Title Thumbnail & Hero Image: ปราสาทพระขรรค์ ถ่ายไว้เมื่อ 21 ตุลาคม 2561
04. ปราสาทพระขรรค์
First revision: Oct.19, 2019
Last change: Feb.15, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
ปราสาทนี้อยู่ทางเหนือของเมืองเสียมราฐ ประมาณ 17 กิโลเมตร ปราสาทพระขรรค์นี้เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเช่นเดียวกับปราสาทหลังอื่น ๆ (ภาษากัมพูชาเรียก ปราสาทเปรี๊ยะขรรค์) กล่าวกันว่าชาวบ้านเห็นอาคารหลังที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท เป็นอาคารที่สร้างจากหินทราย มี 2 ชั้น ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในศิลปะขอมสมัยบายน จินตนาการว่าเป็นที่เก็บพระแสงขรรค์ชัยศรีของพระเจ้าแผ่นดินจึงเรียกว่า ปราสาทพระขรรค์.
จากจารึกหลักฐาน ปราสาทพระขรรค์นี้ สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อ พ.ศ.1734 อุทิศถวายพระบิดาของพระองค์คือพระเจ้าธรณินทรวรมัน แล้วสถาปนาพระบิดาเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Bodhisattva) หนึ่งในรัตนตรัยมหายาน พระบิดาแห่งพระพุทธเจ้าทั้งมวล เรียกปราสาทหลังนี้ว่า ราชัยศรี (โชคลาภแห่งชัยชนะ) มีลักษณะเป็นเมืองอีกเมืองหนึ่ง
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ กล่าวไว้ในหนังสือ The Angkor ว่า ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นบนสถานที่ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงรบชนะและรองรับโลหิตศัตรู ของพระองค์.
ปราสาทพระขรรค์เป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนา นิกายมหายาน เป็นศิลปะขอมสมัยบายน กำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 (ประมาณ 800 กว่าปีมาแล้ว)
ที่มา: angkorguide.net, วันที่เข้าถึง 18 มีนาคม 2562
จากผังข้างต้น แถบสีเหลือง: เป็นวิหารกลาง อุทิศแด่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Bodhisattva) และเป็นท้องพระโรงแห่งนางรำ (the Hall of Dancers) ด้านทิศตะวันออก
พื้นที่แถบสีแดง: เป็นด้านตะวันตก อุทิศแด่พระวิษณุ (dedicate to Vishnu)
พื้นที่แถบสีเขียว: แกนทิศเหนือและใต้ ทิศเหนืออุทิศแด่พระศิวะ (dedicate to Shiva) ทิศใต้อุทิศแด่พระปิตุลาของกษัตริย์.
ที่มา: www.researchgate.net, วันที่เข้าถึง 18 มีนาคม 2562
ปราสาทพระขรรค์นี้ มีขนาดกว้าง x ยาว เป็น 700 x 800 เมตร มีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบอย่างมั่นคงแข็งแรง มีประตูทางเข้า-ออกทั้งสี่ทิศ มีเสานางเรียง (ไนจุมมวล) ปักบอกขอบเขตทางทางเดิน ถัดมาเป็นสะพานข้ามคูน้ำที่ล้อมรอบปราสาท ราวสะพานมีหินทรายแกะสลักเป็นเทวาด้านหนึ่ง เป็นอสูรอีกด้านหนึ่งซึ่งกำลังยุดนาค (ดังปรากฎรายละเอียดในนารายณ์อวตาร: กุรมาวตาร) เหมือนประตูเมืองนครธม (ทิศใต้ ทิศเหนือ...ทิศอื่น ยังไม่ได้ศึกษาครับ) ข้าง ๆ ซุ้มประตูประดับด้วยหินทรายสลักเป็นครุฑขนาดใหญ่ทั้งสองข้าง (ศจ.ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่าแสดงความเป็นพระอารามของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นวิมานของเทวดา) ตัวซุ้มประตูหรือโคปุระทำเป็นหลังคาชั้นซ้อนแบบดั้งเดิม ไม่เป็นรูปใบหน้าบุคคลสี่หน้าเหมือนอย่างซุ้มประตูศิลปะสมัยบายนในที่อื่น ๆ บริเวณด้านในมีปราสาทตั้งเรียงรายอยู่หลายหลัง ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่าปราสาทเหล่านี้อาจเปรียบเหมือนเป็นสุสานของพระราชวงศ์.
ด้านทิศตะวันออกที่เป็นทางเข้าหลักอยู่ติดกับสระชัยตฏากะ (บารายพระขรรค์) ที่ขุดขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นเดียวกัน (ปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว) บริเวณด้านในปราสาทมีอาคารที่เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา ที่พักนักเดินทางหรือผู้แสวงบุญ.
ด้านนอกของปราสาทพระขรรค์ ราวสะพานแสดงหินทรายแกะสลักการยุดนาคโดยเหล่าเทวาและอสูร บนเกษียรสมุทร, ชุดหินทรายแกะสลักนี้ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่มา: Facebook เพจ "EFEO," วันที่เข้าถึง 04 สิงหาคม 2563.
[หาภาพมาใส่???]
นาคราวชาลา มีความวิจิตรบรรจงมาก เป็นนาคหลายเศียรถูกยุดไว้ด้วยครุฑ เป็นลักษณะที่นิยมมากในศิลปะบายน
เสานางเรียงต้นหนึ่งด้านหน้า ซ้ายมือของปราสาทพระขรรค์ มีภาพสลักพระพุทธรูป ที่หลงเหลืออยู่หลุดรอดจากการแกะสลักเปลี่ยนเป็นพราหมณ์-ฮินดู, ถ่ายไว้เมื่อ 21 ตุลาคม 2561.
- จากจารึกปราสาทพระขรรค์ ใน BEFEO fasc.2 (1942) หน้า 296 บรรทัดที่ 117 ได้แสดงว่ามีเมืองเพชรบุรีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 (ปี พ.ศ.1725-1761)01.
- จากจารึกปราสาทพระขรรค์02. ในบทที่ 114 ถึงบทที่ 121 ได้กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงประดิษฐาน พระชัยพุทธมหานาถ (รวม 25 แห่ง บ้างก็ว่า 23 แห่ง ดูใน 02. บทนำ: ปราสาทศิลปะเขมรในดินแดนไทย) ไว้ที่
- ศรีชยันตปุระ
- วันธยาบรรพต
- มรขลปุระ
- ศรีชยราชธานี...
- ศรีชยันตครี หรือ ศรีชยันตนครี...
- ชยสิงหวตี...หรือ ศรีชัยสิงหวดี
- ศรีชยวีรวดี...
- ลโวทยปุระ...หรือ ลฺโว้ทยปุระ...เมืองโบราณลพบุรี ประเทศไทย.
- สุวรรณปุระ...หรือ เมืองโบราณหนองแจง ต.ไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ (บ้างก็ว่า เนินทางพระ) จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย.
- ศัมพูกปัฏฏนะ...หรือ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณข้างสระโกสินารายณ์ ใกล้แม่น้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย.
- ชยราชปุรี...มีศูนย์กลางที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ประเทศไทย.
- ศรีชยสิงหปุรี...หรือปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย.
- ศรีชยวัชรปุรี...หรือ ศรีชยวัชรปุระ...ศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทกำแพงแลง จังหวีดเพชรบุรี ประเทศไทย.
- ศรีชยสตัมภปุรี...
- ศรีชยราชคีรี...
- ศรีชยวีรปุรี...
- ศรีชยกีรติปุรี...
- ศรีชยเกษมปุรี...ซึงมีชื่อนามที่ตรงกับความหมายว่าสุโขทัย ซึ่งหมายถึง "มีความสุขใจ" ตรงกับ "สุโข ไท-ทัย" ที่มีความหมายว่า "ใจที่มีความสุข-คนมีความสุข"
- ศรีวิชยทิตยปุรี...หรือ ศรีวิชยาทิบุรี...
- ศรีชยสิงหาคราม...
- มัธยมครามกะ...
- สมเรนทรคราม...หรือ สมเรนทรครามะ
- ศรีชยปุรี...
- วิหาโรตตรกะ... และ
- ปุราวาวาสะ...หรือ ปูรพาพาส
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. อ้างจาก. รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต), หน้าที่ 176, กรมศิลปากร พ.ศ.2548.
02. จาก. โดยนาย ม. แกลซ (M. Glaize) ได้ค้นพบจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ในบริเวณเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2482. แปลโดย มรว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, 2543: 122-123, พบใน Facebook เพจ "สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี," วันที่เข้าถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565.
PHOTO GALLERY
ภาพที่ 001: ด้านนอกของปราสาทพระขรรค์ ราวสะพานแสดงหินทรายแกะสลักการยุดนาคโดยเหล่าเทวาและอสูร บนเกษียรสมุทร, ชุดหินทรายแกะสลักนี้ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่มา: Facebook เพจ "EFEO," วันที่เข้าถึง 04 สิงหาคม 2563.