MENU
TH EN
Title Thumbnail: ปราสาทนครหลวง, ที่มา: Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," cr. CUIR, วันที่เข้าถึง 26 มิถุนายน 2563.
Hero Image: ภาพจำลองปราสาทนครหลวง, ที่มา: www.mryoudesign.com, วันที่เข้าถึง 15 กรกฎาคม 2563.

242. ปราสาทนครหลวง01.
First revision: Jun.26, 2020
Last change: Oct.21, 2021

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ตามใบบอกเมืองสระบุรี ในปี พ.ศ.2149 นั้น ได้เสด็จฯ โดยชลมารคตามลำน้ำป่าสักถึงท่าเรือ แล้วจึงเสด็จฯ ต่อไปโดยขบวนช้าง มีพรานบุญผู้พบรอยพระพุทธบาทเป็นผู้นำทาง ก่อนเสด็จฯ กลับได้โปรดให้ฝรั่งส่องกล้องตัดถนนจากรอยพระพุทธบาทมาจนถึงท่าเรือ ครั้นเสด็จฯ กลับมาตามสถลมารคที่สร้างใหม่ถึงท่าเรือแล้วจึงโปรดให้สร้างตำหนักริมน้ำขึ้น ให้ชื่อว่า พระตำหนักท่าเจ้าสนุก02.

     ข่าวการพบรอยพระพุทธบาท ณ แขวงเมืองสระบุรี ในขณะนั้น นับเป็นมงคลนำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ราชสำนักและประชาชนทั่วไป กษัตริย์ในรัชกาลต่อ ๆ มา ได้ถือว่าการเสด็จมานมัสการรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีนี้ เป็นพระราชกรณียกิจที่จำเป็นและสำคัญ และเส้นทางขบวนเสด็จนั้น มักจะเสด็จโดยชลมารค โดยเริ่มจากท่าเทียบเรือพระราชวังหลวง (ท่าวาสุกรี) ไปจนถึงท่าสนุก แล้วจึงเสด็จต่อโดยสถลมารค แม่น้ำป่าสักจึงเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญยิ่งเส้นทางหนึ่งนับแต่การค้นพบรอยพระพุทธบาท ภาพทิวทัศน์ภูมิประเทศสองฝั่งน้ำสร้างความแปลกตาและเพิ่มจินตนาการในแก่ผู้คนและกวีคนแล้วคนเล่า ทั้งยุคเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ จนถึงสุนทรภู่ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างทางรถไฟขึ้น เมื่อ พ.ศ.2444 นักเดินทางจึงเปลี่ยนไปเดินทางรถไฟ.

     ขบวนพยุหยาตราชลมารค เพื่อนมัสการพระพุทธบาทในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น จะหยุดพักผ่อนไพร่พลและเสวยพระกระยาหารกลางวันตรงใกล้บริเวณลำน้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี มาบรรจบกันเป็นทางน้ำสามแพรกบริเวณวัดใหม่ประชุมพล อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเพลาบ่ายหายเหน็ดเหนื่อยแล้ว ขบวนจึงจะเคลื่อนต่อไปตามลำน้ำป่าสักจนถึงท่าเจ้าสนุกแล้วหยุดประทับแรม ต่อวันรุ่งขึ้นขบวนจึงจะเคลื่อนไปโดยสถลมารค
          
ภาพจากซ้ายไปขวา: Layout ของนครวัด เมืองเสียมเรียบ, ที่มา: angkorguide.net, วันที่สืบค้น 12 ธันวาคม 2560., ภาพปราสาทนครหลวง, ที่มา: เพจวัดสวยในเมืองไทยไปมาแล้ว ผ่าน fanofchalermchai.com, วันที่เข้าถึง 16 กรกฎาคม 2563.
 
     ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่โปรดที่จะหยุดการเดินทางในช่วงแรกที่วัดใหม่ประชุมพล แต่จะหยุดประทับที่บริเวณริมน้ำใกล้วัดเทพจันทร์ ถัดจากวัดใหม่ประชุมพลลงมาเล็กน้อย จนถึงปี พ.ศ.2174 จึงโปรดให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทนครหลวง (ปราสาทในเมืองพระนคร นครวัด "พระบรมพิษณุโลก" เมืองเสียมเรียบ) มาสร้างขึ้นไว้ในบริเวณสถานที่แห่งนี้ แล้วให้ชื่อ "พระนครหลวง" ตามชื่อเดิม.

     โบราณสถานปราสาทนครหลวง จึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
  • ตัวปราสาทพระนครหลวง และ
  • ร่องรอยพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
     ปราสาทพระนครหลวง เป็นอาคารก่ออิฐสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นแรกมีขนาด 81*94 เมตร สูงจากพื้นเดิน 4 เมตร ชั้นที่สองขนาด 67*75 เมตร สูงจากพื้นชั้นแรก 4 เมตร เช่นเดียวกัน ชั้นที่สามขนาด 46*48 เมตร สูงจากพื้นชั้นที่สอง 3.50 เมตร จากการขุดแต่งเพื่อการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2534 พบว่าแกนในของฐานแต่ละชั้นก่อด้วยดินอัดแน่นจนถึงพื้นแล้วก่ออิฐเป็นเอ็นยึดขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร สานกันเป็นแฉกทั่วพื้นที่ตรงมุมและทิศทั้งสี่ ที่ระเบียงคด (Cloister) ทุกชั้นทำเป็นปรางค์03. บริวารชั้นแรกมี 10 องค์ ชั้นที่สอง 12 องค์ และชั้นที่สาม 8 องค์ รวมทั้งสิ้น 30 องค์ ลักษณะปรางค์แต่ละองค์มีแบบแปลนแผนผังเหมือน ๆ กัน คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 8.40 เมตร ย่อมุมไม้ยี่สิบ ก่อเป็นฐานเขียง 2 ชั้น แล้วขึ้นฐานบัวลูกแก้วอกไก่คู่รองรับเชิงบาตรและตัวเรือนธาตุตามลำดับ ส่วนยอดทำเป็นชั้น 5 ชั้น ภายในองค์ปรางค์ประดิษฐานพระพุทธรูปปรางค์ละ 2 องค์ ยกเว้นปรางค์หมายเลข 7, 18 และ 26 ที่ต้องใช้เป็นเนื้อที่ของประตู.
 

ปราสาทนครหลวง, ภาพจาก CUIR โครงการศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดาและหอนิทรรศน์รัตกสิกร, ไม่ทราบปี, ที่มา: Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 23 สิงหาคม 2563.

     ระเบียงคด อาคารเชื่อมต่อระหว่างปรางค์ของแต่ละชั้นก่อผนังด้านนอกตัน แต่ทำช่องหน้าต่างปลอมเลียนแบบช่องลูกมะหวดคล้ายศิลปะสถาปัตยกรรมที่นิยมทำกันในกัมพูชา สมัยเมืองพระนคร (พ.ศ.1333-1896 หรือ ค.ศ.790-1353) ช่วงฐานก่อล้อกับการขึ้นรูปของฐานปรางค์ คือ ทำเป็นฐานเขียง 2 ชั้น แล้วขึ้นฐานลูกแก้วอกไก่ ส่วนผนังด้านในก่อโปร่งทำเป็นเสาสี่เหลี่ยมปาดมุม ปลายเสาเป็นบัวหงาย มีหน้ากระดานรองรับระหว่างช่วงเสาก่อกำแพงหลังเจียดเตี้ย ๆ โดยตลอด หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผาแบบลอนโค้ง ด้านนอกลด 2 ตับ ด้านในลด 3 ตับ ภายในระเบียงมีฐานชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งหันพระพักตร์สู่องค์ปรางค์ประธานทุกด้านทุกชั้น.

     ประตูทางเข้าขึ้นบนปราสาท ชั้นแรกมี 9 ประตู ชั้นที่สอง 12 ประตู และชั้นบนอีก 9 ประตู รวมทั้งสิ้น 30 ประตู

     ท่อระบายน้ำ ทำเป็นช่องสามเหลี่ยมสำหรับน้ำไหลลงพื้นข้างล่าง รวม 40 จุด

     มีหลักฐานอยูหลายประการ เช่น การฉาบปูนที่ผนังปรางค์และระเบียงเพียงการรองพื้นบาง ๆ ยังไม่ได้ตบแต่งฉาบผิว บันไดทางขึ้นบางแห่งยังไม่ได้ก่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาในปี พ.ศ.2421 ทรงพระราชนิพนธ์ถึงปราสาทแห่งนี้ว่า "...คงสร้างไม่แล้วเสร็จเป็นแน่ จนบันไดก็ได้ก่อบ้างไม่ได้ก่อบ้างเป็นแต่ชักอิฐไว้ ตัวปรางค์กลางนั้น เห็นจะยังไม่ได้ก่อขึ้นเป็นแน่..."04. ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างปราสาทนครหลวงไม่แล้วเสร็จ

       พระตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองใช้ประทับนั้น ปัจจุบันคือสถานที่บริเวณศาลาพระจันทร์ลอยซึ่งตั้งอยู่ถัดท่าน้ำเข้าไปเพียงเล็กน้อย จากงานขุดแต่งขุดค้นสถานที่แห่งนี้พบว่า อาคารจัตรมุขได้สร้างทับซ้อนลงบนอาคารพื้นปูอิฐ05. หลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งน่าเชื่อถือว่าเป็นศาลาโถงที่ประทับชั่วคราวของขบวนเสด็จทางชลมารคของพระเจ้าปราสาททอง.

       บริเวณฐานชั้นบนสุดจะเป็นที่ตั้งของมณฑปจตุรมุข ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเอาไว้ข้างใน ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ซึ่งระเบียงคดคือส่วนที่เชื่อมต่อปรางค์แต่ละองค์. พระพุทธบาทสี่รอยภายในมณฑปจตุรมุข มีบันทึกระบุว่านายปิ่นหรือตาปะขาวปิ่น เป็นผู้สร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับวัดนครหลวง มีลักษณะเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอย ลึกลงไปในเนื้อหิน รอยใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 เมตร ยาว 5.50 เมตร ประดิษฐานในมณฑปบนชั้นสูงสุดของปราสาทนครหลวง ที่มณฑปมีจารึกที่หน้าบันว่า ปฏิสังขรณ์เมื่อ ร.ศ.122 (พ.ศ.2446 ในสมัยรัชกาลที่ 5)09.



การซ่อมแปลงปราสาทพระนครหลวง
   1.  แม้ปราสาทหลังนี้ จะยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่ก็ไม่ปรากฎร่องรอยการแต่งเติมเสริมต่อใด ๆ จนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงปี พ.ศ.2352 นายปิ่นหรือตาปะขาวปิ่นได้สร้างพระพุทธบาทสี่รอยและอุโบสถเพิ่มเติมขึ้นบริเวณลานชั้นบน พร้อมทั้งขอยกสถานที่นี้ขึ้นเป็นวัดและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2375 ชาวบ้านเรียกวัดนี้กันสั้น ๆ ว่า วัดนคร พระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง ณ ป้อมเพชร) ปลัดกรุงเก่าเล่าว่า "พระชื่อปิ่นออกไปเมืองพม่า ได้เห็นแบบอย่างพระบาทสี่รอย จึงกลับมาเรี่ยไรราษฎรทำขึ้น"

พระพุทธบาทสี่รอยบนมณฑปจตุรมุข, ถ่ายไว้เมื่อ 26 มิถุนายน 2564.

        การบูชาพระพุทธบาทสี่รอยเป็นคตินิยมของชาวพุทธฝ่ายหินยาน ซึ่งแพร่หลายอยู่ในอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรพุกาม ตองอู อังวะ ของเมืองพม่า พระพุทธบาทสี่รอยเป็นสัญลักษณ์ให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ล่วงมาแล้ว 4 พระองค์ คือ พระกกุกสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป และพระสมณโคดม.

        รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินที่ปราสาทนี้ ทรงดำริที่สร้างปราสาทนี้ให้แล้วเสร็จ แต่ไม่ทรงโปรดที่มีอุโบสถที่ครอบพระพุทธบาทสี่รอยไว้ภายใน อยู่บนลานชั้นบน จะรื้อเสียก็ไม่ควร จึงไม่ได้ปฏิสังขรณ์ต่อ04.

   2.  การบูรณะซ่อมแปลงปราสาทพระนครหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งสำคัญคือ การซ่อมโดยรื้อของเก่าออกแล้วสร้างของใหม่แทน โดยพระปลัดปลื้ม06. วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส (กรุงเทพฯ) และผู้ศรัทธาจำนวนหนึ่ง พระปลัดปลื้มได้ขออนุญาตกระทรวงธรรมการรื้ออุโบสถที่ประดิษฐานที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยออก แล้วสร้างใหม่เป็นมณฑปจัตรมุข แก้พระปรางค์ทิศเป็นทรงมณฑป และซ่อมแซมปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดอื่นอีกหลายประการ การซ่อมแซมครั้งนั้นผู้ซ่อมมุ่งประโยชน์การใช้สอยเป็นสำคัญ ไม่ได้คำนึงถึงแบบตัวแผนผังเดิม จึงปรากฎเป็นภาพความขัดแย้งระหว่างของเก่าของใหม่ที่เห็นได้ชัด ตั้งแต่รูปแบบราวบันไดไปจนถึงส่วนยอด.

ศิลาพระจันทร์ลอย, ถ่ายไว้เมื่อ 26 มิถุนายน 2564.

     นอกจากซ่อมแปลงปราสาทแล้ว พระปลัดปลื้มได้สร้างศาลาพระจันทร์ลอย เป็นอาคารทรงจัตุรมุขลงบนสถานที่ที่เชื่อว่า เดิมคือ พระตำหนักของพระเจ้าปราสาททอง ศาลาหลังนี้สร้างขึ้นประดิษฐานพระจันทร์ลอย (แผ่นหินรูปกลมคล้ายเสมาธรรมจักร แกะจากหินแกรนิต ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.35 เมตร หนา 20 เซนติเมตร ด้านหน้าตอนบน แกะสลักพระพุทธรูปนูนต่ำ ขนาดเล็กจำนวน 3 องค์ และเจดีย์ด้านข้างพระพุทธรูปอีกด้านละองค์ ด้านล่างแกะลาย ตรงกลางลายทำเป็นรูปภาพต่าง ๆ ที่พอมองเห็นได้ชัดคือรูปปลา 2 ตัว นอกนั้นค่อนข้างลบเลือนมองไม่ชัด)

     ชาวบ้านเล่าขานกันว่าแผ่นหินพระจันทร์ลอยนี้ เดิมทีลอยน้ำมาตามแควป่าสัก มีผู้พบเห็นครั้งแรกที่บ้านศิลาลอย อำเภอท่าเรือ ประชาชนในท้องถิ่นนั้นได้พยายามนำขึ้นจากน้ำแต่ไม่สามารถฉุดขึ้นได้ แผ่นหินจึงลอยน้ำเรื่อยมาจนถึงวัดเทพจันทร์07. ชาวบ้านก็ได้ช่วยกันลงไปฉุดเพื่อจะนำไปไว้ที่วัด แต่ก็ทำไม่สำเร็จไม่สามารถฉุดขึ้นมาได้เช่นเดียวกับชาวบ้านศิลาลอย สมภารวัดเทพจันทร์ผู้เรืองวิชามีอาคมในย่านนั้น รู้เรื่องเข้าจึงนำด้ายสายสิญจน์ 3 เส้น ลงไปคล้องแล้วฉุดขึ้นไปไว้ที่วัดได้โดยง่าย แผ่นหินพระจันทร์ลอยจึงได้ประดิษฐานที่วัดนี้อยู่ชั่วระยะหนึ่งจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทยได้สั่งให้นำไปเก็บไว้ที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร.

     มีช่วงหนึ่งที่ได้อัญเชิญศิลาศักดิ์สิทธิ์นี้เข้ากรุงเทพฯ นั้น ศิลาพระจันทร์ลอยได้รับการอัญเชิญมาไว้ที่ท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นชุมชนใหญ่ให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชา ต่อมาท่าเรือนี้ได้รับการขนานนามว่า "ท่าพระจันทร์" แต่ศิลาพระจันทร์ลอยนี้ อยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ไม่นานนัก ด้วยรัชกาลที่ 5 ทรงพระสุบินว่า ให้นำพระจันทร์ลอยกลับไปยังที่เดิม ด้วยเหตุนี้ศิลาพระจันทร์ลอยจึงถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานไว้ในมณฑปในบริเวณปราสาทนครหลวง กลางอำเภอนครหลวง (แม้จะไม่ใช่สถานที่เดิม วัดเทพจันทร์) จวบจนปัจจุบัน08.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01.  จาก. www.qrcode.finearts.go.th, ซึ่งคุณประโชติ สังขนุกิจ ได้ค้นคว้าเรียบเรียง, วันที่เข้าถึง 15 กรกฎาคม 2563.
02.  กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, 2.
03.  คำว่าปรางค์ในที่นี้เรียกโดยอนุโลม คล้ายคลึงกับที่มีอยู่ของวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบางฉบับเรียกว่า "เมรุ"
04.  ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา พ.ศ.2421
05.  รายงานการขุดแต่งปราสาทนครหลวง.
06.  พระปลัดปลื้มเป็นชาวอำเภอพระนครหลวง บวชอยู่วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส มีผู้นับถือทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระครูวิหารกิจจานุรักษ์.
07.  ปัจจุบันชื่อวัดเทพจันทร์ ตำบลหนองหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา.
08.  ข้อมูลจาก oknation.nation.tv, วันที่เข้าถึง 24 กรกฎาคม 2563.
09.  จาก. mgronline.com, วันที่เข้าถึง 26 มิถุนายน 2564.





PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01: ภาพปราสาทนครหลวง, ที่มา: Facebook เพจ "ปราสาทนครหลวง," วันที่เข้าถึง 15 กรกฎาคม 2563.
ภาพที่ 02: ภายในปราสาทนครหลวง, ที่มา: Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," ผ่านผู้ใช้นามว่า "Thagoon Kirdkao" วันที่เข้าถึง 15 สิงหาคม 2563.
ภาพที่ 03: ปราสาทนครหลวง, ภาพจาก CUIR โครงการศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดาและหอนิทรรศน์รัตกสิกร, ไม่ทราบปี, ที่มา: Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 23 สิงหาคม 2563.
ภาพที่ 04: ปราสาทนครหลวง ถ่ายจากระเบียงวิหารคดชั้นที่สอง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี) ไปยังจตุรมุขมณฑป, ถ่ายไว้เมื่อ 26 มิถุนายน 2564.
ภาพที่ 05: ปราสาทนครหลวง ที่มา: Facebook เพจ "หนังสือสะสม Classic Books. & ภาพถ่ายเก่าโบราณในอดีต," วันที่เข้าถึง 21 ตุลาคม 2564. ไม่ทราบปีที่ถ่าย เครดิต:ผู้ถ่าย.

 

PHOTO
GALLERY
humanexcellence.thailand@gmail.com