้งอยู่บนเกาะลอยด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา , วันที่สืบค้น 11 เมษายน 2560.
03.  วัดแค (ราชานุวาส) (Khae - Rajanuvas Temple) อยุธยา - เป็นวัดมอญ ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวรอ บริเวณเกาะลอย ตรงข้ามวันจันทรเกษม  หรือตรงข้ามตลาดวังจันทร์ อันเป็นที่ตั้งของสนามพระในปัจจุบัน วัดแคเป็นวัดที่มีชื่อเสียง ซึ่งหลวงพ่อทวด (ท่านเป็นคนอำเภอสทิงพระ จว.สงขลา เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนสี่ ปีมะโรง พ.ศ.2125) เคยมาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ (ราว 9 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2148-2157) ขณะนั้นหลวงพ่อทวดมีอายุราว 32 ปี  วัดแคเป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนกลาง มีโบราณสถานร่วมสมัยหลงเหลือน้อยมาก, ที่มา: www.tumsrivichai.com, วันที่สืบค้น 06 พฤษภาคม 2560.  
04.  วัดพิชัยสงคราม วัดนี้กล่าวกันว่า เป็นจุดแรกที่ "เจ้าตาก" รวมพลทหารหาญที่นี้ และทำสัตยาอธิษฐานขอพรต่อพระประธาน (พระพุทธพิชัยนิมิตรหรือหลวงพ่อใหญ่) เตรียมตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางทิศตะวันออก, วัดพิชัยฯ นี้ตั้งอยู่ที่ 155 ม.11 บ้านบาตร ต.กระมัง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟ เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำป่าสัก สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ราว พ.ศ.1900 มีนามปรากฎในราชพงศาวดารว่า "วัดพิชัย" บ้างก็เขียนว่า "วัดพิไชย" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "วัดพิชัยสงคราม"  ที่มา: www.faiththaistory.com/wat-pichai และ www.thailandtemples.org/watpichaisongkram, วันที่สืบค้น 15 พฤษภาคม 2560.
 
สะพานปรีดี-ธำรง, ที่มา: www.siamfishing.com, วันที่สืบค้น 19 พฤษภาคม 2560.

05.  สะพานปรีดี-ธำรง (Pridi-Thamrong Bridge) เป็นสะพานคอนกรีตข้ามแม่น้ำป่าสักเข้าเกาะเมืองอยุธยา แห่งแรก เชื่อมการคมนาคมทางบกมาสู่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2483 สะพานยาว 168.60 เมตร สร้างเสร็จและเปิดใช้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2486 ตรงกับวันเกิดของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมอบหมายให้นาวาเอกถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมาเป็นประธานพิธีเปิดสะพาน นายกรัฐมนตรีให้ชื่อสะพานนี้ว่า "สะพานปรีดี-ธำรง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชาวอยุธยาที่ได้เป็นผู้บริหารประเทศทั้งสองคน คือ ฯพณฯ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ และพลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ถึงแม้ในปัจจุบัน กรมทางหลวง จะสร้างสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสะพานสมเด็จพระเอกาทศรถ เพื่อใช้งานแทนสะพานแห่งนี้ แต่สะพานแห่งนี้ก็ยังคงความสง่างาม และยังใช้งานให้เฉพาะรถยนต์ขนาดเล็ก และรถจักรยานยนต์สัญจรอยู่. ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 19 พฤษภาคม 2560.
06.  วัดเกาะแก้ว เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ตะวันออก หรือริมปากคลองข้าวสารฝั่งใต้ ตรงกันข้ามกับวัดรัตนชัย (วัดจีน) ในท้องที่ ตำบลกะมัง อ.พระนครศรีอยุธยา จว.พระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ วัดนี้มีประวัติมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ระหว่างปี พ.ศ.2091 วัดเกาะแก้วนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2301 วัดเกาะแก้วนี้ เคยเป็นที่ตั้งค่ายของกองทัพไทย ค่ายหนึ่งในจำนวนเก้าค่ายด้วยกัน คือ
ด้านทิศเหนือ ตั้งค่ายที่วัดหน้าพระเมรุ และเพนียดคล้องช้าง
ด้านตะวันออก ตั้งค่ายที่วัดมณฑป และวัดเกาะแก้ว (พระยาวชิรปราการ)
ด้านใต้ ตั้งค่ายที่บ้านสวนพลู (หลวงอภัยพิพัฒน์ ขุนนางจีน คุมพวกจีนบ้านในไก่ จำนวน 2,000 คน) วัดพุทไธสวรรย์ (พวกคริสตัง)
ด้านตะวันตก ตั้งค่ายที่วัดไชยวัฒนาราม (กรมอาสาหกเหล่า)
.ที่มา. www.thailandtemples.org, วันที่สืบค้น 05 มิถุนายน 2560.
07.  วัดสุวรรณดารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมป้อมเพชร ต.หอรัตนไชย อ.พระนครศรีอยุธยา จว.พระนครศรีอยุธยา พระอัยกา (ปู่) ในรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีฯ ชื่อว่าวัดทอง เป็นวัดของฝ่ายวังหน้า ต่อมาเมื่อ รัชกาลที่ 1 ครองราชย์ ได้โปรดฯ ให้บูรณะวัดนี้ทั้งหมด ถือว่าวัดนี้เป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัด ตัวโบสถ์จะตกท้องช้าง ทำให้คล้ายท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นการเปรียบพระพุทธศาสนาดั่งนาวาธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์สมัยอยุธยา.
         
ภาพภายในพระอุโบสถ  ภาพเขียนยุทธหัตถีของพระนเรศกับพระมหาอุปราช และพระประธานตลอดจนภาพ
รายละเอียดต่าง ๆ ภายในพระอุโบสถ, ที่มา: 2g.pantip.com, วันที่สืบค้น 20 มิถุนายน 2561.
 

ตัวพระอุโบสถจะตกท้องช้าง คล้ายท้องเรือสำเภา, ที่มา: 2g.pantip.com, วันที่สืบค้น 20 มิถุนายน 2561.

     ภายในวัดมีจิตรกรรมฝาผนังรูปยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศมหาราช ต้นฉบับที่เคยเห็นกันในหนังสือเรียน วาดโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร จิตรกรเอกของรัชกาลที่ 6 ด้านบนของผนังภายในพระอุโบสถรายล้อมไปด้วยภาพเทพพนมนับร้อยองค์ลอยอยู่ในวิมาน ที่มีขนาดลดหลั่นกันตามระยะใกล้-ไกล ตามลักษณะของทัศนียภาพแบบตะวันตก ที่เคยมีการวาดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนด้านล่างของผนังเป็นภาพเรื่องราวของมหาเวสสันดรชาดกและสุวรรณสามชาดก.(ที่มา: th.wikipedia.org, 2g.pantip.com, วันที่สืบค้น 20 มิถุนายน 2561.)
08.  วัดกล้วย ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 บ้านกล้วย ตำบลกะมัง อ.พระนครศรีอยุธยา จว.พระนครศรีอยุธยา กล่าวกันว่าเป็นวัดแห่งพระธาตุและแหล่งกราบไหว้ครูบาที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราว ๆ พ.ศ.2500 ด้วยสภาพที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก นอกเกาะเมืองกรุงศรีฯ จึงกลายเป็นที่จอดเรือสินค้าที่ล่องมาจากภาคเหนือ จนเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำที่สำคัญ อีกทั้งเคยเป็นสมรภูมิรบและค่ายทหารของพระเจ้าตากสินมหาราช, ที่มา: thai.tourismthailand.org, วันที่สืบค้น 20 มิถุนายน 2561.
         
ภาพวัดกล้วย, ที่มา: www.วัด.ไทย, วันที่สืบค้น 20 มิถุนายน 2561.
 
09.  ป้อมเพชร เป็นป้อมที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ในตำบลหอรัตยไชย อ.พระนครศรีอยุธยา อยู่บริเวณบางกะจะ จุดบรรจบของแม่น้ำสามสายคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ป้อมเพชรเป็นป้อมสำคัญที่สุดในบรรดา 29 ป้อม ที่ในปัจจุบันหลงเหลืออยู่สองป้อม (ป้อมเพชรและป้อมประตูข้าวเปลือก) ทำหน้าที่ป้องกันข้าศึก ที่มาทางน้ำตรงมุมพระนคร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ.2123.
         
ป้อมเพชร, ที่มา:workpointnews.com, และ youtube.com, วันที่สืบค้น 24 มิถุนายน 2561.

       กรุงศรีอยุธยา สถาปนาเป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ.1893 กำแพงเมืองและป้อมเมื่อเริ่มสร้างนั้นทำจากไม้ ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (กษัตริย์องค์ที่ 15) ได้ขยายขอบเขตราชธานีไปถึงตลิ่งแม่น้ำ จึงได้มีการสร้างกำแพงด้วยอิฐและศิลาแลงขึ้น โดยใช้อิฐก่ออยู่บนคานไม้ ที่ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับอยู่ด้านล่าง ป้อมเพชรก่อด้วยอิฐและศิลาแลง หนา 14 เมตร มีเชิงเทินใบเสมารวม 6.50 เมตร มีช่องปืนใหญ่แปดช่อง ที่ก่อเป็นรูปโค้งมนครึ่งวงกลม ลักษณะรูปทรงป้อม เป็นแบบหกเหลี่ยม ยื่นออกไปจากแนวกำแพงเมือง.
        จุดนี้เป็นท่าเรือสินค้าที่สำคัญ รวมทั้งเป็นย่านที่พักอาศัยของพ่อค้าชาวจีน ฮอลันดา และฝรั่งเศส
        คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม บรรยายถึงป้อมเพชรไว้ว่า "ป้อมปืนใหญ่ก่อด้วยศิลาแลงมั่นคงแข็งแรง สูงสามวาสองศอก ป้อมนี้สูงกว่ากำแพงกรุงสองศอก (กำแพงสูงหกเมตร ป้อมสูงหกเมตร 50 ซม.) มีชานชาลารอบป้อมกว้างสามวา มีกำแพงแก้วล้อมรอบชานป้อม มีประตูช่องกุฎข้างซ้ายป้อมประตูหนึ่ง ข้างขวาป้อมประตูหนึ่ง ประตูทั้งสองนั้น เดินออกตามชานป้อมใหญ่ได้รอบป้อม มีปืนแซก(แทรก)ตามช่องแปดกระบอก ชั้นล่างปืนใหญ่รางเกวียนบรรจุทุกช่อง 16 กระบอก ป้อมใหญ่นี้มีชื่อ ป้อมเพชร ตั้งอยู่ตรงแม่น้ำตะลาดบางกระจะ" ป้อมเพชรมีรูปร่างเหมือนหัวสำเภา คนแต่ก่อนเรียกย่านหัวสาระภา บริเวณนี้ยังเป็นย่านการค้าของชาวจีนตั้งแต่ป้อมเพชร มีตลาดใหญ่ (ย่านในไก่) ต่อเนื่องตลาดน้อย จนถึงวัดสุวรรณดาราม (วัดทอง) ยังเป็นที่ตั้งหลักแหล่งเดิมของรัชกาลที่หนึ่ง มีบรรพชนชื่อทอง.
        หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ป้อมเพชรยังคงเป็นด่านปราการสำคัญของเมือง พอถึงสมัยรัชกาลที่หนึ่ง สร้างราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ โปรดให้รื้อป้อม กำแพง นำอิฐเหล่านั้นมาสร้างเมืองใหม่ แต่ยังคงเหลืออยู่แต่ป้อมเพชรไว้ เพราะป้อมเพชรสร้างด้วยศิลาแลง จึงรื้อถอนลำบาก พระยาโบราณราชธานินทร์อธิบายไว้ว่า "จึงยังคงเหลืออยู่แต่ป้อมเพชร์กับป้อมประตูข้าวเปลือกข้างวัดท่าทราย แลเศษกำแพงที่หน้าวัดญาณเสนแห่งหนึ่ง เศษกำแพงมีประตูช่องกุฎิ์ที่ข้างวัดจีน ตรงวัดพนัญเชิงข้ามแห่งหนึ่งเท่านั้น ตามสันเชิงเทินรากกำแพงที่รื้ออิฐไป ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำก็ถือเอาเป็นที่หลังบ้านของตนทั่วกัน".
        ในสมัยรัชกาลที่หก ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล ณ ป้อมเพชร์ ให้แก่พระสมุทบุรานุรักษ์ (ขำ) ขณะประทับแรมที่อ่างศิลา พ.ศ.2456 ด้วยบรรพบุรุษของพระสมุทฯ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณป้อมเพชร. (ที่มา:th.wikipedia.org,และ ww2.ayutthaya.go.th, วันที่สืบค้น 24 มิถุนายน 2561.)  
10. วัดพนัญเชิง หรือ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย มีจุดเด่นสำคัญ คือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา.

 
 
พระพุทธไตรรัตนนายก ภายในวิหาร, ที่มา: commons.wikimedia.org, วันที่สืบค้น 29 มิถุนายน 2561.

       วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้างตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิง และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวไว้ว่า ได้สถาปนาพระพุทธรูปพุทธเจ้าพแนงเชิง เมื่อปี พ.ศ.1867 ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี.
       พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง 20 เมตรเศษ สูง 19 เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เคยได้รับความเสียหายในสมัยเสียกรุงฯ ครั้งที่สอง แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2394 ได้โปรดเกล้าให้บูรณะใหม่หมดทั้งองค์ และพระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่รู้จักกันในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื้อสายจีนว่าหลวงพ่อซำปอกง คำว่าพแนงเชิง มีความหมายว่า นั่งขัดสมาธิ ฉะนั้นคำว่า วัดพนัญเชิง (วัดพะแนงเชิง หรือวัดพแนงเชิง) จึงหมายถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยคือหลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก นั่นเอง หรืออาจสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น พระนางคงนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากกว่านั่งพับเพียบ จึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางเสียชีวิต ดังนั้นถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำว่า วัดพนัญเชิง ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต., ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 29 มิถุนายน 2561.
11.  ป้อมสัตกบ หรือป้อมซัดกบหรือป้อมท้ายกบ เป็นป้อมใหญ่อยู่ตรงบริเวณหัวแหลมจุดที่แม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำเจ้าพระยามาบรรจบกัน เป็นป้อมมุมพระนครด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยาคืออยู่ในแถวที่ข้างเหนือโรงทหารทุกวันนี้ ที่คิดว่าป้อมนี้เป็นป้อมซัดกบ ก็เพราะมีความในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพะม่ายกมาตีกรุงในครั้งหลัง พระศรีสุริยภาค (น่าจะเป็นพระศรีสุริยพาห) นายป้อมซัดกบประจุปืนมหากาฬมฤตยูราช 2 สัด 2 นัด ยิงค่ายพม่าวัดภูเขาทอง เพราะหน้าป้อมนี้ก็ตรงไปทางลำน้ำภูเขาทองด้วย. ที่มา:th.wikisource.org, และหนังสือ "อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย" โดยปวัตร์ นวะมะรัตน หน้าที่ 62, วันที่สืบค้น 29 มิถุนายน 2561
12.  ปากแม่น้ำลพบุรี อยู่ตรงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเมือง เป็นแนวบรรจบกันของแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีป้อมในเกาะเมืองสองป้อมหันหน้าออกยังปากแม้น้ำคือ ป้อมท้ายกบหรือสัตกบ และป้อมปืนใหญ่ศุภรัตน์ เหนือขึ้นไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา (ด้านซ้ายตรงข้ามกับเกาะเมือง) จะมีอู่เรือรบน้ำจืด.
13.  โรงเรือพระราชพิธี หรือ อู่เรือพระที่นั่ง จะริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี ทางเหนือของเกาะเมืองตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง.
14.  วัดเชิงท่า หรือ วัดโกษาวาส เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงผนวช
เป็นวัดที่มีการก่อสร้างบูรณะต่อ ๆ กันมาตั้งแต่อยุธยาตอนต้น มาเรื่อย ๆ ตามลำดับจนถึงรัชกาลที่ 4 และ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ภาพเขียนในศาลาการเปรียญ) มีธรรมาสน์สวด หรือ "สังเค็ด" ไม้สมัยอยุธยาตอนปลาย มีปรางค์ใหญ่และเจดีย์รายอันตั้งอยู่เป็นกลุ่มหน้าอุโบสถ มีรูปทรงแปลก ๆ มีทั้งเจดีย์เหลี่ยมและเจดีย์ทรงลังกา อีกทั้งเจดีย์กลม (ที่มา: ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา น. ณ ปากน้ำ, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2558, หน้า 63
 

15.  มังมหานรธา (Maha Nawrahta) อ่านเป็นสำเนียงพม่าได้ว่า มิน-หม่ะ-ห๊า-หน่อ-ด่า (คำว่า มัง ในภาษาไทยหรือ มิน หรือ เมง ในภาษาพม่าแปลว่า เจ้า ส่วนคำว่า มหานรธา เป็นชื่อบรรดาศักดิ์) เป็นแม่ทัพพม่าที่ยกทัพจำนวน 30,000 นาย มาจากเมืองทวายผ่านทางทิศใต้ของไทย เข้ามาร่วมรวมพลในแขวงเมืองราชบุรี แล้วจัดให้ "เมขะระโบ" คุมกองทัพเรือยกไปทางแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน เพื่อเข้าตีเมืองธนบุรี เมืองนนทบุรี ขึ้นไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา ส่วน "มังมหานรธา" คุมกองทัพบกยกไปทางเมืองสุพรรณบุรี ตรงไปยังกรุงศรีฯ พม่าล้อมกรุงศรีฯ นาน 14 เดือน มังมหานรธาก็เสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บราว ๆ เดือนมีนาคม พ.ศ.2310 ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ไทยเราจะเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่สอง เนเมียวสีหบดีจึงเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการรบแต่เพียงผู้เดียว, ที่มา: www.vcharkarn.com, rb-history.blogspot.com (อ้างถึงหนังสือ: มณฑลราชบุรี (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือไทย. (หน้า 245-247)), และ th.wikisource.org, วันที่สืบค้น 07 พฤษภาคม 2560.
16.  เนเมียวสีหบดี (Ne Myo Thihapate หรือ Nemyo Thihapte หรือ Nemiao Sihabodi) เป็นแม่ทัพพม่าที่บุกมาทางทิศเหนือ สามารถเอาชนะกรุงศรีอยุธยาได้พร้อมกับการบรรจบของแม่ทัพคนสำคัญที่บุกมาทางทิศใต้ มังมหานรธา (Maha Nawrahta) เมื่อเมษายน พ.ศ.2310, ที่มา: en.wikipeida.org, วันที่สืบค้น 07 พฤษภาคม 2560.
17.  ที่มา: th.wikipedia.org, ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถมีวิหารน้อยที่สร้างขึ้นโดยพระยาชัยวิชิต (เผือก) ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีรูปแบบลอกเลียนมาจากอุโบสถ แต่ลดขนาดให้เล็กลงกับทั้งเปลี่ยนหน้าบันให้เป็นลายพรรณษาตามความนิยมของศิลปะในช่วงนั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปแบบทวาราวดีขนาดใหญ่ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ อยุธยา เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ แต่เดิมคงประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดนครปฐมมาก่อน และได้ย้ายมายังวัดมหาธาตุ อยุธยา ราวรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เป็นได้ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลาประทับนั่งห้อยพระบาทที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในหกองค์ ที่มีอยู่ในประเทศไทย., วันที่สืบค้น 10 พฤษภาคม 2560.
18.  จากข้อมูลและข้อสันนิษฐานนี้ มีนักวิชาการให้ความเห็นที่แตกต่าง สามารถดูใน http://huexonline.com/knowledge/19/198/ ประกอบได้ครับ
19.  เดิมทำนบรอ จะมีแม่น้ำป่าสักไหลเข้าสู่ตัวเมืองอยุธยาที่คลองสวนพลู และมาบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำแม่เบี้ย แต่ต่อมาพระเจ้าอู่ทองได้ทรงสถาปนากรุงศรีฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคูเมืองขึ้นที่ด้านตะวันออก ตั้งแต่บริเวณทำนบรอ (หัวรอ) ลงมาจนถึงบริเวณแหลมบางกะจะ ข้างวัดพนัญเชิง เรียกคูนี้ว่า "คูขื่อหน้า"
      "คูขื่อหน้า" เดิมมีขนาดแคบและตื้นโดยเฉพาะบริเวณทำนบรอ ดังนั้นในสงครามคราวเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 1 พ.ศ.2112 พระเจ้าบุเรงนองจึงได้ทรงระดมทัพมาบุกตีกรุงศรีฯ ตรงบริเวณนี้ ถึงกับให้ขุดดินและลำเลียงหินมาถมคู ต่อมาเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์ จึงทรงปรับปรุงแนวป้องกันพระนครด้านนี้เสียใหม่ ด้วยการขุดขยายคูขื่อด้านหน้าให้กว้างและลึกมากขึ้น จนทำให้แม่น้ำป่าสักเกิดการเปลี่ยนเส้นทาง มาไหลตรงเข้าคูขื่อหน้าแทน จนกลายเป็นแม่น้ำป่าสักสายใหม่สืบมาถึงปัจจุบัน, ที่มา: อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ โดย กำพล จำปาพันธ์ สำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2559, หน้าที่ 16 ซึ่งอ้างถึง Pisit Chareonwongsa. "Ayutthaya: A Living Historical City." in Ayutthaya: A World Heritage. p.37.
20. "ศักราช 932 มะเมียศก พญาละแวกยกพลมายังพระนครศรีอยุทธยา พญาละแวกยืนช้างตำบลสามพิหาร แลได้รบพุ่งกัน และชาวเมืองพระนครยิงปืนออกไป ต้องพญาจามปาธีราชตายกับคอช้าง ครั้งนั้นศึกพญาละแวกเลิกทัพกลับคืนไป" 
อ้างจาก พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ดู หน้าที่ 75 และ 85 นิตยสารสารคดี ปีที่ 29 ฉบับที่ 339 พฤษภาคม 2556

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com