MENU
TH EN

TH - จารึกหลักที่ 57: จารึกสด๊กก๊อกธม

Title Thumbnail: เว็บไซต์ "ดำรงวิชาการ", damrong-journal.su.ac.th, วันที่เข้าถึง 3 พฤษภาคม 2563.
Hero  Image: ภาพมุมสูงปราสาทสด๊กก๊อกธม, ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 3 พฤษภาคม 2563.
TH - จารึกหลักที่ 57: จารึกสด๊กก๊อกธม
First revision: May 03, 2020
Last change: May 06, 2020

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียงโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     จารึกนี้พบใน ปราสาทสด๊กก๊อกธม (Sdok Kok Thom บ้างก็เรียก สด๊กแก๊กธม Sdok Kak Thom: ស្តុកកក់ធំ) แปลว่า เมืองที่มีต้นกกขึ้นรกในหนองน้ำใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านหนองเสม็ด หมู่ที่ 9 ต.โคกสูง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ห่างจาก อ.อรัญประเทศทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 35 กิโลเมตร อยู่ห่างจาก อ.ตาพระยามาทางใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร โดยเฉพาะจารึกสด๊กก๊อกธม หลักที่ 2 (classified K.235) ที่พบทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท เป็นจารึกภาษาสันสกฤตและเขมรโบราณ ยาว 340 บรรทัด แกะสลักลงบนหินทรายสีเทา ซึ่งมีความสูง 1.51 เมตร วันที่ในจารึกระบุไปถึง 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.1596 ระบุความเป็นมาของการก่อสร้างปราสาทนี้
     ปราสาทนี้สร้างในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมเทวะที่ 2 (Uday
ādityavarman II) สร้างโดยเหล่าครอบครัวของนักบวชที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น สร้างด้วยศิลาแลง และหินทราย ศิลปะเขมรแบบคลัง-บาปวน สร้างเสร็จในคริสต์ศตวรรษที่ 11 (หรือราว พ.ศ.1595) เป็นปราสาทในศาสนาพราหมณ์ฮินดู แบบไศวนิกาย มีการกัลปนา ซึ่งชาวบ้านชาวนาโดยรอบนำข้าวปลาอาหารมาถวายนักบวช 

     ส่วนข้อมูลของ 05. บรรยายว่า ปราสาทนี้สร้างโดยพระบัญชาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมเทวะที่ 2 โดยประสงค์ที่จะให้แด่ "ศรีชเยนทรวรรมเทวะ" นามเดิมว่า "สทาศิวะ" พระราชครูที่ลาสิกขาสมณเพศ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระชามาดาของพระเจ้าสุริยวรรมเทวะที่ 1 (พระราชบิดาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมเทวะที่ 2) และเป็นผู้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกถวายพระองค์.

     ซึ่งในจารึกฯ หลักที่ 2 ระบุว่า "..พระองค์ทรงบริจาคเพชรพลอย ทอง เงิน (และ)...โคศักดิ์สิทธิ์ 100 ตัว ช้าง 200 เชือก ม้า 100 ตัว แพะและกระบือ 100 ตัว พระองค์ได้พระราชทานทาสชายหญิงและชาย 1000 คน พระราชทาน สรุก02 3 แห่ง..."01.

    ในจารึก ได้บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ชนชาติกัมพูชาเป็นช่วงระยะเวลานานถึง 200 ปี นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรรมเทวะที่ 2 (พ.ศ.1345-1393) เป็นกษัตริย์ลำดับแรกในยุคเมืองพระนคร ที่ทรงประทับที่พนมกุเลน แล้วสร้างนครหลวงที่ หริหราลัย จนถึงสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมเทวะที่ 2 (พ.ศ.1593-1609)
          
ที่มา: qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 4 พฤษภาคม 2563.

จารึกสด๊กก๊อกธม หลักที่ 2 (classified K.235)
     ประกอบด้วยคำจารึก 340 บรรทัด ทั้งภาษาสันสกฤต และภาษาเขมรโบราณ แกะสลักลงในแท่งหินทรายสีเทา มีความสูง 1.51 เมตร ซึ่งวางไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท. จารึกระบุวันที่ถึง 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1596 หรือ ค.ศ.1053 เมื่อคำนวณแล้ว หมายถึงสมาชิกครอบครัวที่ดูแลปราสาทนี้ รับใช้สนองกษัตริย์ร่วมสองศตวรรษครึ่ง (2.5 centuries) ในฐานะที่เป็นพราหมณ์ปุโรหิต จารึกเป็นกาพย์แสดงถึงความศรัทธา พระบรมวงศานุวงศ์ ประวัติศาสตร์ และโครงสร้างทางสังคมในแต่ละช่วงเวลา.
     จารึกสันสกฤต เริ่มด้วย "ขอน้อมศิโรราบต่อองค์พระอิศวร อันประกาศก้องต่อเหล่าประชาราษฎร์ ไม่มีวจีวาจาจากองค์อิศวรผู้สถิตหยั่งลึกภายในสรรพสิ่ง"

     จารึกนี้มีประโยชน์ต่อนักวิชาการมาก ถึงการจัดลำดับกษัตริย์ที่ปกครองกัมพูชาโบราณมาถึง 12 รัชกาล ในช่วงสองศตวรรษครึ่งนี้  จารึกได้กล่าวถึงการนองเลือดสู้รบกับอริราชศัตรูของกษัตริย์กัมพูชา
     กษัตริย์พระองค์แรกที่จารึกนี้กล่าวถึงคือ พระเจ้าชัยวรรมเทวะที่ 2 ซึ่งอ้างว่าพระองค์มาจาก "ชวา" (แต่มีนักวิชาการรุ่นใหม่กล่าวว่า ชวา น่าจะหมายถึง อาณาจักรจัมปา มากกว่า ... ดูรายละเอียดในหมายเหตุที่ 14 
I. อาณาจักรพระนครโบราณ  ) ในจารึกกล่าวต่ออีกว่า พราหมณ์ชื่อ หิรัณยทามัน บ้างเรียก หิรัญยทามะ (Hiraṇyadāman) เชี่ยวชาญด้านเวทย์มนต์และ(วิทยา)ศาสตร์ ทำพิธีกรรมที่ให้กัมพูชามีกษัตริย์พระองค์เดียวและไม่ขึ้นกับ "ชวา" (น่าจะหมายถึง อาณาจักรจัมปา) และพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ในพิธีดังกล่าวต้องสืบเชื่อสายมาจากพราหมณ์ศิวไกวัลย์ เท่านั้น (นับแต่นั้น สายสกุลของพราหมณ์ศิวไกวัลย์ จึงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เรื่อยมา นอกจากนี้ยังได้เป็นมหาราชครูหรือปุโรหิตของกษัตริย์และเหล่าราชกุมารด้วย)04
 

ภาพจากเว็บไซต์ "ดำรงวิชาการ", damrong-journal.su.ac.th, วันที่เข้าถึง 3 พฤษภาคม 2563.
ตารางแสดงข้อมูลจารึก06
 ชื่อจารึก  จารึกสด๊กก๊อกธม 2
 ชื่อจารึกแบบอื่น ๆ   หลักที่ 57 จารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม ณ อรัญประเทศ
 อักษรที่มีในจารึก  ขอมโบราณ
 ศักราช  พุทธศตวรรษ 1595
 ภาษา  เขมร, สันสกฤต
 ด้าน/บรรทัด  จำนวนด้าน ด้าน มี  340 บรรทัด ด้านที่หนึ่ง มี 60 บรรทัด ด้านที่สองมี 77 บรรทัด ด้านที่สามมี 84 บรรทัด ด้านที่สี่มี 119 บรรทัด.
 วัตถุจารึก  ศิลา ประเภทหินชนวน
 ลักษณะวัตถุ  หลักสี่เหลี่ยม
 ขนาดวัตถุ  กว้าง 43 ซม. สูง 191 ซม. หนา 32 ซม.
 บัญชี/ทะเบียนวัตถุ  1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น "ปจ.4"
 2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 กำหนดเป็น "หลักที่ 57 จารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม ณ อรัญประเทศ"
 3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 กำหนดเป็น "จารึกสด๊กก๊อกธม 2"
 ปีที่พบจารึก  พุทธศักราช 2463
 สถานที่พบ  บริเวณปราสาทเมืองพร้าว (ชื่อเดิมของปราสาทสด๊กก๊อกธม) ตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง (ข้อมูลเดิมว่าอำเภออรัญประเทศ) จังหวัดสระแก้ว
 ผู้พบ  เจ้าอาวาสวัดโคกสูง ตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง (ข้อมูลเดิมว่าอำเภออรัญประเทศ) จังหวัดสระแก้ว
 ปัจจุบันอยู่ที่  หอพระสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
 พิมพ์เผยแพร่  1) Inscription of Kambuja (Calcutta: The Asiatic Society, 1953), 362-382.
 2) THe Sdok Kak Thom Inscription (Calcutta: Sanskrit College, 1980), xvii-255.
 3) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 (พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 115-118.
 4) จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 (กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 181-227.
 ประวัติ  เมื่อแรกได้จารึกหลักนี้เข้ามากรุงเทพฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้โปรดให้เก็บรักษาจารึกไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ คือ อาคารพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2503 หลักจารึกนี้ถูกไฟไหม้พร้อมกับโรงละครของกรมศิลปากร ทำให้เนื้อศิลาแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กรมศิลปากรจึงให้นายอาภรณ์ ณ สงขลา เจ้าหน้าที่กองโบราณคดีดำเนินการอนุรักษ์ ซ่อมเสริมเนื้อศิลาส่วนที่แตกหักเสียหาย พร้อมทั้งเติมเส้นอักษรจารึกให้เต็ม ตามอย่างอักษรจารึกของเดิม ที่ปรากฎอยู่ในสำเนาจารึก เสร็จสมบูรณ์เมื่อ มีนาคม 2511 ขณะที่ยังซ่อมไม่เสร็จ นายปรีดา ศรีชลาลัย ได้อ่าน-แปลเศษจารึกส่วนหนึ่งซึ่งแตกหักออกเป็นก้อนใหญ่ มีอักษรข้อความอยู่ในระหว่างด้านที่ 4 บรรทัดที่ 9-27 จารึกเป็นภาษาเขมรและพิมพ์เผยแพร่ในประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 ใช้ชื่อว่า "หลักที่ 57 จารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม ณ อรัญประเทศ" การพิมพ์จารึกครั้งนี้ นายชะเอม แก้วคล้าย ได้ดำเนินการถ่ายถอดคำจารึก และแปลส่วนที่เป็นภาษาสันสกฤตก่อน ต่อมาได้แปลคำจารึกภาษาเขมรจากฉบับภาษาอังกฤษของ R.C. Majumdar ในหนังสือ Inscription of Kambuja ทำให้การอ่าน-แปลจารึกหลักนี้สำเร็จครบถ้วนทั้ง 4 ด้าน. 
 เนื้อหาโดยสังเขป  ด้านที่ 1: เริ่มต้นด้วยการกล่าวนมัสการพระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ ตามด้วยการสรรเสริญพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมเทวะที่ 2 ว่ารูปงามเหมือนกามเทพ มีปัญญาดุจพระพรหม และทรงปกครองแผ่นดินด้วยความยุติธรรม จากนั้นก็กล่าวถึงพราหมณ์ศิวไกวัลย์ ว่าเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมุนีผู้ประกอบพิธีกรรมตามประเพณี หลังจากที่ได้เรียนรู้เรื่องเวทมนตร์จากพราหมณ์หิรัณยทามะแล้ว ตอนท้ายของจารึกด้านนี้ได้กล่าวสรรเสริญ ชเยทรวรรมเทวะ ผู้เป็นอาจารย์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมเทวะที่ 2 ผู้มีบรรพบุรุษต้นตระกูลคือ "พราหมณ์ศิวไกวัลย์" ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมตามประเพณี
 ด้านที่ 2: เป็นการลำดับความสัมพันธ์ และผลงานของผู้ที่อยู่ในสายตระกูล ที่มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมในราชสำนักกัมพูชา เริ่มตั้งแต่พราหมณ์ศิวไกวัลย์เรื่อยมาจนถึง ชเยนทรวรรมเทวะ หรือ สทาศิวะ 
 ด้านที่ 3: กล่าวสรรเสริญพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมเทวะที่ 2 แจงรายการสิ่งของจำนวนมาก ที่พระองค์ทรงถวายแด่เทวสถาน ณ เมืองภัทรนิเกตนะ จากนั้นก็กล่าวถึงการบริจาคที่ดินของพระราชครูชเยนทรวรรมเทวะ ตามด้วยการลำดับสายสกุล และผลงานของผู้ประกอบพิธีกรรมในราชสำนัก ของแต่ละรัชกาล และ
 ด้านที่ 4: เป็นการลำดับสายสกุล และผลงานของผู้ประกอบพิธีกรรมในราชสำนัก ของแต่ละรัชกาลต่อจากจารึกด้านที่ 3
 ผู้สร้าง  ไม่ปรากฎหลักฐาน
 การกำหนดอายุ  จารึกด้านที่ 4 บรรทัดที่ 81 บอกมาศักราช 971 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.1595
 ข้อมูลอ้างอิง  เรียบเรียงข้อมูลโดย: นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547. จาก:
 1) Adhir Chakravarti, The Sdok Kak Thom Inscription Part II (Calcutta: Sanskrit College, 1980), 143.
 2) R.C. Majumdar, "Sdok Kok Thom Stele Inscription of Udayāditya-varman," inscription of Kambuja (Calcutta: The Asiatic Society, 1953), 368.
 3) ชะเอม แก้วคล้าย, "จารึกสด๊กก๊อกธม 2," ในจารึกประเทศไทย เล่ม 3: อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16 (กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 181-227.
 4) ปรีดา ศรีชลาลัย, "หลักที่ 57 จารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม ณ อรัญประเทศ," ในประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3: ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร: คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนากยกรัฐมนตรี, 2508), 221-224.


 
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง, การกัลปนาในจารึกสมัยสุโขทัย อยุธยา และธนบุรี-รัตนโกสินทร์ (Monastic Endowments in the Sukhothai Ayutthaya and Thonburi-Rattanakosin Inscritptions). มหาวิทยาลัยศิลปากร.2010.
02. สรุก (sruk) แปลว่า ชุมชน
03. แก่นข้อมูลหลักมาจาก en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 9-11 ธันวาคม 2562.
04. บางส่วนมาจาก: รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, ปราสาทขอมในดินแดนไทย: ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ, หน้าที่ 125.

05. าก. qrcode.finearts.go.th, วันที่เข้าถึง 4 พฤษภาคม 2563.
06. ได้ปรับปรุงบางส่วนที่เป็นชื่อบุคคลให้สอดคล้องกับการค้นพบใหม่ (พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 เปลี่ยนเป็น พระเจ้าอุทัยทิตยวรรมเทวะที่ 2) ที่มา: db.sac.oc.th/inscriptions/inscribe/detail/498, วันที่เข้าถึง 4 พฤษภาคม 2563. 

 
info@huexonline.com