MENU
TH EN

A04. บทนำ: ธรรมะ, บรรดาวีรบุรุษและเหล่าทรชน

การชุมนุมของเหล่านักรบ, การประกอบพิธีอัศวเมธในมหากาพย์มหาภารตะ, ที่มา: พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮาร์วาด, www.theindiaforum.in, วันที่เข้าถึง: 31 มกราคม 2566
A04. บทนำ: ธรรมะ, บรรดาวีรบุรุษและเหล่าทรชน
First revision: Jan.31, 2023
Last change: Oct.15, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
1.
คำอธิบาย: เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการศึกษา จำต้องมีการอ้างอิงเนื้อหาในมหาภารตยุทธ จึงขอกำหนดการระบุบรรพ อัธยายะ และโศลกไว้ดังนี้:
ตัวอย่าง (3, 198) อ้างอิงจาก บรรพที่ 3 อัธยายะที่ 198
            (7, 23-25) อ้างอิงจาก บรรพที่ 7 อัธยายะที่ 23-25 และ
            (11, 15, 1-8) อ้างอิงจาก บรรพที่ 11 อัธยายะที่ 15 โศลกที่ 1-8 เป็นต้น.

.
.
หน้าที่ 1
ธรรม หรือ ธรรมะ
 
       ด้วยมหาภารตยุทธนั้น เกี่ยวกับความขัดแย้งกันเองในระหว่างญาติพี่น้องสองฝ่าย นำไปสู่มหาสงคราม 18 วัน และผลที่ติดตามอันยาวนาน หากพิจารณาในระดับลึกลงไป ผู้คนจำนวนมากสามารถตอบได้ว่ามันเกี่ยวกับ "ธรรมะ".

       ธรรมะไม่ใช่แนวคิดที่ตอบโดยตรงหรือแม้แต่โดยประมาณกับคำศัพท์ในภาษาอังกฤษใด ๆ คำว่า "กฎหมาย" "หน้าที่" "คุณธรรม" "ศีลธรรม" และแม้แต่ "สิ่งต่าง ๆ ในชีวิต" ล้วนเข้าใกล้นิยามว่าธรรมะได้พอประมาณ แต่ก็ไม่มีศัพท์ใดที่เข้าใกล้พอ ธรรมะของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างไปจากธรรมะของบุคคลอื่น การมีเพศสัมพันธ์อาจจะผิดสำหรับท่าน แต่ถูกต้องสำหรับฉัน การบำเพ็ญตบะในป่าอาจจะถูกสำหรับท่าน แต่ผิดกับฉัน. มีปัจจัยหลายอย่างรวมกันเพื่อกำหนดว่าอะไรคือธรรมะสำหรับบุคคล.

       เริ่มต้นด้วยการมีชั้นศึกษาเล่าเรียนที่แต่ละบุคคลสังกัดอยู่ นี่เป็นสิ่งสำคัญ เหนือสิ่งอื่นใด ธรรมะถูกกำหนดในแง่มุมทางสังคม.

       พราหมณ์ควรศึกษาพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ แต่จะผิดอย่างมหันต์ หากบรรดาชนชั้นวรรณะศูทร (Sūdra) ได้ศึกษาพระเวทไซร้ ก็จะกลายเป็น "อธรรม หรือ อธรรมะ" ไปทันที. กษัตริยะ ธรรมะ (Kṣatriya dharma) หรือธรรมะของพวกวรรณะกษัตริย์นั้น ประกอบด้วยการต่อสู้ การปกครอง และการลงโทษแก่ผู้ประพฤติอธรรม. ส่วนธรรมะของบรรดาวรรณะแพทย์ (ไวศยะ - the Vaiśya dharma) ไม่รวมสิ่งที่กล่าวข้างต้น มีเพียงแต่การปฏิบัติธรรมที่สามารถหวังได้ว่าจะปรับปรุงสถานะของตนในการเกิดใหม่ครั้งต่อไป. ในมหาภารตะ (3, 198-206) พราหมณ์เกาศิกะได้รับการสั่งสอนธรรมะจากนายพรานผู้มีปัญญา ผู้มีฐานะต้อยต่ำกว่า โดยปัจจุบันนั้นพรานได้จัดการแล่สัตว์เชือดเพราะบาปในชาติก่อน พราหมณ์เกาศิกะได้ตำหนิว่างานที่นายพรานทำเป็น 'งานที่น่าสยดสยอง' แต่นายพรานก็ตอบกลับไปว่า นั่นคือธรรมะของเขา และด้วยการปฏิบัติอย่างถูกต้องเท่านั้น เขาจึงหวังที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นในชาติหน้า01. (ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องตามวรรณะของนายพรานในชาตินี้ จะส่งผลให้เข้าเกิดในภพภูมิหรือในวรรณะที่สูงขึ้นในชาติต่อไป).

       นอกจากที่ได้ศึกษาชั้นเรียนแล้ว ธรรมะของบุคคลยังได้รับผลกระทบจากบทบาทในชีวิตของเขาเอง ในปัจจุบันซึ่งจะเปลี่ยนไปเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่อาจเริ่มต้นจากชุดบทบาทที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ (ทางสังคม) ที่ได้รับการยอมรับ ได้ถูกประมวลผลเป็นลำดับขั้นของชีวิตที่กำหนดไว้ ซึ่งกล่าวไว้ (12, 62) ว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับสำหรับเหล่าพราหมณ์ แต่ยังเปิดให้อีกสามวรรณะหลักได้เรียนด้วย. ในระดับมาตรฐานของกลุ่มชนฮินดูที่นับถือหลักการด้านพระเวทนั้น จะมีสี่ด่านที่ต้องศึกษาในผ่านไปตามลำดับ ขั้นแรก มาณพหนุ่มควรเป็นนักเรียน พึงต้องศึกษาคัมภีร์พระเวท – เขาสามารถทำเช่นนั้นได้หากเขามีชาติตระกูลในวรรณะที่เหมาะสม – และทักษะที่เขาจะต้องมีในการทำงานตลอดชีวิต (เช่น วรรณะกษัตริย์ในวัยเยาว์มีแนวโน้มที่จะศึกษาอาวุธและศิลปะการต่อสู้ ดังที่เหล่าพี่น้องเการพและปาณฑพ ที่ได้กระทำไว้ ดังแสดงใน 1, 122) ขั้นต่อไป ขั้นที่สอง เขาควรจะแต่งงานและใช้ชีวิตเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน. เมื่อบุตรโตและเป็นอิสระแล้ว เขาและภรรยาควรออกจากป่าไปใช้ชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ (สันยาสี) นี่คือระยะที่สาม และในขั้นที่สี่ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย พึงละทิ้งสิ่งทั้งหลายทางโลก ให้เวลากับการบำเพ็ญเพียร ดำเนินชีวิตด้วยรับบริจาคโดยสมบูรณ์ โดยธรรมชาติแล้ว ธรรมะของคน ๆ เดียวกันย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงของชีวิต ในฐานะผู้ศึกษา ส่วนหนึ่งของธรรมะคือพรหมจรรย์ ในฐานะผู้ครองเรือนก็ควรให้กำเนิดบุตร การใช้เวลากับการอยู่ในพงไพรคือขั้นที่สาม ถือว่าเป็นธรรมะ แต่เมื่อผู้ใดที่อยู่ในขั้นที่สองยังต้องเป็นคฤหัสถ์เลี้ยงดูครอบครัวนั้น จะยังคงถือว่าเป็นอธรรม (adharma).
หมายเหตุ คำอธิบาย

01. คณะผู้เขียนใน 02. ได้เคยสัมภาษณ์พูดคุยกับชาวฮินดูท่านหนึ่งจากรัฐราชสถาน อินเดีย เมื่อบทการสนทนาเปลี่ยนไปเป็นการค้าประเวณี จึงได้ถามถึงธรรมะของโสเภณีคืออะไร ชาวฮินดูท่านนั้นตอบว่า "การที่ทำให้คนหนุ่มเสื่อมทรามและถูกทำลายให้ผุกร่อน".
.
.
หน้าที่ 2
       ท้ายที่สุดแล้ว ธรรมะนั้นไม่ตายตัว เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ใน 12, 129-67 กล่าวถึง 'ธรรมะในคราวยากลำบาก' และหัวข้ออื่น ๆ ก็ได้กล่าวไว้. แม้ใน 12, 283 เมื่อทราบว่าพราหมณ์ต้องการความช่วยเหลือ ก็อาจปฏิบัติธรรมะของวรรณะกษัตริย์หรือแพทย์ได้ แม้ว่าเส้นแบ่งจะอยู่เหนือตำแหน่งพวกทาสหรือวรรณะศูทรก็ตาม ใน12, 139 เราก็รู้ว่าพราหมณ์วิศวามิตรผู้พยากรณ์ (विश्वामित्र - the Brahmin seer Viśvāmitra) กำลังหิวโหย ถือว่าไม่ผิดศีลที่จะขโมยชิ้นเนื้อสุนัขจากคนในวรรณะต่ำกว่า คือวรรณะจัณฑาล (Caṇḍāla) ได้.

       ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า ธรรมะจึงไม่ใช่เรื่อง (ที่เข้าใจได้) ง่าย ๆ . แท้จริงแล้วในมหาภารตยุทธก็ได้ยืนกรานซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า (เป็นเรื่องที่) 'บอบบาง ละเอียด' (sūkṣma – สูกษม) ด้วยความละเอียดอ่อนนี้ได้มอบโอกาสอันดีแก่นักเล่าเรื่องในการพัฒนาเรื่องที่จะสาธกโดยเน้นไปประเด็นส่วนบุคคลหรืออัตถิภาวนิยม01. เนื่องจากสถานการณ์สามารถเกิดขึ้นหรือจินตนาการได้ ซึ่งข้อเรียกร้องสำหรับธรรมะของแต่ละบุคคลดูเหมือนจะขัดแย้งกัน. อย่างกรณีง่าย ๆ ของนักล่าที่ฉลาดซึ่งได้กล่าวไว้เบื้องต้นนั้น ในแง่ทั่วไป การฆ่าและการเชือดสัตว์ถูกประณามว่าเป็นการละเมิดธรรมะ (13, 115-117) แต่ถึงกระนั้นก็อาจเป็นธรรมะของชนชั้นเฉพาะในการฆ่า (วรรณะกษัตริย์) และคนขายเนื้อ. เห็นได้ชัดว่านักล่าเบิกบานใจกับตัวเอง โดยแน่ใจว่าข้อกำหนดเฉพาะเหล่านี้เหนือกว่าข้อกำหนดทั่วไปสำหรับกรณีของเขา. ถึงกระนั้น สิ่งต่าง ๆ ก็มิใช่เรื่องง่ายสำหรับเหล่าวีรบุรุษของมหาภารตยุทธ ที่พบว่าตัวเองจำเป็นต้องฆ่านั้น ไม่ใช่สัตว์แต่เป็นมนุษย์และก็มิใช่แค่มนุษย์คนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นญาติมิตรที่สนิทและผู้อาวุโสที่เคารพนับถือของพวกเขาเอง. อรชุนนักรบผู้กล้าแห่งภราดาปาณฑพ เกิดอาการหดหู่ได้วางอาวุธอันโด่งดังของเขาลง ในขณะที่มหาสงครามแห่งทุ่งกุรุเกษตรกำลังจะเริ่มขึ้น และวิงวอนให้ผู้ขับเทียมมาของเขานั่นก็คือพระกฤษณะ เทพแห่งการรังสรรค์ทั้งมวล ช่วยให้คำแนะนำแก่เขาด้วยซึ่งการทำสงครามนี้ นับว่าเป็นไปไม่ได้เลยในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ที่เขาจะค้นพบตัวเอง การอ้อนวอนนี้นำไปสู่การส่งอนุศาส์นอันโด่งดังคือ ภควัทคีตา ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น.

รัฐบุรุษอาวุโสภีษมะ นอนบริกรรมถึงพระผู้เป็นเจ้ามีสภาพร่างไม่ติดพื้น เพราะมีลูกศรค้ำไว้ ภาพจากผนังระเบียงคดด้านทิศใต้ปีกตะวันตก นครวัด เสียมราฐ กัมพูชา, ถ่ายไว้เมื่อ 20 ตุลาคม 2561.
1.
       ถึงกระนั้น โดยหลักแล้วไม่ใช่ว่ามีเพียงอรชุนคนเดียวที่มีความขัดแย้งภายในจิตใจที่ได้เน้นไว้มหาภารตยุทธเท่านั้น แต่จะมีพระเชษฐาองค์โตคือ ยุธิษฐิระ อีกด้วย ในขณะที่อรชุนอาจจะเป็นเจ้าชายและนักรบในวรรณะกษัตริย์. ส่วนยุธิษฐิระนั้นเป็นกษัตริย์ และธรรมะของกษัตริย์ในเนื้อแท้ จนเกือบจะเป็นหนึ่งในสี่ของบทสนทนาสำคัญอีกบทหนึ่งของมหาภารตยุทธ ซึ่งรัฐบุรุษอาวุโสภีษมะ ก็ได้เล่าขึ้นบนเตียง (ที่มีลูกธนูค้ำร่างอยู่) ได้ให้อนุศาส์นแก่บรรดาลูกหลานแล้วจึงสิ้นใจ (12, 1-128). ซึ่งตรงนี้เราผู้ศึกษาก็เรียนรู้อย่างหลากหลายได้ว่า ธรรมะสูงสุดของกษัตริย์คือการลงโทษผู้กระทำความผิด (12, 70) การปกป้องราษฎร (12, 72) หรือความอดทนทั้งที่มีชัยชนะหรือพ่ายแพ้ (12, 107) ธรรมะขั้นสูงสุดในแง่ทั่วไปถึงเรื่อง ความยับยั้งชั่งใจ (12, 242) ความเมตตา (13, 59) การปราศจากความโลภ (13, 95) หรือ การไม่ใช้ความรุนแรง (13, 115 และ 14, 48-49). อย่างไรก็ตาม รัฐบุรุษภีษมะยังได้ตักเตือนท้าวยุธิษฐิระด้วยว่า กษัตริย์ผู้แสวงหาธรรมะอันสูงสุดนั้นก็ยังต้องผูกมัดกับอธรรมะอยู่ (12, 91) เพราะประโยชน์ของราษฎร ไม่ใช่ประโยชน์แห่งตน นั่นคือสิ่งที่สำคัญยิ่ง. ท้าวยุธิษฐิระถูกตรึงตลอดเวลาระหว่างความโน้มเอียงที่คล้ายดั่งพราหมณ์ต่อการไม่ใช้ความรุนแรงและการสละสิทธิ์ในด้านหนึ่ง กับ ความจำเป็นที่จะต้องใช้ความรุนแรงในฐานะที่เป็นกษัตริย์ขัตติยะอีกด้านหนึ่ง. การเป็นวีรบุรุษในโลกของมหากาพย์มหาภารตะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความกล้าหาญนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่าย ๆ เฉกเช่นเดียวกับธรรมะนั่นเอง.
หมายเหตุ คำอธิบาย

01. เรื่องอัตถิภาวนิยม (ทฤษฎีที่ว่าทุกคนนั้นอิสระและรับผิดชอบในการกระทำของตน) หรือ Existentialism นี้ เป็นปรัชญาสำคัญในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคสงครามเย็น มีปราชญ์หลายท่านปฏิเสธถึงการดำรงอยู่ของพระเจ้า อาทิ ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Neitzsche)  ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) และ อัลแบร์ กามู (Albert Camus) สำหรับผู้สนใจใคร่รู้ทั้งหลาย ซึ่งผมแนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติม.   
.
.
หน้าที่ 3
บรรดาวีรบุรุษและเหล่าทรชน

       มหาภารตยุทธนั้นโด่งดังในเรื่องขนาดเนื้อหาอันมโหฬาร. โดยธรรมเนียมแล้วกล่าวกันว่ามีถึง 100,000 โคลงกลอน (ส่วนใหญ่ในแต่ละโคลงกลอนนั้น ประกอบด้วยสองบรรทัด) และนี่ก็ถือว่าถูกต้องโดยประมาณสำหรับโคลงกลอนดั้งเดิมที่เรียกว่า ฉบับบอมเบย์ ซึ่งตีพิมพ์โดยมีอรรถกถาคำอธิบายของนีลกัณฐ์01. แม้แต่ฉบับวิจารณ์ที่ได้ตัดทอนลงไว้มากแล้วซึ่งตีพิมพ์ในเมืองปูนา (Poona) ระหว่าง พ.ศ.2476 ถึง 2509 (ซึ่งเป็นฉบับแปลนี้) ก็ยังมี 67,314 โคลงกลอน ที่ถือว่าเป็นเนื้อหาแท้ดั้งเดิม. การพรรณนาสาธกเรื่องราวในระดับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวที่มีศูนย์กลางอยู่ที่สงครามอันเกี่ยวข้องกับโลกที่ผู้คนรู้จักกันในสมัยนั้น ย่อมเต็มไปด้วยตัวละครจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้. สถิติก็ได้เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเรื่อง นั่นคือ "ดัชนีชื่อบุคคล - An Index to the Names" ของ เอส. โซเรนเซ่น (S. Sörensen) ในมหาภารตยุทธ02. ที่มี 807 หน้า (แต่ละหน้ามีสองสดมภ์).

       บรรดาตัวละครจำนวนมากที่ปรากฎ ณ จุดใดจุดหนึ่งของข้อความขนาดใหญ่ในมหากาพย์นี้ บางท่านเป็นเป็นบุคคลในเบื้องหลังสมัยโบราณเก่ากาลซึ่งมีการอ้างถึงการกระทำหรือคำกล่าวเพื่อจุดใดจุดหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนท่านอื่น ๆ ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเล่าเรื่องหลัก เพียงแต่อยู่ในเรื่องราวย่อยที่บอกกล่าวระหว่างพรรณนาเท่านั้น แต่นอกเหนือจากชื่อของแต่ละท่านแล้ว เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพวกเขา. อย่างไรก็ตาม มีตัวละครหลักจำนวนมากในมหาภารตะ บ้างก็เป็นวีรบุรุษ บ้างก็เป็นทรชน บางท่านเลือกตัดสินใจได้ บางท่านก็ถูกสถานการณ์บังคับให้เป็นคนร้าย บ้างก็ร่าเริง บ้างก็สงบเงียบ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมีความกล้าหาญ. ตัวละครหลักหลายท่านมีความซับซ้อน และทุกท่านถูกดึงออกมาอย่างชัดเจน. แต่ละท่านมีลักษณะเฉพาะบางอย่าง - บางครั้งก็ผสมผสานกันอย่างน่าทึ่ง - และแต่ละท่านพูดและกระทำในลักษณะที่ไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณลักษณะเหล่านั้น. ความไม่สอดคล้องนี้หาได้ยากแต่ก็เกิดขึ้นได้ เหมือนกับตอนที่ภีมะหรือภีมเสน โดยปกติแล้วจะดุร้าย แต่ก็ได้โต้เถียงเพื่อสันติภาพ (5, 72) ไม่เพียงเฉพาะผู้อ่านเท่านั้น แต่ตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องก็อาจจะประหลาดใจไปด้วย.
ภีษมะ (भीष्म - Bhīṣma) หรือ ปิตามะห์ (เสด็จปู่ภีษมะ - Pitāmaha) หรือ คงคาบุตร (Gangaputra) หรือ เจ้าชายเทวพรต (Devavrata) ที่มา: www.quora.com, วันที่เข้าถึง 5 สิงหาคม 2565.
1.
       ทุกตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในมหากาพย์นี้ ต่างมีเป็นสมาชิกหรือมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับราชวงศ์คุรุ (Kuru dynasty). กล่าวกันว่าได้ปกครองพื้นที่อันกว้างใหญ่ของอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือในสมัยโบราณ ซึ่งอยู่ห่างไกลกันมากจนเป็นส่วนหนึ่งของยุค (yuga)01. ที่แตกต่างกันของโลก. มีตัวละครที่เก่าแก่ที่สุดได้มีการบรรยายโดยละเอียดนั้นคือ ภีษมะ ซึ่งกำเนิดก่อนบรรดาวีรบุรุษสองรุ่นที่มีความขัดแย้งกัน ท่านคือ "เสด็จปู่ภีษมะที่เคารพนับถือ-revered grandfather" ของลูกพี่ลูกน้องที่ทำสงครามทั้งสองกลุ่ม. แต่กระนั้นเมื่อพิจารณาถึงเชื้อสายแหล่งกำเนิดแล้ว ท่านมิได้เป็นปู่หรือบิดาของใครเลย เพราะท่านได้ปฏิญาณว่าภารกิจชีวิตของท่านที่ได้กำหนดไว้คือ การสละสิทธิ์ที่จะเป็นกษัตริย์และสาบานว่าจะไม่ครองเรือนตลอดไป02. ภีษมะกระทำเช่นนี้ก็เพราะเพื่อให้ราชาศานตนุพระบิดาได้อภิเษกกับนางสัตยวดี สตรีวัยแรกรุ่นที่ราชาหลงรักได้. แม้จะมีคำปฏิญาณเช่นนี้ แต่ภีษมะจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นบิดาตัวแทนของเหล่าคุรุวงศ์ทั้งสองรุ่น. เมื่อบรรดาเจ้าชายที่นับถือท่านในฐานะเสด็จปู่ - ก็คือวีรบุรุษภารดาปาณฑพและเหล่าทรชนเการพซึ่งได้เติบโตเต็มวัยนั้น ภีษมะยังคงโดดเด่นในฐานะเสด็จปู่ผู้เฒ่าที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง แต่สถานการณ์ทำให้ท่านได้เป็นสมาชิกในราชสำนักของพวกเการพโดยมีทุรโยธน์เป็นแกนนำ ไม่ใช่อยู่ในราชสำนักของเหล่าภารดาปาณฑพที่มียุธิษฐิระเป็นกษัตริย์ ดังนั้นเมื่อเกิดมหาสงคราม รัฐบุรุษอาวุโสภีษมะจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคนแรกของฝ่ายทุรโยธน์03. ในบทบาทของแม่ทัพ ท่านได้เข้าต่อสู้อย่างดุเดือดเป็นเวลา 10 วันก่อนที่จะปล่อยให้ตัวท่านเองได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอรชุน (6, 114). ณ บัดนั้นก็มาถึงช่วงหนึ่งของชีวิตที่ไม่ธรรมดาของภีษมะ ท่านได้ใช้ประโยชน์จากพรที่ได้รับจากบิดา (ราชาศานตนุ) ที่สามารถเลือกเวลาตายได้ และยังคงนอนอยู่บนเตียงธนูจนกว่าจะสิ้นสุดการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่.
---------------

01. ดูใน 3, 186 และหน้าต่อไป เหตุการณ์ในมหาภารตยุทธนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากทวาปรยุคไปสู่กลียุค.
02. ใน 1, 94 ด้วยคำปฏิญาณนี้เองที่ทำให้ท่านได้รับฉายาว่า "ผู้ยิ่งใหญ่ หรือ ผู้ฉกาจฉกรรจ์".
03. ใน 5, 1, 53 ในที่นี่ไม่มีความคลาดเคลื่อนตามลำดับเวลา ในยุคก่อนนั้นอายุขัยของมนุษย์ยาวนานกว่าปัจจุบันมาก.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. นีลกัณฐ์ (नीलकण्ठ - Nīlakaṇṭha) เป็นฉายาของพระศิวะ ดูใน นามของพระศิวะ เทพ เทวีที่เกี่ยวข้อง และรายละเอียดต่าง ๆ.
02. ตีพิมพ์ใหม่ที่เมืองเดลลี: สำนักพิมพ์โมซิลล่า บานาร์ซิดาส, พ.ศ.2521.

.
.
หน้าที่ 4
พระกฤษณะแต่งตั้งให้ภีษมะสั่งสอนหรือประทานอนุศาสน์เรื่องธรรมะแก่ยุธิษฐิระ ซึ่งมีความยาวมาก มีสองบรรพในมหาภารตยุทธที่บรรจุเนื้อหาอนุศาสน์อันยิ่งใหญ่01.จนกระทั่งรัฐบุรุษอาวุโสภีษมะสิ้นชีพ รวมกันมากกว่าหนึ่งในสี่ของเนื้อหาทั้งหมด. ในที่สุด (13, 154) รัฐบุรุษผู้สูงส่งท่านนี้ - บุรุษผู้แบกรับภาระอันใหญ่หลวง ทว่าชีวิตทั้งหมดของท่านได้ดำเนินไปเพื่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นในฐานะบุตรชาย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ปรึกษา ผู้บัญชาการกองทัพ หรือผู้สาธกอนุศาสน์ - ยอมให้ชีวิตตนเองสิ้นสุดลง.

       ตัดมาเรื่องของราชาศานตนุ ก่อนที่นางสัตยวดีจะอภิเษกกับราชาศานตนุนั้น นางได้มีบุตรกับฤๅษีปราศร (पराशर - the seer Parāśara) มาก่อนแล้ว. บุตรชายคือ กฤษณะ ไทฺวปายนะ วฺยาส (Kṛṣṇa Dvaipāyana Vyāsa) ซึ่งเป็นบุคคลที่ดูแปลกหน้ามากกว่าภีษมะ ในกรณีของวฺยาส ความแปลกประหลาดนี้ดูจะมีความลึกลับมากกว่า. เรารู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับวิถีชีวิตของวฺยาส. ถึงกระนั้น ท่านก็ปรากฎในเรื่องเล่ามหาภารตยุทธเป็นครั้งคราว ส่วนที่สำคัญที่สุด ท่านเป็นบิดาของท้าวธฤตราษฎร์และปาณฑุที่เกิดจากสองหญิงหม้าย (สามีที่ตายคือ ราชาวิจิตรวีรยะ) คือ เจ้าหญิงอัมพิกา และอัมพาลิกา (รายละเอียดดูใน หน้าที่ 48-49 ของ อาทิบรรพ) และด้วยเหตุนี้คุรุวงศ์ก็สืบสายต่อไปได้ (1, 100). การปรากฎตัวครั้งต่อ ๆ ไปของวฺยาสก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ท่านมักจะมาให้คำแนะนำหรือให้พร แล้วก็จากไปอีกครั้ง. แต่บางโดยฤๅษีตนนี้ก็เข้ามาแทรกแซงโดยตรงเสียมาก. ฤๅษีวฺยาสทรงประทานบ่าวหรือเสวกามาตย์ผู้หนึ่งชื่อสัญชัย (บ้างก็เรียก สญชัย) (Saṃjaya) ที่ศักดิ์สิทธิ์สามารถมองเห็นและเล่าเรื่องราวทั้งหมดของมหาสงครามภารตะให้แก่ท้าวธฤตราษฎร์ที่ตาบอดได้ (6, 2). ฤๅษีวฺยาสดูแลม้าบูชายัญ (พิธีอัศวเมธ) ในบรรพที่ 14 และท่านได้มอบนิมิตเกี่ยวกับเหล่านักรบที่ตายไปในสงครามว่าอยู่ในภพภูมิไหนและเป็นเช่นไรแก่นักรบที่รอดชีวิตจากมหาสงคราม (15, 36-41). กอปรกับฤๅษีวฺยาสยังมีบทบาทที่แตกต่างและไม่เหมือนใครในมหาภารตยุทธ นั่นคือท่านเป็นผู้ประพันธ์มหากาพย์นี้. ท่านได้แต่งเรื่องที่ยิ่งใหญ่ของชาวภารตะ (the Bhāratas). ท่านได้สั่งสอนศิษย์ไวศัมปายนะ (वैशंपायन - Vaiśaṃpāyana) ผู้สาธกเรื่องนี้ในยัชญพิธีสังหารงูของราชาจานาเมจยะ (जनमेजय - Janamejaya) (1, 54-5). มหาภารตยุทธนี้เป็นคำพรรณนาบรรยายที่เหล่าซัลติ หรือ สูตะ อุกรศรวะ01. เล่าต่อผู้ทำนายอันศักดิ์สิทธิ์ในป่าไนมิษะ หรือ ไนมิษารัณย์ (the Naimiṣa forest)01. (1, 1 และ 1, 53).

       รุ่นที่ต่อจากรัฐบุรุษภีษมะและฤๅษีวฺยาส คือลูกหลานทางสายเลือดของฤๅษีวฺยาส นั่นคือท้าวปาณฑุ ผู้เป็นบิดาของเหล่าภารดาปาณฑพ และท้าวธฤตราษฎร์ ผู้เป็นบิดาของเหล่าพี่น้องเการพ02. อย่างไรก็ตามท้าวปาณฑุได้สิ้นพระชนม์เร็วเกินไป ผู้อ่านจึงไม่ได้เห็นความประทับใจที่ควรจะโลดแล่นในมหากาพย์นี้ และนางมาดรี (Mādrī) ชายาคนที่สองก่อนด่วนสิ้นชีพตามท้าวปาณฑุไปด้วย. ในทางตรงข้าม นางกุนตี (Kuntī) ชายาคนแรก ได้ดำเนินชีวิตต่อไป และได้มีส่วนสำคัญในหลาย ๆ เหตุการณ์ของมหาภารตยุทธนี้.

---------------
01. บรรพที่ 12 ศานติบรรพ และบรรพที่ 13 อนุษสนบรรพ.
02. หรือเหล่าพี่น้องแห่งท้าวธฤตราษฎร์ (The Dhṛtarāṣṭras) หากกล่าวกันอย่างเคร่งครัดแล้ว เการพ หรือ เการว แปลว่า 'ผู้สืบเชื้อสายมาจากกุรุหรือคุรุ' 'สมาชิกของเชื้อสายกุรุ.' คำนี้ต้องใช้กับโอรสของท้าวปาณฑุเท่า ๆ กับโอรสของท้าวธฤตราษฎร์ แต่ในทางปฏิบัติ มีแนวโน้มที่จะสงวนไว้สำหรับโอรสของท้าวธฤตราษฎร์เท่านั้น. 

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. เหล่าอุกรศรวะ ซัลติ หรือ เหล่านักพรตอุกรศรวะ บ้างก็เรียก อุครัศรวัส (उग्रश्रवस् सौती - The Ugraśravas Sauti หรือ The Sūta Ugraśravas) นั้น เป็นนักพรตโบราณที่เล่าปุราณะอันศักดิ์สิทธิ์หลายคัมภีร์ เช่น มหาภารตยุทธ ศรีมัด ภควตัม และอื่น ๆ ได้ประมวลปุราณะต่าง ๆ ต่อหน้าเหล่านักพรตในป่าไนมิษะ (หรือ नैमिषारण्य - ไนมิษารัณย์ - Naimiṣāraṇya) ท่าน (จากข้อมูลที่สืบค้น บ้างก็มีหลายท่าน บ้างก็มีท่านเดียว) เป็นบุตรของฤๅษีโลมหรรษณะ (लोमहर्षण - Lomaharṣaṇa - ศิษย์ผู้สูงศักดิ์ของฤๅษีวฺยาส).
 
กรรณะและนางกุนตี (เมื่อนางกุนตีเผยแก่กรรณะว่า กรรณะเป็นบุตรชายคนแรกของนาง และเป็นพี่คนโตของบรรดาภราดาปาณฑพ), ที่มา: www.art-ma.com, วันที่เข้าถึง 9 พฤศจิกายน 2565.
1.
2.
หน้าที่ 5
       นางกุนตีปรากฎตัวครั้งแรกในฐานะเด็กสาวที่ไร้เดียงสา พบว่าตนเองให้กำเนิดกรรณะ (कर्ण - Karṇa) บุตรแห่งพระอาทิตย์โดยไม่ได้ตั้งใจ (1, 104). บทบาทของนางส่วนใหญ่ในมหากาพย์นี้ก็คือความโศกเศร้าต่อความทุกข์ยากที่ครอบงำครอบครัวของนาง โดยเฉพาะสำหรับกรรณะ ซึ่งนางไม่ยอมรับว่าเป็นบุตรชายของนางจนกระทั่งสายเกินไป (11, 27).
ท้าวธฤตราษฎร์ กำลังฟังสัญชัยเล่าเหตุการณ์รบที่ทุ่งคุรุเกษตร, ที่มา: www.bloggang.com, วันที่เข้าถึง 8 สิงหาคม 2565.
1.
       ท้าวธฤตราษฎร์ (Dhṛtarāṣṭra) ก็เช่นเดียวกับนางกุนตี มีชีวิตอยู่หลังจากมหาสงครามยาวนาน พระองค์เกิดมาตาบอดไม่สามารถเป็นกษัตริย์ได้ แต่พระองค์เป็นบิดาของบุตรร้อยคนที่กำเนิดจากชายาคือ นางคานธารี (Gāndhārī). ทุรโยธน์ผู้เป็นบุตรคนโตคือต้นเหตุของเหตุการณ์อันเลวร้ายทั้งหมด เขาขู่ว่าจะยุติเชื้อสายคุรุวงศ์ทั้งหมด และท้าวธฤตราษฎร์ ก็ได้รับคำแนะนำครั้งแล้วครั้งเล่าให้ควบคุมทุรโยธน์ไว้ หรือแม้แต่สละหรือสังหารเสีย. ความรักที่พระองค์มีต่อบุตรชายมีค่ามากกว่าการตำหนิหรือการพิจารณาอื่น ๆ ทุกครั้ง และหลังจากที่พยายามโน้มน้าวจิตใจแล้ว พระองค์ก็ยอมให้ทุรโยธน์ไปตามทางของเขาเสมอ เมื่อเสวกามาตย์สัญชัยเล่าถึงการสัประยุทธ์ในมหาสงครามภารตะให้พระองค์ฟัง บ่อยครั้งมากที่พระองค์ขัดจังหวะการกล่าวโทษโชคชะตาสำหรับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น เกือบทุกครั้ง สัญชัยโต้กลับว่าความผิดทั้งหมดเป็นของท้าวธฤตราษฎร์เอง. เมื่อพิจารณาถึงความอ่อนแอในการตัดสินใจของพระองค์ได้อย่างชัดเจน จึงน่าจะนำฉายาของสามคำที่ใช้บ่อยที่สุดกับพระองค์เน้นย้ำถึงคุณสมบัติที่ตรงกันข้าม: 1) ธีมัท01. หรือ 2) มนีษิน02. ที่แปลว่า 'ฉลาด' หรือว่ากันว่า 3) ปรัชญาจักษุ03. ที่แปลว่า 'ผู้มองเห็นด้วยปัญญาแห่งตน.'  หลังมหาสงคราม พระองค์ได้อาศัยอยู่กับท้าวยุธิษธีระ ซึ่งปฏิบัติต่อพระองค์ด้วยความเคารพและให้เกียรติอย่างสูงสุด. ถึงกระนั้นเมื่อเวลาล่วงไป 15 ปี ท้าวธฤตราษฎร์ก็เผยว่าตนยังจมอยู่กับความรู้สึกผิดที่ยอมให้ทุรโยธน์ทำลายล้างมากมายนัก และออกไปใช้ชีวิตศักดิ์สิทธิ์ในป่า (สันยาสี - ตามแบบคติพราหมณ์) (15, 5 และในหน้าต่อไป - ff. - and the following pages). ซึ่งนางกุนตีและนางคานธารีผู้เป็นชายาก็ร่วมเดินทางไปด้วย.

       นางคานธารีเองเป็นคนที่แข็งแกร่งกว่าท้าวธฤตราษฎร์ นางมีแนวทางที่เข็มแข็งกว่ากับบุตรชายที่หลงทางของนาง แม้ว่าความพยายามที่จะห้ามปรามบุตรจากความชั่วร้ายนั้นไร้ผลก็ตาม. เฉกเช่นรัฐบุรุษอาวุโสภีษมะและคำปฏิญาณของท่านในเรื่องความเป็นโสด สำหรับนางคานธารีในฐานะที่เป็นเจ้าสาว นางได้ทำภารกิจที่ทรงพลังอย่างมาก โดยนางพบว่าท้าวธฤตราษฎร์ผู้เป็นเจ้าบ่าวนั้นตาบอด นางจึงปิดตาตัวเองตลอดไป ตั้งใจว่าจะไม่รับผลประโยชน์ใด ๆ เหนือสามีของนาง (1, 103, 12-13). เราจะเห็นพลังภายในของนาง01. เกิดขึ้นหลังจากมหาสงครามสิ้นสุดลง เมื่อนางเรียกท้าวยุธิษฐิระมาบริภาษ ด้วยความโศกเศร้าและเดือดดาล. ท้าวยุธิษฐิระล้มลงแทบเท้าของนางคานธารี นัยน์ตาของนางตกอยู่ตรงปลายนิ้วของเขา ซึ่งมองเห็นได้จากขอบด้านล่างของผ้าปิดตา และปลายเล็บก็ไหม้เกรียม (11, 15, 1-8).
---------------

01. อาจมาจากอวัยวะที่ปฏิเสธการรับรู้ทางผัสสะเป็นเวลานาน.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ธีมัท (धीमत् - dhīmat) หมายถึง เหล่าผู้มีเชาว์ปัญญาในการปฏิบัติจริง, ฉลาด - men of actual intellect.
02. มนีษิน (मनीषिन् - manīṣin) หมายถึง ฉลาด ได้เรียนรู้ มีภูมิปัญญา อุดมด้วยความคิด.
03. ปรัชญาจักษุ (प्रज्ञाचक्षुस् - prajñācakṣus) หมายถึง ดวงตาแห่งปัญญา.

.
.
หน้าที่ 6
ด้วยพลังอำนาจภายในตัวนางเดียวกันนี้ ในเวลาต่อมา ทำให้นางคานธารีสามารถสาปแช่งพระกฤษณะได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์น้อยคนนักจะทำได้ (11, 25). เช่นเดียวกับท้าวธฤตราษฎร์และท้าวปาณฑุ ฤๅษีวฺยาสยังมีบุตรชายคนที่สามชื่อมหามติวิทูร (Vidura). ซึ่งเขาไม่ได้อยู่ในสายเลือดโดยตรงและไม่สามารถเป็นกษัตริย์แห่งคุรุวงศ์ได้ แต่ฤๅษีวฺยาสผู้บิดาของมหามติวิทูรก็ให้พรว่า 'เขาจะเป็นผู้ที่ทรงธรรมอันสำคัญที่สุดในบรรดาเหล่าปราชญ์ทั้งหมดของโลก' (1, 100, 26). ดังนั้น เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าให้คำแนะนำที่ดีเยี่ยมแก่ท้าวธฤตราษฎร์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งท้าวเธอก็มิค่อยได้นำไปปฏิบัติ.
ภาพสลักหินทราย: โทรณาจารย์กำลังสัประยุทธ์ในมหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร จากผนังระเบียงคดด้านทิศใต้ปีกตะวันตก นครวัด เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ถ่ายไว้เมื่อ 16 ตุลาคม 2560.

1.
       ยังมีตัวละครสำคัญอีกท่านหนึ่งคือ โทรณาจารย์ หรือ โทรณะ (द्रोणाचार्य - Droṇācārya หรือ द्रोण - Droṇa) ท่านถือกำเนิดอย่างแปลกประหลาด (1, 121) และความจริงที่ว่าท่านได้ทะเลาะกับท้าวทรุปัทผู้เป็นสหาย (1, 122) เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับท่าน: ด้วยเหตุใดที่พราหมณ์ท่านนี้ได้ติดตามเหล่าคุรุวงศ์ การที่มีความสามารถในเรื่องธรรมะของกษัตริย์ทางด้านการต่อสู้นั้น ไม่สามารถอธิบายได้. โทรณาจารย์มีความทะเยอทะยานและไร้ความปรานี ซึ่งบุตรชายที่ชื่ออัศวัตถามา (अश्वत्थामा - Aśvatthāman) ก็ได้รับมรดกนิสัยเช่นนี้ด้วย. เมื่อเอกลัพย์ (एकलव्य - ékalavya) เจ้าชายแห่งชนชาวนิษาท (निषाद - Niṣāda - พรานป่า) มีความสามารถในการยิงธนูโดดเด่นกว่าอรชุนซึ่งเป็นลูกศิษย์คนโปรดของท่าน โทรณาจารย์จึงเรียกร้องให้เอกลัพย์ตัดนิ้วหัวแม่มือขวาของตน (1, 123) เพื่อฟื้นฟูอำนาจสูงสุดของอรชุน. ปรากฎว่าวัตถุประสงค์หลักของท่านในการฝึกเหล่าเจ้าชายเการพและภราดาปาณฑพ ก็เพื่อเป็นอาวุธเข้าประจัญแก้แค้นท้าวทรุปัทให้ท่านได้เท่านั้น (1, 128). เช่นเดียวกับรัฐบุรุษอาวุโสภีษมะ ผู้เป็นที่เคารพในราชสำนักของทุรโยธน์ ซึ่งท่านจะโต้แย้งอย่างไรก็ไร้ผลในการที่จะก่อให้เกิดสันติภาพ. เมื่อมหาสงครามมาถึง โทรณาจารย์ได้มุ่งมั่นเข้าสู้รบในนามของทุรโยธน์ และเมื่อรัฐบุรุษอาวุโสภีษมะพ่ายแพ้ (ล้มลงนอนบนเตียงธนู และเฝ้าดูมหาสงครามไปจนจบ) ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการรบคนที่สอง (7, 5). จากนั้นโทรณาจารย์ก็เข้าสัประยุทธ์อย่างดุเดือดต่อไปอีกสี่วัน จนกระทั่งท่านถูกสังหารด้วยอุบายที่ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่ง (7, 164-5).

       นักรบรุ่นต่อไปคือเหล่าวีรบุรุษปาณฑพและเหล่าทรชนพี่น้องเการพ (รายละเอียดดูใน เหล่าบุตรและบุตรีแห่งฝ่ายเการพ) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องที่ไม่เป็นมิตรกัน ซึ่งข้อขัดแย้งได้จบลงในมหาสงคราม ณ ทุ่งคุรุเกษตร ในการแปลการประพันธ์ในแทบทุกเล่มทุกรุ่นมักจะเรียกฝ่ายเการพว่าเป็น "ผู้ร้ายหรือทรชน" เพื่อเป็นการที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ยังมีคู่ต่อสู้กับฝ่ายเการพหรือทุรโยธน์ที่เป็นผู้เฒ่าผู้ที่เคารพนับถือและอีกหลาย ๆ ท่าน ก็ไม่มีข้อโต้แย้งหรือตำหนิใด ๆ (เพราะมีการเลือกข้างกันไว้แล้ว). ทว่าฝ่ายทุรโยธน์นั้นช่างเลวทรามจริง ๆ และก็ไม่ได้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะมองข้ามความชั่วร้ายของเขาได้. ตั้งแต่วัยเยาว์เขาเกลียดชังภราดาปาณฑพที่บริสุทธิ์และเกลียดมาตลอด ทุรโยธน์จะรู้สึกอิจฉาและขุ่นเคืองกับความสำเร็จของเหล่าภราดาปาณฑพทุกครั้ง.

.
.

หน้าที่ 7

       มีเหตุการณ์ในวัยเด็ก ทุรโยธน์พยายามหลายครั้งที่จะสังหารภีมะ (1, 119) และดีใจที่ได้พบกรรณะ ซึ่งเป็นบุคคลผู้เดียวที่สามารถเทียบเคียงความสำเร็จของอรชุนได้ เพื่อรักษาความภักดีที่กรรณะมีต่อเขา เขาได้มอบตำแหน่งกษัตริย์แคว้นอังคะ (Anga - ปัจจุบันคือรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย) ให้แก่กรรณะทันที (1, 126-7). เขาได้วางแผนเผาเหล่าภราดาปาณฑพทั้งห้าและนางกุนตีมารดาของพวกเขาทั้งเป็น (1, 129-36) แต่ไม่สำเร็จ. ด้วยความกังวลใจในเรื่องสันติภาพ ท้าวธฤตราษฎร์จึงเสนอการแบ่งอาณาจักร ซึ่งเหล่าภราดาปาณฑพได้ยอมรับข้อเสนอนี้. แม้กระนั้น เมื่อท้าวยุธิษฐิระได้ประกอบพิธีบวงสรวงครั้งใหญ่มีการถวายสักการะต่อบูรพกษัตริย์องค์ก่อน ๆ และสถาปนาพระองค์เป็นจักรพรรดิ ทุรโยธน์นั้นกลับเต็มไปด้วยความขุ่นเคืองอีกครั้ง. ด้วยความช่วยเหลือของศกุนิ (शकुनि - Śakuni - นกหรือนกใหญ่) พระมาตุลา (พี่ชายของมารดา) เขาจึงจัดการแข่งขันสกาเพื่อทำลายล้างและให้ศัตรูเป็นทาส (2, 53-8) และเมื่อท้าวธฤตราษฎร์ได้ปล่อยเหล่าภราดาปานฑพและนางเทฺราปตีไป ทุรโยธน์ก็ยังยืนกรานที่จะจัดให้มีการแข่งขันสกานัดที่สอง เพื่อเนรเทศเหล่าภราดาปาณฑพและนางเทฺราปตีสู่พนาวรในอีกหลายปีต่อมา (2, 67). เมื่อพวกเขากลับมาจากการถูกเนรเทศ ทุรโยธน์ก็ปฏิเสธที่จะให้เกียรติกับการเดิมพันสกาที่ผ่านมาและคืนอาณาจักรอินทรปรัสถ์ให้เหล่าภราดาปาณฑพ. และยังคงดื้อรั้นไม่ยอมให้เหล่าภราดาปาณฑพได้ตั้งถิ่นฐานอย่างสันติ ดังนั้นมหาสงครามแห่งการทำลายล้างจึงบังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

       แม้ทุรโยธน์จะเป็นคนชั่วร้าย แต่เขาก็ทรนงที่เป็นคนชั่วอย่างสง่าผ่าเผย ไม่หลงตัวเอง รู้ว่าตนถูกเลี้ยงมาด้วยความทะเยอทะยานและตัณหา ไม่เห็นจะมีอะไรที่น่าละอายเลย: "ข้าฯ ได้เห็นบุตรของท้าวปาณฑุได้รับโชคลาภอันรุ่งโรจน์ดังนี้ และข้าฯ ก็เร้าร้อนด้วยความขุ่นเคือง เพราะข้าฯ ไม่ชินกับการได้แลเห็นเช่นนี้ ข้าฯ จะเข้าไปยังกองไฟ หรือไม่ก็จมน้ำตายเสีย เพราะข้าฯ ไม่สามารถอยู่ได้ มีผู้ใจกล้าคนไหนเล่าที่จะทนเห็นคู่แข่งประสบความสำเร็จและตัวเองนั้นล้มเหลวได้เล่า." (2, 43, 26-28) คำขอโทษ (ทั้งหมด) ของทุรโยธน์ที่กำลังจะสิ้นชีพนั้นมีค่าควรแก่การอ้างอิงดังนั้น:

ข้าฯ เรียนรู้แล้ว ได้มอบของขวัญอันเหมาะควร ปกครองโลกด้วยท้องมหาสมุทรทั้งหมด และได้ยืนย่ำอยู่เหนือศีรษะของเหล่าปัจจามิตร ใครเล่าจะสุขใจมากกว่าข้าฯ ความตายของเหล่าผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นกษัตริยปรารถนา และได้ประพฤติปฏิบัติตามธรรมะของเหล่าชนนั้น อันความตาย ข้าฯ ได้บรรลุแล้ว. และใครเล่าจะมีความสุขมากกว่าข้าฯ. ข้าฯ ประสบความเพลิดเพลินเฉกเช่นมนุษย์ซึ่งคู่ควรแก่เหล่าเทวา เกินกว่าที่บูรพกษัตริย์จักทำเช่นนี้ได้ ข้าฯ ได้เข้าถึงการมีอำนาจอันสูงสุดหนึ่งเดียวแล้ว ใครเล่าจะมีความสุขมากกว่าข้าฯ ด้วยที่ข้าฯ อยู่ยงคงกระพัน ข้าฯ จะไปสวรรค์พร้อมสหายและผู้ติดตาม. พวกเจ้าทุกคนจะอยู่ที่นี่ด้วยความรันทดและด้วยความผิดหวัง. (9, 60, 47-50)


       ในบรรดาโอรสของท้าวธฤตราษฎร์นั้น มีน้อยคนนักที่ควรจะกล่าววิพากษ์ถึง ด้วยเพราะบุคลิกภาพที่แตกต่างกันไป. ทุหศาสัน (दुःशासन - Duḥśāsana) คือพี่คนที่สอง (ในบรรดาโอรส 100 คนของท้าวเธอ) ที่จะได้สาธกกันต่อไป.


ภาพแสดง 3 บุคคลสำคัญของฝ่ายเการพ: ทุรโยธน์ (ตรงกลาง) ทุหศาสัน (ซ้าย) และ วิกรรณะ (ขวา), ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 30 ตุลาคม 2566.
.

.

หน้าที่ 8

        แม้ว่าทุรโยธน์จะขาดความสง่างาม แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าเขาใช้บางวิธีการเพื่อชดเชยสิ่งนี้ด้วยความน่ารังเกียจอย่างแท้จริง. เมื่อครั้งมีการพนันด้วยสกา (ดูใน 02. สภาบรรพ) นั้น ทุรโยธน์หมิ่นศักดิ์ศรีนางเทฺราปตี (ภรรยาของเหล่าภราดาปาณฑพ) ด้วยแสดงอาการตีหน้าต้นขาเชิญให้นางเทฺราปตีมานั่งบนตัก. (2, 63, 10-12) และให้ทุหศาสันไปฉุดกระชากลากผมและพยายามเปลื้องผ้านาง ท่ามกลางที่ประชุมเหล่ากษัตริย์และมหาอมาตย์ในท้องพระโรง (2, 60, 22-25; 2, 61, 40-41; 2, 61, 82). ทำนองเดียวกัน ทุหศาสันก็แสดงอาการเยาะเย้ยเหล่าภราดาปาณฑพจากการพ่ายแพ้การพนันทอดสกาในครั้งที่สอง (2, 68, 2-14).

       ทางด้าน วิกรรณะ (विकर्ण - Vikarṇa) นั้นก็มีความโดดเด่นในหมู่พี่น้องเการพด้วยเหตุผลที่แตกต่างออกไป คือเขามักจะโต้เถียงกับทุรโยธน์เสมอเพื่อให้มีการคืนดีกันและบังเกิดสันติสุข แต่วิกรรณะก็ได้รับการปฏิเสธและดูหมิ่นกลับจากทุรโยธน์. สำหรับ ยุยุตสุ (युयुत्सु - Yuyutsu) นั้นเล่าก็มีความแตกต่าง ด้วยเขาเป็นเพียงผู้เดียวในบรรดาพี่น้องเการพที่ตอบรับคำเชิญของยุธิษฐิระให้เปลี่ยนข้างก่อนมหาสงคราม ณ ทุ่งคุรุเกษตรจะเริ่มขึ้น (6, 41, 89-94). ซึ่งยุยุตสุก็เป็นเพียงน้องชายต่างมารดาของทุรโยธน์ โดยมารดาเป็นเพียงนางกำนัลในวรรณะไวศยะ.

       นอกเหนือจากบรรดาน้อง ๆ แล้ว ทุรโยธน์ก็ยังมีพันธมิตรอีกมาก. หนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญคือ ศกุนิ ผู้เป็นมาตุลา (ลุง - พี่ชายฝั่งมารดาคือนางคานธารี) เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นคันธาระ (गन्धार - Gāndhāra). ศกุนิมีความสนิทสนมกับทุรโยธน์มาก ทุรโยธน์สามารถระเบิดอารมณ์แสดงความฉุนเฉียวต่อการที่ยุธิษฐิระได้รับสถานะเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ (ปกครองกรุงอินทรปรัสถ์) ใส่เขาได้ (2, 43) และศกุนิก็เสนอว่าการพนันเล่นสกานั้น จะเป็นวิธีการทำลายยุธิษฐิระลงเสียให้ราบ (2, 44). เมื่อเกมสกาเริ่มต้น ทุรโยธน์ก็เสนอให้ศกุนิเล่นแทนเขา (2, 53, 15). ศกุนิเป็นนักเล่นกลการพนันแบบอินเดียยุคโบราณ เทียบเท่ากับเซียนไพ่ในสมัยปัจจุบัน (A modern card-sharp) และด้วยอุบายของเขา ก็สามารถเอาชนะยุธิษฐิระผู้ใสซื่ออย่างง่ายดายในสองนัดติดต่อกัน (2, 53-8; 2, 67). เขายังสามารถใช้ทักษะปรับภาพลวงตาในสนามรบได้ (7, 29). แต่หากเทียบกับกรรณะแล้ว ฝีมือในการรบของศกุนิยังด้อยอยู่ เขาเป็นหนึ่งในผู้ให้คำแนะนำปรึกษาที่ทุรโยธน์ให้ความไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ศกุนิจึงเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจารึกเรื่องราวแห่งความหายนะของทุ่งคุรุเกษตร อันจะบังเกิดขึ้นในเบื้องหน้า.

       อัศวัตถามา (अश्वत्थामा - Aśvatthāman หรือ Aśvatthāmā) บุตรของโทราจารย์ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดคนหนึ่งของทุรโยธน์. เขาพยายามวางตัวเป็นกลางเช่นเดียวกับบิดา กระตุ้นให้มีการปรองดองกันเพื่อให้เกิดสันติสุขหลายต่อหลายครั้ง. ครั้นเมื่อมหาสงครามบังเกิด อัศวัตถามาก็เข้าต่อสู้อย่างแข็งขันเพื่อทุรโยธน์. จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากผู้สนับสนุนฝ่ายเการพคนอื่น ๆ เช่น บาห์ลิกะ (बाह्लिक - Bāhlika) (ฮินดีอ่านว่า: บาเฮร์) หรือกฤษุปา (कृष्ण - Kṛupa) (ฮินดีอ่านว่า: กรุช) มากนัก ซึ่งก็ทำในลักษณะเดียวกัน. แต่ในวันที่สิบห้าของการสู้รบ มีบางอย่างเกิดขึ้นที่เปลี่ยนแปลงเขาไปอย่างสิ้นเชิง บิดาของเขา โทรณาจารย์ (द्रोण - Droṇa) ถูกสังหารด้วยกลลวง (7.164-5) ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนา. เป็นการกระทำของภราดาปาณฑพที่มีตำแหน่งขั้นสูงสุดซึ่งนั่นคือการกระทำที่เป็น อธรรม.
.
.

หน้าที่ 9

นับจากนี้ไป ความคิดเดียวของอัศวัตถามาก็คือการแก้แค้น และเขาต่อสู้ด้วยความดุร้ายที่เพิ่มทวีขึ้น โดยใช้อาวุธสวรรค์อันทรงพลังอย่างอิสระ และมุ่งโจมตีไปที่ผู้ถือดาบ นั่นก็คือ ธฤษฏะทฺยุมนะ (धृष्टद्युम्न - Dhṛṣṭadyumna) (7.166-72, 8.41-2). ต่อมา เขาเป็นเพียงหนึ่งในสาม01 ของฝ่ายเการพที่มีชีวิตรอดจากมหาสงครามนี้ อัศวัตถามายอมพลีตนแด่มหาเทพศิวะ ซึ่งได้สถิตยังร่างของเขา. ด้วยการปกป้องจากมหาเทพ เขาจึงบุกทะลวงเข้าไปในค่ายของพวกปาณฑพในเวลากลางคืน และสังหารทุกคนในค่ายอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในขณะที่พวกเขากำลังหลับ (10.8). สำหรับธฤษฏะทฺยุมนะ และเจ้าแห่งปัญจาละทั้งสอง คือ อุตตมจัส (उत्तमौजस् - Uttamaujas) และ ยุธามันยุ (युधामन्यु - Yudhāmanyu) นั้น อัศวัตถามาสงวนความตายที่มิใช่แบบชายชาตินักรบ โดยสังหารพวกเขาทั้งสามเหมือนเหยื่อที่บูชายัญสัตว์เพื่อปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้าถึงสวรรค์ของนักรบ. เมื่อภราดรปาณฑพไล่ทันจับอัศวัตถามาได้ เขาก็ถูกสาปโดยพระกฤษณะให้ต้องอยู่โดดเดี่ยวและเจ็บป่วยเป็นเวลาสามพันปี (15.10.10-12).


อมิตาบ บาจัน (Amitabh Bachchan) แสดงเป็นอัศวัตถามา ในภาพยนต์บอลลีวูดเรื่อง "กัลกี ค.ศ.2898", ที่มา: www.bollywoodhungama.com, วันที่เข้าถึง: 4 ตุลาคม 2567.

1.
       ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้ที่สนับสนุนที่ภักดีและอุทิศตนมากที่สุดของทุรโยธน์ก็คือ กรรณะ สุริยบุตรของนางกุนตี. ความผูกพันของบุรุษทั้งสองอาจเป็นสิ่งที่แข็งแกร่งที่สุดในมหาภารตยุทธทั้งเล่ม กรรณะเป็นคู่แข่งเพียงคนเดียวของพระกฤษณะและอรชุนโดยเฉพาะ และเขาก็เสนอทั้งมิตรภาพและความเป็นกษัตริย์แก่ทุรโยธน์โดยไม่ลังเล (1.126-7). กรรณะซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีเชื้อสายศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีสถานะเป็นเพียงสูตะ02 ซึ่งเป็นเป้าหมายของภราดาปาณฑพที่มักจะเยาะเย้ย (1.127.5-7) กรรณะจะตอบสนองทุรโยธน์ด้วยความกตัญญู ความจงรักภักดี และความรัก. แต่กรรณะมักจะยุยงให้เกิดสงครามในขณะที่คนอื่น ๆ พยายามโน้มน้าวให้เกิดสันติภาพ แม้ว่าเขาจะรู้ (5.141) ว่าฝ่ายปาณฑพจะต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอนก็ตาม.


[page 25/31 of Mahabharata-A001.docx]
---------------

01. กฤตวรมัน (कृतवर्मन् - Kṛtavarman หรือ Kritavarma) กฤปาจารย์ และอัศวัตถามา.
02. สูตะ (सूत - Sūta) เป็นบุตรชายที่กำเนิดจากบิดาวรรณะกษัตริย์กับมารดาวรรณะพราหมณ์ ซึ่งกำหนดอาชีพไว้ให้เป็นคนขับรถม้า เทียมม้า มักจะเป็นกวีและมักจะพูดจาหยาบกระด้าง. ไม่ทราบแน่ชัดว่ากรรณะค้นพบความจริงเกี่ยวกับตัวเองเมื่อใด (5.139). อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้นั้นไม่สำคัญนัก เพราะแม้แต่ก่อนที่จะรู้ว่าเขาเป็นใคร กรรณะก็ทราบดีอยู่แล้วว่าตนไม่ใช่คนธรรมดา.




แหล่งอ้างอิง:
01. จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02. จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
03. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.
.
.
.
.

humanexcellence.thailand@gmail.com