ภาพสลักหิน พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร กำแพงหรือระเบียงคดชั้นนอก ทิศใต้ปีกตะวันตก ถ่ายไว้เมื่อ: 13 ตุลาคม 2565.
19. ปราสาทบันทายฉมาร์01,02,03.
First revision: Dec.02, 2019
Last change: Oct.24, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
บันทายฉมาร์ หรือ บันเตียยฉมาร์ หรือ บันฑารฉมาร์ (Banteay Chhmar/Bantãy Čhmàr) แปลว่า "เมืองขนาดเล็ก" "ปราสาทน้อย" หรือ "ป้อมเล็ก" ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดบันเตียเมียนเจย (Banteay Meanchey) หรือ "บ้านใต้มีชัย" ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา ห่างจากเมืองศรีโสภณไปทางทิศเหนือตามเส้นทางถนน ประมาณ 63 กิโลเมตร (เลาะริมชายแดน ถนนมีสภาพดี ข้อมูล ณ 13 ตุลาคม 2565) ห่างจากชายแดนไทยในแนวเส้นตรงตะวันตก ประมาณ 20 กิโลเมตร.
ภาพสลักนูนต่ำด้านทิศตะวันออกจะน่าชมมาก หากไปในช่วงเช้า ช่วงหลังเที่ยงวันเป็นต้นไป ภาพสลักนูนต่ำด้านทิศตะวันตกจะน่าชมมาก สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าชมนั้น ต้องระวังการลื่นล้ม เพราะหินค่อนข้างเปียกชึ้น.
ตัวเมืองโบราณมีอายุมาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 พบร่องรอยของคูน้ำขนาดใหญ่ (เป็นรูปตัวแอล 4 มุม และมีหินทรายสลักเป็นเทพและอสูรยุดนาคไว้ เหมือนปราสาทพระขรรค์ที่เมืองพระนคร) และคันดินของเมืองรูปสี่เหลี่ยมขนาด 3.5*2.5 กิโลเมตร ด้วยเพราะเป็นจุดที่ตั้งสำคัญบนเส้นทางภูมิภาคเขมรสูง (อีสานใต้) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 จึงมีการสร้างกลุ่มปราสาทประธานขนาดใหญ่ของเมืองที่เรียกว่า "ปราสาทบันทายฉมาร์" มีปราสาทบริวารขนาดเล็กล้อมรอบ 9 หลัง และ "พลับพลาลงสรง" ท่าน้ำลงสู่บารายอีก 1 แห่ง (ได้รับการบูรณะล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2564).
ตรงลานหินทางเข้าปราสาทบันเตียฉมาร์ทางทิศตะวันออก หัวบันไดจะเป็นรูปสลักหินทรายครุฑนั่งอยู่เหนือนาค (ไม่ใช่ครุฑยุดนาค เพราะด้วยคติทางพระพุทธศาสนามหายาน ตันตระ จะมีความเมตตา อ่อนโยน ไม่รุนแรง) ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2565.
ปราสาทบันมายฉมาร์นี้ มีภาพแกะสลักเป็นหน้าบุคคล (บ้างก็ว่าเป็นพระพุทธเจ้า บ้างก็ว่าเป็นคติพระโพธิสัตว์) คล้ายกับปราสาทบายน ตรงหน้าบันปราสาททิศต่าง ๆ แสดงภาพแกะสลักเรื่องราวตามคติพราหมณ์-ฮินดู)
ราชวิหารบันเตียฉมาร์และปราสาทบริวาร 8 หลัง สร้างขึ้นในคติพระโพธิสัตว์ผู้เรืองอำนาจตามลัทธิ "โลเกศวร - Lokeśvara" ในกลุ่ม "วัชรยานตันตระ - Vajrayāna Tantra Buddhism" อันเป็นราชนิยมของพระเจ้าชยวรมเทวะที่ 7 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 นอกจาก "ปราสาทแม่บุญ - Maebon" บนเกาะกลางบารายตะวันตก ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็น "ไวกูณฐ์ - Vaikuṇṭha" วิมานหรือจักรวาลที่พระวิษณุประทับกลางเกษียรสมุทร (Kṣīrasāgara) หรือทะเลน้ำนม ตามแนวคิดความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไวษณพนิกาย.
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระเจ้าชยวรมเทวะที่ 7 และเจ้าชายศรีนทรกุมาร และกองทัพของพระเจ้าชยวรมเทวะที่ 7 ในการรบกับกองทัพจาม, ภาพสลักแสดงไว้ตรงระเบียงคดด้านนอกทิศใต้ปีกตะวันออก ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2565.
ปราสาทประธานของเมืองเป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่มีการวางผังอาคารเป็นเครือข่ายซับซ้อน ตั้งอยู่กึ่งกลางภายในเมืองที่มีคูเมืองชั้นนอกขนาดประมาณ 1.72*1.97 กิโลเมตร ด้านหน้าชนกับบาราย (Baray) ขนาดประมาณ 1,653*822 เมตร (ปัจจุบันได้มีการบูรณะ น้ำเต็มบาราย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ - 13 ตุลาคม 2565.) คูน้ำชั้นในขนาดประมาณ 820*890 เมตร (มีเขื่อนดินพอกกันน้ำไว้) ที่มีกำแพงล้อมรอบขนาดประมาณ 680*740 เมตร ระเบียงคดชั้นนอกขนาดประมาณ 260*190 เมตร บริเวณกึ่งกลาง/ค่อนไปทางตะวันตก มีกลุ่มอาคารภายในเรียงต่อกันด้วยฉนวนระเบียง ระเบียงชั้นในขนาดประมาณ 45*140 เมตร มีปราสาทประธาน 3 หลัง กลางกลุ่มอาคารมียอด “พระพักตร์พระโพธิสัตว์สมันตมุข 4 ทิศ” สร้างขึ้นในช่วงระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อถวายพระเกียรติแก่ “เจ้าชายศรีนทรกุมารราชบุตร” (Prince Śrīndrakumāra Rājaputra) หรือพระนาม (Kamarateṇ Jagatta Śrī-Śrīndradeva) ซึ่งเป็นรัชทายาทหรืออุปราชผู้สืบสันตติวงศ์ และเหล่าองครักษ์หลวงผู้ภักดีทั้ง 4 (ที่ตายในสมรภูมิรบ) อาทิ “อนักสัญชัก อรชุน” (Anak Sañjak Arjuna) /ปราสาทมุมตะวันออกเฉียงใต้ “อนักสัญชักศรีธรเทวะปุระ” (Anak Sañjak Śrīdharadevapura) /ปราสาทมุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในการต่อสู้กับ “ภารตะราหู” (Bharata rāhu) ในเหตุการณ์การรัฐประหารในสมัยพระเจ้ายโศวรมเทวะที่ 2 โดยพระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมเทวะ ทั้งสองได้รับการอวยยศเป็น “อำเตง” (Amteṅ) ส่วน “อนักสัญชัก เทวะปุระ” บุตรของสัญชักศรีธรเทวะปุระผู้กล้าหาญ ได้รับตำแหน่ง “พระกมรเตงอัญศรีนฤปสิงหวรมเทวะ (Vraḥ Kamarateṇ Añ Śrī Nṛipasimhavarman)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ยุทธนาวีในตนเลสาบกับกองทัพจาม เป็นภาพสลักแสดงไว้ตรงระเบียงคดด้านนอกทิศใต้ปีกตะวันออก, และในกลุ่มปราสาทมณฑลด้านในของปราสาทบันเตียฉมาร์ แสดงทับหลังเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะ เป็นภาพพราหมณ์อุ้มเด็กที่ป่วยมาหาพระราม แล้วกล่าวหาว่าพระองค์ปกครองไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม เกิดอาเพททำให้เด็กป่วย ถัดมาเป็นการที่พระรามตัดศีรษะพวกศูทร คนวรรณะต่ำที่บังอาจเรียนรู้พระเวท (สะท้อนแสดงให้เห็นถึงความเคร่งครัดด้านวรรณะของคนอินเดียโบราณ), ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2565.
ในจารึกช่วงหลังยังกล่าวถึง “อนักสัญชักศรีเทวะ” (Anak Sañjak Śrī Devadeva) /ปราสาทมุมตะวันตกเฉียงใต้ และ “อนักสัญชัก ศรีวรทธนะ” (Anak Sañjak Śrīvardhana) /ปราสาทมุมตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้เป็นพระญาติของเจ้าชาย ที่พลีชีพปกป้องเจ้าชายในการต่อสู้ผ่าวงล้อมทหารจามปาที่ “เขาเฉกคทัน/เขาไม้ไผ่” (Ček Katan) เมื่อเสร็จสิ้นสงคราม ทั้งสองได้รับการอวยยศเป็น “อำเตง ตามความในจารึกบันทายฉมาร์ 1 (K.227).
ภาพจากซ้ายไปขวา: ในกลุ่มปราสาทมณฑลด้านในของปราสาทบันเตียฉมาร์ แสดงทับหลังเรื่องราวตอนต้นของมหากาพย์รามายณะในพาลกัณฑ์ ด้วยฤๅษีวามีกิ (Valmiki) ผู้รจนารามายณะนั้น เดินเข้าพงป่าเพื่อสรงน้ำแบบพราหมณ์ ก็เจอนกกระเรียนสาระสาคู่หนึ่ง (Sarus Crane) กำลังแสดงความรักกัน พลันมีพรานป่าใช้ธนูยิงตัวผู้ตาย ฤๅษีวาลมีกิรับรู้ถึงความโศกเศร้าของกระเรียนเพศเมีย จึงได้สาปแช่งพราน วลีที่ออกจากปากของฤๅษีนั้น มีรูปแบบและจังหวะซึ่งเหมาะสมกับการประกอบดนตรี และลำนำเพลง เมื่อฤๅษีกลับถึงอาศรมแล้ว พระพรหมเสด็จมาเยือน ตรัสให้ฤๅษีได้รับพร และนำความสะเทือนใจนี้ ไปแต่งบทกลอน โศลกเกี่ยวกับวีรบุรุษชื่อ พระราม ให้ขยายเนื้อหาออกไป "ตราบใดที่ยังมีพนมภูเขาตระหง่าน และตราบใดที่ยังมีมหานทีไหลผ่านพระแม่ธรณีอยู่นี้ ตราบนั้นมหากาพย์รามายณะก็ยังคงเผยแพร่หมุนเวียนให้ศึกษากันในโลก ตราบใดที่เรื่องราวของพระรามที่ท่านได้ประพันธ์ขึ้นไว้ ตราบนั้นจักดำรงสถาวร จวบถึงเวลานั้น (เรื่องราวของ) เจ้าจักประจักษ์อยู่ทั้งแดนสวรรค์ แดนมนุษย์และในโลกของเรา" กล่าวจบ พระพรหมอันเรืองจรัสก็อันตรธานไป.
พระพรหมตรัสต่อฤๅษีวาลมีกิ, สรรค (2), พาลกัณฑ์., ภาพถัดมาเป็นทับหลังแสดงพระตรีมูรติ แยกออกเป็นสามองค์ คือพระศิวะอยู่ข้างบน ด้านซ้ายของภาพเป็นพระพรหม ถัดมาด้านขวาเป็นพระวิษณุ, ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2565.
จารึกบันทายฉมาร์ 1 ยังได้กล่าวถึงเหล่าทหารกล้าของเจ้าชายที่ได้ร่วมรบอย่างกล้าหาญยอมพลีชีพเพื่อป้องกันราชบัลลังก์และเหล่าเชื้อพระวงศ์ ใน 78 สมรภูมิ ต่างได้รับพระราชทานรางวัลและเกียรติยศจากพระเจ้าชยวรมเทวะที่ 7 ให้แก่ครอบครัวโดยทั่วหน้า มีการสร้างรูปเคารพแห่งเจ้าชายศรีนทรกุมารไว้ในปราสาท ทั้งยังสร้างรูปแทนอนักสัญชักสำคัญทั้ง 4 ประดิษฐานไว้ในคูหาต่าง ๆ ของราชวิหารบันทายฉมาร์
ปราสาทบันทายฉมาร์ สันนิษฐานว่าเริ่มมีการก่อสร้างครั้งแรกหลังปี พ.ศ. 1733 – 35 ภายหลังจากสงครามพิชิตเมืองวิชัยปุระ (Vijayapur) ศูนย์กลางอาณาจักรจามปาไปแล้ว.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพสลักหินทรายตรงเบียงคดด้านนอกทิศเหนือปีกตะวันตก ซ้ายขวาของกรอบประตูทางเข้าออกปราสาทชั้นใน ในหนังสือ 03 กล่าวว่า "prince battles demon" ซึ่งคุณโอภาส ผู้นำทริปอภิบายจากการค้นคว้าเสริมว่าเป็นเรื่องราวในมหาภารตะยุทธ ในอาทิบรรพ เกี่ยวกับการปราบรากษสชื่อ "พกะ" ของภีมะ หรือ ภีมเสน เพื่อช่วยชาวบ้านที่ถูกพกะบังคับให้ส่งอาหาร วัว และสังเวยคนในหมู่บ้านมาให้กินเนือง ๆ , ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2565.
ปราสาทบริวารขนาดเล็กโดยรอบราชวิหาร 5 แห่ง จาก 8 แห่ง คือ “ปราสาทตาเอม” (Ta Em) ทางตะวันออก “ปราสาทยายคุม” (Yeay Kom) “ปราสาทตาแนม” (Ta Nem) ทางตะวันตก และ “ปราสาทตาปรัง” (Ta Phlang) ทางทิศใต้ จึงอาจมีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวของราชองค์รักษ์/อนักสัญชักในจารึกบันทายฉมาร์ ด้วยเพราะมีการจัดวางตำแหน่งปราสาทตามแผนผังสมมาตรจากประตูโถงใหญ่ชั้นในของตัวพระวิหารใหญ่ทั้ง 4 ทิศ เหมือนเป็นผู้ปกป้องประตูทั้ง 4 ด้าน ทั้งยังมีขนาด รูปแบบทางสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบแบบเดียวกันทั้งหมด คือมีคูน้ำขนาดเล็กกว้างยาวประมาณ 75*90 เมตร กำแพงล้อมรอบขนาดประมาณ 35 * 50 เมตร ปราสาทประธานผังจัตุรมุขยอดทรงวิมานศิขระ มีมุขกระสันสั้น ๆ เชื่อมอาคารระเบียงหลังคาซ้อนชั้นมีประตูด้านข้าง ด้านหน้าเชื่อมต่อมณฑปและอรรธมณฑป (Ardhamandapa) มุขหน้าไปเกือบชนกับอาคารซุ้มประตูโคปุระด้านหน้าแบบปีกข้างสั้น มีโคปุระด้านหน้าหลังเดียว ด้านอื่น ๆ เป็นกำแพงล้อม เป็นอาคารต่อกันกว้างขนาดประมาณ 5-8 (รวมมุขข้างของเรือนประธานจัตุรมุข) ยาวประมาณ 16 เมตร มีบรรณาลัยขนาดเล็กอยู่ด้านข้าง
ปราสาทบริวารอีกกลุ่มหนึ่ง 3 หลัง มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่า น่าจะสร้างขึ้นในช่วงหลังจากที่มีการสร้างราชวิหารและปราสาทบริวารขนาดเล็กตามผังทิศสมมาตรไปแล้วระยะหนึ่ง คือ “ปราสาทสำนางตาสุข” (Samnang Ta Sok) นอกเมืองทางทิศตะวันออก “ปราสาทเจิ๊นเจิมเตร๊ย” (Chegnchem Trei) นอกเมืองทางทิศเหนือนอกคูน้ำ และ “ปราสาทยายจู” (Yeay Chu) ตั้งอยู่ภายในคูเมืองทางตะวันออกเยื้องลงมาทางใต้ ทั้ง 3 ปราสาท มีคูน้ำขนาดใหญ่ชั้นนอกขนาดประมาณ 150*170 เมตร และชั้นในประมาณ 110*110 เมตร ล้อมรอบ 2 ชั้น เกาะปราสาทกลางมีขนาด 70 * 90 เมตร มีทางเดินเข้าด้านหน้าและหลัง กำแพงล้อมรอบปราสาทมีขนาดประมาณ 50*55 เมตร มีซุ้มประตูโคปุระด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีปราสาทประธานผังจัตุรมุข มุขด้านหน้าและหลังยาวกว่าด้านข้าง ขนาดประมาณ 15*18 เมตร ยอดทรงวิมานมีรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 ด้าน (Face Tower) มีอาคารบรรณาลัยขนาดเล็กด้านหน้าซีกทิศใต้ แต่ปราสาทยายจู ถึงจะมีขนาดพื้นที่ใหญ่ แต่กลับมาปราสาทต่อเป็นเรือนยาวแบบเดียวกับปราสาทหลังเล็ก.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพสลักหินทรายตรงเบียงคดด้านนอกทิศเหนือปีกตะวันตกริมสุด เป็นภาพสลักเกี่ยวกับการกวนเกษียรสมุทร เป็นศิลปะแบบบายน บุคคลที่ยุดหางพญานาคท้ายสุดคือพญาวานร "พาลี" (ด้วยเพราะสวมมงกฎและเป็นวานร นั่นคือ Monkey King แห่งเมืองขีดขินธ์ ในมหากาพย์รามายณะนั่นเอง), และภาพสลักหินทรายตรงเบียงคดด้านนอกทิศใต้ปีกตะวันตก เป็นภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร, ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2565.
“ปราสาทตาพรหม” (Ta Prohm) ปราสาทบริวารขนาดใหญ่อีกหลังหนึ่งภายในเมือง ติดกับปราสาทตาปรังทางทิศใต้ มีรูปแบบของ “ปราสาทอาโรคยศาลา” (Ārogya - Śālā) ประจำเมืองบันทายฉมาร์ มีคูน้ำล้อมรูปขนาดประมาณ 80*95 เมตร เกาะปราสาทมีขนาดประมาณ 45*70 เมตร กำแพงแก้วมีขนาดประมาณ 40*55 เมตร ล้อมรอบ ปราสาทประธานมีขนาดกว้างยาวประมาณ 20 * 20 เมตร (มุขด้านหน้าและหลังยาวปีกด้านข้าง ยอดทรงวิมานมีรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 ด้าน เช่นเดียวกัน มีอาคารโคปุระขนาดใหญ่ด้านหน้าเพียงหลังเดียว.
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร, ตรงกรอบประตูระเบียงคดทิศใต้ปีกตะวันตก, ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2565.
ปราสาทบริวารอีกหลังหนึ่ง เรียกว่า “ปราสาทแม่บุญ” (Mebon บ้างก็เขียน Maebon) ตั้งอยู่กลางบาราย ล้อมรอบด้วยคูน้ำ 3 ชั้น เกาะปราสาทมีขนาดประมาณ 70* 110 เมตร กำแพงแก้วขนาดประมาณ 60 *100 เมตร มีซุ้มประตูโคปุระด้านหน้าและด้านหลัง ตัวปราสาทมีรูปแบบเดียวกับปราสาทบริวารหลังเล็ก คือปราสาทประธานผังจัตุรมุขยอดทรงวิมานศิขระ มีมุขกระสันสั้น ๆ เชื่อมอาคารระเบียงหลังคาชั้นซ้อน มีประตูข้าง ต่ออาคารมณฑป อรรธมณฑป และมุขหน้าไปเกือบชิดกับอาคารซุ้มประตูโคปุระด้านหน้าแบบปีกข้างสั้น เป็นอาคารต่อกันยาวขนาดประมาณ 30 เมตร มีบรรณาลัยขนาดเล็กอยู่ด้านข้าง เป็นปราสาทในคติฮินดู/ไวษณพนิกาย.
สระสรง (มีการถ่ายภาพ pre-wedding กันอยู่), ถ่ายไว้เมื่อ 13 ตุลาคม 2565.
ในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการขุดค้นและบูรณปฏิสังขรณ์อาคารพลับพลาลงสรง พระราชนิยมในพระเจ้าชยวรมเทวะที่ 7 บนคันดินฝั่งตะวันตกของบารายใหญ่ เป็นฐานอาคารขนาดประมาณ 35 * 27 เมตร ชั้นบนเป็นฐานพลับพลาจัตุรมุขขนาดประมาณ 22*16 เมตร รองรับอาคารเครื่องไม้ ท่าน้ำลงสรงก่อหินทรายรูปทรงนาคบาท ขนาดประมาณ 23*30 เมตร มีเสาระเบียงหัวราวบันไดรูปหัวครุฑยุดนาค สิงห์ทวารบาลรูปแบบเดียวกับอาคารพลับพลาลงสระด้านหน้าฝั่งทิศตะวันออกของปราสาทบันเตียกะเดย หรือ ปราสาทบันทายกุฎี (Banteay Kdei) แต่แกะสลักส่วนฐานเป็นรูป “หงส์เล่นน้ำและกอบัว” อันเป็นลวดลายเฉพาะของท่าน้ำลงสรงเมืองบันทายฉมาร์.
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับปรุง เสริมจาก. Facebook เพจ Voranai Pongsachalakorn, วันที่เข้าถึง 10 เมษายน 2565.
02. จาก. "Focusing On The Angkor Temples, The Guidebook 2017 Edition," Michel Petrotchenko, ISBN 978-616-423-531-1, จัดพิมพ์ที่ บมจ.อมรินทร์ พรินติ้ง ประเทศไทย, ครั้งที่ 4 พ.ศ.2560.
03. จาก. "Banteay Chhmar: Garrison-Temple of the Khmer Empire," Peter D. Sharrock, ISBN 978-616-7339-20-7, River Books, จัดพิมพ์ครั้งแรก ประเทศไทย, พ.ศ.2558.