MENU
TH EN

A02. บทนำ - เหล่าเทพเจ้า

พระอัคนี, ที่มา: hindugod99.blogspot.com, วันที่เข้าถึง: 9 กุมภาพันธ์ 2566.
A02. บทนำ - เหล่าเทพเจ้า01.

First revision: Feb.09, 2023
Last change: Feb.03, 2024

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรต โดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       ด้วยมหากาพย์มหาภารตะนั้นได้เขียนขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคพระเวทสู่ยุคปุราณะ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เทพเจ้าแห่งธรรมชาติที่เก่าแก่กว่า เช่น พระอัคนี และพระวายุ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเทพเจ้าที่ใหม่กว่า เช่น พระศิวะ และ พระกฤษณะ การสร้างวิหารอันเป็นที่สถิตของเหล่าเทพยังคงเป็นที่เคารพกราบไหว้อยู่ในปัจจุบัน.

       ต้นกำเนิดของปรัชญาฮินดู-พราหมณ์นั้น สามารถศึกษาย้อนกลับไปได้ไกลถึงยุคเหล็ก ตั้งแต่ 1,700 ปีก่อนคริสตศักราช ความเสื่อมสลายของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ในขณะเดียวกันชาวอารยันก็มีอำนาจและอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในภูมิภาคแห่งลุ่มน้ำนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือการผสมผสานด้านความเชื่อและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เกิดประเพณีการบูชายัญ และพิธีกรรมที่มีหลักฐานให้เห็นในบทสวดของพระเวท. มีการเถวายเครื่องบูชาแด่เทพเจ้าที่สำคัญ เช่น พระอัคนี เทพแห่งไฟ, พระวรุณ เทพแห่งท้องฟ้า พื้นน้ำ และมหาสมุทร, พระอินทร์ เทพแห่งฟ้าร้อง ฝนและสงคราม. เทพเจ้าที่ปรากฎในพระเวทเหล่านี้ เป็นศูนย์รวมแห่งพลังธรรมชาติที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ได้รับการบูชาเพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในจักรวาล.

พระพิรุณ หรือ พระวรุณ, ที่มา: sreenivasaraos.com, วันที่เข้าถึง 17 กุมภาพันธ์ 2566.

       รายละเอียดพระวรุณ ดูได้ใน ปรัชญาอินเดีย เล่มที่ 1.004 - ยุคพระเวท: บทสวดแห่งฤคเวท (ต่อ 1) หน้าที่ 77 และเทพในกลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวต่อไปเบืองหน้า.

       รายละเอียดเกี่ยวกับพระอัคนีดูได้ใน ปรัชญาอินเดีย เล่มที่ 1.004 - ยุคพระเวท: บทสวดแห่งฤคเวท (ต่อ 1) หน้าที่ 82-83 และเทพในกลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวต่อไปเบื้องหน้า.
 

ทับหลังนารายบรรทมสินธุ์ หรือ วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ เป็นหินทราย ศิลปะลพบุรี (ศิลปะขอมในดินแดนประเทศไทย) แกะสลักจัดทำขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 17 (800 ปีมาแล้ว) เดิมอยู่ ณ ปรางค์กู่สวนแตง ตำบลหนองแวง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ถูกคนร้ายลักขโมยไป เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2507 และลักลอบส่งไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมานายเอเวลรี่ รันเดอร์ ได้ส่งคืนให้กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2513 ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพ ประเทศไทย, ถ่ายไว้เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2564.

       เมื่อปรัชญาอินเดียได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ เทพเจ้าแห่งพระเวทก็หลอมรวมกัน ในหลายกรณีพระวิษณุก็แทนที่เทพเจ้าองค์อื่น ๆ . ในคัมภีร์ปุราณะได้กล่าวถึงเทพเจ้าและเทพธิดามากมาย ได้สะท้อนถึงการผสมผสานของประเพณีและยุคสมัยต่างในประวัติศาสตร์ปรัชญาของอินเดีย. ท่ามกลางบรรดาเหล่าทวยเทพ ก็มีการกำเนิดของเทพสามองค์ขึ้นมาปกครอง (triumvirate) หรีอตรีมูรติ (त्रिमूर्ति - trimūrti) ซึ่งเป็นตัวแทนในแง่มุมด้านการดำรงอยู่ที่แตกต่างกันไป - พระพรหม พระผู้สร้าง; พระวิษณุ พระผู้พิทักษ์; และพระศิวะ พระผู้ทำลายล้าง ซึ่งในมหาภารตะนี้ ผู้ศึกษาจะได้เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของเทพเจ้าเก่าและใหม่ - พระอินทร์และพระอัคนี (เทพเจ้าในพระเวท) รวมทั้งพระกฤษณะ (อวตารของพระวิษณุ - กฤษณาวตาร) ซึ่งในช่วงแรกของมหากาพย์ เทพเจ้าในพระเวทดูจะมีอำนาจอิทธิฤทธิ์มากกว่า แต่ต่อมาก็ถูกบดบังโดยพระวิษณุ พระศิวะ และในแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งมเหสีของพระองค์ก็มีตำแหน่งและบทบาทสำคัญในมหากาพย์มหาภารตะนี้ด้วย.


       พระอินทร์ (Indra) (สันสกฤต: อินฺทฺร) เป็นเทวราช ตามคติในศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน มีหน้าที่ปกครองสวรรค์ (Svarga-Heaven) และอภิบาลโลก ถือกำเนิดขึ้นในสมัยฤคเวท ต่อมาในสมัยที่ตรีมูรติอุบัติขึ้น พระอินทร์ก็ถูกลดบทบาทลงและเริ่มมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น กระทั่งถูกลดบทบาทเป็นเทวดาชั้นรองจากมหาเทพตรีมูรติในปัจจุบัน, เป็นเทพด้านสงคราม, สายฟ้า (Lightning), เทพเจ้าด้านทิศตะวันออก, อาวุธคือวัชระ (Vajra - Thunderbolt) , สัตว์พาหนะคือช้างเอราวัณ (Airavata-White elephant), บิดาคือ พระกัศยป (Kashyapa), มารดาคือพระแม่อทิติ (Aditi), คู่ครองคือ พระแม่ศจี (Shachi หรือ Indrani) เมื่อพิจารณาเทียบเคียงตามสายเทพเจ้า Indo-European แล้ว เทียบได้กับเป็น ซูส (Zeus-Greek), จูปิเตอร์ (Jupiter-Roman), Perun-Slavic, ธอร์ (Thor-Norse หรือ Nordic), และ โอดิน (Odin-Norse หรือ Nordic), พระอินทร์มีหลายสมัญญา คือ ท้าวสหัสนัยน์ (ท้าวพันตา), ท้าวโกสีย์, ท้าวสักกะ (Shakra), เทวราช, อมรินทร์, ศักรินทร์, มัฆวาน หรือ เพชรปาณี, ที่มา: en.wikipedia.org, th.wikipedia.org, และ www.tumnandd.com, วันที่สืบค้น 25 มีนาคม 2561.


เทพประจำทิศต่าง ๆ หรือทิศปาลกะ หรือ พระโลกบาล (The lords of the directions - Dikpālakas - दिक्पालक - Lokapāla)
       ประกอบด้วยเทพทั้งแปดองค์แปดทิศ (The Eight guardians of the directions) ดังนี้

สี่ทิศแรก (เหนือ ตะวันออก ใต้ ตะวันตก) รวมเรียกว่าท้าวจาตุโลกบาล หรือ ท้าวจตุมหาราช หมายถึง หัวหน้าเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช มีหน้าที่รักษาโลกทั้งสี่ทิศ
       1. ทิศเหนือ หรือ อุดร - เทพประจำทิศคือ ท้าวกุเวร
       2. ทิศตะวันออก หรือ บูรพา - เทพประจำทิศคือ พระอินทร์
       3. ทิศใต้ หรือ ทักษิณ - เทพประจำทิศคือ พระยม
       4. ทิศตะวันตก หรือ ประจิม  - เทพประจำทิศคือ พระวรุณ

อีกสี่ทิศ คือ
       5. ทิศตะวันออกเฉียงใต้หรืออาคเนย์ - เทพประจำทิศคือ พระอัคนี
       6. ทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือเนรดี - เทพประจำทิศคือ พระหรดี
       7. ทิศตะวันตกเฉียงเหนือหรือพายัพ - เทพประจำทิศคือ พระพาย และ
       8. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือหรืออิศาน - เทพประจำทิศคือ พระอีศาน.

รายละเอียดมีดังนี้
       1. ทิศเหนือหรืออุดร: โดยมีเทพประจำทิศคือ กุเวร จอมยักษ์ หรือ ท้าวเวสสวัน บ้างก็เรียก ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณ (บ้างก็กล่าวว่าเป็นองค์เดียวกันกับพระไพศรพณ์ - พระ-ไพ-สบ) เป็นผู้ปกครองเหล่ายักษ์ มีพระวรกายสีทอง พระภูษาแดง พระหัตถ์ขวาถือกระบอง พระหัตถ์ซ้ายให้อภัย ทรงมนุษย์เป็นบริวารหรือพาหนะ มีหน้าที่รักษาความเรียบร้อยยุติธรรมในสวรรค์ เป็นเทวดา สัญลักษณ์ของอัยการ.

 
ท้าวกุเวร (Kubera), ท้าวเทพผู้เป็นใหญ่เหนือยักษ์ รากษส และกินนร เทพแห่งทรัพย์สมบัติ โชคลาภและความมั่งคั่ง, ที่มา: www.silpathai.net, วันที่เข้าถึง: 13 มิถุนายน 2566.

       2. ทิศตะวันออกหรือบูรพา: โดยมีเทพประจำทิศคือ ท้าวธตรฐ จอมภูตหรือจอมคนธรรพ์ หรือพระอินทร์ ทรงช้าง(เอราวัณ) เป็นพาหนะ พระวรกายผิวคล้ำ ภูษาแดง พระหัตถ์ขวาทรงถือวัชระ(ตรี) บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงขอช้าง คู่ครองคือพระแม่ศจี.
       3. ทิศใต้หรือทักษิณ: โดยมีเทพประจำทิศคือ พระยม (ท้าวพญายมราช) หรือ ท้าววิรุฬหก จอมเทวดา หรือ จอมกุมภัณฑ์ พระวรกายสีดำ ภูษาแดง พระหัตถ์ขวาทรง คฑา เชือกหรือบ่วงบาศก์ บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ ทรงควายเป็นพาหนะ.
       4. ทิศตะวันตกหรือประจิม: โดยมีเทพประจำทิศคือ พระวรุณ (พระพิรุณ) เทพแห่งฝน หรือ วิรูปักษ์ จอมนาค พระวรกายสีขาว พระภูษาสีเหลือง พระหัตถ์ขวาทรงถือเชือกบ่วงบาศก์ เมื่อมีผู้ทำบาปพระพิรุณจักใช้บ่วงคล้องผู้นั้นไปหาพญายมราช เพื่อนำไปลงทัณฑ์ พระหัตถ์ซ้ายทรงประทานพร ทรงม้าเป็นพาหนะ บ้างก็ว่าทรงจระเข้ ในความเชื่อของคนไทยแล้ว ทรงเป็นผู้ให้ฝน ให้น้ำ ถือพระขรรค์ ทรงพญานาคหรือมกรเป็นพาหนะ เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานด้านการเกษตร เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
       5. ทิศตะวันออกเฉียงใต้หรืออาคเนย์: โดยมีเทพประจำทิศคือ พระอัคนี หรือ อัคคี หรือพระเพลิง พระวรกายสีแเดง ภูษาสีแดง บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงช้อน พระหัตถ์ขวาทรงหอก บ้างก็มีขวาน คบไฟ สายประคำ พาหนะคือแกะตัวผู้ หรือ แรด พระอัคนีเป็นบุตรของพระแม่ธรณี คู่ครองคือพระนางสวาหา.
      6. ทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือเนรดี: โดยมีเทพประจำทิศคือ พระหรดี หรือพระนิรฤดี หรือพระไนรฤติ (พระนิรฤติ) เป็นเจ้าแห่งอสูร พระวรกายสีขาว ภูษาสีเหลือง พระหัตถ์ขวาทรงถือดาบ บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงโล่ พาหนะคือม้า (รากษก).
      7. ทิศตะวันตกเฉียงเหนือหรือพายัพ: โดยมีเทพประจำทิศคือ พระพาย หรือพายุ วายุ เป็นกษัตริย์แห่งคนธรรพ์ พระวรกายสีดำ พระภูษาสีขาว พระหัตถ์ขวาทรงถือธง บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ บ้างก็ว่า อาวุธคือ ธงสีขาว แขนง แตร มีกวางเป็นพาหนะ มีบุตรคือ หนุมาน และ ภีม หรือ ภีมเสน (หนึ่งภราดาทั้งห้าของเหล่าพี่น้องปาณฑพ ในมหาภารตยุทธ) และ
      8.
 ทิศตะวันออกเฉียงเหนือหรืออิศาน: โดยมีเทพประจำทิศคือ พระอีศาน หรือ อิศาน หรือ อิศาณ มีพระวรกายสีขาว พระภูษาสีขาว พระหัตถ์ขวาทรงถือตรีศูล บ้างก็ว่าพระหัตถ์ซ้ายทรงถือสังวาลย์นาค ทรงวัวเป็นพาหนะ.

 

ทับหลังเทพนพเคราะห์: หินทราย ศิลปะลพบุรี (ศิลปะขอม) แกะสลักจัดทำขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 (1,000-1,100 ปีมาแล้ว)
พบที่ปราสาทโลเลย เมืองสูตรนิคม ประเทศกัมพูชา ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประเทศไทย
ถ่ายไว้เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2564.
 

เทพนพเคราะห์ (Nine Planetary Deities or Nine Celestial Deities or Navagráha)
ตามภาพทับหลังข้างต้นประกอบด้วย
       1. พระอาทิตย์ทรงราชรถ.
       2. พระจันทร์ประทับดอกบัวในปราสาท (โดยทั่วไปจะทรงม้า)
       3. พระวายุทรงกวาง
       4. พระพรหมทรงหงส์
       5. พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
       6. ท้าวกุเวรทรงม้า
       7. พระอัคนีทรงแพะ
       8. พระราหูท่ามกลางหมอกควัน (โดยทั่วไปจะทรงสิงห์ดำ) และ
       9. พระเกตุทรงสิงห์ (โดยทั่วไปจะทรงนกพิราบ หรือเหยี่ยว).



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.





 
info@huexonline.com