MENU
TH EN
Title Thumbnail & Hero Image: อุปนิษัท, ที่มา: thehinduportal.com, วันที่เข้าถึง: 21 พฤศจิกายน 2566.
อุปนิษัท: สรุปสาระสำคัญ01,02.
First revision: Nov.20, 2023
Last change: Jan.21, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

 
หน้าที่ 01
       โดยที่อุปนิษัท (ส่วนที่เป็นคำอธิบายความรู้สึกนึกคิดทางปรัชญา ไม่เกี่ยวข้องกับบทสวด หรือพิธีกรรม คัมภีร์ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ นอกเหนือจากพิธีกรรม มุ่งแสวงหาคำอธิบายที่จะทำให้คนเข้าถึงความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อุปนิษัทจึงเหมือนตัวแทนของคนชั้นปัญญาชนที่มุ่งแสวงหาความหมายหรืออุดมการณ์ของชีวิต)

       คำว่า อุปนิษัท (उपनिषद् - upaniṣad) ตามรากศัพท์มาจากคำว่า อุป+นิ+ษทฺ มีความหมายว่า อุป มีความหมายว่า ใกล้, นิ มีความหมายว่า อย่างเอาใจใส่; อย่างทุ่มเท, ส่วนคำว่า ษทฺ มีความหมายสามประการ คือ หนึ่ง) นั่งลง สอง) ทำลาย และสาม) ปลดเปลื้อง, ปลดปล่อย รวมความว่า อุปนิษัท หมายถึง การเข้าไปนั่งใกล้ของศิษย์ด้วยท่าทีแห่งความตั้งอกตั้งใจ เพื่อรับการถ่ายทอดสัจธรรมสูงสุด ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายหรือตัดข้อสงสัยทั้งปวงให้หมดไปจากจิตใจ  {อนึ่ง เอ็ม หิริจันนะ (M. Hiriyanna) ได้กล่าวแนะนำคัมภีร์อุปนิษัทโดยสรุปดังนี้ "คำว่าอุปนิษัท หมายถึง คำสอนลึกลับ (รหัสยะ) หรือคำสอนที่สงวนสิทธิ์มิให้ผู้ที่ไม่เหมาะรู้ และสอนกันเป็นส่วนตัวแก่นักศึกษาที่มีอุปนิสัยพากเพียร คำสอนนี้ได้ปรับปรุงเรื่อยมาเป็นคัมภีร์อุปนิษัททั้งที่มีจำนวนมาก แต่มีประมาณสิบสองคัมภีร์เท่านั้นที่จัดว่าเป็นส่วนของพระเวทที่แท้จริง ส่วนที่เหลือเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมในชั้นหลัง และมีคุณค่าด้อยกว่าของเดิม คัมภีร์อุปนิษัทดั้งเดิม แสดงถึงความเบ่งบานแห่งแนวคิดสมัยพระเวท รจนาเป็นร้อยแก้ว มีลำนำแต่ไม่มีจังหวะอย่างฉันท์ ทั้งมีลักษณะเป็นดนตรีอยู่ในตัวของมันเอง ผู้อ่านแม้จะไม่คุ้นเคยกับคำสอนก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยากนัก อิทธิพลของคำสอนจากคัมภีร์นี้เด่นมาก"} จะเป็นหนึ่งในสี่ส่วนของคัมภีร์พราหมณ์ที่เรียกว่า พระเวท หรือ ไตรเพท01. โดยพระเวทแบ่งออกสี่ส่วน คือ หนึ่ง) มันตระ สอง) พราหมณะ สาม) อารัณยกะ และ สี่) อุปนิษัท.

       ในบรรดาอุปนิษัทอ้างถึง 01. รวมมี 18 อุปนิษัท (บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าอุปนิษัทมี 108 เล่ม)02. ดังนี้

               1).  พฤหทารัณยกะ อุปนิษัท "ป่าแห่งภูมิปัญญา - The Forest of Wisdom" (ศูกล ยชุรเวท - Shukla Yajur Veda) (बृहदारण्यक उपनिषद् - Bṛhad-āraṇyaka Upaniṣad)
               2).  ฉานโทคยะ อุปนิษัท "บทเพลงและการสังเวย - Sacred Song" (สามเวท) (छान्दोग्योपनिषद् - Chāndogya Upaniṣad).
               3).  ไอตเรยะ อุปนิษัท "ตัวตนและอาตมันของมนุษย์ - The Unity of Life" (ฤคเวท) (ऐतरेय उपनिषद् - Aitareya Upaniṣad)
               4).  ไตติรียะ อุปนิษัท (บ้างก็ใช้ว่า ไตตติรียะ) "จากอาหาร สู่ปิติ - Ascent to Joy" (กฤษณะ ยชุรเวท) (तैत्तिरीय उपनिषद् - Taittirīya Upaniṣad)
               5).  อีษา อุปนิษั "ผู้ปกครองภายใน - The Inner Ruler" (ศูกล ยชุรเวท - Shukla Yajur Veda) (ईशोपनिषद् - Īśa Upaniṣad)
               6).  เกนะ อุปนิษัท "ใครย้ายโลก - Who Moves the World?" (สามเวท) (केन उपनिषद् - Kena Upaniṣad)
               7).  กถะ อุปนิษัท "ความตายเป็นครู - Death as Teacher" (กฤษณะ ยชุรเวท) (कठोपनिषद् - Kaṭha Upaniṣad)
               8).  ปรัศนะ อุปนิษัท "ลมหายใจของชีวิต - The Breath of Life" (อาถรรพเวท) (प्रश्नोपनिषद् - Praśna Upaniṣad)
               9).  มุณฑกะ อุปนิษัท "การรับรู้สองอย่าง - Modes of Knowing" (อาถรรพเวท) (मुण्डक-उपनिषद् - Muṇḍaka Upaniṣad)
              10).  มาณฑูกยะ อุปนิษัท "จิตสำนึกและช่วงต่าง - Consciousness & Its Phases" (อาถรรพเวท) (माण्डूक्य उपनिषद् -
Māṇḍūkya Upaniṣad)

              11).  เศวตาศวทร อุปนิษัท "The Faces of God" (श्वेताश्वतरोपनिषद् - Śvetāśvatara Upaniṣad)
              12).  เกาษีตกี พราหมณ อุปนิษัท (कौषीतकि उपनिषद् - Kauṣītakī Brāhmaṇa Upaniṣad)
              13).  ไมตรี อุปนิษัท หรือ ไมตรายณียะ อุปนิษัท (मैत्री उपनिषद् - Maitrī Upaniṣad or Maitrāṇīya Upaniṣad)
              14).  สุพาละ อุปนิษัท (सुबाल उपनिषत् - Subāla Upaniṣad)
              15).  ชาพาละ อุปนิษัท (जाबाल उपनिषत् - Jābāla Upaniṣad)
              16).  เพียงกละ อุปนิษัท (पैङ्गल उपनिषत् - Paiṅgala Upaniṣad)
              17).  ไกวัลย์ อุปนิษัท (कैवल्य उपनिषत् - Kaivalya Upaniṣad)
              18).  วัชรสูชิ หรือ วัชรสูชิกา อุปนิษัท (वज्रसूची उपनिषत् - Vajrasūcikā Upaniṣad)

        และอาทิ ศังกราจารย์ (आदि शङ्कर, आदि शङ्कराचार्य - Ādi Śaṅkara, Ādi Śaṅkarācārya) (ราว พ.ศ.1243-1293/ราว ค.ศ.700-750) ปราชญ์ท่านสำคัญได้กล่าวถึง "มุขยะ อุปนิษัท - Mukhya Upaniṣad" หมายถึงอุปนิษัทหลักหรือที่โดดเด่น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ทโศปนิษัท" หรืออุปนิษัททั้งสิบ ถือว่าเป็นส่วนของพระเวทอย่างแท้จริง มี 10 คัมภีร์ หรือมณฑละ (Mandalas) และถือว่าทั้ง 10 คัมภีร์นี้เป็น "ศรุติ" (คัมภีร์ที่เกิดจากการฟังมาจากองค์ภควาน) (อุปนิษัทที่ 1. ถึง 10.)

หมายเหตุ คำอธิบาย
01.ไตรเพท
03. (Triveda) หรือ ตรยีวิทยา มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่าแต่เดิมพระเวทมีเพียงสามคัมภีร์ คือ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท.
02. รายละเอียดูใน https://www.bharattemples.com/upanishads/
หน้าที่ 02

พฤหทารัณยกะ อุปนิษัท, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เขาถึง 5 ธันวาคม 2566.

1).  พฤหทารัณยกะ อุปนิษัท (बृहदारण्यक उपनिषद् - The Bṛhadāraṇyaka Upaniṣad - ป่าแห่งภูมิปัญญา)
       แปลว่า อุปนิษัทแห่งป่าใหญ่ (Upaniṣads of the great forests) เป็นคัมภีร์อุปนิษัทที่เก่าแก่มากและมีความสำคัญที่สุด โดยประมาณการว่าประพันธ์ขึ้นราวก่อนพุทธกาลสองร้อยปีถึงหนึ่งร้อยปี หรือก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 7-6 บางส่วนประมาณว่าประพันธ์หลังจากฉานโทคยะ อุปนิษัท โดยประพันธ์เป็นภาษาสันสกฤต มีบางส่วนเป็น ศตฺปถะ พฺราหฺมณะ01. ประกอบด้วยสามกัณฑ์ (Kāṇdas) หรือสามส่วน

       หนึ่ง) มธุกัณฑ์ (Madhu Kāṇda) เป็นคำสอนเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของอัตมันและปรมาตมัน (ปัจเจกบุคคลและตัวตนของจักรวาล).
       สอง) ยาชฺญวลกฺย หรือ มุนิกัณฑ์ (Yājñavalkya หรือ Muni Kāṇda) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้เหตุผลทางปรัชญาของคำสอน.
       สาม) ขิลกัณฑ์ (Khila Kāṇdaเป็นส่วนเสริม หรือภาคผนวก มีคำสอนเกี่ยวกับรูปแบบบางประการของการบูชาและการทำสมาธิ การตอบคำถามหยาบ ๆ เกี่ยวกับสามขั้นตอนของการใช้ชีวิตเป็นนักบวช.

       ซึ่ง อุปาสนะ
02. ได้ตอบคำถามคร่าว ๆ สามขั้นของชีวิตนักบวช คือ ศรวณะ03. การสดับตรับฟังคัมภีร์, อุปเทศ04. การเรียนรู้หรือคำสอน, มนนะ05. การไตร่ตรองเชิงตรรกะถึงเนื้อหาในคัมภีร์ อุปปัตติ06.  พิจารณาถึงความสอดคล้อง และนิทิธยาสนะ07. การพินิจพิจารณาสิ่งที่ได้ศึกษาหรือการทำสมาธิภาวนา ในเหล่าเรื่องราวการกลับมาอีกครั้งในแนวคิดของศตฺปถะ พฺราหฺมณะ คือ คาณวะ08. และมาธยันดินา09. ซึ่งศังกราจารย์ (Śaṁkara) ได้เห็นพ้องกับสิ่งที่กล่าวไว้ และข้อความก็ได้นำมาปรับใช้ในที่นี้ด้วยเหมือนกัน.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ศตฺปถะ พฺราหฺมณะ (शतपथब्राह्मणम् -
Śatapatha Brāhmaṇa - ตัวย่อ: S.B.) แปลว่า "หนึ่งร้อยวิถีแห่งพราหมณ์" เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับศุกล ยชุรเวท หรือ ยชุรเวทขาว ซึ่งเป็นพระเวทที่มีการจัดเรียงหมวดหมู่ไว้เรียบร้อย โดยมีพราหมณ์ฤๅษีนามว่า "ยาชฺญวลกฺย - Yājñavalkya" โดยได้ระบุถึงวิถีในการเป็นพราหมณ์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นระบบ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพระเวท รายละเอียดในการบูชายัญ สัญลักษณ์และตำนาน. ศตฺปถะ พฺราหฺมณะนี้ ถือว่ามีความสำคัญในการพัฒนาลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของปุราณะต่าง ๆ และอวตารของพระวิษณุดังที่ปรากฎในฤคเวท โดยเฉพาะอย่างยิ่งทศวตารห้าภาคแรก คือ มัตสยาวตาร กูรมาวตาร วราหาวตาร นรสิงหาวตาร และวามนาวตาร.
02. อุปาสนะ (उपासन - upāsana) แปลว่า ความสงบ, หมายถึง การระงับความโกรธ.
03. ศรวณะ (स्रवण - śravaṇa) แปลว่า การฟัง การไหลออก การสดับตรับฟังคัมภีร์.
04. อุปเทศ (उपदेश - upadeśa) หมายถึง การสั่งสอน การเรียนรู้.
05. มนนะ (मनना - manana) แปลว่า ยอมรัก เชื่อ รู้สึก การตรึกตรองเนื้อหาในคัมภีร์.
06. อุปปัตติ (उपपत्ति - upapatti) หมายถึง ความสอดคล้อง.
07. นิทิธยาสนะ (निदिध्यासन - nididhyāsana) แปลว่า การพินิจพิจารณาสิ่งที่ได้ศึกษา.

08. คาณวะ (कण्व - Kāṇva) เป็นชื่อของฤๅษีตามที่ปรากฎในศิวะปุราณะ (บรรพที่ 2 สรรคที่ 3 โศลกที่ 39) , บิดาของนางศกุนตลา (เป็นเรื่องย่อยในอาทิบรรพ มหาภารตยุทธ).

09. มาธยันดินา (माध्यंदिन - Mādhyandina) อ้างถึง "บทสวดของยชุรเวช" ตามที่ปรากฎในศิวะปุราณะ (บรรพที่ 2 สรรคที่ 3 โศลกที่ 48).


หน้าที่ 03

พระศิวะ, ที่มา: www.satyavedism.org, วันที่เข้าถึง: 12 ธันวาคม 2566.
 
2).  ฉานโทคยะ อุปนิษัท (छान्दोग्योपनिषद् - Chāndogya Upaniṣad - บทเพลงและการสังเวย)
       ฉานโทคยะ อุปนิษัท เป็นส่วนหนึ่งของสามเวท. ฉานโทคยะหมายถึงการร้องสวดในสามเวท ที่เรียกว่า สามนฺ01,01. และเป็นส่วนหนึ่งของฉานโทคยะ พราหมณะ ซึ่งมีสิบบท สองบทแรกเกี่ยวกับการที่พราหมณ์ถวายเครื่องบูชาและการบูชารูปแบบต่าง ๆ . อุปนิษัทนี้มีแปดองค์ประกอบ.

       ซึ่งบทที่หนึ่งและสองนั้น กล่าวถึงปัญหาต่าง ๆ ของพิธีกรรมและหลักคำสอน เช่น ความเป็นมาและความสำคัญของ โอม และชื่อและความหมายของสามนฺ.

---------------
01. छन्दो साम गायति इति छन्दोगः - chando sāma gāyati iti chandogaḥ - บทสวดนั้นร้องสามนฺ บทสวด.
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. สามนฺ01. (सामन् - Sāman) แปลว่า บทเพลง มีการบันทึกจารไว้ยาวเหยียด เป็นบทสวดวิธีการแห่งความสำเร็จในการเอาชนะศัตรู เช่น 1) การประนีประนอม การคืนดี การเอาใจ 2) สงบเสงียม สงบสติอารมณ์ 3) พูดจาสุภาพอ่อนโยน 4) การเจราต่อรอง เป็นต้น.


หน้าที่ 04

ไอตเรยะ อุปนิษัท, ที่มา: atmanism.wordpress.com, วันที่เข้าถึง: 15 ธันวาคม  2566.

3).  ไอตเรยะ อุปนิษัท (तरेय उपनिषद् - Aitareya Upaniṣad - ตัวตนและอาตมันของมนุษย์ )
       ไอตเรยะ อุปนิษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งของฤคเวท และเป็นส่วนหนึ่งของอาตเรยะ อารัณยกะ01. ซึ่งส่วนก่อนหน้าในอาตเรยะ อารัณยกะนั้นจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม เช่น มหาวรตะ02. และการตีความ. จุดประสงค์ของอุปนิษัทนี้คือการนำจิตใจของผู้เสียสละออกจากพิธีกรรมภายนอกไปสู่ความหมายภายใน. การเสียสละที่แท้จริงทั้งหมดอยู่ภายในจิตใจ. ศังกราจารย์ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีสามระดับที่ปรารถนาจะได้ปัญญา. ระดับสูงสุดประกอบด้วยผู้ละทิ้งโลก, ผู้มีจิตว่างอิสระและสะสม, และผู้ปรารถนาอิสรภาพ. สำหรับไอตเรยะ อุปนิษัท (บรรพที่ 2 อัธยายะที่ 4-6) มีเจตจำนงไว้. ยังมีมนุษย์อีกไม่น้อยที่ประสงค์จะค่อย ๆ เป็นอิสระโดยการไปสู่โลกหิรัณยครรภ์03. สำหรับพวกเขาแล้ว สิ่งที่สำคัญคือองค์ความรู้และการบูชาลมหายใจแห่งชีวิต ปราณ04. (อาตเรยะ อารัณยกะ บรรพที่ 2. อัธยายะที่ 1-3). ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่ใส่ใจแต่ทรัพย์สมบัติทางโลกเท่านั้น. สำหรับพวกเขาที่ปรารถนาจะได้ปัญญา การบูชาสังหิตา05. นั้น ล้วนมีจุดมุ่งหมาย (อาตเรยะ อารัณยกะ บรรพที่ 3.)1.
---------------

1. ดูใน ศังกราจารย์, อาตเรยะ อารัณยกะ บรรพที่ 3 อัธยายะที่ 1 โศลกที่ 1.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. อาตเรยะ อารัณยกะ (Āitareya Āraṇyaka) คำว่าอาตเรยะ เป็นชื่อของพราหมณ์ ส่วนอารัณยกะ แปลว่า เรื่องที่แต่งและศึกษาในป่า ซึ่งจะอธิบายความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับยัชญพิธี เพื่อให้ผู้ที่สละบ้านเรือนเข้าไปอยู่ในป่าได้เข้าใจ
03.
02. มหาวรตะ (महाव्रत - mahāvrata) หมายถึง การปฏิบัติตามคำปฏิญาณนี้จะนำเราไปสู่โลกของกัวรี {गौरि - Gaurī - ซึ่งหมายถึงพระนางปารวตี (पार्वती - Pārvatī) ชายาของพระศิวะ}.
03. หิรัณยครรภ์ (हिरण्यगर्भ - Hiraṇya-garbha) หมายถึง ครรภ์ทอง หรือไข่ทอง หรือ ครรภ์สากล อันเป็นแหล่งที่มาของการสร้างของจักรวาลหรือประจักษ์จักรวาล.
04. ปราณ (प्राण - prāṇa) หมายถึง ลมหายใจ พลังสำคัญแห่งชีวิต.
05. สังหิตา (संहिता - Saṁhitā) หมายถึง การไว้รวมกัน การสะสม (ชุดคัมภีร์โบราณภารตวรรษ) ชุดข้อความหรือโองการที่มีการจัดระเบียบตามหลักกฎเกณฑ์.


 
หน้าที่ 05

พระไภรวะ01., ที่มา: eugeneastrology.wordpress.com, วันที่เข้าถึง: 22 ธันวาคม 2566.

4).  ไตติรียะ อุปนิษัท (तैत्तिरीय उपनिषद् - Taittirīya Upaniṣad - จากอาหารสู่ปิติ )
       ไตติรียะ อุปนิษัท เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานปรัชญาไตตติรียะแห่งยชุรเวท. แบ่งออกเป็นสามส่วนที่เรียกว่าวัลลิ02. ส่วนแรกคือ ศึกษา วัลลิ03. นับเป็นองค์แรกในหกองค์ หรือ เวทางคะ04. (ที่เป็นองค์ประกอบย่อยของพระเวท); นับเป็นสัทศาสตร์05. และการออกเสียง. องค์ที่สองคือ พรหมานันทะ วัลลิ06., และองค์ที่สามคือ ภหฤกุ วัลลิ07. ทั้งสององค์นี้เกี่ยวข้องกับความรู้เกี่ยวกับตัวตนสูงสุด ปรมาตมะ-ญาณ08.
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. พระไภรวะ (भैरव - Lord Bhairava) แปลว่าน่าสะพึงกลัว หรือ กละ ไภรวะ (काला भैरव - Kala Bhairava) เป็นเทพในไศวนิกายและพระพุทธศาสนาในวัชรยานนิกาย. สำหรับลัทธิไศวนิกายแล้ว พระไภรวะคือการสำแดงที่ทรงพลังหรือเป็นอวตารของพระศิวะที่เกี่ยวข้องกับการทำลายล้าง. คนไทยจะรู้จักเทพองค์นี้ในนามของ พระพิราพ.
02. วัลลิ (वल्ली - Valli) พหูพจน์เป็น Vallis,
03. ศึกษา วัลลิ (शिक्षा वल्ली - Śikṣā Valli) หมายถึง การกล่าวคำจริงแท้.
04. เวทางคะ (vedāṅga - वेदाङ्ग - แขนขาหรือองค์ประกอบย่อยของพระเวท) รายละเอียดดูใน
หมายเหตุ 5 หน้า 1 A01. บทนำ - มหาภารตยุทธ.
05. สัทศาสตร์ (Phonetics)
เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง ธรรมชาติของการออกเสียง และการเปล่งเสียงพูด.
06. พรหมานันทะ วัลลิ (ब्रह्मानन्द वल्ली - Brahmānanda Valli) เป็นการกล่าวประกาศที่ยิ่งใหญ่ว่าพราหมณ์คืออานันทมายาหรือความสุขอันสูงสุด.
07. ภหฤกุ วัลลิ (
भृगु वल्ली - Bhṛgu Valli) - ภหฤกุ เป็นบุตรของพระพรหม, ภหฤกุ วัลลิ เป็นองค์ที่ตรวจทานชีวิต สสาร จิตใจ ความปราดเปรื่อง ความสุขสูงสุด คือพราหมณ์.
08. ปรมาตมะ-ญาณ (परमात्म-ज्ञानम् - paramātma-jñāna) เป็นความรู้เรื่องนิรันดร์, ความรู้เรื่องมหาเทพสามองค์ (พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม) ที่แพร่หลายไปทั่ว.


 
หน้าที่ 06

อีษา อุปนิษัท, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 25 ธันวาคม 2566.
5).  อีษา อุปนิษัท (ईशोपनिषद् - Īśa Upaniṣad - ผู้ปกครองภายใน)
       อีษา หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า อีษาวาสยะ อุปนิษัท, ซึ่งชื่อนี้ได้มาจากคำกล่าวเปิดของคัมภีร์อีษาวาสยะ หรือ อีษา. อีษา อุปนิษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งของวาชสเนยะ สังหิตา01. ที่ประกอบด้วย 40 บรรพ, ซึ่งอุปนิษัทนี้เป็นบรรพสุดท้าย. จุดประสงค์หลักคือเพื่อสอนให้เห็นถึงเอกภาพอันสำคัญของพระผู้เป็นเจ้าและโลก, การดำรงอยู่และการที่ได้เป็น. ปรพราหมณ์02. ไม่ได้ใส่ใจถึงความสมบูรณ์ในตัวเองมากนัก, เช่นเดียวกับในความสมบูรณ์เกี่ยวกับโลก, ปรเมศวร03.. อุปนิษัทนี้ได้สอนว่าชีวิตในโลกและชีวิตในพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์นั้น เข้ากันไม่ได้. 
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. วาชสเนยะ สังหิตา (वाजसनेय संहिता - Vājasaneya Saṁhitā) เป็นคัมภีร์ที่กล่าวว่าเมื่อสิ้นกลียุค ผู้คนจะกลายเป็นขโมยและสูญเสียคุณสมบัติที่ดีทั้งหมด, วาชสเนยะ สังหิตานี้กล่าวกันว่ามี 15 สาขา (หรือแนวคิด) เท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎแห่งชีวิต (อ้างจาก อัคนี ปุราณะ บรรพที่ 16).
02. ปรพราหมณ์ (परब्रह्मन् - Parabrahman) หมายถึง วิญญาณสูงสุด พราหมณ์เป็นต้นเหตุแห่งจักรวาลนี้ (อ้างถึง บท/บรรพ/อัธยายะที่ 377 ในอัคนี ปุราณะ).
03. ปรเมศวร (परमेश्वर - Parameśvara) หมายถึง มหาเทพผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สูงส่ง, ในไศวนิกายหมายถึง พระศิวะ, และในไวษณพนิกายหมายถึง พระวิษณุ.


 
หน้าที่ 07


เกนะ อุปนิษัท, ที่มา: https://yoganidra.com.mx, วันที่เข้าถึง: 26 ธันวาคม 2566.
6).  เกนะ อุปนิษัท (केन उपनिषद् - Kena Upaniṣad - ใครย้ายโลก)
       เกนะ อุปนิษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งของสามเวท มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ตลวการ01., เป็นชื่อของพระพรหมแห่งสามเวท. ประกอบด้วยสี่ส่วน, สองส่วนแรกเป็นบทกวี และอีกส่วนเป็นเป็นร้อยแก้ว. ส่วนที่สี่นั้นกล่าวถึงพราหมณ์ผู้ไม่มีคุณสมบัติขั้นสูงสุด, หลักการอันสมบูรณ์ที่เป็นรากฐานของโลกแห่งปรากฎการณ์. ส่วนของร้อยแก้วในอุปนิษัทนี้เกี่ยวข้องกับพระอิศวร พระผู้เป็นเจ้าสูงสุด. ปราวิทยา02. เป็นความรู้เรื่องที่สมบูรณ์ซึ่งนำไปสู่ความหลุดพ้นในทันที (สฺัดโย-มุกติ03.), อันเป็นไปได้เฉพาะผู้ที่สามารถถอนความคิดของตนออกจากวัตถุทางโลกและมุ่งความสนใจไปที่ความจริงขั้นสุดท้ายของจักรวาลเท่านั้น. ความรู้เรื่องพระอิศวร, อปราวิทยา, ได้วางแนวทางอันนำไปสู่การหลุดพ้นในที่สุด (ครม-มุกติ04.). ดวงวิญญาณผู้บูชาจะค่อย ๆ บรรลุปัญญาอันสูงส่ง ซึ่งส่งผลให้มีจิตสำนึกถึงอัตลักษณ์กับองค์ภควาน.
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ตลวการ (तलवकार - Talavakāra) เป็นชื่อของพระพรหม, สำนักปรัชญาที่เก่ากาลมาก มีความใกล้ชิดกับภาษาประกฤติ และบาลี.
02. ปราวิทยา (पराविद्या - parā vidyā) หมายถึง ความรู้ทางจิตวิญญาณ ตรงข้ามกับ อปราวิทยา (अपराविद्या - aparā vidyā) อันเป็นความรู้ทางโลก.
03. สฺัดโย-มุกติ (सद्योमुक्ति - sadyo-mukti) หมายถึง การปลดปล่อยโดยตรง (ทันที) ซึ่งปรากฎใน กุณฑิกา อุปนิษัท คำโคลงที่ 28 (Kuṇḍika-upaniṣad verse 28).
04. ครม-มุกติ (क्रममुक्ति - krama-mukti) หมายถึง การปลดปล่อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งปรากฎใน กุณฑิกา อุปนิษัท คำโคลงที่ 28 (Kuṇḍika-upaniṣad verse 28).


 
หน้าที่ 08

พระยมกำลังสนทนากับนิจิเกตสฺ, ที่มา: kailasanath.tumblr.com, วันที่เข้าถึง: 30 ธันวาคม 2566.
7).  กถะ อุปนิษัท (कठोपनिषद् - Kaṭha Upaniṣad - ความตายเป็นครู )
       กถะ อุปนิษัท มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า กฐาโกปนิษทฺ01. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งสำนักปรัชญาไตตติรียะแห่งยชุรเวท ใช้ฉากจากเรื่องราวที่พบในวรรณคดีสันสกฤตโบราณเป็นสื่อนำเสนอ.1 มีพราหมณ์ที่ยากจนแต่เคร่งศาสนา นามว่า วาชสรวสะ02. ถวายเครื่องบูชาแด่นักบวช ด้วยโคแก่และโคที่อ่อนแอสองสามตัว. นิจิเกตสฺ03. บุตรชายรู้สึกไม่สบายใจที่บิดาไม่ปฏิบัติตามเครื่องบูชา เขาจึงเสนอตนเป็นเครื่องถวายบูชา (ทักษิณา04.) แด่นักบวชแทน. เมื่อเขายืนกรานในข้อเสนอนี้ วาชสวรสะผู้บิดาก็กล่าวด้วยความโกรธว่า "นี่แน่ะ ยม ข้าให้ท่าน." นิจิเกตสฺก็ไปยังที่ประทับของพระยม พบว่าพระยมไม่อยู่ เขาจึงคอยอยู่ที่นั่นโดยไม่ได้กินอาหารใด ๆ เป็นเวลาสามวันสามคืน. เมื่อพระยมกลับมา เขาได้เสนอพรสามประการแก่นิจิเกตสฺ เพื่อชดเชยความล่าช้าและความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น. พรประการแรก, นิจิเกตสฺถามว่า, 'ให้ฉันกลับไปหาบิดาทั้งที่มีชีวิตอยู่'. ประการที่สอง, 'จงบอกว่าฉันได้ทำสิ่งที่ดี ๆ ( อิษฏา-ปูรตะ 05.) ไว้อย่างไรบ้าง และจะหมดลงอย่างไร' และประการที่สาม, 'บอกฉันถึงวิธีที่ตายใหม่อีกครั้ง (ปุณา มฤตยู06.).'

       ในอุปนิษัทนี้, คำขอพรประการที่สามเป็นแสงสว่างทางปัญญาที่ 'เปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่', ซึ่งเรียกว่าความตาย.

       ในกถะ อุปนิษัทนี้มีสองบรรพ แต่ละบรรพมีสามวัลลิ.

       มีข้อความบางตอนที่มักนำเสนอกันในคีตาและ กถะ อุปนิษัท.
--------------

1.
ไตติรียะ พราหมณะ บรรพที่ 3 อัธยายะที่ 1 โศลกที่ 8; ดูเพิ่มเติมในมหาภารตยุทธ, อนุศาสนบรรพ: อัธยายะที่ 106. มีการกล่าวถึงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกอยู่ใน ฤค-เวท (บรรพที่ 10 อัธยายะที่ 135) ซึ่งเราสามารถศึกษาได้ว่าบิดาของนิจิเกตสฺได้ส่งเขาไปยังพระยม (เทพแห่งความตาย) ได้อย่างไร, แต่กลับได้รับอนุญาตให้กลับมาด้วยเพราะความเชื่อมั่นอันยิ่งใหญ่ของเขา, ศรัทธา (śraddhā).
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. กฐาโกปนิษทฺ (काठकोपनिषद् - Kāṭhakopaniṣad)
02. วาชสรวสะ (Vājasravasa) พราหมณ์ผู้บิดา.
03. นิจิเกตสฺ (Naciketas) บุตรผู้เสนอตนเป็นเครื่องบูชาแด่พระยม.
04. ทักษิณา (दक्षिणा - dakṣiṇā) หมายถึง เครื่อง (ดอกไม้ธูปเทียน สิ่งมงคล) ที่นำถวายบูชาแก่นักบวช หรือเทพเจ้า.
05. อิษฏา-ปูรตะ (इष्टापूर्त - iṣṭā-pūrta) หมายถึงการกระทำอันเป็นกุศล.
06. ปุณา มฤตยู (पुनर्मृत्यु - punar mṛtyu) หมายถึง ความตายใหม่ หรือ การเกิดและการตายในการดำรงอยู่ใหม่. ตลอดระยะเวลาที่พระเวทได้สั่งสอนกันต่อมานั้น ความคิดที่ว่าสวรรค์ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการดำรงอยู่ และแม้แต่ความตายในสวรรค์ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ปราชญ์พระเวทเริ่มกังวลถึงความไม่เที่ยงของศาสนา, ที่มา: www.britannica.com และ www.wisdomlib.org, วันที่เข้าถึง 1 มกราคม 2567.
 
 
หน้าที่ 09


ศิษย์เกาศัลยา (कौसल्या -Kausalyā) ได้ถาม (ปรัศนะ หรือ ปริศนา - प्रश्न - Praśna) ฤๅษีพิพพะหลาด (पिप्पलाद - Pippalāda), ที่มา: www.thelonerider.com, วันที่เข้าถึง: 1 มกราคม 2567.

8).  ปรัศนะ อุปนิษัท (प्रश्नोपनिषद् - Praśna Upaniṣad - ลมหายใจของชีวิต )
       ปรัศนะ อุปนิษัท (ไทยแผลงเป็น ปริศนา) เป็นส่วนหนึ่งของอาถรรพเวท และมีหกอัธยายะที่เกี่ยวข้องกับคำถามหกประการ ที่เหล่าสาวกตั้งคำถามและผู้ทรงศีลโดยมีเจตนาที่จะรู้ถึงธรรมชาติ สาเหตุสูงสุด พลังของโอม ความสัมพันธ์ขององค์ภควานกับส่วนประกอบของโลก. อุปนิษัทนี้เกี่ยวข้องกับปรัศนะหรือคำถาม.
 

หน้าที่ 10

ฤๅษีและศิษยานุศิษย์, พร้อมทั้งเหล่านักพรตชฎิล (Chadil - นักพรตพวกหนึ่งที่เกล้าผมมุ่นเป็นมวยสูง) และมักจะบูชาไฟ (โซโรอัสเตอร์), ที่มา: www.indica.today, วันที่เข้าถึง: 3 มกราคม 2567.


9). มุณฑกะ อุปนิษัท (मुण्डक-उपनिषद् - Muṇḍaka Upaniṣad - การรับรู้สองอย่าง )
      มุณฑกะ อุปนิษัท เป็นสวนหนึ่งอรรพเวท และมีสามบรรพ แต่ละบรรพมีสองอัธยายะ. ชื่อนี้ได้มาจากศัพท์ว่า "โกน - to shave." เนื่องจากผู้จะเข้าใจคำสอนอุปนิษัทจะต้องโกนผมหรือหลุดพ้นจากความผิดพลาดหรือความไม่รู้. อุปนิษัทนี้ได้ระบุไว้ชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างความรู้ของพราหมณ์ชั้นสูงกับความรู้ที่ต่ำต้อยของโลกเชิงประจักษ์.ด้วยภูมิปัญญาอันสูงส่งนี้มิใช่โดยการเสียสละหรือสักการะที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงพราหมณ์ได้. มีเพียงสันยาสี01. ผู้ละทิ้งทุกสิ่งเท่านั้นที่จะได้รับความรู้สูงสุด.
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. สันยาสี (संन्यासिन् - saṁnyāsin) เพียรภิกขาจาร เลี้ยงชีพด้วยการขอเขากิน และตั้งจิตมุ่งอยู่ตรงพระปรพรหมและนฤพาน. (รายละเอียดดูใน: มหาภารตยุทธ อาทิบรรพ หมายเหตุ ขยายความ หน้าที่ 41).
 
หน้าที่ 11
 

ราชินีโชละ เทวี (นางถูกสาปจากพระแม่ลักษมี ชายาพระวิษณุ ให้มีศีรษะเป็นหมู บ้างก็ว่าเป็นหมูป่า ด้วยเพราะนางละเลยต่อพระแม่ฯ ต่อมานางไปปรึกษาฤๅษีอังจิระ ๆ ได้แนะนำให้นางบูชาและกล่าวคำปฏิญาณต่อพระแม่ลักษมี และนางก็กลับสู่ร่างเดิม เรื่องราวเน้นถึงความสำคัญในการบูชาแบบตันตระ), ที่มา: http://thebrooklyninstitute.com, วันที่เข้าถึง: 3 มกราคม 2567.

10). มาณฑูกยะ อุปนิษัท (माण्डूक्य उपनिषद् - Māṇḍūkya Upaniṣad - จิตสำนึกและช่วงต่าง )
       มาณฑูกยะ อุปนิษัท เป็นส่วนหนึ่งของอรรพเวท มี 12 โองการ. เป็นการอธิบายหลักการของ โอม (aum) ที่ประกอบด้วยสามองค์ประกอบ คือ อะ อุ มะ ซึ่งหมายถึง สามสภาวะของการตื่น ความฝัน และนอนหลับที่ไร้ความฝัน. ตัวตนสูงสุดนั้นปรากฎอยู่ในจักรวาลทั้งในแง่ที่หยาบ ละเอียดอ่อน และเป็นเหตุ. เป็นการตอบต่อสภาวะแห่งจิตสำนึกทั้งสี่ (ประกอบด้วย) ความตื่นตัว, ความฝัน, การหลับไร้ฝัน, จิตสำนึกที่ยอดเยี่ยม1. มีแง่มุมต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า เฉพาะด้านสุดท้ายเท่านั้นที่รวมทุกอย่างไว้และเป็นความจริงสมบูรณ์ในที่สุด. ความสมบูรณ์แห่งจิตสำนึกอันลึกลับคือความเป็นจริงของพระผู้เป็นเจ้าแห่งศาสนา. กล่าวกันว่าลำพังอุปนิษัทนี้เองนั้น ก็เพียงพอที่จะนำพาไปสู่ความหลุดพ้นได้2.

       ศรี อาทิ โกปาทจารย์01. อาจารย์ของอาจารย์ มหาคุรุ อาทิ ศังกราจารย์ ท่านได้ประพันธ์ การิกา02. อันโด่งดังของท่านไว้ในอุปนิษัทนี้ ซึ่งเป็นการอธิบายอย่างเป็นระบบครั้งแรกของลัทธิอทไวตะ เวทานตะ ที่นำแนวคิดนี้มาสู่พวกเรา. ซึ่งอาทิ ศังกราจารย์ได้ให้ความเห็นทั้งในอุปนิษัทนี้ และการิกา.
---------------

1. ดูใน นฤสิงหะ-ปูรวะ-ทาปนียอุปนิษัท (नृसिंह
- पूर्व - तापनीय उपनिषद् - Nṛsiṁha-pūrva-tāpanīya U.) บรรพที่ 4, อัธยายะที่ 1, เป็นหนึ่งในสามสิบเอ็ดอุปนิษัทย่อย ของอาถรรพเวท.
2. กบเป็นเพียงสัตว์ผู้เดียวเท่านั้นที่ได้รับการปลดปล่อยจากผู้แสวงหาอิสรภาพ - माण्डुक्यम् एकम् एवालं मुमुक्षूनां विमुक्तये - māṇḍūkyam ekam evālam mumukṣūnāṁ vimuktaye., มุกติกา อุปนิษัท บรรพที่ 1 อัธยายะที่ 27.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ศรี อาทิ โกปาทจารย์ (Gauḍapādācārya - गौडपाद-  Gauḍapāda) รายละเอียดดูเพิ่มเติมใน หน้าที่ 15 ค.บทนำ: ภควัทคีตา.
02. การิกา (Kārikā) หรือ โกปาทะ การิกา (
गौडपाद कारिका - Gauḍapāda Kārikā) หรือ มาณฑูกยะ การิกา (माण्डूक्य कारिका ) แบ่งออกเป็นสี่บรรพ หนึ่ง) ว่าด้วยหลักการตามประเพณั สอง) ความไม่จริงแท้ สาม) อทวินิยม สี่) ความสงบสุขของ???.

 
หน้าที่ 12

เศวตาศวทร อุปนิษัท, ที่มา: www.templepurohit.com, วันที่เข้าถึง: 6 ธันวาคม 2566.
 
11). เศวตาศวทร อุปนิษัท "The Faces of God" (श्वेताश्वतरोपनिषद् - Śvetāśvatara Upaniṣad)
        เศวตศวทร อุปนิษัท {เศวต แปลว่า ขาว, อาศวทร แปลว่า ล่อ แปลรวมกันได้ว่า ผู้ซึ่งมีความขาวเหมือนล่อสีขาว นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า หากจะแปลกันให้ถูกต้องนั้นน่าจะหมายถึงพระอรชุน ซึ่งเปรียบเสมือนม้าขาว (เศวตอาศวะ - Śvetāśva) มากกว่า} เป็นคัมภีร์ภาษาสันสกฤตโบราณอยู่ในสำนักแนวคิดไตติรียะ ซึ่งเป็นกฤษณะยชุรเวท01. เป็นหนึ่งในหลักการของอุปนิษัท เป็นส่วนหนึ่งของพระเวทและมักใช้กันในลัทธิเวทานตะ02., ชื่อ เศวตศวทร นี้มาจากปราชญที่ได้เริ่มสอนปรัชญาอุปนิษัทนี้01. โดยคุณลักษณะแล้ว คัมภีร์นี้เป็นเทวนิยม. ได้กล่าวพระพรหมผู้สูงส่งพร้อมทั้งพระรุทร (อีกชื่อหนึ่งของพระศิวะ) ผู้ทรงคิดว่าเป็นมวลสารสำคัญและสาเหตุอันทรงประสิทธิภาพของโลก ไม่เพียงแต่เป็นผู้สร้างโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ปกป้องและชี้นำโลกอีกด้วย. มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับเทวนิยม มีภควานเฉพาะตน และมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ ซึ่งจะต้องบรรจบกับอุปนิษัทอื่น ๆ อีกอย่างไม่ต้องสงสัย และนี้กลายเป็นสิ่งที่โดดเด่นในเศวตาศวทร อุปนิษัท. ไม่ได้เน้นไปที่ความเป็นพราหมณ์ที่สมบูรณ์แบบอย่างไร้ที่ติ การไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการใด ๆ แต่เน้นไปที่พระอีศวรส่วนตน ผู้รอบรู้และมีอำนาจทุกอย่างซึ่งเป็นพราหมณ์ที่ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว. คำศัพท์ที่ใช้ในปรัชญาสางขยะ03. รุ่นหลัง ๆ นี้เกิดขึ้นในเศวตาศวทร อุปนิษัท แต่ความเป็นทวินิยมของสางขยะ, ปุรุษะ04., และประกฤติ05. นั้น สามารถเอาชนะได้. ธรรมชาติหรือประธาน06. ที่ไม่ใช่ตัวตนอิสระ แต่เป็นขององค์ภควาน, เทวาทมะ-ศักติ07.. พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นมายิน08. ผู้สร้างโลก, ซึ่งเป็นมายา09. หรือที่พระองค์สร้างขึ้น02. เป็นอุปนิษัทได้สอนเราถึงความเป็นจริงอันสูงสุดคือ ความเป็นหนึ่งเดียวของจิตวิญญาณและโลก. เป็นอุปนิษัทที่พยายามประนีประนอมกับมุมมองของปรัชญาและศาสนาที่แตกต่างกันซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการเรียบเรียงระบบปรัชญาต่าง ๆ ในภารตวรรษอันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวภารตะ.
---------------

01. श्वेतः शुद्धः आश्वः इन्द्रियः - śveta, pure, āśva, indriyas - สีขาวคือความรู้สึกของม้าที่บริสุทธิ์. ประสาทสัมผัส. สังครานันทะ. ดูบรรพที่ 6. สรรคที่ 21: แท้จริงแล้ว ผู้ที่มีล่อสีขาว, ข้อมูลทางบรรณานุกรรม. จรัด-กวฮฺ (jarad-gavaḥ), ผู้มีวัวแก่ตัวหนึ่ง.
02.
मयि सृजते सर्वम् एतत् - mayi sṛjate sarvam etat. - มันสร้างทั้งหมดนี้ในตัวฉัน.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. กฤษณะยชุรเวท (Kṛṣna Yajurveda) บ้างก็ว่าหมายถึง พระเวทที่ยังไม่มีการจัดเรียบเรียง บ้างก็ว่าเป็นการรวบรวมเอาความรู้เรื่องพิธีที่จัดบูชาในช่วงเดือนแรม (กฤษณะปักษ์ - Kṛṣnapakṣa)

02. อ้างถึง. Lal, Mohan (1992), Encyclopaedia of Indian Literature: sasay to zorgot, Sahitya Akademi, ISBN 978-81-260-1221-3, หน้าที่ 4090.
03. ปรัชญาสางขยะ (सांख्य - Sāṁkhya) เป็นหนึ่งในระบบปรัชญาพราหมณ์-ฮินดูทั้งหกของปรัชญาอินเดีย เน้นความมีเหตุผล มีลักษณะเป็นทวินิยมและอเทวนิยม.
องค์ประกอบของปรัชญาสางขยะ (Elements in Samkhya philosophy), ที่มา: en.wikipedia,org, วันที่สืบค้น 16 มกราคม 2561.
04. ปุรุษะ (पुरुष - purua - spirit) ในคัมภีร์ปุราณะและอิติหาสของประวัติศาสตร์มหากาพย์หรือเทพปกรณัมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น หมายถึง จิตวิญญาณ จะคู่กันกับประกฤติ เป็นปัจจัยพื้นฐานสองประการที่จำเป็นต่อการผลิตพระปัญจะ (Prapañca - โลกที่มองเห็นได้เป็นฉาก ๆ จากการกระทำที่หลากหลาย) ด้วยชาย-หญิงได้ให้กำเนิดลูกหลานจากปุรุษะ (ชาย) และประกฤติ (หญิง) และพวกเขาก็ร่วมกันสร้างพระปัญจะ. 
05. ประกฤติ (प्रकृति - prakṛti - matter - ธรรมชาติ สสาร) ดู 03. ประกอบ, ประกฤตินั้นมีแสดงไว้ในปรัชญาสางขยะ, ประกฤติ ยังหมายถึง การตระหนักรู้อย่างบริสุทธิ์ (Pure awareness) และการรับรู้อย่างมีสติด้านอภิปรัชญา (Metaphysical consciousness), ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 17 มกราคม 2561. และ www.wisdomlib.org, วันที่เข้าถึง: 7 ธันวาคม 2566.
06. ประธาน (प्रधान - pradhāna) หมายความว่า "สำคัญที่สุด, เป็นหัวหน้า, เป็นเอก" เป็นสาเหตุหลักของธรรมชาติ หรือ หลักแห่งการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ (อ้างถึง
ศตฺปถะ พฺราหฺมณะ ตามหมายเหตุคำอธิบาย 01 หน้าที่ 02 ข้างต้น), ส่วนในระบบปรัชญาสางขยะ คำนี้หมายถึง หลักการสร้างสรรค์ของธรรมชาติซึ่งเป็นรากฐานดั้งเดิมของสสาร ซึ่งเป็นเรื่องหลัก.
07. เทวาทมะ-ศักติ (देवात्मशक्तिः -
devātma-śakti) (ภาษามราฐี) เป็นสาเหตุของโลก พลังแห่งจิตวิญญาณ.
08. มายิน (मायिन् - māyin) หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์เวทมนตร์, อ้างถึงศิวะปุราณะ บรรพที่ 2 สรรคที่ 3 โศลกที่ 15.
09. มายา (माया - māyā) หมายถึง ภาพลวงตา.


 
หน้าที่ 13

ภาพสลักศิวนาฎราช ถ้ำหมายเลข 14 หมู่ถ้ำเอลโลร่า, รัฐมหาราษฎระ, ภารตะ, ถ่ายไว้เมื่อ 20 กรกฎาคม 2566.
 
12).  เกาษีตกี พราหมณ อุปนิษัท (कौषीतकि उपनिषद् - Kauṣītakī Brāhmaṇa Upaniṣad)
       เกาษีตกี พราหมณ อุปนิษัท มักจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาษีตกี อุปนิษัท1. ชื่ออุปนิษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งรวมอยู่ในวรรณกรรมของพราหมณ์ที่ปรากฎในฤคเวท2. อาทิ ศังกราจารย์ได้กล่าวถึงอุปนิษัทนี้ไว้หลายแห่งในคำอธิบายเกี่ยวกับพรหมสูตรของท่าน และสังกรานันทะก็ได้แสดงอรรถาธิบายเกี่ยวกับอุปนิษัทนี้อีกด้วย มีข้อความย่อหลายแบบ และฉบับที่ใช้ในดีปิกา02. ของสังกรานันทะอีกด้วย. เกาษีตกีอุปนิษัทนี้มีสี่บรรพ.
---------------

1. สังกรานันทะ ได้อธิบายเกี่ยวกับชื่ออุปนิษัทนี้ว่า: कु कुत्सितां निन्द्यां हेयं इति अर्थः, शीतनं शीतलं संसारिकां सुखं यस्य स कुशीतः एव कुषीतकः तस्यापत्यं कौषीतकीः । - ku kutsitaṁ nindyaṁ heyam ity arthaḥ, śītaṁ śītalaṁ saṁsārikaṁ sukham yasya sa kuṣītaḥ eva kuṣītakaḥ tasyāpatyaṁ kauṣītakiḥ. - กู แปลว่า น่ารังเกียจในการดูหมิ่นผู้ถูกสาป และบุตรของกุษีตะ ผู้มีความสุขทางโลกอันเย็นชาและเย็นชาคือ กุษีตกะ เรียกว่า เกาษีตกี. บรรพที่ 2 อัธยายะที่ 1.
2. พราหมณ์นั้นเกี่ยวข้องกับเวทานตะด้วย และบางครั้งก็รวมถึงอุปนิษัทด้วย ब्राह्मणं अपि त्रिविधम्, विधिरूपम्, अर्थवदरूपं, तद्-उभय-विलक्षणं च, विध-अर्थवादोभय-विलाषणं तु वेदान्त-वाक्यम् । मधुसूदनः प्रस्थानभेदः । - Brāhmaṇaṃ api trividham, vidhi-rūpam, arthavadā-rūpam, tad-ubhaya-vilakṣaṇaṁ ca, vidhy-arthavādobhaya-vilaṣaṇaṁ tu vedānta-vākyam. Madhusūdana: Prasthāna-bheda - พราหมณ์ยังมีอยู่สามประเภท คือ รูปธรรม นามธรรม และรูปลักษณะเฉพาะของทั้งสอง แต่ในข้อความด้านเวทานตะนั้นพอใจทั้งสามประเภทและเป็นข้อโต้แย้งที่มีความหมาย. มธุสูทนะ
01. กล่าวถึง: ความแตกต่างแห่งการจากไป.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. มธุสูทนะ (मधुसूदन - Madhusūdana) เป็นฉายาที่ 73 ของพระวิษณุ ตามที่ปรากฎในวิษณุ สหัสรนามะ (विष्णुसहस्रनाम - viṣṇusahasranāma) ซึ่งเป็นบทสวดภาษาสันสกฤตที่บรรจุฉายาของพระวิษณุไว้ 1,000 ฉายา.
02. ดีปิกา (दीपिका - Dīpikā) เป็นภาษาสันสกฤตอันหมายถึงคำหรือกลุ่มคำ (คำนาม สรรพนาม คุณศัพท์ เป็นต้น).



 
หน้าที่ 14
13).  ไมตรี อุปนิษัท หรือ ไมตรายณียะ อุปนิษัท (मैत्री उपनिषद् - Maitrī Upaniṣad or Maitrāṇīya Upaniṣad)
       ไมตรี หรือ ไมตรายณียะ อุปนิษัท เป็นส่วนหนึ่งของ ไมตรายณียะ ศาคา (สาขา) อันเป็นอีกแขนงหนึ่งของยชุรเวทดำ1. ไมตรี อุปนิษัท ถือเป็นอาจารย์ใหญ่ และ ไมตรายณียะเป็นชื่อของสาขาอันเป็นอุปนิษัท. ประกอบไปด้วยเจ็ดบรรพ ซึ่งสองบรรพสุดท้ายเหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน. อุปนิษัทนี้มีอายุน้อยกว่าอุปนิษัทหลัก ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นที่อ้างถึงบ่อย ๆ 2. มีการอ้างถึงแนวคิดด้านตรีมูรติ อันเกี่ยวกับพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ซึ่งแสดงในบรรพที่ 4 อัธยายะที่ 5, ซึ่งทำให้เราระบุได้ถึงช่วงเวลาในการพัฒนาอุปนิษัทนี้ได้. ทั้งสามรูปแบบที่สืบเนื่องมาจาก กุณะ ระชะ สัทวะ และ ทมะ01. ดังแสดงในบรรพที่ 5 อัธยายะที่ 2. มีการเสนอแนะถึงลักษณะอันลวงตาของโลกที่เป็นปรากฎการณ์ที่แสดงให้เห็นชั่วครู่ชั่วยาม สะท้อนถึงอิทธิพลทางความคิดของพระพุทธศาสนา. ความเห็นของรามทีรธะ02.เกี่ยวกับอุปนิษัทนี้อย่างน่าสนใจยิ่ง.
---------------

1. ในหนังสือบางเล่มกล่าวว่า อุปนิษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งของสามเวท.

2. จากคุณลักษณะเฉพาะทางไวยากรณ์ที่พบในอุปนิษัทนี้, มัคส์ มึลเลอร์ (หรือโมกษะมูลาจารย์ รายละเอียดดูใน ระบบทั้งหกของปรัชญาอินเดีย 1) ได้ให้นิยามอุปนิษัทชัดว่า 'เป็นช่วงต้นมากกว่าเป็นช่วงปลาย อาจเป็นช่วงต่อต้านปาณินี (पाणिनि - Pāṇini - นักไวยกรณ์ผู้ริเริ่มภาษาสันสกฤต).' หนังสือศักดิ์สิทธิ์แห่งตะวันออก เล่มที่ 15 (พ.ศ.2443) หน้าที่ 6.
หมายเหตุ คำอธิบาย
01. กุณะ (गुण- guṇa) หรือ คุณธรรม อันมีจุดเริ่มต้นมาจากปรัชญาสางขยะ ปัจจุบันได้เป็นแนวคิดหลักของปรัชญาฮินดูทุกสำนักแนวคิด กุณะ ประกอบด้วยสามองค์ประกอบ (ตรีกุณะหรือไตรคุณธรรม - triguṇa) หนึ่ง) สัทวะ (sattva) หมายถึง ความดี ความสงบ และการกลมกลืม (goodness, calmness, & harmonious) สอง) ระชะ (rajas - ราคะ) ความหลงใหล กิเลส ตัณหา, การกระทำ, ความเคลื่อนไหว (passion, activity, movement) สาม) ทมะ (tamas) ความไม่รู้, การเฉื่อยชา, และความเกียจคร้าน (ignorance, inertia, laziness).
02. รามทีรธะ (Rāmatīrtha - स्वामी रामतीर्थ - สวามี รามทีรธา) (22 ตุลาคม พ.ศ.2416 - 17 ตุลาคม พ.ศ.2449) ท่านมาจากครอบครัวพราหมณ์ในแคว้นปัญจาบ เป็นนักปราชญ์สำนักเวทานตะ ท่านเป็นอาจารย์ด้านคณิตศาสตร์มาก่อน ท่านเป็นหนึ่งในคุรุที่เผยแพร่ปรัชญาอินเดียในสหรัฐอเมริกา ช่วง พ.ศ.2445.


 
หน้าที่ 15
14).  สุพาละ อุปนิษัท (सुबाल उपनिषत् - Subāla Upaniṣad)
       สุพาละอุปนิษัทนี้ เป็นส่วนหนึ่งศุกล ยชุรเวท (ยชุรเวทขาว) อยู่ในรูปแบบของบทสนทนาระหว่างปราชญ์สุพาละกับพระพรหม มหาเทพผู้สร้าง. กล่าวถึงธรรมชาติของจักรวาลและคุณลักษณะแห่งความสมบูรณ์.


15).  ชาพาละ อุปนิษัท (जाबाल उपनिषत् - Jābāla Upaniṣad)
       ชาพาละ อุปนิษัทนี้ เป็นส่วนหนึ่งของอาถรรพเวท และมีการอภิปรายถึงคำถามสำคัญสองสามข้อเกี่ยวกับการเสียสละ.


16).  เพียงกละ อุปนิษัท (पैङ्गल उपनिषत् - Paiṅgala Upaniṣad)
       อุปนิษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งของศุกล ยชุรเวท และอยู่ในรูปแบบของบทสนทนาระหว่างยาชญวัลกะกับศิษยานุศิษย์ 'เพียงกละ'. ปุจฉาสำคัญบางข้อ เช่น การทำสมาธิต่อองค์ภควาน ธรรมชาติแห่งการปลดปล่อย ได้ถูกนำมากล่าวในปุจฉา-วิสัชนานี้.  

17).  ไกวัลย์ อุปนิษัท (कैवल्य उपनिषत् - Kaivalya Upaniṣad)
       อุปนิษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาถรรพเวท และที่เรียกว่า ไกวัลย์ อุปนิษัทนั้น เนื่องจากมีการศึกษาและการนำไปฏิบัติเพื่อเข้าสู่สภาวะไกวัลย์ หรือความโดดเดี่ยว.

18).  วัชรสูชิ หรือ วัชรสูชิกา อุปนิษัท (वज्रसूची उपनिषत् - Vajrasūcikā Upaniṣad)
       อุปนิษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งของสามเวท และมีการบรรยายถึงลักษณะที่แท้จริงของพราหมณ์ และการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับธรรมชาติของความเป็นจริงสูงสุดที่ได้บังเกิดขึ้น. อุปนิษัทนี้มีคุณค่าในการล้มล้างแนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งชั้นวรรณะจากการถือกำเนิด.


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. The Principal Upaniṣads ปรับปรุงพร้อมบทนำ ประพันธ์ แปลและบันทึก โดย ฯพณฯ สรวปัลลี ราธากฤษณัน (Servepalli Radhakrishnan), ISBN-1-57392-548-9 (ตีพิมพ์เป็นเล่ม) สำนักพิมพ์ Humanity Books, ปีที่พิมพ์ พ.ศ.2535, นิวยอร์ค, สหรัฐอเมริกา.
หนังสือหลักการแห่งอุปนิษัท (The Principal Upaniṣads) เขียนโดย โดย ฯพณฯ สรวปัลลี ราธากฤษณัน (Servepalli Radhakrishnan), สำนักพิมพ์ Humanity Books, ปีที่พิมพ์ พ.ศ.2535, สหรัฐอเมริกา, ที่มา: www.amazon.com, วันที่เข้าถึง: 20 พฤศจิกายน 2566.
 
02. จาก. The Upanishads, บทนำและแปลโดย เอกนาถ เอสวารัน (EKNATH EASWARAN), งานชั้นเอกแห่งจิตวิญญาณของอินเดีย, สำนักพิมพ์นิลกิริ, อี-บุ๊ค ISBN 978-1-58638-025-0, The Blue Mountain Center of Meditation, แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา.
03. จาก. https://kukrdb.lib.ku.ac.th, บทความ "วรรณคดีพระเวท: การศึกษาเชิงสำรวจ" โดย ผศ.ดร.ประเทือง ทินรัตน์ ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ทราบปีที่เขียน.



 
info@huexonline.com