MENU
TH EN

บทนำ: อาณาจักรพม่าและมอญ

Title Thumbnail: ด้านหน้าของพระเจดีย์พระธรรมยางจี, พุกาม พม่าตอนกลาง, ถ่ายไว้เมื่อ 7 เมษายน 2561. Hero Image: พระมหาเจดีย์ชเวสิกอง, หนึ่งในห้า มหาบูชาสถานของพม่า, ถ่ายไว้เมื่อ 7 เมษายน 2561.
บทนำ: อาณาจักรพม่าและมอญ.
First revision: Sep.15, 2021
Last change: Dec.14, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       ผมตั้งใจจะเขียนประวัติศาสตร์พม่าและมอญมานานแล้ว แต่ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่มุ่งไปเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจมาก ๆ เช่นเดียวกันไว้ก่อน แต่ต่อมาได้เห็นบทความใน Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," โดยผู้ใช้นามว่า อนุชา ดุริยะมโนรม ขึ้นเมื่อ 15 กันยายน 2564 (โดยท่านได้เริ่มโพสต์มาตั้งแต่ 31 สิงหาคม 2564)02. เห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ เราจะละเลยส่วนสำคัญที่เป็นพม่าและมอญไม่ได้เลย ก็ขอใช้บทความข้อเขียนของท่าน และใคร่ขออนุญาตมา ณ ที่นี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอด ค้นคว้า เพื่อประโยชน์ต่อผู้สนใจในภายหน้าสืบไปครับ.

       ในบล็อกนี้จะขอเรียกว่า พม่า (Burma) หรือ ม่าน ตามบรรพชนไทยสยามและล้านนาที่ได้เรียกกันสืบมา แทนที่จะเรียกว่าเมียนม่าร์ (Myanmar) ครับ.
                 
แผนที่ประเทศพม่า, ด้านซ้าย: ที่มา: budivel.ru, วันที่เข้าถึง 16 กันยายน 2564, ด้านขวา: ที่มา: thaiheritage.net, วันที่เข้าถึง 16 กันยายน 2564.
 

ภาพครอบครัวคหบดี หรืออาจจะเป็นขุนนางพม่า พร้อมครอบครัว และบ่าวไพร่  (ไปทำบุญที่วัด), ที่มา: Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," โดยผู้ใช้นามว่า Sarawut Azaa Playfun, Cr.ผู้ถ่าย ไม่ทราบปีที่ถ่าย (สันนิษฐานว่าถ่ายราว พ.ศ.2444 หรือ ค.ศ.1901 ภาพจาก Max. and Bertha Ferrars, Burma เพราะพบภาพใน 01 หน้า 29 ขาวดำที่กลุ่มบุคคลและการแต่งกายในภาพเหมือนกัน), วันที่เข้าถึง 18 กันยายน 2564.
 
  • พม่าเป็นประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง ใหญ่กว่าประเทศไทย ราว 31.9%  (ไทย = 513,120 ตารางกิโลเมตร, พม่า = 676,578 ตารางกิโลเมตร) มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศฝรั่งเศส มีขนาดใกล้เคียงกับมณรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ส่วนที่กว้างที่สุดของพม่า = 600 ไมล์ และด้านยาว = 800 ไมล์ 
  • การอพยพของเชื้อชาติทิเบต-พม่านั้น มีสาเหตุจากการเมืองโดยแท้จริง จากการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างเชื้อชาติทิเบตและจีน ซึ่งเชื้อชาติทิเบต-พม่า อยู่ระหว่างกลางของทั้งสองเชื้อชาติ พวกเขาคิดว่าอิสรภาพและสถาบันทางสังคมมีค่ามากกว่าความเจริญทางวัตถุ เหล่าชนเชื้อชาติทิเบต-พม่าจึงอพยพจากบ้านเกิดเมืองนอน ข้ามภูเขาที่หนาวเยือกเย็นและป่าดงดิบ บางพวกเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือ บางพวกก็ข้ามภูเขาในภาคเหนือและเข้าประเทศพม่าทางตะวันออกเฉียงเหนือ
  • การอพยพครั้งสุดท้ายคือใน ศตว.ที่ 13 หรือ พศว.18-19 เมื่อกลุ่มมองโกลที่รู้จักกันว่า ไทยใหญ่ เข้าบุกรุกพม่าและบริเวณที่มอญครอบครองอยู่.
 
อาณาจักรดั้งเดิม : มอญและปยุ

อาณาจักรหงสาวดี ราว ศตว.ที่ 14 หรือ พศว.19, ที่มา: en.wkikpedia.org, วันที่เข้าถึง 5 ตุลาคม 2564.
  • พงศาวดารพม่าและตำนานพุทธศาสนานิกายเถรวาท กล่าวไว้ว่ามีพ่อค้ามอญสองนายจากบริเวณพม่าตอนล่าง ได้รับเส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้านำมาประดิษฐานไว้ในวัดเล็ก ๆ วัดหนึ่ง ต่อมาเป็นสถานที่สร้างเจดีย์พระเกศธาตุ (ชเวดากอง) อันโอฬารในกาลต่อมา. 
  • ด้วยมีการค้าระหว่างฝั่งตรงข้ามกันของอ่าวเบงกอล ตำนานระบุชัดเจนว่าพ่อค้าอินเดียเดินเรือมายัง "สุวรรณภูมิ" - ดินแดนทอง พระเจ้าอโศกมหาราชได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ส่งสมณทูตไปยังดินแดนห่างไกล สมณทูตคณะหนึ่ง เผยแพร่พุทธศาสนาให้แก่ประชาชนในสุวรรณภูมิ อันมีเมืองหลวงคือ เมืองสะเทิม (Thaton) ในพม่าตอนล่าง.
  • ฝ่ายไทยระบุว่า ดินแดนสุวรรรภูมิคือประเทศไทยเวลานี้ มีเมืองหลวงอยู่ที่นครปฐม {เมืองนครพระกฤษณ์ อาณาจักรทวารวดี (มาจากคำว่า ทวารกา = เมืองที่มีประตูมาก อันเป็นเมืองในตำนาน "มหาภารตะยุทธ์" คือ เมืองทวารกา ที่พระกฤษณะสร้างขึ้นนั่นเอง)}. ด้วยเพราะพบซากโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย แต่พงศาวดารทั้งของพม่าและสิงหล ต่างระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าเมืองหลวงของสุวรรณภูมิเป็นเมืองท่า.
  • สุวรรณภูมินั้น มีความหมายครอบคลุมถึงดินแดนที่ชนชาติมอญครอบครองอยู่ในเวลานั้น ได้แก่พม่าตอนล่าง มีศูนย์กลางอยู่ที่ตอนใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยา มีเมืองสะเทิมเป็นหน้าต่างออกสู่ทะเลและสู่ดินแดนพระพุทธศาสนาอันกว้างใหญ่ของอินเดีย มอญอยู่ใกล้อินเดียที่สุด รับวัฒนธรรมโดยตรงจากอินเดีย และถ่ายทอดมายังชนชาติที่อยู่ใกล้ตน เช่น เขมร ทิเบต-พม่า ชนชาติไทยใหญ่.
  • อาณาจักรแรกของพม่าคืออาณาจักรตะโก้ง หรือ ตะก้อง โดยพวกปยุ ราว พ.ศ.325 หรือ 128 ปีก่อนคริสต์กาล
  • พวกปยุได้ได้ตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่อีก 2 อาณาจักร คือ อาณาจักรหะลิงยี หรือ หะลินยี (Halingyi) และอาณาจักรไปทโนเมียว หรือ เปียทะโนมโย (Peikthanomyo) ด้วยมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี.
  • พวกปยุมีศูนย์กลางการปกครองอยู่เมืองแปร ซึ่งอยู่ตรงปากแม่น้ำอิระวดี และใกล้ทะเล สะดวกในการค้ากับเมืองจีน เดินทางไปเมืองสะเทิม และท่าเรือเมืองมอญต่าง ๆ ได้สะดวก เมืองแปรเก่านี้ ชาวปยุรู้จักกันในชื่อ ศรีเกษตร หมายความว่า ดินแดนแห่งความโชคดี.
  • ด้านตะวันตกของพม่าเป็นดินแดนยะไข่ ชาวพม่าบางเผ่าอพยพมาที่นี่ ยะไข่อยู่ใกล้อินเดีย เป็นป่าดงดิบและป่าชายเลน อาณาจักรนี้ตั้งขึ้นนานมากแล้ว ด้วยเป็นศูนย์กลางการค้าอีกอาณาจักรหนึ่ง.
  • นักวิชาการหลายท่านได้ให้เหตุผลด้านการค้าของอินเดียไว้หลายประเด็น ที่เด่นที่สุดก็เป็นของ ศจ.ยอร์ช เซเดส์ (ฝรั่งเศสจากอ่านว่า เซแดส) หลังจากตั้งราชวงศ์โมริยะ (สมัยพระเจ้าอโศก) และราชวงศ์กุษาณะในอินเดีย และการตั้งตัวของราชวงศ์เซลูสิด และอาณาจักรโรมันในภาคตะวันตก การติดต่อค้าขายระหว่างสองดินแดนได้เริ่มขึ้น ขณะที่อินเดียได้ดุลการค้านั้น ก็มีการนำทองจำนวนมากออกจากอาณาจักรโรมัน จนจักรพรรดิเวสปาเซียน (พ.ศ.612-622 หรือ ค.ศ.69-79) จำเป็นต้องประกาศห้ามนำทองออกจากจักรวรรดิโรมัน อินเดียจึงถูกบังคับทางอ้อมให้หันมาแสวงหาทองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  
  • จากตำราทางประวัติศาสตร์ของจีนเล่มหนึ่งกล่าวว่า "พระเจ้าฟันชิมัน???" กษัตริย์แห่งอาณาจักรฟูนันในภาคใต้ลุ่มแม่น้ำโขง ตีได้หลายอาณาจักรบนแหลมมลายู แต่ก็สิ้นพระชนม์ก่อนที่จะบุก "จินหลิ่น" ซึ่งแปลว่า "เขตแดนทอง" เป็นอาณาจักรที่มีพลเมืองหนาแน่น ตั้งอยู่บนอ่าวใหญ่ทางทิศตะวันตก นั่นก็คือเมืองสะเทิมของมอญ.
  • พวกปยุเข้ามาถึงริมฝั่งทะเลช้ากว่าพวกมอญ แต่ก็ไม่ได้สร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่น พวกปยุมีเมืองหลวงที่เมืองแปร ในอาณาจักรศรีเกษตร มีความเจริญรุ่งเรือง เรียกร้องบรรณาการจากชาวปยุในเมืองต่าง ๆ ร่วมหลายศตวรรษ.
  • พวกปยุ ทำกสิกรรม พวกข้าว ข้าวฟ่างและอ้อย พวกปยุชื่นชมในความอุดมสมบูรณืในดินแดนใหม่นี้มาก จึงตั้งชื่อเมืองใหม่ของตนว่า ศรีเกษตร แปลว่า ดินแดนแห่งความโชคดี. เมืองนี้ก่อสร้างเหมือนอาณาจักรอื่น ๆ ของปยุคือมีคูล้อมรอบเมืองทั้งด้านในและด้านนอก และมีกำแพงอิฐเคลือบอันมหึมาล้อมอีกชั้นหนึ่ง.
  • พวกปยุเป็นพุทธศาสนิกที่เคร่งครัด มีเจดีย์ใหญ่ทั้งสี่มุมเมือง เจดีย์ที่ได้รับการรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีคือเจดีย์บาวบาวกยี (บ้างก็เรียกพระเจดีย์บอบอจี) สูงถึง 150 ฟุต มีช่องกลวงข้างใน ครอบด้วยกรวยแบน มีรูปทรงกระบอกตัด สร้างด้วยอิฐถือปูน.

เจดีย์บาวบาวกยี, ที่มา: http://program.thaipbs.or.th, วันที่เข้าถึง 22 พฤศจิกายน 2564.
  • พวกปยุเป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างที่ใช้อิฐและส่วนโค้งที่ยื่นออกไปเป็นแบบวัดต่าง ๆ ที่สร้างในสมัยที่อาณาจักรพุกามมีอำนาจ.
  • นอกจากนี้พวกปยุ ้ก่งเรื่องการแกะสลักกิน เป็นช่างโลหะ ประดิษฐ์รูปปั้นสลักชิ้นเล็ก ๆ ทำจากแก้วเขียว หยก พลอยสีม่วง หินแก้ว ทอง เงิน ตะกั่ว
  • พวกปยุเป็นพวกแรกในเอเชียอาคเนย์ที่ใช้เหรียญเงินและเหรียญทองเป็นเงินตราแลกเปลี่ยน พบได้ทั่วไปตลอดลุ่มแม่น้ำอิระวดี อาจเป็นไปได้ที่ราชวงศ์คันธาระของแคว้นยะไข่ในพุทธศตวรรษที่ 9 สร้างเหรียญเงินนี้ขึ้น
  • ศาสนาของปยุเป็นพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท. มีการปะทะทางแนวคิดระหว่างนิกายเถรวาทกับนิกายมหายาน พระพุทธโกษามีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้นิกายเถรวาทประสบความสำเร็จในพุทธศตวรรษที่ 9 ด้วยท่านได้ไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกา เขียนบรรยายไว้มาก กล่าวต่อมาว่าท่านเป็นพระมอญ และมรณภาพที่สุวรรรภูมิ [74/426 ของ 01].
  •  

ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย: 
01.  จาก. ประวัติศาสตร์พม่า, หม่องทินอ่อง (Maung Htin Aung) พิมพ์ครั้งที่ 3 แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร, ISBN: 978-974-604-267-3 มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ธันวาคม 2551 
02จาก. Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," โดยผู้ใช้นามว่า อนุชา ดุริยะมโนรม สืบค้นเมื่อวันที่ 15, 19, 21 กันยายน 2564. ขอแสดงไว้ดังนี้
ดับมอญ อยุธยา คองบอง
       กลางรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ ราชวงศ์ตองอูอันครองอยู่อังวะที่เริ่มเสื่อมถอยมานาน ก็มาอ่อนแอสุดในช่วงนี้ ยามนั้นพวกมอญอันมีสมิงทอพุทธกิตติ แลพญายาทะละ นำไพร่พลมอญเข้าตีหัวเมืองมอญต่าง ๆ ที่พม่าครองอยู่ จนยึดเอาเมืองหงสาวดีคืนมาได้ มอญจึงเชิญสมิงทอพุทธกิตติขึ้นเป็นกษัตริย์ ครองกรุงหงสาวดีซึ่งเป็นของมอญมาแต่เดิมนั้นสืบไป.
       เมื่อขึ้นครองหงสาวดีแล้ว สมิงทอพุทธกิตติ จึงใคร่เจริญสัมพันธไมตรีกับเชียงใหม่แลอยุธยา.
       ธรรมเนียมการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่าง “รัฐ” แต่โบราณนั้น วิธีหนึ่งที่นิยมคือ ผ่านทางการอภิเษก รัฐที่ใหญ่ กล้าแข็งว่า มักขอพระราชธิดารัฐอื่น แสดงถึงความเป็นต่อกลาย ๆ ส่วนรัฐที่เป็นรอง ก็มักถวายพระธิดาไปอภิเษกกับรัฐใหญ่ แต่บางครั่งรัฐใหญ่กว่าหากต้องการพันธมิตร ก็อาจมีข้อเสนอต่อรัฐน้อย ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลทางการเมืองล้วน ๆ การที่ราชนิกูลของสองรัฐ จะได้มาพบปะ ชอบพอกันจริง ๆ นั้น ยากล้นพ้นประมาณ.
       เชียงใหม่ซึ่งพึ่งเป็นอิสระจากพม่า ยังมิมั่นคงพอ แลยังต้องระแวดระวังพม่าอยู่ ตอบรับไม่ตรีมอญ ยกพระราชธิดาให้แก่สมิงทอ ก็ด้วยหวังผลทางพันธมิตรกับมอญ.
       แต่อยุธยาร้างศึกใหญ่กับพม่ามานาน ศึกครั้งหลังสุดสมัยพระเอกา แม้คนรุ่นหลานของผู้ที่เคยอยู่ทัน ก็ยังล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ศึกเล็กศึกน้อยตามหัวเมืองนั้นมีอยู่ แต่ศึกใหญ่ระดับ “เอาบ้านเอาเมือง” นั้นห่างหายไปประมาณ 130 ปี แลมอญก็พึ่งตั้งตัวได้อีกครั้ง อีกทั้งสมิงทอพุทธกิตติที่พึ่งตั้งตัวเป็นกษัตริย์มอญนั้นเล่า ก็มาจากสามัญชน แต่มาขอพระราชธิดา อาจทำให้พระเจ้าบรมโกศทรงขัดเคืองหรือไม่ มิทราบได้ พระเจ้าบรมโกศจึงทรงวางเฉยเสีย มิได้ตอบรับไมตรีแต่ประการใด.
       และนี่อาจเป็นการทูตที่พลาดครั้งใหญ่ของสมิงทอพุทธกิตติก็ได้ เพราะเมื่อ “อังวะไม่สิ้นคนดี” อองไจยะ นายบ้านพรานป่าบ้านมุดโชโบ กล้าแข็งขึ้นมา การไม่มีพันธมิตรอย่างอยุธยา ก็ส่งผลร้ายต่อมอญจนสุดจะพรรณนา.

 
มอญ อยุธยา และคองบอง 2
       พระเจ้าบรมโกศ ทรงรับไมตรีอังวะ.
       เมื่อสมิงทอพุทธกิตติ แลพญาทะละ นำไพร่พลมอญตีเอาหงสาวดี แลหัวเมืองมอญทั้งหลายคืนจากพม่าได้นั้น เหล่าขุนนางพม่าที่เมืองเมาะตะมะ เห็นทีจะต้านไว้ไม่อยู่ ครั้นจะหนีขึ้นเหนือกลับอังวะ หัวเมืองต่าง ๆ รายทางก็ตกเป็นของมอญหมดแล้ว จึงพากันรวมครัวเรือนได้ราว 300 หนีลงเรือล่องใต้ลงมาตะนาวศรี หวังพึ่งอยุธยา เมื่อมีใบบอกจากตะนาวศรี พระเจ้าบรมโกศจึงให้รับครัวพม่าทั้งนั้นลงมายังอยุธยา แลทำนุบำรุงให้อยู่ดี.
       ความทราบถึงอังวะ พระเจ้ากรุงอังวะจึงให้แต่งทูตมาอยุธยา เพื่อขอบพระทัย แต่ความที่แฝงมาคือ อยากขอให้อยุธยาช่วยปราบมอญ แต่ถึงไม่ช่วย ก็ขอให้วางเฉยเสีย อย่าให้อยุธยาช่วยเหลือมอญ เพราะขณะนั้น พม่าอ่อนแอมาก ลำพังรับศึกมอญข้างเดียวยังลำบาก พระเจ้าบรมโกศซึ่งพึ่งขัดเคืองจากที่สมิงทอพุทธกิตติทูลขอพระธิดาของพระองค์ แลไพร่พลก็สูญสิ้นไปคราวสงครามกลางเมืองกับเจ้าฟ้าอภัย แลเจ้าฟ้าปรเมศรนั้นก็มากประมาณ จึงทรงรับไมตรีอังวะ แม้มิได้เข้าข้างอังวะ แต่ก็ทรงแต่งทูตไปยังอังวะเป็นการตอบแทน.
       ต่อมาสมิงทอพุทธกิตติ แลพญาทะละ เกิดขุ่นข้องหมองใจกัน สมิงทอลุ่มหลงธิดาพระเจ้าเชียงใหม่จนขุ่นเคืองมีปากเสียงชายาเดิมซึ่งคือบุตรีพญาทะละ จนเกิดยึดอำนาจขึ้น พญาทะละเป็นฝ่ายมีชัย ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองหงสาวดี ส่วนสมิงทอพุทธกิตติ หนีไปเชียงใหม่ ขอไพร่พลมาตีหงสาวดีคืนจากพญาทะละ แต่ก็พ่ายกลับมา จึงมิกล้ากลับไปเชียงใหม่ แต่หนีมาพึ่งอยุธยา แลสมิงทอพุทธกิตติ ก็พลาดอีกเป็นคำรบสอง เพราะทูลขอไพร่พลหวังไปตีเอาหงสาวดีคืนมาอีก พระเจ้าบรมโกศทรงขัดเคืองแต่คราวที่ขอพระธิดาแล้ว จึงทรงกริ้ว ให้นำสมิงทอ ไปจำเสีย.
       ฝ่ายพญาทะละ เมื่อขึ้นครองหงสาวดีแล้ว ก็นำไพร่พลเข้าตีอังวะสำเร็จ จับพระเจ้าอังวะ แลเหล่าราชนิกูลทั้งนั้นไปจำไว้ แต่เพียงไม่กี่ปี พระเจ้าอังวะก็สิ้นพระชนม์ (อีกด้านหนึ่งว่าถูกมอญล้างเสีย)เป็นอันสูญสิ้นเชื้อสายพระเจ้าสิบทิศ บาเยงนอง กะยอดินนรธา แห่งวงศ์ตองอู.
       เมื่อเสร็จศึกอังวะ พญาทะละ จึงแต่งศุภอักษรมายังอยุธยา ขอตัวสมิงทอพุทธกิตติ พระเจ้าบรมโกศแม้จะเคยขุ่นเคือง แต่ก็ทรงเห็นว่า สมิงทอ มิได้เป็นศัตรู แลหนีร้อนมาพึ่งเย็น จะส่งกลับไปก็ตายเปล่า แม้นจะทำนุบำรุงไว้ ก็จะมีเหตุให้ขัดเคืองกับมอญ จึงทรงให้เนรเทศไปเมืองจีนเสียที่กวางตุ้ง แต่สมิงทอ ก็หาทางกลับไปเชียงใหม่จนได้.
        จนกระทั่ง “อังวะไม่สิ้นคนดี” มีคนอย่าง อองไจยะ ขึ้นมา.


มอญ อยุธยา คองบอง 3
       อองไจยะ
       เมื่อพญาทะละยึดอำนาจจากสมิงทอพุทธกิตติ และขึ้นเป็นกษัตริย์มอญได้แล้ว ก็เริ่มตีหัวเมืองมอญแต่เดิมคืนจากพม่า และตีขึ้นไปถึงอังวะ จับเอากษัตริย์และเหล่าราชนิกูลมาจำไว้ เมื่อจะถอยกลับหงสาวดี ก็ให้วางกำลังไว้ แต่เหล่ามอญที่รักษาเมืองอยู่เกิดย่ามใจ ยามออกไปเก็บส่วยตามบ้านต่าง ๆ ก็รีดนาทาเร้นกับพม่าจนได้ยาก.
       ที่หมู่บ้านมุดโชโบ เหนืออังวะขึ้นไป อองไจยะนายบ้าน ทำทีเป็นยอม แต่แล้วกลับนำกำลังราวสี่สิบคนตีพวกมอญที่มาเก็บส่วยจนพ่ายไป ชาวบ้านอื่นได้ข่าวต่างพากันเข้าด้วย เมื่อมอญหวังมาปราบ ก็ถูกอองไจยะตีแตกพ่ายกลับไปอีก กิตติศัพท์อองไจยะเริ่มหนาหู ชาวพม่าทั้งหลายต่างเข้าด้วยเพิ่มมากขึ้น.
       เมื่ออองไจยะ นำกำลังตีถึงอังวะ มอญที่รักษาเมือง เห็นท่าสู้ไม่ได้ แลคิดว่าพม่าหมายตีเมืองคืนแก่กษัตริย์ตน จึงสังหารกษัตริย์ แลเหล่าราชนิกูลเสีย (บางเล่มว่าถูกจำจนสิ้นพระชนม์ไปเอง) แต่กลับเข้าทางพวกพม่าซึ่งยิ่งคิดว่าเมื่อสิ้นเชื้อสายราชนิกูลเดิม ก็อองไจยะนี่แหละคือผู้มีบุญบารมีจะได้เป็นกษัตริย์ มาปลดแอกพม่าจากมอญ เมื่อตีเมืองคืนจากมอญได้ จึงตั้งตัวเป็นใหญ่ นามอลองพญา แปลว่าพระโพธิสัตว์ แลสร้างเมืองที่มุดโชโบ ขนานนามว่าเมืองรัตนสิงห์.
       หลังจากนั้น อลองพญา นำกำลังเข้าตีเมืองยางโกง (ย่างกุ้ง) พะสิม สิเรียม และเข้าตีถึงหงสาวดี พญาทะละเห็นทีสู้ไม่ได้ หวังยอมหย่าศึก แต่น้องชายซึ่งเป็นอุปราชไม่เห็นด้วย พญาทะละกลับแอบให้พระสงฆ์ราชาคณะไปเจรจาหย่าศึก อลองพญายอมรับ แต่พออุปราชรู้กลับไม่ยอม นำกำลังเข้าตีพวกพม่าอีกซ้ำ พม่าที่เหลือกลับตีย้อนกลับได้ อลองพญากริ้วว่าพวกมอญตระบัดสัตย์ จึงบุกเข้าหงสาวดีสังหารไม่เลือกหน้า ไม่เว้นพระสงฆ์องค์เจ้า หงสาวดีซึ่งกลับคืนเป็นของมอญได้เพียงเจ็ดปีเศษ จึงย่อยยับไปแต่กาลนั้น และมอญก็ไม่ได้ลืมตาอ้าปากอีกเลยจนปัจจุบัน.


คองบอง และอยุธยา 4
พระเจ้ามังลอก และ ขุนทัพมังฆ้องนรธา
       เมื่อพระเจ้าอลองพญาประชวรระหว่างเข้าตีอยุธยา และสวรรคตกลางทางขณะถอยทัพกลับ (พงศาวดารไทยว่าต้องปืนใหญ่ บ้างก็ว่าปืนใหญ่ฝ่ายพม่าระเบิดเอง) นายทัพผู้คุมกองระวังหลังคือ มังฆ้องนรธา สหายสนิทแต่วัยเยาว์ของอองไจยะ (อลองพญา) แต่ครั้งเป็นพรานบ้านมุดโชโบ.
       มังฆ้องนรธา เป็นนายทัพมีฝีมือ เหล่าทหารล้วนเคารพภักดี และเป็นที่ไว้วางใจของมังระ ได้สั่งให้กองระวังหลัง ทิ้งระยะให้ห่างขบวนพระศพ เพื่อให้ทัพอยุธยาที่ตามตีไล่หลัง อยู่ให้ห่างขบวนพระศพมากที่สุด และสามารถยันทัพอยุธยาได้ตลอดรอดฝั่ง จนทัพหลวงกลับถึงเมืองรัตนสิงห์.
       ฝ่ายพระเจ้ามังลอกราชบุตรอองค์โตของอลองพญาขึ้นครองราชย์ และระแวงน้องชายคือมังระเพราะเป็นนักรบกล้าแข็ง แต่เพราะพระมารดาขอไว้ มังลอกจึงหันไปหาเหตุเล่นงานขุนทัพของมังระสองนาย และประหารโดยไม่สอบสวน สร้างความขุ่นเคืองแก่มังระ และเหล่าทหารทั้งปวง.
       เมื่อมังฆ้องนรธา ยกกำลังกลับมา พอได้ข่าว ก็รู้ดีว่าตนอยู่เป้าหมายการกำจัดของมังลอก จึงเข้าตั้งมั่นที่เมืองอังวะ และนั่นเท่ากับการกบฏไปโดยปริยาย (ในไทยรพพม่าของกรมพระยาดำรง ฯ กล่าวว่า มังฆ้องนรธา กำเริบเสิบสาน คิดตั้งตนเป็นใหญ่เอง) เมื่อมังลอกส่งกำลังมาปราบ มังฆ้องนรธาและเหล่าทหารผู้ภักดีก็ยันกลับไปได้ แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เมื่อโดนตีเมืองครั้งต่อ ๆ มา ทัพของมังฆ้องนรธาแตกหนีออกจากเมือง ตัวมังฆ้องนรธาเองต้องปืนเสียชีวิต.
       แต่เมื่อมังลอกเห็นศพมังฆ้องนรธา ก็โทมนัสไม่น้อย ที่ขุนทัพสหายศึกเคียงบ่าเคียงไหล่ของบิดาแต่ครั้งบ้านมุดโชโบต้องมาตายลงสภาพเช่นนี้.
       มังลอกมัวแต่ยุ่งเรื่องภายใน จนไม่ได้ทำศึกอื่น แต่ยุครัชกาลมังลอกก็สั้นนัก เพียงสี่ปี พระชนม์ยังไม่สามสิบด้วยซ้ำ และเมื่อสิ้นมังลอก มังระขึ้นครองราชย์ ก็ชี้ดาบมาที่อยุธยาทันที.


คองบอง และอยุธยา 5
มังระ
       เคยสงสัยอยู่นาน เด็กหนุ่มลูกนายบ้านพรานป่า กลายเป็นกษัตริย์ขุนศึกได้อย่างไร ตามหาจากหลายแหล่ง จนได้ข้อสรุปว่า อุปนิสัยพื้นฐานเป็นขาบู๊ ประกอบกับเป็นคนช่างสังเกต จดจำ สั่งสมประสบการที่ร่วมรบกับบิดาคืออองไจยะ เข้าตีมอญที่เริ่มตั้งอาณาจักรใหม่ตั้งแต่อายุเพียง 15 และอายุเพียง 17 ก็นำกองกำลังเข้ายึดอังวะคืนจากมอญได้ และช่วยบิดาขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าอลองพญา สถาปนาราชวงศ์คองบอง เมื่ออายุเพียง 20 และได้ขึ้นครองราชย์เมื่ออายุราว 27.
       มังระ มองภาพรวมของสงคราม วางยุทธศาสตร์ แล้ววางขุนศึกมีฝีมือลงไปโดยปล่อยให้ดำเนินการเต็มที่ ไม่มีการล้วงลูก และที่สำคัญ มีขุนศึกคู่พระทัยพระเจ้าอลองพญาแต่ครั้งปลดแอกมอญมาหลายคน.
       เมื่อเนเมียวสีหบดียกทัพออกไปได้ 1 ปี ทัพจีนต้าชิงก็เข้าเหยียบแดนไทใหญ่ ทั้งที่แบ่งทัพไปตีอยุธยาแล้ว แต่พระเจ้ามังระก็ทรงนำทัพออกยันทัพต้าชิงไว้ได้ถึงสองครั้ง ต้าชิงเสียหายอย่างหนัก พระเจ้าเฉียนหลงถึงกับทรงกริ้วมาก เพราะในสายตาจีน พม่าเป็นเพียงเหล่าอนารยชน ถึงกับให้หมิงรุ่ย พระนัดดา จอมทัพผู้พิชิตมองโกล และเติร์กลงได้อย่างราบคาบเป็นแม่ทัพตีพม่าครั้งที่สาม.
       ศึกครั้งที่สาม พระเจ้ามังระทรงให้อาติ๊โบว่งจี (อะแซหวุ่นกี้) เป็นแม่ทัพ และใช้ยุทธศาสตร์กองโจร มีเนเมียวสีหตู และบะละหมิ่นทิน ซุ่มตีกระหนาบหลัง ทำไม้ทัพจีนพะวักพะวง การส่งเสบียงและกำลังเสริมลำบาก แม้ที่สุด พม่าจะยังไม่ชนะ แต่ความเสียหายก็อยุ่ที่ทัพจีนมากกว่า จอมทัพหมิงรุ่ย ถึงกับฆ่าตัวตายล้างความอัปยศ. พระเจ้าเฉียนหลงทรงกริ้วเป็นสามเด้ง.
       ตอนหน้า ศึกครั้งที่ 4.


คองบอง 6
มังระ 2
       หลังสิ้นศึกครั้งที่ 3 พระเจ้าเฉียนหลงทรงกริ้วมาก ทีเอาชัยต่อพม่ามิได้ แถมยังสูญเสียไพร่พลและยุทโธปกรณ์มากกว่า เสียยอดขุนพลอย่างหมิงรุ่ยที่ฆ่าตัวตายล้างอาย ถึงกับให้จอมทัพอาวุโส เสนาบดีกลาโหม ยอดขุนพล และไพร่พลมากกว่าทุกครั้งเพื่อเข้าตีอังวะครั้งที่ 4.
       ทัพต้าชิงที่ยกมาทางเมืองก้องโตน ถูกบะละหมิ่นทินยันไว้ได้ ทั้งที่กำลังน้อยกว่า ส่วนอีกทัพหนึ่ง อาติ๊โบ่วงจี (อะแซหวุ่นกี้) เข้ายันไว้ ทัพของอาติ๊โบว่งจีดูไม่มีทีท่าว่าจะได้ชัย ทัพต้าชิงกลับดูจะได้เปรียบ แต่แล้วตัวตัดสินชี้ขาดก็มา เนเมียวสีหบดี ยกทัพกลับมาจากอยุธยาเข้าสมทบพอดี อาติ๊โบ่วงจีสั่งเปลี่ยนยุทธวิธี ตีโอบ แล้วล้อมไว้ที่ก้องโตน แม้โอกาสบดขยี้ทัพจีนอยู่ตรงหน้า แต่อาติ๊โบ่วงจีกลับบีบให้ออกมาเจรจาสงบศึก เพราะไม่เห็นประโยชน์หากจะทำสงครามต่อไป และความเสียหายที่ผ่านมา 4 ปี ก็เกินประมาณได้ หรืออีกนัยหนึ่ง อาจคิดว่าหากอังวะชนะครั้งนี้ ต้าชิงก็คงไม่เลิกรา และต้องมีสงครามรอบใหม่แน่ กำลังทหารหากเอาจริง ๆ ต้าชิงมีถึงสองล้าน แต่อังวะขณะนั้นแม้จะรีดมาจากประเทศราชจนหมดแล้วยังได้เพียงสองแสน.
       หลังศึกจีน แม้อังวะจะผ่านวิกฤตขนาดที่ว่าเกือบสิ้นชาติไปได้ แม้ความสูญเสียจะน้อยกว่าต้าชิง แต่ก็บอบช้ำไม่น้อย พระเจ้ามังระจึงให้กองทัพได้พักเพื่อฟื้นฟูและสั่งสมเสบียงและยุทโปกรณ์ร่วม ๕ ปี เพื่อเตรียมการเข้าตีธนบุรีซึ่งกำลังก่อร่างสร้างตัว.
       มังระให้เนเมียว ยกมาทางเชียงแสน และเข้าตีเชียงใหม่ และอาติ๊โบว่งจี เข้ามาทางเมืองตาก และเข้าตีพิษณุโลก แต่การศึกยังไม่เด็ดขาด พระเจ้ามังระก็ประชวรสวรรคต กองทัพทั้งหมดต้องยกกลับทั้งพึ่งตีได้เมืองพิษณุโลก.
       มังระสวรรคตทั้งที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ คือ 39 ชันษา ครองราชย์เพียง 12 ปีครึ่ง หากมังระครองราชย์นานกว่านี้ และหากขุนพลมือดีอีกสามคน ไม่โดนพระเจ้ามังลอก พระเชษฐาสั่งเก็บเพราะความระแวงไปก่อนหน้านี้ โฉมหน้าของอาณาจักรคองบอง และโฉมหน้าของอาณาจักรรอบข้าง รวมทั้งสยาม คงยากจะคาดเดา.
       หากนับหลังสมัยบาเยงนองเป็นต้นมา ก็มีสมัยพระเจ้ามังระนี่แหละ ที่การทหารพม่าแข็งแกร่งที่สุด และรองลงมาก็สมัยพระเจ้าประดุง พระอนุชา แต่หลังจากนั้นการทหารพม่า ไม่เคยกลับไปแข็งแกร่งอย่างเดิมอีกเลย การแก่งแย่งชิงอำนาจในราชสำนัก ทำให้มีการกำจัดคนดีมีฝีมือที่ไม่ใช่ฝ่ายของตนไปมากมาย ความแข็งแกร่งของอังวะไม่เหมือนเดิม แต่ที่เหมือนเดิมคือความทรนงจนลืมมองโลกรอบด้านที่เปลี่ยนไป และเป็นเหตุให้เปิดศึกกับอังกฤษโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ และก็นำไปสู่การเสียดินแดนบางส่วนให้อังกฤษ ในอีกไม่กี่สิบปีถัดมา และอีกไม่กี่สิบปีก็เสียเอกราชแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลังพระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์เพียงร้อยปีเศษเท่านั้น.


คองบอง 7
จิงกูจา
       หะแรกทีเดียว พระเจ้ามังระทรงลังเลที่จะมอบบัลลังก์แก่จิงกูจา โอรสองค์โต เพราะชอบเสพย์สุราเมามาย นิสัยฉุนเฉียว อารมณ์ร้าย ครั้นจะยกให้แก่โอรสองค์รอง แชลงจา ซึ่งมีสติปัญา อุปนิสัยดีกว่า ก็รู้ว่าจิงกูจาคงไม่ยอม ต้องเกิดศึกชิงบัลลังก์แน่ จึงจำยกราชสมบัติให้แก่จิงกูจา ด้วยหวังว่า เมื่อจิงกูจาได้ราชสมบัติแล้ว แชลงจาน่าจะพ้นภัย. แต่พระองค์คาดผิด.
       ปี พ.ศ.2319 อาติ๊โบว่งจี (อะแซหวุ่นกี้) ตีได้เมืองพิษณุโลกแล้ว และกำลังจะลงไปสมทบกับเนเมียวสีหบดี ซึ่งตีเชียงใหม่ลงมา และอีกทัพทางใต้จากเมืองกุย ก็มาจนถึงเพชรบุรีแล้ว โดยทั้งสามทัพจะเข้าตีกรุงธนบุรีพร้อมกัน แต่พระเจ้ามังระสวรรคตกะทันหัน จิงกูจาขึ้นครองราชย์ ทัพทั้งหมดถูกเรียกกลับอังวะทันที ธนบุรีจึงรอดพ้นวิกฤต มีเวลาหายใจหายคออีกครั้งหนึ่ง.
       จิงกูจาครองราชย์พระชันษาเพียง 20 เพราะพระมารดาของจิงกูจา คือบุตรีของอาติ๊โบว่งจี ขุนพลเฒ่าจึงค้ำบัลลังก์หลานเต็มที่ แต่ด้วยนิสัยขี้ระแวง ฉุนเฉียว พระอนุชา แชลงจา จึงโดนเป็นคนแรก ด้วยข้อหาเตรียมชิงราชบัลลังก์ เหล่าขุนนางที่ทรงหวาดระแวง โดนประหารทั้งหมด และเพราะบารมีทางทหารของท่านตาเหลือเฟือ จิงกูจาเริ่มระแวง และทำสิ่งที่ราชสำนักตกตะลึง อาติ๊โบ่วงจี โดนถอดยศ และเนรเทศไปเมืองสกายง์ รวมทั้ง เนเมียวสีหบดี และเนเมียวสีหตู ขุนศึกคู่พระทัยมังระ ที่มีความดีความชอบแต่ครั้งศึกจีนต้าชิง.
       เมื่อเหล่าขุนศึก หมดไป ก็ถึงคิวเหล่าพระเจ้าอา พระอนุชาของมังระ ที่เหลืออีกสามพระองค์ก็โดนเนรเทศเช่นกัน. จิงกูจาแม้จะอายุน้อย แต่วีรกรรมไม่น้อย ทั้งประหาร และเนรเทศ เหล่าขุนนาง และพระญาติวงศ์ลงเสียมาก เหล่าขุนนางล้วนไม่เป็นสุข เพราะมิรู้ว่าวันใด ภัยจะถึงตัว.
       5 ปี ผ่านไป จิงกูจาเสด็จไปไหว้พระทางเหนือ หม่องหม่อง โอรสของพระเจ้ามังลอก (พระเชษฐาของมังระ /ลูกลุง) ชันษาเพียง 18 ได้ลอบลาผนวช (บ้างว่าเป็นเจ้าเมืองเล็ก ๆ ชื่อ พองกา) เข้ายึดอำนาจขณะจิงกูจาไม่อยู่ โดยได้รับการสนับสนุนจากเหล่าขุนนาง และพระญาติวงศ์ที่ทนต่อการปกครองที่ใช้ทั้งอารมณ์และอาวุธไม่ได้ เชื่อว่ามีอาติ๊โบว่งจี (อะแซหวุ่นกี้) อยู่เบื้องหลังด้วย เมื่อจิงกูจาทราบดังนั้น ก็ตั้งใจหนีไปเมืองกะแซ แต่เกิดห่วงพระมารดา จึงลอบส่งสาส์นแจ้งพระมารดาให้ทราบ แต่พระมารดากลับส่งสาส์นเตือนสติกลับมาว่า. จิงกูจาเกิดใต้เศวตรฉัตรอังวะ ถ้าจะตาย ขอให้ตายเยี่ยงกษัตริย์ มิใช่หนีไปพึ่งเมืองน้อยให้เขาตามไปจับให้เสื่อมพระกียรติ. จึงกูจาจึงได้สติ เกิดขัตติยมานะ เดินนำหน้าข้าราชบริพาร กลับเข้าเมือง ทหารเฝ้าวังเห็นจิงกูจาองอาจ ต่างกริ่งเกรง ไม่กล้าทำอะไร. จนมาพบอะตวนหวุ่นขุนนาง ซึ่งบุตรีเป็นสนมของจิงกูจา แต่ถูกจิงกูจาเมามายแล้วพิโรธ ทำร้ายนางจนตาย (บ้างว่าจิงกูจาสั่งประหารนาง) อะตวนหวุ่นโกรธแค้น จึงพาคนเข้าล้อมจับ แล้วสังหารจิงกูจาเสีย.
       แต่หม่อง ๆ ก็ได้นั่งบัลลังก็เพียงไม่นาน.


คองบอง 8
พระเจ้าปดุง 1
       เมื่อหม่อง หม่อง โอรสของมังลอก เข้ายึดอำนาจจากจิงกูจา (โอรสมังระ) พระองค์ชันษาเพียง 18 แต่เพียง 7 วัน มังวายง์ อนุชาองค์หนึ่งของมังระ และมังลอก (พระเจ้าอา) ที่โดนพิษการเมืองของจิงกูจาจนต้องระเห็จไปต่างเมือง ก็เข้ายึดอำนาจอีกต่อหนึ่ง. และเมื่อทราบว่าอะตวนหวุ่นสังหารจิงกูจาเพราะความโกรธแค้นส่วนตัวเสียแล้ว จึงให้ประหารอะตวนหวุ่นเสีย เนื่องจากกระทำโดยพลการ แทนที่จะกุมตัวมาถวาย.
       มังวายง์ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า โบดอพะเยีย แต่ไทยเรียกพระเจ้าปดุง ทรงให้อาติ๊โบว่งจี (อะแซหวุ่นกี้) กลับเข้ารับราชการตามเดิม มีตำแหน่งเสนาบดี แต่ไม่ได้มีอำนาจทางทหารมากล้นฟ้าเหมือนเก่า และรูปการก็เป็นไปตามคาด ทรงกำจัดขุนนางทั้งฝ่ายจิงกูจา และฝ่ายหม่อง หม่องจนสิ้น รวมทั้งพระญาติวงศ์ที่ทรงระแวงด้วย และแล้วในที่สุด แม้แต่ขุนพลเฒ่าอาติ๊โบว่งจีเอง ก็ไม่พ้นหัวขาดเพราะความระแวงของพระองค์ ผิดกับเนเมียวสีหบดี ซึ่งรอดตัวไป เพราะตั้งแต่ถูกจิงกูจาเนรเทศไปพร้อมกัน เนเมียวไม่หวนคืนสู่ราชสำนักอีกเลย.
       เมื่อครองราชย์ได้สองปี ทางยะไข่ เกิดวุ่นวายเพราะมีการชิงอำนาจกัน พระเจ้าปดุงจึงถือโอกาสนี้บุกยะไข่หมายผนวกดินแดน ทรงมีชัยชนะต่อยะไข่ ทั้งที่มิเคยมีกษัตริย์พม่าผู้ใดทำได้ และได้อัญเชิญพระมหามัยมุนี มาเมืองมัณฑะเลย์.
       หลังพ่ายศึกสงครามเก้าทัพในปีที่ 3 และพ่ายศึกท่าดินแดงในปีที่ 4 ทรงให้ย้ายเมืองหลวง จากอังวะ มายังอมรปุระ ซึ่งห่างกันราวสิบ กม. เพราะทรงเชื่อว่า มีวิญญาณร้ายสิงสถิตย์อยู่ จากบุคคลมากมายที่พระองค์ทรงประหารไปนั่นเอง.
       พระเจ้าปดุง ให้โอรสองค์หนึ่งปกครองยะไข่ แรก ๆ ชาวยะไข่ก็ดีใจที่พม่ามาปกครอง เพราะเบื่อหน่ายและเดือดร้อนจากการชิงอำนาจกันเองในราชวงศ์ของยะไข่ แต่เพราะการปกครองที่กดขี่ ชาวยะไข่จึงลุกฮือขึ้นก่อกบฏ ฝ่ายกบฏถูกปราบปราม ชาวยะไข่หลายพันคน รวมทั้งหัวหน้ากบฏสามคนหนีเข้าไปในแคว้นจิตตะกอง ซึ่งเป็นเขตของอังกฤษ ฝ่านทหารพม่าบุกเข้าไปถึงเขตของอังกฤษ แต่ก็ตกลงกันได้ อังกฤษยอมส่งตัวหัวหน้ากบฏทั้งสามให้พม่า และพม่าก็สัญญาจะไม่เข้ามาจุ้นจ้านในเขตของอังกฤษ และตกลงรับความสัมพันธ์ทางการค้า.
       และยะไข่นี่เองคือจุดเริ่มต้นการกระทบกระทั่งต่ออังกฤษ ตลอดรัชกาล.



พระเจ้าปดุง 2
       
หลังขึ้นครองราชย์เพียงสองปี พระองค์มีชัยต่อยะไข่ แต่กลับมาแพ้สงครามเก้าทัพ ในปีที่สามของรัชกาล และปีถัดมายังมาแพ้สงครามที่ท่าดินแดงให้เป็นที่มัวหมองในพระราชอำนาจอีก พระเจาปดุงจึงทรงให้ย้ายเมืองจากอังวะ มาอมรปุระ ห่างออกมาราว 10 กม. เพราะพระองค์เชื่อว่า อังวะมีวิญญาณร้ายครอบงำอยู่ คือวิญญาณของคนที่พระองค์สังประหารมากมายนั่นเอง.

       หลายปีต่อมา หลังจากกระทบกระทั่งกับอังกฤษครั้งแรก แต่ตกลงกันได้ เรื่องผู้ก่อกบฏชาวยะไข่แล้ว ทางอังกฤษได้ส่งผู้แทนมาเจรจาการค้า และปีต่อมาก็มาอีก แต่กลับไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย และการกระทบกระทั่งก็ยังมีอยู่ประปราย ต่อมาชาวยะไข่อพยพเข้าไปจิตตะกองอีก พม่าจะไล่ตามก็ไม่ได้ เพราะติดศึกทางอัสสัม ฝ่ายอังกฤษเอง ก็เตรียมการรับมือทางอัฟกันที่อาจเข้ามาคุกคามอินเดียอยู่ ต่างฝ่ายจึงต่างไม่มีเวลามากระทบกระทั่งกันมากนัก.

       ถัดมาอีก 2-3 ปี อังกฤษส่งผู้แทนมาเจรจาการค้า ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าอีก จนอังกฤษเริ่มแคลงใจ การกระทบกระทั่งเรื่องยะไข่ ก็ยังมีอยู่   ต่อมาเมื่อพระเจ้าปดุงมีดำริจะสร้างมหาเจดีย์มิงกุน ที่เมืองสกายง์ ให้เป็นเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสุวรรณภูมิ แรงงานชาวยะไข่ห้าหมื่นถูกเกณฑ์มาก่อสร้าง และเดือดร้อนจนต้องแอบหนีเข้าไปในเขตของอังกฤษอีก ระหว่างที่พระเจ้าปดุง ไปทำศึกกับอัสสัม โดยฉวยโอกาสที่ไทยใหญ่กำลังแย่งชิงอำนาจกัน เพื่อหวังผนวกดินแดนอัสสัมที่ไทยใหญ่ครอบครองมาก่อนหลายร้อยปี ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่อังกฤษยอมไม่ได้ เพราะเท่ายอมให้พม่ามาเคาะประตูบ้านทีเดียว.

       แต่มหาเจดีย์จักรพรรดิ์มิงกุน ก็สร้างไม่ทันเสร็จ หลังจากสร้างไปเพียง 7 ปี พระองค์ก็สวรรคตเสียก่อน ซึ่งถ้าหากสร้างเสร็จ จะสูงถึง 152 เมตร และในบริเวณเดียวกัน มีระฆังมิงกุน ซึ่งเป็นระฆังที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกด้วย ยังแขวนอยู่ และตีได้ มีเรื่องเล่าว่า พระองค์ทรงให้ประหารช่างที่หล่อระฆังเสีย เพื่อมิให้ไปสร้างระฆังที่ไหนอีก.

       พระเจ้าปดุงสวรรคตขณะพระชันษา 74 นับว่าทรงพระชนม์มายุยืนนานมากสำหรับโลกโบราณ ขนาดองค์รัชทายาท ยังตายก่อนพระองค์ถึง 10 ปี จนโอรสของรัชทายาทขึ้นมาเป็นรัชทายาทแทน และเพราะสวรรคตขณะเรื่องยะไข่ยังพัวพัน ศึกข้างอัสสัมก็ยังมิแล้ว จึงเป็นชนวนให้พระเจ้าจักกายแมง กษัตริย์องค์ถัดมา ต้องตามล้างตามเช็ดกับอังกฤษ จนเกิดสงครามขึ้นจริง ๆ .


คองบอง 9
พระเจ้าปาจีดอ หรือ จักกายแมง
       พระนามพม่าคือ บาจีดอ แต่ไทยเรียก จักกายแมง หรือสกายง์หมิ่น เจ้าเมืองสกายง์ เป็นโอรส ตโดมินซอ อุปราชสมัยพระเจ้าปดุง แต่พระบิดาคือ ตโดมินซอสิ้นพระชนม์เสียก่อนพระเจ้าปดุงถึงสิบปี พระเจ้าปดุงจึงยกสกายง์หมิ่นขึ้นเป็นเป็นอุปราชแทน และขึ้นครองราชย์ ปี 2362 ชันษา 35 ปี.

       พระเจ้าจักกายแมงขึ้นครองราชย์โดยรับนโยบายผนวกดินแดนด้านตะวันตกมาเต็มที่ แต่พระองค์มิได้ทรงปรีชาเยี่ยงเสด็จปู่ เพียงปีแรก ยกทัพไปมณีปุระ เพราะเจ้าครองแคว้นไม่มาเข้าร่วมพิธีราชาภิเษก จนเจ้าผู้ครองมณีปุระหนีไป ตีเมืองกระแซยึดเป็นที่มั่น เจ้าเมืองกระแซหนีไปพึ่งอังกฤษ เข้าทาง อังกฤษถือโอกาสรวบเมืองกระแซไว้ในมือ.

       ปีที่สามของการครองราชย์ ทรงให้มหาพันธุระ (มหาบัณฑุระ/บันฑูร ?) เข้าตีแคว้นอัสสัม ปีต่อมาก็ยึดอัสสัมได้ แต่เจ้าผู้ครองแคว้นอัสสัมก็หนีไปพึ่งอังกฤษอีก และอังกฤษกลับมายึดอัสสัมได้ในปีถัดมา.

       แล้วก็เกิดวุ่นวายที่ยะไข่เข้าอีก คนในเขตอังกฤษมาล่าช้างในยะไข่ พม่าตามเข้าไปถึงจิตตะกอง และกระแซ แต่กลับถูกอังกฤษตีจนต้องถอยร่นมาตั้งมั่นที่มณีปุระ จะด้วยหมดความอดทน หรือเข้าทางปืนมิรู้ได้ ที่สุด อังกฤษก็ประกาศสงครามกับพม่า.

       การรบกินเวลาถึงสองปี กองทัพพม่ามีมหาพันธุระ เป็นแม่ทัพ ตีได้เมืองจิตตะกอง แต่เมื่ออังกฤษยึดได้หัวเมืองชายทะเลทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ ยะไข่ ไปจนถึงแถบตระนาวศรี มหาพันธุระต้องถอยจากจิตตะกอง มาตั้งมั่นที่ย่างกุ้ง เพราะมหาพันธุระ ใช้ยุทธวิธีรบแบบจารีตโบราณ จึงไม่อาจสู้อาวุธทันสมัย และยุทธวิธีสมัยใหม่แบบอังกฤษ และถูกปืนเสียชีวิตในที่สุด กองทัพจึงแตกซ่าน เจ้าชายสารวดี พระอนุชาจักกายแมงแนะให้ทรงยอมแพ้ แต่มหเสีแมนุ และพี่ชายคือ มินตาจี ซึ่งคอยชักใยอยู่เบื้องหลังพระเจ้าจักกายแมง ไม่ยอม ยังดื้อดึงรบต่อ จนเสียไพร่พลไปอีกถึงสองหมื่น จึงยอมสงบศึก โดยพม่าเสียดินแดนยะไข่ มณีปุระ อัสสัม และตระนาวศรีให้อังกฤษ และยังต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามอีก สองล้านปอนด์ ซึ่งพม่าเองไม่มีเงินพอขนาดนั้น ต้องรีดเอาจากประเทศราชนานนับสิบ ๆ ปีทีเดียว.


 
info@huexonline.com