MENU
TH EN

01.102 บรรพสังเคราะห์ บรรพ

Title Thumbnail & Hero Image: นักพรตโบราณแห่งภารตะ, พัฒนาเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2567.
01.102 บรรพสังเคราะห์ หรือ บรรพสังครหะ บรรพ
First revision: Nov.24, 2024
Last change: Dec.4, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
1.
หน้าที่ 1(21)
       บรรพนี้ (पर्वसंग्रह - Parvasaṃgraha) มี 243 โศลก และมีเพียงหนึ่งอัธยายะ (บท). ซึ่งเป็นอัธยายะที่เพิ่มเข้ามาภายหลัง. นอกจากนี้ยังมีการสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับจุดเด่นของมหากาพย์นี้อีกด้วย.
1.
2.
อัธยายะที่ 2

ๅษีทั้งปวงกล่าว, 'โอ บุตรแห่งสูตะ! พวกเราอยากจะฟังจากท่านเกี่ยวกับสถานที่ที่เรียกว่าสมันตปัญจกะ,01 โปรดบรรยายด้วยเถิด.'

       ซัลติกล่าว, 'โอ ท่านเหล่าพราหมณ์เอ่ย! ตามที่พวกท่านประสงค์ จงฟังคำอวยพรเกี่ยวกับสมันตปัญจกะ ตามที่ข้าฯ ได้บอกกับพวกเขานั้น. การได้รับฟังเรื่องราวเหล่านี้ พวกท่านจะเป็นผู้ที่ดีเยี่ยมที่สุดในบรรดาบุรุษทั้งหลาย. ในช่วงเชื่อมต่อระหว่างเตรตะยุคกับทวาปรยุคนั้น02 ด้วยความพิโรธต่อบาป (ของมนุษย์) ที่ได้กระทำ, พระราม,03 ทรงเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้ถืออาวุธ พระองค์ทรงทำลายล้างกษัตริย์ทุกพระองค์ (क्षत्रिय - Kṣatriya) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า. หลังจากทรงทำลายกษัตริย์ทุกพระองค์ด้วยฤทธิ์อำนาจอันรุ่งโรจน์ดุจไฟ พระองค์จึงทรงสร้างทะเลสาบโลหิต 5 แห่งในสมันตปัญจกะ.
---------------

01. สมันตปัญจะกะ (समन्तपञ्चक - Samantapañcaka) - ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีลักษณะเฉพาะบริเวณรอบ ๆ ทุ่งคุรุเกษตร. ดูรายละเอียดในหมายเหตุข้อ 5 หน้า 2 ของ 01.101 อนุกรมณิกาบรรพ.
02. สองในสี่ยุค (युग - yuga) หรือยุคสมัย สี่ยุคนั้นคือ สัตยยุค (सत्यययुग - Satya Yuga) หรือ กฤตยุค (कृतयुग - Kṛta Yuga), เตรตยุค บ้างก็เรียก ไตรตายุค (रेतायुग - Tretā Yuga), ทวาปรยุค บ้างก็เรียก ทวาบรยุค (द्वापरयुग - Dvāpara Yuga) และ กลียุค (कलियुग - Kali Yuga).
03. ในที่นี้ หมายถึงปรศุราม (परशुराम - Paraśurāma)

1.
2.
หน้าที่ 2(22)
เราได้ยินมาว่า พระองค์พิโรธหนักจนไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ทรงยืนบนน้ำที่เปื้อนเลือดในทะเลสาบนั้น และถวายเครื่องบูชาที่เปื้อนโลหิตแก่บรรพบุรุษของพระองค์. จากนั้นฤๅษีฤจิก01 และบูรพบรรพชนท่านอื่น ๆ ของพระองค์ได้ปรากฎตัวต่อหน้าโคตัวนี้ ท่ามกลางเหล่าพราหมณ์ แล้วตรัสว่า "จงสงบ ระงับ นิ่งเสีย." ตั้งแต่นั้นมาบริเวณใกล้ทะเลสาบสีโลหิตทั้งห้าแห่งก็ได้รับการขนานนามว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งสมันตปัญจะกะ. เหล่าปราชญ์กล่าวว่าสถานที่ทุกแห่งควรมีสมัญญาบ่งบอกถึงชื่อเสียงของสถานที่นั้น. ในช่วงท้ายของทวาปรยุคและจุดเริ่มต้นของกลียุคนั้น กองทัพของฝ่ายกุรุและฝ่ายปาณฑพได้ต่อสู้กันอย่างยิ่งใหญ่ที่สมันตปัญจะกะอันศักดิ์สิทธิ์นี้. ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งปราศจากความชั่วร้ายใด ๆ ของโลกนั้น มีกองทัพจำนวนสิบแปดอักเษาหิณี (अक्षौहिणी - Akṣauhiṇī) มารวมตัวกัน ต่างล้วนกระหายที่จะสัประยุทธ์. โอ เหล่าพราหมณ์เอ่ย! ชื่อของดินแดนนั้นจึงเกิดขึ้น. ข้าฯ ได้อธิบายถึงสถานที่อันสวยงามและศักดิ์สิทธิ์แก่พวกท่านแล้ว. โอ เหล่าพราหมณ์ผู้เป็นเลิศ! ข้าฯ ได้บอกแก่พวกท่านทุกอย่างเกี่ยวกับสถานที่นี้ ซึ่งเป็นดินแดงที่โด่งดังในสามโลกแล้ว.'

องค์ภาควัน ปรศุราม สังหารท้าวการตวีรยะ อรชุน02, ที่มา: www.pinterest.com, วันที่เข้าถึง: 26 พฤศจิกายน 2567.
1.
       ฤๅษีทั้งหลายกล่าวว่า 'โอ บุตรแห่งสูตะ! พวกเราใคร่อยากทราบทุกสิ่งเกี่ยวกับอักเษาหิณีที่ท่านได้กล่าวอ้างถึงทั้งหมด. ท่านเป็นผู้รู้ทุกสิ่ง. โปรดบอกแก่พวกเราให้ชัดเจนด้วยเถิดว่า อักเษาหิณีนั้นมีขนาดเท่าใด พร้อมด้วยพลทหารราบ ม้า รถศึก และช้าง.'

       ซัลติกล่าว 'รถศึกหนึ่งคัน ช้างหนึ่งเชือก พลเดินเท้าห้านาย และม้าสามตัว ประกอบกันเป็นปัตติ03. สามปัตติจะเรียกว่าเสนามุข04 และสามเสนามุขจะประกอบเป็นคุลมะ05. สามคุลมะเรียกว่าคณะ06 และสามคณะก็คือวาหินี07. ผู้มีปัญญารู้ว่าสามวาหินีรวมกันเป็นหนึ่งปฤตนา08. สามปฤตนาประกอบเป็นหนึ่งจมู09 สามจมูเรียกว่าอนีกินี10 และผู้ชาญฉลาดกล่าวว่าสิบเท่าของอนีกินีก็จะเป็นที่รู้จักกันคือ อักเษาหิณี. โอ เหล่าพราหมณ์ผู้เป็นเลิศ! ผู้ที่รู้คณิตศาสตร์ได้คำนวณไว้ว่าในหนึ่งอักเษาหิณีนั้น มีรถศึก 21,870 คัน และช้างในจำนวนที่เท่ากัน. จงทราบว่าจำนวนพลเดินเท้ามี 109,350 นาย และมีม้าจำนวน 65,610 ตัว. โอ เหล่าพราหมณ์ผู้เป็นเลิศ! ข้าฯ ได้อธิบายอย่างละเอียดแล้วว่าผู้ที่คุ้นเคยกับตัวเลขจะเรียกว่าอักเษาหิณี. โอ เหล่าพราหมณ์ผู้เป็นเลิศ! กองทัพทั้งสิบแปดอักเษาหิณีของฝ่ายกุรุและฝ่ายปาณฑพ ได้ระดมทัพขึ้นตามจำนวนเหล่านี้ และเหตุได้ทำลายล้างกองทัพทั้งหมด. กาลเวลาได้นำพาเหล่ากองทัพมารวมตัวในดินแดนแห่งนี้และได้ทำลายล้างเหล่าทัพทั้งหลายจนสิ้น การจัดตั้งฝ่ายเการพขึ้นนั้นเป็นสาเหตุในการทำลายกองทัพนี้ทั้งหมด.
---------------
01. ฤๅษีฤจิก (ऋचीक - Ṛchīka) - เสด็จปู่หรือพระอัยกาของปรศุราม.
02. ท้าวการตวีรยะ อรชุน (कार्तवीर्य अर्जुन - Kārtavīrya Arjuna) - เป็นกษัตริย์แห่งมาหิษมตี หรือ นครมหิษบดีปุระ (माहिष्मती - Māhiṣmatī - เมืองโบราณอยู่ฝั่งแม่น้ำนรรมทา - नर्मदा - Narmadā) เป็นกษัตริย์ช่วงรามายณะ ที่เชื่อกันว่ามีหนึ่งพันกร. ท้าวการตวีรยะ อรชุน (บ้างก็กล่าวว่าอริชา โอรสองค์โตของท้าวการตวีรยะ อรชุน) ได้ตัดศีรษะฤๅษีชมทัคคี (जमदग्नि - Jamadagni) ซึ่งเป็นบิดาของปรศุราม. ปรศุรามได้แก้แค้นโดยการสังหารทั้งวงศ์ตระกูลของท้าวการตวิรยะ อรชุน รายละเอียดดูใน
นารายณ์อวตาร ตอนที่ 6 "ปรศุรามาวตาร".
อักเษาหิณีเสนา (akṣauhiṇī sena), ที่มา: www.quora.com, วันที่เข้าถึง: 19 ตุลาคม 2565.

03. ปัตติ (पत्ति - Patti - Company หรือ पङ्क्ति - ปังกติ): รถศึกหนึ่งคัน (रथ - Ratha - ราธ - Chariot) + ช้างหนึ่งเชือก (गज - Gajā - คชา - Elephant) + ม้าสามตัว (अश्व - Aśva - อัศวะ หรือ तुरग - Turaga - ตุรคฺ) + พลเดินเท้าห้านาย (पदाति - Padāti - บาทาติ หรือ पद सैन्यम् - Pada sainyam) = 10 นักรบ (योद्धा - Yoddha - โยธา - Warriors).
04. เสนามุข (सेनामुख - Senāmukha).
05. คุลมะ (गुल्म - Gulma).
06. คณะ (गण - Gaṇa).
07. วาหินี (वाहिनी - Vāhinī).
08. ปฤตนา (पृतना - Pṛtanā).
09. จมู (चमू - Camū).
10. อนีกินี (अनीकिनी - Anīkinī).

1.
2.
หน้าที่ 3(23)
ท้าวภีษมะ ผู้มีทักษะในการใช้อาวุธเป็นเลิศ ได้ใช้เวลาเข้าสัประยุทธ์ร่วมสิบวัน. โทรณาจารย์เข้าปกป้องกองทัพของฝ่ายคุรุเป็นเวลาห้าวัน. กรรณะ, ผู้ทำลายล้างทหารศัตรู เข้าต่อสู้ได้เป็นเวลาสองวัน ท้าวศัลยะต่อสู้ได้ครึ่งวัน และดวลกระบองกันเป็นเวลาสองวัน. ในช่วงค่ำของวันนั้น บุตรแห่งโทรณาจารย์,01 หารดิคยะ02 และโคตมะ03 ได้บุกเข้าสังหารทหารของท้าวยุธิษฐิระ ในขณะที่พวกเขากำลังหลับไหลไม่รู้สึกตัว.
---------------

01. อัศวัตถามา.
02. หารดิคยะ (हार्दिक्य - Hārdikya) - เป็นอีกชื่อหนึ่งของ กฤตวรมัน (कृतवर्मन् - Kṛtavarman).
03. โคตมะ (गौतम - Gautama) - เป็นอีกชื่อหนึ่งของกฤปจารย์ (कृपाचार्य - Kṛpacārya).





แหล่งอ้างอิง:
01. จาก. "The Mahabharata 1," แปลโดย BIBEK DEBROY, ISBN: 978-0-1434-2514-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2558, ตีพิมพ์ในภารตะ.
02. จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
03. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.
04. จาก. http://www.wisdomlib.org.






 
humanexcellence.thailand@gmail.com