102. วัดพุทไธศวรรย์01, 02, 03, 04.
First revision: Oct.06, 2019
Last change: Jul.10, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศใต้
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งมีฐานะเป็นพระอารามหลวง (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, 2500, หน้า 215) ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว 3 ปี โดยเลือกภูมิสถานบริเวณที่เรียกกันว่า ตำบลเวียงเหล็ก
เรื่องราวของการสร้างวัดนี้ปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า “ศักราช 715 ปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ.1896) วันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 1 ค่ำ เพลา 2 นาฬิกา 5 บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้นให้สถาปนาพระวิหารและพระมหาธาตุเป็นอารามแล้ว ให้นามชื่อ วัดพุทไธศวรรย์” (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา, 2507, หน้า 3)
พระตำหนักเวียงเหล็ก ที่กล่าวไว้ในพงศาวดารนี้ คือ บริเวณที่ประทับเดิมของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ก่อนที่จะยกข้ามแม่น้ำไปสร้างพระราชวังที่ ตำบลหนองโสน หรือที่เรียกว่า “บึงพระราม” ในปัจจุบันและสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีใน พ.ศ.1893
ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ราว 50 ปีมาแล้ว, ที่มา: Facebook เพจ "ชมรมอนุรักษ์วัดและโบราณสถานแห่งกรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 29 มิถุนายน 2563.
ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยานั้นในปัจจุบันยังคงเป็นประเด็นสำคัญทางด้าน ประวัติศาสตร์ ซึ่งยังหาข้อสรุปที่ยุติยังไม่ได้ นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของสมเด็จ พระเจ้าอู่ทอง และสรุปได้ 3 ทฤษฎี คือ
ทฤษฎีที่ 1 เชื่อกันว่าพระเจ้าอู่ทอง เป็นชามาดา (ลูกเขย) เจ้าเมืองสุพรรณบุรี เป็นเชื้อสายของเจ้าชายไชยศิริ แห่งเมืองเชียงราย ซึ่งอพยพถอยร่นกันมาจากเมืองเหนือ ผ่านดินแดนต่าง ๆ จนกระทั่งมาตั้งถิ่นฐานทำกินที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาได้หนีโรคห่า มาตั้งนครหลวงใหม่ที่เมืองอโยธยาในปี พ.ศ.1890 นักปราชญ์รุ่นต่อมาจึงเรียกกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายต่อกันมาว่า วงศ์เชียงราย
ทฤษฎีที่ 2 เป็นเจ้าเมืองเพชรบุรี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามายังเมืองปัตตานี แล้วอพยพเดินทัพเข้ามาทางเมืองนครศรีธรรมราช และเพชรบุรีจนกระทั้งตั้งพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทฤษฎีนี้ไม่ได้ให้กำเนิดชาติวงศ์ไว้ชัด แต่ก็ได้สรุปเป็นแนวทางว่าพระเจ้ากรุงจีน ได้เมตตาอนุญาตให้เข้าไปค้าขายในประเทศจีนได้เป็นกรณีพิเศษ
ทฤษฎีที่ 3 เป็นเจ้าชายเมืองลพบุรี (อาจมีเชื้อสายขอม?) เจ้าของทฤษฎีนี้ได้แก่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงพระราชทานกระแสพระราชดำริแก่พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร แต่ไม่ทันได้ให้เหตุผลชัดเจนท่านได้ทิวงคตเสียก่อน พระยาโบราณราชธานินทร์ จึงกำหนดอายุของเมืองอยุธยาว่าในสมัยต้น เป็นทวารวดี และนายมานิต วัลลิโภดม อดีตภัณฑารักษ์พิเศษ กรมศิลปากร ได้ศึกษา ขยายความ ปรากฎรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความเรื่องละโว้ – อโยธยา – ตามพรลิงค์ ว่าเป็นกษัตริย์เมืองละโว้ – อโยธยา
วัดพุทไธศวรรย์, ที่มา: Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 07 มกราคม 2563.
ในจดหมายเหตุโหรได้กล่าวถึง เหตุการณ์ครั้งที่พระเจ้าอู่ทอง ทรงอพยพพาไพร่พลหนีโรคภัยมาจากเมืองอู่ทองนั้น ในตอนแรกได้มาตั้งที่ตำบลเวียงหลัก เมื่อปีกุน จุลศักราช 709 (พ.ศ. 1890) และได้พักไพร่พลอยู่ ณ ที่นี้ถึง 3 ปี จนกระทั้งเห็นว่าไพร่พลของพระองค์พ้นจากความอิดโรย มีความเข้มแข็งขึ้น จึงยกไพร่พลข้ามแม่น้ำมาสร้างพระนครศรีอยุธยา อยู่ในบริเวณปัจจุบันและทำพระราชพิธีราชาภิเษกสถาปนาพระนคร เมื่อปีเถาะ โทศก จุลศักราช 712 (พ.ศ. 1893) (กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พระราชหัตถเลขา เล่ม 1, 2506, หน้า 342)
ครั้นเมื่อพระองค์ครองราชย์สมบัติได้ 3 ปี ใน พ.ศ.1896 (จ.ศ.705) จึงได้สถาปนาพระอารามขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสร้างชาติของพระองค์ ด้วยความสำคัญของพี้นที่ดังกล่าวข้างต้น
ภาพพระพุทธรูปสามองค์ขนาดใหญ่บนฐานชุกชี ได้รับการปฏิสังขรณ์ลงรักปิดทองใหม่ เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ ลักษณะของฐานพระพุทธรูปที่ทำเป็นบัวคว่ำบัวหงายอยู่บนฐานเขียงไม่สูงนั้น อาจจะสะท้อนให้เห็นได้ว่า พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ มีอายุเก่าแก่ไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลางราว พศว.ที่ 20-21 โดยรอบอุโบสถทั้ง 8 ทิศ มีใบเสมาหินชนวนขนาดใหญ่และหนา จำนวน 8 คู่ 16 ใบ มีลักษณะเหมือนแบบสมัยอยุธยาตอนต้น., ที่มา: ป้ายด้านหน้าพระอุโบสถ, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563.
เสมาเป็นเครื่องหมายปักเขตอุโบสถ นิยมปักไว้รอบอถโบสถ 8 ทิศ วัดใดมีใบเสมาคู่ถือเป็นวัดหลวง ในสมัยอยุธยาตอนต้น มักทำจากหินชนวนขนาดใหญ่สูงประมาณ 1 เมตร หนาราว 25-30 เซนติเมตร โดยเอาแบบมาจากสุโขทัย และเสมาหินยานลังกา, ที่มา(ปรับเสริมเล็กน้อย): ป้ายด้านหน้าพระอุโบสถ, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563.
การศึกษาของ ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) ได้ระบุว่า บริเวณที่ตั้งพระตำหนักเวียงเหล็กนั้น ตั้งอยู่ภายในเขตของเมืองปทาคูจาม (บ้างก็เรียก ปะทาคูจาม) (ปะทา แปลว่า ป้อม และจาม หมายถึง ชาวจามที่อยู่แถบตอนกลางเวียดนาม เดิมนับถือศาสนาฮินดู-พราหมณ์) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณคลองปะจาม (บ้างก็เรียกคลองคูจาม) ซึ่งอยู่ถัดจากวัดพุทไธศวรรย์ ไปทางทิศตะวันออกไม่ไกลนัก อันปรากฎในแผนที่ของชาวต่างชาติ ว่าเป็นบริเวณที่ตั้งถิ่นฐาน ของชาวญวนในสมัยอยุธยา (อัมพร สายสุวรรณ, แผนผังกรุงศรีอยุธยาไม่มีเลขหน้า) ในสมัยอยุธยา บริเวณปากคลองคูจามนี้ เป็นตลาดน้ำที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 4 ตลาดของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชุมชนขนาดใหญ่และมีความสำคัญอาศัยอยู่ บริเวณนี้ (กรมศิลปากร, 2511, หน้า 170).
ประยูร อุลุชาฎะ ได้สันนิษฐานว่าคลองคูจามนี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นคูเมือง ของเมืองปะทาคูจาม ตัวเมืองอาจเป็นที่ดินซึ่งเรียกว่า แหลมบางกะจะในเขตตำบลสำเภาล่ม อันโอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือ และแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไหลโอบจากวัดพนัญเชิง ลงใต้ทางทิศตะวันออก ส่วนคลองปะจามนั้นอยู่ทางทิศตะวันตก หรือตัวเมืองปะทาคูจามอาจจะเป็นบริเวณ ตำบลเวียงเหล็ก ที่วัดพุทไธศวรรย์ โดยมีคลองปะจามเป็นคูเมืองทางทิศตะวันออก คลองตะเคียนเป็นคูเมืองทางทิศตะวันตก มีแม่น้ำเจ้าพระยาโอบทั้งทางทิศเหนือและใต้
ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ วัดพุทไธศวรรย์ ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งทัพของพม่า ในคราวที่ยกทัพมาล้อมกรุงฯ เพื่อทำการรบกับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากวัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ เมื่อครั้งที่พระเจ้าบุเรงนอง แห่งกรุงหงสาวดี ทรงส่งพระราชสาส์น มาขอม้าและช้างเผือก จากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่ถูกปฏิเสธ พระเจ้าบุเรงนองจึงยกทัพเข้ามาและกวาดต้อนเอากำลังทางหัวเมืองของไทยมาสมทบ ด้วย เมื่อยกทัพมาถึงกรุงศรีอยุธยา
ในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (ขุนหลวงสรศักดิ์ หรือ สมเด็จพระเจ้าเสือ) ราว พ.ศ.2243 สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ และสมเด็จกรมหลวงโยธาทิพ สมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา ในสมเด็จพระเพทราชา ได้ทูลลาสมเด็จพระเจ้าเสือ ออกจากพระราชวัง พร้อมด้วยเจ้าตรัสน้อยราชบุตร (พระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา) ไปตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ ครั้งเมื่อปีมะโรง โทศก เจ้าตรัสน้อยพระชนม์ครบ 13 พรรษา เจ้ากรมหลวงโยธาเทพพระราชมารดานั้น ก็ได้กระทำมหามงคลพิธีโสกันต์พระราชบุตร ครั้นโสกันต์แล้วจึงให้ไปทรงผนวชเป็นสามเณร อยู่ในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์ราชาคณะ เพื่อทรงเรียน พระปริยัติไตรปิฎกธรรม และคัมภีร์เลขยันต์มนตร์คาถาสรรพวิทยาคุณต่าง ๆ จนกระทั่งพระชนม์ได้ 18 พรรษา จึงลาผนวช ออกเที่ยวเรียนศิลปศาสตร์ แขนงต่าง ๆ จนพระชนม์ครบอุปสมบทก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ (กรมศิลปากร, 250, หน้า 174)
ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้มีเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดารระบุว่า บริเวณวัดพุทไธศวรรย์นั้น ได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบการเมรุที่สำคัญถึง 2 ครั้ง
ต่อมา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ ได้ทิวงคตลง ณ ตำหนักริมวัดพุทไธศวรรย์ พระองค์ได้ทรงโปรดให้ทำการเมรุ ณ วัดพุทไธศวรรย์
“ใน ปีเถาะ สมเด็จพระอัยกีกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมวัดพุทไธศวรรย์นั้นดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงโปรดให้ทำพระเมรุมาศขนาดน้อย ณ วัดพุทไธศวรรย์นั้น แล้วเชิญพระโกศขึ้นพระยานุมาศแห่มาเข้าพระเมรุ พระราชทานพระสงฆ์สดับปกรณ์ (บังสุกุล - ใช้แก่ศพเจ้านาย) และมีงานมหรสพสามวันแล้วเสด็จไปพระราชทานเพลิง ตามโบราณราชประเพณีสืบ ๆ กันมา” (กรมศิลปากร, 2506, หน้า 220)
วัดพุทไธศวรรย์น่าจะมีความสำคัญมากขึ้นใน พ.ศ.2293 เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้นำคณะทูตชาวสิงหลไปนมัสการและประกอบศาสนกิจที่ วัดพุทไธศวรรย์ โดยการเข้ามาของคณะทูตชาวสิงหลในครั้งนี้ปรากฎ ข้อความในราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า “ลุศักราช 1115 ปีระกา เบญจศก ฝ่ายพระเจ้ากิตติศิริราชสีห์ ได้เสวยสมบัติในเมืองสังขัณฑนคร เป็นอิสราธิบดีในลังกาทวีป ครั้งนั้น พระพุทธศาสนาในเกาะลังกาหาพระภิษุสงฆ์ไม่ได้ จึงแต่งให้ศิริวัฒนอำมาตย์เป็นราชทูต กับอุปทูต ตรีทูตจำทูลพระราชสาส์นคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ มีพระบรมสารีริกธาตุเป็นอาทิ มากับกำปั่นโอลันขาพานิชวิลันดาเข้ามาจำเริญทางพระราชไมตรี ณ กรุงเทพมหานคร จะขอพระภิกษุสงฆ์ออกไปให้อุปสมบทบวช กุลบุตรสืบพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ทรงพระกรุณาดำรัสสั่งให้จัดแจงรับทูตานุทูตลังกาตามธรรมเนียม…แล้วโปรดให้ อาราธนา พระอุบาลี พระอริยมุนี พระราชาคณะสองพระองค์กับพระสงฆ์อันดับสิบสองรูป ออกไปตั้งพระพุทธศาสนาบวชกุลบุตรไว้ในลังกาทวีป…” (กรมศิลปากร, 2506, หน้า 235).
ในหนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” ของสมเด็จพรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรางกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่คณะราชทูตลังกา ได้เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศนี้โดยได้ระบุว่าในจดหมายเหตุราชทูตลังกาซึ่งเข้ามาในช่วงนั้น ได้มีการเขียนบันทึกพรรณนาถึงสภาพของวัดพุทไธศวรรย์ไว้อย่างละเอียด ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อมูลสำคัญส่วนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งก่อสร้างภายในวัดพุทไธศวรรย์ ในช่วงอยุธยาตอนปลาย (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2503, หน้า 124)
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานทางด้านเอกสารใดกล่าวถึงวัดพุทไธศวรรย์อีก นกระทั่งถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ซึ่งบัญชาการกรมพระคชบาล เสด็จออกไปชมเพนียดทรงพบว่าที่ด้านมุขของปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์นั้น มีพระรูปพระเจ้าอู่ทองตั้งอยู่ ต่อมาเข้าจึงกราบทูลมายังสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระองค์จึงโปรดให้อัญเชิญ เทวรูปนั้นลงมากรุงเทพฯ ใน พ.ศ.2327 แล้วโปรดให้หล่อดัดแปลงใหม่เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง หุ้มเงินทั้งองค์ และโปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ หอพระเทพบิดรภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน ส่วนรูปที่เรียกกันว่า “พระเจ้าอู่ทอง” ในปัจจุบันนี้ เป็นของหล่อขึ้นใหม่แทนของเดิม ทำเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ประทับยืนอยู่ภายในซุ้มจระนำบริเวณผนังด้านทิศเหนือของมุขด้านทิศตะวันออก (พวงทอง สิริสาลี, 2511, 41) เหตุการณ์ดังกล่าวปรากฎข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ดังนี้
“…โปรดให้เชิญพระเทพบิดร คือ พระรูปสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ซึ่งเป็นปฐมวงศ์สร้างกรุงเก่ามาแปลงเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงินปิดทองประดิษฐาน ไว้ในพระวิหาร พระวิหารนั้นพระราชทานนามว่า หอพระเทพบิดร…” ** {เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), 2526, หน้า 48}
ในรัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดในกรุงศรีอยุธยาวัดหนึ่งที่พระองค์ทรงเสด็จมาพระราชทานพระกฐินโดย กระบวนพระยุหยาตราทางชลมารค เมื่อครั้งเสด็จพระราชทานพระกฐิน ณ เมืองปทุมธานี และกรุงเก่าหรือพระนครศรีอยุธยา ดังปรากฎข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์พระราชทานพระกฐินครั้งนี้ในจดหมายเหตุ ในรัชกาลที่ 4
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปรากฎหลักฐานว่าชาวพระนครศรีอยุธยาได้ช่วยกัน บูรณะปฏิสังขรณ์ยอดพระปรางค์ประธานของวัดขึ้น ในราว พ.ศ.2441
(ตรี อมาตยกุล, 2505, หน้า 53)
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดพุทไธศวรรย์เป็นโบราณสถาน โดยได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 (กรมศิลปากร, 2538, หน้า 125)
ที่มา: Facebook เพจ "เที่ยวเมืองกรุงเก่า," วันที่เข้าถึง 23 มกราคม 2563.
โบราณสถาน พระพุทธรูป และสิ่งสำคัญภายในวัดพุทไธศวรรย์
1. ปรางค์ประธาน องค์ใหญ่ศิลปะแบบกัมพูชาโบราณ ตั้งกึ่งอยู่กลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพที ซึ่งมีลักษณะย่อเหลี่ยมมีบันไดขึ้น 2 ทาง คือ ทางทิศตะวันออก และทางทิศตะวันตก
2. มีมณฑปทางทิศเหนือทิศใต้ ภายในมณฑปมีพระประธาน
3. พระตำหนักสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นี้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ตำหนักนี้ค่อนข้างทรุดโทรม (ปัจจุบันได้บูรณะให้ดีขึ้นแล้ว) ภายในผนังของตำหนัก มีภาพสีเกี่ยวกับเรื่องหมู่เทวดานักพรต การนมัสการพระพุทธบาท และเรือสำเภาตอนที่พระพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา ซึ่งภาพไม่ชัดเจนนัก.
4. มีพระอุโบสถทางทิศตะวันตกของพระปรางค์ หมู่เจดีย์สิบสององค์
5. วิหารพระนอน
ภาพซ้าย: ด้านหลังเป็นปรางค์ประธาน ด้านหน้าเป็นวิหารหลวง ซึ่งเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 48 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เชื่อมต่อกับระเบียงคดที่ล้อมปรางค์ประธาน ส่วนท้ายของวิหาร ยื่นล้ำเข้าไปในระเบียงคด ซึ่งเป็นรูปแบบวิหารที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ภาพซ้าย: พระนอน ที่อยู่ในวิหารบริเวณเยื้องทิศใต้ของวิหารหลวง, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563.
ภาพเขียนเรือสำเภาตอนที่พระพุทธโฆษาจารย์เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทที่ประเทศลังกา บนตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ชั้นที่สอง, ถ่ายไว้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2563.
ที่มา คำอธิบายและหมายเหตุ
01. ที่มา: CUIR โครงการศูนย์รูปธรรมศึกษาโปษยะจินดาและหอนิทรรศน์รัตกสิกร
02. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
03. ที่มา: facebook: เพจ "บันทึกประวัติศาสตร์," วันที่เข้าถึง 2 ตุลาคม 2562.
04. ที่มา: หนังสือ "ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา" โดย น. ณ ปากน้ำ, ISBN 978-616-7767-53-6, พิมพ์ครั้งที่ 4 มีนาคม 2558 ของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ.