MENU
TH EN

TH - จารึกหลักที่ 2: จารึกวัดศรีชุม

Title Thumbnail & Hero Image: ภาพวัดศรีชุม, ที่มา: oknation.nationtv.tv, วันที่เข้าถึง 25 เมษายน 2563.
TH - จารึกหลักที่ 2: จารึกวัดศรีชุม01, 02.
First revision: Apr.25, 2020
Last change: May 09, 2020

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     จารึกวัดศรีชุม คือ จารึกหลักที่ 2 ในประมวญจารึกไทย พลโทหลวงสโมสรพลการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) ค้นพบที่ช่องอุโมงค์ มณฑปวัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2430 แล้วนำส่งเข้ามายังหอสมุดวชิรญาณจารึกนี้จารบนแผ่นศิลาขนาดสูง 2 เมตร 75 เซนติเมตร กว้าง 67 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาจารึกภาษาและอักษรไทยสุโขทัย คำจารึกบนแผ่นศิลามีอยู่ 2 ด้าน ด้านแรกมี 107 บรรทัด ด้านที่สองมี 95 บรรทัด.

     จารึกหลักที่ 2 นี้ ศ.ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าน่าจะจารึกขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่าจารึกขึ้นประมาณพุทธศักราช 1844-1910

     จารึกวัดศรีชุมเล่าอัตชีวประวัติ สมเด็จพระมหาเถรศรีสรธาราชมุนี (ซึ่งมักถอดชื่อท่านเป็นสันสกฤตว่า "ศรีศรัทธาราชจุฬามุนี") เจ้านายในราชวงศ์ศรีนาวนำถุม ทรงเล่าเรื่องการสร้างสมภารบารมีเพื่อหวังที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต.

     เรื่องราวเกี่ยวกับจารึกวัดศรีชุมนับว่าได้นำไปสู่ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับสถานที่พบศิลาจารึกวัดศรีชุม
     ตามข้อมูลที่ได้รับทราบกัน ศิลาจารึกวัดศรีชุมถูกค้นพบในอุโมงค์ลอดมณฑปวัดศรีชุม ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกมากทีเดียว เนื่องจากศิลาจารึกนี้มีขนาดใหญ่ อีกทั้งเนื้อความก็สำคัญมาก และน่าจะเคยตั้งไว้ในที่สาธารณะ เรื่องนี้ทำให้คิดว่า ได้มีผู้นำศิลาจารึกไปเก็บไว้ โดยอาจเป็นการซ่อนเพื่อป้องกันการถูกทำลาย หรือถูกสั่งให้นำไปเก็บในที่ที่ไม่มีคนเห็น เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในศิลาจารึก พบว่า มีข้อความที่ผู้เขียนคือ พระมหาเถรศรีสรธาได้พรรณนาถึงราชตระกูลศรีนาวนำถุมว่า ได้เคยช่วยให้ราชวงศ์ศรีอินทราทิตย์ขึ้นมามีอำนาจ โดยสัมผัสได้ว่ามีลักษณะทวงบุญทวงคุณ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า หลังจากสมเด็จพระมหาเถรศรีสรธากลับมาจากลังกาแล้ว ได้ทรงสถาบกศิลาจารึกนี้ขึ้นในสมัยที่กษัตริย์แห่งราชวงศ์ศรีอินทราทิตย์ยังอ่อนแออยู่ ซึ่ง ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร คิดว่า คงเป็นในช่วงที่สุโขทัยตกเป็นประเทศราชของฝ่ายพระนครศรีอโยธยาชั่วคราว กษัตริย์สุโขทัยที่ครองราชย์ต่อมาทรงเห็นไม่สมควร จึงสั่งให้เก็บซ่อนไว้ เหตุที่ไม่ทำลาย เพราะผู้ทำจารึกเป็นเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์เก่าที่เป็นบุคคลสำคัญ
          
จารึกวัดศรีชุม, ที่มา: de.sac.or.th, วันที่เข้าถึง 01 มีนาคม 2563.

ตารางแสดงข้อมูลจารึก03.
 ชื่อจารึก  จารึกวัดศรีชุม
 ชื่อจารึกแบบอื่น ๆ   หลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม, ศิลาจารึกวัดศรีชุม ประมาณพุทธศักราช 1884-1910, ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม)
 อักษรที่มีในจารึก   ไทยสุโขทัย
 ศักราช  พุทธศตวรรษ 19-20
 ภาษา  ไทย
 ด้าน/บรรทัด  จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 212 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 107 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 95 บรรทัด
 วัตถุจารึก  หินดินดาน
 ลักษณะวัตถุ  แผ่นรูปใบเสมา ด้านที่ 1 ส่วนบนแถบซ้ายแตกชำรุด
 ขนาดวัตถุ  กว้าง 67 ซม. สูง 275 ซม. หนา 8 ซม.
 บัญชี/ทะเบียนวัตถุ  1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น "สท.2 (สท./2)"
 2) ในหนังสือ ประชุมจารึก ภาคที่่ 1 กำหนดเป็น "หลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม"
 3) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น "ศิลาจารึกวัดศรีชุม ประมาณพุทธศักราช 1884-1910"
 4) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 26 ฉบับ 6 (มกราคม 2526), ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 (มีนาคม 2526) และปีที่ 27 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม 2526) กำหนดเป็น "ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม)"
 ปีที่พบจารึก  พุทธศักราช 2430
 สถานที่พบ  ในอุโมงค์วัดศรีชุม ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย
 ผู้พบ  พลโท หลวงสโมสรพลการ (ทัด สิริสัมพันธ์)
 ปัจจุบันอยู่ที่  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
 พิมพ์เผยแพร่  1) ประชุมจารึกสยาม ภาคที่ 1 (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2467), 13.
 2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 ([กรุงเทพฯ]: สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 33-58.
 3) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2526), 58-79.
 4) วารสารศิลปากร ปีที่ 26 ฉบับที่ 6 (มกราคม 2526): 108-119.
 5) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 (มีนาคม 2526): 93-114.
 6) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม 2526): 60-86.
 7) ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม): ฉบับผลการสัมมนา พุทธศักราช 2523 (กรุงเทพฯ: กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2527), 1-49.
 ประวัติ  พลโท พระยาสโมสรสรรพการ เมื่อครั้งเป็นหลวงสโมสรพลการเป็นผู้พบศิลาจารึกนี้ในอุโมงค์วัดศรีชุม เมื่อขึ้นไปตรวจค้นศิลาจารึกเมืองสุโขทัย พ.ศ.2430 แล้วได้ส่งมาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน กรุงเทพฯ พ.ศ.2451 พิพิธภัณฑสถานจึงได้ส่งมาให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร
 เนื้อหาโดยสังเขป  จารึกหลักนี้ เป็นคำกล่าวถึงความดี และกิจกรรมของผู้แต่งศิลาจารึกนี้ คือ สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเจ้า ซึ่งเป็นบุตรของพระยากำแหงพระราม (สองแคว)01. เป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง คำจารึกหลักนี้แบ่งออกเป็นหลายตอน คือ
  • ตอนที่ 1 (ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1 ถึง 7) ชำรุดมาก แต่เข้าใจว่าเป็นคำนำมีชื่อพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ
  • ตอนที่ 2 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 8 ถึง 20) เป็นประวัติของพ่อขุนศรีนาวนำถม
  • ตอนที่ 3 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 21 ถึง 41) เป็นเรื่องพ่อขุนผาเมืองตั้งราชวงศ์สุโขทัยและเรื่องราวราชวงศ์สุโขทัย
  • ตอนที่ 4 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 41 ถึง 52) เป็นคำสรรเสริญพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ 
  • ตอนที่ 5 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 53 ถึง 61) เป็นเรื่องอิทธิปาฏิหารย์ในการเสี่ยงพระบารมี โดยวิธีอธิษฐานต่าง ๆ ของพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ
  • ตอนที่ 6 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 61 ถึงด้านที่ 2 บรรทัดที่ 5) ในตอนนี้เป็นประวัติของสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ เมื่อยังอยู่ในคิหิเพศ แบ่งออกเป็นสามพลความคือ
    • ก. (ตั้งแต่บรรทัดที่ 61 ถึง 75) เป็นเรื่องเจ้าศรีศรัทธาฯ ทรงทำยุทธหัตถี (ชนช้าง) กับขุนจัง
    • ข. (ตั้งแต่บรรทัดที่ 76 ถึง 79) เป็นเรื่องประวัติเมื่อเจ้าสรีศรัทธาฯ ทรงเจริญวัยเป็นหนุ่ม
    • ค. (ตั้งแต่บรรทัดที่ 79 ถึงด้านที่ 2 บรรทัดที่ 5) เป็นเรื่องเจ้าศรีศรัทธาฯ ได้ทรงศึกษาศิลปวิทยาต่าง ๆ แล้ว และทรงเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย แลมีศรัทธาเลื่อมใสออกผนวชในพระพุทธศาสนา
  • ตอนที่ 7 (ตั้งแต่ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 6 ถึง 19) เล่าเรื่องมหาเถรศรีศรัทธาฯ ได้บำเพ็ญการกุศลแลสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ
  • ตอนที่ 8 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 20 ถึง 48) เล่าเรื่องพระมหาเถรได้ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย
  • ตอนที่ 9 (ตั้งแต่บรรทัดที่ 49 ถึงบรรทัดสุดท้าย) เป็นเรื่องแสดงปาฎิหารย์ของพระธาตุต่าง ๆ ในเมืองสุโขทัย
 ผู้สร้าง  ไม่ปรากฎหลักฐาน
 การกำหนดอายุ  ศักราชเมื่อจารึกไม่ปรากฎ แต่อย่างไรคงไม่ได้จารึกก่อนรัชกาลพระธรรมราชาที่ 1 เพราะมีการออกพระนามพระธรรมราชาที่ 1 อยู่ในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 38 และ 72 เข้าใจว่า จะได้จารึกในแผ่นพระมหาธรรมราชาที่ 1 นั้นเอง เพราะอักษร สระ พยัญชนะ และภาษาเหมือนกับจารึกอื่น ๆ ในแผ่นดินนั้น.
 ข้อมูลอ้างอิง  เรียบเรียงข้อมูลโดย: ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศมส., 2546 จาก:
   1) ยอร์ช เซเดส์, "หลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม," ในประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1: เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ.2467 ([กรุงเทพฯ]: คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 33-58.
   2) ยอร์ช เซเดส์, "ศิลาจารึกวัดศรีชุม ประมาณพุทธศักราช 1884-1910," ในจารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 58-79.
   3) ยอร์ช เซเดส์, ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) : ฉบับผลการสัมมนา พุทธศักราช 2523 (กรุงเทพฯ : กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2527), 1-49.
   4) ยอร์ช เซเดส์, "ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม)," ศิลปากร 26, 6 (มกราคม 2526), 108-119.
   5) ยอร์ช เซเดส์, "ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2" (วัดศรีชุม)," ศิลปากร 27, 1 (มีนาคม 2526), 93-114.
   6) ยอร์ช เซเดส์, "ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (วัดศรีชุม)," ศิลปากร 27, 2 (พฤษภาคม 2526), 60-86.  




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย

01. ข้อมูลหลักและการเพิ่มเสริมบางตอน (ทั้งนี้มาจากการค้นคว้า ตีความ ประมวลจากข้อมูลหลักฐานที่รอบด้าน แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า แหล่งองค์ความรู้เดิมจะผิดเพี้ยน ซึ่งดีที่สุดแล้ว ณ เวลานั้น และก็ต้องยอมรับว่าประวัติศาสตร์ต้องมีการชำระกันโดยตลอด เปลี่ยนแปลงตามหลักฐานใหม่ที่เพิ่มขึ้น) มาจาก. วินัย พงศ์ศรีเพียร, สุโขทัยคดี: ประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ, จัดพิมพ์เพื่อใช้ประกอบการบรรยายพิเศษและอบรมวิชาการเรื่อง "สุโขทัยคดี: ประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ" ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2563 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
02. ประสมกับข้อมูลจาก. catholichaab.com, วันที่เข้าถึง 25 เมษายน 2563.
03. ที่มา:
 https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/177, วันที่เข้าถึง 8 พฤษภาคม 2563.
 
info@huexonline.com