MENU
TH EN

011. วัดศรีชุม - สุโขทัย

Thumbnail Image และ Hero Image จาก Facebook ชื่อห้อง โบราณสถาน โบราณคดี วิถีวัฒนธรรม, วันที่เข้าถึง 13 พฤศจิกายน 2562
011. วัดศรีชุม - สุโขทัย
First revision: Nov.10, 2019
Last change: Aug.18, 2020
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย:
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     วัดศรีชุมข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่ามาจากคำว่า “สะหลีชุม” คำว่า“สะหลี” เป็นคำโบราณหมายถึง“ต้นโพธิ์” ต่อมาภายหลัง คำว่าสะหลีได้เรียกขานเป็น “ศรี” ดังนั้นคำว่าศรีชุมจึงหมายถึง ดงของต้นโพธิ์

     วัดศรีชุมเป็นวัดที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ก่อนจะถูกทิ้งร้างลงในสมัยอยุธยาตอนปลาย จากนั้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วง พ.ศ. 2496-2499 ได้ทำการบูรณะฟื้นฟูวัดแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ เป็นการบูรณะครั้งสำคัญ โดยยึดรูปแบบ วิธีการ และวัสดุแบบโบราณ มีการซ่อมแซมพระประธานใหม่ตามแบบอย่างพระพุทธรูปสำริดศิลปะสุโขทัย

 
     พระมณฑปคับแคบแบบนี้เป็นอาคารที่เรียกว่า “ปฏิมาฆระ” สร้างตามคติความเชื่อสมัยสุโขทัยที่ไม่ได้ต้องการใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาเหมือนโบสถ์ในสมัยปัจจุบัน หากแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการจำลอง “พระคันธกุฎี” หรือ กุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญเปรียบได้กับองค์เจดีย์ประธานที่เป็นดังตัวแทนของพระพุทธองค์

     พระอจนะ แปลว่าผู้ไม่หวั่นไหว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร และมีความสูงถึง 15 เมตร มีพุทธลักษณะงดงามมาก พระวรกายอวบอิ่ม พระพักตร์อมยิ้ม ดูอิ่มบุญเปี่ยมศรัทธา พระอจนะองค์นี้ไม่ใช่พระพุทธรูปธรรมดา หากแต่(ในอดีต)คือพระพุทธรูปมหัศจรรย์ เพราะเป็น “พระพุทธรูปพูดได้”

     เหตุที่พระอจนะพูดได้นั้นมาการในสมัยอยุธยา เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จมาประชุมทัพ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อจะยกไปปราบเมืองสวรรคโลก พระองค์ท่านต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เหล่าทหาร ดังนั้นจึงได้มีพิธีเสี่ยงทายกับพระพุทธรูป โดยได้เสี่ยงทายว่า การรบครั้งนี้หากจะได้รับชัยชนะกลับมาก็ขอให้พระอจนะกล่าวตอบ แต่หากไม่ชนะก็ไม่ต้องตอบสิ่งใด เรื่องนี้จริง ๆ แล้วหาใช่ปาฏิหาริย์แต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นกุศโลบายของสมเด็จพระนเรศวรฯ เพราะก่อนทำพิธีเสี่ยงทาย สมเด็จพระนเรศวรฯได้ส่งคนขึ้นไปอยู่ด้านหลังเศียรพระอจนะเพื่อคอยส่งเสียงตอบกลับมา ฟังเหมือนกับองค์พระพุทธรูปพูดได้จริง เหตุที่พระองค์ท่านทำเช่นนี้ก็เพราะต้องการสร้างขวัญกำลังใจ ปลุกปลอบขวัญเหล่าทหารหาญให้ฮึกเหิมก่อนจะทำการออกรบ นับจากนั้นเป็นต้นมา พระอจนะวัดศรีชุมก็ได้รับการร่ำลือว่าเป็นพระพุทธรูปพูดได้01
    
ภาพกราฟิกสันนิษฐานวิหารวัดศรีชุม, โดย ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม, ที่มา: Facebook ห้อง"#คนรักประวัติศาสตร์ไทย(welovethaihistory)", วันที่เข้าถึง 3 สิงหาคม 2563

 
 "สุ โ ข ทั ย "

   "วัดศรีชุม" มาจากคำเรียกพื้นเมืองเดิม ซึ่งหมายถึง ต้นโพธิ์ ดังนั้นชื่อ ศรีชุม จึงหมายถึงดงของต้นโพธิ์ แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่เข้าใจความหมายนี้แล้ว จึงเรียกสถานที่นั้นว่า "ฤๅษีชุม"

     วัดศรีชุมนั้น สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ว่า "เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้...............มีพระอจนะ มีปราสาท" พระประธานในมณฑปจึงมีชื่อว่า "พระอจนะ"

     พระมณฑปกว้างด้านละ ๓๒ เมตร สูง ๑๕ เมตร ผนังหนา ๓ เมตร ผนังด้านซ้ายเจาะเป็นทางทำบันได ในผนังขึ้นไปถึงหลังคา ตามฝาผนังอุโมงค์มีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ ๗๐๐ ปี เพดานผนังมีแผ่นหินชนวนสลักภาพลายเส้นเป็นเรื่องในชาดกต่าง ๆ มีจำนวน ๕๐ ภาพ เรียงประดับต่อเนื่องกัน ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นงานจิตรกรรมไทยที่เก่าแก่ที่สุด

     ในสมัยอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกาศอิสรภาพในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ ที่เมืองแครง ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ ยกเลิกการส่งส่วยให้กับพม่า แต่ยังมีเมืองเชลียง ( สวรรคโลก) ที่ไม่ยอมทำตามพระราชโองการของพระองค์ พระองค์จึงนำทัพเสด็จมาปราบเมืองเชลียง และได้มีการมาชุมนุมทัพที่วัดศรีชุมแห่งนี้ก่อนที่จะไปตีเมืองเชลียง และด้วยการรบในครั้งนั้นเป็นการรบระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกัน ทำให้เหล่าทหารไม่มีกำลังใจในการรบไม่อยากรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงได้วางแผนสร้างกำลังใจให้กับทหาร โดยการให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระ และพูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้ทหารเกิดกำลังใจที่จะต่อสู้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดตำนานพระพูดได้ที่วัดศรีชุมแห่งนี้ และพระนเรศวรยังได้มีการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาขึ้นที่วัดแห่งนี้ด้วย

     ตามหลักฐานระบุว่าวัดแห่งนี้ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าลิไท และมีการดูแลบูรณะเรื่อยมา สันนิษฐานว่าวัดนี้ได้ถูกทิ้งร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย จนกระทั่งในสมัย รัชกาลที่ ๙ ได้มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยเริ่มมีการบูรณะพระพุทธรูปพระอจนะ โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์เขียน ยิ้มสิริ วัดจึงอยู่ในสภาพที่เห็นในปัจจุบัน02

 

ภาพ Perspective แสดงพื้นที่ภายในมณฑปวัดศรีชุม ซึ่งพบภาพจารตามแนวบันได, ที่มา: Journal: Pierre Pichard สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ, หน้าที่ 11
แปลโดย อ.พีระพัฒน์ สำราญ, ต้นฉบับบทความชื่อ The Mondop at Wat Si Chum : New Perspectives ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Past Lives of the Buddha : Wat Si Chum-Art, Architecture and inscriptions โดยสำนักพิมพ์ River Books ค.ศ.2008

 
     สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ มีพบจารึกที่สำคัญคือ จารึกวัดศรีชุม ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2430 ซึ่งเป็นหลักฐานให้เห็นความเคลื่อนไหว สภาพบ้านเมืองของยุคนั้นได้เป็นอย่างดี กล่าวกันว่ามีจารึกเรื่องชาดกบนแผ่นหินชนวนโบราณ จำนวน 86 ชิ้นที่ติดอยู่ในกำแพงพระมณฑปวัดศรีชุม05.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก Facebook ห้อง "โบราณสถาน โบราณคดี วิถีวัฒนธรรม", วันที่เข้าถึง 13 พฤศจิกายน 2562.
02. จาก. Facebook ห้อง "ท่องไปในอดีต", วันที่เข้าถึง 10 ธันวาคม 2562.
03. จาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 24 มิถุนายน 2563.
04. จาก. การสัมมนา "สุโขทัยคดี" ครั้งที่ 9 ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยคุณวิภาดา อ่อนวิมล เมื่อ 25 มิถุนายน 2563.
05. จาก.
หนังสือ Past Lives of the Buddha - Wat Si Chum - Art, Architecture and Inscriptions, Edited by Peter Skilling, written by Pattaratorn Chirapravati, Pierre Pichard, Prapad Assavavirulhakarn, Santi Pakdeekham, Peter Skilling. อ้างอิงผ่าน facebook ห้อง "Thaioldbooks", วันที่เข้าถึง 18 กันยายน 2563.

 
info@huexonline.com